สิลาส
สิลาส | |
---|---|
อัครทูต, สาวก, มิชชันนารี, มุขนายก และมรณสักขี | |
เสียชีวิต | ค.ศ. 65–100 มาซิโดเนีย |
นับถือ ใน | |
วันฉลอง |
|
สัญลักษณ์ | ความเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์ |
สิลาส หรือ สิลวานัส (อังกฤษ: Silas หรือ Silvanus, /ˈsaɪləs/; กรีก: Σίλας/Σιλουανός; ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1) เป็นสมาชิกผู้นำของชุมชนคริสต์ศาสนิกชนในยุคแรก พันธสัญญาใหม่ระบุว่าสิลาสได้ติดตามเปาโลอัครทูตในการเดินทางเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ครั้งที่ 2[1]
ชื่อและศัพทมูล
[แก้]โดยทั่วไปแล้วถือว่าสิลาสเป็นบุคคลเดียวกันกับสิลวานัสที่ถูกกล่าวถึงในบทจดหมาย 4 ฉบับ ในบางฉบับแปลเช่นพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย เรียกด้วยชื่อ "สิลาส" ในบทจดหมาย เปาโล สิลาส และทิโมธีได้รับการระบุว่าเป็นผู้เขียนร่วมของจดหมาย 2 ฉบับในพันธสัญญาใหม่ถึงชาวเธสะโลนิกา แม้ว่ามีการโต้แย้งในเรื่องตัวตนผู้เขียนของบทจดหมาย จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2 กล่าวถึงสิลาสว่าเคยเทศนาร่วมกับเปาโลและทิโมธีนคริสตจักรที่โครินธ์ (2 โครินธ์ 1:19) และจดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 ระบุว่าสิลาสเป็น "พี่น้องที่ซื่อสัตย์" (1 เปโตร 5:12)
มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับรูปแบบดั้งเดิมหรือรูปแบบที่ "ถูกต้อง" ของชื่อของสิลาส ชื่อ "สิลาส", "สิลวานัส", "เสอีลา" และ "ซาอูล" ดูจะถือว่าเป็นรูปแบบที่สมมูลกันของชื่อเดียวกันในภาษาต่าง ๆ กัน และไม่แน่ชัดว่าชื่อใดเป็นชื่อดั้งเดิมของ "สิลาส" และชื่อใดเป็นคำแปลคือชื่อเล่นที่สมมูลกับชื่อดั้งเดิม หรือบางการอ้างอิงเป็นการกล่าวถึงบุคคลอื่นที่มีชื่อที่เทียบเท่ากันหรือไม่ สิลาสมักถูกเรียกด้วยชื่อ "สิลาส" ในกิจการของอัครทูต แต่ชื่อโรมันว่า สิลวานัส (ซึ่งมีความหมายว่า "แห่งป่า") มักถูกใช้โดยเปาโลและถูกใช้ในจดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 (1 เปโตร 5:12) อาจเป็นไปได้ว่าชื่อ "สิลวานัส" เป็นชื่อรูปแบบโรมันของชื่อดั้งเดิมวา "สิลาส"[2] หรือชื่อ "สิลาส" อาจเป็นชื่อเล่นในภาษากรีกของ "สิลวานัส"[2] สิลาสจึงมักถูกระบุว่าเป็นคนเดียวกันกับสิลวานัสแห่งสาวกเจ็ดสิบคน Joseph Fitzmyer นักเทววิทยาคาทอลิกบ่งชี้เพิ่มเติมว่าชื่อ สิลาส เป็นคำแปลภาษากรีกของคำภาษาแอราเมอิกว่า เสอีลา (שְׁאִילָא) ซึ่งมาจากคำภาษาฮีบรูว่า ซาอูล (שָׁאוּל) ซึ่งได้รับการรับรองในจารึกของนครแพลไมรา[3]
เรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิล
[แก้]สิลาสถูกกล่าวถึงครั้งแรกในกิจการ 15:22 ซึ่งเล่าว่าสิลาสและยูดาสบารซับบาส (มักรู้จักในชื่อ 'ยูดาส') ได้รับการเลือกโดยผู้อาวุโสในคริสตจักรให้กลับไปเมืองอันทิโอกพร้อมกับเปาโลและบารนาบัสหลังการประชุมในกรุงเยรูซาเล็ม สิลาสและยูดาสถูกกล่าวถึงในฐานะผู้นำในบรรดาพี่น้อง บรรดาผู้เผยพระวจนะ และบรรดาผู้พูดหนุนใจ สิลาสได้รับการเลือกโดยเปาโลให้ติดตามไปในการเดินทางเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ครั้งที่ 2 หลังจากเปาโลและบารนาบัสแยกทางไปทำพันธกิจเพราะขัดแย้งกันในเรื่องการเข้าร่วมของมาระโก ระหว่างการเดินทางเผยแผ่ครั้งที่ 2 สิลาสและเปาโลถูกจับขังคุกเป็นเวลาสั้น ๆ ในเมืองฟีลิปปี ในช่วงเวลานั้นได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้เครื่องจำจองหลุดออกจากตัวทั้งคู่และประตูคุกก็เปิดหมดทุกบาน ดังนั้นบางครั้งสิลาสได้รับการวาดภาพในงานศิลปะในลักษณะที่ถือโซ่ตรวนที่ขาด[4] (กิจการ 16:25-37)
กิจการ 17-18 ระบุว่าสิลาสและทิโมธีเดินทางร่วมกับเปาโลจากฟีลิปปีไปยังเธสะโลนิกา ที่นั้นทั้งสามถูกปฏิบัติอย่างเป็นปฏิปักษ์ในธรรมศาลา ผู้คุกคามไล่ตามทั้งสามไปถึงเมืองเบโรอา ทำให้เปาโลต้องแยกจากสิลาสและทิโมธี เปาโลเดินทางไปยังกรุงเอเธนส์ สิลาสและทิโมธีไปสมทบกับเปาโลที่เมืองโครินธ์ในภายหลัง[5]
เหตุการณ์เหล่านี้สามารถระบุช่วงเวลาได้ว่าเป็นราว ค.ศ. 50 การอ้างถึงผู้สำเร็จราชการกัลลิโอในกิจการ 18:12 ช่วยให้สามารถระบุช่วงเวลาได้ (เทียบกับจารึกกัลลิโอ)[6] กิจการ 18:6 -7 ระบุว่าเปาโลยุติการเข้าธรรมศาลในเมืองโครินธ์เนื่องจากเกิดการต่อต้าน สิลาสไม่ถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่าของกิจการของอัครทูตอีกหลังจากนั้น
สิลาสปรากฏในคำทักทายของ 1 และ 2 เธสะโลนิกา และยังถูกกล่าวถึงใน 2 โครินธ์ 1:19 ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมของสิลาสในพันธกิจของเปาโลในการเยือนเมืองเหล่านี้ สิลาสยังปรากฏในบทสรุปของ 1 เปโตรที่ 5:12 ซึ่งอาจมีฐานะเป็นเลขานุการ เปโตรถือว่าสิลาสเป็น "พี่น้องที่ซื่อสัตย์คนหนึ่ง"
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Notes on 1 Peter". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-03. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
- ↑ 2.0 2.1 Dunn, James D. G., บ.ก. (2003). The Cambridge Companion to St. Paul. Cambridge, UK: Cambridge University Press. p. 21. ISBN 0-521-78155-8 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Fitzmyer, Joseph J., บ.ก. (1998). The Anchor Bible: The Acts of the Apostles. New York: Doubleday. p. 564. ISBN 0-385-49020-8 – โดยทาง Internet Archive.
- ↑ The Holy Disciples from the Seventy
- ↑ กิจการ 18:5
- ↑ Cross, F. L.; Livingstone, E. A., บ.ก. (2005). The Oxford Dictionary of the Christian Church (3rd Revised ed.). Oxford: Oxford University Press. pp. 1243–5. ISBN 978-0-19-280290-3.