ข้ามไปเนื้อหา

แสตมป์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แสตมป์สยามพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร (อังกฤษ: Postage stamp หรือ Stamp) เป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ มักเป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมเพื่อติดบนซองจดหมาย แสตมป์ที่มีรูปร่างหรือทำจากวัสดุอื่นก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง

แสตมป์มักพิมพ์ออกเป็นแผ่น ประกอบด้วยแสตมป์หลายดวง ปกติอยู่ระหว่าง 20 ถึง 120 ดวง มีการปรุรู รอบดวงแสตมป์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการฉีก รอยฉีกที่ได้เรียกว่า ฟันแสตมป์ ด้านหลังแสตมป์มีกาวเคลือบอยู่ กระดาษที่ใช้พิมพ์มักมีสิ่งพิเศษไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เช่น ลายน้ำ (watermark) หรือ ด้ายสี

หากติดแสตมป์เพื่อใช้งานบนซองแล้ว ต้องมีการประทับตราทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก

การสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ประวัติศาสตร์

[แก้]
เซอร์ โรว์แลนด์ ฮิลล์

แนวคิดเรื่องการใช้แสตมป์เป็นค่าไปรษณีย์ริเริ่มโดยนาย เจมส์ ชาลเมอส์ (James Chalmers) ชาวสกอตแลนด์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ซึ่งความคิดดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับต่อมาใน พ.ศ. 2382 ภายใต้การผลักดันของ เซอร์ โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Sir Rowland Hill) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ก็ได้ออกแสตมป์ดวงแรกของโลกคือ แสตมป์เพนนีแบล็ค (Penny Black) มีราคาหน้าดวง 1 เพนนี ซึ่งเป็นอัตราค่าไปรษณีย์สำหรับจดหมาย สามารถส่งได้ทุกปลายแห่งด้วยอัตราเดียวกันและเริ่มมีผลบังคับใช้ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union หรือ UPU) กำหนดให้สหราชอาณาจักรเป็นชาติเดียวที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นของประเทศอื่น ๆ

แสตมป์ชุดที่หนึ่ง ราคาหนึ่งโสฬส พ.ศ. 2426

แสตมป์ชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ชุดที่หนึ่ง หรือ ชุดโสฬศ ออกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ประกอบด้วยแสตมป์ราคา หนึ่งโสฬส (ครึ่งอัฐ) , หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว (สองอัฐ) , หนึ่งซีก (สี่อัฐ) , หนึ่งสลึง (สิบหกอัฐ) แสตมป์อีกดวงราคาหนึ่งเฟื้อง (แปดอัฐ) มาถึงล่าช้าและไม่มีการใช้งานจริงทางไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ (Waterlow and Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในช่วงนั้นไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้จึงยังไม่มีชื่อประเทศปรากฏบนดวง ส่วนแสตมป์ที่สั่งพิมพ์ชุดต่อ ๆ มาเป็นไปตามกฎของสหภาพสากลไปรษณีย์ กล่าวคือ มี ชื่อประเทศและราคาในภาษาอังกฤษ และ มีคำว่า "postage" ซึ่งหมายถึงเป็นการชำระค่าไปรษณีย์

ประเภทของแสตมป์

[แก้]

เราสามารถจำแนกแสตมป์ได้หลายแบบ โดยทั่วไปนิยมแบ่งเป็นสองสามประเภท ได้แก่ แสตมป์ทั่วไป แสตมป์ที่ระลึก บางครั้งก็เพิ่ม แสตมป์พิเศษ เข้าไปอีกประเภทหนึ่ง

แสตมป์ทั่วไป

[แก้]

แสตมป์ที่พิมพ์เพื่อการใช้งานไปรษณีย์เป็นหลัก เรียกว่า แสตมป์ทั่วไป (definitive stamp) ถือเป็นแสตมป์ประเภทแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น เพราะค่าไปรษณีย์มีหลายอัตราขึ้นกับน้ำหนัก ที่หมาย ความด่วนของการส่ง การรับประกันการสูญหาย เป็นต้น แสตมป์ทั่วไปมักพิมพ์หลายราคา โดยแต่ละราคารูปมีแบบเหมือนกัน มีจำนวนที่พิมพ์สูง และอาจมีการพิมพ์เพิ่มเติมหลายครั้ง

ภาพที่นิยมใช้บนแสตมป์ทั่วไป ได้แก่ ภาพพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้น ๆ กรณีที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ภาพสวยงามอื่นซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น ดอกไม้ สัตว์ สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งแสตมป์ดวงแรกของโลกเป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สำหรับประเทศไทยนิยมใช้ภาพพระมหากษัตริย์ไทยบนดวงแสตมป์ทั่วไป เรียกว่าแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ แต่ปัจจุบันมีการใช้รูปอื่น เช่น รูปธงชาติ รูปช้าง บนดวงแสตมป์ด้วย

แสตมป์ที่ระลึก

[แก้]
แสตมป์ที่ระลึก

แสตมป์ที่ระลึก (commemorative stamp) เป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสทั่วไป และพิมพ์เป็นจำนวนจำกัด เมื่อจำหน่ายหมดแล้วก็ไม่มีการพิมพ์เพิ่ม มีได้หลายลักษณะ เช่น

  • เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ที่สำคัญ หรือ วันครบรอบของบุคคลสำคัญ
  • เป็นที่ระลึกเนื่องในกิจกรรมพิเศษ เช่น งานกาชาด หรือ วันสำคัญของปี เช่น วันสงกรานต์ วันวาเลนไทน์
  • สำหรับเผยแพร่เรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ ธรรมชาติ, งานศิลปะ เช่น แมวไทย, จิตรกรรมฝาผนัง, อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

แสตมป์ที่ระลึกประเภทหลังมีอีกชื่อเรียกว่าแสตมป์พิเศษ (special stamp) และอาจจัดแสตมป์ที่ระลึกประเภทที่สองเป็นแสตมป์พิเศษด้วยก็ได้

แสตมป์ที่ระลึกเกิดขึ้นมาภายหลังเมื่อความนิยมการสะสมแสตมป์เพิ่มขึ้น แสตมป์ที่พอจะจัดเป็นแสตมป์ที่ระลึกดวงแรก ๆ เช่น แสตมป์ของสหรัฐอเมริการูปอับราฮัม ลิงคอล์น ที่ออกใน พ.ศ. 2409 ภายหลังที่เขาถูกลอบสังหารในปีก่อนหน้า แต่ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าออกเพื่อการไว้อาลัย แสตมป์ดวงแรกที่มีข้อความแสดงเหตุการณ์ที่ระลึกคือแสตมป์ของนิวเซาท์เวลส์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย) ที่ออกในปี พ.ศ. 2431 มีข้อความว่า "ONE HUNDRED YEARS" ออกมาเพื่อฉลองครบรอบร้อยปีของการก่อตั้ง แสตมป์ที่ระลึกชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5

แสตมป์เพื่อใช้งานเฉพาะกรณี

[แก้]

แสตมป์ทั่วไปบางดวงจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะทาง ตัวอย่างเช่นแสตมป์สำหรับอากาศไปรษณีย์ (airmail) แสตมป์สำหรับองค์กรที่ส่งจดหมายทีละมาก ๆ (bulk mail) ซึ่งมีราคาบนดวงแสตมป์ตรงกับอัตราค่าส่งแบบพิเศษนั้น ๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือแสตมป์ที่พิมพ์เพื่อใช้งานโดยหน่วยงานของรัฐบาล (official stamp) ซึ่งประเทศไทยเคยออกแสตมป์แบบนี้เรียกว่าแสตมป์ทดสอบสถิติราชการ ออกมาใช้งานช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเก็บสถิติการส่งไปรษณีย์ของหน่วยงานแต่ละแห่งของรัฐบาล

แสตมป์แบบอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะ

[แก้]

แสตมป์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ ไม่ได้แยกประเภทต่างหากจากแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึกที่กล่าวไว้ข้างบน แต่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และมีชื่อเรียกเฉพาะ

แสตมป์พิมพ์แก้

[แก้]
แสตมป์ทั่วไปประเทศซีลอนในเครือเอกภพ พิมพ์แก้ราคา

แสตมป์ต่าง ๆ ที่นำออกมาจำหน่ายและใช้งานทางไปรษณีย์ไม่จำเป็นต้องเป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นใหม่เสมอ แต่อาจเป็นแสตมป์พิมพ์แก้ (overprint) คือแสตมป์ของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาพิมพ์เพิ่มเติมบางอย่างลงบนตัวแสตมป์ แสตมป์พิมพ์แก้มีทั้งแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึก ตัวอย่างแสตมป์พิมพ์แก้เพื่อเป็นที่ระลึกของไทย เช่นงานกาชาดบางปี

แสตมป์พิมพ์แก้ที่ใช้เป็นแสตมป์ทั่วไป อาจมีวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์ต่าง ๆ กันเช่น นำแสตมป์ของประเทศหนึ่งพิมพ์ข้อความเพิ่มเพื่อนำไปใช้ในดินแดนอาณานิคม และนำแสตมป์ราคาหนึ่งมาแก้ไขเป็นอีกราคาหนึ่ง เรียกว่า พิมพ์แก้ราคา (surcharge) ใช้กรณีที่ไปรษณีย์ขาดแคลนแสตมป์บางราคา หรือมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตรา และใช้งานระหว่างที่รอแสตมป์ราคาที่ขาดแคลนพิมพ์เสร็จ แสตมป์พิมพ์แก้พบมากในแสตมป์ยุคแรก ๆ เนื่องจากการพิมพ์และการขนส่งใช้เวลานาน

แสตมป์ส่วนตัว

[แก้]

แสตมป์ส่วนตัว (personalized stamp) คือแสตมป์ที่ด้านข้างมีภาพอื่นซึ่งผู้ที่ซื้อแสตมป์ สามารถนำมาใส่ได้ เช่น ภาพถ่าย ซึ่งตามงานแสดงต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดให้บริการในช่วงหลัง ๆ มักมีบริการถ่ายรูปเพื่อพิมพ์ลงบนแสตมป์ส่วนตัวด้วย แสตมป์ดังกล่าวสามารถใช้จริงทางไปรษณีย์ได้ แต่ต้องติดส่วนที่เป็นภาพถ่ายและแสตมป์ไปคู่กัน

แสตมป์ตลก

[แก้]

สำหรับแสตมป์ที่มีความผิดปกติระหว่างการพิมพ์ เรียกว่า แสตมป์ตลก (error หรือ variety) ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเพียงบางแผ่น เช่น หมึกเลอะ, ปรุรูเคลื่อน, พิมพ์ซ้ำ หรือเกิดจากรอยตำหนิบนแม่พิมพ์ ซึ่งมีผลให้แสตมป์ตรงตำแหน่งดังกล่าวของทุกแผ่นมีความผิดพลาดทั้งหมด แสตมป์ตลกสามารถใช้งานได้จริงทางไปรษณีย์ และเป็นที่นิยมสะสมโดยแสตมป์ตลกบางดวงมีค่ามากกว่าแสตมป์จริงเสียอีกเพราะมีปริมาณน้อยมาก

วิธีการจำหน่ายแสตมป์

[แก้]
แสตมป์จากตู้หยอดเหรียญของสหรัฐอเมริกา ออกในปี พ.ศ. 2497

แสตมป์รูปแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือ พิมพ์เป็นแผ่นและฉีกขายที่ไปรษณีย์ แต่เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้บริการไปรษณีย์จึงมีการพัฒนารูปแบบอื่น ๆ ตามมา รูปแบบหนึ่งที่นิยมคือ สมุดตราไปรษณียากร หรือ สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet) ซึ่งมีลักษณะเป็นเล่มภาย ในบรรจุแสตมป์จำนวนหนึ่ง สามารถฉีกออกมาติดจดหมายได้ อาจจำหน่ายทางที่ทำการไปรษณีย์ ตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

มีแสตมป์อีกแบบที่พิมพ์ขึ้นสำหรับจำหน่ายผ่านตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ เรียกว่า coil stamp แสตมป์พิมพ์ให้มีลักษณะเป็นม้วนเหมือนกับเทปกาว เมื่อหยอดเหรียญก็จะส่งแสตมป์ออกมาจากเครื่องตามจำนวนเงินที่ใส่ ให้ผู้ซื้อฉีกออกจากม้วนไปใช้งาน แสตมป์แบบนี้ประเทศไทยยังไม่มี

ปัจจุบันมีแสตมป์แบบที่ตอนพิมพ์ยังไม่ได้ระบุราคาบนดวงแสตมป์ แต่จะใช้เครื่องพิมพ์พิมพ์ราคาทีหลังตามอัตราค่าไปรษณีย์ที่ต้องการฝากส่ง อาจให้บริการจากเคาน์เตอร์บริการหรือเครื่องหยอดเหรียญก็ได้ ของประเทศไทยปัจจุบันเป็นแสตมป์รูปช้างนิยมเรียกว่าเลเบล หรือแสตมป์สติกเกอร์ เนื่องจากมีกาวแบบสติกเกอร์ด้านหลังแสตมป์

STAMPIT จากเยอรมนี

เมื่อ พ.ศ. 2541 ไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้บริษัท Stamps.com บริการแสตมป์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทและฝากเงินในบัญชี เมื่อต้องการใช้แสตมป์ก็เรียกใช้โปรแกรมซึ่งจะไปตัดบัญชีทางอินเทอร์เน็ตและพิมพ์แสตมป์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไปรษณีย์เพื่อซื้อแสตมป์อีก ปัจจุบันมีหลายบริษัท เช่น Endicia และ Pitney Bowes ของสหรัฐอเมริกา STAMPIT ของเยอรมนี ได้ให้บริการรูปแบบเดียวกัน

การสะสมแสตมป์

[แก้]
ซองวันแรกจำหน่ายชุดมังกร
ดูบทความหลักที่ การสะสมแสตมป์

การสะสมแสตมป์จัดเป็นงานอดิเรกที่นิยมทั่วโลกอย่างหนึ่ง ผู้สะสมจะพยายามหาแสตมป์ให้ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งอาจจะมาจากซองจดหมาย หรือ ซื้อแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่ไปรษณีย์ การสะสมแสตมป์ไม่ได้จำกัดเฉพาะแสตมป์เท่านั้น หน่วยงานไปรษณีย์ยังจัดทำของที่ระลึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำหน่ายเพื่อการสะสมโดยเฉพาะ ตัวอย่างของสะสมที่นิยมได้แก่

ตัวอย่างแสตมป์ที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Stories about famous stamps เก็บถาวร 2011-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
  2. Philately's Greatest Error เก็บถาวร 2003-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
  3. THE WORLD'S MOST FAMOUS STAMP เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]