ข้ามไปเนื้อหา

เขื่อนเจ้าพระยา

พิกัด: 15°09′29″N 100°10′48″E / 15.158°N 100.180°E / 15.158; 100.180
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนเจ้าพระยา
แผนที่
ชื่อทางการเขื่อนเจ้าพระยา
ที่ตั้งตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2495
เปิดดำเนินการ7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
ผู้ดำเนินการกรมชลประทาน
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา
ความสูง16.5 เมตร
ความยาว237.5 เมตร

เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 4 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[1]

เขื่อนเจ้าพระยามีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร ติดตั้งบานประตูเหล็กรูปโค้งสูง 7.50 เมตร มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง ประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวากว้าง 14 เมตร ยาว 170.50 เมตร เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บนสันเขื่อนมีสะพานกว้าง 7 เมตร รับรถน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน และมีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินสร้างบนคันกั้นน้ำซ้ายมือเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย อัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนสูงสุดประมาณ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่การปล่อยน้ำจะควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อมิให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพมหานคร[2]

ทัศนียภาพรอบเขื่อนสวยงาม ช่วงเดือนมกราคมในบริเวณแม่น้ำเหนือเขื่อนจะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นมาอาศัยหากิน เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย ส่งน้ำไปในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลางเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 5 สาย คือ แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา และยังใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับจ่ายในจังหวัด

ประวัติ

[แก้]

โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยลงมาตั้งแต่ชัยนาทถึงอ่าวไทย เดิมการเพาะปลูกในเขตพื้นที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีที่ฝนแล้งเกษตรกรในอดีตจึงได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ

พ.ศ. 2445 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดา เสนอให้สร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท แต่ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณบำรุงประเทศในทางอื่นก่อน แผนการก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่จึงต้องระงับไว้ก่อน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดภาวะฝนแล้ง 2-3 ปีติดต่อกัน ครั้นถึงปี พ.ศ. 2456 เซอร์ ทอมมัส เวอร์ด ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ ได้เสนอให้ก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ขึ้น แต่เวลานั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่จึงต้องระงับอีกเป็นครั้งที่สอง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปี พ.ศ. 2491 ขณะที่หลายประเทศประสบภาวะขาดแคลนอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้พิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการเจ้าพระยาใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เดือนตุลาคมปีนั้นกรมชลประทานจึงได้เสนอโครงการต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบตามที่เสนอ ประกอบกับในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลก จึงขอกู้เงินเพื่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 เป็นเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมชลประทานได้เริ่มเตรียมงานเบื้องต้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 และเริ่มงานก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกับระบบส่งน้ำในปี พ.ศ. 2495 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 ช่วงระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2498 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่เขื่อนเจ้าพระยาได้ก่อสร้างและทำหน้าที่ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยามาครบ 50 ปี ทางกรมชลประทานจึงได้จัดงานขึ้นบริเวณเขื่อนเจ้าพระยาระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 โดยใช้ชื่องานว่า "80 พรรษามหาราช ตามรอยพระบาทยาตรา เขื่อนเจ้าพระยา 50 ปี" เนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยมีนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-21. สืบค้นเมื่อ 2019-08-05.
  2. https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2552&Itemid=117

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

15°09′29″N 100°10′48″E / 15.158°N 100.180°E / 15.158; 100.180

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานชัยนาท
เขื่อนเจ้าพระยา
ท้ายน้ำ
สะพานสรรพยา