ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
ขุนทวยหาญพิทักษ์ | |
---|---|
เกิด | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2425 เมืองธนบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 16 มีนาคม พ.ศ. 2502 (76 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
อาชีพ | ทหารบกแพทย์ |
มีชื่อเสียงจาก | คณะ ร.ศ. 130 |
คู่สมรส | อบ ศรีจันทร์ ระเบียบ ศรีจันทร์ อ่อน ศรีจันทร์ วิศรี ศรีจันทร์ |
บุตร | 20 คน |
ร้อยเอก นายแพทย์ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (22 ธันวาคม พ.ศ. 2425 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2502) มีชื่อจริงว่า นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ หรือชื่อที่นิยมเรียกกันติดปากว่า หมอเหล็ง เป็นนายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130[1] เป็นนายทหารหนุ่มที่เป็นนายแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ และหม่อมคัทรีน พระชายา
ประวัติ
[แก้]ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2425 ที่ตำบลบ้านสมเด็จพระเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สำเร็จการศึกษาเบื้องต้นที่วัดประยุรวงศาวาส เมื่ออายุ 15 ปี ได้เข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่โรงเรียนแพทยาลัยในสังกัดโรงพยาบาลศิริราช หลังสำเร็จการศึกษาไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก่อนไปเป็นนายแพทย์ตรีประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก ระหว่างนี้ได้เข้าศึกษาวิชาทหาร เป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง จนสอบได้เป็นนายร้อยตรี สังกัดพลรบทหารราบ เป็นแพทย์ทหาร และได้เลื่อนยศมาเป็นลำดับจน พ.ศ. 2453 ได้รับยศและบรรดาศักดิ์เป็น ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ และเป็นผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนนายทหารบก[2]
ชีวิตครอบครัว
[แก้]ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีภรรยาทั้งหมด 4 คน นางอบ ศรีจันทร์ มีบุตร 5 คน, นาง ระเบียบ ศรีจันทร์ มีบุตร 8 คน, นางอ่อน ศรีจันทร์ มีบุตร 5 คน, นางวิศรี ศรีจันทร์ มีบุตร 2 คน (หมอเหล็ง มีบุตร-ธิดา รวมกันทั้งสิ้น 20 คน)[3]
บทบาททางการเมือง
[แก้]ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีความมุ่งหมายจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (เรียกด้วยภาษาในสมัยนั้นว่า ลิมิเต็ดมอนากี้) การปฏิวัติครั้งนั้นล้มเหลว เพราะข่าวรั่วเสียก่อน คณะผู้ก่อการถูกรวบตัวหมด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2467 จึงได้รับการพระราชทานอภัยโทษมาทั้งหมด
ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ยังดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน คือ ผงหอมศรีจันทร์ และเป็นแพทย์ผู้ที่ทำคลอดนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี พ.ศ. 2478 ซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 [4] บ้านพักของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ ปัจจุบันอยู่ในซอยที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ซอยหมอเหล็ง ถนนราชปรารภ ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นบ้านพักของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 [2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2454 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ณัฐนันท์ สอนพรินทร์. เจาะลึก สมาคมลับ กับการปฏิวัติโลก. กรุงเทพ : อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์, พ.ศ. 2550. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-7489-88-0
- ↑ 2.0 2.1 "หมอมี หมอชิต หมอเหล็ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-21. สืบค้นเมื่อ 2016-04-01.
- ↑ "50 คนดังนอกตำรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-25.
- ↑ คุณหมอนักปฏิวัติ : จากหมอซุนยัตเซน ถึงหมอเหล็ง ศรีจันทร์ และหมออัทย์ หะสิตะเวช / ณัฐพล ใจจริง มติชนสุดสัปดาห์ สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564
- ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)