ข้ามไปเนื้อหา

บุญบั้งไฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญบั้งไฟ
ชื่อเป็นทางการงานประเพณีบุญบั้งไฟ
ช่วงเวลาเดือน 11
สถานที่จัดอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร , อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอพนมไพร จังหวัด ร้อยเอ็ด ภาคอีสาน ประเทศไทย และ ลาว
สนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร) กระทรวงวัฒนธรรม (งานประเพณีบุญบั้งไฟลายศรีภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)

บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของประเทศไทย ตลอดจนประเทศลาว[ต้องการอ้างอิง] โดยมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องพญาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า พญาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ปัจจุบันมีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ในระดับประเทศมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ,ประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ ,ประเพณีบุญบั้งไฟพนมไพร และประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า โดยทั้งนี้การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของ จังหวัดยโสธร ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการประชาสัมพันธ์งานประเพณี เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทย และต่างประเทศ นับแต่ ปี 2523 ซึ่งงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร จะจัดขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมในทุกปี โดยทั้งนี้ ในงานที่จัดของจังหวัดยโสธร ยังมีความโดดเด่น ในวันก่อนแห่มีการประกวดกองเชียร์ จำนวนมาก รวมทั้ง วันแห่บั้งไฟ จะมีขบวนบั้งไฟแบบโบราณ และการรำเซิ้งแบบโบราณ จากทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดยโสธร เข้าร่วมด้วย เเละยังมีขบวนแห่สวยงาม จาก 9 คุ้มวัด ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดงานบั้งไฟในอดีต และปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีความโดดเด่น และเก่าแก่ มานาน อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นต้นมา) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะที่ อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีการจัดงานในทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนในทุกปี ซึ่งเป็นงานที่มีบั้งไฟเอ้สวยงามขนาดใหญ่มากที่สุด (ลายศรีภูมิ หรือ ลายกรรไกรตัด) รวมทั้งขบวนรำสวยงามมากที่สุดของประเทศ โดยตั้งเเต่ งานประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ 2567 เป็นต้นไป จะมีขบวนแห่รำเซิ้งสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะมีการถูกจัดขึ้นเป็นครั้งเเรกในปี พ.ศ. 2567 ให้สมเกียรติกับดินเเดนที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์เเละมีความเก่าเเก่เเละต่อเนื่องมาอย่างยาวนานมากที่สุดเเห่งหนึ่งของภาคอีสานเเละของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นงานประเพณีที่ดึงดูดเเละเป็นศูนย์รวมให้ลูกหลานเมืองศรีภูมิหรือเครือข่ายลูกหลานเจ้าเเก้วมงคล (บรรพชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสาน) ที่มีอยู่ทั่วภาคอีสานเเละประเทศไทยให้กลับมาเยี่ยมเยือนถิ่นเก่าของบรรพชน ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองบรรพบุรุษของชาวอีสาน ก่อนที่ภายหลังจะมีการอพยพเเยกกันออกไปสร้างเมืองเเละชุมชนต่างๆมากมายทั่วภาคอีสาน นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้เเก่ลูกหลานชาวอีสานได้มากมายเลยทีเดียว , อำเภอพนมไพร ที่มีการจัดงานในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี ตามรูปแบบประเพณีดั้งเดิมตามฮีตสิบสองคองสิบสี่(งานบุญประจำเดือนทุกเดือนในแต่ละปี)โดยมีการจุดบั้งไฟถวายมากที่สุดในประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน รวมกันกว่า 1,000 บั้ง ซึ่งในการจัดการแข่งขันบั้งไฟมีขบวนแห่ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีอีกด้วย

และอีกหนึ่งที่ที่น่าสนใจ คือ งานบุญบั้งไฟตะไลล้าน บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นชุมชนภูไทขาวเก่าแก่ ก่อตั้งหมู่บ้านมาประมาณ 150 ปี เป็นบั้งไฟที่ขึ้นในแนวนอนที่เรียกว่า ตะไล เป็นต้นแบบตะไลแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบุญบั้งไฟของบ้านกุดหว้าแห่งนี้ เทศกาลจุดตะไลนี้ จะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน[1]

ทั้งนี้จากข้อมูลในปัจจุบัน แหล่งที่มีช่างในการจัดทำ บั้งไฟเอ้ ตกแต่งสวยงามมากที่สุด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะ อำเภอสุวรรณภูมิ, อำเภอธวัชบุรี, อำเภออาจสามารถ, อำเภอเสลภูมิ, อำเภอจตุรพักตรพิมาน เป็นต้น, ส่วนค่ายบั้งไฟ ที่มีการทำบั้งไฟจุด พบได้จำนวนมาก ในเขตอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร, อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และเขตจังหวัดอื่น ๆ ทางอีสานเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะอำเภอท่าคันโท, อุดรธานี, หนองคาย เป็นต้น

ด้านมิติทางวัฒนธรรม พบว่า งานประเพณีบุญบั้งไฟลายศรีภูมิ (การตกแต่งบั้งไฟ ประเภท ลายกรรไกรตัด) ของ ชาวอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีมิติเชิงอนุรักษ์ และมีความโดดเด่น ด้านการสืบสานผ่านช่างฝีมือ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สะท้อนวิถี "เมืองศรีภูมิ หรือ สุวรรณภูมิ" โดยในปี 2561 สำนักงานเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และนายสมศักดิ์ เศรษโฐ นายกเทศมนตรีตำบลสุวรรณภูมิ ได้รับรางวัล "วัฒนคุณาธร" จากการเป็นองค์กร และบุคคล ผู้ส่งเสริม สนับสนุน ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีบุญบั้งไฟลายศรีภูมิ ระดับประเทศ จากกระทรวงวัฒนธรรม ด้วย

นอกจากนี้แล้วในพื้นที่ภาคเหนือ มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของ ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ โดยการสนับสนุนของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ เช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรในเขตพื้นที่ ส่วนใหญ่ อพยพมาจาก เขตภาคอีสาน ในหลายสิบปีก่อนหน้า ส่วนภาคใต้ ยังสามารถพบการจัดงานบุญบั้งไฟ ในเขตอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นการละเล่นของชาวอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาปักหลักทีนี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยถือเป็นเพียงพื้นที่เดียวในภาคใต้ของไทย นอกจากภาคอีสานที่มีการเล่นประเพณีนี้

ยังมีงานประเพณีบุญบั้งไฟในภาคกลางของไทยอีกที่หนึ่ง ในพื้นที่ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวร้อยละ 85 เป็นชาวอีสานที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้นำวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟที่ถือเป็นความเชื่อว่า พญาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟใน อ.แม่เปิน เกิดขึ้น และได้อนุรักษ์ไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2532 อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ครั้งแรกในปี 2521 จากการศึกษาและวิจัยโดย นายสามารถ พิลาสาว ปี2558 จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดประเพณีเป็นประจำในช่วงเดือน 6-7 หรือประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ก็มีการละเล่นประเพณีบุญบั้งไฟเช่นเดียวกัน โดยเป็นหนึ่งในประเพณีของล้านนา โดยมีความเชื่อคล้ายกับภาคอีสาน คือ เป็นการถวายเป็นพุทธบูชาและขอฝน

ความเชื่อของชาวบ้านกับประเพณีบุญบั้งไฟ

[แก้]

ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ และโลกเทวมนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน นอกจากนี้ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ เรื่องพญาคันคาก หรือคางคก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์[2]

ความหมายของบั้งไฟ
คำว่า “บั้งไฟ” ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า “บ้องไฟ” แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า”บั้งไฟ”ดังที่ เจริญชัย ชนไพโรจน์ ได้อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสองไว้ว่า บั้งหมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง สำหรับใส่น้ำดื่ม หรือบั้งข้าวหลาม เป็นต้น

ส่วนคำว่า บ้อง หมายถึง สิ่งของใด ๆ ก็ได้ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้ากันได้ ส่วนนอกเรียกว่า บ้อง ส่วนในหรือสิ่งที่เอาไปสอดใสจะเป็นสิ่งใดก็ได้ เช่น บ้องมีด บ้องขวาน บ้องเสียม บ้องวัว บ้องควาย ดังนั้น คำว่า บั้งไฟ ในภาษาถิ่นอีสานจึงเรียกว่า บั้งไฟ ซึ่งหมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื่อ (ดินปืน) และเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เรียกว่า “บั้งไฟ” ในทัศนะของผู้วิจัย บั้งไฟ คือการนำเอากระบอกไม้ไผ่ เลาเหล็ก ท่อเอสลอน หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ช่างกำหนดไว้แล้วประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง บั้งไฟมีหลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย

ส่วนประกอบของบั้งไฟ

[แก้]
บั้งไฟ ลายศรีภูมิ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  1. เลาบั้งไฟ เลาบั้งไฟคือส่วนประกอบที่ทำหน้าที่บรรจุดินปืน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมยาว มีความยาวประมาณ 1.5 - 7 เมตร ทำด้วยลำไม้ไผ่แล้วใช้ริ้วไม้ไผ่ (ตอก) ปิดเป็นเกลียวเชือกพันรอบเลาบั้งไฟอีกครั้งหนึ่งให้แน่น และใช้ดินปืนที่ชาวบ้านเรียกว่า"หมื่อ" อัดให้แน่นลงไปในเลาบั้งไฟ ด้วยวิธีใช้สากตำแล้วเจาะรูสายชนวน เสร็จแล้วนำเลาบั้งไฟ ไปมัดเข้ากับส่วนหางบั้งไฟ ในสมัยต่อมานิยมนำวัสดุอื่นมาใช้เป็นเลาบั้งไฟแทนไม้ไผ่ ได้แก่ ท่อเหล็ก ท่อพลาสติก เป็นต้น เรียกว่าเลาเหล็กซึ่งสามารถอัดดินปืนได้แน่นและมีประสิทธิภาพในการยิงได้สูงกว่า
  2. หางบั้งไฟ หางบั้งไฟถือเป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่คล้ายหางเสือ ของเรือคือสร้างความสมดุลให้กับบั้งไฟคอยบังคับทิศทางบั้งไฟให้ยิงขึ้นไปในทิศทางตรงและสูง บั้งไฟแบบเดิมนั้น ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ต่อมาพัฒนาเป็นหางท่อนเหล็กและหางท่อนไม้ไผ่ติดกันหางท่อนเหล็กมีลักษณะเป็นท่อนกลม ทรงกระบอกมีความยาวประมาณ 8-12 เมตร ทำหน้าที่เป็นคานงัดยกลำตัวบั้งไฟชูโด่งชี้เอียงไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 30-40 องศากับพื้นดิน โดยบั้งไฟจะยื่นไปข้างหน้ายาวประมาณ 7-8 เมตร ปลายหางด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งบั้งไฟ
  3. ลูกบั้งไฟ เป็นลำไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเลาบั้งไฟโดยมัดรอบลำบั้งไฟ บั้งไฟลำหนึ่งจะประกอบด้วยลูกบั้งไฟประมาณ 8-15 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ เดิมลูกบั้งไฟมีแปดลูกมีชื่อเรียกเรียงตามลำดับคู่ขนาดใหญ่ไปหาคู่ที่มีขนาดเล็กกว่าได้แก่ ลูกโอ้ ลูกกลาง ลูกนางและลูกก้อย ลูกบั้งไฟช่วยให้รูปทรงของบั้งไฟกลมเรียวสวยงาม นอกจากนี้ลูกบั้งไฟยังเป็นพื้นผิวรองรับการเอ้หรือการตกแต่งลวดลายปะติดกระดาษ ( โดยที่นิยมทั่วไป คือ ลายสับ ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่มีการกำหนดมาตรฐาน ลายกรรไกรตัด ในประเทศไทย คือ "ลายศรีภูมิ" พบมีการทำในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด )

องค์ประกอบการตกแต่งบั้งไฟ หรือ การเอ้บั้งไฟ

[แก้]

การเอ้บั้งไฟ เอ้ ในภาษาลาวหรือ ภาษถิ่นอีสาน นั้น แปลว่า ตกแต่ง ประดับ ให้สวยงาม โดย นอกจากใช้กับการตกแต่งรถบั้งไฟสวยงาม หรือ ตัวบั้งไฟให้สวยงามแล้ว ยังใช้รวมถึง กับ นางรำในขบวนฟ้อน เช่น "นางเอ้" หมายถึง นางรำ หรือ ช่างฟ้อน ที่หน้าตาสวย โดดเด่น หรือ รำสวยงาม เอาไว้ ประดับ ขบวน หรือรำในแถวหน้าของขบวนฟ้อน เป็นต้น โดยปกติ การเอ้บั้งไฟ ในสมัยก่อน ในแต่ละชุมชน จะมีการตกแต่ง บั้งไฟ และการตกแต่งเครื่องประกอบ ในรถที่ใช้แห่บั้งไฟ (เกวียน) หรือ รถยนต์ในปัจจุบัน เรียกว่า "เครื่องล่าง" โดยเครื่องล่าง หมายถึง ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่นอกเหนือ จาก ตัวบั้งไฟ โดย ในชุมชน คุ้มวัด ใน เขต เทศบาลเมืองยโสธร มีการจัดทำและตกแต่งบั้งไฟเอ้ ของชุมชน (ในราว 30 ปีก่อน) และ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่นิยมตกแต่งบั้งไฟ และเครื่องล่าง ด้วยลายกรรไกรตัด (มากกว่า 200 ปี) ซึ่งมีคุ้มวัดและชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ (เมืองศรีภูมิ) มีบั้งไฟของตนเองในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ ยังพบว่า ในหลายหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการจัดทำบั้งไฟเอ้ ตกแต่งสวยงาม ในแต่ละชุมชน มาแต่ยุคก่อนที่ จะมีการประชาสัมพันธ์ ให้งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร เป็นงานประเพณีประจำจังหวัดและโปรโมทโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2523 ซึ่งในปัจจุบัน หลังปี 2530 เป็นต้นมา พบว่า การทำบั้งไฟเอ้ตกแต่งสวยงาม เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยระยะหลัง ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ไม่มีการทำบั้งไฟเอ้หรือการตกแต่งบั้งไฟโดยคนในชุมชนแล้ว แต่นอกเขตพื้นที่ ในอำเภอของจังหวัดยโสธร ยังคงมีการจัดทำและตกแต่งเอ้บั้งไฟ อาทิ อำเภอทรายมูล และอำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยเป็นบั้งไฟเอ้ ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ส่วนที่อำเภอสุวรรณภูมิ พบว่า ยังคงมีการจัดทำและตกแต่งบั้งไฟ โดยคนในชุมชน และช่างในพื้นที่เรียกว่า "บั้งไฟลายศรีภูมิ" ส่วนบั้งไฟเอ้ขนาดใหญ่ และเครื่องล่าง (ตัวรถบั้งไฟ) ที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามนั้น พบว่า มีการทำและพัฒนาต่อเนื่อง ในหมู่บ้าน โดยช่างพื้นบ้าน โดยเฉพาะ อ.ครุฑ ภูมิแสนโคตร บ้านทรายขาว ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในพื้นที่จังหวัดยโสธร, อำเภอสุวรรณภูมิ, อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และในเขตภาคอีสาน ต่อเนื่อง และ อ.เลื่อน สามาลา ช่างบั้งไฟตกแต่งสวยงาม แห่ง บ้านแคน ตำบลโหรา อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีบั้งไฟสวยงาม ได้รางวัลชนะเลิศ ทั้งในงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งเขตพื้นที่อื่น ๆ ในภาคอีสาน และภาคกลางด้วย โดยทั้งนี้ ช่างที่จัดทำบั้งไฟและตกแต่งบั้งไฟสวยงาม ในรูปแบบเอกลักษณ์ ลายกรรไกรตัด หรือ "ลายศรีภูมิ" นั้น ที่มีชื่อเสียงและเป็น ปราชญ์แห่งท้องทุ่งกุลา คือ อ.เลียบ แจ้งสนาม ภูมิลำเนา บ้านเล้าข้าว ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบัน พำนักในเขต อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด) โดยรายละเอียดของบั้งไฟและการตกแต่งบั้งไฟลายสับ หรือ ทั่วไป รวมทั้งเครื่องล่าง จะประกอบด้วย

ลายบั้งไฟ : ใช้ลายศิลปไทย คือ ลายกนก อันเป็นลายพื้นฐานในการลับลายบั้งไฟ โดยช่างจะนิยมใช้กระดาษดังโกทองด้านเป็นพื้นและสีเม็ดมะขามเป็นตัวสับลาย (ยกเว้น ลายศรีภูมิ ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เป็น ลายกรรไกรตัด และนิยมใช้สีแดงเลือกนก ตัด สีเหลืองทอง) เพื่อให้ลายเด่นชัดในการตกแต่งเพื่อให้ความสวยงาม

1. ตัวบั้งไฟ : มีลูกโอ้จะใช้ลายประจำยาม ลายหน้าเทพพนม ลายหน้ากาล ลูกเอ้ใช้ลายประจำยาม ก้ามปูเปลว และลายหน้ากระดาน ฯลฯ

2. กรวยเชิง : เป็นลวดลายไทยที่เขียนอยู่เชิงยาบที่ประดับพริ้วลงมาจากช่วงตัวบั้งไฟ

3. ยาบ : เป็นผ้าประดับใต้เลาบั้งไฟ จะสับลายใดขึ้นอยู่กับช่างบั้งไฟนั้น เช่น ลายก้านขูดลายก้าน ดอกใบเทศ

4. ตัวพระนาง : เป็นรูปลักษณ์สื่อถึงผาแดงนางไอ่ หรือตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ พระลักษณ์ พระราม เป็นต้น

5. กระรอกเผือก : ท้าวพังคี แปลงร่างมาเพื่อให้นางไอ่หลงใหล

6. ปล้องคาด : ลายรักร้อย ลายลูกพัดใบเทศ ลายลูกพัดขอสร้อย เป็นต้น

7. เกริน : เป็นส่วนที่ยื่นออกสองข้างของบุษบก เป็นรูปรอนเบ็ดลายกนก สำหรับตั้งฉัตรท้ายเกริน ราชรถประดับส่วนท้ายของหางบั้งไฟ

8. บุษบก : เป็นองค์ประกอบไว้บนราชรถ เพื่อสมมุติให้เป็นปราสาทผาแดงนางไอ่

9. ต้างบั้งไฟ : ลายกระจังปฏิญาณ ลายก้านขด ลายพุ่มข้าวบิณฑ์

10. ลายประกอบตกแต่งอื่น ๆ : ลายกระจังตั้ง กระจังรวน กระจังตาอ้อย ลายน่องสิงห์ บัวร่วน กลีบขนุน

องค์ประกอบ บั้งไฟลายศรีภูมิ

[แก้]

ส่วนการตกแต่งและองค์ประกอบของบั้งไฟลายศรีภูมิ ที่นิยมและจัดเป็นงานเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างเพิ่มเติม ออกไป โดยคุณลักษณะพิเศษของลายกรรไกรตัด นั้น พบว่า การตัดกระดาษนั้น เส้นลวดลาย ทุกเส้น จะไม่มีการขาดออกจากกัน สามารถลากเส้นบรรจกันได้ทั้งหมด และการจัดกระดาษนั้น จะไม่มีการร่างลวดลายเอาไว้ก่อน ทั้งนี้ '"บั้งไฟลายศรีภูมิ"' มีองค์ประกอบหลัก 8 ประการ ได้แก่

  1. ลายลูก ใช้ลายกรรไกร กระดาษจังโกสีแดง พื้นใช้กระดาษขัดมันสีเหลือง
  2. ลายปลอก ใช้ลายประจำยามประดิษฐ์ พื้นใช้กระดาษขัดมันสีเหลือง มีการประดิษฐ์ลวดลายแข่วหมา (ฟันสุนัข) สลับสีดำ แดง เหลือง เป็นเส้นขนาดเล็ก ประดับกับลายประจำยาม
  3. ประดิษฐ์ลายแส้" หรือ แส้พระอินทร์ เป็นเส้นเล็ก ๆ พับด้วยกระดาษขัดมันสีดำ สลับเหลืองสอดอยู่ระหว่างลูกบั้งไฟ
  4. อกนาค ใช้ไม้แกะสลักมีขนาดใหญ่เต็มหัวบั้งไฟ ลงสีสันเป็นเกล็ดนาค ด้วยสีเหลือง ส้ม แดง และดำ
  5. หัวนาค ใช้ไม้แกะสลัก เป็น พญานาค ประกอบลายกนก สีเหลือง ส้ม แดง และ ดำ ปากนาค ขยับขึ้นลง พร้อมประดิษฐ์ให้สามารถพ่นน้ำได้
  6. แผงนาค ใช้ไม้ลงสีสัน เป็นเกล็ดนาค ด้วยสีเหลือง ส้ม แดง และดำ
  7. หางนาค เป็นลายกนก ลงสีสันสลับกันกับแผงนาค และหัวนาค อย่างลงตัว
  8. ประดิษฐ์ลายยาบ หรือ ยาบบั้งไฟ ด้วยการหนีบกระดาษเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกนก ลานประจำยาม ลายพู่ ลายเฟื่อง ลายแข่วหมา (ฟันสุนัข) ตัวลายใช้กระดาษจังโกสีแดง พื้นลายใช้กระดาษขัดมันสีเหลืองสลับกับลายเส้นแข่วหมา (ฟันสุนัข) ได้อย่างลงตัว

ประเภทของบั้งไฟ

[แก้]
  1. บั้งไฟโหวด บั้งไฟโบดหรือโหวดเป็นบั้งไฟขนาดเล็กตัวกระบอกจะยาวขึ้น ประมาณ 4-10 นิ้ว บรรจุหมื่อหนักประมาณ 1 ส่วน 8 ถึง 1 ส่วน 2 กิโลกรัม ใช้หางยาวประมาณ 1-4 เมตร มีกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ มัดวางรอบตัวบั้งไฟ นิยมทำประกอบกันในบั้งไฟใหญ่ (บั้งไฟหมื่น, บั้งไฟแสน) ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำ เพราะไม่มีช่าง
  2. บั้งไฟม้า บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดเล็กจุดไปตามทิศทางที่กำหนดใช้เส้นลวดเป็นวิถีตรึงไปยังเป้าหมายที่ต้องการ ลักษณะทั่วไปเป็นบั้งไฟที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ 1 ปล้อง ขนาดแล้วแต่ต้องการ โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุตทางภาคกลางและภาคอีสานเรียกว่า “ลูกหนู” คล้ายม้าที่กำลังวิ่ง ถ้าติดรูปอะไรก็เรียกชื่อไปตามนั้น เป็นคนขี่ม้า รูปวัว แล้วแต่จะทำรูปอะไร บางครั้งภาคเหนือเรียกว่า บอกไฟยิง
  3. บั้งไฟช้าง บั้งไฟชนิดนี้ไม่มีหาง มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ากระโพกหรือตะโพก เวลาจุดไม่ต้องการให้พุ่งขึ้นไปแต่ต้องการมีเสียงร้องคล้ายกับช้างร้อง วิธีทำบั้งไฟให้ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยาวเพียงป้องเดียวให้มีข้อปิดทั้ง 2 ด้าน ทุบไม้ไผ่ให้แตกเล็กน้อย เจาะรู เพื่อบรรจุหมื่อแล้วต่อชนวนเข้ารูแท่งหมื่อทำจากหมื่อถ่าน 3-4 อัดลงในไม้ไผ่ขนาดเล็กให้แน่น แล้วผ่าเอาแท่งหมื่อออกมาคล้ายข้าวหลาม ให้ได้แท่งประมาณ 3 นิ้ว การจุดนั้นนิยมต่อพ่วงชนวนบั้งไฟใหญ่ เวลาจุดชนวนผ่าจะเกิดเสียงดังเหมือนเสียงช้างร้อง นิยมวางต่อกันเป็นช่วง ๆ กระบอก ถ้าต้องการจะให้มีเสียงดังอย่างไรก็จะมีเทคนิคในการทำให้เกิดเสียงนั้น ๆ
  4. บั้งไฟแสน บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดใหญ่ที่สุด บรรจุดินปืนหนัก 120 กิโลกรัมขึ้นไป บั้งไฟขนาดนี้ทำยากที่สุดจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะบั้งไฟขนาดนี้หากแตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นก่อนทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้องตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ เมื่อตกบั้งไฟเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการตกแต่งประดับประดาบั้งไฟ
  5. บั้งไฟตะไล บั้งไฟชนิดนี้ก็คือบั้งไฟจินายขนาดใหญ่นั่นเอง มีความยาวประมาณ 9-12 นิ้ว รูปร่างกลมมีไม้บาง ๆ แบน ๆ เป็นวงกลมครอบหัวท้ายบั้งไฟเมื่อพุ่งขึ้นสู่ฟ้าไปโดยทางขวาง
  6. บั้งไฟตื้อ บั้งไฟตื้อหรือบั้งไฟกระแตนั่งตอ เป็นบั้งไฟขนาดเล็กมีหางสั้น วิธีทำ ตัดกระบอกไม้ไผ่ขนาด 1 นิ้วครึ่งยาวประมาณ 3 นิ้ว อัดหมื่อให้แน่นประมาณ 2 นิ้ว ใช้หมื่อถ่านสามหรือถ่านสี่อัดด้วยเถียดไม้ให้แน่น ต่อหางซึ่งทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งเล็ก ๆ ใช้เลื่อยตัดมุมข้อออกจนเห็นหมื่อ เจาะให้เป็นรูเล็ก ๆ แล้วติดชนวน เวลาจะจุดเอาหางเสียบลงในแท่นที่ตั้งพอให้ตั้งได้ จุดชนวนจากด้านบน บั้งไฟจะพุ่งและหมุนขึ้นสู่อากาศ เกิดเสียงดังตือ ๆ เวลาหมุนจะไม่ค่อยมีทิศทาง ใช้จุดในงานศพ เวลาจุดมีอันตรายมากไม่ค่อยนิยมทำกัน
  7. บั้งไฟพลุ เป็นบั้งไฟที่นิยมจุดในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานกฐิน งานบุญมหาชาติ หรือ งานเปิดกีฬา ฯลฯ เป็นบั้งไฟที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง ในอดีตนิยมจุดในงานกฐิน เพื่อเป็นการบอกข่าวไปยังพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ทราบ

การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในปัจจุบัน

[แก้]
สถานที่จัดงาน จังหวัด จุดเด่น/เอกลักษณ์ ระยะเวลาที่จัด ระดับงาน
งานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร[3] ยโสธร - ประกวดกองเชียร์ เครื่องเสียง วันเซิ้ง ตลอดแนวถนนแจ้งสนิท 20 - 30 เวที

- บั้งไฟโบราณจาก 9 อำเภอและขบวนเซิ้งโบราณ (ตกแต่งโดยช่างในเขตจังหวัดยโสธร)

- งานแสงสีเสียง ตำนานพระยาคันคาก

- การแข่งขันจุดบั้งไฟแฟนซี บั้งไฟติดร่ม

- การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ -ประกวดเทพบุตร

- ประกวดบั้งไฟโก้ (ส่วนใหญ่นำเข้าและตกแต่งโดยช่าง จังหวัดร้อยเอ็ด)

- ขบวนแห่สวยงาม จาก 9 คุ้มวัด ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สอง ของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ประเทศ
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอมหาชนะชัย - ประกวดกองเชียร์ เครื่องเสียง ตลอดของถนน

-งานแสงสีเสียงของตำนานพญาแถน

-การแข่งขันจุดบั้งไฟ

-การประกวดธิดาบั้งไฟโก้

-การประกวดแห่ขบวนสวยงาม มีทั้งการแสดงฟ้อนรำหลายขบวน

ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สาม ของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกุดชุม ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟบุญเดือน 7 หนองคาย หนองคาย - การจัดขบวนส่งเสริมประเพณี และตำนานบั้งไฟที่งดงามและหลากหลาย

- ขบวนแห่สวยงาม ในแบบฉบับโปงลางและนาฏศิลป์พื้นเมือง

- เส้นทางการชมขบวนยาว ตลอด 2 ก.ม.

ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลเวียงคุก อ.เมือง จ.หนองคาย - ประกวดขบวนแห่สวยงามชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- จุดบั้งไฟสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - กิจกรรมทางประเพณีแบบโบราณ ณ วัดสาวสุวรรณาราม (เมืองเวียงคุก)

ประมาณ ต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี จังหวัด
งานประเพณีบุญมหาชาติและบุญบั้งไฟ อ.พังโคน สกลนคร - การบูรณการ งานบุญมหาชาติ - บุญบั้งไฟ

- ขบวนแห่บุญผะเหวด ไทย - เวียตนาม

- ประกวดธิดาบั้งไฟพังโคน

- ตุ้มโฮมพาแลง

- มหกรรมอาหาร

- ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์มหาชาติ

ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์แรก เดือนพฤษภาคม ของทุกปี ภูมิภาค
งานประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด - การแข่งขันบั้งไฟลายกรรไกรตัด (ลายศรีภูมิ) และบั้งไฟเอ้สวยงามขนาดใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนมากที่สุดในประเทศ

- ขบวนแห่สวยงามและนักเรียน นักศึกษา สาขา นาฏศิลป์ สถาบันการศึกษา เขตจังหวัดร้อยเอ็ดและใกล้เคียงมากที่สุดในประเทศไทย

- ประกวดขบวนรำเซิ้งสวยงาม (บั้งไฟ) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] (จำนวน 15 - 18 คณะ มากที่สุดในประเทศไทย)

- การประกวด ผาแดง - นางไอ่

- มหกรรมอาหารและลานวัฒนธรรม นิทรรศการ ชุมชนทำบั้งไฟลายศรีภูมิ

ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ของทุกปี ประเทศ
งานประเพณีบุญบั้งไฟพนมไพร - การแข่งขันบั้งไฟจุดขึ้นสูง ขนาดดินประสิว มากกว่า 120 ก.ก. มากที่สุดในประเทศไทย

- การบูชาพระธาตุวัดกลาง และการเซิ้งบั้งไฟ ในจากระดับหมู่บ้าน และตำบล เข้าร่วมมากที่สุด

- ประกวดขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- ประกวด สาวงามผู้ถือป้าย

- มหกรรมดนตรี เพื่อชีวิต โดยศิลปิน ที่มีชื่อเสียง อาทิ มงคล อุทก หงา คาราวาน

วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 วันโฮมญาติ

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 วันแห่

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 วันจุด

ประเทศ
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอหนองพอก เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอโพนทราย เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สอง ของเดือน มิถุนายน ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอปทุมรัตต์ - งานนมัสการหลวงปู่พระครูประทุมสโรภาส

- ขบวนแห่บั้งไฟแบบโบราณและประยุกต์

ทุกวันที่ 1 - 2 - 3 มิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภออาจสามารถ ประมาณเดือนพฤษภาคม ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอหนองฮี ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลขวาว อ.เสลภูมิ - ขบวนรำเซิ้งผ้าหมี่ เอกลักษณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด

- ขบวนรำสวยงาม ระดับ นาฏศิลป์และสถานศึกษา

- การอนุรักษ์เซิ้งผ้าหมี่ ลายโบราณ

เสาร์ - อาทิตย์แรก ของเดือนมิถุนายน ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม - ขบวนแห่บั้งไฟสวยงามและบั้งไฟตกแต่งสวยงาม มากที่สุดในจังหวัดมหาสารคาม ประมาณสัปดาห์ที่สาม เดือนพฤษภาคม จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอราษีไศล ศรีสะเกษ - ขบวนแห่วัฒนธรรมท้องถิ่น ประมาณ เดือนพฤษภาคม ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟและผ้าไหมอำเภอบึงบูรพ์ - การจัดนิทรรศการและการส่งเสริม การจำหน่ายผ้าไหม จังหวัดศรีสะเกษ ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สี่ ของเดือนพฤษภาคม จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า อ.กฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ - การแข่งขันการจุดบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

- การประกวด ขบวนรำ และเซิ้งบั้งไฟ วัฒนธรรมผู้ไท - การประกวด ผาแดง - นางไอ่ - ขบวนประชัน และการประกวดรถแห่ - มหรรมสินค้า otop และของดีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ชวนไปเที่ยว งานวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน (ปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน) จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งเดียวในโลก บุญบั้งไฟตะไลล้าน จ.กาฬสินธุ์


- มหกรรมวงดนตรี รำวงย้อนยุค และลานกิจกรรมของดี 4 ภาค

เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่สาม ของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ประเทศ
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอ ท่าคันโท - มีขบวนแห่บั้งไฟที่สวยงาม และมีขบวนที่มากที่สุด

-ขบวนแห่วัฒนธรรมท้องถิ่น

-ประกวดขบวนบั้งไฟสวยงาม

-ประกวดฟ้อนรำ -ประกวดการเซิ้งบั้งไฟ -ประกวดผาแดง-นางไอ่ -การโชว์ แสง สี เสียงบั้งไฟสวยงาม การโชว์โปงลางและกลองยาว ชมการแสดงมหกรรมหมอลำซิ่ง มหกรรมอาหารพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล และสินค้าพื้นเมืองของดีท่าคันโท -การแข่งขันจุดบั้งไฟล้าน บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน

สัปดาห์ที่สอง ของเดือน มิถุนายน ทุกๆปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านโพน อ.คำม่วง - การอนุรักษ์ประเพณี การจัดบั้งไฟแบบดั้งเดิม

- ขบวนแห่บั้งไฟอัตลักษณ์เฉพาะ ภูไท และขบวน ละคร - ขบวนอลังการไฟมแพรวา - ขบวนสัมปะปิ (แฟนซีสร้างสรรค์) กว่า 20 ขบวน - การส่งเสริมและการจำหน่าย ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์

เสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่ สี่ ของเดือนพฤษภาคม ภูมิภาค
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกระนวน - งานประเพณีบุญบั้งไฟที่มีขบวนสวยงาม และหลากหลายที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำนานม้าคำไหล อ.เพ็ญ จังหวัดอุดรธานี - การแข่งขันการจุดบั้งไฟขึ้นสูง มากที่สุดในเขต อีสานเหนือ

- การประกวดขบวนและกิจกรรม ใน ตำนานม้าคำไหล ของตำบลธาตุ

ประมาณเดือนพฤษภาคม ภูมิภาค
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอหนองหาน - การประกวดผาแดง นางไอ่ ประมาณ สัปดาห์ที่สอง ของเดือนมิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกุมภวาปี ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอวังสามหมอ - ขบวนแห่สวยงาม

- การเซิ้งบั้งไฟรวมทุกขบวน

ประมาณเดือนพฤษภาคม ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟหนองบัวลำภู หนองบัวลำภู ประมาณสัปดาห์ที่สาม เดือนพฤษภาคม จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟล้านอำเภอศรีบุญเรือง - ขบวนแห่

- ประกวดผาแดง-นางไอ่

- การแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ  การฟ้อนรำ  การแสดงหมอลำ  การสาธิตวิธีการทำนา  การสู่ขวัญ

ประมาณเดือนมิถุนายน จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน อำเภอเอราวัณ เลย - ขบวนแห่ ของแต่ละชุมชนและท้องถิ่น

- การแข่งขันบั้งไฟขึ้นสูง ประเภทบั้งไฟล้าน

ประมาณสัปดาห์ที่สามเดือนพฤษภาคม ภูมิภาค
งานประเพณีบุญบั้งไฟ อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ อำเภอแม่เปิน นครสวรรค์ - ขบวนแห่ ขบวนฟ้อน

- ประกวดบั้งไฟ

- วงดนตรีหมอลำ

- กิจกรรมเล่นน้ำที่อ่างเก็บน้ำ

สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟ ลานทุ่งการบูร ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ - แห่บั้งไฟพร้อมประกวด ผาแดง-นางไอ่

- การแสดงพื้นบ้าน และรำวงย้อนยุค

ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ - ขบวนแห่สวยงามมากและบั้งไฟเอ้ (นำเข้าจากจังหวัดร้อยเอ็ด) มากที่สุดในภาคเหนือ

- การประกวดขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี - ชุมชนทำบั้งไฟตกแต่งสวยงาม ของกลุ่มเยาวชนตำบลพุเตย

- การแข่งขันการจุดบ้งไฟขึ้นสูง

ประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม ภูมิภาค
งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย - การอนุรักษ์ประเพณี บั้งไฟชาวไทพวน ช่วงวันวิสาขบูชา ของทุกปี ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอสุคิริน นราธิวาส - แข่งขันบั้งไฟ

- การประกวดรำเซิ้งบั้งไฟของแต่ละหมู่บ้าน ตลอดจนถึงการประกวดการตกแต่งบั้งไฟประเภทสวยงามหรือบั้งไฟเอ้ ในแบบฉบับชุมชนชาวอีสาน ในภาคใต้

สัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี - การแข่งขันการจุดบั้งไฟล้าน

- ขบวนแห่จากแต่ละชุมชน

- ขบวนฟ้อนกลองตุ้ม เอกลักษณ์เมืองอุบล

ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลชีทวน อ.เขื่องใน - ขบวนแห่บั้งไฟเอ้สวยงามจากหมู่บ้านต่าง ๆ

- ขบวนแห่บั้งไฟจากหมู่บ้านต่าง ๆ - ขบวนฟ้อนกลองตุ้ม - การแข่งขันจุดบั้งไฟประเพณี

ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอพนา อำนาจเจริญ - ขบวนรำเซิ้งบั้งไฟสวยงาม

- การบูชา องค์พระเหลาเทพนิมิต

ประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม ท้องถิ่น
การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และงานประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอลานสัก อุทัยธานี - การแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ

- การทำบั้งไฟเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน

ประมาณเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม จังหวัด
งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ อ.เมืองน่าน น่าน - การจุดบอกไฟโบราณ ประมาณเดือนมิถุนายน ท้องถิ่น
งานประเพณีบุญบั้งไฟวัดพระนอนขอนม่วง ห้วยตึงเฒ่า เชียงใหม่ - การจุดบอกไฟโบราณ

- การจุดบั้งไฟแบบฐานลอย

ประมาณเดือนมิถุนายน ท้องถิ่น

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]