ข้ามไปเนื้อหา

เรือนส้ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“เรือนส้ม” ที่คุสโคโวที่มอสโก, คริสต์ทศวรรษ 1760
“เรือนส้ม” ที่ดึสเซลดอร์ฟ-เบนรัท
“วังเรือนส้ม” สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซียที่พ็อทซ์ดัมกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
“เรือนส้ม” ที่พระราชวังเลเคนในเบลเยียม (ราว ค.ศ. 1820) เป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเรือนกระจกเลเคนซึ่งเป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่
“เรือนส้ม” ที่ Harbke ในเยอรมนี

เรือนส้ม (อังกฤษ: Orangery,ออกเสียง) คือสิ่งก่อสร้างที่มักจะพบภายในบริเวณเนื้อที่ของคฤหาสน์หรือวังใหญ่โตของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 19 ที่เป็นการเสริมสร้างให้สิ่งก่อสร้างทั้งหมดมีลักษณะเป็นแบบคลาสสิก เรือนส้มมีลักษณะคล้ายกับเรือนกระจก หรือ เรือนคอนเซอเวอทรี (Conservatory) ชื่อของสิ่งก่อสร้างสะท้อนถึงที่มาที่เดิมเป็นสิ่งก่อสร้างใช้เป็นเรือนสำหรับปลูกพืชตระกูลส้ม[1] ที่มักจะปลูกในกระถางที่จะเลื่อนเข้ามาเก็บไว้ในเรือนในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้รอดจากความหนาวเย็นและการแข็งตัวจากภาวะอากาศภายนอก และก็มิได้หวังที่จะได้ดอกหรือผล เรือนส้มเป็นเรือนที่ช่วยยืดการมีพรรณไม้นอกฤดูของเวลาที่ปกติแล้วภายนอกจะมีก็แต่ต้นไม้ที่ปราศจากใบ เพราะไม้ภายในเรือนจะได้รับการปกป้องจากภาวะอากาศและยังคงมีความอบอุ่นที่ได้รับจากกำแพงที่ทำด้วยอิฐที่อมความร้อน[2] ร้อยปีหลังจากที่มีการปลูกต้นส้ม และ มะนาว ก็เริ่มมีการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดอื่นที่ไม่สามารถทนอากาศในฤดูหนาวภายนอกได้ที่รวมทั้งไม้พุ่ม และ ไม้ต่างแดน (Exotic plants) กันในเรือนส้ม ที่มีการใช้เตาทำความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในเรือนระหว่างฤดูหนาวที่มีอากาศเยือกเย็นทางตอนเหนือของยุโรป

เรือนส้มเริ่มขึ้นในสมัยการสร้างสวนเรอเนสซองซ์ในอิตาลี เมื่อเทคนิคการทำกระจกมีความก้าวหน้าขึ้นจนสามารถที่จะสร้างกระจกที่มีขนาดใหญ่และใสขึ้นกว่าเดิมได้ ทางตอนเหนือของยุโรปเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำในการวิวัฒนาการการสร้างกระจกขนาดใหญ่สำหรับสร้างหน้าต่าง/ผนังเรือนส้ม ภาพพิมพ์เรือนส้มในคู่มือของดัตช์แสดงภาพเรือนส้มที่มีหลังคาทึบทั้งแบบคานและโค้ง และจะมีเตาสำหรับทำความร้อน แทนที่จะเป็นการก่อกองไฟ[3] ไม่นานนักเรือนส้มก็กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะในบรรดาผู้มีฐานะมั่งคั่ง ส่วนหลังคากระจกของเรือนส้มที่ช่วยเพิ่มแสงแดดที่ส่องเข้ามาในอาคารเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรือนส้มที่คฤหาสน์เดอแรมพาร์คในกลอสเตอร์เชอร์ที่เดิมสร้างราวปี ค.ศ. 1702 ที่มีหลังคาที่ปูด้วยหินชนวน[4] มาเปลี่ยนเป็นหลังคากระจกราวหนึ่งร้อยปีต่อมาหลังจากที่นักออกแบบสวนภูมิทัศน์ฮัมฟรีย์ เร็พตันเปรยว่าออกจะมืด แม้ว่าเดิมจะสร้างเพื่อปกป้องต้นส้มแต่ในปัจจุบันก็มักจะเรียกกันแต่เพียงว่า “เรือนกระจก” เท่านั้น[5]

เรือนส้มของพระราชวังลูฟร์ที่สร้างในปี ค.ศ. 1617 เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเรือนส้มที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปโดยสถาปนิกฌูลส์ อาร์ดวง-มองซาร์แก่ต้นส้ม 3000 ต้นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ที่มีขนาด 508 x 42 ฟุต เรือนส้มหลังนี้ไม่มีผู้ใดเทียมได้มาจนกระทั่งถึงการสร้างเรือนกระจกสมัยใหม่ในคริสต์ทศวรรษ 1840 ของโจเซฟ แพกซ์ตันผู้ออกแบบวังแก้ว และ “มหาเรือนกระจก” ที่คฤหาสน์แช็ทเวิร์ธซึ่งเป็นเรือนส้มและเรือนกระจกอันมีขนาดมหึมา

เรือนส้มไม่แต่จะเป็นเรือนกระจกเท่านั้นแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมีหน้ามีตาและความมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของด้วย เรือนส้มจะเป็นสิ่งตกแต่งเด่นของสวน เช่นเดียวกับ เรือนฤดูร้อน (summer house), สิ่งก่อสร้างตกแต่ง หรือ “เทวสถานกรีก” ผู้เป็นเจ้าของก็มักจะนำแขกเที่ยวชมสวนที่ไม่เพียงชื่นชมกับผลไม้ภายในเรือนส้มเท่านั้นแต่ยังชื่นชมกับสถาปัตยกรรมภายนอกด้วย ภายในเรือนส้มก็มักจะมีน้ำพุ, ถ้ำ และ บริเวณสำหรับนั่งเล่นพักผ่อนเมื่ออากาศภายนอกไม่ดีนัก

ตัวอย่างสมัยแรก

[แก้]

เรือนส้มแรกเริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1545 ที่ปาดัวในอิตาลี[6] เรือนส้มหลังแรกในสมัยแรกมิได้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบอย่างดี หรืออย่างวิจิตรเท่าใดนักดังเช่นในสมัยต่อมา ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเรือนที่ไม่มีระบบทำความร้อน ถ้าอากาศเย็นก็อาจจะก่อกองไฟเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในเรือน

ในอังกฤษ นักพฤกษศาสตร์จอห์น พาร์คินสันเป็นผู้เผยแพร่เรื่องเรือนส้มแก่ผู้อ่านในหนังสือ “Paradisus in Sole” (ค.ศ. 1628) ภายใต้หัวข้อ “ต้นส้ม ” ที่ให้คำแนะนำว่าการปลูกต้นส้มอาจจะทำได้โดยการปลูกติดกับกำแพงที่ทำด้วยอิฐและคลุมเอาไว้ระหว่างฤดูหนาวด้วยแผ่นที่คลุมด้วย “cerecloth” ซึ่งเป็นผ้าที่เคลือบด้วยขี้ผึ้งคล้ายกับผ้าใบกันน้ำ (tarpaulin) ต่อมา[7] “...บ้างก็เก็บรักษาไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ และยกเข้ายกออกด้วยตะขอเหล็กที่แขวนไว้ข้างๆ หรือเลื่อนไปมาบนกระถางที่มีล้อ เอาไปตั้งไว้ในบ้านหรือในระเบียงที่ปิดจากอากาศภายนอก”

การสร้างเรือนส้มมานิยมกันอย่างแพร่หลายหลังจากการยุติของสงครามแปดสิบปี ในปี ค.ศ. 1648 ประเทศที่เริ่มแนวนิยมคือฝรั่งเศส, เยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำต้นไม้จากเมืองร้อน เช่น ส้ม, กล้วย และทับทิมเป็นจำนวนมากเข้ามาประเทศเพื่อนำมาปลูกเพื่อความสวยงาม

เรือนส้มบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป

[แก้]

เรือนส้มในสหราชอาณาจักร

[แก้]
เรือนส้มเดิมที่ราชอุทยานพฤกษศาสตร์คิว[8]ที่ลอนดอนที่ปัจจุบันใช้เป็นภัตตาคาร

เรือนส้มที่พระราชวังเค็นซิงตัน (ค.ศ. 1761) เป็นเรือนส้มเก่าที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่ออกแบบโดยเซอร์วิลเลียม เชมเบอร์ เรือนส้มนี้มีความยาวถึง 28 เมตรซึ่งทำให้เป็นเรือนส้มที่ใหญ่ที่สุดเมื่อทำการสร้าง แม้ว่าจะออกแบบให้เป็นซุ้มอาร์เคดที่ตอนปลายเป็นศาลาสำหรับต้นส้ม แต่ระดับแสงภายใต้หลังคาที่ทึบน้อยเกินกว่าที่จะปลูกส้มได้ดี

เรือนส้มที่อุทยานมารแกมในเวลส์สร้างระหว่าง ค.ศ. 1787 ถึง ค.ศ. 1793 เพื่อปลูกต้นส้ม, มะนาว และ ผลไม้ตระกูลส้มจำนวนมากที่ทอมัส แมนเซล ทาลบ็อทได้รับมา ตัวบ้านวอดวายไปกับเพลิงไหม้ แต่เรือนส้มที่มีความยาว 100 เมตรยังคงอยู่ซึ่งเป็นเรือนส้มที่ยาวที่สุดในเวลส์

เรือนส้มที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งคือเรือนส้มที่คฤหาสน์เคนวูดในลอนดอนที่สร้างราวปี ค.ศ. 1700 ที่สร้างก่อนหน้าเรือนส้มที่คฤหาสน์มองตาคิวท์เล็กน้อย เรือนส้มอื่นที่อยู่ในความดูแลขององค์การอนุรักษ์แห่งชาติก็ได้แก่เรือนส้มอื่นที่คฤหาสน์แฮนบรีฮอลล์ในลอนดอน; คฤหาสน์อิคเวิร์ธในซัฟโฟล์คที่เป็นส่วนหนึ่งของสวนหน้าปีกที่ใช้เป็นที่พำนัก; ปราสาทเพาวิสในมอนทโกมมรีเชอร์ที่เป็นศูนย์กลางของลานหลั่นของปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18; คฤหาสน์ซอลแทรมในเดวอนที่อาจจะออกแบบโดยโรเบิร์ต อาดัมและเรือนส้มที่บลิคคลิงในนอร์โฟล์ค[9]

เรือนส้มที่ก่อสร้างเมื่อไม่นานมานี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1970 โดยวิคเตอร์ มองตากิวในสวนแบบอิตาลีที่แม็พเพอร์ทันในดอร์เซ็ท[10]

เรือนส้มในสหรัฐอเมริกา

[แก้]

ในสหรัฐอเมริกาเรือนส้มเก่าแก่ที่สุดคือเรือนส้มของคฤหาสน์เทย์โลในเวอร์จิเนียแต่ในปัจจุบันถูกทิ้งให้รกร้างเหลือแต่ซากเท่านั้น หรือที่คฤหาสน์ไอร์ในเวอร์จิเนียก็เช่นกัน

แต่เรือนส้มที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลังที่สร้างเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่คฤหาสน์ไร่ไวย์ในแมริแลนด์ ตัวเรือนส้มที่ตั้งอยู่หลังคฤหาสน์ประกอบด้วยห้องโถงใหญ่และปีกเล็กสองข้างที่มาต่อเติมภายหลัง ผนังที่หันหน้าไปทางทิศใต้ (south-facing wall) เป็นหน้าต่างสามชั้น มิซทิลห์มันผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลลอยด์ผู้เป็นผู้พำนักอยู่ที่คฤหาสน์ในปัจจุบันกล่าวว่าชั้นสองต่อเติมขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องบิลเลียด นอกจากนั้นไร่ (Plantation) นี้ก็ยังมีความสำคัญตรงที่เคยเป็นที่อาศัยของเฟรเดอริค ดักลาสเมื่อยังเป็นทาสสมัยเด็ก

มิซทิลห์มันกล่าวว่าเรือนส้มยังคงใช้เป็นที่เก็บรักษาต้นไม้ในช่วงฤดูหนาว แต่โครงสร้างได้รับการเปลี่ยนแปลงในใช้สำหรับปลูกพันธ์ไม้ในบ้าน (houseplants) ได้ด้วย และโครงสร้างทั้งหมดปกคลุมด้วยพลาสติกเพื่อรักษาระดับความชื้น ซึ่งทำให้ไม่ต้องรดน้ำตลอดฤดูหนาว

เรือนส้มอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์แห่งชาติแฮมพ์ตันในแมริแลนด์ ที่เดิมสร้างในปี ค.ศ. 1820 เป็นส่วนหนึ่งของการสะสมพืชตระกูลส้มที่ครอบคลุมสปีชีส์หลากหลายที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19[11]

ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ก็ได้มีการสร้างเรือนส้มแบบคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่สวนพฤกษศาสตร์เทาเวอร์ฮิลล์ในแมสซาชูเซตส์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gervase Markham, in The Whole Art of Husbandry (London 1631) also recommends protecting other delicate fruiting trees— "Orange, Lemon, Pomegranate, Cynamon, Olive, Almond"— in "some low vaulted gallerie adjoining upon the Garden".
  2. Billie S. Britz, "Environmental Provisions for Plants in Seventeenth-Century Northern Europe" The Journal of the Society of Architectural Historians 33.2 (May 1974:133-144) p 133.
  3. Britz 1974:134f
  4. Its columned exterior relates it to the architecture of the house, a feature of orangeries though not of their modern descendents, greenhouses.
  5. Graham Stewart-Thomas, "Orangeries in the National Trust," Quarterly Newslette of the Garden History Society, 1967:25.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-23. สืบค้นเมื่อ 2021-10-09.
  7. Such precaution against a sheltering south-facing wall was arranged by the architect Salomon de Caus at Heidelberg about 1619, with removable shutters on an unobtrusive permanent frame, according to Britz 1974:134,
  8. "Royal Botanic Gardens, Kew: The Orangery". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-25. สืบค้นเมื่อ 2010-02-10.
  9. The list was given in Stewart-Thomas, loc. cit..
  10. Note by T. E. C. W. in the Quarterly Newsletter of the Garden History Society .
  11. Ann Milkovich McKee (2007). Images of America — Hampton National Historic Site. Charleston, SC: Arcadia Publishing. ISBN 978-0-7385-4418-2.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เรือนส้ม