ข้ามไปเนื้อหา

ค่างแว่นถิ่นใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ค่างแว่นถิ่นใต้
ค่างแว่นถิ่นใต้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
เสียงร้องที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Cercopithecidae
สกุล: Trachypithecus
สปีชีส์: T.  obscurus
ชื่อทวินาม
Trachypithecus obscurus
(Reid, 1837)
ชนิดย่อย
  • T. o. obscurus
  • T. o. flavicauda
  • T. o. halonifer
  • T. o. carbo
  • T. o. styx
  • T. o. seimundi
  • T. o. sactorum
ชื่อพ้อง
  • Semnopithecus obscurus
  • Presbytis obscurus

ค่างแว่นถิ่นใต้ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Trachypithecus obscurus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกค่าง ลักษณะทั่วไปคล้ายค่างแว่นถิ่นเหนือ (T. phayrei) คือ มีวงกลมสีขาวรอบตาเหมือนกับใส่แว่นอันเป็นที่มาของชื่อ มีขนาดของลำตัวยาว 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม ค่างโตเต็มวัยมีขนบริเวณด้านหลังสีเทาเข้มเกือบดำ ขนบริเวณด้านข้างใบหน้าบริเวณปลายมือและปลายเท้ามีสีเทาเข้ม โคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือสีขนหางสีดำ ลูกที่เกิดใหม่สีขนจะเป็นสีทอง

ค่างแว่นถิ่นใต้แบ่งออกเป็นชนิดย่อย 7 ชนิดย่อยด้วยกัน (ดูในตาราง)

ถิ่นอาศัย

[แก้]

อาศัยอยู่ตามป่าเขาหินปูนที่มีโขดหินสูงชัน นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบหรือสวนยางพารา พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า, ไทย, มาเลเซีย ในประเทศพม่าพบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางใต้ นอกจากนี้ยังพบตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย เช่น เกาะลังกาวี เกาะปีนัง ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และเขาล้อมหมวก ใกล้กับอ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อุทยานแห่งชาติตะรุเตาและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, วัดถ้ำเขาพลู อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่เป็นต้น

อาหารหลักได้แก่ ใบไม้, ผลไม้และเมล็ดพืช โดยมี แมลง เป็นอาหารเสริม

พฤติกรรม

[แก้]

มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มีสมาชิกประมาณ 4-30 ตัว สามารถอาศัยอยู่ได้ในป่าหลายประเภท ตั้งแต่เทือกเขาสูงจนถึงชายป่าที่ติดริมทะเล โดยมักเข้าไปอาศัยในป่าที่มีต้นไม้สูง กินอาหามากถึงวันละ 2 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับมนุษย์มากนัก มักขี้อายและจะหลบหนีเมื่อพบกับมนุษย์ ในขณะที่ออกหากินเป็นฝูง จะมีอยู่ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เฝ้าคอยระวังภัยโดยนั่งดูเหตุการณ์บนต้นไม้เงียบ ๆ ค่างแว่นถิ่นใต้ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของไทยจะมีระยะเวลาออกลูกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 140-150 วัน [2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Boonratana, R., Traeholt, C., Brockelmann, W. & Htun, S. (2008). Trachypithecus obscurus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 4 January 2009.
  2. ชุติอร กาญวัฒนกิจ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : กองทุนสัตว์ป่าโลก. สำนักงานประเทศไทย, 2543. 256 หน้า. หน้า 32. ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Trachypithecus obscurus ที่วิกิสปีชีส์