ข้ามไปเนื้อหา

ปราสาทเมืองต่ำ

พิกัด: 14°30′1″N 102°59′6″E / 14.50028°N 102.98500°E / 14.50028; 102.98500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทเมืองต่ำ
Prasat Muang Tam
ปราสาทเมืองต่ำ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทปราสาทหิน
สถาปัตยกรรมบาปวน คลัง
เมืองอำเภอประโคนชัย, จังหวัดบุรีรัมย์
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16

ปราสาทเมืองต่ำ เป็นหนึ่งในกลุ่มปราสาทมรรคโค เป็นศาสนสถานที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เพื่อถวายพระศิวะ ตั้งอยู่บริเวณตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระเครื่อง ที่เรียกว่า "พระสมเด็จจิตรลดา"

ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนาสถาน ศิลปะขอมแบบบาปวน ปะปนศิลปะแบบคลัง อายุประมาณ พ.ศ. 1551-1630 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[2]

ณ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ใครเป็นผู้สร้างเทวสถานแห่งนี้ แต่จากสันนิษฐานว่า ปราสาทหลังนี้ น่าจะสร้างโดย พราหมณ์ยัชญวราหะ ผู้ที่สร้างปราสาทบันทายศรี เนื่องจากปราสาทเมืองต่ำ ถูกสร้างในเวลาใกล้เคียงกับปราสาทบันทายศรี และมีการวางผังปราสาท และการวางกลุ่มอาคารที่คล้ายคลึงกัน จึงอาจเป็นไปได้ว่า ปราสาทเมืองต่ำ อาจสร้างโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5

ประวัติ

[แก้]
ปราสาทเมืองต่ำและสระบัว

ปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ใน ศิลปะแบบคลัง และ ศิลปะบาปวนตอนต้น และลดความสำคัญลงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกทิ้งร้างในที่สุด จนเมื่อราวปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีการอพยพเข้ามาของชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]

ปราสาทเมืองต่ำน่าจะเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แม้จะพบภาพสลักส่วนมากที่ ล้วนเป็นภาพเกี่ยวกับการอวตารของพระนารายณ์ อีกทั้งเป็นปราสาทน้ำล้อม ซึ่งเป็นลักษณะของไวษณพนิกาย แต่มีการค้นพบศิวลึงค์และฐานโยนีในปราสาทประธานและภาพสลักขององค์พระศิวะและพระอุมาสามารถสรุปได้ว่าสถานที่แห่งนี้สร้างเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ ปราสาทเมืองต่ำมีปรางค์ประธานห้าองค์บนฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับปราสาทศีขรภูมิ

องค์ประกอบภายในปราสาทเมืองต่ำ

[แก้]
สระน้ำโดยรอบปราสาทหิน

สระน้ำระเบียงคด

[แก้]

สระน้ำ 4 สระ ล้อมรอบระเบียงคดมีลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนแกะสลักด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค ที่มุมสระสลักเป็นนาค 5 เศียร สระน้ำทั้ง 4 สระนี้ ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ภาพสลักดอกบัวแปดกลีบ

[แก้]

บริเวณพื้นกลางห้องภายในซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก มีการสลักเป็นลายเส้นรูปดอกบัว 8 กลีบ ซึ่งอาจหมายถึงจุดกำหนดในการตั้งจิต อธิษฐานบูชาเทพเจ้า หรือหมายถึงการจำลองแผนผังของจักรวาล อันประกอบด้วยทิศสำคัญทั้ง 8 ทิศ

กลุ่มปราสาทอิฐ และปรางค์ประธาน ที่เหลือแต่ส่วนฐาน

ระเบียงคดและซุ้มประตู

[แก้]

ระเบียงคด เป็นแนวกำแพงชั้นในของโบราณสถาน ก่อสร้างด้วยหินทรายเชื่อมต่อกันโดยรอบ ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐ ภายในห้องกว้าง ประมาณ 2 เมตร พื้นปูด้วยศิลลาแลง ที่บริเวณกึ่งกลางของระเบียบคดทุกด้าน ก่อสร้างเป็นซุ้มประตูในแนวเดียวกันกับซุ้มประตูของกำแพงแก้ว

ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ

[แก้]

ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ ก่อสร้างด้วยอิฐ เดิมมีลวดลายปูนปั้นประดับ ทับหลังทำจากหินทรายสลักภาพพระศิวะคู่กับพระอุมาประทับนั่งเหนือ โคนนทิ เรียกภาพตอนนี้ว่า "อุมามเหศวร"

ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือ

[แก้]

ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือ ก่อสร้างด้วยอิฐ เดิมเคยมีลวดลายปูนปั้นประดับ ทับหลังทำจากหินทรายสลักภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ เพื่อปกป้อง คนเลี้ยงวัวและฝูงวัวให้พ้นภัยจากพายุฝน

ปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้

[แก้]

ปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้ ก่อสร้างด้วยอิฐ เดิมมีลวดลายปูนปั้นประดับ ทับหลังทำจากหินทรายสลักภาพเทพเจ้าประทับนั่งเหนือหงส์ สันนิษฐานว่าเทพเจ้านี้หมายถึงพระวรุณเทพผู้รักษาทิศตะวันตก

ปรางค์ประธาน

[แก้]

ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางเยื้องมาข้างหน้าเล็กน้อย ระหว่างปรางค์บริวารทั้งสองมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์บริวารอีก 4 องค์ ทับหลังเป็นหินทราย

ปัจจุบันปรางค์ประธานได้ถล่มลงมาแล้วคงเหลือเฉพาะฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะอาคารใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก พบเพียงฐานเป็นศิลาแลง และหน้าบันซึ่งสลักจากหินทราย เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะปาปวน สันนิษฐานว่าตัวปราสาทเป็นปราสาทหินทราย นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานลวดลายปูนปั้นประดับ ซึ่งสร้างถวายพระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะได้มีการขุดพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ และพบทับหลังสลักพระศิวะ ในปาง "กัลยาณะสุนทะระมูรติ" ส่วนบนของทับหลังจำหลักภาพฤๅษีนั่งประนมมือเป็นแถว จำนวน 7 ตน

กลุ่มปราสาทอิฐ

[แก้]
บรรณาลัย

เป็นอาคารสำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงกลางของตัวปราสาทเมืองต่ำ ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพและประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประกอบด้วยปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันองค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ และแถวหลัง 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์นี้แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาลปราสาทประธาน ส่วนตรงกลางคือส่วนปรางค์ประธาน ซึ่งได้ปรักหักพังเหลือเพียงฐาน

บรรณาลัย

[แก้]

บรรณาลัย 2 หลัง ก่อสร้างด้วยอิฐ อยู่บริเวณด้านหน้าของกลุ่มปราสาทอิฐ ข้างละ 1 หลัง ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขและประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตกด้านเดียว ส่วนผนังหลังคาพังลงหมดเหลือเพียงกรอบประตูและทับหลัง จากรูปแบบของอาคารเป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ ตำราทางศาสนา หรืออาจเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปเคารพ

ปราสาทประกอบ

[แก้]

ปราสาทประกอบอีก 4 หลังเป็นปราสาทอิฐ ปัจจุบันได้รับการบูรณะในสภาพสมบูรณ์ และมีหน้าบันด้านหน้าอยู่ครบ โดยปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้ มีหน้าบันเป็นภาพพระวรุณเทพประทับเหนือหงษ์ ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะ (ร่างอวตารของพระวิษณุ) ยกภูเขาโควรรธนะ ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศใต้เป็นภาพพระอินทร์ ปางมหาราชลีลาสนะ (นั่งชันเข่า) ประทับเหนือหน้ากาล ส่วนปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ เป็นภาพพระศิวะคู่พระอุมา ประทับบนโคนนทิในปาง อุมามเหศวร

ภาพมุมกว้างส่วนใน

[แก้]

ทะเลเมืองต่ำ

[แก้]

ทะเลเมืองต่ำ หรือ "สระบาราย" ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยเดียวกันกับตอนสร้างปราสาท อยู่ห่างจากตัวปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภค การชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้น ท่าน้ำทั้ง 2 ฝั่งนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ[3]

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประมวลภาพปราสาทเมืองต่ำ
  2. กรมศิลปากร, กองโบราณคดี, ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 2 จังหวัดบุรีรัมย์ กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2536
  3. กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9, ปราสาทเมืองต่ำ, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2540.


14°30′1″N 102°59′6″E / 14.50028°N 102.98500°E / 14.50028; 102.98500