ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Suisse

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ที่มา

การ์ดที่ระลึกในโอกาสก่อตั้งสันนิบาต คนในรูปคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ผู้เสนอให้ก่อตั้งองค์การนี้ขึ้น

แนวความคิดของประชาคมนานาชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติมีมานานแล้ว ในปี ค.ศ. 1795 อิมมานูเอล คานต์ เสนอให้มีการก่อตั้งองค์การที่จะไกล่เกลี่ยของพิพาทและรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในงานเขียนของเขา Perpetual Peace: A Philosophical Sketch[1] โดยเขาย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การให้มีรัฐบาลปกครองโลก แต่ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเคารพพลเมืองของตน และต้อนรับชาวต่างประเทศในลักษณะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน สันติภาพระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น[2]

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 19 ก็มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อให้ยุโรปมีความมั่นคงยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เกิดอนุสัญญาเจนีวาขึ้นเพื่อมนุษยธรรมระหว่างสงคราม และอนุสัญญาเฮกซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ของสงครามและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ และในปี ค.ศ. 1889 นักรณรงค์สันติภาพได้ก่อตั้งสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเจรจาและการทูตในการแก้ไขข้อพิพาท[3]

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีกลุ่มอำนาจใหญ่สองกลุ่มในยุโรปที่ขัดแย้งกัน และเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1914 ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 8.5 ล้านนาย ผู้บาดเจ็บ 21 ล้านคน และพลเรือนเสียชีวิต 10 ล้านคน สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต และทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามทั่วโลก จนเกิดวลีเรียกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า "สงครามเพื่อที่จะหยุดสงครามทั้งหมด" และมีการสืบสวนถึงสาเหตุอย่างถี่ถ้วน ซึ่งพบว่าเกิดจาก การแข่งขันทางอาวุธ พันธมิตร การทูตลับ และเสรีภาพในการเข้าร่วมสงครามของรัฐต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการเสนอให้มีิองค์การระหว่างประเทศที่จะทำหน้าที่หยุดสงครามในอนาคตด้วยการลดอาวุธ การทูตอย่างเปิดเผย ความร่วมมือระหว่างประเทศ การควบคุมสิทธิในการเข้าร่วมสงคราม และการลงโทษประเทศที่ทำผิดกฎ

บุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้สันนิบาตชาติเป็นความจริงขึ้นมาคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา การตั้งสันนิบาตชาติเป็นหนึ่งในหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน ซึ่งข้อ 14 ระบุว่า การรวมตัวกันของประชาชาติควรจะถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้พันธะที่แน่นอนเพื่อจุดประสงค์ที่สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้กับทุกฝ่าย และให้การรับรองแก่รัฐที่มีขนาดเล็กกว่าเทียบเท่ากับตนเอง โดยการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นมา[4] โดยในระหว่างการประชุมสันติภาพที่ปารีส ซึ่งมีสามประเทศใหญ่ผู้ชนะสงครามเข้าร่วมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แนวความคิดการก่อตั้งสันนิบาตชาติได้รับการยอมรับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายส์

กติกาสันนิบาตชาติถูกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการพิเศษ โดยมี 44 ประเทศที่เซ็นยอมรับกติกานี้เมื่อ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดี ความพยายามของประธานาธิบดีวิลสันให้ก่อตั้งสันนิบาตชาติ ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919 รัฐสภาอเมริกามีมติไม่ยอมให้ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสันนิบาต ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สันนิบาตล่มในเวลาต่อมา

สันนิบาตชาติเปิดประชุมคณะมนตรีหกวันหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์มีผลบังคับใช้ ต่อมาสำนักงานใหญ่ถูกย้ายไปกรุงเจนีวา และมีการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920

  1. คานต์, อิมมานูเอล. "Perpetual Peace: A Philosophical Sketch". Mount Holyoke College. สืบค้นเมื่อ 16 May 2008.
  2. Kant, Immanuel (1795). "Perpetual Peace". Constitution Society. สืบค้นเมื่อ 30 August 2011.
  3. "Before the League of Nations". The United Nations Office at Geneva. สืบค้นเมื่อ 14 June 2008.
  4. Wilson, Woodrow (8 January 1918). "President Woodrow Wilson's Fourteen Points". The Avalon Project. สืบค้นเมื่อ 19 April 2008.