ปราสาท
ปราสาท คือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกซึ่งเป็นสัญลักษณ์หลักของสมัยกลาง ความหมายของคำว่าปราสาทยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการถึงความหมายที่แท้จริง แต่โดยทั่วไปแล้วปราสาทมีความหมายต่างจากคำว่า “ป้อม” (fort) และ “ป้อมปราการ” (fortress) ตรงที่ปราสาทเป็นที่ประทับหรือที่พำนักของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางในบริเวณที่เป็นจุดที่ต้องมีการป้องกันจากข้าศึก
สิ่งก่อสร้างที่เป็นที่มาของปราสาทคือป้อมโรมัน (Roman fort) และ ป้อมเนิน (Hill fort) ที่สร้างกันทั่วยุโรปที่มาจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในสมัยจักรวรรดิการอแล็งเฌียง แต่การวิวัฒนาการของปืนใหญ่และดินปืนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นการเปลี่ยนลักษณะการสงครามในยุโรปและทำให้สมรรถภาพของปราสาทในการใช้เป็นสิ่งป้องกันการโจมตีจากข้าศึกลดลง และทำให้การสร้างป้อมเป็นที่นิยมกันมากขึ้น
สิ่งก่อสร้างในรัสเซียที่เรียกว่า “เคร็มลิน” (Kremlin) หรือในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ชิโร” (Shiro) ก็ถือว่าเป็นปราสาท
คำจำกัดความ
[แก้]ที่มาของความหมาย
[แก้]คำว่าปราสาทในภาษาอังกฤษ “Castle” มาจากภาษาละติน “Castellum” แปลงเป็น “castrum” ที่แปลว่า “สิ่งก่อสร้างที่สร้างเสริม” ในภาษาอังกฤษเก่า ปราสาทใช้คำว่า “castel”, ภาษาฝรั่งเศส “château”, ภาษาสเปน “castillo”, ภาษาอิตาลี castel “castello” และภาษายุโรปอื่น ๆ ต่างก็มาจากคำว่า “castellum”[1] คำว่า “castle” เข้ามาในภาษาอังกฤษไม่นานก่อนที่นอร์มันจะได้รับชัยชนะต่ออังกฤษ ที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นป้อมที่ในขณะนั้นยังใหม่สำหรับอังกฤษ เป็นคำที่นำเข้ามาใช้โดยขุนนางนอร์มันที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพนำตัวเข้ามาในอังกฤษและส่งไปแฮรฟอร์ดเชอร์เพื่อต่อต้านการรุกรานของเวลส์
ภาษาฝรั่งเศสเรียกปราสาทว่า “Château-Fort” ถ้าเรียกใช้เพียงคำว่า “Château” ก็จะเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่เป็นวัง หรือคฤหาสน์ชนบทที่ตั้งอยู่กลางบริเวณใหญ่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองหรือผู้มีอันจะกินเท่านั้นโดยไม่มีประโยชน์ในการใช้สอยทางการทหารแต่อย่างใด ต่อมาปราสาทในยุโรปวิวัฒนาการและขยายให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อใช้ในการเป็นที่อยู่อาศัยอย่างหรูหราในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ฉะนั้นบางปราสาทก็ยังรักษาชื่อว่าเป็นปราสาทอยู่ ทั้ง ๆ ที่การต่อเติมใหม่เป็นการทำให้ไม่มีประโยชน์ทางการทหารแล้ว ในสเปนขณะที่ “Castile” ใช้สำหรับปราสาท แต่สิ่งก่อสร้างที่สร้างเสริมสำหรับการป้องกันข้าศึกยังคงใช้ชื่อมัวร์ว่า “alcázar” ขณะที่ “ชิโร” เป็นคำที่ใช้กันในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เป็นที่พำนักของไดเมียว ในเยอรมนีคำสำหรับปราสาทมีสองคำ “burg” และ “schloss” “burg” หรือปราสาท เป็นสิ่งก่อสร้างจากสมัยกลางที่มีประโยชน์ทางการทหาร ขณะที่ “schloss” หรือวังหมายถึงสิ่งก่อสร้างหลังยุคกลางเป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่มีประโยชน์ทางการทหาร
ลักษณะของปราสาท
[แก้]ตามความหมายอย่างกว้าง ๆ ความหมายของคำว่าปราสาทที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในบรรดานักวิชาการคือเป็น “ที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลที่มีการสร้างเสริมระบบป้องกัน”[2] ซึ่งไม่เหมือนกับค่ายของแองโกล-แซ็กซอน หรือ กำแพงเมือง เช่นที่คอนสแตนติโนเปิล และ อันติโอคในตะวันออกกลาง ปราสาทมิใช่ระบบการป้องกันของประชาคม แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างและเป็นของลอร์ดของระบบเจ้าขุลมูลนาย ที่อาจจะเป็นของตนเองหรือปกครองในนามของพระมหากษัตริย์[3] ระบบเจ้าขุลมูลนายเป็นระบบของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและผู้อยู่ในฐานะบริวาร (vassal) ผู้ทำหน้าที่เป็นทหารเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับที่ดินที่ใช้ในการทำมาหากิน[4] ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างคำจำกัดความของปราสาทกันขึ้นใหม่ที่รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบเจ้าขุลมูลนายเพื่อที่จะให้ลงตัวกับความเป็นอยู่และระบบของยุคกลาง แต่คำจำกัดความดังว่าก็มิได้สะท้อนถึงสิ่งที่ผู้คนในยุคกลางเรียกว่าปราสาท ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1096–ค.ศ. 1099) กองทัพแฟรงค์เรียกที่ตั้งถิ่นฐานที่ล้อมรอบด้วยกำแพง หรือ ป้อมว่าปราสาท ที่เมื่อใช้กฎเกณฑ์ตามหลักที่วางไว้ในปัจจุบันแล้วก็จะไม่ถือว่าเป็นปราสาท[2]
ปราสาทใช้ประโยชน์ได้หลายประการ แต่ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือในทางการทหาร, ในการเป็นสถานที่สำหรับการบริหาร, และในการเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากการเป็นสถานที่ใช้ในกันป้องกันจากการโจมตีของข้าศึกแล้ว ในขณะเดียวกันปราสาทก็ใช้เป็นที่มั่นในการบริหารเมื่อตั้งอยู่ในดินแดนของศัตรูด้วย การใช้ปราสาทเป็นเครื่องมือทั้งในการป้องกันและโจมตีข้าศึกจะเห็นได้จากการสร้างปราสาทโดยนอร์มันเมื่อมารุกรานอังกฤษ ในการกำราบประชากรของชนชาติที่ทำการพิชิตจากการก่อความไม่สงบได้[5] เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษทรงเดินทัพคืบหน้าเข้าไปในดินแดนอังกฤษหลังจากที่ทรงพิชิตดินแดนในปี ค.ศ. 1066 ได้แล้ว พระองค์ก็จำเป็นต้องก่อสร้างปราสาทในจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามขึ้นไปเป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในดินแดนที่ทรงยึดมาได้ภายในครอบครอง ระหว่างปี ค.ศ. 1066 ถึง ค.ศ. 1087 พระเจ้าวิลเลียมก็ทรงก่อสร้างปราสาททั้งหมดราว 36 ปราสาทที่รวมทั้งปราสาทวอริคซึ่งเป็นปราสาทที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการก่อความไม่สงบในบริเวณอังกฤษมิดแลนด์ส (English Midlands) [6][7]
ปราสาทของนอร์มันไม่เหมือนค่าย (Burh) ของแองโกล-แซ็กซอน ที่เป็นชุมชนที่มีสิ่งก่อสร้างรอบที่ใช้ในการป้องกันต้นเอง แต่เป็นปราสาทเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นของเจ้าของปราสาทเท่านั้นไม่ใช่ของชุมชนที่มาพำนักอาศัยอยู่ภายใน[8] เมื่อมาถึงปลายยุคกลางประโยชน์ของปราสาททางการทหารก็ลดถอยลงไปเป็นลำดับเพราะการวิวัฒนาการของปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น[9] แต่ความสำคัญในการเป็นที่พำนักอาศัย และ ในการแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของเพิ่มมากขึ้น[10]
บางครั้งคำว่าปราสาทก็ใช้กันในความหมายที่ไม่ถูกต้องนักกับโครงสร้างเช่นระบบการป้องกันของยุคเหล็ก เช่น ปราสาทเมดเดน, ดอร์เซ็ท ในอังกฤษ[11] ปราสาทอาจจะใช้เป็นที่มั่นหรือที่จำขังนักโทษด้วยเช่นในหอคอยแห่งลอนดอน[12] แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ที่เจ้าของปราสาทใช้ในการเลี้ยงรับรองแขกด้วย การใช้ปราสาทในกิจการต่าง ๆ ดังกล่างทำให้ปราสาทต่างจากป้อมตรงที่ป้อมมักจะใช้ในทางการป้องกันทหารเท่านั้น แม้ว่าความหมายของปราสาทจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่คำว่า “ปราสาท” บางครั้งก็จะหมายถึง “เนินปราสาท” (Citadel) หรือปราสาทสมัยใหม่ที่จงใจสร้างในรูปทรงของปราสาทในยุคกลางด้วยก็ได้เช่นปราสาทนอยชวานชไตน์ในบาวาเรียที่สร้างโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้น
องค์ประกอบโดยทั่วไปของปราสาท
[แก้]เนินดิน
[แก้]เนินดิน หรือ “Motte” เป็นเนินดินที่ตอนบนราบที่มักจะเป็นเนินดินที่สร้างขึ้น แต่บางครั้งก็อาจจะใช้ภูมิลักษณ์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเป็นส่วนประกอบ การสร้างเนินดินทำให้เกิดร่องกว้างลึกรอบเนินซึ่งกลายเป็นระบบป้องกันขึ้นอีกชั้นหนึ่ง น้ำในคูก็อาจจะมาจากการเบี่ยงทิศทางของลำน้ำที่อยู่ใกล้เคียง “Motte” และ “Moat” (คู) ต่างก็แผลงมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าที่แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ขึ้นต่อกันในด้านการก่อสร้าง
คำว่า “Motte” มักจะเกี่ยวกับคำว่า “bailey” ที่หมายถึงลานที่มีกำแพงล้อมรอบ รวมกันแล้วเป็น “motte-and-bailey” หรือ ปราสาทเนิน แต่ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปเพราะบางครั้งปราสาทก็อาจจะมีแต่เนินดินโดยไม่มีลาน “Motte” หมายถึงเนินดินเท่านั้นแต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกอยู่บนยอดเนินเช่นหอกลาง และบางครั้งอาจจะล้อมรอบด้วยกำแพงระเนียด[13] โดยปกติแล้วทางเข้าปราสาทจะเชื่อมโดยสะพานชัก เช่นตัวอย่างที่ปรากฏในภาพบนผ้าปักบายูของปราสาทดินอง[14] บางครั้งปราสาทเนินก็อาจจะตั้งอยู่เหนือปราสาทเดิม หรือ ห้องโถง ที่กลายมาเป็นห้องเก็บของใต้ดิน หรือเป็นที่จำขัง ในหอกลางที่สร้างขึ้นใหม่บนเนิน[15]
ลานปราสาทและปราสาทชั้นใน
[แก้]ลานปราสาท หรือ “bailey” หรือ “ward” เป็นบริเวณลานภายในปราสาทที่มีระบบป้องกันล้อมรอบและเป็นองค์ประกอบที่พบเสมอในการสร้างปราสาทที่อย่างน้อยก็จะมีอยู่หนึ่งบริเวณ หอกลางที่ตั้งอยู่บนเนินดินเป็นที่อยู่อาศัยของประมุขผู้ครองปราสาทและเป็นระบบป้องกันด่านสุดท้ายของปราสาท ขณะที่ลานรอบตัวปราสาทจะเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปราสาท และ เป็นบริเวณที่ได้รัการคุ้มครองจากอันตรายภายนอก ค่ายสำหรับทหาร, โรงม้า, โรงช่าง และ โรงเก็บเสบียงก็มักจะตั้งอยู่ในบริเวณนี้ น้ำใช้ก็จะมาจากบ่อหรือแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปความสำคัญของปราสาทก็ย้ายหอกลางมาเป็นบริเวณรอบตัวปราสาท ที่ทำให้เกิดการสร้างลานปราสาทขึ้นอีกชั้นหนึ่งที่มีระดับสูงกว่าสำหรับเป็นที่พักและชาเปลสำหรับลอร์ดแห่งปราสาท ที่ต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นเช่นค่ายทหาร หรือ โรงช่าง[16] ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ขุนนางก็เริ่มย้ายออกจากบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยขนาดย่อมในบริเวณลานปราสาทไปตั้งที่อยู่ใหม่นอกตัวปราสาท ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีระบบป้องกันของตนเอง (fortified house) ไกลออกไปในชนบท[17] แม้ว่าลานปราสาทมักจะเกี่ยวข้องกับเนินและปราสาท แต่บริเวณรอบตัวปราสาทก็อาจจะเป็นบริเวณอิสระที่มีระบบป้องกันเป็นของตนเอง ระบบป้อมปราการแบบง่าย ๆ ที่ว่านี้เรียกว่า “เนินวงแหวน” (Ringwork)[18] ปราสาทชั้นในเป็นระบบการป้องกันอันสำคัญของปราสาท ปราสาทหนึ่งอาจจะมี บริเวณภายในปราสาทหลายบริเวณ แต่อาจจะมีบริเวณรอบตัวหอกลางเพียงบริเวณเดียว แต่ปราสาทที่ไม่มีหอกลางที่ต้องพึ่งระบบป้องกันจากภายนอกบางครั้งก็จะเรียกว่า “enceinte castles”[19] ซึ่งเป็นลักษณะของการก่อสร้างปราสาทในสมัยแรก การสร้างหอกลางมาเริ่มกันในคริสต์ศตวรรษที่ 10[20]
หอกลาง
[แก้]คือหอใหญ่ที่มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการป้องกันอย่างดีที่สุดของปราสาทก่อนที่จะมีการใช้ระบบการป้องกันแบบกำแพงวงซ้อน (concentric defence) “keep” หรือหอกลางมิใช่คำที่ใช้กันในยุคกลาง แต่มาเริ่มใช้กันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นหอกลางมักจะเรียกว่า “donjon”[21] หรือ “turris” ในภาษาละติน ในปราสาทแบบเนินดิน-และ-ลานปราสาท (motte-and-bailey castle) หอกลางจะตั้งอยู่บนเนิน[13] “Dungeon” ในภาษาอังกฤษเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “donjon” ที่แปลว่าคุกที่มืดสกปรก[22] แม้ว่าหอกลางจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงที่สุดของตัวปราสาท และเป็นที่หลบภัยที่สุดท้ายเมื่อข้าศึกสามารถทลายกำแพงชั้นนอกเข้ามาได้ แต่หอกลางก็มิได้ถูกทิ้งไว้แต่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของปราสาท หรือ แขก หรือ ผู้สำเร็จราชการ[23] เดิมหอกลางมักจะใช้กันเฉพาะในอังกฤษ หลังจากการพิชิตอังกฤษโดยนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 ผู้พิชิตต้อง “ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวั่นกลัวต่อภัยของการรุกรานอยู่เป็นเวลานาน”[24] ในภูมิภาคอื่นภรรยาของเจ้าของปราสาทอาจจะมีที่อยู่อาศัยต่างหากที่ไม่ไกลจากหอกลาง และ “donjon” ใช้เป็นค่ายทหารและศูนย์กลางของการบริหารปราสาท ในเวลาต่อมาการใช้สอยทั้งสองอย่างก็กลายมาทำด้วยกันในสิ่งก่อสร้างเดียวกัน และชั้นบนสุดอาจจะมีหน้าต่างกว้าง ซึ่งทำให้การบรรยายการใช้สอยของส่วนต่าง ๆ ยากที่จะบรรยาย[25] ในปัจจุบันหอกลางที่เห็นกันว่าเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ อันที่จริงแล้วซอยเป็นห้องย่อย ๆ โดยการใช้ฉากเช่นเดียวกับห้องโถงทำงานสมัยใหม่ แม้แต่ปราสาทใหญ่ ๆ บางแห่ง “โถงเอก” (great hall) ของปราสาทก็อาจจะแยกจากห้องนอนและห้องทำงานของเจ้าของปราสาทเพียงการใช้ฉากกั้น[26]
กำแพงม่าน
[แก้]กำแพงม่านเป็นกำแพงป้องกันที่ล้อมรอบลานปราสาทภายใน กำแพงต้องมีความสูงพอที่ไม่ให้ข้าศึกปีขึ้นด้วยบันไดทำได้ง่าย และต้องมีความหนาพอที่จะทนทานแรงระเบิดของเครื่องมือกลไกต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำลายกำแพงได้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาอาวุธที่ใช้ก็รวมทั้งระเบิด โดยทั่วไปแล้วกำแพงก็จะหนาราว 3 เมตร และสูงราว 12 เมตร แต่ก็ต่างกันไปมากแล้วแต่ที่ตั้ง กำลังทรัพย์ และความสำคัญของปราสาท
การป้องกันจากการพยามระเบิดกำแพงจากภายใต้ของข้าศึก กำแพงม่านก็อาจจะเสริมด้วยฐานที่บานออกไปคล้าย “กระโปรง” ทางเดินบนกำแพงทำให้ผู้ป้องกันปราสาทสามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้ด้วยการยิงด้วยศรลงมายังข้าศึกที่พยายามปีนขึ้นมา นอกนั้นตอนบนก็อาจจะสร้างเป็นเชิงเทินที่มีลักษณะเป็นใบสอ และมีป้อมเป็นระยะ ๆ ที่ใช้ในการระดมยิงข้าศึกตามแนวกำแพงได้สะดวก[27] ช่องธนูมิได้มีขึ้นจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13 เพราะความกลัวที่ว่าอาจจะทำให้กำแพงไม่แข็งแรงเท่าที่ควร[28]
คูปราสาท
[แก้]คือร่องน้ำกว้างและลึกที่อาจจะเป็นคูแห้งหรือที่มีน้ำขังที่ขุดขึ้นรอบปราสาทก็ได้ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบการป้องกันจากการโจมตีจากบุคคลภายนอก การมีคูทำให้ยากต่อการเข้าโจมตีกำแพง หรือการใช้อาวุธที่ช่วยในการปีนกำแพงเช่นหอล้อมเมืองเคลื่อนที่ (siege tower) หรือ ไม้กระทุ้งกำแพง (Battering ram) ซึ่งเป็นอาวุธที่ต้องนำมาจ่อที่กำแพงจึงจะใช้ได้ นอกจากนั้นคูที่เป็นน้ำยังทำให้ยากต่อการพยายามขุดอุโมงค์ภายใต้กำแพงเพื่อทำการระเบิดทลายกำแพงได่อย่างมีประสิทธิภาพ
คูน้ำมักจะพบในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มและมักจะเชื่อมกับแผ่นดินด้วยสะพานชัก ที่ต่อมามักจะสร้างแทนด้วยสะพานหิน นอกจากการสร้างคูแล้ว ปราสาทอาจจะตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ที่มีน้ำล้อมรอบที่ก็ใช้เป็นระบบการป้องกันเช่นกัน[29] ต่อมาการสร้างคูน้ำก็ยิ่งวิวัฒนาการขึ้นอย่างสลับซับซ้อนเช่นระบบป้องกันของปราสาทแคร์ฟิลลีในเวลส์ หรือที่ปราสาทเคนิลเวิร์ธอันมีระบบคูน้ำป้องกันที่ใช้เขื่อนควบคุมการไหลเวียนของน้ำ
ปราสาทที่มีคูหรือล้อมรอบด้วยทะเลสาบเทียมเป็นสิ่งที่นิยมสร้างกันในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และ เวลส์, กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ, เยอรมนี, ออสเตรีย และเดนมาร์ก
ในสมัยต่อมาเมื่อปราสาทเปลี่ยนไปเป็นวังหรือคฤหาสน์ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยทางด้านการป้องกันทางการทหารแล้ว แต่เป็นสถานที่สำหรับรับแขกและเป็นที่พำนักอาศัย คูรอบปราสาทหรือทะเลสาบก็กลายมาเป็นสิ่งตกแต่งแทนที่ แม้มาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 การก่อสร้างวังเพื่อความสำราญก็ยังคงสร้างให้มีคูล้อมรอบ เช่นคฤหาสน์โวซ์-เลอ-วิคงต์ที่ยังคงล้อมรอบด้วยคูน้ำแบบโบราณที่แยก “ประธานมณฑล” และเชื่อมด้วยสะพาน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Creighton & Higham 2003, p. 6.
- ↑ 2.0 2.1 "a private fortified residence".Coulson 2003, p. 16.
- ↑ Liddiard 2005, pp. 15–17.
- ↑ Herlihy 1970, p. xvii–xviii.
- ↑ Friar 2003, p. 47.
- ↑ Liddiard 2005, p. 18.
- ↑ Stephens 1969, pp. 452–475.
- ↑ Liddiard 2005, pp. 15–17.
- ↑ Duffy 1979, pp. 23–25.
- ↑ Liddiard 2005, pp. 2, 6–7.
- ↑ Creighton & Higham 2003, pp. 6–7.
- ↑ Wilkinson, Philip (1997). Castles (Pocket Guides). DK Children. ISBN 0789420473.
- ↑ 13.0 13.1 Friar 2003, p. 214.
- ↑ Cathcart King 1988, pp. 55–56.
- ↑ Barthélemy 1988, p. 397.
- ↑ Friar 2003, p. 22.
- ↑ Barthélemy 1988, pp. 408–410, 412–414.
- ↑ Friar 2003, pp. 214, 216.
- ↑ Friar 2003, p. 105.
- ↑ Barthélemy 1988, p. 399.
- ↑ Friar 2003, p. 163.
- ↑ Cathcart King 1988, p. 188.
- ↑ Cathcart King 1988, p. 190.
- ↑ Barthélemy 1988, p. 402.
- ↑ Barthélemy 1988, pp. 402–406.
- ↑ Barthélemy 1988, pp. 416–422.
- ↑ Friar 2003, p. 86.
- ↑ Cathcart King 1988, p. 84.
- ↑ Friar 2003, p. 208.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาท