แซนโทฟิลล์
แซนโทฟิลล์ (อังกฤษ: xanthophyll) เดิมเรียก ฟิลโลแซนทิน (phylloxanthin) เป็นรงควัตถุสีเหลืองที่พบในธรรมชาติ เป็นหนึ่งในสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีสูตรเคมีคือ C40H56O2[1] คำว่า "แซนโทฟิลล์" มาจากคำในภาษากรีก ξανθός (xanthos แปลว่า "เหลือง")[2] และ φύλλον (phyllon แปลว่า "ใบไม้")[3] เนื่องจากพบเป็นแถบสีเหลืองบนแผ่นทดสอบที่ผ่านกระบวนการโครมาโทกราฟี
โครงสร้างโมเลกุล
[แก้]โครงสร้างโมเลกุลของแซนโทฟิลล์มีความคล้ายคลึงกับสารกลุ่มแคโรทีน แต่แซนโทฟิลล์มีอะตอมของออกซิเจน ในขณะที่แคโรทีนเป็นสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีออกซิเจน โดยออกซิเจนในแซนโทฟิลล์มีทั้งในรูปกลุ่มไฮดรอกซิล และ/หรือจับกับอะตอมไฮโดรเจนในรูปแบบอีพอกไซด์ (epoxide) ทำให้แซนโทฟิลล์มีขั้วมากกว่าแคโรทีน และก่อให้เกิดความแตกต่างเมื่อทดสอบด้วยกระบวนการโครมาโทกราฟี
แหล่งที่พบ
[แก้]แซนโทฟิลล์พบมากในพืชใบเขียว โดยมีส่วนช่วยในการปรับพลังงานแสงและเป็นสารระงับพลังงานส่วนเกินจากการสังเคราะห์ด้วยแสง (non-photochemical quenching) ตัวอย่างของพืชที่พบแซนโทฟิลล์มาก ได้แก่ มะละกอ ลูกท้อ ลูกพรุน ฟักทอง[4][5][6] นอกจากนี้ยังพบในร่างกายและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ ไขมันและหนังสัตว์
จุดสีเหลืองที่จอตาที่เรียกว่า macula lutea เป็นผลมาจากลูทีนและซีอาแซนทิน ซึ่งร่างการใช้เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต แต่เนื่องจากสารสองชนิดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการมองเห็น จึงไม่ถูกเปลี่ยนรูปเป็นสารกลุ่มเรตินัล ลูทีนและซีอาแซนทินเชื่อว่ามีส่วนในการเกิดปรากฏการณ์แปรงไฮดิงเกอร์ (Haidinger's brush) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ดวงตารับรู้ถึงโพลาไรเซชันของแสง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Xanthophyll | C40H56O2 | ChemSpider
- ↑ ξανθός. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project
- ↑ φύλλον. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project
- ↑ Factors That Influence the Bioavailablity of Xanthophylls, Susan Zaripheh, John W. Erdman Jr.
- ↑ "UCLA College of Life Sciences, General Botany:Leaf Color: Xanthophylls". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-25. สืบค้นเมื่อ 2015-10-26.
- ↑ Michele Turcotte, MS, RD, Foods That Contain Zeaxanthin, February 18, 2014
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แซนโทฟิลล์
- "Xanthophyll - MSDS". Science Lab. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ 2016-10-22.