ข้ามไปเนื้อหา

บาคคัส (คาราวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน
บาคคัส
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีราว ค.ศ. 1595
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์อุฟฟิซิ, ฟลอเร็นซ์

บาคคัส (ภาษาอังกฤษ: Bacchus) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ, ฟลอเร็นซ์ในประเทศอิตาลี

ภาพ “บาคคัส” เขียนราวปี ค.ศ. 1595 เป็นภาพของเทพบาคคัสหนุ่มสวมช่อใบองุ่นบนหัวมีผ้าห่มหลวม ๆ นอนเอนท่าแบบคลาสสิกมือขวาเล่นชายผ้าผูกเอว บนโต๊ะหน้าตัวแบบมีชามผลไม้และขวดไวน์ขวดใหญ่ตั้งอยู่ ในมือซ้ายของตัวแบบถือแก้วไวน์ที่เทจากขวดไวน์ยื่นออกมาจากตัวมายังผู้ดูเหมือนกับจะชวนผู้ชมภาพเข้าไปร่วมด้วย

“เทพบาคคัส” เทพเจ้าแห่งไวน์และงานรื่นเริง ภาพชิ้นนี่เป็นภาพที่เขียนไม่นานหลังจากที่คาราวัจโจเข้าไปพำนักอาศัยกับคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต ผู้เป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญคนแรก เป็นงานที่สะท้อนให้เห็นความสนใจในลัทธิมนุษยนิยมของผู้มีการศึกษาในแวดวงของคาร์ดินัลเดล มอนเต

ไม่ว่าคาราวัจโจจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามภาพนี้แสดงความมีอารมณ์ขันที่เห็นได้จากใบหน้าอันแดงก่ำของบาคคัส และเป็นภาพของเด็กหนุ่มที่ห่มตัวด้วยผ้าผืนหลวม ๆ นอนเอนสลึมสลือท่าทางมึนในพาลัซโซของคาร์ดินัลเดล มอนเตในกรุงโรม ลักษณะของบาคคัสที่แสดงในภาพนี้มิได้ทำให้ผู้ชมภาพเชื่อว่าเป็นเทพบาคคัสจริง ๆ นอกจากนั้นริ้วในแก้วไวน์ทำให้ดูเหมือนว่าบาคคัสคงจะถืออยู่ได้ไม่นานก่อนที่หกลงมาจากแก้ว

ผลไม้และขวดไวน์เป็นสิ่งที่นักวิชาการสนใจกันมานานกว่าตัวเทพบาคคัสเอง นักวิชาการตีความหมายว่าผลไม้ที่อยู่ในสภาพที่กินไม่ได้อาจจะหมายถึงความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของสิ่งต่าง ๆ ในโลก หลักจากภาพได้รับการทำความสะอาดก็พบว่ามีเงาของจิตรกรกำลังเขียนภาพสะท้อนอยู่บนขวดไวน์

เทพบาคคัสยื่นแก้วให้ด้วยมือซ้ายทำให้สันนิษฐานกันว่าคาราวัจโจใช้กระจกส่องช่วยในการเขียนโดยตรงบนผืนผ้าใบแทนที่จะเขียนลายเส้นหรือร่างก่อน แต่แขนหรือมือซ้ายที่เห็นอันที่จริงเป็นมือขวา ที่ตรงกับที่นักชีวประวัติจิโอวานนิ บากลิโอเนกล่าวว่าคาราวัจโจใช้กระจกช่วยในการเขียนภาพในสมัยต้น ๆ จิตรกรอังกฤษเดวิด ฮ็อคนีย์ (David Hockney) ศึกษาวิธีเขียนของคาราวัจโจในวิทยานิพนธ์ที่รู้จักกันในชื่อวิทยานิพนธ์ฮ็อคนีย์-ฟาลโค (Hockney-Falco thesis) ที่ตั้งสมมติฐานว่าจิตกรยุคเรอเนสซองซ์ และต่อมาใช้กล้องลูซิดา (camera lucida) เป็นอุปกรณ์ช่วยในการเขียนภาพ

อ้างอิง

ดูเพิ่ม