ข้ามไปเนื้อหา

ถนนข้าวสาร

พิกัด: 13°45′32″N 100°29′50″E / 13.75889°N 100.49722°E / 13.75889; 100.49722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนข้าวสาร
แผนที่
2016 Bangkok, Dystrykt Phra Nakhon, Ulica Khaosan (08).jpg
ถนนข้าวสาร
ข้อมูลของเส้นทาง
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2435–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือถนนจักรพงษ์ ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ถนนตะนาว ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ถนนข้าวสาร (อักษรโรมัน: Thanon Khao San) เป็นถนนในท้องที่แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนจักรพงษ์หน้าวัดชนะสงคราม ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงถนนตะนาวใกล้สี่แยกคอกวัว

ประวัติ

[แก้]

ถนนข้าวสารเป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงคราม (ซึ่งได้นามว่าถนนชนะสงคราม) ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า "ถนนข้าวสาร"

ถนนข้าวสารเดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร เป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันก็คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้[1] นอกจากนี้ก็ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ โดยถัดออกไป 1 ถนน จะเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการค้าขายข้าวสารมากมายจึงเรียกว่าตรอกข้าวสาร (เพราะขนาดเล็ก) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อไป ต่อมาเริ่มมีร้านขายของมากขึ้น เช่นร้านขายของเล่น อย่างลูกข่าง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ[2]

ต่อมาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามามาถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยมีทีมงานกองถ่ายมาอยู่กันจำนวนมาก ที่มาเช่าที่ เช่าเกสเฮาส์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ก็ต้องเช่าจากบ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่า จึงเป็นที่มาของเกสเฮาส์ เกสต์เฮ้าส์ของชาวต่างชาติเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2529 ระยะหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย จนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ

สงกรานต์บนถนนข้าวสาร

ถนนข้าวสารถือเป็นถนนที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก การเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสารเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2533 เนื่องจากที่ถนนข้าวสารนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่าเกสต์เฮ้าส์ ดังนั้นประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยจึงถูกใจนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก โดยการเล่นสงกรานต์ถนนข้าวสารในช่วงแรก ๆ ก็เป็นแต่เพียงเล่นสาดน้ำกันธรรมดาเท่านั้น

แต่เทศกาลสงกรานต์นี้มาโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2542-2543 โดยนอกจากการเล่นสาดน้ำเป็นปกติแล้ว ก็ยังมีทั้งการจัดกิจกรรม มีเวทีการแสดง มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน จากแต่ก่อนที่คนเล่นต้องเตรียมน้ำเตรียมแป้งมาเล่นกันเอง และมีน้ำเตรียมไว้ให้เล่นตามจุดต่าง ๆ ด้วย[3]

ช่วงปี พ.ศ. 2563 มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ต้องยกเลิกไปและปี 2566 ถนนข้าวสารกลับมาจัดงานสงกรานต์ในรอบ 3 ปี

การค้า

[แก้]

อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) เจ้าของบทประพันธ์ เรื่อง The Beach เคยให้คำนิยามถนนสายนี้ ในรายการวิทยุ BBC-Radio 1 ไว้อย่างน่าสนใจว่า "จะมีที่ไหนหนอที่มี คนสารพัดชาติมารวมตัวกันที่นี่ ที่ถนนข้าวสาร ถนนที่เพียบไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ เพราะที่นี่คุณจะหาเทปผีจากวงดังวงไหนก็ได้ในโลก มีที่พักราคาถูก "[4]

สำหรับเกสเฮ้าส์และโฮสเท็ลที่มีชื่อเสียงมาช้านานและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้ต่างประเทศเป็นอย่างดีจะมีอยู่ไม่กี่แห่ง ได้แก่ TOP GUEST HOUSE ที่ตั้งอยู่ข้างตรอกสวัสดี และ BONNY GUEST HOUSE ซึ่งเป็นเกสเฮ้าส์แห่งแรกของถนนข้าวสารที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกทีเดียว[1] ราคาค่าเช่าห้องค้างคืนตามเกสเฮ้าส์ต่าง ๆ จะถูกมาก ถูกกว่าไปพักตามโรงแรมหรู ๆ คือราคาค่าห้องเริ่มตั้งแต่ 100 บาทไปจนถึง 500-600 บาทต่อวัน แต่ก็จะอยู่กันเป็นเดือน ๆ แต่คิดค่าเช่าเป็นรายวัน ราคาที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสถานที่ที่เปิดให้บริการ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีโรงแรมขนาดกลางมาเปิดเพิ่มมากขึ้น

ถนนข้าวสารเป็นย่านการค้าทั้งกลางวันและกลางคืนที่มีสินค้ามากมายเช่น ร้านขายอาหารพร้อมกิน ตั้งแต่อาหารฝรั่งเศส อาหารอินเดีย อาหารอิตาลี และอาหารไทยยอดนิยมอย่างผัดไทย และปอเปี๊ยะ

กิจการบริการที่พักจะหนีไม่พ้น ร้านอาหาร โทรศัพท์ทางไกล ไปจนถึงการให้บริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ แม้ว่าบรรดาเกสต์เฮ้าส์ทั้งหลาย จะมีบริการครบวงจรให้ลูกค้า แต่ก็ยังมีร้านอินเทอร์เน็ตราคาถูก 50 สตางค์ต่อนาที หรือแม้แต่บาร์เบียร์ โดยมีร้านเช่า-ขายหนังสือมือสอง ร้านเสื้อผ้า รับบริการถักผม และร้านขายของพื้นเมือง

ร้านเสื้อผ้าที่ข้าวสารนี้ก็มีให้เลือกหา ตั้งแต่ร้านผ้าไหมชั้นดีไปจนถึงเสื้อยืดคอกลมตราห่านราคาประหยัด เสื้อผ้ายอดนิยมที่เห็นวางขายกันมากที่สุด ก็เป็นเสื้อผ้าเนื้อบางประเภท กางเกงเล ผ้าบาติก เสื้อผ้าฝ้าย มีกางเกงนักมวยและผ้าถุงแบบสำเร็จรูปให้เลือกสารพัดสี

ในช่วงเวลาปกติ มีรายการการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่อวันบริเวณรอบ ๆ ถนนข้าวสารไว้ราว 15,000 ถึง 20,000 คนต่อวัน และอาจสูงถึง 50,000 คนในช่วงเวลาเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น

ถนนข้าวสารในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ถนนข้าวสาร เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากวงการภาพยนตร์และเพลงทั้งจากชาวต่างประเทศและคนไทยเอง ซึ่งมักจะมาถ่ายทำกันที่ถนนข้าวสารนี้ ภายหลังจึงได้มีการเปิดเกสท์เฮาส์และโรงแรมราคาประหยัด ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สถานบันเทิง ตลอดแนวถนนข้าวสาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น[5]

ต่างประเทศ

[แก้]

ไทย

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ถนนข้าวสาร...แหล่งรื่นเริง สงกรานต์ ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ... เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารหญิงไทย
  2. ย้อนอดีตถนนข้าวสาร sanook.com
  3. เย็นฉ่ำกับงานสงกรานต์บน"ถนนข้าวสาร" เก็บถาวร 2005-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2548 19:12 น.
  4. 4.0 4.1 ข้าวสาร sanook.com
  5. lovethailand.org
  6. ภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลี เรื่องเจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา kapook.com
  7. "3 ดาราดังฮ่องกง ประชันบท ในภาพยนตร์ เรื่อง Secret Action ถ่ายทำ ที่กรุงเทพและสระบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  8. ผู้สร้างภาพยนตร์จากอินเดียยกคณะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กระทรวงต่างประเทศ
  9. "tory of Paran". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
  10. "ตะลึง! ก้านคอคลับ 2 ถ่าย MV น้ำกระจาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-13. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
  11. SAME SAME [ลิงก์เสีย]
  12. แอ็คชั่นแอ็ดเวนเจอร์รูปแบบใหม่สำหรับหนังไทย เก็บถาวร 2007-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน movieseer.com

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′32″N 100°29′50″E / 13.75889°N 100.49722°E / 13.75889; 100.49722