ข้ามไปเนื้อหา

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติพ.ศ. 2392
สิ้นพระชนม์3 ธันวาคม พ.ศ. 2456
พระสวามีหม่อมเจ้าเดช นพวงศ์ (2409–2456)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
พระมารดาหม่อมจิ๋ม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี (พ.ศ. 2392 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2456) พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์แก้วกัลยา เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร กับหม่อมจิ๋ม เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ

[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2392 เมื่อแรกประสูตินั้นเป็น หม่อมราชวงศ์แก้วกัลยา ซึ่งได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] มีนามลำลองว่า แก้ว[2] เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ต้นราชสกุลสุประดิษฐ[3] ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าสุประดิษฐ พระโอรสในเจ้าฟ้ามงกุฎ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าสุประดิษฐจึงเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า ส่วนหม่อมราชวงศ์แก้วกัลยา พระธิดา ก็เลื่อนเป็น หม่อมเจ้าแก้วกัลยาตามพระบิดา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาชุบเลี้ยงหม่อมเจ้าแก้วกัลยา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาดุจพระเจ้าลูกเธอในพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้เข้าแห่ต่อท้ายกระบวนแห่ในพระราชพิธีโสกันต์ของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี, พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภัศร

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี ได้รับพระราชทานพระนาม และหีบหมากเสวยลงยา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณต่างๆ อีกหลายประการ จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าแก้วกัลยาทรงรับราชการฝ่ายใน เป็นพระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจนกระทั่งเจริญพระชนมพรรษาได้ 10 พรรษา ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยรำลึกถึงคุณความดีของหม่อมเจ้าแก้วกัลยาที่ทรงทำหน้าที่พระอภิบาลพระองค์มาโดยมิได้บกพร่อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็น "พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี"[4][5] ทรงศักดินา 3000

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี เสกสมรสกับหม่อมเจ้าเดช นพวงศ์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เมื่อ พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งบัตรเชิญงานเสกสมรสระหว่างหม่อมเจ้าเดชกับหม่อมเจ้าแก้วกัลยาให้ทอมาส ยอช นอกส ส่งต่อแก่นายพลเรือโท ยอช กิง[6] ถือเป็นบัตรเชิญงานแต่งที่เก่าสุดของประเทศไทย[7]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2456 สิริพระชันษา 64 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานน้ำสรงพระศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศราชวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องสูง 5 ชั้น เป็นพระเกียรติยศ โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2457[8]

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนกระหม่อม/หม่อมฉัน
การขานรับกระหม่อม/เพคะ

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • พ.ศ. 2392 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394 : หม่อมราชวงศ์แก้วกัลยา
  • 2 เมษายน พ.ศ. 2394 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 : หม่อมเจ้าแก้วกัลยา
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2456 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 21 (32): 572. 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2014-10-20. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. 2.0 2.1 มหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้า. "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พุทธศักราช ๒๔๒๗ (วันอังคาร วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 50. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-04-30.
  4. ศรัณยู นกแก้ว (6 พฤษภาคม 2562). "เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ชมงานศิลป์เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก". เพื่อเดินทาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง, ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
  6. "พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ พระราชทานไปยังมิศเตอร์ ทอมาส ยอช นอกส กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ". พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม ภาค 1. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2549, หน้า 128-130
  8. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  9. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 (0ง): 1906. 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  10. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (0ง): 3100. 19 มีนาคม พ.ศ. 2453. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)