ข้ามไปเนื้อหา

ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค

Habsburgermonarchie
ค.ศ. 1282–ค.ศ. 1918
เพลงชาติก็อทเอไฮล์ทีฟรานซ์ดินไคเซอร์
ขอพระเจ้าโปรดทรงคุ้มครองพระจักรพรรดิฟรันซ์
(หลัง ค.ศ. 1797)
รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คใน ค.ศ. 1789
รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คใน ค.ศ. 1789
สถานะรัฐร่วมประมุขภายใต้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (บางส่วน)
เมืองหลวง
ภาษาหลักละติน เยอรมัน ฮังการี เช็ก โครเอเชีย โรมาเนีย อิสโตร–โรมาเนีย สโลวัก สโลวีน ดัตช์ ลอมบาร์ด เวเนโต ฟรูเลียน ลาดิน อิตาลี โปแลนด์ รูทีเนีย เซอร์เบีย ฝรั่งเศส
ศาสนา
โดยส่วนมาก:
โรมันคาทอลิก (ได้รับการรับรอง)[1][2]
โดยส่วนน้อย:
นิกายปฏิรูป ลูเทอแรน อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ยูทราควิส ยูดาห์ อับราฮัมนิยม
การปกครองราชาธิปไตยแบบฟิวดัล
ผู้ปกครอง 
• ค.ศ. 1282–1291
พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1[α]
• ค.ศ. 1358–1365
ดยุกรูดอล์ฟที่ 4[β]
• ค.ศ. 1452–1493
จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3[γ]
• ค.ศ. 1508–1519
จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1
• ค.ศ. 1519–1556
จักรพรรดิคาร์ลที่ 5[δ]
• ค.ศ. 1556–1564
จักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 1[ε]
• ค.ศ. 1711–1740
จักรพรรดิคาร์ลที่ 6[ζ]
• ค.ศ. 1740–1780
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา
• ค.ศ. 1780–1790
จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2[η]
• ค.ศ. 1792–1835
จักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2[θ]
• ค.ศ. 1848–1916
จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ
• ค.ศ. 1916–1918
จักรพรรดิคาร์ลที่ 1[ι]
หัวหน้ารัฐบาล 
• ค.ศ. 1527
เลโอนฮาร์ดที่ 3 ฟ็อน ฮาร์ราค [cs; bg] (ในฐานะอัครมหาเสนาบดี)
• ค.ศ. 1715–1742
ฟิลลิพ ลูทวิช เว็นท์เซิล กราฟ ฟ็อน ซินเซ็นดอร์ฟ (ในฐานะเสนาบดีฝ่ายการต่างประเทศ)
• ค.ศ. 1753–1793
เว็นท์เซิล อันโทน เฟือสท์ ฟ็อน เคานีท-ไรยแบร์ค
• ค.ศ. 1809–1848
เคลเมนส์ ฟ็อน เมทเทอร์นิช (ในฐานะเสนาบดีแห่งรัฐ)
• ค.ศ. 1848
ฟรันทซ์ อันโทน ฟ็อน โคโลวรัต-ลีปสไตนสกี (ในฐานะมุขมนตรีแห่งจักรวรรดิออสเตรีย)
• ค.ศ. 1918 (คนสุดท้าย)
ไฮน์ริช ลัมมาช (ในฐานะมุขมนตรีแห่งซิสไลทาเนียในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี)
ยุคประวัติศาสตร์
ธันวาคม ค.ศ. 1282
• ดัชชีออสเตรียได้รับการเลี่อนสถานะขึ้นเป็นอาร์ชดัชชี
ค.ศ. 1358
• การอภิเษกสมรสระหว่างฟิลิปผู้หล่อเหลาและฆัวนาแห่งอารากอน
20 ตุลาคม ค.ศ. 1496
14 กรกฎาคม ค.ศ. 1683
ค.ศ. 1740 – ค.ศ. 1748
ค.ศ. 1787 – ค.ศ. 1791
4 สิงหาคม ค.ศ. 1791
11 สิงหาคม ค.ศ. 1804
29 พฤษภาคม ค.ศ. 1867
31 ตุลาคม ค.ศ. 1918
ก่อนหน้า
ถัดไป
ดินแดนสืบทอดออสเตรีย
จักรวรรดิสเปน
ดัชชีมันโตวา
ดินแดนแห่งราชบัลลังก์โบฮีเมีย
ดินแดนแห่งราชบัลลังก์ฮังการี
ราชอาณาจักรโครเอเชีย
เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย
ซันจักแห่งสเมเดเรโว
จักรวรรดิออสเตรีย
สาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย
^ก ภาษาเยอรมันกลายมาเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิแทนที่ภาษาละตินใน ค.ศ. 1784[3]
^ข ศาสนาที่นับถือโดยชาวเช็ก ส่วนใหญ่ในราชอาณาจักรโบฮีเมีย ได้รับการรับรองจนถึง ค.ศ. 1627 หลังจากนั้นถูกสั่งห้าม
^ค ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีฝ่ายการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. 1809–1821 และเสนาบดีแห่งรัฐ (Staatskanzler) ระหว่าง ค.ศ. 1821–1848

ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน: Habsburgermonarchie ออกเสียง: [ˈhaːpsbʊʁɡɐmonaʁˌçiː] ( ฟังเสียง)) ราชาธิปไตยโดเนา (เยอรมัน: Donaumonarchie ออกเสียง: [ˈdoːnaʊ̯monaʁˌçiː] ( ฟังเสียง)) หรือ จักรวรรดิฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน: Habsburgerreich ออกเสียง: [ˈhaːpsbʊʁɡɐˌʁaɪ̯ç] ( ฟังเสียง)) เป็นคำที่ใช้แสดงถึงดินแดนและอาณาจักรต่าง ๆ ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรีย ในทางประวัติศาสตร์ มีการใช้ศัพท์ ออสเตรีย อยู่บ่อยครั้งเพื่อกล่าวถึงราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เป็นการใช้ส่วนหนึ่งของบางสิ่ง เพื่ออ้างถึงส่วนทั้งหมดของสิ่งนั้น) ถึงแม้ว่าในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง 1806 (เว้นช่วงไปใน ค.ศ. 1742 ถึง 1745) เชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจะถือครองพระราชอิสริยยศจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยก็ตาม แต่ตัวจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เอง (ซึ่งจักรพรรดิทรงมีอำนาจปกครองแต่เพียงเล็กน้อย) ก็ไม่ได้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันในปัจจุบันว่าราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค

จุดเริ่มต้นของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คเริ่มนับจากการที่พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1 ทรงได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์เยอรมนี ใน ค.ศ. 1273 และการที่ทรงได้รับดัชชีออสเตรีย เป็นดินแดนประจำราชวงศ์เมื่อ ค.ศ. 1282 ใน ค.ศ. 1482 จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 ทรงได้ครองเนเธอร์แลนด์ ผ่านทางการอภิเษกสมรส ดินแดนทั้งสองอยู่ในเขตแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ และถูกส่งต่อไปยังจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งทรงได้รับสืบทอดสเปนและอาณานิคมมาจากทางฝั่งพระราชมารดา และได้ปกครองเหนือจักรวรรดิฮาพส์บวร์คในช่วงแพ่ไพศาลที่สุด การสละราชสมบัติของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ใน ค.ศ. 1556 นำไปสู่การแบ่งดินแดนต่าง ๆ ที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คถือครอง ระหว่างพระอนุชา แฟร์ดีนันท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในดินแดนออสเตรียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1521 และได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์ฮังการีและโบฮีเมีย มาตั้งแต่ ค.ศ. 1526 กับพระราชโอรส พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ก่อให้เกิดการแบ่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสาขาสเปน (ปกครองคาบสมุทรไอบีเรีย เนเธอร์แลนด์ บูร์กอญ และดินแดนในอิตาลี) ซึ่งมาสิ้นสุดเชื้อสายใน ค.ศ. 1700 และสาขาออสเตรีย (ซึ่งถือครองบัลลังก์จักรวรรดิ ฮังการี โบฮีเมีย และพระราชอิสริยยศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) และมีสาขาย่อยแตกออกไปจากสาขานี้อีก ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1564 ถึง 1665 แต่หลังจากนั้นก็รวมกันเป็นรัฐร่วมประมุขภายใต้ราชวงศ์เดียว

รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คเป็นรัฐที่มีพระประมุขร่วมกัน โดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือสถาบันร่วมใด ๆ ยกเว้นราชสำนักฮาพส์บวร์คเอง โดยดินแดนทั้งนอกและในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ต่างมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน รัฐองค์ประกอบ (Composite state) กลายมาเป็นรูปแบบรัฐราชาธิปไตยที่พบได้ทั่วไปในยุโรปภาคพื้นทวีป ระหว่างสมัยใหม่ตอนต้น[4][5] การรวมดินแดนของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรรษที่ 19 โดยดินแดนต่าง ๆ ถูกรวบรวมและจัดตั้งเป็นจักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1804 ถึง 1867 และพัฒนาไปเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งดำรงอยู่สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 1918[6][7] ก่อนที่จะล่มสลายลงหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ ดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (สาขาออสเตรีย) มักจะถูกเรียกโดยนามนัยว่า "ออสเตรีย" และเมื่อถึงราว ๆ ค.ศ. 1700 ศัพท์ภาษาละติน monarchia austriaca (ราชาธิปไตยออสเตรีย) ก็ถูกนำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงดินแดนเหล่านี้[8] ภายในเขตแดนของจักรวรรดิ ดินแดนอันกว้างใหญ่นี้ประกอบไปด้วยดินแดนที่สืบทอดมาแต่เดิมก่อน ค.ศ. 1526 เรียกว่า เอิบลันท์ (Erblande) ดินแดนของราชบัลลังก์โบฮีเมีย ดินแดนเนเธอร์แลนด์ของสเปนเดิม ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งของราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คตั้งแต่ ค.ศ. 1714 ถึง 1794 ดินแดนสวามิภักดิ์ (Fief) บางส่วนในอิตาลี และนอกพรมแดนจักรวรรรดินั้นประกอบไปด้วยดินแดนทั้งหมดของราชบัลลังก์ฮังการี และดินแดนที่ได้มาจากการขับไล่จักรวรรดิออตโตมัน ศูนย์กลางของราชวงศ์อยู่ที่เวียนนา ยกเว้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1583 ถึง 1611 ซึ่งย้ายไปอยู่ที่ปราก[9]

ที่มาและการขยายดินแดน

[แก้]
ด้านหน้าเหรียญเงินซึ่งจัดทำโดย อันโทน ชาร์ฟฟ์ ใน ค.ศ. 1882 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 600 ปี ของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค

พระปฐมวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเท่าที่มีหลักฐานให้สืบค้น คือ กราฟ (เคานต์) เรดบ็อตแห่งเคล็ดเกา ซึ่งประสูติในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชื่อของราชวงศ์มีที่มาจากปราสาทฮาพส์บวร์คในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ปัจจุบัน ซึ่งกราฟเรดบ็อตทรงเป็นผู้สร้าง[10] หลังจาก ค.ศ. 1279 ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คทรงเข้ามาปกครองออสเตรีย พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี ทรงพระราชทานดัชชีออสเตรีย อันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเยอรมนี ซึ่งอยู่ภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกทอดหนึ่ง ให้แก่เหล่าพระราชโอรสในการประชุมที่เอาก์สบวร์กแห่ง ค.ศ. 1282 นำไปสู่การก่อตั้ง "ดินแดนสืบทอดออสเตรีย" (Austrian hereditary lands) นับแต่บัดนั้น ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก็ยังเป็นที่รู้จักกันในนามราชวงศ์ออสเตรีย นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง ค.ศ. 1806 อาชดยุกแห่งออสเตรียจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คยังได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ติดต่อกันอีกด้วย โดยมีการขาดช่วงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก้าวขึ้นมามีความความสำคัญต่อยุโรปด้วยผลจากพระราโชบายประจำราชวงศ์ที่ริเริ่มโดยจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับมารีแห่งบูร์กอญ ทำให้เนเธอร์แลนด์ของบูร์กอญกลายเป็นหนึ่งในราชสมบัติของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค พระราชโอรสของทั้งสอง ฟิลิปผู้หล่อเหลาทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาผู้บ้าคลั่ง (พระราชธิดาในพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนและสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา) จึงทำให้จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (พระราชโอรสในฟิลิปผู้หล่อเหลาและสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนา) ได้รับสืบทอดเนเธอร์แลนด์ของฮาพส์บวร์ค สเปนพร้อมดินแดนในปกครอง และออสเตรีย มาใน ค.ศ. 1506 1516 และ 1519 ตามลำดับ

ณ จุดนี้ จักรวรรดิฮาพส์บวร์คได้แผ่ไพศาลออกไปอย่างกว้างใหญ่จนทำให้จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ต้องเสด็จไปทั่วดินแดนในปกครองอยู่เสมอ ๆ และทำให้ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการและข้าหลวงในส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิ เช่น อีซาแบลแห่งโปรตุเกส พระมเหสีทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ในสเปน และมาร์กาเรเทอแห่งออสเตรีย พระราชปิตุจฉา (อา) เป็นข้าหลวงปกครองกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เพื่อปกครองดินแดนหลายแห่งที่อยู่ภายใต้พระองค์ จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงบรรลุข้อตกลงกับแฟร์ดีนันท์ พระราชอนุชา ณ การประชุมสภาที่เมืองวอร์มส์ ใน ค.ศ. 1521 ตาม ข้อตกลงฮาพส์บวร์ค แห่งเมืองวอร์มส์ ซึ่งได้รับการรับรองในอีกหนึ่งปีให้หลังในบรัสเซลส์ แฟร์ดีนันท์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ชดยุก ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระเชษฐาในดินแดนสืบทอดออสเตรีย[11][12]

หลังจากที่พระเจ้าลอโยชที่ 2 แห่งฮังการี เสด็จสวรรคตในยุทธการที่โมฮาช ขณะทรงต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมัน อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันท์ (ผู้อภิเษกสมรสกับพระเชษฐภคินีของพระเจ้าลอโยช ตามข้อตกลงในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาครั้งที่หนึ่ง ระหว่างจักรพรรดิมัคซีมีลีอาน พระอัยกาของอาร์ชดยุกแฟร์ดีนันท์ และพระเจ้าวลาดิสเลาส์ที่ 2 พระราชบิดาของพระเจ้าลอโยช) จึงทรงได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมียและฮังการี ใน ค.ศ. 1526[9][13] แต่โบฮีเมียและฮังการีก็ยังมิได้เป็นดินแดนที่สืบทอดกันตามราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภายหลังจากจักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 2 ทรงปราบกบฏชาวโบฮีเมียได้ในยุทธการที่ภูเขาสีขาว เมื่อ ค.ศ. 1620 พระองค์ทรงประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกาแผ่นดินฉบับปรับปรุง (Renewed Land Ordinance) ใน ค.ศ. 1627 หรือ 1628 ซึ่งทำให้ให้ราชบัลลังก์โบฮีเมียเปลี่ยนมาใช้ระบอบสืบราชสันตติวงศ์ ส่วนฮังการีนั้นเปลี่ยนมาใช้ระบอบสืบราชสันตติวงศ์เมื่อจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 1 ทรงยึดดินแดนฮังการีเกือบทั้งหมดกลับมาจากชาวออตโตมันเติร์กได้ภายหลังยุทธการที่โมฮาช (ค.ศ. 1687) และทรงจัดประชุมสภาในนครเพรสบวร์ค

แผนที่ของทวีปยุโรปตอนกลาง ใน ค.ศ. 1648:
  แสดงถึงดินแดนในปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรียในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกินอาณาบริเวณใจกลางเทือกเขาแอลป์ที่ถือกันว่าเป็น "ดินแดนสืบทอด" ของราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค

จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงแบ่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสองสาขาใน ค.ศ. 1556 ด้วยการยกออสเตรียและราชบัลลังก์จักรวรรดิให้กับพระราชอนุชา (ตามที่ตัดสินกันในการเลือกตั้งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 1531) และจักรวรรดิสเปนให้กับเฟลิเป พระราชโอรส สาขาสเปน (ปกครองเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรโปรตุเกสระหว่าง ค.ศ. 1580 ถึง 1640 และภูมิภาคเมซโซจอร์โน [ภาคใต้ของอิตาลี]) สิ้นสุดเชื้อสายลงใน ค.ศ. 1700 สาขาออสเตรีย (ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฮังการีและโบฮีเมีย) มีสาขาย่อยแตกออกไปจากสาขานี้อีก ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1564 ถึง 1665 แต่หลังจากนั้นก็รวมกันเป็นรัฐร่วมประมุขภายใต้ราชวงศ์เดียว

ชื่อ

[แก้]
  • ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน: Habsburgermonarchie) : เป็นคำนิยามอย่างกว้างที่ถูกใช้บ่อยครั้ง แต่มิใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ
  • ราชาธิปไตยออสเตรีย (ละติน: monarchia austriaca) นิยามซึ่งเริ่มนำมาใช้ประมาณ ค.ศ. 1700 เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรีย [8]
  • ราชาธิปไตยโดเนา (เยอรมัน: Donaumonarchie) ชื่อไม่เป็นทางการซึ่งใช้โดยสิ่งร่วมสมัย
  • ราชาธิปไตยคู่ (เยอรมัน: Doppel-Monarchie) หมายถึงดัชชีออสเตรียและราชอาณาจักรฮังการี สองรัฐซึ่งอยู่ภายใต้ผู้ปกครองพระองค์เดียวกัน
  • จักรวรรดิออสเตรีย (เยอรมัน: Kaisertum Österreich) ชื่ออย่างเป็นทางการของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คที่สถาปนาขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1804 ภายหลังจากสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คำว่า "จักรวรรดิ" ในที่นี้หมายถึงดินแดนที่ปกครองโดยจักรพรรดิ มิใช่ "อาณาจักรอันแพ่ไพศาล"
  • จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน: Österreich-Ungarn) รัฐซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1867–1918 เป็นชื่อที่นิยมใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้จักรวรรดิจะมีชื่อทางการว่าราชาธิปไตยออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน: Österreichisch-Ungarische Monarchie) ก็ตาม[14][15][16][17]
  • ดินแดนส่วนพระองค์ หรือ โครนลันท์เดอร์ (Kronländer) (ค.ศ. 1849–1918) เป็นชื่อเรียกดินแดนส่วนต่าง ๆ ในจักรวรรรดิออสเตรียนับตั้งแต่ ค.ศ. 1849 และของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่ ค.ศ. 1867 เป็นต้นไป ภายหลังจากการสถาปนาจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ราชอาณาจักรฮังการี (หรือเรียกอย่างเจาะจงว่า ดินแดนแห่งราชบัลลังก์ฮังการี [Lands of the Hungarian Crown]) ไม่ได้ถูกนับเป็น "ดินแดนส่วนพระองค์" อีกต่อไป ดังนั้นนิยาม "ดินแดนส่วนพระองค์" จึงกลายเป็นนิยามเดียวกับ "เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภา" (Die im Reichsrate vertretenen Königreiche und Länder) ซึ่งใช้เรียกดินแดนซิสไลทาเนีย (Cisleithania) หรือดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรียในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
  • พื้นที่ฟากฮังการีของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมีชื่อเรียกว่า "ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์อิชต์วาน" หรือ"ดินแดนแห่งพระมงกุฎเซนต์อิชต์วานอันศักดิ์สิทธิ์" (Länder der Heiligen Stephans Krone) ส่วนดินแดนโบฮีเมีย (เช็กเกีย) นั้นเรียกว่า "ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์วาสลัฟ" (Länder der Wenzels-Krone)

ชื่อของดินแดนองค์ประกอบ

  • ประเทศออสเตรียในปัจจุบันปกครองในระบอบสาธารณรัฐกึ่งสหพันธ์ ประกอบไปด้วยเก้ารัฐ (Bundesländer) ได้แก่ นีเดอร์เอิสเตอร์ไรช์ โอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ ทีโรล สตีเรีย ซัลทซ์บวร์ค คารินเทีย ฟอร์อาร์ลแบร์ค บัวร์เกินลันท์ และเวียนนา ซึ่งเป็นเมืองหลวง
  • บัวร์เกินลันท์ แยกตัวออกมาจากฮังการีและกลายเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียใน ค.ศ. 1921
  • ซัลทซ์บวร์ค กลายเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียใน ค.ศ. 1816 ภายหลังจากการสิ้นสุดสงครามนโปเลียน โดยแต่เดิมนั้นซัลทซ์บวร์คอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าชายอัครมุขนายกแห่งซัลทซ์บวร์คในฐานะดินแดนอธิปไตย
  • เวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ได้รับสถานะเป็นรัฐเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1922 เวียนนามีสถานะเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิและเมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย (Reichshaupt und Residenzstadt Wien) มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
  • ออสเตรีย ในทางประวัติศาสตร์ถูกแบ่งออกเป็น "ออสเตรียเหนือแม่น้ำเอ็นส์" (Austria above the Enns) และ "ออสเตรียใต้แม่น้ำเอ็นส์" (Austria below the Enns) (แม่น้ำเอ็นส์เป็นเส้นแบ่งระหว่างรัฐ โอแบร์- และนีเดอร์เอิสเตอร์ไรช์) พื้นที่ของรัฐโอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ขยายใหญ่ขึ้นจากการผนวกพื้นที่อินส์เวียร์เทล (Innviertel, "มุมแม่น้ำอินส์") ซึ่งแต่เดิมเป็นของไบเอิร์น ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเทเชิน (ค.ศ. 1779) ภายหลังสงครามสืบราชบัลลังก์ไบเอิร์น
  • ดินแดนสืบทอด (Erblande หรือ Erbländer โดยส่วนมากใช้คำว่า Österreichische Erblande) ดินแดนสืบทอดเยอรมัน (ในราชาธิปไตยออสเตรีย) หรือดินแดนสืบทอดออสเตรีย (สมัยกลาง – ค.ศ. 1849 หรือ 1918) ในนิยามอย่างจำกัดแล้วหมายถึงดินแดน "ดั่งเดิม" ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค หลัก ๆ แล้วคือ ออสเตรีย (Österreich) สตีเรีย (Steiermark) คารินเทีย (Kaernten) คาร์นิโอลา (Krain) ทีโรล (Tirol) และฟอร์อาร์ลแบร์ค ในนิยามอย่างกว้างดินแดนแห่งราชบัลลังก์โบฮีเมียก็ถูกนับเป็นดินแดนสืบทอด (ตั้งแต่ ค.ศ. 1526 ถูกนับรวมอย่างแน่นอนจาก ค.ศ. 1620/27 เป็นต้นไป) เช่นกัน ศัพท์ดังกล่าวถูกแทนด้วยคำว่า "ดินแดนส่วนพระองค์" (ดูด้านบน) ในรัฐธรรมนูญเดือนมีนาคม ค.ศ. 1849 แต่ศัพท์นี้ก็ยังมีการใช้หลังจากนี้เช่นกัน ดินแดนสืบทอด ยังรวมไปถึงดินแดนเล็ก ๆ ที่มีสถานะเป็นราชรัฐ ดัชชี หรือเคาน์ตี ในดินแดนส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ดินแดน

[แก้]
การขยายตัวของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คในบริเวณยุโรปตอนกลาง
รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค ณ ช่วงเวลาที่ จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1790 เส้นสีแดงเป็นเครื่องหมายแทนพรมแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ดินแดนภายใต้การการปกครองของรัฐราชาธิปไตยออสเตรียเปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ แต่แกนกลางนั้นประกอบไปด้วยดินแดนสี่ส่วนเสมอ:

พระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ในเพรสบวร์ค ราชอาณาจักรฮังการี ค.ศ. 1741
ยูโรปา เรจีนา (Europa regina) สัญลักษณ์ที่สื่อถึงทวัปยุโรปที่ถูกครอบงำโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
เหล่าทหารของเขตพรมแดนทหาร (Military Frontier) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิออตโตมัน ค.ศ. 1756

ตลอดช่วงเวลาแห่งการดำรงอยู่ของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค มีดินแดนอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรียอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (ดินแดนบางแห่งในรายชื่อด้านล่างนี้สืบทอดโดยหลักสิทธิของบุตรคนรอง [Secundogeniture] หรือก็คือถูกปกครองโดยสาขาอื่นของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่ไม่ใช่สาขาหลักนั้นเอง):

ขอบเขตของดินแดนเหล่านี้แตกต่างไปตามช่วงเวลา และบางดินแดนก็ถูกปกครองโดยสาขารอง (ผ่านทางหลักสิทธิของบุตรคนรอง) ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค สมาชิกของราชวงศ์ยังทรงถือครองพระราชอิสริยยศจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง 1740 และอีกครั้งจาก ค.ศ. 1745 ถึง 1806

ลักษณะเฉพาะ

[แก้]
ตราอาร์มของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี[18] ใช้ระหว่าง ค.ศ. 1815–1866 และ ค.ศ. 1867–1915

ภายในรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น หน่วยภาวะต่าง ๆ ถูกปกครองตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง จนถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ผู้ปกครองพระองค์เดียวกัน บ่อยครั้งที่เชื้อพระวงศ์ฮาพส์บวร์คสายรองได้ปกครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนสืบทอดในฐานะที่ดินส่วนพระองค์ (Apanages) ความพยายามรวมศูนย์อย่างจริงจังเริ่มขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา และโดยเฉพาะในรัชสมัยของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรส (ตรงกับช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18) แต่ความพยายามดังกล่าวก็ถูกละทิ้งเมื่อเกิดการต่อต้านขนาดใหญ่ต่อความพยายามปฏิรูปเชิงรุนแรงของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 กระนั้น นโยบายรวมศูนย์อย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าก็ยังคงได้รับการปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยแห่งการปฏิวัติ (Revolutionary period) และสมัยเมทเทอร์นิช ที่ตามมา

ความพยายามรวมศูนย์ครั้งใหม่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1849 ภายหลังจากการปราบปรามกระแสการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 นับเป็นครั้งแรกที่เหล่ารัฐมนตรีพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คไปเป็นรัฐที่มีระบบราชการแบบรวมศูนย์โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงเวียนนา กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้ในพื้นที่ของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มเขตทหาร (Military districts) รัฐบาลรวมศูนย์ภายใต้แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ (Neo-absolutism) พยายามทำให้รัฐธรรมนูญและสภาฮังการีมีผลเป็นโมฆะ แต่ภายหลังจากที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพ่ายแพ้ในสงครามประกาศอิสรภาพอิตาลีครั้งที่สอง และสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียใน ค.ศ. 1859 และ 1866 ตามลำดับ ทำให้นโยบายเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกยกเลิกไป

ภายหลังจากการทดลองในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1860 การประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867 อันโด่งดังจึงได้มีผลบังคับใช้ นำไปสู่การก่อตั้งรัฐราชาธิปไตยคู่ออสเตรีย-ฮังการี ในระบอบการปกครองใหม่นี้ ราชอาณาจักรฮังการี ("ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์อิชต์วาน") ถือเป็นรัฐอธิปไตยที่มีศักดิ์เท่ากับออสเตรีย โดยมีเพียงความเป็นรัฐร่วมประมุขและนโยบายการต่างประเทศและการทหารร่วมกันเท่านั้นที่คอยเชื่อมโยงฮังการีเข้ากับดินแดนอื่น ๆ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค อย่างไรก็ตาม แม้ดินแดนอื่น ๆ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (ยกเว้นฮังการี) จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า "ออสเตรีย" ก็ตาม แต่กระนั้นดินแดนเหล่านี้ก็มีรัฐสภากลาง (เรียกว่า ไรชส์ราค [Reichsrat; ราชสภา]) และคณะรัฐมนตรีเป็นของตนเอง อันจะเห็นได้จากชื่ออย่างเป็นทางการของดินแดนเหล่านี้ คือ "เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภา" ครั้นเมื่อบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาถูกผนวก (หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองและยึดครองโดยทหาร มาเป็นระยะเวลานาน) ดินแดนดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกรวมเข้ากับพื้นที่ฝั่งใดของจักรวรรดิ หากแต่ถูกปกครองโดยกระทรวงการคลังร่วมของออสเตรีย-ฮังการี

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายลงจากปัญหาทางชาติพันธุ์หลายประการที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมาถึงจุดแตกหักเมื่อจักรวรรดิพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายหลังจากจักรวรรดิถูกยุบ จึงมีการสถาปนาสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย (ในพื้นที่ของชาวออสเตรียผู้พูดภาษาเยอรมันของดินแดนสืบทอด) และสาธารณรัฐฮังการีที่หนึ่ง ขึ้นมาแทนที่ ในข้อตกลงสันติภาพที่ตามมาภายหลัง ดินแดนจำนวนหนึ่งได้ถูกยกให้กับโรมาเนีย และอิตาลี ส่วนที่เหลือของจักรวรรดิเดิมถูกแบ่งระหว่างประเทศใหม่ที่แยกตัวออกมา อันได้แก่ โปแลนด์ ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ต่อมาคือยูโกสลาเวีย) และเชโกสโลวาเกีย

สาขาอื่นของราชวงศ์

[แก้]

สาขารองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คได้ปกครองแกรนด์ดัชชีตอสคานา ตั้งแต่ ค.ศ. 1765 ถึง 1801 และอีกครั้งจาก ค.ศ. 1814 ถึง 1859 ระหว่างที่ถูกขับไล่จากตอสคานา เชื้อพระวงศ์ของสาขารองนี้ได้ปกครองซัลทซ์บวร์คตั้งแต่ ค.ศ. 1803 ถึง 1805 และแกรนด์ดัชชีเวือทซ์บวร์ค ตั้งแต่ ค.ศ. 1805 ถึง 1814 อีกสาขาหนึ่งได้ปกครองดัชชีโมเดนา ตั้งแต่ ค.ศ. 1814 ถึง 1859 จักรพรรดินีมารี หลุยส์ มเหสีพระองค์ที่สองในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย ทรงปกครองดัชชีปาร์มา ระหว่าง ค.ศ. 1814 ถึง 1847 นอกจากนี้ ประเทศเม็กซิโกยังเคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คระหว่าง ค.ศ. 1863 ถึง 1867 โดยมีจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 พระราชอนุชาในจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย เป็นพระประมุข

รายพระนามผู้ปกครอง (ค.ศ. 1508–1918)

[แก้]

ผู้ปกครองที่มักถูกเรียกว่า "พระมหากษัตริย์ฮาพส์บวร์ค" หรือ "จักรพรรดิฮาพส์บวร์ค" ถือครองพระราชอิสริยยศมากมาย และปกครองดินแดนต่าง ๆ โดยมีการเรียกขานพระนามและอิสริยยศต่างกันไป

จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระมเหสี อินฟันตามารีอาแห่งสเปน พร้อมพระราชโอรสธิดา
พระราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิออสเตรีย สร้างขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-โลทริงเงิน

[แก้]

พระราชพงศวลี

[แก้]

ในงานเขียน

[แก้]

บันทึกความทรงจำที่มีชื่อเสียงที่สุดเกี่ยวกับความเสี่อมสลายของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค คือ ดีเวิรท์ฟ็อนเกสเทิร์น (Die Welt von Gestern) ของสเตฟาน ชไวท์[19]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. พระประมุขพระองค์แรกของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คในฐานะพระมหากษัตริย์เยอรมนี
  2. ผู้ปกครองจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพระองค์แรกที่ใช้พระราชอิสริยยศว่าอาร์ชดยุก
  3. จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์แรกจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
  4. ผู้ปกครองจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพระองค์สุดท้ายที่ได้ปกครองทั้งฝั่งสเปนและออสเตรีย
  5. ผู้ปกครองพระองค์แรกจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค สาขาออสเตรีย
  6. ผู้ปกครองพระองค์สุดท้ายจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค สาขาออสเตรียสายตรง
  7. ต้นราชสกุลฮาพส์บวร์ค–โลทริงเงิน
  8. จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์สุดท้าย และปฐมจักรพรรดิแห่งออสเตรีย
  9. ผู้ปกครองพระองค์สุดท้ายจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

รายการอ้างอิง

[แก้]
  1. Beham, Markus Peter (2013). Transgressing Boundaries. LIT Verlag Münster. p. 254. ISBN 9783643904102.
  2. Taylor, Charles (2014). Boundaries of Toleration. Columbia University Press. p. 220. ISBN 9780231165679.
  3. "Smoldering Embers: Czech-German Cultural Competition, 1848–1948" by C. Brandon Hone. Utah State University.
  4. Robert I. Frost (2018). The Oxford History of Poland-Lithuania: Volume I: The Making of the Polish-Lithuanian Union, 1385–1569, Oxford History of Early Modern Europe. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 40. ISBN 9780192568144.
  5. John Elliot (1992). The Old World and The New 1492-1650. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 50. ISBN 9780521427098.
  6. Vienna website; "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-23. สืบค้นเมื่อ 2011-09-11.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  7. Encyclopædia Britannica online article Austria-Hungary; http://www.britannica.com/EBchecked/topic/44386/Austria-Hungary
  8. 8.0 8.1 Hochedlinger 2013, p. 9.
  9. 9.0 9.1 "Czech Republic – Historic Centre of Prague (1992)" Heindorffhus, August 2007, HeindorffHus-Czech เก็บถาวร 2007-03-20 ที่ archive.today.
  10. Rady 2020, pp. 12, 14–5
  11. Kanski, Jack J. (2019). History of the German speaking nations (ภาษาอังกฤษ). ISBN 9781789017182.
  12. Pavlac, Brian A.; Lott, Elizabeth S. (30 June 2019). The Holy Roman Empire: A Historical Encyclopedia [2 volumes]. ISBN 9781440848568.
  13. "Ferdinand I". Encyclopædia Britannica.
  14. Kotulla 2008, p. 485.
  15. Simon Adams (30 July 2005). The Balkans. Black Rabbit Books. pp. 1974–. ISBN 978-1-58340-603-8.
  16. Scott Lackey (30 October 1995). The Rebirth of the Habsburg Army: Friedrich Beck and the Rise of the General Staff. ABC-CLIO. pp. 166–. ISBN 978-0-313-03131-1.
  17. Carl Cavanagh Hodge (2008). Encyclopedia of the Age of Imperialism, 1800-1914: A-K. Greenwood Publishing Group. pp. 59–. ISBN 978-0-313-33406-1.
  18. ฮูโก แกร์ฮาร์ท สเตรอล (ค.ศ. 1851–1919): Oesterreichisch-Ungarische Wappenrolle
  19. Giorgio Manacorda (2010) Nota bibliografica อ้างใน Joseph Roth La Marcia di Radetzky, Newton Classici

    Stefan Zweig, l'autore del più famoso libro sull'Impero asburgico, Die Welt von Gestern

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Hochedlinger, Michael (2013) [2003]. Austria's Wars of Emergence, 1683–1797. Abingdon: Routledge. ISBN 978-0-582-29084-6.
  • Kotulla, Michael (2008). Deutsche Verfassungsgeschichte: Vom Alten Reich bis Weimar (1495–1934). Berlin: Springer. ISBN 978-3-540-48705-0.
  • Rady, Martyn (2020). The Habsburgs: The Rise and Fall of a World Power. London: Allen Lane. ISBN 978-0-241-33262-7.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Bérenger, Jean. A History of the Habsburg Empire, 1273–1700 (Routledge, 2013)
  • Bérenger, Jean. A History of the Habsburg Empire, 1700–1918 (Routledge, 2014)
  • Evans, Robert John Weston. The Making of the Habsburg Monarchy, 1550–1700: An Interpretation (Oxford University Press, 1979) ISBN 0-19-873085-3
  • Evans, R. J. W. "Remembering the Fall of the Habsburg Monarchy One Hundred Years on: Three Master Interpretations" Austrian History Yearbook (May 2020) Vol. 51, pp 269–291; historiography
  • Fichtner, Paula Sutter. The Habsburg Monarchy, 1490–1848: Attributes of Empire (Palgrave Macmillan, 2003)
  • Henderson, Nicholas. "Joseph II" History Today (Sept 1955) 5#9 pp 613–621.
  • Ingrao, Charles. The Habsburg Monarchy, 1618–1815 (2000)
  • Ingrao, Charles. In Quest and Crisis: Emperor Joseph I and the Habsburg Monarchy (1979)
  • Judson, Pieter M. The Habsburg Empire: A New History (2016)
  • Kann, Robert A. A History of the Habsburg Empire: 1526–1918 (University of California Press, 1974)
  • Lieven, Dominic. Empire: The Russian empire and its rivals (Yale University Press, 2002), comparisons with Russian, British, & Ottoman empires.
  • Macartney, Carlile Aylmer The Habsburg Empire, 1790–1918, New York, Macmillan 1969
  • McCagg, Jr., William O. A History of the Habsburg Jews, 1670–1918 (Indiana University Press, 1989)
  • Mitchell, A. Wess. The Grand Strategy of the Habsburg Empire (Princeton University Press, 2018)
  • Oakes, Elizabeth and Eric Roman. Austria-Hungary and the Successor States: A Reference Guide from the Renaissance to the Present (2003)
  • Sked, Alan The Decline and Fall of the Habsburg Empire, 1815–1918 (London: Longman, 1989)
  • Stone, Norman. "The Last Days of the Habsburg Monarchy," History Today (Aug 1968), Vol. 18 Issue 8, pp 551–560; online
  • Steed, Henry Wickham; และคณะ (1914). A short history of Austria-Hungary and Poland. Encyclopaedia Britannica Company. p. 145.
  • Taylor, A. J. P. The Habsburg monarchy, 1809–1918: a history of the Austrian Empire and Austria-Hungary, (London: Penguin Books. 2nd ed. 1964)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]