ฌีลแบร์ ดูว์ มอตีเย เดอ ลา ฟาแย็ต
มาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต | |
---|---|
ลาฟาแย็ตขณะเป็นพลโท ค.ศ. 1791 | |
ชื่อเกิด | Marie-Joseph Paul Yves Roch Gilbert du Motier de La Fayette |
ชื่อเล่น | วีรบุรุษสองโลก (Le Héros des Deux Mondes)[1] |
เกิด | 06 กันยายน ค.ศ. 1757 แฌวานีญัก ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1834 กรุงปารีส ฝรั่งเศส | (76 ปี)
รับใช้ | ฝรั่งเศส (1771–1777, 1781–1791) สหรัฐอเมริกา (1777–1781) ราชอาณาจักรฝรั่งเศส (1791–1792) สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 (1792) ราชอาณาจักรฝรั่งเศส (1830) |
แผนก/ |
|
ประจำการ | 1771–1792 และ 1830 |
ชั้นยศ |
|
การยุทธ์ | สงครามปฏิวัติอเมริกา การปฏิวัติฝรั่งเศส สงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หนึ่ง การปฏิวัติกรกฎาคม |
คู่สมรส | Adrienne de Noailles (สมรส 1774; เสียชีวิต 1807) |
มารี-ฌอแซ็ฟ ปอล อีฟว์ ร็อก ฌีลแบร์ ดูว์ มอตีเย, มาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต (ฝรั่งเศส: Marie-Joseph Paul Yves Roch Gilbert du Motier, Marquis de Lafayette) เป็นขุนนางและนายทหารชาวฝรั่งเศส ผู้ช่วยเหลือชาวอเมริกันทำสงครามปฏิวัติ เขาเป็นเพื่อนสนิทของจอร์จ วอชิงตัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน และทอมัส เจฟเฟอร์สัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
ลาฟาแย็ตเกิดในตระกูลขุนนางมั่งคั่งในจังหวัดโอแวร์ญ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส และได้รับราชการทหารตามครอบครัวตั้งแต่อายุได้ 13 ปี ต่อมาได้เข้าร่วมสงครามปฏิวัติอเมริกาและได้รับยศพลตรีตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี เมื่อได้รับบาดเจ็บในยุทธการที่แบรนดีไวน์ ลาฟาแย็ตยังสามารถจัดถอยทัพได้อย่างเป็นระเบียบ และมีผลงานในยุทธการที่โรดไอแลนด์ ในช่วงกลางสงคราม เขากลับฝรั่งเศสเพื่อขอให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณสนับสนุน เขากลับอเมริกาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1780 และได้รับตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในกองทัพภาคพื้นทวีป ในปี ค.ศ. 1781 กองทัพของเขาสามารถต้านทานทัพของคอร์นวอลลิสได้ จนทำให้กองทัพอเมริกาและฝรั่งเศสร่วมกันยึดเมืองยอร์กทาว์นได้สำเร็จ
ลาฟาแย็ตกลับฝรั่งเศสอีกครั้งในปี ค.ศ. 1787 และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาอภิชนที่กษัตริย์ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเพื่อแก้วิกฤติการณ์เศรษฐกิจการคลังในขณะนั้น และได้เข้าร่วมการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1789 ได้มีส่วนร่วมในการร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง หลังเหตุการณ์การทลายคุกบัสตีย์ เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ และพยายามให้การปฏิวัติฝรั่งเศสอยู่ในสายกลาง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1792 ฝ่ายนักปฏิวัติหัวรุนแรงได้สั่งจับกุมตัวเขาในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนสังหารหมู่ช็องเดอมาร์ส เขาจึงหนีไปทางเนเธอร์แลนด์และถูกทหารออสเตรียจับได้และติดคุกนานถึงประมาณ 5 ปี
เมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ตขึ้นมามีอำนาจในฝรั่งเศสและรับประกันความปลอดภัยให้เขา ลาฟาแย็ตจึงตัดสินใจกลับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1797 แต่ปฏิเสธเข้าร่วมรัฐบาล หลังการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงในปี ค.ศ. 1814 ถึงปี ค.ศ. 1824 เจมส์ มอนโร ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เชิญเขาให้เยือนสหรัฐในฐานะอาคันตุกะของชาติ เขาได้เยือนรัฐทั้ง 24 รัฐในขณะนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม เขาไม่ยอมเป็นผู้นำแบบเผด็จการ แต่สนับสนุนหลุยส์-ฟิลิป ให้ขึ้นครองราชย์ ลาฟาแย็ตถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1824 ได้รับสมัญญาว่า วีรบุรุษสองโลก (โลกเก่าและโลกใหม่)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Carlier Jeannie, Lafayette, Héros des deux Mondes, Payot, 1988.