พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเรขา (ทองดี) กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2403 ณ บ้านเลขที่ 81 ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพมหานคร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 4 คน คือ
- ชาย ชื่อ เปลี่ยน
- ชาย ชื่อ แย้ม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพิณบรรเลงราช
- หญิง ชื่อ สุ่น
- หญิง ชื่อ นวล
ต่อมารับราชการ ตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ “ขุนประสานดุริยศัพท์” นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนเป็นพระประสานดุริยศัพท์ สังกัดกรมมหาดเล็กแลกรมขึ้น และท้ายที่สุดได้เป็นที่ “พระยาประสานดุริยศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในสมัยรัชกาลที่ 6
ในวัยเยาว์ท่านได้เรียนหนังสือที่บ้านตนเองจนกระทั่งโตเป็นหนุ่มตามกระแสข่าวกล่าวว่าท่านได้เรียนดนตรีไทยกับ “ครูถึก ดุริยางกูร” บุตรชายของพระประดิษฐไพเราะ หรือครูมีแขก ต่อมาท่านได้เรียนปี่ชวากับครูชื่อ “หนูดำ” ซึ่งต่อมาได้สละการเป็นครูโดยถือศีลในถ้ำภูเขาทอง ลูกศิษย์เอกของครูหนูดำคือ ครูแปลกและนายทอง ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อย่างอื่น ได้ศึกษาอย่างจริงจังกับครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) ครั้งแรกนายแปลกรับราชการเมื่ออายุ 14 ปีเศษในตำแหน่งหมื่นทรงนรินทร์ ในกระทรวงนครบาล ต่อมาจึงลาออกจากงานที่กระทรวงนครบาล
ในปี พ.ศ. 2419 ท่านมีอายุ 17 ปีจึงสมรสกับ นางสาว พยอม คนราชบุรี มีบุตรทั้งหมด 11 คน ถึงแก่กรรมแต่เล็ก 6 คน จึงเหลือบุตรเพียง 5 คน คือ
- หญิง ชื่อ มณี ประสานศัพท์
- หญิง ชื่อ เสงี่ยม ประสานศัพท์
- หญิง ชื่อ ประยูร ประสานศัพท์
- ชาย ชื่อ ปลั่ง ประสานศัพท์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนบรรจงทุ้มเลิศ"
- หญิง ชื่อ ทองอยู่ ประสานศัพท์
การศึกษาวิชาดนตรี
[แก้]อาจารย์ มนตรี ตราโมทลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด กล่าวว่า ท่านมิได้เล่าว่าเริ่มเรียนดนตรีไทยมาจากที่ใด แต่ในการเป่าปี่ท่านบอกเรียนมาจากครูช้อย สุนทรวาทิน ครั้งหนึ่งเมื่อคุยกันถึงพระประดิษฐไพเราะท่านเล่าว่าครูช้อยเคยพาท่านไปหาครูมีแขกและท่านให้เป่าปี่ให้ครูมีแขกฟังสองเพลงซึ่งจำไม่ได้ว่าเพลงอะไร ครูมีแขกฟังแล้วบอกว่า เป่าดีใช้ได้ซึ่งแสดงว่าครูมีแขกเป็นคนผู้น้อย ต่อมาท่านก็สนใจในเครื่องสายจึงได้เป็นลูกศิษย์ครูถึก ดุริยางกูรส่วนปี่พาทย์นั้นเรียนกับใครไม่ปรากฏแต่ครูคนสุดท้ายคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน ซึ่งครูเลื่องลือในทางระนาดและทางฆ้องมีใจรักในพระยาประสานดุริยศัพท์ดังลูกมีวิชาเท่าไรก็ถ่ายทอดให้หมดและความสามารถนี้เองทำให้ครูมีแขกซึ่งในขณะนั้นอายุ 80 ปีเศษ ราวรัชกาลที่ 5 ปรารภว่าทำอย่างไรจึงจะได้ยินนายแปลกเป่าปี่ ครั้นท่านเจ้าคุณได้ยินดังนั้นก็รีบนำปี่ไปเป่าเพลงทยอยเดี่ยวให้ครูมีแขกฟังทันทีครูมีแขกกล่าวว่า เก่ง ไม่มีใครสู้ แล้วสอนเพลงทยอยเดี่ยวให้อีกนิ้วหนึ่ง ท่านเจ้าคุณประสานเป็นผู้เสาะหาครูดีเสมอ ครูมนตรี ตราโมท กล่าวว่าส่วนเรื่องในการเป่าปี่ชวานั้นท่านเรียนกับครูช้อย ต่อมาต้องการเรียนเพลงเรื่องชมสมุทรอันเป็นเพลงเรื่องปี่ชวาในวงเครื่องสายปี่ชวาเลยได้เรียนกับครูหนูดำ ครูหนูดำผู้นี้ชอบย้ายที่อยู่ไปเรื่อยเห็นจะหนีผู้รบกวนเนืองจากเป็นผู้มีฝีมือทางดนตรีมากท่านเล่าว่าเมื่อจะเรียนเพลงเรื่องชมสมุทรต้องไปขอเรียนในถ้ำภูเขาทองต้องพยายามเข้าไปเรียนวันกว่าจะต่อจบ
ยอดฝีมือดนตรีไทยไปอังกฤษ
[แก้]ความรู้ความสามารถของพระยาประสานดุริยศัพท์นั้น เป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยฝีมือ ความรู้ ปฏิภาณ ไหวพริบ ท่านเป็นครู และเป็นศิลปินที่หาได้ยากยิ่งโดยเฉพาะขลุ่ย ปี่ ระนาดจนเมื่อปี พ.ศ. 2428 ท่านได้รับเลือกให้ไปร่วมงานมหกรรรมสินค้าและดนตรีนานาชาติ กรุงลอนดอนที่ประเทศอังกฤษครั้งนั้นประเทศไทยได้ส่งนักดนตรีไป 19 คนโดยครั้งนั้นนายแปลกยังอายุ 25 ปี อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่า รัฐบาลอังกฤษได้จัดงานมหกรรมสินค้าและดนตรีนานาชาติจึงได้เชิญประเทศสยามให้ส่งดนตรีไปแสดงในครั้งนั้นได้ส่งนักดนตรีไทยไปส่วนใหญ่เป็นดนตรีของวังบูรพาภิรมย์แทบทั้งหมดซึ่งในการแสดงครั้งนั้นนำซอสามสายไปด้วยและเป็นเคราะห์นี้ที่มีมือดีได้บันทึกเรื่องราวคือนายคร้ามเป็นคนซอสามสายโดยนักดนตรีทั้ง 19 คนคือ
- จางวางทองดี
- นายตาด
- นายยิ้ม
- นายเปีย
- นายนวล
- นายเนตร
- นายต่อง
- นายฉ่าง
- นายคร้าม
- นายชุ่ม
- นายสิน
- นายสาย
- นายแปลก
- นายเหม
- นายเปลี่ยน
- นายอ๋อย
- นายเผื่อน
- นายปลั่ง
- นายสังจีน
แต่เมื่อถึงอังกฤษมีคนเสียชีวิตคนหนึ่งคือนายสังจีนบรรเลงครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2428 เป็นเวลาสามเดือนซึ่งผลของการบรรเลงขลุ่ยของนายแปลกเป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งขอฟังเพลงขลุ่ยเป็นการส่วนพระองค์ใน "พระราชวังบักกิงแฮม" อีกครั้ง การบรรเลงครั้งหลังนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงลุกจากที่ประทับและใช้พระหัตถ์ลูบคอพระยาประสานฯ พร้อมทั้งรับสั่งถามว่า เวลาเป่านั้นหายใจบ้างหรือไม่ เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลา
ผลงาน
[แก้]พระยาประสานดุริยศัพท์ได้แต่งเพลงไว้ ดังนี้
- เพลงเชิดจีน 3 ชั้น
- พม่าห้าท่อน สามชั้น
- เขมรราชบุรี สามชั้น
- ช้อนแท่น สามชั้น
- บรรทมไพร สามชั้น
- ลาวคำหอม
- ลาวดำเนินทราย
- เขมรทรงดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม)
- เขมรปากท่อ
- เขมรใหญ่
- ดอกไม้ไทร
- ถอนสมอ
- ทองย่อน
- เทพรัญจวน
- นารายณ์แปลงรูป
- แมลงภู่ทอง
- สามไม้ใน
- อาถรรพ์
- คุณลุงคุณป้า
- พราหมณ์เข้าโบสถ์
- ธรณีร้องไห้
- มอญร้องไห้
- แขกเห่
- อนงค์สุดา
- วิเวกเวหา
- แขกเชิญเจ้า
- ย่องหงิด 3 ชั้น
- แขกสาหร่าย สองชั้น
ลูกศิษย์
[แก้]ความสามารถทางดนตรีของท่านนั้น ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่มีความสามารถเป็นทวีคูณขึ้นไป และศิษย์ของท่านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ
- พระประดับดุริยกิจ (แหยม วิณิณ)
- พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
- หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
- หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน)
- พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)
- อาจารย์ มนตรี ตราโมท
- ครูเฉลิม บัวทั่ง
- หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
- หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน)
- จางวางทั่ว พาทยโกศล
- ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล
- เป็นต้น
ยศ
[แก้]- ไม่ปรากฏ – รองหัวหมื่น
- 14 มีนาคม 2458 – หัวหมื่น[1]
ถึงแก่กรรม
[แก้]พระยาประสานดุริยศัพท์ ป่วยโดยโรคชรา และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 64 ปี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2467
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2467 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[2]
- พ.ศ. 2462 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
- พ.ศ. 2462 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2457 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา (ว.ม.ล.)[5]
- พ.ศ. 2453 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[6]
- พ.ศ. 2459 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชทานยศและเลื่อนยศ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๙๐, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๐๑, ๒๕ มกราคม ๒๔๖๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนามผู้รับพระราชทานตราวัลลภาภรณ์ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ และแถลงความชอบของผู้นั้นๆ, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘, ๖ เมษายน ๒๔๖๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวชิรมาลา, เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕, ๔ เมษายน ๒๔๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๔๓, ๒๙ มกราคม ๑๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๖๐, ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙
แหล่งข้อมูล
[แก้]- พระยาประสานดุริยศัพท์ เก็บถาวร 2008-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บดนตรีไทย.คอม
นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2555 หน้าที่ 138-153