เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ | |
---|---|
ดารามหาจักรีบรมราชวงศ์ | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย | |
อักษรย่อ | ม.จ.ก. |
ประเภท | สายสะพายและดารา (ชั้นเดียว) |
วันสถาปนา | พ.ศ. 2425 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรไทย |
ราชวงศ์ | จักรี |
ภาษิต | บาลี: ติรตเนสกรัฏ์เฐจ สัม์พํเสจมมายนํ สกราโชชุจิต์ตัญ์จ สกรัฏ์ฐภิวัฑ์ฒนํ (ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง) |
จำนวนสำรับ | 25 สำรับ (ไม่รวมสำหรับพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศ) |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระบรมราชินี, พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรส, ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ |
มอบเพื่อ | เชิดชูพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแด่พระราชวงศ์ผู้สืบเชื้อสายโดยตรง, การเจริญสันถวไมตรีกับต่างประเทศ |
สถานะ | ยังพระราชทานอยู่ |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 6 เมษายน พ.ศ. 2425 |
รายล่าสุด | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 |
ทั้งหมด | 232 ราย |
ได้รับหลังถึงแก่กรรม | 2 ราย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ |
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (อังกฤษ: The Most Illustrious Order of the Royal House of Chakri) มีอักษรย่อว่า ม.จ.ก. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี[1] ซึ่งพระมหากษัตริย์จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรส นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศด้วย[2]
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงสุด ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์[3] ปัจจุบัน มหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่สอง รองจากราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่ประมุขของต่างประเทศเท่านั้น[4]
ประวัติ
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2425 ในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานนามเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ว่า "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" หรือเรียกอย่างย่อว่า "ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์นี้ มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสิ้น 71 สำรับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
- ฝ่ายหน้า ผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า มหาสวามิศราธิบดี (พระมหากษัตริย์ หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า เรียกว่า คณาภยันดร และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภราดร โดยสามารถใช้อักษรย่อ ภ.จ.ก. เขียนท้ายพระนาม เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายหน้า รวมทั้งสิ้น 42 สำรับ
- ฝ่ายใน ซึ่งผู้เป็นใหญ่แห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า มหาสวามินี (สมเด็จพระบรมราชเทวี) คณะผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เรียกว่า คณาภยันดรี และผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ภคินี โดยสามารถใช้อักษรย่อ ภ.จ.ก. เขียนท้ายพระนาม เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน รวมทั้งสิ้น 29 สำรับ
นอกจากนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ยังสามารถพระราชทานแก่พระประมุขของต่างประเทศ เรียกว่า กิตติมศักดิ์คณาภยันดร โดยนับแยกจำนวนจากสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์[1]
อนึ่งตามพระราชบัญญติเครื่องราชอิสริยภรณ์มีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้กำหนดให้มีเจ้าพนักงานสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จำนวน 3 ตำแหน่งคือ ลัญจกราภิบาล, เลขานุการ และ มุรทานุการ
- ลัญจกราภิบาล - มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกรสำหรับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และเป็นผู้ประทับพระราชลัญจกรในพระราชบัญญัติ ประกาศนียบัตรตราตั้ง หนังสือสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งมีหน้าที่เชิญเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในการพระราชทาน และสนองพระบรมราชโองการในการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องยศเป็นตราลัญจกรห้อยมงกุฎ สวมสายสร้อยทองคำลงยา โดยมี เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นลัญจกราภิบาล เพียงท่านเดียว
- เลขานุการ - มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยลัญจกราภิบาลในการหนังสือต่าง อ่านประกาศพระบรมราชโองการเมื่อพระราชทาน เรียกคืนเครื่องราชขัตตยิราชอิสริยาภรณ์ ทำบัญชีผู้ได้รับพระราชทาน และจดบันทึกคุณความดีของผู้ได้รับพระราชทาน มีเครื่องยศเป็นรูปจักรี ตรงช่องกรี (ตรี) มีรูปปากไก่ไขว้กันมีรูปปทุมอุณาโลมลงยาราชาวดีด้านบน ห้อยผ้าสีเหลืองสำหรับสวม โดยมีหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล เป็นเลขานุการ เพียงพระองค์เดียว
- มุทรานุการ - มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานสำหรับตราอาร์มาหรับนำไปประดับที่พระเก้าอี้ ซึ่งเชิญออกเมื่อมีการประชุมแต่งตั้งคณาภยันดรใหม่ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทั้งเป็นผู้ทำบาญชีตระกูลวงศ์ของคณาภยันดร เรียกว่า ”วงษานุจริต” และรับราชการต่าง ๆ ตามแต่มหาสวามิศราธิบดีและมหาสวามินีจะรับสั่ง มีเครื่องยศเป็นรูปจักรีไขว้กัน กลางจักรหว่างตรีข้างขวา มีตราอาร์มแผ่นดิน มีรูปไอยราพต ช้างเผือก และกฤช (กริช) ข้างซ้ายเป็นรูปปทุมอุณาโลมเปล่งรัศมี ในวงกลางดวงตราลงยาราชาวดี มีพระมหามงกุฎด้านบน ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองกว้างสองนิ้วสำหรับสวม โดยมีพระยาบำเรอภักดิ์(กร กรสูต) เป็นมุทรานุการ แต่เพียงท่านเดียว
หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีการตราพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ขึ้นใหม่ โดยลดจำนวนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์เหลือ 25 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สมเด็จพระบรมราชินี 1 และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ 23 สำรับ รวมทั้ง ยกเลิกตำแหน่งต่าง ๆ เช่น มหาสวามิศราธิบดี มหาสวามินี ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พ.ศ. 2484 นี้ เป็นพระราชบัญญัติของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน[2]
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงสุด ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[3] ปัจจุบัน มหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่สอง รองจากราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่ประมุขของต่างประเทศเท่านั้น แต่เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ยังจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่พระราชวงศ์จะได้รับพระราชทาน[4]
องค์ประกอบของ ม.จ.ก
[แก้]เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ออกแบบโดยเสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย[5] มีชั้นสายสะพายเพียงชั้นเดียว แบ่งออกเป็นฝ่ายหน้า (บุรุษ) และ ฝ่ายใน (สตรี) สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีนั้น จะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานแก่ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน แต่ตรามหาจักรี สายสร้อย และดาราจักรีนั้นจะประดับเพชรทั้งหมด ม.จ.ก. 1 สำรับ ประกอบด้วย[2]
-
ตรามหาจักรี -
ตราจุลจักรี -
เลขานุการ, ลัญจกราภิบาล, มุทรานุการ
-
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
ตรามหาจักรี
[แก้]ตรามหาจักรี ด้านหน้าเป็นรูปจักร 8 กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงินระหว่างกลีบจักร กลางวงจักรเป็นรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชร พื้นลงยาสีฟ้า ขอบลงยาสีแดง มีอักษรทองเป็นคาถาภาษิตภาษาบาลีว่า "ติรตเนสกรัฏ์เฐจ สัม์พํเสจมมายนํ สกราโชชุจิต์ตัญ์จ สกรัฏ์ฐภิวัฑ์ฒนํ" สามารถถอดเป็นรูปการเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทยแบบปัจจุบัน ดังนี้ "ติรตเน สกรฏฺเฐ จ สมฺพํเส จ มมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐภิวฑฺฒนํ" ซึ่งแปลว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง"[6] รอบขอบเป็นมาลัยชัยพฤกษ์ ใบลงยาสีเขียว ดอกลงยาสีชมพูใต้พวงมาลัยเป็นแพรแถมลงยาสีชมพู มีอักษรย่อเป็นภาษิตของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ว่า ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ย่อมาจาก "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" ซึ่งปรากฏเป็นภาษิตของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าด้วย[6]
เบื้องบนมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ป.ร.ร. 4 ไขว้กัน โดยย่อมาจากคำว่า "บรมราชาธิราชรามาธิบดีที่ 4" อันหมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์[6] และมีพระมหามงกุฎทองรัศมีเงิน ด้านหลังเป็นรูปครุฑ ปราสาท มหามงกุฏ และจุลมงกุฏทำด้วยทอง พื้นลงยาสีเขียว ขอบรอบลงยาสีแดง และมีอักษรทองว่า "ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔" และ “ปฐมรัชกาลเป็นปีที่ครบร้อย” โดยตรามหาจักรีสำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีดวงตราจะประดับเพชรทั้งดวง
ตราจุลจักรี
[แก้]ตราจุลจักรี เป็นรูปจักรและตรีศูลขัดกัน เบื้องบนเป็นเครื่องอัษฎาวุธ อันประกอบด้วย พระแสงหอกเพชรรัตน์, พระแสงดาบเชลย, พระแสงตรี, พระแสงจักร, พระแสงดาบและเขน หรือ ดาบและโล่, พระแสงธนู, พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย, พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง[7] และเครื่องพิชัยสงครามไขว้กัน ทำด้วยทองและมีคาถาภาษิตในวงจักรอย่างเดียวกับตรามหาจักรี โดยตราจุลจักรีสำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า
ดาราจักรี
[แก้]ดาราจักรี เป็นรูปจักร 10 กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงินและรัศมีเปลวสีเงินสลับกันไปรอบกลีบจักร กลางดาราเป็นรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชรขอบลงยา และมีคาถาภาษิตเช่นเดียวกับตรามหาจักรีเว้นแต่ไม่มีพวงมาลัย ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย โดยดาราจักรีสำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า
หมายเหตุ: สำหรับพระมหากษัตริย์, พระราชินี หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ดาราจะประดับเพชรทั้งดวง
สายสร้อยและแพรแถบ
[แก้]สายสร้อยเป็นรูปอุณาโลมลงยา กลางอุณาโลมประดับเพชร สลับกันไปกับจักรีแฝดลงยา มีสร้อยทองยึดตลอด ยาว 55 เซนติเมตร ไว้สำหรับห้อยกับตรามหาจักรี ส่วนแพรแถบนั้น มีลักษณะสีเหลือง มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สำหรับฝ่ายหน้าและกว้าง 7.5 เซนติเมตร สำหรับฝ่ายใน โดยให้สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา พร้อมทั้งห้อยด้วยตราจุลจักรี
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีลักษณะเป็นรูปปทุมอุณาโลมเพชรสร่งเงิน และเครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[8] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากกระเป๋าเสื้อ ส่วนสตรีนั้น มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย[9]
พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ขึ้นสำหรับประทับข้อพระราชบัญญัติ คำประกาศ ตราตั้งคำสั่ง และหนังสือสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์[1] โดยมีลักษณะดังนี้
พระราชลัญจกรเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.7 เซนติเมตร สูง 11.3 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปจักรและตรีไขว้กัน ตรงกลางจักรบริเวณด้านซ้ายของตรีนั้น เป็นรูปประทุมอุณาโลมมีรัศมี (พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1) ส่วนด้านขวานั้น ประกอบด้วย รูปครุฑ (พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 2) , ปราสาท (พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 3) มหามงกุฎ (พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4) และจุลมงกุฎ (พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5)
บริเวณขอบจักรนั้นมีอักษรเป็นคาถาภาษิตสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ "ติรตเนสกรฏฺเฐจ สมฺพํเสจมมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐาภิวัฑฺฒนํ" ซึ่งแปลว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง"[6] ส่วนขอบรอบดวงตรานั้นจารึกว่า "พระราชลัญจกร สำหรับเครื่องขัตติยราชอิสริยยศ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง ตรามหาจักรีบรมราชวงษ"
ในปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนการประทับพระราชลัญจกรลงในใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน[10]
การพระราชทาน
[แก้]เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ได้
ปัจจุบัน เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มีจำนวน 25 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สำรับ สมเด็จพระบรมราชินี 1 สำรับ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรสด้วยอีก 23 สำหรับ นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศซึ่งไม่นับรวมใน 25 สำรับอีกด้วย[2]
ผู้ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก. จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับ ม.จ.ก. สิ้นพระชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์คืนภายใน 30 วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ หรือในกรณีที่ทรงเรียก ม.จ.ก. คืนจากผู้ได้รับพระราชทานนั้น ถ้าผู้รับพระราชทานไม่สามารถส่งคืนได้ ต้องใช้ราคาเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นั้น[2]
ผู้ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก.
[แก้]ปัจจุบัน มีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังต่อไปนี้
พระราชวงศ์ไทยที่ยังทรงพระชนม์อยู่
[แก้]- พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
พระราชวงศ์ต่างประเทศที่ยังทรงพระชนม์อยู่
[แก้]- สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ
- สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ
- สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน
- สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน
- สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
- สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์
- สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ เเห่ง เนเธอร์แลนด์
- จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์, เล่ม ๑๑, ตอน ๑๔, ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๑๐๗
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องขัดติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรื่องยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๔๑
- ↑ 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติและระเบียบการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, เล่ม ๕๙, ตอน ๒ก, ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕, หน้า ๑๗๔
- ↑ 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, พ.ศ. 2546, ISBN 974-7771-17-9
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 หนังสือประวัติกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและความรู้เกี่ยวด้วยพระราชลัญจกรกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2494, หน้า 83
- ↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คำค้น "อัษฎาวุธ", เข้าถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
- ↑ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. พระราชลัญจกร. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,, พ.ศ. 2538. 200 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7771-63-2
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เก็บถาวร 2006-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี