ข้ามไปเนื้อหา

คลองชักพระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองชักพระบริเวณหน้าวัดเรไร
คลองชักพระเกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ ๑

คลองชักพระ หรือ คลองบางขุนศรี เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงปากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ยังเป็นแผ่นดินอยู่ ส่วนเส้นทางเดิมจะอ้อมจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคุ้งกว้างวกกลับมาข้างวัดท้ายตลาด ถึงปี พ.ศ. 2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดขึ้น (หมายเลข ๑ ในภาพ)[1] เพื่อย่นระยะทางและเพื่อสะดวกต่อบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักร ต่อมาคลองลัดเริ่มกว้างขึ้นกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็เล็กลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ และคลองชักพระไป

คลองชักพระไหลแยกจากคลองบางกอกน้อยบริเวณวัดสุวรรณคีรีไปเชื่อมกับบริเวณที่คลองมอญตัดกับคลองบางกอกใหญ่ ลำคลองกว้างประมาณ 10–15 เมตร และยาว 5.45 กิโลเมตร[2] ทุก ๆ วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 จะมีประเพณีชักพระ โดยเรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจะถูกชักลากจากวัดนางชี คลองภาษีเจริญผ่านคลองชักพระและคลองบางกอกน้อย ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วอ้อมมาเข้าคลองบางกอกใหญ่กลับไปที่วัดนางชีตามเดิม[3] ซึ่งนับเป็นงานประเพณีชักพระแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร และเป็นที่มาของชื่อคลองนี้

ปัจจุบัน คลองชักพระเป็นคลองเพื่อการระบายน้ำ การสัญจร และการท่องเที่ยว มีคลองอื่น ๆ ไหลเชื่อม ได้แก่ คลองบ้านไทร คลองบางระมาด และคลองบางพรม และยังเป็นแนวแบ่งเขตบางกอกน้อยกับเขตตลิ่งชันตลอดทั้งสายด้วย

อ้างอิง

[แก้]