ข้ามไปเนื้อหา

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
แผนที่
ชื่อทางการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก
ที่ตั้งหมู่ที่ 4 บ้านเขาหินลาด ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
เริ่มก่อสร้าง21 มกราคม พ.ศ. 2546
เปิดดำเนินการ7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
งบก่อสร้าง8,881.62 ล้านบาท
ผู้ดำเนินการกรมชลประทาน
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นแม่น้ำแควน้อย
ความสูง75 เมตร
ความยาว681 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
ปริมาตรกักเก็บน้ำ939 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่กักเก็บน้ำ61.39 ตารางกิโลเมตร

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างท้องที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั่วไปฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 61.39 ตารางกิโลเมตร ความจุอ่าง ณ ระดับเก็บกักปกติ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกกั้นแม่น้ำแควน้อย

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณเขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้วางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อยโดยเร่งด่วน เพื่อการบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง และจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการชลประทานพิษณุโลก และโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า[1]

...ส่วนที่พิษณุโลกก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่ง แควน้อยซึ่งจะต้องทำ...อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ซี่งจะต้องทำ เพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ อาจจะมีคนค้านว่าทำไมทำเขื่อนพวกนี้แล้วมีประโยชน์อะไร ก็เห็นแล้วประโยชน์ของเขื่อนใหญ่เขื่อนนี้ ถ้าไม่มี 2 เขื่อนนี้ ที่นี่น้ำจะท่วมยิ่งกว่า จะไม่ท่วมเพียงแค่นี้ จะท่วมทั้งหมด...

หลังจากได้มีแนวพระราชดำริก็ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ รวมทั้งการออกแบบรายละเอียดโครงการจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 และได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 และมอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนงานที่จะดำเนินการก่อสร้างในปี 2546 - 2554 ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี โดยในปี 2546 จะขอใช้งบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และใช้งบประมาณปกติก่อสร้างโครงการในปีต่อ ๆ ไปจนแล้วเสร็จ[1]

เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาถึงจุดที่สามารถพร้อมที่จะทำหน้าที่กับเก็บน้ำได้แล้วนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเริ่มการกักเก็บน้ำเขื่อนแควน้อย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนามเขื่อนนี้เพิ่มเติมว่า เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน หมายถึง เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญในพื้นที่[2]

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้งานในปี พ.ศ. 2554 และในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช มาที่ท่าเทียบเรือ ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือพระที่นั่งมาจอดเทียบท่าและขึ้นประทับที่เกาะเกร็ด และในเวลา 19.50 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงวางพระหัตถ์ บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการ เป็นการเปิดโครงการชลประทาน 5 โครงการ พร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพนังตอนบน จังหวัดกาฬสินธ์
  2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร
  3. โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
  4. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
  5. เขื่อนขุนด่านปราการชล[2][3]

ความสำคัญ

ลุ่มน้ำแควน้อยเป็นลุ่มน้ำสาขาด้านฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำน่าน มีต้นน้ำอยู่ในอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมักประสบกับปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการชลประทาน เขื่อนแควน้อย เพื่อให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีอย่างสมบูรณ์[2] เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจึงมีความสำคัญในแง่ของการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง

โครงสร้างและลักษณะ

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นอ่างเก็บน้ำเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 1,080 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย 3 เขื่อนติดต่อกัน ไดแก่ เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ เป็นเขื่อนดิน สูง 16 เมตร ยาว 640 เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นเขื่อนทิ้งหินดาดคอนกรีต สูง 75 เมตร ยาว 681 เมตร สร้างปิดกั่นแม่น้ำแควน้อย และเขื่อนสันตะเคียน เป็นเขื่อนทิ้งหินแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นลำห้วยสันตะเคียน สูง 80 เมตร ยาว 1,270 เมตร[2]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน, โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เก็บถาวร 2017-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พิธีเปิด 5 โครงการชลประทาน น้ำสร้างชีวิต : กรมชลประทาน, สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
  3. ข่าวสด, เปิดพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน สถานที่ศึกษาและรับชมพระอัจฉริยภาพ “ในหลวง”, วันที่ 15 ตุลาคม 2559

ดูเพิ่ม