หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม
หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม | |
---|---|
กำกับ | เฉิน ข่ายเกอ |
เขียนบท | Lilian Lee (นวนิยาย) Lei Bik-Wa Lu Wei |
อำนวยการสร้าง | Hsu Feng |
นักแสดงนำ | เลสลี่ จาง จาง เฟิงอี้ กง ลี่ |
กำกับภาพ | Gu Changwei |
ตัดต่อ | Pei Xiaonan |
ดนตรีประกอบ | จ้าว จื่อผิง |
ผู้จัดจำหน่าย | Tomson Film HongKong Miramax นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (ในประเทศไทย) |
วันฉาย | ค.ศ. 1993 |
ความยาว | 171 นาที |
ประเทศ | จีน |
ภาษา | จีนกลาง |
ข้อมูลจาก IMDb |
หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม (จีนตัวย่อ: 霸王别姬; จีนตัวเต็ม: 霸王別姬 (แปลเป็นไทยได้ว่า ปาอ๋องลาสนม); พินอิน: Bàwáng Bié Jī; แปลตรงตัว: "The Hegemon-King Bids Farewell to His Concubine"; อังกฤษ: Farewell My Concubine; ดีวีดีในไทย ใช้ชื่อว่า "หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม"[1] [2]) เป็นภาพยนตร์จีนที่กำกับโดยเฉิน ข่ายเกอ สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของลิเลียน ลี นักเขียนชาวฮ่องกง
มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโตวจื่อ นักแสดงอุปรากรจีนชาย ที่ได้รับการฝึกฝนให้รับบทเป็นตัวนาง กับซือโถว เพื่อนรุ่นพี่ที่คอยปกป้องโตวจื่อมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นโตวจื่อใช้ชื่อในการแสดงว่า เฉิงเตี๋ยอี มีชื่อเสียงโด่งดังกับกับบทอวี้จี่อัน นางสนมของเซี่ยงอี่ (หรือ ฌ้อปาอ๋อง 232-202 ปีก่อนคริสตกาล) แม่ทัพแห่งแคว้นฉู่ตะวันตกในยุคราชวงศ์ฉิน ที่แสดงโดยซือโถว ซึ่งใช้ชื่อในการแสดงว่า ต้วนเสี่ยวโหลว บทบาทของทั้งคู่มาจากอุปรากรปักกิ่งเรื่อง "ฌ้อปาอ๋อง" เกี่ยวกับการรบเมื่อ 202 ปีก่อนคริสตกาล ระหว่างเซี่ยงอี่ กับหลิวปัง, การสถาปนาราชวงศ์ฮั่น และเรื่อง "ศาลาโบตั๋น"
ภาพยนตร์นำเสนอความสัมพันธ์แบบสามเส้าแบบ ชาย-ชาย-หญิง [3] ระหว่าง เฉิงเตี๋ยอี (รับบทโดย เลสลี่ จาง) กับ ต้วนเสี่ยวโหลว (รับบทโดย จาง เฟิงอี้) และนางโลมชื่อ จูเสียน (รับบทโดย กง ลี่) [4] โดยภาพยนตร์จบลงที่ความตายของเฉิงเตี๋ยอี โดยใช้ดาบเชือดคอตัวเอง เช่นเดียวกับในบทอวี้จี่อัน ที่ตัวเองเป็นผู้เล่น
ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและการเมืองจีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ตั้งแต่ยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง การพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น การโค่นล้มพรรคก๊กมินตั๋งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผ่านยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่งิ้วกลายเป็นสิ่งต้องห้าม จนมาถึงยุคปัจจุบัน [5] เป็นภาพยนตร์ภาษาจีนเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1993
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Farewell my Concubine (1993) หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม
- ↑ ดีวีดีในไทย ฉบับล่าสุด ใช้ชื่อปกว่า "หลายแผ่นดิน ไม่สิ้นใจก็ไม่ลืม"
- ↑ อัตลักษณ์ที่สับสนกับศิลปะต้องห้าม - Farewell to My Concubine
- ↑ Farewell my Concubine พบกันเพื่อจาก[ลิงก์เสีย]
- ↑ Farewell My Concubine & Boy meets Boy, คอลัมน์ Food for Thought, นิตยสาร s-exchange