สุพันธุศาสตร์
สุพันธุศาสตร์ (อังกฤษ: Eugenics) คือประมวลความเชื่อและวิธีปฏิบัติว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพทางพันธุกรรมของประชากรมนุษย์ คำว่า สุพันธุศาสตร์ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ เซอร์ ฟรานซิส แกลตัน ในปีค.ศ. 1883
กฎหมายสุพันธุศาสตร์ถูกบังคับใช้ครั้งแรกในโลกที่รัฐอินดีแอนาในปี 1907[2][3] ซึ่งเปิดทางให้มีการบังคับทำหมัน ก่อนที่ศาลสูงรัฐอินดีแอนาจะสั่งยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ในปี 1921 แต่ยังมีรัฐอื่นอีก 13 แห่งที่นำกฎหมายเช่นนี้ไปบังคับใช้ตาม หนึ่งในนั้นคือรัฐเวอร์จิเนียซึ่งตรากฎหมายทำหมันขึ้นในปี 1924 กฎหมายนี้ถูกฟ้องต่อศาลสูงสุดสหรัฐว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุด ศาลสูงสุดสหรัฐก็รับรองกฎหมายฉบับนี้ให้บังคับใช้ต่อไปในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งอนุญาตให้มีการบังคับทำหมันแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช[4]
กฎหมายทำหมันในสหรัฐนี้เองที่เป็นต้นแบบของกฎหมายสุพันธุศาสตร์ในประเทศนาซีเยอรมนี โดยมีมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์เป็นผู้ออกทุนสนับสนุน บุคลากรสหรัฐจำนวนมากจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีการบังคับทำหมันมากที่สุดมากกว่ารัฐอื่นๆรวมกัน ถูกส่งตัวไปยังเยอรมนีเพื่อให้คำแนะนำแก่บรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน[5]
กฎหมายสุพันธุศาสตร์ยังถูกใช้งานในอีกหลายประเทศเช่นกัน อาทิ ประเทศเม็กซิโกในปีค.ศ. 1932 และประเทศญี่ปุ่นระหว่างปีค.ศ. 1948-96 ซึ่งล้วนมีลักษณะเนื้อหาคล้ายคลึงกัน โดยจะอนุญาตให้แพทย์สามารถบังคับทำหมันบุคคลที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญาซึ่งอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรรุ่นหลังเกิดมาอย่างด้อยคุณภาพ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Currell, Susan; Christina Cogdell (2006). Popular Eugenics: National Efficiency and American Mass Culture in The 1930s. Athens, OH: Ohio University Press. p. 203. ISBN 0-8214-1691-X.
- ↑ Lombardo, 2011: p. ix.
- ↑ Indiana Supreme Court Legal History Lecture Series, "Three Generations of Imbeciles are Enough:"Reflections on 100 Years of Eugenics in Indiana, at In.gov เก็บถาวร 13 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Larson 2004, pp. 194–195 Citing Buck v. Bell 274 U.S. 200, 205 (1927)
- ↑ Timothy F. Murphy; Marc Lappé (1994). Justice and the Human Genome Project. University of California Press. p. 18. ISBN 978-0-520-08363-9.