ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ตราแผ่นดินของไทย"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
EmausBot (คุย | ส่วนร่วม)
r2.7.2+) (โรบอต เพิ่ม: sr:Грб Тајланда แก้ไข: yo:Àmì ọ̀pá àṣẹ ilẹ̀ Tháílàndì
AvocatoBot (คุย | ส่วนร่วม)
r2.7.3) (โรบอต เพิ่ม: arz:شعار تايلاند
บรรทัด 112: บรรทัด 112:
[[af:Wapen van Thailand]]
[[af:Wapen van Thailand]]
[[ar:شعار تايلاند]]
[[ar:شعار تايلاند]]
[[arz:شعار تايلاند]]
[[bg:Герб на Тайланд]]
[[bg:Герб на Тайланд]]
[[bpy:থাইল্যান্ডর চিনত্হান]]
[[bpy:থাইল্যান্ডর চিনত্হান]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 03:55, 9 กรกฎาคม 2555

ตราแผ่นดินของไทย
(พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์)
ตราอาร์มรุ่นต่าง ๆ
ตราพระครุฑพ่าห์
แบบที่ใช้ตราตั้งห้าง
รายละเอียด
ผู้ใช้ตรารัฐบาลไทย
เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เลิกใช้ชั่วคราวในสมัยรัชกาลที่ 5
ตราย่อ / ตรารุ่นก่อนหน้าโปรดดูด้านล่าง
การใช้ประทับหรือพิมพ์ในเอกสารของทางราชการ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หนังสือโต้ตอบ กฎกระทรวง ฯลฯ ยกเว้นที่หัวพระราชบัญญัติ พระบรมราชโองการ หรือคำสั่งอื่น ๆ ในองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ จะใช้พระราชลัญจกรบรมราชโองการแทน

ตราแผ่นดินของไทย คือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติและเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดั้งแต่หลัง พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2453

ประวัติตราพระครุฑพ่าห์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินใน พ.ศ. 2416 ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริว่า ตราอาร์มที่ใช้เป็นตราแผ่นดินในเวลานั้นเป็นอย่างฝรั่งเกินไป และทรงระลึกได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยใช้ตราพระครุฑพ่าห์มาก่อน (ตราที่กล่าวถึงคือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์องค์เดิม) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นเป็นตราแผ่นดินเพื่อใช้แทนตราอาร์ม โดยครั้งแรกทรงเขียนเป็นรูปตราพระนารายณ์ทรงครุฑจับนาค ตรานี้ได้ใช้อยู่ระยะหนึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนตราครุฑขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นตราวงกลม โดยยกรูปพระนารายณ์และนาคออกเสีย คงเหลือแต่รูปครุฑ ซึ่งเขียนเป็นรูปครุฑรำตามแบบครุฑเขมร พื้นเป็นลายเปลวไฟ เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ชอบพระราชหฤทัย และมีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้ตรานี้เป็นตราแผ่นดินถาวรสืบไป จะได้ไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปชัย) เป็นผู้เขียนตราครุฑถวายใหม่ โดยยังคงใช้ตราครุฑเดิมแบบสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงแต่เพิ่มพระปรมาภิไธยตามขอบพระราชลัญจกร และเปลี่ยนพระปรมาภิไธยที่ขอบพระราชลัญจกรให้ตรงตามรัชกาล และให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลจะสร้างขึ้นใหม่เมื่อพระมหากษัตริย์ได้รับการบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 8 จึงไม่มีการสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลขึ้น เนื่องจากพระองค์มิได้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คงมีแต่พระราชลัญจกรประจำรัชกาลเท่านั้น และเชิญพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ รัชกาลที่ 5 ออกประทับแทน

การใช้ตราพระครุฑพ่าห์

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์นี้ใช้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งลงนามแทนในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นตราประจำสถานที่ราชการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ใช้พิมพ์เป็นตราบนหัวหนังสือและเอกสารต่างๆ ของทางราชการ และใช้เป็นตราสำหรับประทับในหนังสือราชการของกรมกองต่าง ๆ

อนึ่ง บริษัทห้างร้านใดที่จดทะเบียนโดยชอบตามกฎหมายที่ติดต่อค้าขายกับทางราชสำนัก ซึ่งปรากฏว่ามีฐานะทางการเงินดี เป็นที่เชื่อถือแก่มหาชน ไม่มีหนี้สินรุงรังนอกจากหนี้สินปกติจากการค้าขาย และจะต้องประกอบการค้าโดยสุจริต อาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราพระครุฑพ่าห์เป็นตราตั้งห้างไว้ที่ห้างร้านของตนได้ โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ในสิทธิที่จะเรียกคืนตราดังกล่าวได้

ภาพตราครุฑรูปแบบต่าง ๆ

ตราแผ่นดินของไทยในอดีต

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดินสยาม
ตราอาร์มรุ่นต่าง ๆ
ไฟล์:Seal coat of arms rama5 thailand.gif
รอยประทับพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน (ตราอาร์ม) สมัยรัชกาลที่ 5
รายละเอียด
ผู้ใช้ตรารัฐบาลสยาม (สมัยรัชกาลที่ 5 - 6)
เริ่มใช้ใช้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2416 - 2436 แต่ยังคงมีการใช้ในบางหน่วยงาน เช่น สตช. ร.ร.จปร.มาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องยอดพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี
โล่โล่แบ่งเป็นสามห้อง ห้องบนหนึ่งห้อง มีสีเหลือง บรรจุรูปช้างเผือกสามเศียร ห้องล่างสองห้อง ห้องล่างซ้ายสีแดง บรรจุรูปช้างเผือกเปล่า ห้องล่างขวาสีชมพู บรรจุกริชคดกับกริชตรงไขว้กัน
ประคองข้างคชสีห์และราชสีห์
ฐานรองข้างพระแท่นลา
คำขวัญบาลีอักษรไทย : "สพฺเพสํ สํฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา" (ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ)
อิสริยาภรณ์พระมหาสังวาลนพรัตน์รัตนราชวราภรณ์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ส่วนประกอบอื่นตราจักรี, ฉัตรเจ็ดชั้น 2 คัน, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี, พระแส้งหางจามรี, ฉลองพระบาทเชิงงอน, ฉลองพระองค์ครุย
การใช้ประทับหรือพิมพ์ในเอกสารของทางราชการ

ก่อนหน้านั้นประเทศไทยไม่มีการกำหนดตราแผ่นดินที่ชัดเจนนัก มีแต่ตราประจำรัชกาลที่ประทับลงบนเงินพดด้วงซึ่งจะเปลี่ยนไปตามรัชกาลของพระมหากษัตริย์

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าสยามนำรูปครุฑพ่าห์มาใช้เป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนำแบบอย่างการใช้ตรามาจากประเทศจีน โดยอ้างอิงจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งบันทึกว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์มีตราประจำพระองค์ ในจดหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าตราเป็นรูปอะไร จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็น ตราครุฑพ่าห์ คือ รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับคตินิยมที่ถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญบารมีเทียบเท่าพระนารายณ์ผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ

ในสายตาชาวต่างประเทศนั้นถือว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรแห่งช้างเผือก จึงกำหนดรูปช้างเผือกลงในโล่ทำนองเดียวกับตราประจำตระกูลหรือตราแผ่นดินในยุโรป เพื่อสื่อความหมายถึงราชอาณาจักรสยาม ซึ่งดูได้จากแผนที่โบราณฉบับต่างๆ ที่กล่าวถึงสยามในบางฉบับ (ดูตัวอย่างได้ ที่นี่) เนื่องจากไม่ทราบชัดเจนว่าสยามใช้เครื่องหมายอะไรเป็นตราประจำประเทศ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม ผูกตราประจำประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2416 โดยอิงกับหลักการผูกตราของทางยุโรปที่เรียกกันว่า Heraldry (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแปลคำนี้ลงในหนังสือเรื่อง ฝรั่งศักดินา เอาไว้ว่า “มุทราศาสตร์”) ตรานี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม อันมีลักษณะดังต่อไปนี้


  • ส่วนบนสุดตรงกลาง คือ ภาพพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกฎเป็นภาพจักรและตรีไขว้ เรียกว่า ตรามหาจักรี อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนนามราชวงศ์จักรี ความหมายโดยรวมจึงแปลว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี
  • ทางด้านซ้ายและขวาของพระมหาพิชัยมงกฎเป็นรูปฉัตร 7 ชั้น อันเป็นเครื่องหมายแห่งราชาธิปไตย ที่เป็นฉัตร 7 ชั้น ก็เพราะว่าเป็นฉัตรสำหรับใช้ประกอบกับนพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงพระราชอิสริยศของพระมหากษัตริย์ การใช้รูปดังกล่าวจึงเป็นการประกาศให้รู้ว่า ดินแดนสยามอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสยามินทราธิราช
  • ใต้ลงมาเป็นรูปโล่แบ่งออกเป็น 3 ห้อง โดยส่วนบนแบ่งเป็น 1 ห้อง ส่วนล่างเป็น 2 ห้อง มีความหมายดังนี้
  • ความหมายโดยรวมของรูปสัญลักษณ์ภายในโล่จึงหมายถึงขอบขัณฑสีมาทั้งหมดของประเทศสยามในเวลานั้น
  • ต่อจากฉัตรทางด้านขวาเป็นภาพคชสีห์ประคองฉัตร ส่วนทางด้านซ้ายเป็นภาพราชสีห์ประคองฉัตร คชสีห์หมายถึงข้าราชการฝ่ายกลาโหม ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายทหาร ส่วนราชสีห์หมายถึง ข้าราชการฝ่ายมหาดไทย ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายพลเรือน ทั้งสองฝ่ายนี้มีหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรและค้ำจุนพระราชบัลลังก์
  • ส่วนขอบโล่ด้านล่างสุดล้อมรอบด้วยพระมหาสังวาลนพรัตน์รัตนราชวราภรณ์ หมายถึง พระพุทธศาสนา มีที่มาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระมหาสังวาลนพรัตน์รัตนราชวราภรณ์ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดนี้ด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่กระทำคุณงามความดีต่อชาติอย่างใหญ่หลวง โดยเงื่อนไขสำคัญในการพระราชทานนั้นกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะพระราชทานให้แก่บุคคลที่เป็นพุทธมามกะเท่านั้น
ตราแผ่นดินของสยามซึ่งตีพิมพ์ในเอกสารของทางราชการ (ในภาพ เป็นประกาศนียบัตรกระทรวงธรรมการ ตั้งเปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ. 2453)
  • ส่วนใต้พระมหาสังวาลนพรัตน์รัตนราชวราภรณ์ คือ สายสร้อยจุลจอมเกล้าพร้อมดวงตรา หมายถึงการบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ อันเป็นภาษิตของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน และพระบรมราชวงศ์ และบุตรทายาทของผู้ปฏิบัติราชการ โดยพระราชทานสืบสกุลลงไปจนสิ้นสายบุตรชายเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และเพื่อให้ผู้สืบสกุลกระทำความชอบต่อแผ่นดิน และสามัคคีกันรับใช้ชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
  • ส่วนล่างสุดของภาพ คือ คาถาภาษาบาลี จารึกบนแพรแถบด้วยอักษรไทย เป็นข้อความว่า "สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฒิ สาธิกา" แปลว่า "ความพร้อมเพรียงของบุคคลทั้งปวงผู้อยู่เป็นหมวดหมู่กัน ย่อมเป็นเครื่องทำความเจริญให้สำเร็จ" คาถาบทนี้เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ซึ่งได้ใช้เป็นข้อเตือนใจประจำโรงเรียนเตรียมทหารในเวลาต่อมาอีกด้วย
  • เครื่องหมายอื่นๆ ที่แทรกอยู่ในตรา แต่เห็นได้ไม่สู้ชัดเจนนัก คือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ดังบรรยายต่อไปนี้
  • องค์พระราชลัญจกรตราแผ่นดินนั้นเป็นตรากลม มีอักษรตามขอบพระราชลัญจกรจารึกไว้ว่า "สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม"

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ในลักษณะที่ต่างออกไป แต่คำอธิบายข้างต้นนี้มีที่มาแรกสุดจากพระอธิบายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งพระอธิบายนี้ได้รับการเรียบเรียงใหม่เป็นหลายสำนวนในที่ต่างๆ จึงนับได้ว่าเป็นคำอธิบายที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับมากที่สุด

ไฟล์:Coat of arms siam rama5 king appointment.png
ตราตั้งห้างสมัยรัชกาลที่ 5

การใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินนั้นใช้ในลักษณะทำนองเดียวกันกับตราพระครุฑพ่าห์ในปัจจุบัน จนกระทั่งยกเลิกไปเมื่อมีการใช้ตราครุฑเป็นตราประจำชาติแทน ปัจจุบันนี้ยังมีบางหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นต้นได้ใช้ตราอาร์มเป็นตราประจำหน่วยงานของตนเอง ด้วยเหตุที่ว่าหน่วยงานของตนก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับช่วงระยะดังกล่าว (เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งใช้ตราอาร์มเป็นตราหน้าหมวกนั้น เริ่มมีการจัดระบบตำรวจอย่างจริงจังในสมัยนั้น เป็นต้น)

มูลเหตุในการเปลี่ยนตราประจำชาตินั้น นอกจากที่จะระบุไว้ข้างต้นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงติว่าตราอาร์มเป็นอย่างฝรั่งเกินไปแล้ว เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงตราแผ่นดินน่าจะมีมูลเหตุหลักมาจากการสูญเสียประเทศราชทั้งลาว เขมรและมลายูในรัชสมัยของพระองค์ จึงต้องเปลี่ยนแปลงตราเพื่อให้เหมาะกับกาลสมัย

ดูเพิ่ม