ข้ามไปเนื้อหา

ถนนพระรามที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35
ถนนพระรามที่ 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ)
Rama II road at Central Rama II.jpg
ถนนพระรามที่ 2 ในกรุงเทพมหานครเป็นถนน 8 ช่องจราจร มีเกาะกลาง และมีถนนคู่ขนานอีกฝั่งละ 3 ช่องจราจร ภาพถ่ายจากหน้าเซ็นทรัลพระรามที่ 2 มองไปทิศตะวันออก
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว84.041 กิโลเมตร (52.221 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2516–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออก ถนนสุขสวัสดิ์ ใน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันตก ถนนเพชรเกษม ใน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ถนนพระรามที่ 2 (อักษรโรมัน: Thanon Rama II) หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว เป็นถนนที่ตัดผ่านกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี เป็นเส้นทางหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในถนนพระรามทั้ง 7 สาย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นถนนพระรามที่ 2 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ถนนพระรามที่ 2 มีระยะทางรวม 84.041 กิโลเมตร

รายละเอียดของเส้นทาง

[แก้]
ถนนพระรามที่ 2 ในช่วงจังหวัดสมุทรสาคร เป็นถนน 8 ช่องจราจร มีทางกลับรถตรงกลางถนน

ถนนพระรามที่ 2 แยกจากถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 303) ในพื้นที่เขตจอมทอง และตัดผ่านพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ผ่านพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสงครามและอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วสิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) บริเวณทางแยกต่างระดับวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เส้นทางถนนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทางหลวงที่ 13 กรุงเทพ และสำนักงานทางหลวงที่ 15 ประจวบคีรีขันธ์ กรมทางหลวง ส่วนถนนพระรามอื่น ๆ เช่น พระรามที่ 1, 3, 4, 5, 6 และถนนพระราม 9 อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]
ความยาว
  ไมล์ กิโลเมตร
กรุงเทพมหานคร 9.11 14.66
จังหวัดสมุทรสาคร 24.367 39.215
จังหวัดสมุทรสงคราม 16.747 26.951
จังหวัดราชบุรี 1.998 3.215
รวม 52.222 84.041

การก่อสร้าง

[แก้]

ถนนพระรามที่ 2 ก่อสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ภาคใต้ ช่วยย่นระยะทางสั้นกว่าถนนเพชรเกษมประมาณ 40 กิโลเมตร จึงทำให้ประชาชนใช้เส้นทางนี้แทนถนนเพชรเกษม เป็นต้นมา

ในช่วงระยะแรกเป็นทางหลวงแผ่นดินขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง ต่อมาเมื่อมีผู้สัญจรไปมาบนถนนสายนี้เป็นจำนวนมาก จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งสภาพพื้นที่ที่เป็นบริเวณดินอ่อนตลอดสายทาง ผ่านท้องทุ่งนาเกลือ สวนมะพร้าว จึงเป็นสาเหตุทำให้คันทางมีการทรุดตัว ดินอ่อนสูง มีน้ำท่วมเป็นช่วง ๆ ผิวจราจรเกิดความเสียหาย ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเดือดร้อนมาก จึงได้มีโครงการก่อสร้างครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2537 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 มีการขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 8 ช่องจราจร และช่องทางขนานข้างละ 3 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการขยายช่องจราจรจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร และ 10 ช่องจราจรตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน–นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร (กม.10+000–กม.34+000) ความยาวรวมประมาณ 24 กิโลเมตร เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น จากการขยายการก่อสร้างถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง และถนนกาญจนาภิเษก จากบางบัวทอง–บางขุนเทียน ตอน 1, 2 และ 3 ให้สอดคล้องต่อเนื่องกันตลอดสาย โดยดำเนินการก่อสร้างส่วนที่สำคัญเฉพาะทางคู่ขนานด้านขาเข้าและขาออกข้างละ 2–3 ช่องจราจร เพื่อประหยัดงบประมาณก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2546

ปัจจุบันเพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถนนพระรามที่ 2 เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักไปสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดเทศกาลกรมทางหลวงจึงทำการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว (กม.34+000-กม.84+041) โดยขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6–8 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มีโครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกต่างระดับเอกชัย (กม.9+747 - กม.21+431) จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2563 รวมทั้งก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร ต่อเนื่องจากโครงการทางพิเศษสายพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกตะวันตก ขนานไปกับถนนพระรามที่ 2 ถึงทางแยกต่างวังมะนาว

มีโครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ถึงแยกต่างระดับบ้านแพ้ว (กม.34+000 - กม.39+500) จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2564 รวมทั้งก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.6 กิโลเมตร

มีโครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ช่วงที่ 1 ระหว่างแยกต่างระดับบ้านแพ้ว ถึงหน้าบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (กม.38+500 - กม.44+300) จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565 ช่วงที่ 2 ระหว่างหน่วยบริการตำรวจทางหลวง สมุทรสงคราม ถึงตรงข้ามสถานีไฟฟ้าแรงสูง สมุทรสงคราม (กม.53+600 - กม.55+900) จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565 ช่วงที่ 3 ระหว่างตรงข้ามสถานีไฟฟ้าแรงสูง สมุทรสงคราม ถึงแยกต่างระดับสมุทรสงคราม (กม.55+900 - กม.61+600) จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562 ช่วงที่ 4 หน้าโชว์รูมโตโยต้า สมุทรสงคราม ถึงสะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (กม.64+700 - กม.65+200) จาก 8 ช่องจราจร เป็น 12 ช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2558 และโครงการในอนาคตทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ระยะที่ 3 ช่วงบ้านแพ้ว–สมุทรสงคราม ระยะทาง 24.8 กิโลเมตร และระยะที่ 4 ช่วงสมุทรสงคราม-ทางแยกต่างระดับวังมะนาว ระยะทาง 22.2 กิโลเมตร

การเปลี่ยนประเภททางหลวง

[แก้]
ป้ายเลขทางหลวง 35 ของถนนพระรามที่ 2 ในสมัยที่สถานะทางหลวงเป็นทางหลวงพิเศษ ในปัจจุบันเป็นทางหลวงแผ่นดิน และป้ายเลขทางหลวงส่วนมากถูกเปลี่ยนเป็นป้ายใหม่

ในอดีตถนนพระรามที่ 2 ได้ถูกกำหนดประเภทของทางหลวงให้เป็นทางหลวงพิเศษ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2518[1] ซึ่งความแตกต่างระหว่างทางหลวงพิเศษกับทางหลวงแผ่นดินสามารถสังเกตได้ชัดเจนจากป้ายเลขทางหลวง โดยทางหลวงแผ่นดิน พื้นป้ายจะเป็นสีขาว ตัวหนังสือ หมายเลข และตราครุฑจะเป็นสีดำ และทางหลวงพิเศษ (ที่ไม่ได้มีการเก็บค่าผ่านทาง) พื้นป้ายจะเป็นสีเขียว ตัวหนังสือ หมายเลข และตราครุฑจะเป็นสีขาว ซึ่งลักษณะป้ายเหล่านี้จะรวมไปถึงป้ายบอกชื่อแม่น้ำลำคลอง ป้ายบอกเขต ป้ายแบ่งเขตปกครอง และป้ายบอกชื่อหมู่บ้าน[2]

ถนนพระรามที่ 2 คงสถานะการเป็นทางหลวงพิเศษจนกระทั่งในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ได้มีการเปลี่ยนประเภททางหลวง ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ถนนพระรามที่ 2 มิได้มีการควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะโดยทางเสริม หมายความว่าสภาพเส้นทางบางส่วนของถนนพระรามที่ 2 ไม่ได้เป็นไปตามลักษณะของทางหลวงพิเศษ จึงทำให้มีการเปลี่ยนประเภทและกำหนดให้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 สายธนบุรี–ปากท่อ เป็นทางหลวงแผ่นดิน[3] ซึ่งในอดีตจะเห็นป้ายทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 เป็นพื้นหลังสีเขียวอยู่ตามป้ายบอกทาง แต่ในปัจจุบันป้ายเหล่านี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นป้ายพื้นหลังสีขาว แต่ก็ยังมีบางป้ายที่ยังคงเป็นป้ายพื้นหลังสีเขียวเดิมอยู่ในบางจุด[4][5]

ซึ่งความหมายของทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น[6]

สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

[แก้]

สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสะพานแห่งนี้เป็นที่มาของชื่อถนนพระรามที่ 2 ในปัจจุบัน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม[7] สะพานดังกล่าวได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาเป็นนามของสะพานว่า "สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย" คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนพระรามที่ 2" ภายหลังจากกรมทางหลวงได้สร้างถนนสายธนบุรี–ปากท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) ทิศทาง: บางปะแก้ว–วังมะนาว
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
บางปะแก้ว–วังมะนาว
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกบางปะแก้ว ถนนสุขสวัสดิ์ ไปพระประแดง, พระสมุทรเจดีย์, ป้อมพระจุลจอมเกล้า ถนนสุขสวัสดิ์ ไปจอมทอง, ดาวคะนอง, วงเวียนใหญ่, สะพานพุทธ
ต่างระดับดาวคะนอง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปสะพานพระราม 9, ดินแดง, บางนา, แจ้งวัฒนะ ไม่มี
สะพาน ข้ามคลองบางขุนเทียน
สะพาน ข้ามคลองบางมด
4+922 สะพาน ข้ามคลองสนามชัย
6+759 สะพาน ข้ามคลองพระยาราชมนตรี
แยกหัวกระบือ ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ไปวัดหัวกระบือ ถนนบางขุนเทียน ไปบางบอน
9+747 ต่างระดับบางขุนเทียน ถนนกาญจนาภิเษก (ใต้) ไปพระประแดง, บางนา, บางปะอิน, ชลบุรี ถนนกาญจนาภิเษก (ตะวันตก) ไปบางแค, บางบัวทอง, บางปะอิน
สมุทรสาคร สะพาน ข้ามคลองบางน้ำจืด
18+700 สะพาน ข้ามสายแม่กลอง
21+431 ต่างระดับเอกชัย ถนนเอกชัย ไปเข้าเมืองสมุทรสาคร, บรรจบ ถนนพระรามที่ 2 ถนนเอกชัย ไปบางบอน
27+954 ต่างระดับสมุทรสาคร ถนนเศรษฐกิจ 1 เข้าเมืองสมุทรสาคร ถนนเศรษฐกิจ 1 ไปกระทุ่มแบน, ศาลายา, บรรจบ ถนนบรมราชชนนี
30+275 ถนนเอกชัย ไปเข้าเมืองสมุทรสาคร, มหาชัย, บางบอน, กรุงเทพ ไม่มี
30+632 สะพาน ข้ามแม่น้ำท่าจีน
38+377 แยกบ้านแพ้ว ไม่มี ทล.375 ไปบ้านแพ้ว, นครปฐม
39+300 สะพาน ข้ามคลองตาขำ
39+800 สะพาน ข้ามคลองท่าแร้ง
40+830 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ใต้) ไปพระสมุทรเจดีย์, บางพลี ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ตะวันตก) ไป นครชัยศรี, สองพี่น้อง
~ 41+599 ไม่มี ทล.3403 ไปวัดยกกระบัตร
42+600 สะพาน ข้ามคลองเกตุม
45+960 สะพาน ข้ามคลองสุนัขหอน
สมุทรสงคราม 47+193 สะพาน ข้ามทางรถไฟนาขวาง (สายแม่กลอง)
สส.2003 ทางหลวงชนบท สส.2003 ไปดอนหอยหลอด ไม่มี
63+200 ต่างระดับสมุทรสงคราม ไม่มี ทล.325 ไปเข้าเมืองสมุทรสงคราม, อ.ดำเนินสะดวก, อ.บางแพ
ไม่มี ทล.3301 ไปเข้าเมืองสมุทรสงคราม, อ.ดำเนินสะดวก
สส.2003 ทางหลวงชนบท สส.2003 ไปดอนหอยหลอด ไม่มี
66+290 สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้ามแม่น้ำแม่กลอง
73+864.700 สะพาน ข้ามคลองบำรุงสิทธิ์
75+288.973 สะพาน ข้ามคลองขุดกำนันสมบูรณ์
80+503.982 สะพาน ข้ามคลองแพรกหนามแดง
ราชบุรี 83+125 ต่างระดับวันดาว ไม่มี ทล.3088 ไปปากท่อ,วัดเพลง,เข้าเมืองราชบุรี
81+000 ต่างระดับปากท่อ เชื่อมต่อจาก: ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ไปราชบุรี และ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ไปสมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, กรุงเทพ
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 ไปท่ายาง, ชะอำ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 ไปนครชัยศรี
84+041 ต่างระดับวังมะนาว ถนนเพชรเกษม ไปเพชรบุรี, ชะอำ, หัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้ ถนนเพชรเกษม ไปปากท่อ, ราชบุรี, นครปฐม, กรุงเทพ
ตรงไป: ถนนพระราม 2 ไป อำเภอหนองหญ้าปล้อง
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

สถานที่สำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง เปลี่ยนประเภทและกำหนดให้ทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ เป็นทางหลวงพิเศษ"
  2. https://mgronline.com/columnist/detail/9600000129156
  3. "ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง เปลี่ยนประเภทและกำหนดให้ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๓๕ สายธนบุรี - ปากท่อ เป็นทางหลวงแผ่นดิน"
  4. http://www.hamanan.com/tour/samutsongkham/gototaladromhub.html
  5. https://www.posttoday.com/economy/news/594123
  6. http://www.doh.go.th/content/page/page/118
  7. เสาวลักษณ์ แสงสุวรรณ (2018-07-10). "คนไทยควรรู้!! ไขข้อข้องใจ..ความเป็นมาของชื่อของ "สะพานพระราม..." และชื่อถนน...ในย่านสำคัญของสยาม!!". Tnews. สืบค้นเมื่อ 2019-02-03.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]