ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1[1] (อังกฤษ: First Epistle of Paul to the Thessalonians) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมเธสะโลนิกา ฉบับที่หนึ่ง เป็นเอกสารฉบับที่ 13 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่

ทั้งข้อความในพระธรรมเองและหลักฐานภายนอกสนับสนุนว่า ผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้คือ นักบุญเปาโล จากการเดินทางเพื่อประกาศข่าวประเสริฐ นักบุญเปาโล กับสิลาสได้เดินทางข้ามเมืองอัมฟีบุรีและเมืองอปอลโลเนีย แล้วจึงมาถึงเมืองเธสะโลนิกา นักบุญเปาโล พบว่าในเมืองนี้มีธรรมศาลาของชาวยิวอยู่จึงเข้าไปสั่งสอนเรื่องของพระเยซู แต่ทำได้เพียงสามสัปดาห์ก็ต้องออกจากเมืองนี้ไป เพราะถูกชาวยิวต่อต้านอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การสั่งสอนที่มีระยะเวลาเพียงแค่สามสัปดาห์ของ นักบุญเปาโล นั้น ทำให้กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยกลับใจเชื่อ แต่เมื่อ นักบุญเปาโล ออกจากเมืองไปอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้ที่เชื่อใหม่ขาดแรงสนับสนุนจากภายนอก และต้องตกอยู่ท่ามกลางการข่มเหงของชาวยิว นักบุญเปาโล เป็นห่วงชาวเธสะโลนิกามาก จึงส่งทิโมธีไป หลังจากทิโมธีกลับมารายงานความเป็นไปแล้ว นักบุญเปาโล จึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น ส่งถึงคริสตจักรในเมืองเธสะโลนิกา เพื่อหนุนน้ำใจคริสเตียนที่นั่น และจดหมายฉบับนั้นคือ พระธรรม 1 เธสะโลนิกา ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกเขียนขึ้นราวปี ค.ศ. 51

แม้ว่าในจดหมายฉบับนี้จะมีเรื่องที่ นักบุญเปาโล เขียนถึงชาวเธสะโลนิกาหลายเรื่อง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องการพิพากษาจะเป็นหัวข้อหลัก สังเกตได้จากในทุกบทของพระธรรม 1 เธสะโลนิกา จะจบลงด้วยการอ้างถึงการที่พระเยซูจะเสด็จมาพิพากษามนุษย์ โดยเฉพาะในท้ายบทที่ 4 และตอนต้นบทที่ 5 ที่มีการบรรยายอย่างละเอียด

วัตถุประสงค์ในการเขียนจดหมายฉบับนี้ของ นักบุญเปาโล มีอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก ต้องการหนุนน้ำใจของคริสเตียนที่เมืองเธสะโลนิกา โดยแสดงความชื่นชมยินดี เนื่องจากทิโมธีกลับมารายงานเรื่องความเชื่ออันมั่นคงของคริสเตียนที่นั่น ดังที่ นักบุญเปาโล เขียนไว้ว่า "เพราะว่าเมื่อท่านมั่นคงอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า ชีวิตของเราก็สดชื่น"

ประการที่สองคือ ต้องการให้พร้อมเสมอเมื่อ พระเยซู เสด็จมา โดยการกล่าวถึงแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ในส่วนนี้ นักบุญเปาโล เขียนไว้อย่างชัดเจน เข้าใจได้ไม่ยาก เช่น "ระวังให้ดี อย่าให้คนใดทำชั่วตอบแทนการชั่ว แต่จงหาทางทำดีเสมอต่อพวกท่านเอง และต่อคนทั้งปวงด้วย" "จงชื่นบานอยู่เสมอ" "จงเว้นเสียจากสิ่งที่ชั่วทุกอย่าง" เป็นต้น

ประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญมาก มีสองประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือ ต้องการให้เข้าใจเรื่องเวลาที่ พระเยซู จะเสด็จมาพิพากษามนุษย์ นักบุญเปาโล อธิบายไว้ในจดหมายว่า ไม่มีผู้ใดจะทราบหรือกำหนดได้ว่า จะเป็นเมื่อใด เวลาใด แต่อาจจะเป็นเมื่อใด เวลาใดก็ได้ ดังนั้น คริสเตียนทุกคนจึงต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะรับเวลานั้น

ประเด็นที่สองคือ ต้องการให้เข้าใจว่า เมื่อ พระเยซู เสด็จมาพิพากษานั้น จะพิพากษาทั้งคนที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว นักบุญเปาโล จึงกล่าวไว้ในจดหมายว่า ในวันพิพากษานั้น พระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้ที่ตายไปแล้วนั้น มากับพระองค์

โครงร่าง

[แก้]
  1. คำทักทายและคำกำชับถึงชาวเธสะโลนิกา 1:1 - 2:20
  2. ชื่นชมยินดีกับรายงานของทิโมธี 3:1 - 13
  3. ปัญหาด้านศีลธรรม 4:1 - 12
  4. การเสด็จกลับมาของ พระเยซู 4:13 - 5:28

อ้างอิง

[แก้]
  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์: กรุงเทพฯ, หน้า 675

ดูเพิ่ม

[แก้]