ข้ามไปเนื้อหา

ประชาธิปไตยสังคมนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชาธิปไตยสังคมนิยม[1] (อังกฤษ: Social democracy) เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนการแทรกแซงของรัฐทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความยุติธรรมทางสังคมภายในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตลอดจนนโยบายการปกครองอันผูกมัดกับระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน การกระจายรายได้ และการควบคุมเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและที่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐสวัสดิการ[2][3][4] ดังนั้น จึงเป็นระบอบที่มุ่งสร้างเงื่อนไขให้กับระบอบทุนนิยมเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประชาธิปไตย ที่เท่าเทียมกัน และที่เป็นปึกแผ่นมากกว่า โดยบ่อยครั้งสัมพันธ์กับนโยบายทางสังคมเศรษฐกิจที่กลายเป็นเรื่องสำคัญในประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ โดยเฉพาะรูปแบบที่มีในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) ในช่วงครึ่งหลังคริสต์ทศวรรษที่ 20[5][6]

ระบบนี้มาจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่สนับสนุนการปฏิรูปแบบสันติ เพื่อเปลี่ยนจากระบบทุนนิยมเป็นสังคมนิยมผ่านกระบวนการทางเมืองที่มีอยู่แล้ว เทียบกับการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติของลัทธิมากซ์ดั้งเดิม[7] ในยุโรปตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมได้ปฏิเสธรูปแบบทางการเมืองและเศรษฐกิจของลัทธิสตาลินที่ตอนนั้นปฏิบัติอยู่ในสหภาพโซเวียต โดยใช้ทางเลือกเพื่อดำเนินสู่สังคมนิยมอีกแบบหนึ่ง หรือใช้ระบบอะลุ้มอล่วยระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม[8]

ในช่วงเวลานี้ นักประชาธิปไตยสังคมนิยมได้นำเศรษฐกิจแบบผสมมาใช้ อิงอาศัยทรัพย์สินส่วนบุคคลที่มีมากกว่า บวกกับสาธารณูปโภคที่จำเป็นและบริการสาธารณะซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีน้อยกว่า ดังนั้น ระบอบนี้จึงสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ การแทรกแซงของรัฐ และรัฐสวัสดิการ โดยได้ละทิ้งเป้าหมายสังคมนิยมดั้งเดิมที่จะแทนที่ระบบทุนนิยม (รวมทั้งตลาดการผลิต ทรัพย์สินส่วนบุคคล และแรงงานแลกกับค่าจ้าง)[5] ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ต่างกัน[9][10][11]

ประชาธิปไตยสังคมนิยมในปัจจุบันมีลักษณะเฉพาะคือ การผูกมัดกับนโยบายที่เล็งระงับความไม่เท่าเทียมกัน ระงับการกดขี่กลุ่มคนที่ไร้อภิสิทธิ์ และระงับความยากจน[12] รวมทั้งการสนับสนุนบริการสาธารณะที่เข้าถึงได้ทั่วกัน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลเด็ก การศึกษา การดูแลสุขภาพ และค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ใช้แรงงาน[13] ขบวนการประชาธิปไตยสังคมนิยมยังมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับขบวนการแรงงานและสหภาพแรงงาน สนับสนุนสิทธิการร่วมเจรจาต่อรองสำหรับแรงงาน ตลอดจนนโยบายที่ขยายการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยนอกเหนือจากเรื่องการเมืองเข้าไปในประเด็นทางเศรษฐกิจ ในรูปแบบสิทธิเพื่อการเลือกผู้แทนในคณะกรรมการของบริษัท (co-determination) สำหรับทั้งลูกจ้างและผู้ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ[14]

ขบวนการ "ทางที่สาม" (Third Way) ซึ่งหวังเชื่อมเศรษฐกิจฝ่ายขวาเข้ากับนโยบายสวัสดิการแบบประชาธิปไตยสังคมนิยม เป็นอุดมการณ์ที่พัฒนาขึ้นต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1990 และบางครั้งนำมาใช้โดยพรรคการเมืองประชาธิปไตยสังคมนิยม แต่ก็มีนักวิเคราะห์ที่จัดทางที่สามว่า เท่ากับขบวนการเสรีนิยมใหม่[15]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Social democracy", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (รัฐศาสตร์) ประชาธิปไตยสังคมนิยม
  2. Heywood 2012, p. 128: "ประชาธิปไตยสังคมนิยมเป็นท่าทีทางอุดมการณ์ที่สนับสนุนดุลยภาพระหว่างทุนนิยมทางตลาดในด้านหนึ่ง กับการแทรกแซงของรัฐในอีกด้านหนึ่ง เพราะเป็นความอะลุ้มอล่วยกันระหว่างการตลาดและรัฐ ประชาธิปไตยสังคมนิยมจึงไร้ทฤษฎีที่เป็นมูลฐาน และจึงกล่าวได้ว่า คลุมเครือโดยธรรมชาติ แต่มันก็สัมพันธ์กับมุมมองดังต่อไปนี้ คือ (1) ทุนนิยมเป็นวิธีการสร้างความมั่งคั่งที่เชื่อถือได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่เป็นวิธีการแจกจ่ายความมั่งคั่งที่บกพร่องทางศีลธรรม เพราะความโน้มเอียงของมันไปทางความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน (2) ความบกพร่องของระบบทุนนิยมสามารถแก้ได้ผ่านการแทรกแซงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐจะเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของสาธารณชน[…]"
  3. Miller 1998, pp. 827 "แนวคิดของประชาธิปไตยสังคมนิยม ปัจจุบันใช้กับสังคมที่เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมโดยมาก แต่ที่รัฐควบคุมเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้บริการเป็นสวัสดิการที่นอกเหนือทุนนิยม และพยายายามเปลี่ยนการแจกจ่ายรายได้และความมั่งคั่งเพื่อความยุติธรรมทางสังคม"
  4. Badie, Berg-Schlosser & Morlino 2011, p. 2423: "ประชาธิปไตยสังคมนิยมหมายถึงความโน้มเอียงทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 อย่าง คือ (1) ประชาธิปไตย (เช่น สิทธิเท่าเทียมกันในการลงคะแนนเสียงและการตั้งพรรค) (2) เศรษฐกิจที่รัฐควบคุมโดยส่วนหนึ่ง (เช่น ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์) และ (3) รัฐสวัสดิการที่ให้การสนับสนุนทางสังคมต่อบุคคลที่จำเป็น (เช่น สิทธิเท่าเทียมกันเพื่อการศึกษา บริการทางสุขภาพ การจ้างงาน และเบี้ยบำนาญ)"
  5. 5.0 5.1 Weisskopf 1992, p. 10: "ดังนั้น นักประชาธิปไตยสังคมนิยมจะไม่พยายามกำจัดตลาดหรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่จะพยายามสร้างสภาวะที่การดำเนินงานของเศรษฐกิจตลาดทุนนิยม จะให้ผลที่เสมอภาคมากกว่า และส่งเสริมข้อปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่นกัน มากกว่าระบบทุนนิยมธรรมดา"
  6. Gombert et al. 2009, p. 8; Sejersted 2011.
  7. "Social democracy". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2015-08-10.
  8. Adams 1993, pp. 102–103: "การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยสังคมนิยมส่วนหนึ่งเป็นผลของสงครามเย็น คือมีคนอ้างว่า ถ้าจักรวรรดิโซเวียตของสตาลินที่รัฐควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นตัวแทนของระบบสังคมนิยม ระบบก็จะเป็นอะไรที่ไม่น่าได้ [...] นโยบายสมานฉันท์ที่มีผลเป็นเศรษฐกิจแบบผสมและเศรษฐกิจที่บริหารจัดการ ร่วมกับรัฐสวัสดิการ ซึ่งพัฒนาโดยรัฐบาลแรงงานหลังสงคราม ดูเหมือนจะให้รากฐานแก่ระบบสังคมนิยมที่ใช้งานได้ ซึ่งจะรวมความรุ่งเรืองและอิสรภาพ กับความยุติธรรมทางสังคมและโอกาสการมีชีวิตอันสมบูรณ์สำหรับทุกคน เป็นนโยบายที่มองได้ว่า เป็นความประนีประนอมกันระหว่างสังคมนิยมกับทุนนิยม"
  9. Miller 1998, pp. 827 "ในระยะที่สองซึ่งโดยหลักเกิดหลังสงคราม นักประชาธิปไตยสังคมนิยมได้เชื่อว่า อุดมการณ์และค่านิยมของตนสามารถถึงได้ด้วยการปฏิรูประบบทุนนิยมแทนที่จะกำจัดมัน พวกเขาจึงนิยมเศรษฐกิจแบบผสมที่อุตสาหกรรมโดยมากจะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยมีสาธารณูปโภคและบริการที่จำเป็นและมีจำนวนน้อยอื่น ๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ"
  10. Jones 2001, p. 1410: "นอกจากนั้น โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางครั้งมีการแยกแยะระหว่างนักประชาธิปไตยสังคมนิยมและนักสังคมนิยมโดยมีมูลฐานว่า พวกแรกได้ยอมรับความถาวรของเศรษฐกิจแบบผสม และได้ละทิ้งไอเดียที่จะแทนที่ระบบทุนนิยมด้วยสังคมแบบสังคมนิยมที่แตกต่าง"
  11. Heywood 2012, pp. 125–128: "โดยเป็นจุดยืนทางอุดมการณ์ ประชาธิปไตยสังคมนิยมได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นราว ๆ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเป็นผลจากความโน้มเอียงของพรรคการเมืองสังคมนิยมประเทศตะวันตก ที่ไม่เพียงได้นำกลยุทธ์ผ่านรัฐสภามาใช้ แต่ยังแก้ไขเป้าหมายทางสังคมนิยมของตนอีกด้วย โดยเฉพาะก็คือ พวกเขาได้ละทิ้งเป้าหมายในการกำจัดทุนนิยมและหาวิธีปฏิรูปมัน หรือทำให้มันมีมนุษยธรรมมากขึ้น ดังนั้น ประชาธิปไตยสังคมนิยมจึงกลายเป็นจุดยืนเพื่อให้มีดุลยภาพระหว่างทุนนิยมทางตลาดในด้านหนึ่ง และการแทรกแซงของรัฐในอีกด้านหนึ่ง"
  12. Hoefer 2013, p. 29.
  13. Meyer & Hinchman 2007, p. 137.
  14. Meyer & Hinchman 2007, p. 91; Upchurch, Taylor & Mathers 2009, p. 51.
  15. Romano 2006, p. 11.

อ้างอิงอื่น

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]