อบายมุข
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
อบายมุข (อ่านว่า อะ-บาย-ยะ-มุก) แปลว่า ทางแห่งความเสื่อม สาเหตุให้ถึงความเสื่อม มี 2 หมวด คือ
- อบายมุข 4
- อบายมุข 6
อบายมุข 4
[แก้]อบายมุข 4 ได้แก่เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร
อบายมุข 6
[แก้]อบายมุข 6 ช่องทางของความเสื่อม ทางแห่งความพินาศ เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ ล้วนแต่เป็นการใช้เวลาในชีวิตและเงินทองที่มีจำกัดอย่างไม่รู้คุณค่า เปล่าประโยชน์และเกิดโทษ ได้แก่ ใช้เวลาชีวิตและเงินทองไปดื่มสุราและของมึนเมา ใช้เวลาชีวิตและเงินทองไปเที่ยวกลางคืน ใช้เวลาชีวิตและเงินทองไปเที่ยวดูการละเล่น ใช้เวลาชีวิตและเงินทองไปเล่นการพนัน ใช้เวลาชีวิตและเงินทองไปคบหาสมาคมกับคนชั่ว และเกียจคร้านการทำงานปล่อยให้เวลาชีวิตหมดสิ้นไปและไม่ใช้เงินทองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ [1]
- เสพสุราและของมึนเมาอื่น ๆ ที่ทำให้สติสัมปชัญญะลดลง มีโทษ 6 อย่าง คือ
- ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง
- ก่อการทะเลาะวิวาท
- เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
- เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
- เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย
- ทอนกำลังปัญญา
สิ่งตรงข้ามคือการเจริญสติสัมปชัญญะ เช่น ภาวนากรรมฐาน
- ชอบเที่ยวกลางคืน มีโทษ 6 อย่าง คือ
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
- ผู้นั้นเป็นที่ระแวงของคนอื่น
- คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
- อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม
สิ่งตรงข้ามคือการดูแลรักษาชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองบุตรภรรยา บำรุงรักษาที่อยู่อาศัย ทำบัญชีครัวเรือนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดเก็บถนอมรักษาทรัพย์สมบัติให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
- ชอบเที่ยวดูการละเล่น โดยการงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้องไปดูสิ่งนั้น ๆ ทั้ง 6 กรณี คือ
- รำที่ไหนไปที่นั่น
- ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
- ดนตรีที่ไหนไปที่นั่น
- เสภาที่ไหนไปที่นั่น
- เพลงที่ไหนไปที่นั่น
- เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น
- ติดการพนัน มีโทษ 6 อย่าง คือ
- ผู้ชนะย่อมก่อเวร
- ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
- ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
- ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
- ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท
- ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา
สิ่งตรงข้ามคือการประหยัดอดออมและลงทุน โดยศึกษาโอกาสการลงทุน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ประเมินความเสี่ยง วางแผนรับมือกับความเสี่ยง อย่างรอบคอบ
- คบคนชั่ว มีโทษ โดยนำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง 6 ประเภท คือ
- นำให้เป็นนักเลงการพนัน
- นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
- นำให้เป็นนักเลงเหล้า
- นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม
- นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า
- นำให้เป็นคนหัวไม้
สิ่งตรงข้ามคือการคบคนดี คบบัณทิต คบคนที่เป็นกัลยาณมิตร
- เกียจคร้านการงาน มีโทษ โดยทำให้ยกเหตุต่าง ๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน โภคทรัพย์ใหม่ก็ไม่เกิด โภคทรัพย์ที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือให้อ้างไปทั้ง 6 กรณี คือ
- หนาวนักแล้วไม่ทำการงาน
- ร้อนนักแล้วไม่ทำการงาน
- เย็นไปแล้วไม่ทำการงาน
- ยังเช้านักแล้วไม่ทำการงาน
- หิวนักแล้วไม่ทำการงาน
- อิ่มนักแล้วไม่ทำการงาน
สิ่งตรงข้ามคือการขยันทำงานโดยไม่มีข้ออ้าง หนาวก็ทำงาน ร้อนก็ทำงาน อกหักก็ทำงาน สะบายใจก็ทำงาน เครียดก็ทำงาน สุขก็ทำงาน ทุกข์ก็ทำงาน หาโภคทรัพย์ใหม่ตลอดเวลา
อบายมุขทั้งหมดนี้หากประพฤติเข้าแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความฉิบหาย ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชีวิตร่างกายได้เหมือนกันทุกข้อ
ข้อความอ้างอิง
[แก้]พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อ ชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการ เที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยว ดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "[200] อบายมุข 6 : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖". 84000.org. สืบค้นเมื่อ 24 February 2023.
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- สิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑