พระองค์ผิว
สมเด็จพระศรีวรศักดิ์ | |
---|---|
ประสูติ | พ.ศ. 2400 กรุงเทพมหานคร อาณาจักรสยาม |
สิ้นพระชนม์ | ไม่ปรากฏ พนมเปญ กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส |
พระสวามี | หม่อมเจ้าขุนช้าง นพวงศ์ (พ.ศ. 2422–2431) |
พระบุตร | 4 คน |
ราชวงศ์ | ตรอซ็อกผแอม (ประสูติ) จักรี (เสกสมรส) |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ |
พระมารดา | หม่อมเนียม |
ศาสนา | พุทธ |
สมเด็จพระศรีวรศักดิ์ พระนามเดิม พระองค์ผิว เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ต่อมาเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าขุนช้าง นพวงศ์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
พระประวัติ
[แก้]สมเด็จพระศรีวรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ผิว ประสูติที่กรุงเทพมหานคร เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ประสูติแต่หม่อมเนียม (នាម)[1] พระชนนีชาวไทย[2] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ไปเป็นพระแก้วฟ้าที่กรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2413 พระองค์ผิวยังอยู่ที่กรุงเทพมหานครจนเป็นสาว และเข้าเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าขุนช้าง ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (พ.ศ. 2401–2431)[2] ใน พ.ศ. 2422[1] มีพระบุตรด้วยกันสี่คน แต่เสียชีวิตไปเสียสองคน เหลือพระธิดาที่มีชีวิตอยู่จนโตสองคน[2]
หลังหม่อมเจ้าขุนช้างสิ้นชีพิตักษัยลงใน พ.ศ. 2431 พระองค์ผิวจึงไปอยู่กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาระยะหนึ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์จึงออกไปรับพระองค์ผิวพร้อมพระธิดาที่เหลืออยู่สองคนกลับกรุงกัมพูชา[3] พระธิดาทั้งสองคนมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้าในราชสำนักกัมพูชา คือ หม่อมเจ้าเกศสุดาสี (Ketsodasi) เสกสมรสกับพระองค์เจ้านโรดม จันทเลขา[4] และอีกคนคือหม่อมเจ้าหรินรัตนา (Harinaratna) เสกสมรสกับพระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ ดวงมธุรา[5] ภายหลังพระองค์ผิวได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีวรศักดิ์[2]
เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนกัมพูชาราว พ.ศ. 2468 มีพระองค์ผิวขณะพระชันษา 67 ปี เสด็จออกมารับ พร้อมกับพระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ ปิ่นดาราสุทธาเรศ (ពិន្តរា សុដារ៉េត) พระชันษาราว 30 ปี[2] พระขนิษฐาต่างพระชนนีที่เกิดกับนักนางมะเฟือง (ម៉ៈហ្វឿង)[1] ส่วนพระธิดาสองคนของพระองค์ผิวสิ้นชีพไปแล้ว[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระองค์ผิวไว้ว่า "...พูดไทยชัดกิริยามารยาทก็เป็นอย่างผู้ดีชาวกรุงเทพฯ อัธยาศัยเรียบร้อยน่าชม ได้พบพวกเราสังเกตดูว่ายินดีมาก ยังยกย่องพระคุณของพระอัครชายาฯ ซึ่งได้มีมาแต่หนหลัง สนทนาปราศรัยกับพวกเราเข้ากันได้อย่างสนิท..."[3]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Cambodia 16". Royal Lark. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 นิราศนครวัด, หน้า 225
- ↑ 3.0 3.1 นิราศนครวัด, หน้า 226
- ↑ "Cambodia 11". Royal Lark. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Cambodia 15". Royal Lark. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- บรรณานุกรม
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. นิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515. 244 หน้า.