ข้ามไปเนื้อหา

อัครทูตสวรรค์มีคาเอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มีคาเอล
ภาพมีคาเอลในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์
อัครทูตสวรรค์
นิกายออร์ทอดอกซ์
โรมันคาทอลิก
แองกลิคัน
สัญลักษณ์ทูตสวรรค์เหยียบมังกร
ทูตสวรรค์ถือคันธง
ทูตสวรรค์หิ้วคันชั่งและถือดาบ
องค์อุปถัมภ์ผู้พิทักษ์แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก
ผู้พิทักษ์แห่งนครวาติกัน
ผู้ปกปักษ์ชนชาวยิว

อัครทูตสวรรค์มีคาเอล[1] (กรีก: Αρχάγγελος Μιχαήλ) หรือ มีคาเอลหัวหน้าทูตสวรรค์[2] (อังกฤษ: Michael the archangel) เป็นอัครทูตสวรรค์องค์หนึ่งตามความเชื่อในศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้บัญชาการกองทัพของพระเป็นเจ้า ในหนังสือดาเนียล[3] จดหมายของนักบุญยูดา[4] และหนังสือวิวรณ์กล่าวว่าท่านเป็นผู้นำกองทัพพระเจ้าต่อสู้กับทัพของซาตานตอนที่ซาตานก่อกบฏ[5] หนังสือดาเนียลระบุว่ามีคาเอลเป็นเจ้าผู้พิทักษ์ชั้นหัวหน้า[3] ซึ่งปรากฏในนิมิตของดาเนียลผู้เผยพระวจนะว่าได้เข้าไปช่วยกาเบรียลต่อสู้กับทูตสวรรค์ผู้พิทักษ์จักรวรรดิเปอร์เซียที่มีนามว่าโดเบียล นอกจากนี้คัมภีร์ยังระบุว่าท่านเป็นองค์อุปถัมภ์วงศ์วานอิสราเอลและเจ้าผู้พิทักษ์ชั้นหัวหน้าผู้ปกป้องลูกหลานประชาชนของดาเนียล[6]

ในภาษาฮีบรู คำว่า มีคาเอล (Michael) แปลว่า "ผู้เหมือนพระเจ้า" (mi ผู้ใด, ke คือ/เป็น, El-พระเจ้า) ซึ่งมาจากสำนวนคำถามในคัมภีร์ทาลมุดที่ว่า “ผู้ใดจะเหมือนพระเจ้า?” (ตัวคำถามสื่อคำตอบในทางปฏิเสธว่าไม่มี) เพื่อที่จะบอกว่าไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระเจ้า มีคาเอลจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของความถ่อมตนต่อพระเจ้า[7]

ชาวโรมันคาทอลิก แองกลิคัน และลูเทอแรน เรียกท่านว่า”นักบุญมีคาเอลอัครทูตสวรรค์” หรือเรียกง่าย ๆ ว่านักบุญมีคาเอล ชาวออร์ทอดอกซ์เรียกท่านว่า “ทักสิอาร์คอัครทูตสวรรค์มีคาเอล” หรืออัครทูตสวรรค์มีคาเอล[8] กลุ่มพยานพระยะโฮวา เซเวนเดย์แอดเวนทิสต์ และนิกายใหม่ ๆ บางนิกายในคริสต์ศาสนามองว่ามีคาเอลคือ “พระคริสต์มีคาเอล” ซึ่งหมายถึงพระคริสต์ในสภาพก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์[9][10][11] ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสอนว่ามีคาเอลที่จริงก็คืออาดัมตามหนังสือปฐมกาลนั่นเองที่ไปเกิดบนสวรรค์[12] และว่ามีคาเอลคือผู้ช่วยพระเยโฮวาห์ (ซึ่งอ้างว่าคือพระเยซูตอนอยู่บนสวรรค์) สร้างโลกตามการชี้นำของพระเจ้า[13]

จารึกในพระคัมภีร์

[แก้]

พันธสัญญาใหม่

[แก้]
มีคาเอลปราบซาตาน ภาพในกรุงโรม

หนังสือวิวรณ์ (12:7) ได้อธิบายสงครามบนสวรรค์ ที่มีคาเอลนั้นมีกำลังเหนือกว่าและสามารถเอาชนะซาตาน[14][15]

สงครามเกิดขึ้นในสวรรค์ มีคาเอลกับเหล่าทูตสวรรค์ของเขาต่อสู้กับมังกร มังกรพร้อมกับบริวารของมันก็ต่อสู้ด้วย แต่มันพ่ายแพ้และไม่มีที่พำนักในสวรรค์อีกต่อไป

หลังสงครามบนสวรรค์สิ้นสุดลง ซาตานถูกขับไล่ลงไปยังแผ่นดินโลกพร้อมกับเหล่าเทวดาตกสวรรค์ ซึ่งที่แผ่นดินโลกนั้นเอง ซาตานก็ยังพยายามชักจูงเหล่ามนุษย์ให้หลงผิด แต่ในจดหมายของนักบุญยูดา (1:9) มีคาเอลได้ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในฐานะ "อัครทูตสวรรค์" เมื่อเผชิญหน้ากับซาตาน[1][16]

เมื่อโต้เถียงกับปีศาจเรื่องศพของโมเสส อัครทูตสวรรค์มีคาเอล ยังไม่กล้าพูดดูหมิ่นปีศาจ ท่านเพียงแต่พูดว่า "ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวโทษเจ้าเถิด"

คำว่า "อัครทูตสวรรค์" ยังปรากฏในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 (4:16 ) ว่า:[17]

เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ตามพระบัญชา เมื่อมีเสียงหัวหน้าทูตสวรรค์และเสียงแตรของพระเจ้า

นอกจากนี้ อัครทูตสวรรค์ผู้ป่าวประกาศเรื่องการมาครั้งที่สองของพระคริสต์ไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้[16] แต่เชื่อกันว่าอาจเป็นมีคาเอล[18]

ศาสนาคริสต์

[แก้]

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่ามีคาเอลเป็นผู้นำกองทัพสวรรค์ต่อสู้กับพวกลูซิเฟอร์ซึ่งเป็นทูตสวรรค์ที่กบฏต่อพระเจ้า จนขับไล่พวกซาตานลงสู่นรกได้สำเร็จ พระเจ้าจึงแต่งตั้งท่านเป็นอัศวินแห่งกองทัพสวรรค์ ชาวคาทอลิกได้ยกย่องท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์คริสตจักรโรมันคาทอลิก[19]

ศาสนาอิสลาม

[แก้]

ชาวมุสลิมเรียกอัครทูตสวรรค์มีคาเอลว่ามีกาอีล ถือว่าเป็นมะลักองค์หนึ่ง ทำหน้าที่ควบคุมระบบสุริยะ และนำปัจจัยยังชีพ (ริชกี) มาให้แก่บรรดามัคลูกทั้งหลาย[20]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์, หน้า 2428
  2. ยูดา 1:9, พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน
  3. 3.0 3.1 Daniel 10:13
  4. Jude 1:9
  5. Revelation 12:7
  6. Daniel 10:21, 12:1
  7. Studies in Revelation by Hampton J. Keathley, 3rd, J. Hampton Keathley III 1997 ISBN 0-7375-0008-5 page 209 [1]
  8. "CTRforChristCon.org". CTRforChristCon.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-06. สืบค้นเมื่อ 2010-07-21.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-05.
  10. http://www.truthorfables.com/Is_Michael_Christ.htm
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-07. สืบค้นเมื่อ 2011-10-05.
  12. http://lds.org/scriptures/dc-testament/dc/27.11?lang=eng#10
  13. Millet, Robert L. (1998), "The Man Adam", Liahona {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  14. พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์, หน้า 2448
  15. Revelation 12-22 by John MacArthur 2000 ISBN 0-8024-0774-9 pages 13-14
  16. 16.0 16.1 The encyclopedia of angels by Rosemary Guiley 2004 ISBN 0-8160-5023-6 page 49
  17. พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์, หน้า 2344
  18. "John A. Lees, "Michael" in James Orr (editor), ''The International Standard Bible Encyclopedia''(Eerdmans 1939)". Internationalstandardbible.com. 2007-07-06. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.
  19. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ บทความ:อัครเทวดา
  20. "มะลาอิกะฮฺ บรรดาบ่าวของอัลลอฮฺผู้สัตย์ซื่อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-05.
บรรณานุกรม
  • พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์, 2014. 2495 หน้า. ISBN 978-616-361-361-5