เจ้าชายมัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน
เจ้าชายมัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน | |
---|---|
Prinz Maximilian von Baden | |
นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิเยอรมัน มุขมนตรีราชอาณาจักรปรัสเซีย | |
ดำรงตำแหน่ง 3 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 1918 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 |
ก่อนหน้า | เกออร์ค ฟ็อน แฮร์ทลิง |
ถัดไป | ฟรีดริช เอเบิร์ท |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปรัสเซีย | |
ดำรงตำแหน่ง 3 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 1918 | |
ก่อนหน้า | เกออร์ค ฟ็อน แฮร์ทลิง |
ถัดไป | ไม่มี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | มัคซีมีลีอาน อเล็กซานเดอร์ ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 บาเดิน-บาเดิน แกรนด์ดัชชีบาเดิน จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929 ค็อนชตันทซ์ สาธารณรัฐไวมาร์ | (62 ปี)
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พรรคการเมือง | ไม่มี |
คู่สมรส | เจ้าหญิงมารีอา ลูอีเซอ แห่งฮันโนเฟอร์ |
บุตร | เจ้าหญิงมารี อเล็กซานดราแห่งบาเดิน เบร็คโทลด์ มาร์คกราฟแห่งบาเดิน |
บุพการี |
|
มัคซีมีลีอาน อเล็กซานเดอร์ ฟรีดริช เจ้าชายและมาร์คกราฟแห่งบาเดิน (เยอรมัน: Maximilian Alexander Friedrich Prinz und Markgraf von Baden) บ้างเรียก มัค ฟ็อน บาเดิน (Max von Baden) เป็นนักการเมืองเยอรมันและเจ้าชายจากแคว้นบาเดิน เขาเป็นทายาทผู้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ดยุกแห่งบาเดิน เขาได้ดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิเยอรมันคนสุดท้ายในปี 1918 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบอบสาธารณรัฐ
ประวัติ
[แก้]เจ้าชายมัคซีมีลีอานประสูติที่นครบาเดิน-บาเดิน เป็นโอรสของเจ้าชายวิลเฮล์ม มัค (โอรสองค์ที่สามของเลโอพ็อลด์ แกรนดยุกแห่งบาเดิน) กับเจ้าหญิงมารีอา มัคซีมีลีอานอฟนา แห่งล็อยช์เทินแบร์ค (หลานปู่ของเออแฌน เดอ โบอาร์แน) เจ้าชายมัคซีมีลีอานมีหน้าตาคล้ายคลึงกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง
เจ้าชายมัคซีมีลีอานเคยเป็นผู้รักร่วมเพศ และมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลอาชญากรรมของตำรวจเบอร์ลิน แต่แล้วในปี 1900 พระองค์ก็ตัดสินใจด้วยเหตุผลทางขัตติยวงศ์ ทำการสมรสกับเจ้าหญิงมารีอา ลูอีเซอ แห่งฮันโนเฟอร์[1]
งานการเมือง
[แก้]ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 ประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐได้ออกหลักการสิบสี่ข้อ อันเป็นเงื่อนไขที่เยอรมนีควรตอบสนองหากต้องการเปิดการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่อเจ้าชายแห่งบาเดินขึ้นเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิ ก็ทรงเปิดทางให้นักการเมืองจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงต่อสหรัฐว่าเยอรมนีเปลี่ยนจากรัฐบาลในระบอบจักรพรรดิมาเป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาแล้ว และเรียกร้องการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐยังไม่ยอมรับการหยุดยิง โดยส่งสัญญาณเป็นนัยมาต่อเจ้าชายมัคซีมีลีอาน ว่าสหรัฐจะเข้าสู่การเจรจาต่อเมื่อไคเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 สละราชสมบัติ
เมื่อได้รับแรงกดดันดังกล่าวจากสหรัฐ เจ้าชายมัคซีมีลีอานจึงโน้มน้าวให้ไคเซอร์ทรงสละราชสมบัติ ไคเซอร์ยินยอมสละราชสมบัติจักรพรรดิเยอรมัน เนื่องจากทรงเข้าพระทัยผิดคิดว่า พระองค์จะยังคงเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซียต่อไป แต่แล้ว เจ้าชายแห่งบาเดินก็กราบทูลให้ทรงทราบว่าตามธรรมนูญจักรวรรดิ ตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันกับตำแหน่งกษัตริย์แห่งปรัสเซียเป็นหนึ่งเดียวกัน จะแยกจากกันมิได้ เมื่อไคเซอร์ได้ยินดังนั้นก็เปลี่ยนพระทัย ยังไม่ยอมสละราชสมบัติ
ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1918 เจ้าชายมัคซีมีลีอานหารือกับนักการเมืองพรรคสังคมประชาธิปไตย ว่าจะเดินทางไปเกลี้ยกล่อมให้ไคเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 สละราชสมบัติอีกครั้ง โดยวางแผนจะเชิญให้เจ้าชายไอเทิล ฟรีดริช แห่งปรัสเซีย เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวเป็นอันล่มไปเมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งในวันดังกล่าว เจ้าชายมัคซีมีลีอานต้องการทำให้ฝูงชนสงบลงโดยเร็ว ในช่วงบ่ายของวันนั้นจึงออกประกาศแต่ฝ่ายเดียวในฐานะนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิ ความว่า "องค์จักรพรรดิและองค์กษัตริย์ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิจะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าการสละราชสมบัติโดยจักรพรรดิ การสละสิทธิ์สืบราชสมบัติโดยมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและแห่งปรัสเซีย และการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จะเรียบร้อย"[2] กล่าวคือ ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มถูกบังคับให้สละราชสมบัติทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม
ชั่วครู่หลังเจ้าชายมัคซีมีลีอานออกประกาศดังกล่าว กลุ่มนักการเมืองพรรคสังคมประชาธิปไตยที่นำโดยฟรีดริช เอเบิร์ท ก็เดินทางมาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิ และเรียกร้องให้เจ้าชายมัคซีมีลีอานลาออกเพื่อส่งมอบอำนาจแก่พรรคสังคมประชาธิปไตย เจ้าชายมัคซีมีลีอานจึงประกาศลาออกและประกาศแต่งตั้งฟรีดริช เอเบิร์ท เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง[3]: 87 (แม้ว่ากระบวนการนี้จะขัดต่อธรรมนูญจักรวรรดิก็ตาม เนื่องจากการแต่งตั้งหัวหน้ารัฐบาลเป็นอำนาจของไคเซอร์) และในวันเดียวกันนั้น ฟิลลิพ ไชเดอมัน ทำการประกาศเปลี่ยนจักรวรรดิเป็นสาธารณรัฐจากระเบียงของอาคารที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค เพื่อระงับอารมณ์ของฝูงชนและยับยั้งการปฏิวัติแนวสังคมนิยม
เอเบิร์ทผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ยังคงต้องการรักษาระบบระเบียบเดิมเอาไว้ จึงเทียบเชิญให้เจ้าชายมัคซีมีลีอานเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ได้รับการปฏิเสธ เจ้าชายมัคซีมีลีอานเดินทางออกจากกรุงเบอร์ลินไปอาศัยอยู่ที่เมืองซาเลิมโดยไม่เคยยุ่งเกี่ยวการเมืองอีกเลย ซึ่งในปี 1928 แกรนด์ดยุกแห่งบาเดินถึงแก่พิราลัย ในยามนั้นประเทศเยอรมนีล้มเลิกระบบเจ้าผู้ครองนครแล้ว เจ้าชายมัคซีมีลีอานจึงได้สืบตระกูลในยศมาร์คกราฟแห่งบาเดิน เจ้าชายมัคซีมีลีอานสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1929 จากอาการไตวายที่โรงพยาบาลในเมืองค็อนชตันทซ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Lothar Machtan: Prinz Max von Baden. Der letzte Kanzler des Kaisers. Berlin 2013, ISBN 978-3-518-42407-0, p. 243f and 253f.
- ↑ Michalka, Wolfgang; Niedhart, Gottfried, บ.ก. (1992). Deutsche Geschichte 1918–1933. Dokumente zur Innen- und Außenpolitik [German History 1918-1933. Documents on Domestic and Foreign Policy] (ภาษาเยอรมัน). Frankfurt am Main: Fischer. pp. 18. ISBN 3596112508.
- ↑ Haffner, Sebastian (2002). Die deutsche Revolution 1918/19 (German). Kindler. ISBN 3-463-40423-0.