ข้ามไปเนื้อหา

ก็องดีด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ก็องดีด (ฝรั่งเศส: Candide) นวนิยายแนวปรัชญาของวอลแตร์ นักประพันธ์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขาเริ่มเขียนปรัชญานิยาย (le conte philosophique) เรื่องนี้ในรูปแบบของร้อยแก้วในเชิงเสียดสีที่ใช้คำพูดที่มีความหมายขัดแย้งกันในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งเขาอายุได้ 64 ปีแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ก็องดีดเป็นผลงานของบุคคลที่พร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิอย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้วอลแตร์เคยเขียนบทกวี บทละคร บทความเชิงปรัชญา หนังสือประวัติศาสตร์ และเป็นราชบัณฑิต เขามีประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน เคยติดคุก เคยถูกเนรเทศ เคยมีชื่อเสียงเกียรติยศแล้วกลับตกต่ำในราชสำนักปารีส ราชสำนักเบอร์ลิน ประสบการณ์ชีวิตที่ผกผัน การเดินทาง การได้เห็น ได้อ่าน ได้ศึกษามามากทำให้วอลแตร์ไม่อาจมองโลกในแง่ดีได้ เขาจึงเขียนผลงานชิ้นนี้ออกมาเพื่อแสดงความคิดเห็นของเขาลงไป โดยอาศัยนิยายเป็นสื่อกลางในการนำเสนอ นิทานปรัชญาเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1759 และตีพิมพ์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งวอลแตร์ได้เพิ่มชื่อที่สองให้ก็องดีด ว่า l’optimisme หรือลัทธิสุทรรศนิยม เพื่อเสียดสีบุคคลที่เชื่อตาม ไลบ์นิซ (Leibnitz) นักปราชญ์ชาวเยอรมันที่เชื่อว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี”

จุดประสงค์ในการแต่ง

[แก้]

วอลแตร์เขียนผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อแสดงทัศนะของเขา เพื่อโจมตีความคิดที่สอนให้คนมองโลกในแง่ดีโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือ ลัทธิสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ นักปราชญ์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 17 ที่เชื่อว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี” นอกจากนี้วอลแตร์ยังต้องการโจมตีสถาบันศาสนา โจมตีความคิดที่งมงายและพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเสียดสีคณะพระที่ได้แสวงหาความร่ำรวยและอำนาจความเป็นใหญ่ หรือพระที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม เขายังต้องการคัดค้านสงครามและต่อต้านการล่าอาณานิคมและการค้าทาสในสมัยนั้น นอกจากนี้เขายังได้คัดค้านวิถีชีวิตแบบธรรมชาติเกินไปที่รุสโซเสนอให้ผู้คนหันกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ และในตอนท้ายวอลแตร์ก็ได้ชี้ทางออกให้กับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของแต่ละคนโดยให้ทุกคนทำงาน (Il faut cultiver notre jardin)

วอลแตร์ใช้นิยายเป็นรูปแบบในการตอบคำถามเรื่องความเป็นไปในโลกนี้ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ดังเห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอนน์ และสงครามเจ็ดปีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศอังกฤษ ที่สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ทำให้เขาตั้งคำถามขึ้นว่าเขาควรจะยังไว้วางใจในระบบความเชื่อที่มีอยู่ ควรจะเชื่อถือในสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบหลักของสังคมของเขาต่อไปหรือไม่ เขาควรจะเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ และหวังจะรังสรรค์ผืนแผ่นดินและสังคมขึ้นใหม่หรือไม่

เรื่องย่อ

[แก้]

ก็องดีดเป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในปราสาทของท่านบารอนธุนแดร์-เตน-ทรองค์ (Thunder-Ten-Tronnckh) ในแคว้นเวสท์ฟาลี (Westphalie) ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ท่านบารอนผู้นี้มีลูกสาวชื่อ กุเนก็องด์ (Cunégonde) ทั้งก็องดีดและกุเนก็องด์มีอาจารย์ชื่อ ปองโกลศ (Pangloss) ซึ่งเป็นผู้สอนให้ทั้งสองมองโลกในแง่ดีตามทฤษฎีของไลบ์นิซ วันหนึ่งก็องดีดถูกขับไล่ออกจากปราสาทของท่านบารอนเพราะได้ล่วงเกินกุเนก็องด์ ก็องดีดต้องร่อนเร่ไปตามที่ต่าง ๆ ในเวลาต่อมาครอบครัวของกุเนก็องด์ถูกทหารบุลกาเรียฆ่าตายหมด ก็องดีดเสียใจมาก ต่อมาเขาได้พบกับปองโกลศและกุเนก็องด์ ซึ่งรอดชีวิตมาได้ ทั้งสามคนจึงออกเดินทางไปยังบัวโนสไอเรส การมาครั้งนี้ทำให้เจ้าเมืองหลงรักกุเนก็องด์ เขาจึงจับตัวก็องดีดขังเอาไว้ แต่เขาสามารถหนีออกมาได้โดยได้รับการช่วยเหลือจากคนรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของเขาที่ชื่อว่า กะกอมโบ (Cacambo) แต่เขาก็ต้องพลัดพรากจากกุเนก็องด์อีก ก็องดีดได้เดินทางไปถึงเมืองเอลโดราโด (El Dorado) ซึ่งผู้คนที่นั่นต่างพอใจในชีวิตและเชื่อในพระเจ้า หลังจากนั้นเขาก็ได้นำก้อนกรวดจากเมืองนี้ที่เป็นเพชรพลอยและทองคำไปด้วย เพื่อไถ่ตัวกุเนก็องด์โดยนัดพบกันที่เมืองเวนิส ก็องดีดได้เดินทางเข้าออกหลายประเทศ เขาได้พบกับนักปราชญ์คนหนึ่งชื่อ มาร์แต็ง (Martin) ซึ่งสอนให้เขามองโลกในแง่ร้าย ตลอดการเดินทาง ทั้งสองได้พบกับสิ่งที่เลวร้ายมากมาย เมื่อถึงเมืองเวนิส เขาก็ไม่พบกุเนก็องด์ ทำให้เขาเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนเลวร้าย เขาไม่เชื่อคำสอนของปองโกลศที่สอนให้เขามองโลกในแง่ดีอีกต่อไป ตอนหลังเขาก็ได้พบกับกุเนก็องด์ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งกลายเป็นคนอัปลักษณ์จนก็องดีดไม่อยากแต่งงานด้วย แต่เมื่อนึกถึงคำดูถูกที่กล่าวว่าเป็นคนชั้นต่ำไม่เหมาะสมกับขุนนาง ก็องดีดจึงตัดสินใจแต่งงานกับกุเนก็องด์ และได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข พร้อมด้วยอาจารย์ปองโกลศ มาร์แต็ง และกะกอมโบ โดยที่ทุกคนช่วยกันทำงาน

กลวิธีการประพันธ์

[แก้]

วอลแตร์แต่งปรัชญานิยายเรื่องก็องดีดขึ้นโดยใช้รูปแบบร้อยแก้วเชิงเสียดสี ใช้เทคนิคการบรรยายแบบ ‘l’ironie’ ที่ใช้คำพูดที่มีความหมายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้น

โครงสร้างของเรื่อง

[แก้]

นิทานปรัชญาเรื่องก็องดีดมีเนื้อหารวม 30 บท เราสามารถพิจารณาโครงสร้างได้ 3 รูปแบบดังนี้

โครงสร้างพื้นฐาน

[แก้]

ก็องดีดมีโครงสร้างตามขนบ กล่าวคือการเปิดเรื่อง เรื่องที่ดำเนินไปและการจบเรื่อง

  • บทแรกเป็นการเปิดเรื่อง ซึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของตัวละครเอก (ก็องดีด) และสาเหตุที่ทำให้เขาต้องพลัดพรากจากตัวละครเอกหญิง (กุเนก็องด์)
  • บทที่ 2-29 เป็นการดำเนินเรื่อง
  • บทสุดท้าย (บทที่ 30) เป็นการสรุปเรื่องซึ่งจบเรื่องอย่างมีความสุขด้วยการแต่งงานระหว่างก็องดีดและกุเนก็องด์ และการตั้งรกรากถิ่นฐานสืบไป

โครงสร้างตามเนื้อหา

[แก้]

ส่วนแรก (บทที่ 1-13) ก็องดีดต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ นานาตลอดการเดินทางของเขาจากแคว้นเวสท์ฟาลีในเยอรมันตะวันตกไปทางทิศตะวันออกสู่ทวีปอเมริกาใต้ ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าวอลแตร์เสนอความคิดให้เห็นความเป็นจริงในโลกที่ก็องดีดเผชิญล้วนแต่เป็นสิ่งที่เลวร้าย ทั้งจากภัยธรรมชาติ (วาตภัย แผ่นดินไหว เรือล่ม เป็นต้น) และภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (สงคราม ความบ้าคลั่งทางศาสนา การค้าทาส โรคระบาด เป็นต้น) วอลแตร์แสดงให้เห็นว่าไม่มีระบบความคิดทางปรัชญาหรือศาสนาใด ๆ ที่จะขจัดความเลวร้ายเหล่านี้ไปจากมนุษย์ได้

ส่วนที่สอง (บทที่ 14-18) เป็นศูนย์กลางของนิยาย เรื่องเกิดขึ้นในสู่ทวีปอเมริกาใต้ ก็องดีดได้เรียนรู้เรื่องราวจากเมืองในฝัน 3 เมือง ได้แก่ เมืองในฝันด้านการเมือง เมืองในฝันด้านวิถีชีวิตตามธรรมชาติ และเมืองในฝันด้านปรัชญา ซึ่งทั้ง 3 เมืองนี้ใช้ทวีปอเมริกาใต้เป็นที่ตั้งโลกในฝัน

  • เมืองในฝันด้านการเมืองของคณะพระเยซูอิตที่ปารากวัย แต่เมืองในฝันด้านการเมืองนี้ก็เป็นการเมืองมากเกินไป ภารกิจที่คณะพระกล่าวอ้างคือ การนำอารยธรรมไปให้แก่ชาวพื้นเมือง แต่ในทางปฏิบัติคณะพระแสวงหาความร่ำรวยและอำนาจความเป็นใหญ่ ในส่วนนี้วอลแตร์ได้โจมตีการล่าอาณานิคมของรัฐและอำนาจการปกครองของคณะพระเยซูอิต
  • เมืองในฝันด้านวิถีชีวิตตามธรรมชาติของชนเผ่าออเร็ยยง แต่ก็เป็นวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติเกินไป คือ ชนเผ่าออเร็ยยงไม่นุ่งห่ม กินคนและมีเพศสัมพันธ์กับลิง วอลแตร์จึงเสนอเรื่องนี้เพื่อคัดค้านความคิดเห็นของรุสโซที่เรียกร้องให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ
  • และเมืองในฝันด้านปรัชญาที่เอลโดราโด เมืองนี้ไม่มีความเลวร้ายใด ๆ ทั้งสิ้น ชาวเมืองทุกคนเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ต้องผ่านพระ เมืองนี้ไม่มีพระ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีศาล ไม่มีตำรวจเพราะไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีขโมย ก้อนกรวดก้อนหินตามทางก็คือทองคำและเพชรพลอย เมืองนี้มีพระราชาผู้ทรงสติปัญญาสูง ประกอบด้วยเมตตากรุณา แต่เมืองในฝันเช่นนี้ก็ไม่มีจริงในโลกนี้ โดยมีเงื่อนไขบางประการที่จะทำให้เกิดเมืองในฝันได้ เช่น ขนาดต้องไม่ใหญ่เกินไป มีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ มีปราการธรรมชาติ และการพรางตาจากโลกภายนอก ดังที่ระบุไว้ในหนังสือ ยูโทเปีย ของ เซอร์ โทมัส มอร์ โดยวอลแตร์ได้วาดภาพเมืองนี้เพื่อโจมตีสถาบันทางการเมืองและทุกสถาบันในสังคมของประเทศฝรั่งเศส
  • เมืองในฝันถึงแม้จะมีจริง ก็ไม่มีผู้ใดใคร่จะอยากอยู่อาศัย ถึงแม้ตัวละครจะหนีความโหดร้ายของสังคมมาได้ แต่ก็ไม่ปรารถนาที่จะอยู่ ไม่ใช่เพราะว่าเมืองในฝันมีตำหนิ แต่เพราะตัวละครนั้นเองยังมีตำหนิ ยังมีความ รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในตัว เพราะเติบโตมาในโลกที่ต้องช่วงชิงแข่งขัน และไม่สามารถหลุดออกจากความต้องการทางใจได้ จึงได้จากเมืองในฝันมา

ส่วนที่สาม (บทที่ 19-30) ก็องดีดเดินทางกลับไปยุโรปและตั้งถิ่นฐานที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ในส่วนนี้วอลแตร์เสนอโลกแห่งความจริงที่กลับมาพบอีกครั้ง ความเลวร้ายจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ยังคงมีอยู่ แต่ครั้งนี้ก็องดีดก็ไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลาเหมือนในช่วงแรก เขากลายเป็นผู้สังเกตดูความเป็นไปในโลกนี้ เขาเริ่มใช้ความคิดไตร่ตรองด้วยตนเองและหาทางออกให้แก่ชีวิตของตน เพราะตระหนักว่า นอกความทุกข์ยากที่มนุษย์ต้องเผชิญภายนอกแล้วมนุษย์ยังต้องเผชิญกับความเลวร้ายจากภายในตนเองอีกด้วย ซึ่งได้แก่ ความอิจฉา ความวิตกกังวลและความเบื่อหน่าย ก็องดีดจึงได้สรุปการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าซึ่งเราสามารถขจัดความเลวร้ายจากภายในตนเอง นั่นก็คือ “จงทำสวนของเรา” หรือ “จงทำงาน” (Il faut cultiver notre jardin)

โครงสร้างตามพัฒนาการทางความคิดของตัวละครเอก

[แก้]

แบ่งได้ 3 ช่วงคือ

  • ช่วงแรก (ก่อนเอลโดราโด) แม้ก็องดีดจะเผชิญอันตรายต่าง ๆ นานาจนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่เขาก็ยังคงเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ปองโกลศที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาเปนไปด้วยดี” พัฒนาการของตัวละครเอกช่วงนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ
  • ช่วงที่สอง (หลังเอลโดราโด) ก็องดีดเริ่มมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นหลังที่ได้รู้จักกับมาร์แต็ง ซึ่งเป็นผู้มองโลกในแง่ร้าย แต่บางครั้งก็องดีดกยังกลับมามองโลกในแง่ดีแบบเก่า จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเขายังไม่สิ้นสุด บางครั้งเขาเชื่อตามมาร์แต็ง บางครั้งเขาเชื่อตามปองโกลศ เขายังไม่มีความคิดของตนเองโดยแท้
  • ช่วงที่สาม (บทที่ 30อันเป็นบทสุดท้ายของเรื่อง) ก็องดีดมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เป็นช่วงที่เขามีพัฒนาการทางความคิดสูงสุด เขาเริ่มใช้ความคิดเห็นของตนเองแล้ว เขาปฏิเสธที่จะฟังความคิดเห็นของคนอื่น และตัดสินใจในฐานะผู้นำของผู้คนที่อยู่รอบตัวเขาให้ทุกคนร่วมกันทำงาน

ฉาก

[แก้]

เนื่องจากเนื้อหาเรื่องนี้เป็นการเดินทางของตัวละคร ที่เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินเรื่องจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในทวีปยุโรปไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ สถานที่ก็จะมีทั้งที่มีอยู่จริงและสถานที่ที่วอลแตร์จินตนาการขึ้นมา เช่น เมืองเอลโดราโดและเมืองอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ตัวละคร

[แก้]
  • ก็องดีด - มีความหมายหลายนัย เช่น ซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย อ่อนต่อโลก ความหมายหลายนัยนี้แสดงถึงอุปนิสัยของตัวละครเอก ดังนั้นความหมายหลายนัยของชื่อก็องดีด ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์แห่งความเชื่อง่ายของคนร่วมสมัยกับวอลแตร์ซึ่งเชื่อตามทฤษฎีสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ ที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี” สิ่งนี้ทำให้วอลแตร์หัวเราะเยาะบุคคลที่เชื่อง่ายเหล่านั้น
  • อาจารย์ปองโกลศ – เป็นอาจารย์ที่สอนให้ก็องดีดและกุเนก็องด์มองโลกในแง่ดี ตามลัทธิสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ ปองโกลศมองโลกในแง่ดีเสมอ ถึงแม้ว่าตัวเขาเองก็ได้พบกับความทุกข์และภัยพิบัติมากมาย
  • กุเนก็องด์ - เป็นลูกสาวของท่านบารอนรอนธุนแดร์-เตน-ทรองค์ เป็นหญิงงามที่ก็องดีดหลงใหลบูชา
  • มาร์แต็ง – เป็นนักปราชญ์ที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับปองโกลศโดยสิ้นเชิง กล่าวคือมาร์แต็งเป็นคนที่สอนให้ก็องดีดมองโลกในแง่ร้าย ทำให้ก็องดีดได้เรียนรู้ปรัชญาที่ตรงข้ามกับคำสอนของอาจารย์ปองโกลศ
  • กะกอมโบ – เป็นคนรับใช้และเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ของก็องดีด
  • หญิงชราคนรับใช้ - เป็นลูกสาวของโป๊ปแต่ถูกจับมาขายเป็นทาส เป็นคนที่ผ่านโลกมามาก
  • พี่ชายของกุเนก็องด์ - เป็นเจซูอิทและนายพัน เป็นผู้ดีและหัวสูง
  • หญิงชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศส - เป็นชนชั้นสูงที่ใช้ชีวิตให้มีความสุข และต้องการเงิน สะท้อนภาพสังคมที่ตกต่ำของประเทศ

ทัศนะของวอลแตร์

[แก้]

ในเรื่องนี้ วอลแตร์ได้กล่าวโจมตีเสียดสีสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เขาได้แสดงทัศนะทางสังคมออกมา ไม่เฉพาะแค่สังคมฝรั่งเศสเท่านั้น แต่รวมไปถึงสังคมยุโรปโดยทั่วไป โดยใช้รูปแบบการประชดประชัน เสียดสี วอลแตร์เสียดสีและต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ และยังบรรยายให้เห็นภาพความตายอย่างชัดเจนที่เป็นผลมาจากการทำสงครามแย่งอาณานิคม นอกจากนี้วอลแตร์ยังประชดประชันทัศนะทางปรัชญาที่สอนให้คนมองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง วอลแตร์ยังได้โจมตีสถาบันทางศาสนาในเรื่องความเชื่อที่งมงาย ไร้สาระ โจมตีพระที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ในเรื่องความเชื่อ วอลแตร์เชื่อว่าพระเจ้าไม่มีเหตุผล ในด้านสังคมการเมือง เขาโจมตีชนชั้นขุนนางว่าไม่จริงใจ

ในบทสรุปของเนื้อเรื่อง วอลแตร์ได้เสนอคำพูดที่ว่า ‘Il faut cultiver notre jardin’ เพื่อแสดงทัศนะของเขาที่เรียกร้องให้ทุกคนทำงานและทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากเขาต้องการสะท้อนให้เห็นเรื่องค่านิยมของคนในสมัยนั้นที่เชื่อว่าพวกชนชั้นสูง เช่น พวกขุนนาง และพระ ที่ไม่ต้องทำงาน เพราะจะเป็นการเสียเกียรติ โดยในที่นี้วอลแตร์ได้เสนอการทำกสิกรรม เนื่องจากเขาได้รับแนวความคิดมาจากพวกชาวบ้านที่ทำกสิกรรมอยู่บริเวณที่ใกล้กับที่ดินที่เขาได้ไปซื้อไว้ โดยที่เขาคิดว่าควรเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม เมื่อทุกคนทำงานแล้ว ผลแห่งการทำงานนั้นย่อมครอบคลุมไปยังหน่วยของสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นต้น และในอีกแง่หนึ่งที่วอลแตร์เสนอก็คือ ให้ทุกคนทำงานโดยไม่มัวแต่พร่ำเพ้ออ้างเหตุผลลอย ๆ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เขาคิดว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อกระทำมิใช่พูดหรือคอยใช้เหตุผลอย่างเดียว จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าวอลแตร์ไม่ได้มีความเชื่อในพระเจ้าเลย เขาเชื่อว่ามนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของตัวเอง

วอลแตร์เสนอผ่านทางตัวละครคุณลุงบ้านนอกว่า การถกคิดปัญหาทางการเมือง จะทำให้ปวดหัวไม่สิ้นสุด เลิกคิดซะดีกว่าเพราะจะได้ไม่นำภัยมาถึงตัว เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องของเหตุผลเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นเรื่องของอำนาจด้วย

และสอนให้ยอมรับโลกที่เป็นอยู่ และทนอยู่กับมัน ไม่จำเป็นต้องขวนขวายใฝ่หาสังคมอุดมคติ เช่นสอนว่าความเลวร้ายของมนุษย์ก็ยังติดตัวไปทุกยุคทุกสมัยไม่มีทางสลัดหลุดได้ ไม่มองโลกแต่ในแง่ดีอย่างเดียวเพื่อหลอกลวงตัวเอง และไม่มองโลกแต่ในแง่ร้ายอย่างเดียวซึ่งก็เป็นการหลอกตัวเองเช่นกัน ซึ่งก็องดีดเคยประสบมาทั้งสองอย่างแล้ว ดังเช่นมาร์แต็งแนะนำก็องดีดว่าไม่ต้องไปรอเพราะกะกอมโบคงหอบเพชรและเงินทองหนีไปเสวยสุขแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง สรุปก็คือเลิกขบคิดปัญหาแล้วหันมาใช้แรงงานดีกว่า

สอนว่าความร่ำรวยแบบฉับพลับเหมือนมีโชคก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสุดท้ายเงินทองที่ได้มาจากโชคก็หมดอยู่ดี

สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเดียวของก็องดีด คือแม่หญิงกุเนก็องด์ผู้เลอโฉม โดยเขาจะบูชาชื่อเธออยู่ตลอดเวลา และอยากให้เธอได้แบ่งปันความรู้สึกที่เขามีต่อสิ่งรอบข้าง เขาได้ทุ่มเทเวลาค้นหาเธอ แต่สุดท้ายเธอกลับกลายเป็นหญิงอัปลักษณ์ เป็นการทรยศความรู้สึกเขา เขาจึงอุทานออกมาว่า "ถือดียังไงนังน่าเกลียด" ก่อนที่จะขอโทษเธอ

ตัวอย่างตอนที่สำคัญของเรื่อง

[แก้]

"ไม่มีภาพใดจะงดงาม สดใส สง่างามและเป็นระเบียบยิ่งไปกว่าภาพกองทัพทั้งสองนี้อีกแล้ว เสียงเครื่องดีดสีตีเป่า เสียงปืนใหญ่ขานรับกันเป็นจังหวะกลมกลืนดังเช่นที่มิเคยปรากฏในห้วงนรก เริ่มประเดิม ปืนใหญ่ก็ส่งผู้คนเกือบหกพันคนในแค่ละกองทัพให้ล้มระเนระนาด จากนั้นเสียงปืนยาวก็ได้ฉุดคร่าชีวิตที่ดีที่สุดในโลกนี้ไปอีกประมาณเก้าพันถึงหนึ่งหมื่นคน ดาบปลายปืนก็เป็นเหตุนำซึ่งความตายมาสู่คนนับพัน จำนวนวิญญาณทั้งหมดคงจะนับได้ถึงสามหมื่น ก็องดีดตัวสั่นสะท้านดังที่นักปราชญ์ควรจะเป็น เขาซ่อนตัวมิดชิดระหว่างการฆ่าฟันอย่างกล้าหาญครั้งนี้"

ในที่สุด ขณะที่กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายมีโองการมีการร้องเพลงสวดในค่ายของพระองค์อยู่นั้น ก็องดีดถือโอกาสหลบไปไตร่ตรองเรื่องความเป็นผลและความเป็นเหตุเสียที่อื่น เขาเดินย่ำไปบนกองศพและผู้คนที่นอนรอความตาย เขาไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งได้กลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว หมู่บ้านนั้นเป็นของพวกอาบารส์ซึ่งพวกบุลกาเรียได้เผาทิ้งตามสิทธิของผู้ชนะสงคราม ณ ที่นี้ บรรดาคนชราที่ถูกแทงจนร่างพรุนต่างนอนดูศพภรรยาของตนซึ่งถูกเชือดคอทั้งๆ ที่สองแขนยังประคองกอดทารกซบแนบกับอกเปื้อนเลือด ที่นั่น บรรดาหญิงสาวนอนท้องแหวะอ้า ผ่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายหลังจากได้เป็นเครื่องบำบัดความหื่นกระหายของวีรบุรุษบางคน คนอื่นๆ ที่ถูกไฟลวกเผานอนร้องขอความตาย มันสมองเกลื่อนกระจายอยู่ข้างๆ แขนขาดขาขาดที่ระเกะระกะอยู่ทั่ว

ในส่วนของ les beautés de la guerre วอลแตร์ได้บรรยายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนของการตายของเหยื่อสงคราม ทั้งเด็ก สตรี คนชรา วอลแตร์ได้ใช้คำว่า ‘Cette boucherie héroïque’ หมายความว่า การฆ่าคนอย่างกล้าหาญในสงครามซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เราเรียกเทคนิคการบรรยายชนิดนี้ว่า ‘l’ronie’

ในบทนี้ วอลแตร์ได้ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ซึ่งบรรยายให้เห็นภาพความสวยงามและความโหดร้ายของสงคราม ตัวเครื่องดนตรีเปรียบราวกับเป็นเสียงอึกทึกครึกโครมของเหล่าอาวุธที่ใช้ในการทำสงคราม เขาต้องการเหน็บแนมอย่างรุนแรง ในแต่ละคำเน้นให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมของสงคราม ทำให้เราสามารถเห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางสงคราม ส่วนรายละเอียดแต่ละด้านชี้ให้เห็นถึงความสูญเสีย ลักษณะเด่นที่วอลแตร์ใช้ก็คือ การบรรยายการรบ เขาไม่ได้พูดถึงการประลองยุทธ ไม่ได้พูดถึงชัยชนะ แต่เขาเน้นแค่เพียงจำนวนคนตายในสงครามเท่านั้น ตอนท้ายเขาได้รวบรวมรายละเอียดที่แท้จริงให้เห็นถึงความน่าเกลียดน่ากลัวของสงคราม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายและนำมาซึ่งความน่าพรึงกลัว

วอลแตร์ยังได้กล่าวโจมตีสถาบันศาสนาอย่างรุนแรงในด้านความอยุติธรรม ความบ้าคลั่งและความไร้สาระของศาลศาสนา (L’inquistion) ที่จับพวกนอกรีตมาไต่สวนและตัดสินลงโทษโดยการจับคนมาทรมานและเผาทั้งเป็น

ภายหลังการเกิดแผ่นดินไหวซึ่งได้ทำลายเมืองลิสบอนน์ไปสามวัน บรรดานักปราชญ์ของประเทศก็มองไม่เห็นว่าการป้องกันมิให้เมืองถล่มทั้งเมืองนั้นจะมีวิธีอื่นใดที่จะเหมาะสมไปกว่า การเผาคนทั้งเป็นโดยทำให้เป็นพิธีกรรมที่งดงาม มหาวิทยาลัยโกอิมเบรอะได้ลงความเห็นว่าภาพบุคคลสองสามคนที่ถูกเผาไฟในพิธีที่จัดขึ้นอย่างใหญ่โต ย่อมเป็นเคล็ดลับสุดยอดในการป้องกันมิให้เกิดแผ่นดินไหวได้