ข้ามไปเนื้อหา

ชื่อบุคคลไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชื่อบุคคลไทย ประกอบด้วย ชื่อตัว ตามด้วยชื่อสกุล (หรือนามสกุล) และจะมีชื่อรองอยู่ถัดจากชื่อตัวก็ได้ ตามที่พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 บังคับว่า ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัว คือ ชื่อประจำตัวของแต่ละคน และต้องมีชื่อสกุล คือ ชื่อประจำวงศ์ตระกูล และจะมีชื่อรอง คือ ชื่อที่ใช้ประกอบ อยู่ถัดจากชื่อตัว ด้วยก็ได้[1] เช่น ชื่อ "พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร" ประกอบด้วย ชื่อตัว คือ "พันธุ์ทิพย์", ชื่อรอง คือ "กาญจนะจิตรา", และชื่อสกุล คือ "สายสุนทร"

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 กำหนดว่า ชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย[2] แต่อนุญาตให้บุคคลเอาราชทินนามของตนเอง ของบุพการี หรือของผู้สืบสันดาน มาใช้เป็นชื่อสกุลได้[3] นอกจากนี้ ชื่อสกุลต้องมีพยัญชนะไม่เกิน 10 ตัว เว้นแต่เอาราชทินนามที่มีพยัญชนะเกิน 10 ตัวมาใช้เป็นชื่อสกุล ทั้งยังต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่จดทะเบียนไว้แล้ว หรือชื่อสกุลที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน[4] อนึ่ง ชื่อรองก็ต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลคนอื่น เว้นแต่เอาชื่อสกุลของคู่สมรสมาใช้เป็นชื่อรองโดยได้รับความยินยอมจากคู่สมรสนั้น หรือเป็นกรณีที่บุตรเอาชื่อสกุลเดิมของบิดาหรือมารดามาใช้เป็นชื่อรอง[5] พระราชบัญญัตินี้ยังอนุญาตให้บุคคลเอาราชทินนามตามบรรดาศักดิ์ของตนเองมาใช้เป็นชื่อตัวหรือชื่อรองของตนได้ เว้นแต่บุคคลนั้นถูกถอดบรรดาศักดิ์[6]

เดิมที ชาวไทยมีแต่ชื่อตัว ไม่มีชื่อสกุล มาเริ่มใช้ชื่อสกุลเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติขนามนามสกุล พระพุทธศักราช 2456 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[7] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานชื่อสกุลให้แก่หลายครอบครัว เรียกว่า "นามสกุลพระราชทาน" โดย "สุขุม" เป็นชื่อสกุลแรกที่พระราชทาน[8] และชื่อสกุลที่พระราชทานมีทั้งหมด 6,432 ชื่อ[9]

พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พระพุทธศักราช 2456 กำหนดว่า หญิงที่ทำงานและมีสามีแล้ว ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี แต่จะใช้ชื่อสกุลเดิมของตนต่อไปก็ได้[10] ต่อมาเมื่อตราพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ขึ้นใช้แทน พระราชบัญญัตินี้กำหนดว่า หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี ถ้าหย่า ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน ถ้าสามีตาย ให้ใช้ชื่อสกุลของสามีต่อไป[11] ต่อมาใน พ.ศ. 2530 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ว่า หญิงที่สามีตาย จะใช้ชื่อสกุลของสามีต่อไป หรือจะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมก็ได้[12] ครั้น พ.ศ. 2548 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้อีกครั้ง โดยเปลี่ยนไปกำหนดว่า คู่สมรสจะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายเป็นชื่อสกุลของตนเองตามที่ตกลงกันก็ได้ หรือจะใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเองต่อไปก็ได้ และถ้าการสมรสสิ้นสุดลงเพราะหย่าหรือเพราะศาลเพิกถอน ฝ่ายใดเอาชื่อสกุลของอีกฝ่ายมาใช้เป็นชื่อสกุล ก็ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิม ทั้งยังให้ยกเลิกข้อกำหนดทั้งหมดเกี่ยวกับนามสกุลของหญิงที่สามีตาย[13] การแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548 ดังกล่าว เป็นผลมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่า ข้อกำหนดให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลสามีเป็นชื่อสกุลตนเองอย่างเดียวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 ที่รับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศหรือสถานะของบุคคลจะกระทำมิได้[14]

ชื่อตัวในอดีตมักมีพยางค์เดียว เพราะภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ตัวอย่างชื่อตัวในสมัยก่อน เช่น จิต, ใส ฯลฯ จำนวนพยางค์มาเพิ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เช่น ทองม้วน, ทองดี ฯลฯ ปัจจุบันนิยมนำคำต่างประเทศมาประสมเป็นชื่อหลายพยางค์ แม้กระทั่งเป็นชื่อที่สะกดหรืออ่านยาก เช่น พิชญ์พิสิฐฏ์เสฏ, กุญจ์สิริลัญฉกร ฯลฯ[15]

นอกจากชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ชาวไทยยังมักมีชื่อเล่นเป็นชื่อเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการ ชื่อเล่นมักมีพยางค์น้อยกว่าชื่อตัว บางทีก็ตั้งจากบางพยางค์ของชื่อตัว บางทีก็แปลจากชื่อตัว บางทีก็ตั้งตามค่านิยมของครอบครัว[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ "ชื่อตัว" หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล "ชื่อรอง" หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว "ชื่อสกุล" หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล... มาตรา ๕ ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้ {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๖ ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย. ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง... มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง (๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี (๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม... (๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง... (๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง... (๓) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว... (๕) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๖... ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน. คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๗ ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือผู้เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้ {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. Bangkok: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 26: 283–288. 2455-03-30. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ประกาศพระราชทานนามสกุล ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. Bangkok: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 30: 648–659. 2456-06-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. สุนทรศารทูล, เทพ (ม.ป.ป.). นามสกุลพระราชทาน 6,432 สกุล. กรุงเทพฯ: ดวงแก้ว. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)[ลิงก์เสีย]
  10. "พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. Bangkok: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 26: 284. 2455-03-30. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๖ หญิงได้ทำงานสมรสมีสามีแล้วให้ใช้ชื่อสกุลของสามี แลคงใช้ชื่อตัวแลชื่อสกุลเดิมของตนได้ {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ (ฉบับแรก)". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. มาตรา ๑๒ หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี มาตรา ๑๓ หญิงม่ายโดยการหย่า ให้กลับใช้ชื่อสกุลเดิมของตน มาตรา ๑๔ หญิงม่ายโดยความตายของสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘". ห้องสมุดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2556-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. ไสวสุวรรณวงศ์, พรทิภา (ม.ป.ป.). "สรุปคำวินิจฉัยที่ 21/2546 วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2546" (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. 15.0 15.1 ทีปรักษพันธ์, ธนัชชา; เศรษฐทอง, พฤศจีก์; พานิชวรพันธ์, ศิรินาถ; สุทธินนท์, จอมขวัญ (2561). "ค่านิยมที่สะท้อนผ่านความหมายของชื่อเล่นของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีอายุระหว่าง 50–70 ปีในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา" (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. 12 (2 (กรกฎาคม–ธันวาคม)): 77–95. สืบค้นเมื่อ 2562-07-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]