เฉินผี
เฉินผี | |||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 陳皮 | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 陈皮 | ||||||||||||||||||||||
ความหมายตามตัวอักษร | preserved peel | ||||||||||||||||||||||
|
เฉินผี ในภาษาจีนกลาง หรือ ถิ่งพ้วย[1][2] ในสำเนียงแต้จิ๋ว (จีน: 陈皮; พินอิน: chénpí) เป็นชื่อทางการแพทย์แผนจีนของจฺหวีผี[3] (จีนตัวย่อ: 桔皮; จีนตัวเต็ม: 橘皮; พินอิน: jú pí) ) หรือ ผิวส้มจีน (ชื่อสามัญในภาษาไทย) คือ เปลือกผลสุกแห้งของส้มแมนดาริน หรือส้มจีน[2] รวมทั้งส้มพันธุ์ปลูกอื่นในกลุ่มเดียวกันเช่น ส้มเขียวหวาน[1][4] เฉินผีใช้เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรจีนที่ใช้ทั่วไป นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารจีน อาหารว่าง[5] และชงเป็นเครื่องดื่ม[6][7]
เฉินผีมีลักษณะเป็นผิวส้มที่ถูกฉีกออกเป็นแผ่นหลายแฉก มีฐานเชื่อมติดกัน หรือเป็นแผ่นรูปร่างไม่แน่นอน[2] อาจหั่นเป็นชิ้น นำมาผึ่งแดดให้แห้งหรืออบที่อุณหภูมิต่ำจนแห้ง[2][4] และมักนำไปผ่านการบ่มเก็บในที่แห้งและเย็น[4] เป็นเวลานาน บางครั้งหลายปีในลักษณะ "ยิ่งนานยิ่งดี" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ในตำรับยาสมุนไพรจีน เฉินผีแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ "เฉินผี" และ "กว่างเฉินผี"[8] เฉินผีมีรสชาติออกหวาน ฉุนและขม ตามตำราแพทย์แผนจีนมีคุณลักษณะ "อุ่น" สารสำคัญในเฉินผีคือน้ำมันหอมระเหย ที่สำคัญได้แก่ โนบิลิติน เฮสเพอริดิน นีโอเฮสเพอริดิน แทนเจอริดิน ซิโทรมิติน ซินเนฟรีน แคโรทีน คริปโตแซนธิน อิโนซิทอล วิตามินบี 1 และวิตามินซี[9] ในการใช้ทางการแพทย์แผนจีนมักใช้เฉินผีเป็นส่วนประกอบที่ใช้บ่อยในยาแผนจีนต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้การทำงานของม้ามดีขึ้น บรรเทาอาการท้องอืด บรรเทาอาการคลื่นไส้ และลดเสมหะ[2][4][5]
เฉินผีเป็นหนึ่งในสมบัติทั้งสามแห่งมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ เฉินผี ขิงแก่ และหญ้าฟาง[10] ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เมื่อสดมีราคาไม่มากเท่าเมื่อแห้งและเก็บเป็นเวลานาน[10] เฉินผีที่มีอายุ 30 ปีนั้นหาได้ยากและอาจมีราคาหลายหมื่นหยวนต่อกิโลกรัม[5][10]
ประวัติ
[แก้]สันนิษฐานว่าการทำเฉินผีเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25–220)[5] และจากเรื่องเล่าในราชวงศ์ซ่งที่มีการใช้เฉินผีในการแพทย์แผนจีนโดย หวงกว่างฮั่น (黄广汉; เกิด ค.ศ. 1181) ข้าหลวงแห่งเมืองสฺวีโจว (徐州) มณฑลเจ้อเจียง และอี้ผิง (一品) ภรรยาซึ่งมาจากครอบครัวที่มีความเชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยา หวงกว่างฮั่นได้ใช้เฉินผีที่ผลิตจากเมืองซินฮุ่ยของมณฑลกวางตุ้งในส่วนประกอบของยาบรรเทาอาการของมเหสีหยาง (แห่งจักรพรรดิซ่งหนิงจง) ในรัชสมัยจักรพรรดิซ่งหลี่จง ซึ่งขณะนั้นแพทย์ประจำพระองค์ไม่สามารถรักษาได้
ตามบันทึกพงศาวดารท้องถิ่นของกวางตุ้งในราชวงศ์หยวน "บันทึกทะเลจีนใต้" (元大德南海誌) ซึ่งรวบรวมเรื่องราวของกว่างโจวและเมืองต่าง ๆ รวมถึงเมืองซินฮุ่ย ในเล่มที่ 7 "ผลิตภัณฑ์" (物產) มีบันทึกเกี่ยวกับ "ส้มจีน" แต่ไม่กล่าวถึง "เฉินผี" หรือ " จฺหวีผี" ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า ซินฮุ่ยเฉินผี (เฉินผีจากซินฮุ่ย หรือเรียก กว่างเฉินผี) ยังไม่เป็นที่รู้จักมากในเวลานั้น ต่อมาในช่วงราชวงศ์หมิงและชิงความนิยมในการผลิตเฉินผีได้รับปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมเมล็ดทานตะวันของพ่อค้าในเมืองซินฮุ่ย โดยใช้ประโยชน์จากการขนส่งเมล็ดทานตะวันในการแนะนำเฉินผีท้องถิ่นจำนวนมากไปยังมณฑลอื่น ๆ ทำให้ซินฮุ่ยเฉินผีเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศจีน[11][12] ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปอเมริกา[6]
เย่ กุ้ย (叶桂 หรือ 叶天士; ค.ศ. 1667–1746) แพทย์ในราชวงศ์ชิงที่มีชื่อเสียง ได้กำหนดให้เฉินผีเป็นหนึ่งในส่วนผสมในตำรับยาหม้อ 'เอ้อร์เฉินทาง' (二陳湯) ซึ่งเป็นยาต้มที่ประกอบด้วยยาเก่าสองชนิดรวมกับเฉินผี[13][14]
ธุรกิจที่เฟื่องฟูของการผลิตเฉินผีในเมืองซินฮุ่ยสร้างรายได้และความมั่งคั่งแก่เกษตรกรท้องถิ่น ขยายไปสู่การแปรรูปเป็นอาหาร และสร้างห่วงโซ่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรเช่น การผลิตเหล้าซินฮุ่ยเฉินผี (新會陳皮酒) ในปี 1982, อาหารหลายชนิดได้แก่ โจ๊กเฉินผี, เป็ดเฉินผี, ต้มถั่วเขียวใส่เฉินผี และขนมเฉินผีคลุกน้ำตาล ตลอดจนเครื่องปรุงรสเช่น แยมเปลือกส้มเขียวหวาน[11][12] อย่างไรก็ตามใน ค.ศ.1996 การปลูกส้มเพื่อผลิตเฉินผีลดลงถึงจุดต่ำสุด และพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมดมีเพียง 600 ถึง 700 หมู่ (300 ไร่)[11][12]
ในปี 2002 เกษตรกรผู้ผลิตเฉินผีในซินฮุ่ยร่วมจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเฉินผี ด้วยการสนับสนุนจากสำนักเกษตรซินฮุยและสหพันธ์ธุรกิจ ทำให้เฉินผีได้รับความนิยมอีกครั้งตั้งแต่นั้นมา ในระยะต่อมามีการพบสินค้าปลอมโดยการซื้อส้มแมนดารินจำนวนมากจากกว่างซีและที่อื่น ๆ ในราคาต่ำและย้อมสีด้วยชาดำเป็นเฉินผีปลอม ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของซินฮุ่ยเฉินผี[11] ในปี 2008 สำนักงานควบคุมคุณภาพและเทคนิคแห่งมณฑลกวางตุ้งได้อนุมัติและผ่านมาตรฐานท้องถิ่นของจังหวัด "ผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มจีนซินฮุ่ย" และ "ผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เฉินผีซินฮุ่ย"[12]
ลักษณะ
[แก้]เฉินผี เป็นเปลือกผลสุกจัดของส้มแมนดาริน หรือส้มจีนส้มแมนดาริน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus reticulata) และส้มพันธุ์ปลูกอื่นในกลุ่มส้มเขียวหวาน โดยมากเฉือนเปลือกด้วยมีด[5]หรือเครื่องถากผิว หรือปอกด้วยมือ ออกเป็นแฉก ๆ จากด้านล่างของผลส้ม แล้วปอกออกเป็นเป็นแผ่นฉีกหลายแฉก (หลายกลีบ) ที่มีฐานเชื่อมติดกัน[4] หรือเป็นแผ่นรูปร่างไม่แน่นอน[2] อาจหั่นเป็นชิ้น จากนั้นทำให้แห้งโดยการผึ่งแดดหรืออบที่อุณหภูมิต่ำจนแห้ง ผิวด้านนอกเป็นสีส้มหรือสีน้ำตาล มีต่อมน้ำมันเว้าลงเป็นหลุมกระจายโดยรอบ[2][4] ผิวด้านในเป็นสีขาวอมเหลืองอ่อน หยาบ ขรุขระ[4] มีเส้นใยติดอยู่[2] บางครั้งอาจปอกผิวด้านในสีขาวนี้ออกไปซึ่งทำให้เฉินผีชนิดนี้มีผิวบางมากและสีแดงทุกด้าน
กว่างเฉินผี
[แก้]ในตำรับยาสมุนไพรจีน เฉินผีแบ่งออกเป็น "เฉินผี" และ "กว่างเฉินผี"[8] ซึ่งมีลักษณะต่างกันคือ
- เฉินผี (陈皮) หรือผิวส้มจีนแห้งทั่วไป ซึ่งปอกเปลือกเป็นหลายกลีบ โดยทั่วไป 3–4 กลีบ ฐานเชื่อมต่อบางส่วนเป็นแผ่น รูปร่างกลีบไม่สม่ำเสมอ เปลือกหนา 1 ถึง 4 มิลลิเมตร แข็งและเปราะเล็กน้อย กลิ่นหอม รสขม[4]
- กว่างเฉินผี (广陈皮) หรือเรียก ซินฮุ่ยเฉินผี (新会陈皮) มี 3 กลีบ และรูปร่างกลีบเรียบร้อยสม่ำเสมอ เปลือกบางมีความหนาเพียง 1 มิลลิเมตร เห็นความโปร่งแสงอย่างชัดเจน เนื่องขูดเอาผิวในสีขาวออกไป และนุ่ม[4] เก็บบ่มไว้อย่างน้อย 3 ปี[6] กว่างเฉินผีหรือซินฮุ่ยเฉินผีได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีกว่าเฉินผีทั่ว ๆ ไป[6]
สีและความหนา
[แก้]โดยทั่วไปเฉินผีมีความหนา 1 ถึง 4 มิลลิเมตร[4] เมื่อนำไปส่องแดดจะเห็นความโปร่งแสงอย่างชัดเจน สีของเฉินผีคล้ำเข้มขึ้นตามระยะเวลาการบ่มเก็บในที่แห้งและเย็นเป็นเวลานานหลายปี ส่วนมากมักนิยมใช้เฉินผีที่มีอายุ 3–5 ปี[5] บางครั้งอาจถึง 30ปี[5][10] ในลักษณะ "ยิ่งนานยิ่งดี" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ (陈; เฉิน แปลว่า นาน, เก่า และ 皮; ผี หมายถึง ผิว) นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวว่า "มีสีที่คล้ำและยิ่งบางก็ยิ่งดีเท่านั้น"[10]
มีโซคาร์ป (mesocarp) หรือเนื้อเยื่อชั้นกลาง คือผิวในสีขาวของผลส้มจีน มักหนาและรูปร่างของเซลล์ไม่สม่ำเสมอ มีผลต่อความหนาโดยรวมของเฉินผี
กลิ่นและรส
[แก้]เฉินผีมีกลิ่นหอม มีรสชาติแรกออกหวานเล็กน้อย เมื่อผ่านระยะเวลาหนึ่งจะออกฉุนและขม[5] บางครั้งอาจออกรสเผ็ดเล็กน้อย[2][4] ตามตำราแพทย์แผนจีนเฉินผีมีคุณลักษณะ "อุ่น"
สารสำคัญ
[แก้]เปลือกส้มเขียวหวาน เฉินผี และส้มในกลุ่มส้มแมนดารินรวมทั้งบิทเทอร์ออเรนจ์ มีสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย โนบิลิติน เฮสเพอริดิน นีโอเฮสเพอริดิน แทนเจอริดิน ซิโทรมิติน ซินเนฟรีน แคโรทีน คริปโตแซนธิน อิโนซิทอล วิตามินบี 1 และวิตามินซี
การใช้ประโยชน์
[แก้]การแพทย์แผนจีน
[แก้]เฉินผีเป็นส่วนประกอบที่ใช้ทั่วไปในยาแผนจีน เชื่อว่าใช้ปรับการไหลเวียนของชี่[2][15] และเชื่อว่าช่วยให้การทำงานของม้ามดีขึ้น[2][4], ขจัดความชื้นภายในร่างกาย, ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ[2][4], ช่วยเสริมการย่อยอาหาร[2], ทำให้เสมหะแห้งและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ลำคอ[2][4] บรรเทาอาการคลื่นไส้[2][4][5]
ตำรับยาแผนจีนที่มีเฉินผีเป็นส่วนประกอบเป็นที่รู้จักดี ได้แก่ ผงเฉินผีผสมดีงู ใช้สำหรับลดอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ[11]
ใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในถุงหอม (香囊; เซียงหนาง) หรือ กระเป๋าหอม (香包; เซียงเปา) ในการขับไล่แมลงรบกวน และติดตัวเพื่อเพิ่มความสดชื่น[16]
การแพทย์แผนไทย
[แก้]มีรสปร่าหอม ใช้เข้ายาหอม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ[2]
ข้อควรระวัง
[แก้]งดการใช้หากพบอาการผื่นแดง เช่น บนลิ้น และใบหน้า
ปริมาณการใช้ 3–10 กรัม[2][4] ควรเก็บในที่เย็นและแห้งเพื่อป้องกันโรคราน้ำค้างและมอด
เครื่องปรุงรสอาหาร
[แก้]กลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์[17] ส่วนประกอบของเครื่องตุ๋นยาจีน ตุ๋นเนื้อแพะ เนื้อวัวอบ[17][18]
เป็นส่วนประกอบของอาหารและอาหารว่างหลายชนิดเช่น ปลานึ่งเฉินผี[19][20] ถั่วเขียวต้มน้ำตาล[21][22] ถั่วแดงต้มน้ำตาล
อาหารว่างและเครื่องดื่ม
[แก้]อาหารว่างเช่น เฉินผีคลุกน้ำตาล และ แยมเปลือกส้มเขียวหวาน เครื่องดื่มเช่น ชาผูเอ่อร์เฉินผี (陈皮普洱)[23]
สมบัติทั้งสามแห่งมณฑลกวางตุ้ง
[แก้]เฉินผีเป็นหนึ่งในสมบัติทั้งสามแห่งมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ เฉินผี ขิงแก่ และหญ้าฟาง[10][24] ทั้งนี้แม้มูลค่าดั้งเดิมของทั้งสามสิ่งไม่สูงนัก แต่ชาวกวางตุ้งใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายในหลายวัตถุประสงค์ สิ่งธรรมดาทั้งสามนี้จึงได้รับยกย่องจากการบอกเล่าปากต่อปากในหมู่ผู้คนในนาม "สมบัติสามประการของกวางตุ้ง" (广东三宝) [24][25]
การผลิต
[แก้]พื้นที่การผลิตเฉินผีที่สำคัญ ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน, เจ้อเจียง, กวางตุ้ง, กวางสี, เจียงซี, หูหนาน, กุ้ยโจว, ยูนนาน, เสฉวน[8] ฉงชิ่ง[2] และอื่น ๆ
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ส้มในกลุ่มส้มจีนหรือส้มแมนดาริน (ได้แก่ ส้มเขียวหวาน) ใช้ทำเฉินผี
-
การผลิตซินฮุ่ยเฉินผี (ในภาพ ส้มที่เฉือนเป็นสามแฉกรอการปอกผิว)
-
เฉินผีหลายชนิดและปี
-
เปรียบเทียบเฉินผีใหม่ (ซ้าย ปี 2019) และเก่า (ขวา ปี 2010)
-
หอยเป๋าฮิ้อนึ่งเฉินผี
-
เฉินผีคลุกน้ำตาล (ซ้าย) และซานจาแผ่น (ซานจาปิ่ง) (ขวา)
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ฐานข้อมูลยาและสมุนไพรจีน. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 08 มีนาคม 2560.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 เฉินผี (陈皮) - ข้อมูลสมุนไพรจีน. Huachiew TCM Clinic, 22 กรกฎาคม 2565.
- ↑ Balch, Phyllis A. (2002). Prescription for Herbal Healing (ภาษาอังกฤษ). Penguin. p. 47. ISBN 9780895298690.
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 陈皮 ไป่ตู้ไป่เคอ, สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2565.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 L, Ellen. "How to Make Chen Pi Dried Tangerine Peel 陳皮做法".
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "陈皮泡水喝的功效和禁忌如何?你们可知陈皮可以天天泡水喝吗". 知乎专栏 (ภาษาจีน).[ลิงก์เสีย]
- ↑ ตาล, ตาล; Kaijeaw.com (2016-02-20). "เปลือกส้ม..ประโยชน์ดีๆที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน!!". Kaijeaw.com.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 陈皮 ไปตู้ไป่เคอ สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2565.
- ↑ Xu Li (2002). Chinese Materia Medica: Combinations and Applications (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. pp. 272–273. ISBN 1901149021.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 "陳皮愈「黑」、「薄」愈好". 明周文化. 2016-11-30.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 "陳皮的歷史". www.jsh.hk (ภาษาจีนตัวเต็ม).
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 "陳皮 新會陳皮的歷史 - 香港中樂號". m.zlhtea.com.
- ↑ "新会陈皮". 百度百科.
- ↑ "黑陈皮". 百度百科.
- ↑ ถิ่งพ้วย 陈皮 เก็บถาวร 2022-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ร้านขายยาย่งเชียงตึ๊ง, สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2565.
- ↑ "Faculty Of Chinese Medicine". cmed.hcu.ac.th.
- ↑ 17.0 17.1 "เปลือกส้มจีน หรือ ถิ่งพ้วย Orange Peel (Tangarine Peel)". www.jiankangherbs.com.
- ↑ "เปลือกส้มจีน หรือ ถิ่งพ้วย Orange Peel (Tangarine Peel)". ร้านขายยาจีนเป่ยจิน.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "陈皮鼓汁蒸鲳鱼的做法_陈皮鼓汁蒸鲳鱼怎么做_火镀红叶的菜谱_美食天下". home.meishichina.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-10. สืบค้นเมื่อ 2022-12-10.
- ↑ "陈皮蒸鱼、鱼头的详细做法 - 大厨网简易食谱". 大厨网 (ภาษาจีน). 2022-12-07.
- ↑ "陈皮绿豆汤的做法和作用-陈皮食补-陈皮养之家". www.yangzhijia.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-10. สืบค้นเมื่อ 2022-12-10.
- ↑ "陈皮绿豆沙". 百度百科.
- ↑ 稳场路mm (2021-06-03). "陈皮绿豆汤的功效与作用,陈皮绿豆汤孕妇能吃吗-乐哈健康网". www.leha.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-10. สืบค้นเมื่อ 2022-12-10.
- ↑ 24.0 24.1 "广东三宝". 百度百科.
- ↑ 天气干燥喉咙不舒服?来试试纯天然的“广东三宝 .东莞阳光网[引用日期2020-05-07]