รายการความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
รายการความเข้าใจผิดที่พบบ่อย นี้แก้ความเชื่อและความเข้าใจผิด ๆ ที่แพร่หลายในปัจจุบัน ในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยมีแหล่งอ้างอิงที่ได้กำหนดความเข้าใจผิดคู่กับความจริงแต่ละอย่างแล้ว ให้สังเกตว่า แต่ละรายการเขียนโดยเป็นการแก้ไข และอาจไม่ได้กล่าวถึงความเข้าใจผิดเองตรง ๆ
ศิลปะและวัฒนธรรม
[แก้]อาหารและการปรุงอาหาร
[แก้]การปรุงหุงอาหารทั่วไป
[แก้]- การย่าง/การปิ้ง/เผาเนื้อด้านนอกให้เกรียมจริง ๆ อาจทำให้เสียความชื้น เทียบกับการหุงวิธีอื่น เพราะคุณค่าของการย่างโดยทั่วไปก็คือ การทำให้เกิดผิวสีน้ำตาลที่กรอบอร่อยผ่านปฏิกิริยาเมล์ลาร์ด[1][2]
- งานศึกษาหนึ่งพบว่า อาหารที่หุงด้วยแอลกอฮอล์ (เหล้า) จะเหลือแอลกฮอล์เพียง 25% หลังจากการตุ๋น/เคี่ยว/ปิ้ง/ผิง/อบ/ย่าง 1 ชม. และ 10% หลัง 2 ชม. แต่ในกรณีทั้งสอง แอลกฮอล์ที่เหลืออยู่ในอาหารน้อยครั้งจะพอเป็นเหตุให้เมาแม้แต่เพียงเล็กน้อย[3][4]
- ไม่มีข้อมูลคงเส้นคงวาที่สนับสนุนเรื่องว่าโมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) จะจุดชนวนไมเกรนหรืออาการอื่น ๆ ที่เชื่อว่าเกิดจากผงชูรส แม้จะมีรายงานถึงกลุ่มประชากรย่อยที่ไวผลชูรส แต่ก็ไม่พบในการทดลองที่ใช้กลุ่มควบคุมและยาหลอก[5][6]
- เตาอบไมโครเวฟไม่ได้หุงอาหารให้สุกจากข้างในออกมาข้างนอก เพราะความลึกที่คลื่นไมโครเวฟสามารถเจาะถึง จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของอาหารและความถี่คลื่นที่ใช้ โดยคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่าคือยาวกว่า จะหุงอาหารให้สุกได้ลึกกว่า[ต้องการอ้างอิง]
- การใส่โลหะในเตาอบไมโครเวฟไม่ได้ทำอิเล็กทรอนิกส์ของเตาให้เสียหาย แต่ก็มีปัญหาความปลอดภัยอื่น ๆ รวมทั้ง ไฟฟ้าอาจอาร์กบนโลหะที่ไม่ได้ออกแบบให้ใส่ในเตาได้ ซึ่งอาจทำให้โลหะร้อนพอเป็นอันตรายต่ออาหาร ผิวหนัง หรือวัสดุในเตา แต่ก็มีโลหะที่ออกแบบเพื่อใช้กับเตาไมโครเวฟได้โดยไม่มีปัญหา ตัวอย่างรวมทั้งผิวโลหะที่ใช้หุ้มอาหารเพื่อเปลี่ยนคลื่นไมโครเวฟให้เป็นความร้อนเพื่อทำอาหารให้กรอบ หรืออุปกรณ์ทำพิซซ่าต่าง ๆ[7]
- เตาอบไมโครเวฟทำงานโดยทำวัสดุไดอิเล็กตริกให้ร้อน ไม่ใช่สร้างความถี่พ้อง (ความถี่เรโซแนนซ์) ของน้ำ และดังนั้น จึงสามารถสร้างเตาไมโครเวฟให้ใช้คลื่นความถี่ต่าง ๆ มากมาย อนึ่ง ความถี่พ้องของโมเลกุลน้ำที่ 22 GHz ก็มีความยาวคลื่นสั้นเกินไปที่จะอุ่นอาหารอื่น ๆ ให้ลึกพอสมควร ความถี่คลื่นของเตาปกติจะอยู่ที่ 2.45 GHz ส่วนหนึ่งก็เพราะสามารถเจาะลึกอาหารที่มีขนาดพอสมควร และส่วนหนึ่งก็เพื่อเลี่ยงรบกวนคลื่นความถี่ที่ใช้เพื่อสื่อสารเมื่อเตาเริ่มขายตอนแรก ๆ[8]
- กาแฟสดแก้วปกติจะมีกาเฟอีนมากกว่าเอสเปรสโซหนึ่งแก้วฉ็อต ความเชื่อผิดที่กลับกันมาจากความเข้มข้นกาเฟอีนที่สูงกว่าของเอสเปรสโซ แต่ปริมาณกาเฟอีนจะแพ้กาแฟสดเพราะปริมาณกาแฟที่ไม่เท่ากัน[9]
ชื่ออาหาร
[แก้]ชื่อของอาหารหลายชนิดสามารถสร้างความสับสน เนื่องจากชื่อนั้นไม่เกี่ยวข้องกับทั้งถิ่นที่มาหรือส่วนประกอบเลย ในขณะที่อาหารอีกหลายชนิดมีชื่อเรียกชวนหัวเราะ สาเหตุที่เป็นไปได้ก็คืออาหารบางชนิดตั้งชื่อตามสถานที่มีชื่อเสียง แต่ไม่ได้เป็นอาหารดั้งเดิมของที่แห่งนั้น บางชื่อเกิดจากการแปลความหมายผิดหรือออกเสียงผิดจากชื่อในภาษาดั้งเดิม[ต้องการอ้างอิง]
ชื่ออาหารทั่วไป
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
- นาซีโกเรงปาตตายา (ข้าวผัดพัทยา) - เป็นอาหารมาเลเซีย ไม่ใช่อาหารท้องถิ่นของเมืองพัทยา แต่เกิดจากการลากเข้าความของคนไทยซึ่งลากเสียง ปาตตายา เป็น พัทยา
- ไข่ปลาคาเวียร์ - เป็นไข่ของปลาสเตอร์เจียนที่นำมาปรุงรส ไม่มีปลาที่ชื่อ "คาเวียร์"
- Ants Climbing a Tree (มดปีนต้นไม้) - เป็นอาหารจีนเสฉวนทำจากหมูบนและเส้นหมี่ หน้าตาของอาหารจานนี้เหมือนกับมดที่กำลังปีนต้นไม้อยู่
- Bombay Duck (เป็ดบอมเบย์) - ไม่มีเป็ดเป็นส่วนประกอบ แต่เป็นปลาแห้งต่างหาก นั่นคือปลา Bummalo ซึ่งปกติพบมากในทะเลอารีเบียนทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ชื่อของอาหารจานนี้ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับเป็ด แต่สมัยที่อังกฤษยังตั้งมั่นอยู่ในประเทศอินเดีย ชาวยุโรปไม่สามารถทนกลิ่นของปลาที่ตากแดดไว้เพราะมันเป็นกลิ่นเหม็นเดียวกัน กับรถไม้ที่ใช้ส่งจดหมายในกรุงบอมเบย์ ในภาษาฮินดู คำว่าจดหมายคือ "dak" กลายเป็น "Bombay-Dak" และเปลี่ยนเป็น Bombay-Duck ในที่สุด
- Chicken Maryland (ไก่แมริแลนด์) - เป็นไก่ทอดเนยเสิร์ฟคู่กับกล้วยหอมทอดเนยและสับปะรดหั่นเป็นแว่น บางที่จะเอาหมูแฮมพันรอบไก่ อาหารจานนี้ไม่ได้มาจากรัฐแมริแลนด์ แต่อาจมาจากเอเชียใต้โดยชาวอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามา
- Gunpowder Tea (ชาดินปืน) - เป็นชาเขียวจีนจากมลฑลกวางตุ้งของประเทศจีน
- Hawaiian Pizza (พิซซ่าฮาวายเอี้ยน) - ถูกคิดค้นโดยชาวแคนาดา พิซซ่าชนิดนี้ไม่ได้มาจากฮาวาย ชื่อนี้น่าจะมาจากรัฐฮาวายซึ่งเป็นสถานที่ปลูกสับปะรดซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิซซ่าชนิดนี้มากกว่า
- Lion's Head (หัวสิงโต) - เป็นอาหารของชาวจีนที่ทำจากเนื้อหมู
- Norwegian Omelette (ไข่เจียวนอร์เวย์) - ไม่ได้เป็นอาหารของชาวนอร์วิเจียนและไม่มีส่วนผสมของไข่ด้วย แต่เป็นของหวานของชาวฝรั่งเศสหรือที่เรียกอีกชื่อว่า Baked Alaska (อะแลสกาอบ) มีส่วนประกอบเป็นไอสกรีมแช่เย็นจัดวางบนสปอนจ์เค้ก เคลือบด้วยเมอแรงจ์
- Singapore Mai Fun (ผัดหมี่สิงคโปร์) - บะหมี่ผัดผงกะหรี่ หารับประทานได้ในหลาย ๆ ประเทศของทวีปเอเชียและในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นที่ประเทศสิงคโปร์
- ไก่สามอย่าง - ทำจากถั่วลิสง กุ้งแห้ง และตะไคร้ ไม่มีส่วนประกอบของเนื้อไก่เลย
- เสือร้องไห้ - ทำจากเนื้อส่วนอกของวัว ไม่ได้ทำจากเนื้อเสือ
- ลอดช่องสิงคโปร์ - เป็นของหวานทำจากแป้งมันในน้ำกะทิ มีลักษณะเป็นเส้นเนื่องจากการผลิต เจ้าแรกที่ขายขนมชนิดนี้ที่ร้านสิงคโปร์ โภชนา ถนนเยาวราช ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศสิงคโปร์แต่อย่างใด อีกประการหนึ่ง เมื่อก่อนไทยนำเข้าแป้งมันจากสิงคโปร์และเรียกว่าแป้งสิงคโปร์ จึงเรียกลอดช่องที่ทำจากแป้งสิงคโปร์ว่าลอดช่องสิงคโปร์เพื่อให้ต่างจากลอดช่องอีกชนิดหนึ่ง[10]
- ไข่ลูกเขย - เป็นไข่ต้มแล้วทอด แล้วราดน้ำเชื่อม ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับลูกเขย
- ขนมจีน - ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนหรือชาวจีน แต่เป็นอาหารของชาวมอญ
- รถด่วน - เป็นชื่อที่นิยมใช้เรียกหนอนไม้ไผ่ทอดปรุงรส
- ผัดขี้เมา - เนื้อหมูหรือเนื้ออื่น ๆ ผัดกับเครื่องเทศรสจัด ไม่ได้ผสมสุราหรือเกี่ยวข้องกับ "ขี้เมา"
- ผ้าขี้ริ้ว - ไม่ใช่ผ้าแต่เป็นกระเพาะวัว
ชื่ออาหารอเมริกัน
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
- ข้าวผัดอเมริกันเป็นข้าวผัดที่ใช้เครื่องประกอบ "อเมริกัน" มีเรื่องเล่าว่าถูกประดิษฐ์ในประเทศไทยโดยคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต หรือโกเจ๊ก อาจเพื่อเป็นอาหารบริการทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม แต่อาหารจานข้าวที่คล้ายข้าวผัดอเมริกันนั้นมีมาก่อนนานแล้วคือ Mexican Rice และ Spanish Rice ข้าวผัดอเมริกันจึงอาจเป็น
- อิทธิพลของอาหารอเมริกันในไทยช่วงยุคสงครามเย็นจริงๆ ก็ได้[11] ข้าวผัดอเมริกัน
- เป็นรายการอาหารที่มักไม่มีในร้านอาหารไทยนอกประเทศไทย แต่ก็เริ่มจะมีมากขึ้นในร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา[12][13]
- Boston Cream Pie หรือ Washington Pie - เป็นขนมเค้ก ไม่ใช่พาย
- บัฟฟาโลวิงส์ - มีส่วนผสมของเนื้อไก่ ไม่ใช่เนื้อควาย ชื่อตั้งตามสถานที่ที่มีการปรุงเมนูนี้เป็นครั้งแรกนั่นคือที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก
- สลัดซีซาร์ (หรือซีซาร์สลัด) - ไม่เกี่ยวกับ จูเลียส ซีซาร์ หรือ ออกุสตุส ซีซาร์ แต่ประการใด ชื่อนี้มาจากชื่อของผู้คิดค้นอาหารเมนูนี้ ซีซาร์ คาร์ดินี
- Chinese Chicken Salad - แม้แต่คนจีนก็ไม่รู้ว่าอาหารจานนี้คืออะไร
- City Chicken หรือ Chicken Fried Steak - ไม่มีส่วนผสมของเนื้อไก่ แต่เป็นเนื้อลูกวัว เนื้อหมู หรือเนื้อวัวชุบเกล็ดขนมปังแล้วนำไปทอด
- เฟรนช์ฟรายส์ - สันนิษฐานว่ามาจากประเทศเบลเยี่ยม
- French Dressing - น้ำสลัดชนิดนี้ชาวฝรั่งเศสไม่รู้จัก
- เค้กช็อกโกแลตเยอรมัน - ไม่ใช่ของหวานที่มาจากเยอรมนี แต่เป็นของชาวอเมริกันแท้ ๆ
- แฮมเบอร์เกอร์- ไม่ได้ทำจากหมูแฮม ชื่อเรียกอาจเกี่ยวข้องกับเมืองฮัมบวร์คในประเทศเยอรมนี คิดค้นโดยคนอเมริกัน แต่ใช้ชื่อเมืองฮัมบวร์คเพราะเป็นที่มีชื่อเสียงในด้านการเลี้ยงโคเนื้อ
- ฮอตดอก - ไม่เกี่ยวกับเนื้อสุนัข แต่เป็นเพราะไส้กรอกที่สอดไส้นั้นมีรูปร่างเหมือนสุนัขพันธ์ดัชชุน
ชื่ออาหารจีน
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
- พระกระโดดกำแพง - เป็นซุปรวมหูฉลาม กระเพาะปลา หอยเป๋าฮื้อ และหอยอื่น ๆ สมุนไพรจีนชนิดต่าง ๆ ใส่รวมลงไปในโถดินเผาแล้วตุ๋น ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอม กระตุ้นความอยากอาหาร ไม่เกี่ยวข้องกับพระหรือกำแพงแต่อย่างใด แต่มีตำนานเล่าขานว่า เมื่อปรุงอาหารชนิดนี้กลิ่นหอมของมันสามารถทำให้พระเส้าหลินที่เคร่งในการ ปฏิบัติให้ปั่นป่วนจนต้องกระโดดข้ามกำแพงออกมาเพื่อตามหาต้นตอของกลิ่นนี้
- หิมะลอยน้ำ - ส่วนประกอบหลักเป็นเห็ดหูหนูขาว ไม่ได้ทำจากหิมะ
- ไข่เยี่ยวม้า - เป็นการถนอมอาหารโดยการทำไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นกกระทา ให้เป็นด่าง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Century egg (ไข่ศตวรรษ หรือไข่ร้อยปี)
- บัวลอย (ถ่างหยวน) - เป็นของหวานทำจากแป้งมันก้อนกลม ในน้ำกะทิหรือน้ำขิง ไม่มีส่วนประกอบของบัวหรือเม็ดบัว
- หมาล่า (麻辣 málà) - ชื่อมาจากการรวมคำจีนสองคำ คือ 麻 (má หมา) หมายถึง อาการชา กับ 辣 (là ล่า) หมายถึงรสเผ็ด เพื่อสื่อถึงรสชาติของหมาล่าที่เผ็ดและอาจทำให้รู้สึกชา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสุนัขหรือหมาในภาษาไทยเลย แต่เพื่อหลีกเลี่ยงคำพ้อง ในประเทศไทยจึงมักเขียนและอ่านเป็น "หม่าล่า" แทน
กฎหมายและอาชญากรรม
[แก้]- ไม่มีใครเคยอ้างในศาลว่า ขนม Twinkie ทำให้ตนก่ออาชญากรรม แต่ในคดีฆาตกรรมของชาวอเมริกันคือ นายแดน ไวท์ ทนายของจำเลยอ้างอย่างได้ผลว่า จำเลยมีสมรรถภาพเสื่อมลงเนื่องจากโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง โดยใช้การทานขนม Twinkie เป็นหลักฐานว่ามีโรค แต่ทนายไม่เคยอ้างว่าเป็นเหตุให้ฆ่า แม้เช่นนี้ มักมีคนอ้างว่า ทนายของไวท์อ้างว่า ขนม Twinkie ทำให้จำเลยก่อฆาตกรรม[14]
- กฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองชิ้นงานที่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้ตั้งแต่เริ่มสร้างชิ้นงานนั้นขึ้นทันที แม้ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้ก็ตาม ต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาชนิดอื่นโดยมากที่ต้องไปจดทะเบียนกับรัฐก่อนจึงจะได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย[15]
- แม้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ให้เครดิตหรือการอ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้อนุญาตให้ผู้นั้นนำผลงานไปใช้ในลักษณะดังกล่าว ก็ยังถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เช่นเดิม[15]
- การละเมิดลิขสิทธิ์แตกต่างจากการลักทรัพย์ เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการคัดลอกชิ้นงานต้นฉบับ ไม่ได้ทำให้ชิ้นงานต้นฉบับชิ้นนั้นหายสาบสูญไป[15][16] คำกล่าวที่ว่า การซื้อหรือรับเอาของละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้ "คือ" การลักทรัพย์ นั้น เกิดจากการรณรงค์เพื่อต่อต้านการซื้อและการดาวน์โหลดสื่อที่ละเมิดลิขสิทธิ์[15][17][18]
- โดยหลักกฎหมายไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี บุคคลทั่วไปไม่สามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ บางครั้งจึงอาจเห็นว่าตำรวจไทยเพิกเฉยไม่จับกุมผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดีเถื่อน ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่หากเป็นกรณีการละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น สินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า ถือเป็นอาญาแผ่นดิน บุคคลทั่วไปสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดได้[15]
ดนตรี
[แก้]- เพลงชาติออสเตรีย คือ ลันด์เดอร์แบร์เกอ ลันด์อัมชโตรเมอ ("แผ่นดินแห่งเทือกเขา แผ่นดินแห่งแม่น้ำ")[19] ไม่ใช่ Edelweiss ที่เป็นเพลงแต่งสำหรับละครเพลง มนต์รักเพลงสวรรค์[20]
ศาสนา
[แก้]พุทธ
[แก้]- พระพุทธเจ้าตามประวัติไม่ได้ทรงรูปอ้วน แต่รูปพระอ้วนหรือพระหัวเราะเป็นวีรบุรุษชาวจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่มีชื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Budai (จีน: 布袋) ในพุทธศาสนาของชาวจีน Budai เป็นที่เคารพนับถือในฐานะพระโพธิสัตว์ที่จะมาเป็นพระศรีอริยเมตไตรย คือจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากพระศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า[21]
- พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเป็นเจ้าในศาสนาพุทธดั้งเดิม คือพระโคตมพุทธเจ้าไม่ทรงมีฤทธิ์ทำให้คนพ้นทุกข์[22] แต่ทรงแสดงมรรคมีองค์แปดเพื่อให้ "มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ"[23] ต่อมาศาสนาพุทธนิกายมหายานโดยเฉพาะนิกายสุขาวดีจึงได้เชื่อว่า พระอมิตาภพุทธะทรงสามารถนำพาบุคคลไปยังแดนสุขาวดีได้ เพียงแค่ต้องมีศรัทธาในพระองค์ อย่างไรก็ดี พระองค์ก็ยังไม่ใช่พระเป็นเจ้าเหมือนในศาสนาที่นับถือพระเป็นเจ้าอื่น ๆ[24]
คริสต์และยูดาห์
[แก้]- ผลไม้ต้องห้ามที่กล่าวถึงในหนังสือปฐมกาลไม่ได้กำหนดว่าเป็นแอปเปิล[25] ซึ่งเป็นความเชื่อผิด ๆ ที่เห็นได้อย่างกว้างขวางในศิลปะชาวตะวันตก เนื้อความภาษาฮีบรูเดิมกล่าวเพียงแค่ "ต้นไม้" และ "ผลไม้" แต่คำแปลภาษาละตินใช้คำว่า mali ซึ่งแปลได้ทั้ง "ชั่วร้าย" และ "แอปเปิล" ส่วนในกลุ่มภาษาเจอร์แมนิก คำว่า "apple" และคำร่วมภาษาอื่น ๆ ก็หมายถึงเพียง "ผลไม้" เท่านั้น แต่ช่างศิลป์ชาวเยอรมันและฝรั่งเศสได้แสดงผลไม้เป็นแอปเปิลเริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 และผลงาน Areopagitica (พ.ศ. 2187) ของจอห์น มิลตัน ก็กล่าวถึงแอปเปิลโดยตรง[26] ส่วนนักวิชาการทางวัฒนธรรมชาวยิวเสนอว่า ผลไม้อาจเป็น ทับทิม องุ่น มะเดื่อ ข้าวสาลี เอพริคอต หรือมะงั่ว[27]
- ไม่มีหลักฐานว่าพระเยซูทรงประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม[28] เพราะคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กำหนดวันที่ 25 ธันวาคม แต่อาจแสดงนัยถึงวันที่ใกล้เดือนกันยายนมากกว่า[28] การกำหนดวันที่ชัดเจนมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 คือในปี ค.ศ. 350 พระองค์ทรงประกาศวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองทางการ[29][30] ซึ่งอาจจะเลือกวันให้เป็น 9 เดือนพอดีหลังจากที่พระแม่มารีย์รับสารว่า นางจะตั้งครรภ์เป็นบุตรพระเป็นเจ้า[31][32] ซึ่งเป็นวันเหมายันในปฏิทินโรมัน[33] หรือเป็นวันนักขัตฤกษ์ฤดูหนาวโบราณวันใดวันหนึ่ง[31][34]
- แนวคิดว่ามารีย์ชาวมักดาลาเป็นโสเภณีก่อนได้เจอพระเยซูไม่มีในคัมภีร์ไบเบิล ในพระวรสารนักบุญลูกา เพราะมีข้อความเกี่ยวกับหญิงที่มีชื่อเสียงไม่ดี (ซึ่งอาจหมายถึงความเป็นโสเภณี) ก่อนเรื่องมารีย์ชาวมักดาลาบทแรก ดั้งนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกเริ่มตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ในคริสต์ทศวรรษที่ 6 หรือไม่ก็ก่อนหน้านั้น จึงได้สมมุติว่า เรื่องสองเรื่องนี้หมายถึงหญิงคนเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่าก่อนจะพบกับพระเยซู มารีย์ชาวมักดาลาเป็นหญิงโสเภณีคนหนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานโดยตรงจากคัมภีร์ว่าเป็นเช่นนี้ โดยนักวิชาการปัจจุบันยืนยันว่า เธอไม่น่าจะเป็นโสเภณี แม้แต่พระศาสนจักรคาทอลิกเองก็ไม่ได้สนับสนุนอีกต่อไปว่า ความทั้งสองหมายถึงบุคคลเดียวกัน[A][36][37]
- คำว่า "ปฏิสนธินิรมล (Immaculate Conception)" ไม่ได้หมายถึงการประสูติของพระเยซูทั้ง ๆ ที่พระแม่มารีย์ยังเป็นหญิงพรหมจรรย์อยู่ และก็ไม่ได้หมายถึงความเชื่อว่าพระแม่มารีย์ก็ประสูติกับหญิงพรหมจรรย์เช่นกัน แต่หมายถึงความเชื่อคริสตังว่า พระแม่มารีย์ไร้ภาวะบาปกำเนิดตั้งแต่ปฏิสนธิของพระแม่เอง[38]
- สิทธันต์ของพระศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้กล่าวว่า สมเด็จพระสันตะปาปาไร้บาปหรือว่าไม่ผิดพลาดเสมอ[39] คือสิทธันต์คริสตังตั้งแต่ ค.ศ. 1870 ได้กล่าวว่า คำสอนสิทธันต์ที่พระเป็นเจ้าเปิดเผยและสมเด็จพระสันตปาปาทรงประกาศ (อย่างตั้งใจ และภายใต้สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงมาก) ไร้ความผิดพลาด และสมเด็จพระสันตปาปาเองก็ทรงประกาศโดยอ้างความไม่ผิดพลาดเช่นนี้ไว้น้อยมาก แต่นักศาสนศาสตร์โดยมากอ้างว่า การประกาศเป็นนักบุญจะผ่านข้อแม้ต่าง ๆ[40] อนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์หลัง ๆ ทรงจบการปกครองโดยไม่ได้ทรงอ้างความไม่ผิดพลาดเลย ดังนั้น แม้เมื่อพระองค์จะทรงกล่าวในฐานะสมเด็จพระสันตปาปา สิทธันต์ก็ไม่ได้ถือว่า พระองค์ไม่ทรงมีข้อผิดพลาด
- คนคริสต์ชาวมอรมอนไม่ได้มีภรรยาหลายคนอีกต่อไป แม้นี่จะเคยเป็นข้อปฏิบัติในประวัติ[41][42][43][44] ปัจจุบัน ศาสนจักรชาวมอรมอน (LDS Church) จะคว่ำบาตรสมาชิกที่มีภรรยาหลายคน[45] แต่ก็ยังมีชาวมอรมอนแบบดั้งเดิม (Mormon fundamentalist) ที่ยังมีภรรยาหลายคนในกลุ่มของตนเอง[46][47]
อิสลาม
[แก้]- คำว่า "ญิฮาด" ไม่จำเป็นต้องหมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ ตามคำในภาษาอาหรับแล้ว นี้หมายถึง "การดิ้นรน" แม้จะมีแนวคิดเกี่ยวกับ ญิฮาด "โดยดาบ"[48] นักวิชาการมุสลิมปัจจุบันจำนวนมากปกติจะกล่าวว่า มันหมายถึงความพยายามหรือความดิ้นรนทางจิตวิญญาณ[49][50] นักวิชาการชาวซีเรีย-อเมริกันผู้หนึ่งกล่าวว่า "ความคิดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพในศาสนาอิสลาม เป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งในสังคมคนมุสลิมและคนตะวันตก" ทั้งก่อนหลังเหตุการณ์ 9/11[51]
- คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้สัญญาผู้พลีชีพเพื่อศาสนาว่าจะได้หญิงพรหมจรรย์ 72 คนในสวรรค์ แต่กล่าวถึงคู่บุญ (حورية) ที่จะได้ในสวรรค์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ได้พลีชีพเพื่อศาสนาหรือไม่ แม้จะไม่ได้กำหนดจำนวน เรื่องหญิงพรหมจรรย์ 72 คนมาจากกลุ่มหะดีษที่เก็บสะสมโดย Al-Tirmidhi (أبو عيسى محمد بن عيسى السلمي الضرير البوغي الترمذي)[52][53] เนื่องจากหะดีษเป็นคำพูดและการกระทำของนบีมุฮัมมัดดังที่รายงานโดยคนอื่น จึงไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์อัลกุรอานเอง ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อหะดีษทั้งหมด โดยเฉพาะหะดีษที่มีแหล่งอ้างอิงที่ไม่หนักแน่นเช่นนี้[54] อนึ่ง คำแปลที่ถูกต้องของหะดีษนี้ก็ยังไม่ชัดเจน[52]
กีฬา
[แก้]- นิยามของกีฬาในภาษาไทยนั้นไม่ได้กำหนดบังคับไว้ว่าต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลังมากหรือทำให้เหงื่อออกมากเท่านั้น[55][56] นอกจากนี้ การแข่งขันบางอย่าง เช่น หมากรุกสากล, หมากรุกจีน, หมากล้อม, บริดจ์ (เกมไพ่), ปาเป้า เป็นต้น ก็ได้มีบางประเทศที่ให้การรับรองว่าเป็นกีฬา[56]
- สายดำในศิลปะการต่อสู้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเป็นผู้ชำนาญ มันใช้เป็นครั้งแรกในยูโดในคริสต์ทศวรรษ 1880 เพื่อแสดงความสามารถพื้นฐานทางเทคนิคทั้งหมดของกีฬา การได้ชั้นเหนือกว่าสายดำจะต่าง ๆ กันในศิลปะต่าง ๆ ในยูโดและศิลปะป้องกันตัวของคนเอเชีย คนที่มีชั้นเหนือกว่าจะได้สายคาดเอวเป็นแถบสีแดงสลับกับสีขาว และชั้นสูงสุดเป็นสีแดง[57]
คำและวลี
[แก้]- ภาษามือไม่ได้เหมือนกันทั่วโลก นอกจากภาษามือสากลที่เป็นภาษาพิดจิน/ภาษาแก้ขัดแล้ว แต่ละประเทศยังมีภาษามือของตนเอง โดยบางประเทศมีมากกว่าหนึ่ง แม้ภาษามือต่าง ๆ จะมีอะไรที่คล้ายคลึงกันพอสมควร[58][59][60]
คำและวลีในภาษาอังกฤษ
[แก้]- คำไม่มาตรฐาน คำสแลง หรือคำภาษาปากที่ใช้บางครั้งอ้างว่า ไม่ใช่คำจริง ๆ แม้จะปรากฏในพจนานุกรมมากมาย[61] แต่คำภาษาอังกฤษทั้งหมดจะยอมรับเป็นคำหลังจากได้ใช้อย่างสามัญเป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น ปัจจุบัน อาจจะมีการใช้คำ "ไม่เป็นทางการ" ที่มองว่า "ไม่ถูก" ในการเขียนการพูดแบบรูปนัย แต่ความคิดว่ามันไม่ใช่คำเป็นเรื่องเข้าใจผิด[62] ตัวอย่างของคำที่เรียกว่าไม่ใช่คำรวมทั้ง "irregardless" (แปลว่า "โดยไม่คำนึงถึง" โดยบางครั้งใช้เน้นความหมาย เหมือน "regardless" )[B][64] "conversate" ("สนทนา, พูดคุย" เหมือน "converse") "funnest" ("สนุกที่สุด" เหมือน "most fun") "mentee" ("น้องเลี้ยง" คู่กับ mentor "พี่เลี้ยง") "impactful" ("มีผลกระทบ" เป็นคำคุณศัพท์), และ "thusly" ("ดังนั้น" เหมือน "thus")[65] ซึ่งปรากฏในพจนานุกรมจำนวนมากว่าเป็นคำอังกฤษ[66][67]
- คำว่า "Xmas" ไม่ใช่แผนของฆราวาสเพื่อ "นำ (พระ) คริสต์ออกจากคริสต์มาส"[68] X เป็นอักษรกรีก ไค ( χ) ซึ่งเป็นอักษรแรกของคำว่า Χριστός (Christos) คือ "พระคริสต์" ในภาษากรีก[69] การใช้คำนี้ในภาษาอังกฤษสาวรอยไปถึงปี ค.ศ. 1021 เมื่อ "นักบวชในอังกฤษ...ใช้ X เป็นตัวย่อเมื่อลอก หนังสือที่เขียนด้วยมือยุคคลาสสิกไปเป็นภาษาอังกฤษเก่า" แทนที่คำว่า "คริสต์"[68] ส่วนพจนานุกรมอังกฤษอ๊อกซฟอร์ดกล่าวว่า "การใช้ 'Xmas' แทน 'Christmas' มีตั้งแต่ ค.ศ. 1551"[70]
คำและวลีในภาษาไทย
[แก้]- ราชบัณฑิตยสถานไม่เคยบัญญัติให้ใช้คำว่า "กระด้างภัณฑ์", "ละมุนภัณฑ์" และ "แท่งหรรษา" แต่อย่างใด แท้จริงแล้วราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ดังนี้[71][72]
- hardware ใช้ทับศัพท์ว่า "ฮาร์ดแวร์" หรือคำไทยว่า "ส่วนเครื่อง" หรือ "ส่วนอุปกรณ์"
- software ใช้ทับศัพท์ว่า "ซอฟต์แวร์" หรือคำไทยว่า "ส่วนชุดคำสั่ง"
- joystick ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า "ก้านควบคุม"[71]
- ลูกของหลานคือ "เหลน" และลูกของเหลนคือ "ลื่อ" ส่วนคำว่า "โหลน" นั้นไม่ได้มีในลำดับญาติ ความเข้าใจผิดอาจมีที่มาจากการใช้คำคล้องจองกันในเนื้อเพลงปลุกใจเพลงหนึ่ง[73]
- ชื่อเรียกพยัญชนะตัวที่ 12 ของอักษรไทยคือ "ฌ เฌอ" ส่วนคำว่ากระเชอหมายถึงภาชนะสานแบบหนึ่ง[74] การที่มักนิยมเรียกหรือท่องว่า "ฌ กะเฌอ" อาจเป็นไปเพื่อความสะดวกในการออกเสียง หรืออาจเกิดจากคำว่ากระเชอนั้นเป็นที่คุ้นเคยมากกว่า เช่นในสำนวน "กระเชอก้นรั่ว"
ประวัติศาสตร์
[แก้]โบราณจนถึงต้นปัจจุบัน
[แก้]- การอาเจียน (Vomiting) ไม่ใช่ธรรมเนียมการรับประทานอาหารของชาวโรมัน[75] แต่ในโรมโบราณ มีโครงสร้างทางสถาปัตย์ที่เรียกว่า Vomitorium ซึ่งเป็นทางเข้าออกของผู้มาชมการแสดงในที่แสดงกลางแจ้ง ซึ่งไม่ใช่เป็นห้องพิเศษเพื่ออาเจียนอาหารออกในระหว่างการรับประทานอาหาร[76]
- ห้องสมุดแห่งอะเล็กซานเดรียไม่ได้ถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมเมื่อเข้ายึดเมืองในปี ค.ศ. 641 ความเข้าใจผิดที่สำคัญและสามัญก็คือ เคาะลีฟะฮ์อุมัรสั่งให้ทำลายด้วยเหตุผลว่า "ถ้าหนังสือเหล่านั้นเข้ากับคัมภีร์อัลกุรอานได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้มัน และถ้าเข้ากันไม่ได้ ให้ทำลายมัน" (หรือในคำอื่น ๆ) เรื่องนี้ไม่ได้ปรากฏในความเขียนจนหลายร้อยปีหลังเหตุการณ์ (ที่ดังที่สุดเป็นงานของ Bar Hebraeus ในคริสต์ทศวรรษที่ 13) แม้แต่ความในยุคเดียวกันก็ไม่ได้กล่าวถึงการทำลายห้องสมุด นักวิชาการปัจจุบันมีมติร่วมกันว่า ห้องสมุดน่าจะถูกทำลายเป็นศตวรรษ ๆ ก่อนการเข้ายึดอะเล็กซานเดรียของมุสลิม[77][78] (เชื่อว่า เป็นห้องสมุดที่ไกเซรี ซึ่งเป็นแหล่งสะสมวรรณกรรมศาสนาคริสต์สำคัญ ที่ถูกทำลายใกล้เวลานี้)[C]
- แม้จะจริงว่า การคาดหมายคงชีพในยุคกลางและก่อนหน้านั้นต่ำ แต่ก็ไม่ควรอนุมานว่ามนุษย์ในยุคนั้นปกติจะเสียชีวิตราว ๆ อายุ 30 ปี[80] จริง ๆ แล้ว การคาดหมายคงชีพที่ต่ำได้อิทธิพลที่มีกำลังจากการตายของทารกที่สูงมาก แต่การคาดหมายคงชีพของคนที่รอดชีวิตจนถึงวัยผู้ใหญ่สูงกว่ามาก เช่น ชายอายุ 21 ปีในประเทศอังกฤษสมัยกลางคาดได้ว่าจะมีอายุถึง 64 ปี[81]
- ไม่มีหลักฐานว่าคนไวกิงใส่หมวกมีเขา[82] จริง ๆ แล้ว ภาพคนไวกิงใส่หมวกมีเขามาจากภาพมิติ (scenography) ที่ผลิตเพื่อโปรโหมตอุปรากรปกรณัมแหวนแห่งนิเบลุงเกน (Der Ring des Nibelungen) ของริชาร์ด วากเนอร์ในปี ค.ศ. 2419[83]
- พระเจ้าคนุตมหาราชไม่ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้น้ำลงตามความอหังการแบบหลงผิดของพระองค์[84] ถ้ามีเหตุการณ์นี้จริง ๆ ก็น่าจะทรงกล่าวเพื่อชี้ให้สภาองคมนตรีของพระองค์เห็นว่า ไม่มีมนุษย์ใดที่มีอำนาจไม่สิ้นสุด และต่างก็ต้องอ่อนข้อต่อปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตน เช่น น้ำขึ้นน้ำลง
- เกราะแบบแผ่น (plate armor) ของทหารยุโรปในอดีต ไม่ได้ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ หรือต้องใช้ปั้นจั่นเพื่อยกขึ้นบนอานม้า ทหารจะสามารถสู้รบบนพื้นดินและสามารถขึ้นลงม้าโดยไม่ต้องช่วย จริง ๆ แล้ว ทหารที่ใช้เกราะแผ่นจะเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าที่ใช้เกราะลูกโซ่ (mail armor) เพราะเกราะลูกโซ่หนักกว่า และต้องใช้อะไรอย่างหนารองเพราะมันยืดหยุ่นได้ง่าย[85] แต่ก็จริงว่า เกราะที่ใช้ในการแข่งขันประลองยุทธ์ในปลายสมัยกลางจะหนักกว่าที่ใช้ในสงครามมาก[86] ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดแบบนี้
- นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันไม่เห็นด้วยว่า เข็มขัดพรหมจรรย์ซึ่งห้ามไม่ให้หญิงมีเพศสัมพันธ์ได้ประดิษฐ์ขึ้นจริง ๆ ในสมัยกลาง (คริสต์ทศวรรษที่ 5 จนถึง 15) เข็มขัดพรหมจรรย์ที่มีอยู่เชื่อว่า เป็นของปลอมหรืออุปกรณ์ป้องกันการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจากคริสต์ทศวรรษที่ 19 และ 20 โดยมาจากความเชื่อผิด ๆ ที่แพร่หลายว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทำให้บ้า และผู้ปกครองมักจะซื้อให้กับลูกวัยรุ่นของตน[87]
- คนยุโรปยุคกลางไม่ได้เชื่อว่าโลกแบน จริง ๆ แล้วตั้งแต่ยุคนักปรัชญาชาวกรีกโบราณเพลโตและอาริสโตเติล ปัญญาชนชาวยุโรปเกือบทั้งหมดเชื่อว่าโลกกลม ดังนั้น อุปสรรคในการได้การสนับสนุนการเดินทางของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จึงไม่ใช่ความเชื่อว่าโลกแบน แต่เป็นความกังวลว่า อินเดียตะวันออกไกลกว่าที่เขาคิด[88] เพราะถ้าทวีปอเมริกาไม่มี เขาก็จะหมดเสบียงก่อนที่จะถึงเอเชีย
- คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ไม่เคยไปถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกา สถานที่ซึ่งเขาจอดเรือในการเดินทาง 4 ครั้งของเขา รวมทั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492 (ซึ่งปัจจุบันกำหนดเป็นวันโคลัมบัส) อยู่ในหมู่เกาะแคริบเบียนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศอิสระต่าง ๆ และโคลัมบัสก็ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่ไปถึงทวีปอเมริกา มีนักสำรวจอย่างน้อยคนหนึ่งคือเลฟ เอริกสัน ที่ได้เดินทางไปถึงส่วนที่เชื่อว่าเป็นเกาะนิวฟันด์แลนด์ในอาณาเขตของแคนาดา แม้ก็ไปไม่ถึงแผ่นดินใหญ่เช่นกัน[89][90]
- มาร์โก โปโล ไม่ได้นำพาสตามาจากเมืองจีน[91] เป็นความเข้าใจผิดที่เริ่มจากบทความ บันทึกมักกะโรนี (Macaroni Journal) ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมอาหารได้ตีพิมพ์เพื่อโปรโหมตพาสตาในสหรัฐอเมริกา[92] แต่มาร์โก โปโล ได้พรรณนาถึงอาหารคล้ายกับขนมปังกรีก "lagana" ในหนังสือของเขาโดยใช้คำที่เขาคุ้นเคย ส่วนตามจดหมายข่าวของสมาคมผู้ผลิตมักกะโรนีแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ชาวอาหรับจากลิเบียที่พิชิตเกาะซิซิลีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้ เป็นผู้นำแป้งสาลีของข้าว Triticum durum มา และดังนั้นจึงเป็นผู้นำพาสตาที่ทำจากแป้งมาด้วย[93] ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเดินทางของมาร์โก โปโล ราว ๆ 6 ศตวรรษ
- มารี อ็องตัวแน็ต ผู้ทรงเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ไม่ได้ทรงตรัสว่า "ให้พวกเขาทานขนมเค้ก" เมื่อทรงสดับว่า คนจนชาวฝรั่งเศสกำลังอดอยากเพราะขาดแคลนขนมปัง วลีนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในผลงานของฌ็อง-ฌัก รูโซ (Confessions) เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียงแค่ 9 พรรษา และนักวิชาการโดยมากก็เชื่อว่า รูโซบัญญัติ์วลีนี้เอง หรือว่าเป็นพระดำรัสของมาเรีย เทเรสแห่งสเปน ผู้เป็นพระราชมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส แม้แต่ รูโซเอง (และแน่นอนว่า ไม่ใช่มารี อ็องตัวแน็ต) ก็ไม่ได้ใช้วลีเช่นนี้โดยตรง แต่ใช้อีกวลีว่า "Qu'ils mangent de la brioche" คือ "ให้พวกเขาทานขนมปังบริโยช" (ซึ่งเป็นขนมปังอร่อย) แต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนไม่นิยม และดังนั้น คนจึงยกวลี "ให้พวกเขาทานขนมเค้ก" ว่ามาจากพระองค์ เพื่อให้เข้ากับชื่อเสียงว่ามีพระหฤทัยดำและไม่ทรงเข้าพระหฤทัยประชาชน[94]
- จอร์จ วอชิงตัน ไม่ได้มีฟันไม้ ฟันปลอมของเขาทำจากทอง ฟันของฮิปโปโปเตมัส ตะกั่ว ฟันสัตว์อื่น ๆ รวมทั้งม้าและลา[95] และอาจฟันมนุษย์ที่ซื้อมาจากทาส[96]
- การลงนามคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 คือ หลังจาก Second Continental Congress ได้ลงคะแนนออกเสียงให้ประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ร่างคำประกาศก็ได้อนุมัติใช้ในวันที่ 4 ก.ค. แล้วจึงพิมพ์แจกจ่ายในวันที่ 4-5[97] แต่ได้ลงรายนามจริง ๆ ในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1776[98]
- เบนจามิน แฟรงคลิน ไม่ได้เสนอใช้ไก่งวงป่าเป็นสัญลักษณ์ประเทศสหรัฐอเมริกาแทนอินทรีหัวขาว แต่เมื่อเขาเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่พยายามออกแบบตราหลังจากการประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา เขาได้เสนอใช้ภาพของโมเสส ส่วนการคัดค้านใช้อินทรีหัวขาวเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ และการแสดงความชอบใจใช้ไก่งวง อยู่ในจดหมายที่เขียนให้ลูกสาวในปี ค.ศ. 1784 แม้เขาไม่เคยแสดงความเห็นเช่นนี้ต่อหน้าธารกำนัล[99][100]
- ไม่เคยมีร่างกฎหมายเพื่อใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาทางการของสหรัฐอเมริกา ที่พ่ายการลงคะแนนเพียงแค่แต้มเดียวในรัฐสภาสหรัฐ และก็ไม่เคยมีในระดับรัฐด้วย แต่ในปี ค.ศ. 1794 มีคำร้องจากผู้อพยพชาวเยอรมันให้พิมพ์กฎหมายบางส่วนเป็นภาษาเยอรมันที่พ่ายคะแนนเสียงโดย 42-41 ซึ่งเป็นมูลฐานของตำนาน (ไม่จริง) นี้ซึ่งมีชื่อว่า Muhlenberg legend ตามประธานสภาผู้แทนราษฎรเชื้อสายชาวเยอรมันที่งดไม่ออกเสียงในการนี้[101][102][103]
ปัจจุบัน
[แก้]- นโปเลียน โบนาปาร์ตไม่ได้เตี้ย เพราะเขาสูงกว่าคนฝรั่งเศสโดยเฉลี่ยในเวลานั้น[104][105] หลังจากการเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1821 ความสูงเขาเขาวัดได้ 5 ฟุต 2 นิ้ว (ฝรั่งเศส) ซึ่งเท่ากับ 169 ซม.[106][107] บางคนเชื่อว่าเขาได้ชื่อเล่นว่า le Petit Caporal (นายสิบโทน้อย) โดยเป็นคำเสน่หา[108] อนึ่ง เขามักจะมีทหารรักษาความปลอดภัยที่เลือกเพราะความสูง[109] ซึ่งอาจจะช่วยสร้างความคิดว่าเขาค่อนข้างเตี้ย
- หมวกคาวบอยตอนแรกไม่ได้นิยมในรัฐชายแดนอเมริกัน เพราะปกตินิยมหมวกที่เรียกว่า derby หรือ bowler[110] จนกระทั่งบริษัทจอห์น บี. สเต็ตสัน วางตลาดหมวกรุ่น "นายแห่งทุ่ง (Boss of the Plains)" อย่างเข้ม (ค.ศ. 1865) หลังจากสงครามกลางเมืองอเมริกัน (ค.ศ. 1861-1865) ขับให้หมวกคาวบอยกลายเป็นที่นิยม แม้ลักษณะเฉพาะคือรอยบุบข้าง ๆ ก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานจนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19[111]
- ชื่อสกุลของผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกาไม่ได้เปลี่ยนสะกดเป็นคำอเมริกัน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือโดยผิดพลาดไป เป็นต้น เมื่อเดินทางไปถึงเกาะเอ็ลลิส เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้บันทึกข้อมูลอะไรนอกเหนือไปจากบัญชีสินค้าที่มาจากต้นทาง และไม่มีเอกสารอะไรที่บันทึกแล้วทำให้เกิดผลเช่นนั้น โดยไม่ต้องถามถึงกฎหมายว่ามีหรือไม่ ในช่วงนั้นในนครนิวยอร์ก ทุกคนสามารถเปลี่ยนการสะกดชื่อของตนโดยเพียงแต่ใช้คำสะกดใหม่[112]
- ภาพสามัญของซานตาคลอสที่เป็นชายแก่อารมณ์ดีในชุดสีแดงไม่ได้สร้างโดยบริษัทโคคา-โคลาเพื่อใช้โฆษณา แม้โดยประวัติจะมีลักษณะอื่น ๆ และอยู่ในชุดสีต่าง ๆ แต่ซานตาคลอสก็ได้มีรูปในสื่อมวลชนดังที่เห็นในปัจจุบัน และได้ใช้อย่างกว้างขวางในการโฆษณาของบริษัทอื่น ๆ อยู่แล้ว เมื่อบริษัทโคคาโคล่าเริ่มใช้รูปในคริสต์ทศวรรษ 1930[113]
- จอมเผด็จการอิตาลีเบนิโต มุสโสลินี ไม่ได้ "ทำให้รถไฟวิ่งตรงเวลา" งานบูรณะรถไฟได้ทำเสร็จแล้วก่อนที่มุสโสลินีและพรรคฟาสซิสต์จะขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1922 บันทึกจากช่วงนั้นแสดงว่า การวิ่งตามตารางที่เป็นตำนานของรถไฟอิตาลีเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่เรื่องจริง[114]
- ผู้ฟังจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ตื่นตระหนกเพราะการออกวิทยุรายการเดอะวอร์ออฟเดอะเวิลด์ส ที่ปรับมาจากนิยายชื่อเดียวกันของเอช. จี. เวลส์ คือมีคนน้อยมากที่ฟังรายการนี้ ถึงกระนั้น หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็ได้โจมตีตำหนิรายการเพราะการหนีแตกกระเจิงที่มีน้อยและเพราะจำนวนการโทรเรียกเบอร์ฉุกเฉิน เพื่อดิสเครดิตวิทยุในฐานะคู่แข่งการโฆษณา แม้ทั้งนักเขียนและสถานีซีบีเอสตอนแรกจะขอโทษผู้ฟัง แต่เมื่อต่อมาตระหนักว่าตำนานนี้ให้ประโยชน์แก่พวกตน ภายหลังจึงนำมากล่าวถึงอย่างจริง ๆ จัง ๆ[115][116]
- ไม่มีหลักฐานว่ากองทัพม้าของโปแลนด์ได้เข้าต่อสู้อย่างไร้ผลกับรถถังเยอรมันด้วยหลาวและดาบโค้ง ในการบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1939 เรื่องนี้อาจมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเยอรมันหลังจากการบุกประชิดที่หมู่บ้านโครยานตี ที่กองพลทหารม้าโปแลนด์จู่โจมทหารราบของเยอรมันในที่โล่ง คือได้วิ่งรุกแล้วไล่ทหารให้กระจัดกระจายไปอย่างสำเร็จ จนกระทั่งถูกไล่ไปด้วยรถเกราะ เพราะแม้ทหารม้าโปแลนด์จะยังถือดาบโค้งเพื่อใช้ แต่ก็ได้ฝึกเป็นทหารราบ (dragoon) ที่สามารถเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว และก็มีอาวุธต่อต้านรถถังแบบเบาใช้ด้วย[117][118]
- ในช่วงระหว่างการยึดครองเดนมาร์กของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าคริสเตียนที่ 10 แห่งเดนมาร์ก ไม่ได้ทรงขัดขวางความพยายามของนาซีเพื่อระบุคนยิวโดยทรงดาราแห่งดาวิดเอง เพราะคนยิวในเดนมาร์กไม่ได้ถูกบังคับให้ใส่ดาว แต่ขบวนการต่อต้านเดนมาร์กก็ได้ช่วยคนยิวหนีออกจากประเทศก่อนจะสิ้นสุดสงคราม[119]
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไม่ได้ตกวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียน เมื่อเห็นบทความที่อ้างเช่นนี้ เขาได้กล่าวว่า "ผมไม่เคยตกเลข... ก่อนอายุ 15 ปี ผมได้เรียนรู้แคลคูลัสทั้งเชิงอนุพันธ์และเชิงปริพันธ์อย่างชำนาญแล้ว"[120][121] แม้ไอน์สไตน์จะได้ตกการสอบเอ็นทรานซ์เข้าสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช ในปี ค.ศ. 1895 เมื่อเขาอายุ 2 ปีน้อยกว่าเพื่อน แต่ก็ได้คะแนนดีมากในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แล้วต่อมาจึงผ่านการสอบครั้งที่สอง[122]
- นักแสดงโรนัลด์ เรแกน (และต่อมาประธานาธิบดีสหรัฐ) ไม่ได้รับพิจารณาอย่างจริงจังให้แสดงบทบาทของพระเอกในภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง คาซาบลังกา ซึ่งฮัมฟรีย์ โบการ์ต เป็นผู้แสดง ความเชื่อนี้มาจากการแถลงข่าวในตอนต้นของกองถ่าย ที่ประกาศการสร้างหนังซึ่งใช้ชื่อของเขาเพื่อสร้างความสนใจ แต่ต่อมาบริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์สก็รู้ชัดว่า เรแกนไม่สามารถรับบทอะไร ๆ ในอนาคตที่มองเห็นได้ เพราะไม่สามารถผลัดการเป็นทหารอีกต่อไป[123] และบันทึกของกองถ่ายก็แสดงว่า ผู้อำนวยการสร้างต้องการโบการ์ตให้เป็นผู้แสดงตั้งแต่ต้น[124][125]
- คำของประธานาธิบดีสหรัฐจอห์น เอฟ. เคนเนดี ว่า "Ich bin ein Berliner" เป็นภาษาเยอรมันมาตรฐานที่แปลว่า "ผมเป็นคนเบอร์ลินคนหนึ่ง"[126][127] มีแต่ตำนานพื้นบ้านว่า เนื่องจากการใช้คำกำกับนาม ein ที่ไม่ได้หมายถึงคำที่ได้กล่าวมาก่อน ดังนั้นคำว่า Berliner จึงควรแปลว่า โดนัทเจลลี และตำนานว่า ประชาชนชาวเบอร์ลินรู้สึกตลกเพราะการใช้คำผิดนั้น คือจริง ๆ คำว่า Berliner ไม่ได้ใช้เป็นคำสามัญในเบอร์ลินเพื่อหมายถึง ขนม Berliner Pfannkuchen เพราะปกติจะเรียกขนมว่า ein Pfannkuchen[128]
- เมื่อบาร์เทนเดอร์ น.ส. คิตตี้ เจโนวีส ถูกฆาตกรรมนอกห้องพักของเธอในควีนส์ รัฐนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1964 เพื่อนบ้าน 37 คนไม่ได้ยืนดูเฉย ๆ โดยไม่โทรเรียกตำรวจจนกระทั่งเธอได้เสียชีวิต ตามที่หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รายงานในเบื้องต้น[129] ซึ่งทำให้สาธารณชนเกิดความเดือดดาลอย่างกว้างขวางเป็นปี ๆ รายงานภายหลังแสดงว่า รายงานตำรวจที่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ใช้ในเบื้องต้นไม่ถูกต้อง ว่าเจโนวีสถูกทำร้ายสองครั้งในที่ต่าง ๆ และว่า แม้จะมีพยานที่ได้ยินเสียงการทำร้าย แต่ก็ได้ยินแค่สั้น ๆ โดยไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น โดยมีแค่ 6-7 คนที่รายงานว่าเห็นอะไรบ้าง และบางคนก็ได้โทรเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนเดียวที่กล่าวว่า "ผมไม่อยากยุ่งด้วย" ซึ่งภายหลังยกเป็นความรู้สึกของคนที่เห็นและได้ยินการทำร้ายแม้เพียงแค่บางส่วนอย่างรวบยอด[130]
- เดอะโรลลิงสโตนส์ไม่ได้กำลังเล่นเพลง "ซิมพาทีฟอร์เดอะเดวิล" (แปลว่า ความเห็นใจให้กับซาตาน) ในปี ค.ศ. 1969 เมื่อนายเมเรดิธ ฮันเตอร์ถูกแทงจนเสียชีวิตโดยสมาชิกแก๊งมอเตอร์ไซค์ Hells Angels ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม้จะเป็นเพลงที่จุดชนวนเริ่มเหตุการณ์ ที่นายฮันเตอร์ก่อแล้วทำให้วงต้องหยุดเล่นชั่วขณะก่อนที่จะร้องจนจบ แต่การเสียชีวิตเกิดขึ้นภายหลังอีกหลายเพลงเมื่อวงกำลังเล่นเพลง "Under My Thumb"[131][132] ความเข้าใจผิดนี้มาจากรายงานในนิตยสารโรลลิงสโตน[133]
- แม้จะรู้จักกันว่า "โทรศัพท์แดง" สายตรงระหว่างมอสโก-วอชิงตัน ดี.ซี. แต่ความจริงก็ไม่ใช่เป็นสายโทรศัพท์ และก็ไม่ได้ใช้โทรศัพท์สีแดง โดยรุ่นแรกของสายตรงใช้เครื่องโทรพิมพ์ แล้วต่อมาปี พ.ศ. 2531 จึงเริ่มใช้เครื่องโทรสาร และตั้งแต่ปี 2551 จึงใช้ต่อคอมพิวเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนอีเมล[134] อนึ่ง สายตรงเชื่อมระหว่างเคล็มลินกับเดอะเพนตากอน ไม่ใช่กับทำเนียบขาว[135]
- ในประเทศไทย คำกล่าวที่ว่า "แพร่แห่ระเบิด" หรือ "เมืองแป้แห่ระเบิด" ไม่ได้มีที่มามาจากประชาชนชาวจังหวัดแพร่ในขณะนั้นไม่รู้จักระเบิดแล้วนำไปแห่แหนจนเกิดระเบิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เกิดจากมีผู้ไปพบระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่ทำงาน จึงถอดชนวนระเบิดออกแล้วนำเปลือกหรือตัวถังของลูกระเบิดไปถวายวัดให้ทำเป็นระฆัง[136][137] นอกจากนี้การนำเปลือกของลูกระเบิดไปทำเป็นระฆังก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะในแพร่ ยังมีในจังหวัดอื่นทางภาคเหนือด้วย[138]
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]ดาราศาสตร์
[แก้]- กำแพงเมืองจีนไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เดียวที่เห็นได้จากดวงจันทร์หรือจากอวกาศ ไม่มีนักบินอวกาศจากโครงการอะพอลโลสักคนหนึ่ง ที่ได้รายงานว่าเห็นสิ่งประดิษฐ์มนุษย์สักอย่างเดียวจากดวงจันทร์ แม้แต่นักบินที่โคจรรอบโลกก็ยังแทบไม่เห็น แต่แสงไฟจากเมืองสามารถเห็นได้ง่ายในด้านกลางคืนของโลกจากวิถีโคจร[139] นักบินกระสวยอวกาศคนหนึ่งกล่าวว่า "กำแพงเมืองจีนเกือบมองไม่เห็นเริ่มตั้งแต่ความสูง 288 กิโลเมตร (180 ไมล์) ขึ้นไป"[140] ผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติคนหนึ่ง ได้พยายามหามันจากสถานี และกล่าวว่า "ยากเพราะแคบและมีสีมน"[141]
- หลุมดำจะมีความโน้มถ่วงเท่ากับวัตถุอื่นที่มีมวลเท่า ๆ กัน ซึ่งก็จะดึงดูดวัตถุที่อยู่ใกล้ให้เข้าไปหาเหมือนกับดาวเคราะห์อื่น ๆ ยกเว้นว่าจะดึงเข้าไปใกล้มาก[142] ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแทนดวงอาทิตย์ด้วยหลุมดำที่มีมวลเท่ากัน โคจรของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ก็จะไม่มีผลอะไร หลุมดำ "อาจ" มีฤทธิ์เป็น "เครื่องดูดฝุ่นระดับคอสมิก" ที่สามารถดูดสสารเข้าไปได้อย่างพอสมควร แต่จะเกิดก็ต่อเมื่อดาวฤกษ์ที่เป็นเหตุมีผลอย่างนี้อยู่แล้วต่อสสารรอบ ๆ ตัว[143]
- ฤดูไม่ได้มีเหตุจากโลกอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ในฤดูร้อนมากกว่าในฤดูหนาว จริง ๆ แล้ว โลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดระหว่างฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ ฤดูมีเหตุจากแกนโลกที่เอียง 23.4 องศา คือในเดือนกรกฎาคม ซีกโลกเหนือจะเอียงไปทางพระอาทิตย์ แล้วทำให้กลางวันยาวกว่าและได้แสงอาทิตย์โดยตรงมากกว่า ส่วนในเดือนมกราคม มันจะเอียงออกไปจากพระอาทิตย์ ฤดูจะกลับกันในซีกโลกใต้ ซึ่งเอียงไปทางดวงอาทิตย์ในเดือนมกราคม และออกไปจากดวงอาทิตย์ในเดือนกรกฎาคม[144][145]
- อุกกาบาตไม่จำเป็นต้องร้อนเมื่อตกมาถึงเปลือกโลก จริง ๆ แล้วมีอุกกาบาตมากมายที่พบพร้อมกับน้ำค้างแข็ง คือตอนที่เริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งดวงอาทิตย์เท่านั้นทำให้ร้อน อุกกาบาตจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง จากนั้น ความร้อนจัดที่เกิดขึ้นช่วงผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศเบื้องบนด้วยความเร็วสูง ก็จะละลายชั้นนอกของอุกกาบาต โดยวัสดุที่หลอมละลายจะกระเด็นออกไป และด้านในก็ยังไม่มีเวลาจะเพิ่มอุณหภูมิพอจนเห็นได้ อนึ่ง อุกกาบาตโดยมากจะตกผ่านชั้นบรรยากาศเบื้องล่างที่ค่อนข้างเย็นเป็นเวลาหลายนาทีด้วยความเร็วต่ำกว่าเสียงก่อนจะถึงพื้นโลก ซึ่งเป็นเวลาพอให้ผิวด้านนอกเย็นลงอีก[146]
- เมื่ออุกกาบาตหรือยานอวกาศเข้ามาในบรรยากาศโลก ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเหตุจากแรงเสียดทานเป็นหลัก แต่เกิดจากแรงอัดแอเดียแบติก[D] ที่เกิดด้านหน้า[149][150][151]
- การตั้งไข่ทำได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่วันวสันตวิษุวัต[152] โดยปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับการตั้งไข่ได้[153] ธรรมเนียมวันตั้งไข่มาจากเมืองจีน ซึ่งมีรายงานในนิตยสาร Life ในปี ค.ศ. 1945[154] แต่ก็มีข่าวในปี ค.ศ. 1987 ด้วยว่า มีคนตั้งไข่ได้ทุกวันตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์จนถึง 3 เมษายน โดยคนตั้งยังพบด้วยว่า "...ไข่บางลูกไม่มีทางตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นวันวิษุวัตหรือไม่"[153]
- ดวงอาทิตย์มีสีขาว โดยมีดัชนี CIE color-space ใกล้ (0.3, 0.3) เมื่อมองจากอวกาศหรือที่สูงในบรรยากาศ แต่ในที่ต่ำ การกระจัดกระจายแสงของบรรยากาศจะทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นสีเหลือง แดง ส้ม หรือสีแดงม่วง และแม้จะมีสีขาว แต่คนโดยมากก็นึกถึงดวงอาทิตย์ว่ามีสีเหลือง โดยเหตุผลเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน[155]
- แม้อำเภอโขงเจียมจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศไทย แต่ในฤดูหนาว รวมถึงวันปีใหม่ ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส[156][157][158]
ชีววิทยา
[แก้]สัตว์มีกระดูกสันหลัง
[แก้]- ช้างชราใกล้ตายไม่ได้ออกจากฝูงแล้วไปยังสถานที่พิเศษที่เรียกว่า สุสานช้าง เพื่อจะตายโดยสัญชาตญาณ[159]
- วัวตัวผู้ไม่ได้ดุเพราะสีแดงในผ้าคลุมไหล่ของมาธาดอร์มืออาชีพ เพราะวัวควายเห็นสีแบบทวิรงค์ (คือมีเซลล์รูปกรวยสองแบบที่รับสีได้ในตา เทียบกับสามแบบในมนุษย์) ดังนั้น สีแดงจึงไม่ได้เด่นเป็นพิเศษ และจึงไม่ใช่สีของผ้า แต่เป็นภัยที่รู้สึกจากมาธาดอร์ที่ยุให้วิ่งพุ่ง[160]
- สุนัขไม่ได้ออกเหงื่อโดยน้ำลายไหล[161] สุนัขจริง ๆ ก็มีต่อมเหงื่อและไม่ใช่ที่ลิ้นเท่านั้น แต่จะเหงื่อออกโดยมากที่เยื่อบุเท้า อย่างไรก็ดี สุนัขจะควบคุมอุณหภูมิร่างกายโดยหลักผ่านการหายใจกระหืดกระหอบ[162]
- หนูทุ่งในเผ่า Lemmini ไม่ได้ฆ่าตัวตายหมู่โดยกระโดดลงจากหน้าผาเมื่ออพยพ นี่เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้นิยมโดยภาพยนตร์ของวอลต์ดิสนีย์ เรื่อง White Wilderness ซึ่งถ่ายซีนอพยพต่าง ๆ บนแป้นหมุนขนาดใหญ่อันคลุมด้วยหิมะในโรงถ่าย โดยบางครั้งใช้ซีนที่ถ่ายกับหนูหลายกลุ่มรวมเป็นซีนเดียวกัน ช่วงถ่ายตอนหลังยังผลักหนูให้ตกจาก "หน้าผา" อีกด้วย[163] แต่ความเข้าใจผิดเองก็เก่าแก่ยิ่งกว่านี้ โดยกลับไปอย่างน้อยในคริสต์ทศวรรษที่ 19[164]
- ค้างคาวไม่ได้ตาบอด แม้ค้างคาวประมาณ 70% โดยหลักจากอันดับย่อย Microchiroptera (microbat) จะใช้เสียงสะท้อนเพื่อกำหนดวัตถุและทิศทาง แต่ค้างคาวทั้งหมดก็มีตาและสามารถมองเห็นได้ นอกจากนั้นแล้ว ค้างคาวผลไม้ (วงศ์ Pteropodidae) เกือบทั้งหมดไม่ได้ใช้เสียงสะท้อนเพื่อกำหนดวัตถุกับทิศทาง และมีตาเห็นเวลากลางคืนที่ดีมาก[165]
- นกกระจอกเทศไม่ได้ปักหัวลงในทรายเพื่อซ่อนจากศัตรู[166] ความเข้าใจผิดนี้น่าจะมาจากพลินีผู้อาวุโส (ค.ศ. 23-79) ที่เขียนว่า นกกระจอกเทศ "จะจินตนาการว่า เมื่อพวกมันปักหัวและคอเข้าไปในพุ่มไม้ ว่าตัวทั้งหมดของมันจะมองไม่เห็น"[167]
- เสียงร้องของเป็ดจริง ๆ จะสะท้อน[168] แม้มนุษย์อาจได้ยินยากในบางกรณี[169]
- กบจะตายทันทีถ้าโยนลงน้ำที่กำลังเดือดโดยไม่สามารถกระโดดออก นอกจากนั้นแล้ว กบจะพยายามหนีจากน้ำเย็นที่ค่อย ๆ ร้อนหลังจากผ่านขีดอุณหภูมิสูงสุดของมันไปแล้ว[170]
- แนวคิดว่า ปลาทองมีความจำสั้นเป็นวินาที ไม่เป็นจริง[171][172] เพราะความจำมันยาวเป็นเดือน ๆ
- ปลาฉลามสามารถเป็นมะเร็งได้ ความเข้าใจผิดว่าฉลามไม่เป็นมะเร็งมาจากหนังสือ ฉลามไม่เป็นมะเร็ง (Sharks Don't Get Cancer) ของผู้เขียนที่ใช้หนังสือขายกระดูกอ่อนของปลาเพื่อป้องกันโรค รายงานเกี่ยวกับมะเร็งเยื่อบุในฉลามมีอยู่ แต่ข้อมูลปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ประมาณความชุกเนื้องอกในฉลามได้[173]
- ปลาฉลามขาวไม่ได้เห็นมนุษย์ที่ดำ/ว่ายน้ำอยู่อย่างผิด ๆ ว่าเป็นสัตว์ตีนครีบ (เช่นแมวน้ำ) เพราะพฤติกรรมโจมตีของฉลามต่อมนุษย์และสัตว์ตีนครีบต่างกันมาก คือ เมื่อโจมตีแมวน้ำ ฉลามจะโผล่จากน้ำอย่างรวดเร็วและโจมตีอย่างดุเดือด เทียบกับการโจมตีมนุษย์ ที่สบาย ๆ และช้ากว่า คือฉลามจะวิ่งใส่โดยเร็วอย่างธรรมดา ๆ กัด แล้วก็ว่ายออกไป ปลาฉลามขาวมีตาดีและสามารถมองเห็นสี มันกัดมนุษย์ไม่ใช่เพื่อล่าเหยื่อ แต่เพื่อระบุวัตถุที่ไม่คุ้นเคย[174]
- ไม่มีมีหมา "อัลฟา" ในฝูงหมาป่า งานศึกษาเบื้องต้นที่บัญญัติคำว่า "หมาป่าอัลฟา" ได้แต่สังเกตการณ์หมาป่าที่โตแล้ว ที่ไม่ได้เป็นญาติกัน และถูกขังไว้ ในธรรมชาติ ฝูงสุนัขจะปฏิบัติคล้ายกับครอบครัวมนุษย์มากกว่า คือไม่มีการแบ่งชั้นที่ชัดเจน แต่พ่อแม่จะเป็นใหญ่จนกระทั่งลูกโตและมีครอบครัวของตนเอง หมาอายุน้อยจะไม่โค่นล้มหมาอัลฟาเพื่อจะเป็นผู้นำฝูงตัวใหม่ และการต่อสู้เพื่อลำดับทางสังคมมักจะเป็นไปตามสถานการณ์[175][176]
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
[แก้]- ไส้เดือนดินโดยมากไม่ได้แบ่งเป็นสองตัวเมื่อถูกตัดเป็นสองส่วน เพราะมีไส้เดือนดินไม่กี่สปีชีส์[177] ที่สามารถงอกใหม่ได้ทางด้านหน้า (anterior regeneration) เมื่อผ่าไส้เดือนที่ไม่สามารถงอกใหม่ทางด้านหน้า ครึ่งด้านหน้าที่มีปากจะสามารถกินและรอดชีวิตได้ ส่วนครึ่งหลังจะตาย[178] มีหนอนตัวแบนบางชนิดที่สามารถกลายเป็นสองตัวเมื่อผ่ากลาง[179]
- แมลงวันบ้าน (Musca domestica) มีช่วงอายุเฉลี่ยที่ 20-30 วัน ไม่ใช่แค่ 24 ชม.[180] แมลงชีปะขาวบางสปีชีส์จะมีระยะชีวิตแค่ 24 ชม และตัวอ่อนของแมลงวันบ้าน (เป็นหนอนไร้ขา) ก็จะออกจากไข่ภายใน 24 ชม. หลังจากวาง[181]
- แมงมุมขายาววงศ์ Pholcidae (daddy longlegs) ไม่ใช่แมงมุมมีพิษร้ายที่สุดในโลก แม้จะสามารถกัดทะลุหนังของมนุษย์ได้จริง ๆ แต่พิษจำนวนน้อยที่มีก็เพียงแค่ทำให้รู้สึกแสบ ๆ เพียงไม่กี่วินาที[182] อนึ่ง ยังมีความสับสนในชื่อภาษาอังกฤษอีกด้วย เพราะแมง "harvestmen" (อันดับ Opiliones เป็นแมง [arachnid] เหมือนกันแม้จะไม่ใช่แมงมุม) และแมลง "crane fly" (วงศ์ Tipulidae) ต่างก็มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "daddy longlegs" และเข้าใจผิดเหมือน ๆ กันในเรื่องพิษร้าย[183][184]
- ทั้งกลไกและอากาศพลภาพในการบินของบัมเบิลบี (และแมลง ๆ อื่น) เป็นเรื่องที่เข้าใจดีแล้ว แม้จะมีตำนานพื้นบ้านว่า การคำนวณแสดงว่า มันไม่ควรจะบินได้ คือในคริสต์ทศวรรษ 1930 นักกีฏวิทยาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งจริง ๆ ก็ได้คาดตามทฤษฎีว่า บัมเบิลบีไม่ควรจะบินได้ในหนังสือของเขาชื่อว่า Le Vol des Insectes (การบินของบัมเบิลบี)[185][E] ซึ่งต่อมาเมื่อเขารู้ว่าผิดพลาดก็ได้ถอนคำพูด แต่สมมติฐานนี้ก็กลายเป็นเรื่องไม่จริงโดยทั่วไปว่า "นักวิทยาศาสตร์คิดว่า บัมเบิลบีไม่ควรจะบินได้"
- ตำนานพื้นบ้านทั่วไปอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการกลืนแมงมุมเข้าไปเป็นจำนวนมากระหว่างหลับในช่วงชีวิต ไม่มีมูลฐานความจริง เพราะคนหลับจะเป็นเหตุให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนเพราะการหายใจ หัวใจเต้น กรน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องเตือนภัยให้แก่แมงมุม[187][188]
พืช
[แก้]- ใบต้นคริสต์มาสไม่เป็นพิษอย่างแรงต่อมนุษย์หรือว่าแมว แม้จะจริงว่ามันอาจทำให้ผิวหนังหรือทางเดินอาหารระคายเคือง[189] และอาจเป็นเหตุให้ท้องร่วงหรืออาเจียนถ้ากิน[190] โดยงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากรณีคนไข้ 22,793 รายที่รายงานไปยังสมาคมศูนย์ควบคุมพิษอเมริกัน (ASPCA) แสดงว่า ไม่เคยมีคนตายและมีน้อยรายที่จำเป็นต้องรักษา[191] ตาม ASPCA ใบต้นคริสต์มาสอาจทำให้แมวไม่สบายท้องแบบอ่อนจนถึงกลาง โดยการท้องร่วงและอาเจียนจะเป็นอาการหนักที่สุด[192]
- ดอกทานตะวันที่กำลังบานจะชี้ไปในทิศทางเดียว (บ่อยครั้งทิศตะวันออก) ตลอดวัน[193][F] แต่ในระยะพัฒนาการก่อนดอกจะบาน ดอกตูมจะตามดวงอาทิตย์ (เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการเบนตามแสง - heliotropism) อย่างไรก็ดี ดอกที่โตเต็มที่แล้วจะตรึงหันหน้าไปทางทิศใดทิศหนึ่ง[196]
วิวัฒนาการและบรรพชีวินวิทยา
[แก้]- คำว่า ทฤษฎี ของ "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" ไม่ได้แสดงความสงสัยความสมเหตุสมผลของทฤษฎีนี้โดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก เพราะคำว่า "ทฤษฎี" และ "สมมติฐาน" ต่างก็มีความหมายโดยเฉพาะในวิทยาศาสตร์ เทียบกับ "ทฤษฎี" ในภาษาปากที่อาจหมายถึงลางสังหรณ์หรือการคาดเดา "ทฤษฎีวิทยาศาสตร์" นั้นหมายถึงหลักต่าง ๆ ที่สามารถอธิบาย "ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่สังเกตได้" โดยใช้แนวคิดที่เป็นไปตามธรรมชาติ[197][198] คือ "ความจริงทางวิทยาศาสตร์" และ "ทฤษฎี" ไม่ได้เป็นอะไรที่ต่างกัน[199] และวิวัฒนาการก็เป็น "ทฤษฎี" เหมือนกับทฤษฎีว่าโรคบางอย่างเกิดจากเชื้อโรค (germ theory) หรือทฤษฎีความโน้มถ่วง[200]
- ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่ได้พยายามอธิบายกำเนิดชีวิต[201] หรือกำเนิดและพัฒนาการของเอกภพ วิวัฒนาการทางชีวภาพเป็นทฤษฎีที่อธิบายกระบวนการที่สปีชีส์และระเบียบของระบบชีวภาพระดับอื่น ๆ ได้เกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ชี้ว่า สิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้เพ่งเรื่องกำเนิดชีวิตเองเป็นหลัก[202] และก็ไม่เกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพกับองค์ประกอบของมันโดยประการทั้งปวง ทฤษฎีวิวัฒนาการโดยหลักสนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรรุ่นต่าง ๆ ตามกาลเวลาซึ่งเกิดหลังจากที่สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นแล้ว[203] ส่วนแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกำเนิดของสิ่งมีชีวิตแรกสุดจากโมเลกุลอินทรีย์หรืออนินทรีย์เรียกว่า กำเนิดชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต (abiogenesis) และทฤษฎีหลักที่ใช้อธิบายพัฒนาการต้น ๆ ของเอกภพก็คือ บิกแบง
- มนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาจากลิงชิมแปนซีที่ยังมีชีวิตอยู่[204] แต่ทั้งมนุษย์และชิมแปนซีต่างก็วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน[205][206] ดังนั้น สปีชีส์ 2 ชนิดของชิมแปนซี (คือ ชิมแปนซีสามัญและโบโนโบ) จึงเป็นญาติใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด จนกระทั่งนักมานุษยวิทยาและนักไพรเมตวิทยาบางท่านเรียกมนุษย์ว่า เป็นสปีชีส์หนึ่งของชิมแปนซี[207][208] บรรพบุรุษร่วมกันล่าสุดของมนุษย์และชิมแปนซีได้มีชีวิตอยู่ประมาณ 5-8 ล้านปีก่อน[209] ซากดึกดำบรรพ์สายพันธุ์มนุษย์อายุ 4.4 ล้านปีสกุล Ardipithecus แสดงว่า เป็นสัตว์ที่เดินด้วยสองเท้าได้เก่งพอสมควรโดยไม่ได้ใช้ข้อนิ้วมือช่วยเดิน มีขนาดเล็ก มีแขนขายาวกว่า และมีจมูกปากยื่นออกน้อยกว่าชิมแปนซี ตรงข้ามกับแนวคิดว่าชิมแปนซีมีลักษณะที่ดั้งเดิม/เก่าแก่ ความจริงลิงได้วิวัฒนาการเพิ่มขึ้นหลังจากแยกออกจากสายพันธุ์มนุษย์แล้ว คือตัวใหญ่ขึ้น ดุขึ้น ปีนต้นไม้เก่งขึ้น[210] และมีนิ้วที่ยาวกว่า[211] มนุษย์ ชิมแปนซี กับลิงใหญ่อื่น ๆ รวมกันเป็นวงศ์ Hominidae เป็นกลุ่มที่วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกันกับลิงโลกเก่าประมาณ 40 ล้านปีก่อน[212][213]
- วิวัฒนาการไม่ใช่เป็นการก้าวหน้าจากสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่า และไม่จำเป็นต้องเกิดความซับซ้อนเพิ่มขึ้น กลุ่มประชากรหนึ่งสามารถวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ง่ายกว่าและมีจีโนมเล็กลง ดังนั้นคำภาษาอังกฤษว่า "devolution" (วิวัฒนาการย้อนกลับ) จึงเป็นคำเรียกที่ไม่เหมาะสม[214][215]
- วิวัฒนาการไม่ได้ "วางแผน" (หรือมีจุดประสงค์) เพื่อเพิ่มความเหมาะสมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้รอดชีวิต[216][217] ยกตัวอย่างเช่น การพูดถึงวิวัฒนาการของยีราฟอย่างผิด ๆ ก็คือบอกว่า คอของยีราฟยาวขึ้นตามกาลเพราะยีราฟจำเป็นต้องเอื้อมให้ถึงต้นไม้สูง ๆ เพราะวิวัฒนาการไม่ได้เห็นความจำเป็นแล้วตอบสนอง มันเป็นกระบวนการที่ไร้จุดหมาย แต่การกลายพันธุ์ของยีราฟที่มีผลเป็นคอยาว มีโอกาสเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ในบริเวณต้นไม้สูง มากกว่าต่อสัตว์ในบริเวณต้นไม้เตี้ย และดังนั้น จึงเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์เพื่อสืบทอดยีนคอยาวไปยังรุ่นต่อไป ต้นไม้สูงไม่ได้เป็นเหตุให้กลายพันธุ์ และก็จะไม่เป็นเหตุให้สัตว์ต่าง ๆ มีคอยาวเป็นเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น[218] และแม้ในตัวอย่างยีราฟ จริง ๆ แล้ว การคัดเลือกอาศัยเพศก็อาจผลักดันให้วิวัฒนาการมีคอยาวได้โดยเท่า ๆ กัน คือคอยาวกลายเป็นลักษณะทางเพศทุติยภูมิ ที่ให้ความได้เปรียบแก่ยีราฟตัวผู้ที่ต่อสู้แย่งตัวเมียด้วยคอ[219] แต่ความเข้าใจผิดในแนวนี้ก็มักทำอย่างจงใจ เพราะมันเป็นวิธีพูดสั้น ๆ (ชวเลข) ที่สามัญของบุคคลที่เข้าใจการทำงานของวิวัฒนาการอย่างถูกต้องอยู่แล้ว ผู้กล่าวถึง "จุดหมาย" โดยเป็นวิธีการกล่าวสั้น ๆ[220] เช่น การกล่าวเหมือนกับมีเป้าหมายว่า "ไดโนเสาร์อาจวิวัฒนาการขนนกขึ้นเพื่อหาคู่" คล่องกว่าเมื่อเทียบกับ "ขนนกอาจได้การคัดเลือกเมื่อเกิด เพราะให้ความได้เปรียบในการคัดเลือกทางเพศเหนือกว่าไดโนเสาร์ที่ไม่มีขนนก"[221]
- มนุษย์และไดโนเสาร์ (นอกเหนือจากนก) ไม่ได้มีชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน[222] ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกสุดท้ายตายในช่วงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส-พาลิโอจีนประมาณ 65 ล้านปีก่อน เทียบกับมนุษย์สกุล Homo แรกสุดที่วิวัฒนาการขึ้นประมาณ 2.3-2.4 ล้านปีก่อน ทำให้มีช่วงเว้นเป็น 63 ล้านปีระหว่างไดโนเสาร์สุดท้ายที่ไม่ใช่นกกับมนุษย์แรกสุด แต่มนุษย์ก็ได้อยู่ร่วมกับช้างแมมมอธและเสือเขี้ยวดาบ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มักแสดงในภาพเดียวกันกับมนุษย์และไดโนเสาร์[223]
- ไดโนเสาร์ไม่ได้สูญพันธุ์เพราะปรับตัวได้ไม่ดีหรือไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศปกติได้ ซึ่งเป็นมุมมองในตำราเก่า ๆ จริง ๆ แล้ว ไดโนเสาร์เป็นกลุ่มสัตว์ที่ปรับตัวได้ดีและประสบความสำเร็จอย่างสูง ที่อวสานของมันเกิดจากเหตุการณ์พิเศษที่ทำลายล้างกลุ่มพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์น้ำเป็นจำนวนมากด้วย[224] เหตุที่อ้างมากที่สุดในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เช่นนี้ก็คือการวิ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยที่แหลมยูกาตัง (ปัจจุบันประเทศเม็กซิโก) ซึ่งจุดชนวนเหตุการณ์การสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส-พาลิโอจีน[225] อนึ่ง ไดโนเสาร์ทั้งหมดก็ไม่ได้สูญพันธุ์ คือนกได้วิวัฒนาการมาจากเทอโรพอดซึ่งมีขนนกที่อยู่ในยุคจูแรสซิก เทียบกับสายพันธุ์ของไดโนเสาร์โดยมากที่หายไปท้ายยุคครีเทเชียส นกบางชนิดได้รอดชีวิตมาได้ และดังนั้น สัตว์ปัจจุบันบางอย่างจึงเป็นลูกหลานของไดโนเสาร์[226]
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ได้วิวัฒนาการมาจากกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานปัจจุบันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลานต่างก็วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน คือไม่นานหลังจากที่สัตว์คล้ายสัตว์เลื้อยคลานปรากฏขึ้น พวกมันก็แบ่งออกเป็นสองสาขา คือ sauropsid และ synapsid[227] สายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (synapsid) เบนออกจากสายพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานปัจจุบัน (sauropsid) เมื่อประมาณ 320 ล้านปีก่อนกลางยุคคาร์บอนิเฟอรัส ต่อมาภายหลัง (ท้ายยุคคาร์บอนิเฟอรัสหรือต้นยุคเพอร์เมียน) กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ในปัจจุบัน (รวมทั้ง lepidosaur, เต่า, และจระเข้) จึงแยกออกจากกัน ส่วนสัตว์เลื้ยงลูกด้วยนมเป็นลูกหลานเดียวของ synapsid ที่ยังรอดชีวิต[228]
คอมพิวเตอร์
[แก้]- คอมพิวเตอร์ที่ใช้ macOS หรือ GNU/ลินุกซ์ ไม่ได้ปลอดภัยจากมัลแวร์ เช่น ม้าโทรจันหรือไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่มีมัลแวร์น้อยกว่าสำหรับระบบปฏิบัติการเหล่านี้ เพราะมัลแวร์ต้องสร้างเพื่อระบบปฏิบัติการโดยเฉพาะ และคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ก็มีมากกว่า[229]
ร่างกายและสุขภาพมนุษย์
[แก้]- ยาฆ่าเชื้อ (Anti-Biotic) กับยาแก้อักเสบ (NSAID) คือยาคนละตัวกัน โดยที่ยาฆ่าเชื้อจะฆ่าเฉพาะเชื้อแบคทีเรียดังนั้นเมื่อเป็นไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาฆ่าเชื้อจึงไม่มีผลในทางการรักษาแต่อย่างใด ยาฆ่าเชื้อไม่ควรกินบ่อย ๆ อย่างพร่ำเพรื่อเพราะอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ และอาจจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียเจ้าถิ่นที่อยู่ในร่างกายด้วย[ต้องการอ้างอิง]
- คนที่กำลังตื่นจากการละเมอเดินไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่อาจสับสนและงงเป็นระยะสั้น ๆ หลังจากตื่น และนี่ก็ไม่เป็นอันตราย แต่การละเมอเดินเองก็อาจทำให้เจ็บตัวถ้าสะดุดอะไรหรือล้มลงเมื่อกำลังเดินละเมอ โดยการบาดเจ็บเช่นนี้สามัญในบรรดาคนละเมอเดินทั้งหลาย[230][231]
- ในเกาหลีใต้ มีความเชื่อผิด ๆ ที่สามัญว่า ในห้องมิดชิดที่เปิดพัดลม สามารถเป็นเหตุให้ตายได้ (fan death) ตามรัฐบาลเกาหลี "ในบางกรณี พัดลมที่เปิดนานเกินสามารถเป็นเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากหายใจไม่ออก ตัวเย็นเกิน หรือไฟไหม้เนื่องจากเครื่องร้อนเกิน"[232] คณะกรรมการป้องกันผู้บริโภคเกาหลี ได้ออกคำเตือนเพื่อความปลอดภัย และแนะนำให้ใช้เครื่องควบคุมเวลากับพัดลม ให้ปรับส่ายพัดลม และให้เปิดประตูทิ้งไว้ ความเชื่อในการตายเยี่ยงนี้ สามัญแม้ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความรู้ดี เช่น ตามคณบดีแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยควันดง "ถ้าห้องปิดมิดชิด เมื่อมีลมพัดจากพัดลม อุณหภูมิสามารถลดลงต่ำพอเป็นเหตุให้เสียชีวิตเพราะภาวะตัวเย็นเกิน"[233] จริง ๆ แล้ว พัดลมขับลมโดยไม่ได้เปลี่ยนอุณหภูมิของมันอย่างสำคัญ เพื่อเพิ่มการระเหยตัวของเหงื่อ การเปิดพัดลมทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนจะไม่ทำให้ห้องเย็นลง จริง ๆ แล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพการแปลงพลังงานของมอเตอร์ และการเสียพลังงานเนื่องจากความหนืด พัดลมจะทำให้ห้องร้อนขึ้นเล็กน้อย
- การทานอาหารน้อยกว่าหนึ่ง ชม. ก่อนว่ายน้ำไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นตะคริวหรือการจมน้ำ มีงานศึกษาที่แสดงว่า การดื่มสุราสัมพันธ์กับการจมน้ำ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรในเรื่องตะคริวท้องกับการทานอาหาร[234]
- การจมน้ำมักไม่ค่อยเตะตาคนอื่น[235] ในกรณีโดยมาก การยกมือส่งเสียงร้องก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการตอบสนองต่อการจมน้ำตามสัญชาตญาณ (คือไม่มีอากาศให้ส่งเสียงร้องหรือแรงให้ยกมือ)[235] แม้การยกโบกมือตะโกนในน้ำจะเป็นสัญญาณแสดงว่าต้องการความช่วยเหลือ แต่สัญญาณนี่ทำได้อย่างไม่แน่นอน คนจมน้ำที่ตอบสนองต่อการจมน้ำตามสัญชาตญาณ จะไม่สามารถแสดงความต้องการความช่วยเหลือ[236]
- เลือดมนุษย์ในเส้นเลือดดำไม่ใช่มีสีดำ จริง ๆ แล้วเลือดจะมีสีแสดงเสมอเนื่องจากส่วนประกอบคือเฮโมโกลบิน เลือดที่หมดออกซิเจนจะมีสีแดงคล้ำกว่า และเลือดที่สมบูรณ์ด้วยออกซิเจนจะมีสีแดงคล้ายเชอร์รี ความเข้าใจผิดอาจเกิดเพราะสาเหตุ 2 อย่าง คือ (1) เส้นเลือดใต้ผิวหนังปรากฏเป็นสีดำ นี่เกิดจากเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งมีเหตุเพียงเล็กน้อยจากสีของเลือด รวมทั้งการกระเจิงใต้ผิวหนังของแสงที่วิ่งผ่านผิว และการเห็นสีของมนุษย์ (2) ภาพต่าง ๆ ใช้สีเพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเส้นเลือดดำ (มักแสดงเป็นสีน้ำเงิน) และเส้นเลือดแดง (มักแสดงในภาพเป็นสีแดง)[237]
- การตกอยู่ในสุญญากาศหรือประสบกับความดันที่ลดลงอย่างไม่ได้ควบคุม จะไม่ทำให้ร่างกายระเบิด หรือน้ำในตัวเดือด (แม้น้ำในปากหรือปอดจะเดือดที่ระดับความสูงเหนือ ขีดจำกัดอาร์มสตรอง (Armstrong limit[G]) แต่มันจะทำให้หมดสติเมื่อเลือดในร่างกายหมดออกซิเจนแล้ว ตามด้วยการเสียชีวิตเพราะขาดออกซิเจนภายในไม่กี่นาที[240]
- อาหารมีอิทธิพลน้อยมากต่อการดีท๊อกซ์ของร่างกาย ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเข้าใจผิดว่าอาหารบางอย่างช่วยกระบวนการนี้ และสามารถขจัดสิ่งที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ด้วยตนเอง[241][242][243][244] จริง ๆ แล้ว ตับและไตเป็นตัวกำจัดพิษจากร่างกาย[H]
ประสาทสัมผัส
[แก้]- รสต่าง ๆ ทั้งหมดสามารถรู้ได้ตามลิ้นทั้งหมดอาศัยตุ่มรับรส[246] แม้บุคคลจะไวรสต่าง ๆ ที่ตำแหน่งต่าง ๆ กัน และความจริงนี้ไม่ตรงกับความเชื่อทั่วไปว่า รสบางอย่างสามารถรู้ได้ตรงตำแหน่งโดยเฉพาะ ๆ บนลิ้น[247] แผนที่ลิ้นผิดดั้งเดิมมาจากการแปลวิทยานิพนธ์ปี ค.ศ. 1901 ของชาวเยอรมันผิด[248] อนึ่ง รสที่มนุษย์รู้ได้ปัจจุบันจัดเป็น 5 อย่าง ไม่ใช่ 4 คือนอกจากรสขม เปรี้ยว เค็ม และหวานแล้ว มนุษย์ยังสามารถรับรสอุมะมิ[249] ที่ใกล้กับคำภาษาไทยว่า "รสหวานน้ำต้มกระดูก" หรือ "รสกลมกล่อม"
- มนุษย์มีประสาทสัมผัสมากกว่า 5 ทางที่มักอ้างกัน โดยวิธีการจัดหมวดต่าง ๆ กำหนดตั้งแต่ 5 จนเกินกว่า 20 นอกจากการเห็น การได้กลิ่น การรับรู้รส การถูกต้องสัมผัส และการได้ยิน ซึ่งเป็นประสาทสัมผัสที่ระบุโดยอาริสโตเติลแล้ว มนุษย์ยังสามารถรู้สึกถึงความสมดุลและความเร่ง ความเจ็บปวด ตำแหน่งร่างกายและแขนขา และอุณหภูมิ (thermoception) เป็นต้น[250] ประสาทสัมผัสอื่น ๆ บางครั้งระบุว่าการรู้เวลา คัน แรงดัน หิวข้าว หิวน้ำ ท้องเต็ม ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด[251][252]
ผิวหนังและผม
[แก้]- ผิวหนังที่เหี่ยวเนื่องจากเปียกน้ำ ไม่ได้มีเหตุจากผิวหนังดูดน้ำแล้วบวมขึ้น[253] แต่เกิดจากระบบประสาทอิสระ ที่ลดการส่งเลือดโดยการตีบหลอดเลือด ตอบสนองต่อผิวหนังที่เปียกทำให้หนังย่น ซึ่งสันนิษฐานว่า วิวัฒนาการเกิดขึ้นเพื่อให้บรรพบุรุษไพรเมตจับได้แน่นขึ้นในที่ ๆ เปียกและลื่น[254][255] แม้งานศึกษาปี 2557 จะไม่พบการจับของเปียกได้ดีขึ้นด้วยนิ้วมือที่ย่น[256]
- การโกนไม่ได้เป็นเหตุให้ผม/ขนที่งอกกลับดกขึ้นหรือดำขึ้น แต่ผม/ขนแต่ละเส้นอาจกว้างขึ้น ความเชื่อนี้อาจมาจากผม/ขนที่ไม่เคยตัด/โกนซึ่งมีปลายเรียว เทียบกับที่เพิ่งตัด/โกนซึ่งมีปลายทื่อ และดังนั้น จึงหนากว่าปลายเรียว ผม/ขนที่ตัด/โกนดูเหมือนจะหนาและหยาบกว่า เพราะมีปลายคมที่ยังไม่สึก อนึ่ง ผม/ขนที่สั้นกว่าจะ "แข็งกว่า" (คืองอได้น้อยกว่า) ผม/ขนที่ยาวกว่า ซึ่งมีส่วนในความเข้าใจผิดในเรื่องนี้[257]
- ผม ขนและเล็บของบุคคลไม่ได้งอกขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเสียชีวิตแล้ว แต่เป็นเพราะผิวหนังแห้งและหดไปจากฐานของผม ของขน และของเล็บจากเดิม จึงทำให้ดูเหมือนงอกออก[258]
- ผลิตภัณฑ์บำรุงผมไม่ได้ "ซ่อม" ปลายแตกหรือผมที่เสียหาย แต่สามารถป้องกันไม่ให้เสียหายตั้งแต่ต้น และช่วยทำให้เปลือกนอกของผม (cuticle) เรียบขึ้นคล้ายกับพอกกาวทำให้เหมือนกับได้ซ่อมผม คือทำให้ผมดูดีกว่าทั่วไป[259]
- ยีนผมแดงไม่ได้กำลังสูญพันธุ์ไป ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 มีสำนักข่าวจำนวนมากที่รายงานว่า คนผมแดงกำลังจะหมดไป อาจเร็วที่สุดในปี ค.ศ. 2060 เนื่องจากยีนผมแดง (MC1R) เป็นแบบด้อย (recessive) คือถึงแม้คนผมแดงอาจจะน้อยลงได้ (เช่น การแต่งงานข้ามผิวพันธุ์ที่พ่อหรือแม่มาจากกลุ่มที่ไม่มียีนผมแดง ก็จะทำให้ไม่มีลูกผมแดง แต่ก็ยังอาจมีหลานผมแดง) แต่คนผมแดงจะไม่หายไปทั้งหมดนอกจากทุกคนที่มียีนผมแดงจะเสียชีวิตทั้งหมดหรือไม่มีลูก[260] ความเข้าใจผิดนี้มีอย่างช้าก็ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1865 และมักจะออกข่าวในหนังสือพิมพ์อเมริกัน[261]
โภชนาการ อาหาร และเครื่องดื่ม
[แก้]- น้ำ 8 แก้ว หรือ 2-3 ลิตรต่อวันไม่จำเป็นต้องได้เพื่อดำรงสุขภาพ[262] เพราะแต่ละคนจำเป็นต้องได้น้ำต่างกันขึ้นอยู่กับน้ำหนัก การออกกำลัง เสื้อผ้า และสิ่งแวดล้อม (เช่น ความร้อนและความชื้น) อนึ่ง ไม่จำเป็นต้องได้จากน้ำเปล่า เพราะสามารถได้จากแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งน้ำผลไม้ ชา นม น้ำแกง เป็นต้น และจากอาหารรวมทั้งผักผลไม้[262]
- น้ำตาลไม่ได้เป็นเหตุให้เด็กตื่นตัวเกินหรือซน[263][264] การทดลองแบบอำพรางสองฝ่ายแสดงว่า เด็กที่ได้อาหารมีน้ำตาลหรือไม่มีไม่ได้ประพฤติต่างกัน แม้ในงานศึกษาที่ตรวจเด็กโรคสมาธิสั้นหรือเด็กที่พิจารณาว่าไวน้ำตาลโดยเฉพาะ[265]
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ทำให้ร่างกายทั้งหมดรู้สึกอุ่น[266] มันทำให้รู้สึกอุ่นโดยขยายหลอดเลือดแล้วกระตุ้นปลายประสาทใกล้ ๆ ผิวหนังด้วยเลือดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจทำให้อุณหภูมิของลำตัวต่ำลง เพราะร่างกายสามารถแลกเปลี่ยนความร้อนกับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เย็นกว่าได้ง่ายขึ้น[267]
- แอลกอฮอล์ไม่จำเป็นต้องฆ่าเซลล์สมอง[268] แต่สามารถทำให้เซลล์ตาย "โดยอ้อม" ได้โดยสองวิธี คือ
- ในคนติดเหล้าหนักผู้มีสมองชินกับผลของแอลกอฮอล์แล้ว การหยุดทานกะทันหันอาจเป็นเหตุแห่งภาวะเอ็กไซโททอกซิก (excitotoxicity) คือมีการปล่อยสารสื่อประสาทบางอย่างเช่นกลูตาเมตมากเกิน มีผลให้เซลล์ในสมองหลาย ๆ เขตตาย[269]
- ในคนติดเหล้าที่ได้พลังงานโดยมากจากแอลกอฮอล์ การขาดไทอามีน (วิตามินบี1) อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการคอร์ซาคอฟ (Korsakoff's syndrome) ซึ่งสัมพันธ์กับความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสมอง[270]
- อาหารเจหรือวีแกน (เจแบบเคร่ง) มีโปรตีนพอสำหรับร่างกาย[271][272] จริง ๆ แล้ว โปรตีนที่ได้จากอาหารเจแบบมีนมมีไข่และอาหารวีแกน มีโปรตีนที่จำเป็นต้องได้ต่อวันพอหรือเกินเกณฑ์[273] แต่อาหารวีแกนก็จำเป็นต้องเสริมด้วยวิตามินบี12เพื่อสุขภาพที่ดี[271]
- หมากฝรั่งที่กลืนเข้าไปไม่ได้ใช้เวลา 7 ปีเพื่อย่อย จริง ๆ แล้ว หมากฝรั่งโดยมากไม่สามารถย่อยได้ และจะผ่านทางเดินอาหารไปเร็วเท่ากับอาหารอื่น ๆ[274][275]
- หลักฐานไม่สนับสนุนว่า กาแฟหรืออาหารเผ็ดมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcers)[276]
- แม้บีตา-แคโรทีนในแคร์รอตอาจช่วยการเห็นเวลากลางคืนของผู้ที่ขาดวิตามินเอให้ดีขึ้น แต่มันไม่ได้เพิ่มให้เห็นดีกว่าปกติสำหรับคนที่ได้วิตามินพอ[277] ความเชื่อว่ามันช่วยมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นข่าวเท็จที่อังกฤษได้สร้างขึ้น เพื่ออธิบายการสู้รบเวลากลางคืนที่ดีขึ้นของกองทัพอากาศอังกฤษ ซึ่งความจริงมาจากการใช้เรดาร์และการใช้ไฟสีแดงบนหน้าปัดอุปกรณ์[278]
- ไม่มีหลักฐานว่า โรคอ้วนสัมพันธ์กับเมแทบอลิซึมช่วงพักที่ต่ำกว่า เพราะอัตราเมแทบอลิซึมไม่ต่างกันมากในระหว่างบุคคล น้ำหนักที่เพิ่มหรือลดมีเหตุโดยตรงจากอาหารและการใช้กำลัง คนน้ำหนักเกินมักจะประเมินอาหารที่ตนทานต่ำกว่าจริง และคนน้ำหนักน้อยมักจะประเมินเกิน[279]
เพศสภาพของมนุษย์
[แก้]- ไม่มีเหตุผลทางสรีรภาพที่จะเชื่อว่า เพศสัมพันธ์ในวันก่อน ๆ การแข่งขันกีฬาหรือการแข่งขันอื่น ๆ จะมีผลลบต่อสมรรถภาพการแข่งขัน[280] จริง ๆ แล้วมีคนเสนอว่า เพศสัมพันธ์ก่อนการเล่นกีฬาจะเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย ซึ่งอาจเพิ่มสมรรถภาพการเล่น[281]
- การตั้งครรภ์เนื่องจากเพศสัมพันธ์ระหว่างลูกพี่ลูกน้อง ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงมีความผิดปกติแต่กำเนิดที่สำคัญ[282] คือความเสี่ยงจะอยู่ที่ 5-6% คล้ายกับของหญิงอายุ 40 ปี[282][283] เทียบกับความเสี่ยงพื้นฐานที่ 3-4%[283]
สมอง
[แก้]- สมรรถภาพต่าง ๆ ทางใจไม่ได้แยกออกเป็นของสมองซีกซ้ายหรือซีกขวาโดยส่วนเดียว[284] หน้าที่บางอย่างเช่น การพูดและภาษา (ซึ่งอยู่ที่ Broca's area, Wernicke's area) มักจะทำให้สมองซีกหนึ่งทำงานมากกว่าอีกซีกหนึ่งในงานบางชนิด ถ้าซีกใดซีกหนึ่งเสียหายตั้งแต่อายุน้อย ๆ สมองอีกข้างหนึ่งก็จะรับหน้าที่เหล่านั้นไปโดยทั้งหมดหรือโดยบางส่วน สำหรับหน้าที่อื่น ๆ รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหว ความจำ และการคิดหาเหตุผลทั่วไป สมองทั้งสองข้างจะทำงานเท่า ๆ กัน[285]
- ไม่จริงว่า โดยอายุ 2 ขวบ มนุษย์จะได้สร้างเซลล์สมองทั้งหมดเท่าที่จะมี ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้ชำนาญทางการแพทย์จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1998[286][287][288] ปัจจุบันเข้าใจแล้วว่า นิวรอนใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นในบางส่วนของสมองหลังเกิด เพราะนักวิจัยได้สังเกตเห็นการเกิดเซลล์ประสาทใหม่ในสัตว์ที่โตแล้วรวมทั้งนก[289] ลิงโลกเก่า[290] และมนุษย์[291] คือสัตว์ที่โตแล้วในสปีชีส์ที่ว่า มีเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์โดยเฉพาะต่าง ๆ ในบริเวณ subventricular zone ของโพรงสมองข้าง และบริเวณ subgranular zone ของ dentate gyrus[292][293] นิวรอนที่เกิดใหม่ในเขตเหล่านี้จะย้ายไปอยู่ที่ olfactory bulb (ป่องการได้กลิ่น ซึ่งเป็นส่วนของระบบการได้กลิ่น) และ dentate gyrus (ซึ่งเป็นส่วนของฮิปโปแคมปัส) ตามลำดับ และเชื่อว่าจะรวมเข้ากับวงจรประสาทที่มีอยู่แล้ว แต่หน้าที่และความสำคัญทางสรีรภาพของนิวรอนใหม่ในผู้ใหญ่ยังไม่ชัดเจน โดยงานบางงานแสดงว่า มีเซลล์ประสาทที่เกิดใหม่ใน neocortex ด้วย[294][295][296] ซึ่งมีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย[297]
- วัคซีนไม่ได้ก่อโรคออทิซึมหรือ autism spectrum disorder แม้จะมีงานวิจัยฉ้อฉลที่อ้างว่ามีความสัมพันธ์ แต่การพยายามทำซ้ำเพื่อให้ผลดังที่ว่าอย่างซ้ำ ๆ ก็ไม่สำเร็จ จนในที่สุดจึงมีผู้แสดงว่า งานวิจัยฉ้อฉลนั้น มีการปรับแต่งสร้างข้อมูลที่ได้[298]
- มนุษย์ไม่ได้ใช้สมองเพียงแค่ 10% แม้จะจริงว่า นิวรอนในสมองเพียงแค่ส่วนน้อยกำลังทำงานอยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง แต่นิวรอนที่ไม่ได้ทำงานตอนนั้นก็สำคัญด้วย[299][300] ความเข้าใจผิดเช่นนี้สามัญในวัฒนธรรมอเมริกันโดยอาจเริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 20 โดยมากเนื่องจาก นพ. วิลเลียม เจมส์ ผู้ปรากฏว่าใช้คำนี้ในเชิงอุปมาอุปไมย[301]
- มนุษย์ทั้งหมดเรียนรู้โดยวิธีการเดียวกันหลัก ๆ[302] โดยเฉพาะก็คือ ไม่มีหลักฐานว่ามนุษย์มีสไตล์การเรียนรู้ต่าง ๆ กัน[302] และวิธีการสอนอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับสไตล์การเรียนรู้นั้น ๆ ก็ไม่ได้ทำให้เรียนได้ง่ายขึ้น[303]
โรค
[แก้]- การจัดท่าเทรนเดเลนเบิร์ก (นอนราบยกขาสูงเป็นมุม 15-30 องศา) ในผู้ป่วยความดันเลือดต่ำหรือช็อกนั้นไม่มีหลักฐานใดสนับสนุน และอาจเป็นอันตรายได้[304][305]
- เอดส์ไม่ใช่ชื่อเชื้อไวรัส แต่เป็นชื่อภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเอชไอวีก็ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นชื่อไวรัส[ต้องการอ้างอิง]
- การดื่มนมหรือการบริโภคผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ ไม่ได้ทำให้เกิดเมือกมากขึ้น[306][307] ดังนั้น คนเป็นหวัดหรือคัดจมูกจึงไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง
- มนุษย์ไม่สามารถติดหูด/ไฝมาจากคางคกหรือสัตว์อื่น ๆ และตุ่มของคางคกก็ไม่ใช่หูด/ไฝ[308][309] หูดที่ผิวหนังมนุษย์เกิดจากไวรัสที่ติดเฉพาะมนุษย์ (human papillomavirus)
- การหักนิ้วให้เกิดเสียงดัง หรือการออกกำลังกายเมื่อมีสุขภาพดี ไม่ได้เป็นเหตุให้ข้อเสื่อม (osteoarthritis)[310][311]
- การทานเมล็ดถั่ว ข้าวโพดคั่ว หรือเมล็ดพืชอื่น ๆ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงภาวะ diverticulitis คือถุงยื่นในลำไส้ใหญ่อักเสบ[312] จริง ๆ แล้วอาหารเหล่านี้อาจช่วยป้องกันด้วยซ้ำ[313]
- ความเครียดมีบทบาทค่อนข้างน้อยต่อภาวะความดันโลหิตสูง[314] ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้ใช้การบำบัดด้วยการผ่อนคลายแบบเฉพาะ ๆ[315] แต่ความเครียด "ฉับพลัน" ก็มีหลักฐานว่าเพิ่มความดันโลหิตอย่าง "ชั่วคราว"[314] และหลักฐานจากงานศึกษาแบบสังเกตก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดเรื้อรังกับความดันเลือดสูงที่คงยืน[314] แต่จากมุมมองของแพทย์ ความเครียดก็ยังมีบทบาทน้อย เทียบกับมุมมองของคนทั่วไปที่มักเห็นว่า ความเครียดมีบทบาทสำคัญ[314]
- ในคนที่มีโรคหวัดธรรมดา สีของเสมหะหรือน้ำมูกอาจเป็นตั้งแต่สีเหลืองใส ๆ จนถึงสีเขียว ซึ่งไม่ได้บ่งเชื้อโรค/ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค[316][317]
- โดยทั่วไป วิตามินซีไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหวัด แม้อาจจะมีฤทธิ์ป้องกันเมื่อออกกำลังกายในอากาศหนาว และอาจลดระยะและความรุนแรงของโรคเมื่อติดแล้ว[318][319]
- สำหรับคนที่มีผิวหนังอักเสบ (eczema) การอาบน้ำไม่ได้ทำให้ผิวแห้งและจริง ๆ อาจมีประโยชน์[320][321]
- ไม่มีและไม่เคยมี โครงการอะไร ๆ ที่ให้การฟอกเลือด เพื่อแลกเปลี่ยนกับแถบเหล็กเปิดกระป๋องเครื่องดื่ม[322] ข่าวลือนี้มีอย่างช้าตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 โดยอ้างว่าเป็นโปรแกรมของมูลนิธิไตแห่งชาติ (สหรัฐ) แต่มูลนิธิปฏิเสธว่ามีโปรแกรมนี้ โดยให้ข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายการฟอกไต 80% ในสหรัฐมาจากโปรแกรม Medicare ของรัฐบาลกลาง[323] แต่ก็มีองค์กรการกุศลในสหรัฐที่รับแถบเปิดกระป๋อง แล้วขายเศษโลหะให้กับบริษัทรีไซเคิล[324]
- นอแรดผงไม่ได้ใช้ในยาจีน (犀角, "นอแรด") เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่ใช้เพื่อลดไข้และการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ[325] ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่มีหลักฐานทางเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน
- สนิมไม่ได้ทำให้เป็นบาดทะยัก แม้สนิมอาจจะพบในที่ต่าง ๆ ร่วมกับแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งเป็นเหตุของโรค แต่ตัวสนิมเองก็ไม่ได้เป็นเหตุ[326]
สิ่งประดิษฐ์
[แก้]- ทอมัส เอดิสันไม่ได้ประดิษฐ์หลอดไฟ[327] แต่เขาได้พัฒนาหลอดไฟที่ "ใช้การได้" แรกในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งใช้ใยไม้ไผ่ที่ผ่านกระบวนการคาร์บอไนเซชัน ก่อนการประดิษฐ์หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าในปี 1881 ซึ่งใช้ใยเซลลูโลส
- เฮนรี ฟอร์ด ไม่ได้ประดิษฐ์รถยนต์หรือการผลิตแบบสายการประกอบ แต่เขาปรับปรุงกระบวนการผลิตแบบสายการประกอบอย่างสำคัญ บางครั้งด้วยความคิดของตัวเองแต่บ่อยครั้งด้วยความคิดลูกจ้างที่เขาสนับสนุน[328][329] จริง ๆ เป็นคาร์ล เบนซ์ (ผู้ร่วมตั้งบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์) ที่ได้เครดิตว่าประดิษฐ์รถยนต์ปัจจุบันรุ่นแรก[330] และการผลิตแบบสายการประกอบก็มีมาตั้งนานแล้ว เช่น โรงงานสรรพาวุธของเวนิส (Venetian Arsenal) ที่เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1104[331][332][333]
- เบนจามิน แฟรงคลิน ไม่ได้ประดิษฐ์หรือเสนอการใช้เวลาออมแสง จริง ๆ แล้ว ยุโรปในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไม่ได้ใช้ตารางเวลาที่แม่นยำขนาดนั้น[334]
- กูลเยลโม มาร์โกนี ไม่ได้ประดิษฐ์วิทยุ แต่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อกระจายเสียงต่อสาธารณชนและเพื่อการสื่อสาร[335]
- อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอัล กอร์ ไม่ได้กล่าวว่า เขา "ประดิษฐ์" อินเทอร์เน็ต แต่เขาได้พูดว่า "ในช่วงการรับใช้ในรัฐสภาสหรัฐของผม ผมได้ริเริ่มสร้างอินเทอร์เน็ต" ซึ่งหมายถึงงานทางการเมืองของเขาเพื่อพัฒนาอินเทอร์เน็ตเพื่อให้มวลชนได้ใช้อย่างกว้างขวาง[336] คือ กอร์เป็นผู้ร่าง "กฎหมายคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง ค.ศ. 1991 (High Performance Computing and Communication Act of 1991)" ดั้งเดิม ซึ่งได้ให้งบประมาณอย่างสำคัญแก่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ทำให้สามารถอั๊ปเกรตแกนหลักของอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้ว คือ NSFNet และพัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ NCSA Mosaic ซึ่งสร้างความนิยมต่อเวิลด์ไวด์เว็บ
- เจมส์ วัตต์ ไม่ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ[337] และไอเดียของเขาเกี่ยวกับพลังเครื่องจักรไอน้ำ ก็ไม่ได้แรงดลใจจากฝากาน้ำที่เปิดเองเพราะแรงดันไอน้ำ[338] แต่วัตต์ได้พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำแบบ Newcomen แรก ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดในคริสต์ทศวรรษ 1760 และ 1770 โดยทำการปรับปรุงที่สำคัญยิ่งในการวางตลาด ซึ่งก็คือเพิ่มประสิทธิภาพของคอนเด็นเซอร์ตัวนอก และประดิษฐ์กลไกที่เปลี่ยนการเคลื่อนไหวแบบลูกสูบให้เป็นแบบหมุน เครื่องจักรใหม่ของเขาจึงได้ชื่อเสียงอันโด่งดังต่อมา[339]
วัสดุศาสตร์
[แก้]- แก้วจะไม่ไหลที่อุณหภูมิห้องโดยเป็นของเหลวที่มีความหนืดสูง[340] แม้แก้วจะมีลักษณะระดับโมเลกุลบางอย่างคล้ายกับของเหลว แต่ที่อุณหภูมิห้อง มันเป็น "ของแข็งอสัณฐาน" (amorphous solid) ที่จะเริ่มไหลก็ต่อเมื่อถึงขีดอุณหภูมิที่เริ่มเปลี่ยนเป็นของเหลว (glass transition)[341] ถึงกระนั้น ธรรมชาติการเปลี่ยนเป็นของเหลวของแก้ว ก็ยังไม่ขัดเจนทางวิทยาศาสตร์[342] แม้งานกระจกสีบ่อยครั้งจะหนาที่ด้านล่างมากกว่าด้านบน ซึ่งอ้างเป็นตัวอย่างของการไหลของแก้วอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาเป็นศตวรรษ ๆ แต่ความไม่เท่ากันนี้จริง ๆ เป็นผลของกระบวนการผลิตกระจกในเวลานั้น และช่างก็มักจะติดกระจกให้ส่วนหนากว่าอยู่ด้านล่าง แต่ก็มีกระจกเก่า ๆ ที่มีส่วนหนาอยู่ด้านบนที่พบแล้วอย่างสามัญอีกด้วย[341][342] อนึ่ง ความบิดเบี้ยวเช่นนี้ก็ไม่พบในวัสดุแก้วอื่น ๆ รวมทั้งประติมากรรมหรือเครื่องมือซึ่งใช้ในการมองเห็นที่มีอายุราวเดียวกันหรือแม้แต่มากกว่า นักวิจัยคนหนึ่งประเมินในปี ค.ศ. 1998 ว่า เพื่อจะให้แก้วไหลที่อุณหภูมิห้อง มันจะต้องใช้เวลาเป็นหลายเท่าของอายุโลก[341][342][343]
- เพชรโดยมากไม่ได้เกิดจากถ่านภายใต้แรงดันสูง เพชรที่ขุดได้จากเหมืองแร่กว่า 99% เกิดในความร้อนและแรงดันสูงใต้ผิวโลกประมาณ 144 กม. ส่วนถ่านเกิดจากพืชยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ใต้ผิวโลกตื้นกว่ามาก และมีโอกาสน้อยที่จะเคลื่อนลงลึกกว่า 3.2 กม. ผ่านกระบวนการธรณีวิทยาที่สามัญ อนึ่ง เพชรโดยมากที่ได้หาอายุจะเก่าแก่กว่าพืชบนบกแรกสุด และดังนั้น จึงเก่ากว่าถ่าน แต่ก็เป็นไปได้ว่า เพชรอาจเกิดขึ้นจากถ่านใน เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone)[I] และในที่สะเก็ดดาววิ่งกระทบโลก แต่เพชรเช่นนี้มีน้อยและแหล่งคาร์บอนที่สร้างเพชร ก็มีโอกาสเป็นหินคาร์บอเนตและคาร์บอนอินทรีย์ในตะกอนมากกว่าถ่าน[345][346]
คณิตศาสตร์
[แก้]- ไม่มีหลักฐานว่าคนกรีกโบราณได้ออกแบบพาร์เธนอนให้เข้ากับอัตราส่วนทอง[347][J] พาร์เธนอนได้สร้างเสร็จเมื่อปี 438 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเกิดก่อนยุคลิดผู้กล่าวถึงอัตราเป็นครั้งแรกในบันทึกโดย 1 ศตวรรษ และเช่นกัน ผลงาน Vitruvian Man ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ก็ไม่ได้กล่าวถึงอัตรานี้ แม้งานจะอธิบายถึงอัตราอื่น ๆ[349][K]
ฟิสิกส์
[แก้]- เป็นเรื่องไม่จริงว่า อากาศใช้เวลาเท่ากันในการวิ่งผ่านด้านบนและด้านล่างปีกเครื่องบิน[351] ความเข้าใจผิดนี้ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า equal transit-time fallacy/theory มีอยู่ในทั้งตำรา หนังสืออ้างอิงไม่เฉพาะทาง และแม้แต่คู่มือฝึกนักบินทั่วไป จริง ๆ แล้ว อากาศผ่านด้านบนของปีกที่สร้างแรงยก จะวิ่งเร็วกว่าที่ทฤษฎีนี้แสดง[351] ดังนั้น การเป่าลมเหนือกระดาษงอจริง ๆ จึงไม่ได้แสดงหลักแบร์นูลลี (Bernoulli's principle) แม้นี่จะใช้เป็นการทดลองเพื่อแสดงหลักนี้อย่างสามัญในห้องเรียน[352] การเชื่อมการไหลของอากาศที่ด้านทั้งสองของกระดาษกับสมการของแบร์นูลลีไม่ถูกต้อง เนื่องจากอากาศที่อยู่ด้านบนและด้านล่างเป็นสนามการไหลคนละอัน และหลักของแบร์นูลลีใช้ได้กับสนามการไหลอันเดียวกันเท่านั้น[353] กระดาษยกขึ้นก็เพราะอากาศวิ่งผ่านแนวโค้งของกระดาษ และกระแสการไหลที่เป็นเส้นโค้งจะทำให้เกิดความแตกต่างของความดันโดยเป็นแนวตั้งฉากกับแนวการไหล[354] ส่วนหลักของแบร์นูลลีพยากรณ์ว่า การลดความดันจะสัมพันธ์กับการเพิ่มความเร็ว คือ เมื่ออากาศวิ่งผ่านเหนือกระดาษ มันจะวิ่งเร็วกว่าเมื่อออกจากปากคนเป่า แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏในการแสดงเช่นนี้[355]
- อาศัยปรากฏการณ์โคริออลิส น้ำไม่ได้ไหลลงท่อโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และหมุนตามเข็มนาฬิกาเท่านั้นในซีกโลกใต้ แต่คำอ้างว่า ปรากฏการณ์โคริออลิสมีแรงน้อยเกินที่จะมีอิทธิพลต่อการหมุนไหลลงของน้ำก็ผิดเหมือนกัน[356][357][358] เพราะปรากฏการณ์โคริออลิสมีจริง และก็มีผลต่อการไหลออกของน้ำด้วย แต่น้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ มากมายรวมทั้งกระแสน้ำที่มีอยู่แล้ว เศษอะไรที่อยู่ในน้ำ และรูปร่างสัณฐานของอ่างน้ำเป็นต้น และจะสามารถเห็นการไหลลงของน้ำทั้งตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา ไม่ว่าจะซีกโลกเหนือหรือใต้[359] อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยที่เอ็มไอทีได้ใส่น้ำลงในแท็งค์ทรงกระบอกพิเศษ (ในซีกโลกเหนือ) ปิดผนึกแล้ว ปล่อยให้ลงตัววันหนึ่ง เมื่อปล่อยให้ไหลออก มันก็จะไหลวนทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งยืนยันสมมติฐานว่า ปรากฏการณ์โคริออลิสมีผลต่อการไหลออกของน้ำแม้ในถังเล็ก ๆ โดยการทดลองนี้สามารถทำซ้ำเหมือนกันในที่ต่าง ๆ ของซีกโลกเหนือ และเมื่อทำที่นครซิดนีย์อันอยู่ในซีกโลกใต้ ก็เกิดผลตรงกันข้ามกัน[360]
- ความคิดว่า ฟ้าจะไม่ผ่าลงที่เดิมสองครั้งเป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล ซึ่งเก่าแก่ที่สุด รู้จักดีที่สุดในเรื่องฟ้าผ่า เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ฟ้าจะไม่ผ่าที่เดียวกันสองครั้งหรือมากกว่า คือหากมีพายุฝนฟ้าคะนอง ณ ที่ใดที่หนึ่ง มีวัตถุที่อยู่สูงหรือนำไฟฟ้าได้ดีที่สุด (คือมีระยะทางสั้นที่สุดจากแหล่งกระแสไฟฟ้า) ก็จะมีโอกาสถูกฟ้าผ่ามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าผ่าตึกเอ็มไพร์สเตตในนครนิวยอร์กถึงประมาณ 100 ครั้งต่อปี[361][362]
- เหรียญเพนนี (ของสหรัฐปัจจุบันหนักประมาณ 2.5 ก. มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 19.05 มม. หนา 1.52 มม. เป็นสังกะสีชุบทองแดง) ที่ปล่อยให้ตกลงจากตึกเอ็มไพร์สเตต (สูง 102 ชั้น โดยชั้นยอดสูงที่ 373 ม.) จะไม่ฆ่าคนที่ตกใส่หรือทำให้ทางเดินถนนแตก[363] เพราะความเร็วปลาย (terminal velocity) ของเหรียญที่ตกจะอยู่ที่ประมาณ 50-80 กม./ชม. โดยเหรียญจะไม่ตกลงเร็วกว่านั้นไม่ว่าจะปล่อยจากที่สูงเท่าไร เหรียญที่ตกลงเร็วเท่านั้น จะไม่พอเจาะถึงสมองมนุษย์หรือทำให้คอนกรีตแตก ดังที่รายการ "นักพิสูจน์ท้าทดลอง" ให้ข้อสังเกต ตึกนี้ไม่สมกับความเข้าใจผิดนี้เลย เพราะรูปเรียวของตึกทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยอะไรจากยอดตึกให้ตกลงที่ถนนข้างตึก แต่รายการก็ได้ชี้ว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าการปล่อยเหรียญลงจากที่สูงจะปลอดภัย เพราะก็ยังสามารถเป็นอันตรายได้
จิตวิทยา
[แก้]- ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ (Dyslexia) ไม่ใช่โรคทางประชานที่เห็นตัวอักษรกลับลำดับ หรือคำกลับลำดับ หรือตัวอักษรเหมือนสะท้อนในกระจก แต่เป็นโรคของบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาอย่างน้อยในระดับเฉลี่ย ที่มีปัญหาสะกดคำ อ่านให้เร็ว เขียนคำ ออกเสียงของคำในใจ อ่านออกเสียงคำต่าง ๆ และเข้าใจสิ่งที่อ่าน แม้คนไข้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับอักษรกลับลำดับได้ด้วย แต่นี่ก็ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของภาวะเสียการอ่านเข้าใจ[364]
- ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามีผู้ใหญ่ที่จำได้เหมือน "ถ่ายรูป" (คือจำอะไรได้แม่นยำจนเหมือนเลียนกล้องถ่ายรูป)[365] แต่ก็มีเด็กเล็ก ๆ ที่จำได้แม่นยำมาก (คือมี eidetic memory) อย่างน้อยก็ช่วงระยะสั้น ๆ[366] แม้มีคนที่อ้างว่าจำได้เหมือนถ่ายภาพ แต่คนเหล่านี้จำได้ดีก็โดยอาศัยเทคนิคการจำแบบนีโมนิค แต่ก็ไม่ใช่สมรรถภาพตามธรรมชาติที่เก็บความจำได้อย่างละเอียด[367] และก็มีคนน้อยมากที่มีความจำเยี่ยมมาก (exceptional memory) ด้วย ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครจำได้เหมือนบันทึกด้วยกล้อง
- โรคจิตเภท (schizophrenia) ไม่ใช่โรคเดียวกับ "ความผิดปกติของเอกลักษณ์แบบดิสโซสิเอทีฟ" (dissociative identity disorder) คือการมีบุคลิกภาพหลายบุคลิก[368] โดยรากศัพท์แล้ว คำว่า "schizophrenia" มาจากคำภาษากรีก คือ skhizein (σχίζειν, แปลว่า "แยก" ) และ phrēn, phren- (φρήν, φρεν- แปลว่า "จิต") และเป็นการวางติดกันที่เสนอโดยจิตแพทย์ชาวสวิสออยเกน บลอยเลอร์ ซึ่งอาจเป็นมูลเหตุของความเข้าใจผิดนี้
การขนส่ง
[แก้]- ของเสียจากส้วมจะไม่ปล่อยทิ้งจากเครื่องบินอย่างไม่จำเป็น โดยจะเก็บไว้ในแท็งค์ที่รถดูดส้วมที่สนามบินจะจัดการ[369] แต่ก็มีน้ำแข็งสีน้ำเงินซึ่งมาจากแท็งค์ส้วมรั่วโดยอุบัติเหตุของเครื่องบิน อย่างไรก็ดี รถไฟโดยสารในอดีตก็เคยชักโครกปล่อยลงตามราง แต่รถไฟปัจจุบันปกติจะมีแท็งค์ส้วมและดังนั้นก็จะไม่ปล่อยของเสียทิ้งเช่นกัน
- แบตเตอรี่รถยนต์ที่เก็บไว้บนพื้นคอนกรีต ไม่ได้เสียไฟเร็วกว่าเทียบกับเมื่อเก็บไว้บนวัสดุอย่างอื่น[370] ชาวอเมริกันบางพวกกังวลว่าคอนกรีตเป็นอันตรายต่อแบตเตอรี่[371] เพราะแบตเตอรี่ในยุคต้น ๆ อาจมีปัญหาเรื่องความชื้นจากพื้นเนื่องกับตัวหุ้มแบตเตอรี่มีรูพรุนรั่วได้ แต่หลายปีแล้วที่แบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรดมีตัวหุ้มทำจากพอลิโพรพิลีนที่ซึมผ่านไม่ได้[372] และบางชนิดก็ไม่ต้องบริหารจัดการ ดังนั้น จึงไม่มีจุดให้กรดแบตเตอรีไหลออกได้[373][374]
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร[375] แต่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ[376] อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใกล้กับเขตลาดกระบังและเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมักถูกเรียกว่า "Bangkok Airport"[377][378]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ พระวรสาร 4 เล่มของพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงมารีย์ชาวมักดาลา แต่ไม่มีสักครั้งที่แสดงว่าเธอเป็นโสเภณีหรือเป็นคนบาป[35]
- ↑ Irregardless เป็นคำภาษาปากเฉพาะถิ่นอเมริกันในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 20... ข้อคิดเห็นบ่อยที่สุดเกี่ยวกับคำก็คือ "ไม่มีคำเช่นนี้" แต่ก็มีคำเช่นนี้[63]
- ↑ ห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือ 30,000 เล่มในปี 630 ก่อน ค.ศ. {O'Connor 1980:161} ก็ดำรงอยู่ที่ไกเซรีจนกระทั่งถูกทำลายโดยคนอาหรับในคริสต์ทศวรรษที่ 7[79]
- ↑ ในอุณหพลศาสตร์ กระบวนการแอเดียแบติก (adiabatic process) คือกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการโอนความร้อนหรือสสาร ระหว่างระบบอุณหพลวัต (Thermodynamic system) กับสิ่งแวดล้อม เพราะในกระบวนการนี้ พลังงานจะโอนผ่านงานเท่านั้น[147][148] กระบวนการแอเดียแบติกเป็นแนวคิดหลักของทฤษฎีที่ใช้ชี้แจงกฎข้อที่หนึ่งของอุณหพลศาสตร์ และดังนั้นจึงเป็นแนวคิดกุญแจสำคัญในอุณหพลศาสตร์
- ↑ เรื่องนี้ก็ยังสามารถสาวไปยังหนังสือปี ค.ศ. 1934 ของนักกีฏวิทยา Antoine Magnan อีกด้วย ที่อ้างการคำนวณของลูกมือ คือ André Sainte-Laguë ผู้เป็นวิศวกร ข้อสรุปนี้อาจจะมาจากความจริงว่า แรงยกสูงสุดที่เป็นไปได้สำหรับปีกเครื่องบินเล็กเท่ากับของบัมเบิลบีและบินไปช้า ๆ เหมือนกัน จะน้อยกว่าน้ำหนักของผึ้ง (คือผึ้งก็ไม่ควรจะบินได้เหมือนกับเครื่องบินที่มีปีกขนาดเดียวกัน หนักเท่ากัน จะบินไม่ได้)[186]
- ↑ "มีคนหลายคนที่อยู่ใต้ความเข้าใจผิดว่าหัวดอกทานตะวันที่ปลูก (Helianthus annuus) จะหันไปตามดวงอาทิตย์ (แม้) ดอกไม้ตูมที่ยังไม่เจริญเต็มที่ของทานตะวันจะตามดวงอาทิตย์จริง ๆ และในวันที่แดดดี ดอกตูมจะตามดวงอาทิตย์ข้ามท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังตะวันตก แต่เมื่อดอกไม้เจริญและบานแล้ว ก้านก็จะแข็งตัวและดอกก็จะตรึงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก"[194][195]
- ↑
ขีดจำกัดอาร์มสตรอง (อังกฤษ: Armstrong limit, Armstrong's line) เป็นระดับความสูงที่มีความดันบรรยากาศต่ำ (0.0618 บรรยากาศ หรือ 44 mmHg) จนกระทั่งน้ำสามารถเดือดได้ที่อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 °C ส่วนชื่อของปรากฏการณ์มาจาก นพ. พลตรีแฮร์รี่ จอร์จ อาร์มสตรอง ผู้เข้าใจถึงเหตุการณ์นี้เป็นคนแรก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ระดับความสูง 18-19 กม.[238] ที่เกินกว่านี้มนุษย์ไม่สามารถรอดชีวิตได้โดยไม่ใช้ชุดความดัน[239]
- ↑ "มีหลักฐานน้อยมากว่า อาหารดีท๊อกซ์กำจัดพิษจากร่างกายได้จริง ๆ (และ) จริง ๆ แล้ว ไตและตับโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพดีในการกลั่นกรองและกำจัดพิษที่กลืนเข้าไปโดยมาก"[245]
- ↑ การมุดตัวของเปลือกโลก (Subduction) เป็นกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นที่รอยต่อซึ่งแผ่นเปลือกโลกวิ่งเข้าหากัน คือแผ่นหนึ่งมุดเข้าใต้อีกแผ่นหนึ่งแล้วจึงถูกทับกดลงเข้าไปในเนื้อโลก บริเวณที่กระบวนการนี้เกิดขึ้นเรียกว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) อัตราการมุดตัวปกติจะเป็นเซนติเมตร ๆ ต่อปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 2-8 ซม. สำหรับรอยต่อแผ่นเปลือกโลกโดยมาก[344]
- ↑ "มีความเชื่อสองอย่างอื่นเกี่ยวกับอัตราส่วนทองที่มักจะกล่าวถึงในนิตยสารและหนังสือ คือคนกรีกโบราณเชื่อว่ามันเป็นอัตราของสี่เหลี่ยมมุมฉากที่ดูงามที่สุด และดังนั้น พวกเขาจึงใส่สี่เหลี่ยมมุมฉากเช่นนั้นในอาคารต่าง ๆ รวมทั้งพาร์เธนอนที่มีชื่อเสียง ความเชื่อที่คงยืนเท่า ๆ กันสองอย่างนี้แน่นอนว่าเป็นเท็จเหมือน ๆ กัน และอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีหลักฐานอะไรเลย"[348]
- ↑ "ดูเหมือนว่า ส่วนหนึ่งของการศึกษาการเป็นนักเขียนทางคณิตศาสตร์ก็คือว่า คุณจะไม่สามารถกล่าวถึงอัตราส่วนทองโดยไม่กล่าวถึงวลีอะไรบางอย่างก่อนว่า 'ที่คนกรีกโบราณและอื่น ๆ เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์หรือขลัง' และเกือบพอ ๆ กันก็คือความรู้สึกต้องเพิ่มข่าวลือที่สองตามนัยว่า 'เลโอนาร์โด ดา วินชี เชื่อว่า ร่างกายมนุษย์มีอัตราส่วนทอง' มันไม่มีหลักฐานสักนิดหนึ่งที่สนับสนุนข้ออ้างทั้งสอง มีแต่เหตุผลที่ควรสมมุติว่าทั้งสองเป็นเรื่องเท็จ แต่ข้ออ้างทั้งสอง รวมทั้งอะไรที่คล้ายกันอื่น ๆ ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป"[350]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Does searing meat really seal in moisture?". Cookthink.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ McGee, Harold (2004). On Food and Cooking (Revised ed.). Scribner. p. 161. ISBN 978-0-684-80001-1. "The Searing Question".
- ↑ "Does alcohol burn off in cooking?". Ochef.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-15. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Weil. "Does Alcohol Really Cook Out of Food". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-08-20.
- ↑
Tarasoff, L. (1993-12). "Monosodium L-glutamate: A double-blind study and review". Food and Chemical Toxicology. 31: 1019–1035. doi:10.1016/0278-6915(93)90012-N. PMID 8282275. สืบค้นเมื่อ 2012-03-24.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑
Freeman, M. (2006-10). "Reconsidering the effects of monosodium glutamate: A literature review". Journal of the American Academy of Nurse Practitioners. 18: 482–486. doi:10.1111/j.1745-7599.2006.00160.x. PMID 16999713. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-03-24.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "US Patent 7112771 - Microwavable metallic container". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-10.
- ↑ Bloomfield, Louis. "Question 1456". How Everything Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ "The Great Debate: Does Espresso or Drip Coffee Have More Caffeine?". Mr. Coffee. 2014-10-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-22. สืบค้นเมื่อ 2015-06-21.
- ↑ เจ้าแรก “ลอดช่องสิงคโปร์”ตำนานความอร่อยยาวนาน 60 ปี
- ↑ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา. 2563. แกะรอยสาแหรกรสชาติจากเทคนิคการปรุง: จาก ‘ข้าวเม็กซิกัน’ สู่ ‘ข้าวผัดอเมริกัน’. https://www.the101.world/american-fried-rice/
- ↑ "Fried Rice, USA Style". new Stratis Times. 2007-03-01.
- ↑ ไพลิน รุ้งรัตน์ (อังคาร 14 พฤศจิกายน 2549). "บทสัมภาษณ์ นิตยา นาฏยะสุนทร ชีวิตดังดอกกุหลาบอันหอมหวาน". สกุลไทย. No. 2171. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-19. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
{{cite magazine}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Pogash, Carol (2003-11-23). "Myth of the 'Twinkie defense'". San Francisco Chronicle. p. D-1. สืบค้นเมื่อ 2007-03-20.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 อธิป จิตตฤกษ์ (2013-01-08). "12 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของคนไทย". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2017-12-01.
- ↑ Kal Raustiala and Chris Sprigman (2012-04-02). "Copying Is Not Theft". Freakonomics.com. สืบค้นเมื่อ 2017-12-10.
- ↑ Sophia Harris (March 28, 2017). "Netflix's anti-piracy team aims to make stealing content uncool - Business - CBC News". Cbc.ca. สืบค้นเมื่อ July 6, 2017.
- ↑ Poon, Christopher. "'You wouldn't steal a car,' but I'd download one | Dot Comrade | Pique Newsmagazine | Whistler, CANADA". Pique Newsmagazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-29. สืบค้นเมื่อ July 6, 2017.
- ↑ Vilain, Robert (2010). Words and Music. MHRA. pp. 24, 28. ISBN 978-1-907322-08-2. สืบค้นเมื่อ 2017-05-13.
- ↑ "How Do You Solve a Problem Like Maria?". BBC. 2006-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- ↑ "The Laughing Buddha". about.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 2011-01-06.
- ↑ "Buddhism - Major Differences". Buddhanet.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2011-01-06.
- ↑ "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), p. 274 (อรรถกถา)
- ↑ "The Chinese Buddhist Schools". Buddhanet.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2011-01-06.
- ↑ Szpek, Heidi. Voices from the University: The Legacy of the Hebrew Bible. p. 92. ISBN 978-0-595-25619-8.
- ↑ Adams, Cecil. "The Straight Dope: Was the forbidden fruit in the Garden of Eden an apple?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-01. สืบค้นเมื่อ 2010-01-15.
- ↑
- Babylonian Talmud, Berakhot, 40a
- Genesis Rabba 15 7
- Adams, Cecil (2006-11-24). "Was the forbidden fruit in the Garden of Eden an apple?". The Straight Dope. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-01. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ 28.0 28.1 "Biblical Evidence Shows Jesus Christ Wasn't Born on Dec. 25". gnmagazine.org. United Church of God. สืบค้นเมื่อ 2014-11-24.
- ↑ "Christmas — History.com Articles, Video, Pictures and Facts". History.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-07. สืบค้นเมื่อ 2012-12-23.
- ↑ "Why Christmas Celebrated on the 25th December? - Christmas Customs and Traditions - whychristmas?com". Whychristmas.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-16. สืบค้นเมื่อ 2012-12-23.
- ↑ 31.0 31.1 McGowan, Andrew. "How December 25 Became Christmas". Bible Review & Bible History Daily. Biblical Archaeology Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-14.
- ↑ Tighe, William J. (2003). "Calculating Christmas". Touchstone. 16 (10).
- ↑ Newton, Isaac, "Observations on the Prophecies of Daniel, and the Apocalypse of St. John". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18. (1733). Ch. XI. "A sun connection is possible because Christians consider Jesus to be the "sun of righteousness" prophesied in Malachi 4:2."
- ↑ Roll, Susan K. (1995). Toward the Origins of Christmas. Peeters. p. 130. ISBN 978-90-390-0531-6.
- ↑
"Mary Magdalene". BBC. 2011-07-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-07.
Mary Magdalene is mentioned in each of the four gospels in the New Testament, but not once does it mention that she was a prostitute or a sinner.
- ↑ Haskins, Susan (2003). Mary Magdalen: The Essential History. Pimlico. p. 96. ISBN 978-1-84595-004-0.
- ↑ Lester, Meera (2011-08-22). "Women of the Bible. Women Disciples and Followers of Christ. St. Mary Magdalene". Netplaces. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- ↑ "Religion & Ethics - Beliefs: The Immaculate Conception". BBC. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-24. สืบค้นเมื่อ 2011-01-05.
- ↑ * Rafe, Simon. "Infallibility versus Impeccability". Saint Michael's Basic Training: Apologetics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-06-17.
- MacDonald, David; Bonocore, Mark. "Is the Pope Sinless?". The Pope, Bishop of Rome Catholic and Orthodox relations. CatholicBridge.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-15. สืบค้นเมื่อ 2011-06-17.
- ↑ Beccari, Camillo (1907). "Beatification and Canonization". Catholic Encyclopedia. New York.
- ↑ "Utah Local News - Salt Lake City News, Sports, Archive - The Salt Lake Tribune". สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "BBC - Religions - Mormon: Polygamy". สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "Mormon church explains polygamy in early days". The Big Story. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "Mormon Polygamy Misconceptions about Mormon Polygamy". Mormon Polygamy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-13. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "Do Mormons practice polygamy?". The Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "Current practice of polygamy in the Mormon movement". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-29. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ "Modern Polygamy: Arizona Mormon Fundamentalists Seek to Shed Stereotypes". ABC News. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ Khadduri, Majid (1955). War and Peace in the Law of Islam. Johns Hopkins Press. pp. 74–80. ISBN 978-1-58477-695-6.
- ↑ Buckles, Luke (2004). The Complete Idiot's Guide to World Religions (3rd ed.). Alpha. p. 157. ISBN 978-1-59257-222-9.
- ↑ "Western definition of "jihad" must be corrected - Italian expert". Kuwait News Agency (KUNA). 2007-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-15.
- ↑ Safi, Louay M. (2003). Peace and the Limits of War: Transcending the Classical Conception of Jihad. International Institute of Islamic Thought. p. preface. ISBN 978-1-56564-402-1.
- ↑ 52.0 52.1 Warraq, Ibn (2002-01-12). "Virgins? What virgins?". The Guardian. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-22.
- ↑ Nirmal, Anjali (2009). Urban Terrorism: Myths and Realities. Pointer Publishers. p. 33. ISBN 978-81-7132-598-6.
- ↑ Yusuf, Salahuddin; Salihin, Riyadhus (1999). "372". commentary on Nawawi. Dar-us-Salam Publications. ISBN 978-1-59144-053-6.
- ↑ "[eSports] ลองมามองอีกมุมกันดีกว่า เพราะอะไรถึงยังมีคนบางส่วนที่ยังไม่ยอมรับว่า eSports เป็น กีฬา". Notebookspec.com. 2 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 56.0 56.1 Prepanod Nainapat (2 สิงหาคม 2560). "เล่นกีฬายังไงไม่ให้เสียเหงื่อ 7 กีฬาที่ใช้ทักษะ แต่ไม่(ค่อย)ออกกำลัง". The MATTER. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "柔道帯の最高位は、何と紅!? "紅帯"所持者に投げられてきた!" [What is the highest rank of the judo band, Kure!?] (ภาษาญี่ปุ่น). R25.jp. 2008-05-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-19. สืบค้นเมื่อ 2008-11-11.
- ↑ Lewis, M. Paul; Simons, Gary F.; Fennig, Charles D., บ.ก. (2013), "Deaf sign language", Ethnologue: Languages of the World (17th ed.), SIL International, สืบค้นเมื่อ 2013-12-03
- ↑ Supalla, Ted; Webb, Rebecca (2013-06-17). "The grammar of international sign: A new look at pidgin languages.". ใน Reilly, Judy Snitzer; Emmorey, Karen (บ.ก.). Language, Gesture, and Space. Psychology Press. pp. 333–352. ISBN 978-1-134-77966-6. สืบค้นเมื่อ 2017-02-16.
- ↑ Omar, Hasuria Che (2009). The Sustainability of the Translation Field. ITBM. p. 293. ISBN 978-983-42179-6-9. สืบค้นเมื่อ 2017-02-21.
- ↑ "irregardless".
[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10]
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|quote=
- ↑
- ""... "irregardless" is indeed a word. Anne Curzan, a professor of English at the University of Michigan, confirms its legitimacy..." Michigan Radio That's What They Say". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- McIntyre, John (2011). "Don't hang the lexicographers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.
- ↑ "Irregardless". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
Irregardless originated in dialectal American speech in the early 20th century... The most frequently repeated remark about it is that "there is no such word." There is such a word, however.
- ↑ * "Common vocabulary errors". Missouri University of Science and Technology. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-03. สืบค้นเมื่อ 2012-09-18.
- "Style Guide". University of Notre Dame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-07. สืบค้นเมื่อ 2012-09-18.
"Tricky Words". University of Texas at Austin. สืบค้นเมื่อ 2012-09-18.
- "Style Guide". University of Notre Dame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-07. สืบค้นเมื่อ 2012-09-18.
- ↑
- Fogarty, Mignon (2008-09-12). "Is "Funnest" a Word?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-09-25.
- "Thusly is not a Word?". 2012-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-09-25.
- ↑ [11][12][13][14][15] เก็บถาวร 2012-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[16][17][18][19][20] เก็บถาวร 2012-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[21][22][23][24][25][26] เก็บถาวร 2012-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[27][28][29][30][31][32][33][34] เก็บถาวร 2013-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[35][36][37][38][39]
- ↑
"Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-10-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ 68.0 68.1 O'Conner, Patricia T.; Kellerman, Stewart (2009). Origins of the Specious: Myths and Misconceptions of the English Language. New York: Random House. p. 77. ISBN 978-1-4000-6660-5.
The usual suggestion is that 'Xmas' is ... an attempt by the ungodly to x-out Jesus and banish religion from the holiday.
- ↑ Bratcher, Dennis (2007-12-03). "The Origin of "Xmas"". CRI / Voice, Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-30. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
- ↑ O'Conner, Patricia T.; Kellerman, Stewart (2009). Origins of the Specious: Myths and Misconceptions of the English Language. New York: Random House. p. 78. ISBN 978-1-4000-6660-5.
- ↑ 71.0 71.1 ศัพท์บัญญัติของศัพท์ software และ hardware จาก ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ ความเข้าใจผิดบางประการของ “ละมุนภัณฑ์-กระด้างภัณฑ์”[ลิงก์เสีย] - สุดสัปดาห์
- ↑ "โหลน… มาจากไหน". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2009-01-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-21. สืบค้นเมื่อ 2017-12-22.
- ↑ "ฌ เฌอ". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2013-04-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-01. สืบค้นเมื่อ 2018-03-02.
- ↑ Fass, Patrick (1994). Around the Roman Table. University of Chicago Press. pp. 66–67. ISBN 978-0-226-23347-5.
- ↑ McKeown, J.C. (2010). A Cabinet of Roman Curiosities: Strange Tales and Surprising Facts from the World's Greatest Empire. Oxford University Press. pp. 153–154. ISBN 978-0-19-539375-0.
- ↑ Lewis, Bernard (2008). What Happened to the Ancient Library of Alexandria?. Brill Academic Pub. p. 213. ISBN 978-90-04-16545-8.
- ↑ The Vanished Library, Bernard Lewis, in a letter to the New York Review of Books. เก็บถาวร 2014-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Cross, FL; Livingstone, Elizabeth A (2005). Pamphilus, St. The Oxford Dictionary of the Christian Church (3rd ed.). Oxford, New York: Oxford University Press. p. 1221.
The large library [30,000 vols in A.D. 630 {O'Connor 1980:161]} survived at Caesarea until destroyed by the Arabs in the 7th cent
- ↑ Laden, Greg (2011-05-01). "Falsehood: "If this was the Stone Age, I'd be dead by now" - Greg Laden's Blog". Scienceblogs.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2012-12-23.
- ↑ ""Expectations of Life" by H.O. Lancaster as per". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-04.
- ↑ Kahn, Charles (2005). World History: Societies of the Past. Portage & Main Press. p. 9. ISBN 978-1-55379-045-7. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
- ↑ Frank, F. (2000). The Invention of the Viking Horned Helmet. International Scandinavian and Medieval Studies in Memory of Gerd Wolfgang Weber. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-13.
- ↑ "Is King Canute misunderstood?". BBC. 2011-05-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-20.
- ↑ Breiding, Dirk. "Department of Arms and Armor, The Metropolitan Museum of Art". metmuseum.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-26. สืบค้นเมื่อ 2012-02-23.
- ↑ "Cranes hoisting armored knights". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-29.
- ↑ Keyser, Linda Migl (2008). "The Medieval Chastity Belt Unbuckled". ใน Harris, Stephen J.; Grigsby, Bryon L. (บ.ก.). Misconceptions About the Middle Ages. Routledge.
- ↑ Bishop, Louise M (2010). "The Myth of the Flat Earth". ใน Harris, Stephen; Grigsby, Bryon L (บ.ก.). Misconceptions about the Middle Ages. Routledge. สืบค้นเมื่อ 2014-01-26.
- ↑ Zerubavel, Eviatar (2003). Terra cognita: the mental discovery of America. Transaction Publishers. pp. 90–91. ISBN 978-0-7658-0987-2.
- ↑ Sale, Kirkpatrick (1991). The Conquest of Paradise: Christopher Columbus and the Columbian Legacy. pp. 204–209. ISBN 978-1-84511-154-0.
- ↑ "National Pasta Association". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-20. article FAQs section "Who "invented" pasta?"; "The story that it was Marco Polo who imported noodles to Italy and thereby gave birth to the country's pasta culture is the most pervasive myth in the history of Italian food." (Dickie 2008, p. 48).
- ↑ S. Serventi, F. Sabban La pasta. Storia e cultura di un cibo universale, VII. Economica Laterza 2004
- ↑ Serventi, Silvano; Sabban, Françoise (2002). Pasta: The Story of a Universal Food. Trans. Antony Shugaar. New York: Columbia University Press. p. 10. ISBN 978-0-231-12442-3.
- ↑ Keener, Candace. "HowStuffWorks "Let Them Eat Cake"". History.howstuffworks.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-04. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ "Washington's False Teeth Not Wooden". MSNBC. 2005-01-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-23. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Thompson, Mary V. "The Private Life of George Washington's Slaves". สืบค้นเมื่อ 2014-06-16.
- ↑ "Declaration of Independence - A History". archives.gov. U.S. National Archives and Records Administration. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-17. สืบค้นเมื่อ 2011-04-04.
- ↑ Crabtree, Steve (1999-07-06). "New Poll Gauges Americans' General Knowledge Levels". Gallup News Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-27. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
Fifty-five percent say it commemorates the signing of the Declaration of Independence (this is a common misconception, and close to being accurate; July 4th is actually the date in 1776 when the Continental Congress approved the Declaration, which was officially signed on August 2nd.) Another 32% give a more general answer, saying that July 4th celebrates Independence Day.
- ↑ Lund, Nicholas (2013-11-21). "Did Benjamin Franklin Really Say the National Symbol Should Be the Turkey?". Slate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2013-11-22.
- ↑ McMillan, Joseph (2007-05-18). "The Arms of the United States: Benjamin Franklin and the Turkey". American Heraldry Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.
- ↑ Sick, Bastian (2004). Der Dativ ist dem Genetiv sein Tod. Kieperheuer & Witsch. ISBN 978-3-462-03448-6.
- ↑ Adams, Willi Paul. "The German Americans". Chapter 7: German or English. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-24.
- ↑ The German Vote, Urban Legend Reference Pages (snopes.com), 2007-07-09
- ↑ Evans, Rod L. (2010). Sorry, Wrong Answer: Trivia Questions That Even Know-It-Alls Get Wrong. Penguin Books. ISBN 978-0-399-53586-4. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
- ↑
"Forget Napoleon - Height Rules". CBS News. 2009-02-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-02. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "Fondation Napoléon". Napoleon.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-17. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ "La taille de Napoléon" (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-12. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
- ↑ Wilde, Robert. "Was Napoleon Bonaparte Short?". European History. About.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-13. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.
- ↑ "Napoleon's Imperial Guard". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- ↑ The Hat That Won the West, สืบค้นเมื่อ 2010-02-10
- ↑ Snyder, Jeffrey B. Stetson Hats and the John B. Stetson Company 1865-1970. p. 50. ISBN 0-7643-0211-6.
- ↑ "Why Your Family Name Was Not Changed at Ellis Island (and One That Was)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-28. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ * "The Claus That Refreshes". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-01-07.
- "Did White Rock or The Coca-Cola Company create the modern Santa Claus Advertisement?". The White Rock Collectors Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-25. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- "Coca-Cola's Santa Claus: Not The Real Thing!". White Rock Beverages. 2006-12-18.
- Santa Claus on the 1902 cover of Puck magazine, Santa Claus on the 1904 cover of Puck magazine, Santa Claus on the 1905 cover of Puck magazine.
- ↑ Cathcart, Brian (1994-04-03). "Rear Window: Making Italy work: Did Mussolini really get the trains running on time". The Independent. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-24. สืบค้นเมื่อ 2010-09-03.
- ↑ Pooley, Jefferson; Socolow, Michael (2013-10-28). "The Myth of the War of the Worlds Panic". Slate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-09. สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.
- ↑ Campbell, W. Joseph. (2010). Getting it wrong : ten of the greatest misreported stories in American Journalism. Berkeley: University of California Press. pp. 26–44. ISBN 978-0-520-26209-6. สืบค้นเมื่อ 2013-11-25.
- ↑ Ankerstjerne, Christian. "The myth of Polish cavalry charges". Panzerworld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-04. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.
- ↑ "The Mythical Polish Cavalry Charge". Polish American Journal. Polamjournal.com. 2008-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-24. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ * Vilhjálmsson, Vilhjálmur Örn. "The King and the Star - Myths created during the Occupation of Denmark" (PDF). Danish institute for international studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.
- "Some Essential Definitions & Myths Associated with the Holocaust". Center for Holocaust and Genocide Studies - University of Minnesota. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-15. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.
- "King Christian and the Star of David". The National Museum of Denmark. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-28. สืบค้นเมื่อ 2017-02-21.
- ↑
Isaacson, Walter (2007-04-05). "Making the Grade". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-29. สืบค้นเมื่อ 2013-12-031.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Jones, Andrew Zimmerman. "Physics Myth Month - Einstein Failed Mathematics?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 2011-05-04.
- ↑ Kruszelnicki, Karl. "Einstein Failed School". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-07-12.
- ↑ Harmetz, Aljean (1992). Round Up the Usual Suspects: The Making of Casablanca — Bogart, Bergman, and World War II. Hyperion. p. 72. ISBN 978-1-56282-761-8.
- ↑ Sklar, Robert (1992). City Boys: Cagney, Bogart, Garfield. New Jersey: Princeton University Press. p. 135. ISBN 978-0-691-04795-9.
- ↑ Mikkelson, Barbara and David P. (2007-08-17). "The Blaine Truth". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). สืบค้นเมื่อ 2012-03-25.
- ↑ Daum, Andreas W. (2007). Kennedy in Berlin. Cambridge University Press. pp. 148–149. ISBN 3-506-71991-2.
- ↑ "Gebrauch des unbestimmten Artikels (German, "Use of the indefinite article")". Canoo Engineering AG. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-28. สืบค้นเมื่อ 2010-07-05.
- ↑ "German Myth 6: JFK a Jelly Doughnut? Berlin Speech 1963". German Misnomers, Myths and Mistakes. About.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-09. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.
- ↑ Gansberg, Martin (1964-03-27). "37 Who Saw Murder Didn't Call the Police" (PDF). New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-08-07.
- ↑ Rasenberger, Jim (2006-10). "Nightmare on Austin Street". American Heritage. สืบค้นเมื่อ 2015-05-18.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Cruickshank, Douglas, "Sympathy for the Devil", Salon.com, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03, สืบค้นเมื่อ 2006-06-25
- ↑ Zentgraf, Nico. "The Complete Works of the Rolling Stones 1962-2008". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-27. สืบค้นเมื่อ 2008-02-23.
- ↑ Burks, John (1970-02-07). "Rock & Roll's Worst Day". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-22. สืบค้นเมื่อ 2008-09-13.
- ↑ Richardson, Paul E (September/October 2009). "The hot line (is a Hollywood myth)". Russian Life. pp. 50–59.
{{cite magazine}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Clavin, Tom (2013-06-18). "There Never Was Such a Thing as a Red Phone in the White House". Smithsonian. สืบค้นเมื่อ 2014-09-21.
- ↑ "เมืองแป้แห่ระเบิด". คมชัดลึก. 10 กันยายน 2555. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "นั่งสามล้อผ่อเมือง "แพร่" ไขตำนาน "แพร่แห่ระเบิด"". ผู้จัดการออนไลน์. 16 กุมภาพันธ์ 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-04. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ธีรภาพ โลหิตกุล (1 กุมภาพันธ์ 2557). "ปลดชนวนวาทกรรมตำใจ "แพร่แห่ระเบิด"". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Space Station Astrophotography". NASA. 2003-03-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-04. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "Great Walls of Liar". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "BBC News - Chris Hadfield: Around Planet Earth in 1,500 tweets". Bbc.co.uk. 2013-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-28. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04.
- ↑ Wolfson, Richard (2002). Simply Einstein: relativity demystified. W. W. Norton & Company. p. 261. ISBN 0-393-05154-4.
- ↑ "Frontiers And Controversies In Astrophysics Lecture 9". Yale University. สืบค้นเมื่อ 2011-04-26.
- ↑ "Sun-Earth Connection". Adler Planetarium. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-16. สืบค้นเมื่อ 2009-05-08.
- ↑ "Ten Things You Thought You Knew about Sun-Earth Science". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-21. สืบค้นเมื่อ 2009-05-08.
- ↑ JT. "Top 10 Common Misconceptions". Listverse.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ Carathodory, C. (1909). "Untersuchungen uber die Grundlagen der Thermodynamik". Nathematische Annalen. 67: 355–386. doi:10.1007/BF01450409. A translation may be found here. Also a mostly reliable translation is to be found in Kestin, J. (1976). The Second Law of Thermodynamics. Stroudsburg, PA: Dowden, Hutchinson & Ross.
- ↑ Bailyn, M. (1994). A Survey of Thermodynamics. New York, NY: American Institute of Physics Press. p. 21. ISBN 0-88318-797-3.
- ↑
"Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-09. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑
"Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-15. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ Plait, Phil (2008-12-14). "Meteor propter hoc". Bad Astronomy. Discover. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 2014-01-19.
- ↑ "Infernal Egguinox". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). 2012-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-01-29.
- ↑ 153.0 153.1 Schmid, Randolph (1987-09-20). "Equinox Returns and Eggs Keep Balancing". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2014-01-29.
- ↑ Jacoby, Annalee (1945-03-19). "Eggs stand on end in Chungking". Life. pp. 36–37. สืบค้นเมื่อ 2014-01-29.
- ↑ Wilk, S. R. (2009). "The Yellow Sun Paradox". Optics & Photonics News: 12–13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ นิพนธ์ ทรายเพชร (1 ธันวาคม 2543). "ประเทศใดจะเห็นดวงอาทิตย์ ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 เป็นประเทศแรก". สมาคมดาราศาสตร์ไทย. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุชาดา ลิมป์ (6 มกราคม 2560). "แสงแรกของปีใหม่". 108 ซองคำถาม. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วิมุติ วสะหลาย (1 มกราคม 2546). "เรื่องที่มักเข้าใจผิดในดาราศาสตร์". สมาคมดาราศาสตร์ไทย. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Spanney, Laura (1995-01-28). "Not Many People Know That". New Scientist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-11-11.
- ↑
- Smith II, Larry (2007). "Longhorn_Information - handling". International Texas Longhorn Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-11. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- Dario, A. (2003-09-12). "Cattle - Basic Care" (PDF). IACUC, University of Tennessee. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-06-25. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- Grandin, Temple (2007). "Behavioral Principles of Handling Cattle and Other Grazing Animals under Extensive Conditions". ใน Moberg, Gary; Mench, Joy A. (บ.ก.). The Biology of Animal Stress. CABI. p. 45. ISBN 978-1-84593-219-0. สืบค้นเมื่อ 2011-01-28.
- ↑ * "Cool Pet Facts - North Shore Animal League America.htm". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- "Dog noses - myths and facts about your dog's nose - weekly pet tips by Pets.ca". สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- Varasdi, J. Allen (1989). Myth Information. Ballantine Books. p. 267. ISBN 978-0-345-35985-8.
Dogs do not sweat with their tongues as most people believe. They do have some sweat glands, but the ones of most importance are on the pads, or soles, of their feet.
- Segaloff, Nat (2001). The Everything tall tales, legends & outrageous lies book. Adams Media Corp. p. 265. ISBN 978-1-58062-514-2.
Of course, dogs sweat. You would, too, if you had to wear a fur coat in hot weather. Dogs excrete moisture through the pads on their paws.
- Olien, Michael D. (1978). The human myth : an introduction to anthropology. New York: Harper & Row. p. 568. ISBN 978-0-06-044918-6.
It is another folk tale that dogs do not sweat except through the tongue. This is an incorrect belief as dogs possess sweat glands all over the body.
- Aoki, T.; Wada, M. (1951-08-02). "Functional Activity of the Sweat Glands in the Hairy Skin of the Dog". Science. 114 (2953): 123–124. Bibcode:1951Sci...114..123A. doi:10.1126/science.114.2953.123. PMID 14854926. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- Creighton, C (1882). "Three cases of Tumour arising from Skin-glands in the Dog, showing the connection between disorder of the glandular structure and function, and cancerous invasion of the connective tissue". Medico-chirurgical transactions. 65: 53-70.3. PMC 2121351. PMID 20896600.
- "British Medical Journal 1899 April 15". British Medical Journal. 1 (1998): 921–28. doi:10.1136/bmj.1.1998.921. PMC 2462491.
SOME time ago we received from a correspondent an inquiry as to whether the very prevalent belief that a dog perspires through the tongue was a vulgar error or well founded. ...whether the dog exudes fluid from the tongue of the some kind as that exuded from the human skin. To this question the answer is, No. The skin of the dog is abundantly furnished with glands, having the characteristic disposition and structure of those which in man produce sweat, ... in other words, the dog does not sweat by the tongue.
- ↑ "How Do Dogs Sweat". Petplace.com. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ Mikkelson, Barbara and David P. (2007-08-19). "White Wilderness Lemmings Suicide". Snopes. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Scott, W. (November 1891). "The Monthly chronicle of North-country lore and legend: v.1-5; Mar. 1887-Dec. 1891". The Monthly chronicle of North-country lore and legend. 5: 523. สืบค้นเมื่อ 2011-01-07.
- ↑
- Di Silvestro, Roger (2003-02-01). "The Truth About Animal Clichés". National Wildlife Federation. สืบค้นเมื่อ 2011-10-31.
- "Blind as a Bat?". Geneva, NY: Hobart and William Smith Colleges. 2003-06-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Press release)เมื่อ 2008-06-07. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
- ↑ Kruszelnicki, Karl S. (2006-11-02). "Ostrich head in sand". Australian Broadcasting Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-10-07.
- ↑ Smith, Rex (2011-05-08). "Maybe ostriches are smarter". Albany Times-Union. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-10-07.
imagine, when they have thrust their head and neck into a bush, that the whole of their body is concealed.
- ↑ "Alcatraz Escape: Does a Duck's Quack Echo?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-03. (Season 1, Episode 8). MythBusters. Discovery Channel. December 12, 2003.
- ↑ "A Duck's Quack Doesn't Echo, and no-one knows the reason why?". Acoustics.salford.ac.uk. University of Salford Acoustics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-01-13.
- ↑ "Next Time, What Say We Boil a Consultant". Fast Company Issue 01. Oct 1995. สืบค้นเมื่อ 2016-02-29.
- ↑ Hipsley, Anna (2008-02-19). "Goldfish three-second memory myth busted - ABC News (Australian Broadcasting Corporation)". Australia: ABC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-25. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ "Sinking Titanic: Goldfish Memory". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-11. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Ostrander, G. K.; Cheng, KC; Wolf, JC; Wolfe, MJ (2004). "Shark Cartilage, Cancer and the Growing Threat of Pseudoscience". Cancer Research. 64 (23): 8485–91. doi:10.1158/0008-5472.CAN-04-2260. PMID 15574750.
- ↑ Hile, Jennifer (2004-01-23). "Great White Shark Attacks: Defanging the Myths". nationalgeographic.com.
- ↑ "Dominance and Dog Training". Association of Professional Dog Trainers. 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-02.
- ↑ "Why everything you know about wolf packs is wrong". 2013-12-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-10.
- ↑ Moment, Gairdner B. (1942). "Simultaneous anterior and posterior regeneration and other growth phenomena in Maldanid polychaetes". Journal of Experimental Zoology. 117: 1–13. doi:10.1002/jez.1401170102.
- ↑ "Gardening with children - Worms". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-28. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Reddien, Peter W.; Alvarado, Alejandro Sanchez (2004). "Fundamentals of planarian regeneration". Annual Review of Cell and Developmental Biology. 20: 725–57. doi:10.1146/annurev.cellbio.20.010403.095114. PMID 15473858.
- ↑ "The Housefly". Forest Preserve District of Cook County (Illinois). 1972-04-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-01. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
- ↑ "House Fly". House-flies.net. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-04. สืบค้นเมื่อ 2011-06-17.
- ↑ "Buried in Concrete : Daddy Long Legs". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-11. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ "UCR Spider Site - Daddy Long Legs Myth". University of California Riverside. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04.
- ↑ "Spider Myths - If it could only bite". Burke Museum of Natural History & Culture, University of Washington. 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-28. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑
- Chatfield, Matthew (2008-01-04). "Some scientist once proved that bees can't fly...?". The Ranger's Blog.
- Peterson, Ivars (2004-09-13). "Flight of the Bumblebee". Ivars Peterson's MathTrek. Mathematical Association of America. สืบค้นเมื่อ 2011-11-18.
- ↑ Dickinson, Michael (2001-06). "Solving the Mystery of Insect Flight" (PDF). Scientific American. p. 50.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Spider Myths - Swallowing Spiders". Burke Museum. 2010. สืบค้นเมื่อ 2015-06-07.
- ↑ Sneed, Annie (2014-04-15). "Fact or Fiction? People Swallow 8 Spiders a Year While They Sleep". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 2015-06-07.
- ↑ Bender, Steve, บ.ก. (2004-01). "Euphorbia". The Southern Living Garden Book (2nd ed.). Birmingham, Alabama: Oxmoor House. p. 306. ISBN 978-0-376-03910-1.
{{cite encyclopedia}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Are Poinsettia Plants Poisonous? Fact or Fiction?". MedicineNet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-09. สืบค้นเมื่อ 2007-12-21.
- ↑ Krenzelok, EP; Jacobsen, TD; Aronis, JM (1996-11). "Poinsettia exposures have good outcomes...just as we thought". Am J Emerg Med. 14 (7): 671–74. doi:10.1016/S0735-6757(96)90086-8. PMID 8906768.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Ask the Expert: Poison Control > Poinsettia". ASPCA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-10.
- ↑ Gerard, John (1597). "Herball, or Generall Historie of Plantes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. . London: John Norton. pp. 612-14. Retrieved August 8, 2012. Popular botany book in 17th century England.
- ↑ Hangarter, Roger P. "Solar tracking: sunflower plants". Plants-In-Motion website. Indiana University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-19. สืบค้นเมื่อ 2012-08-22.
- ↑
- Polikarpov, G.G. (1978). "Sunflower's blooming floscule is a compass". Nature. 272: 122. Bibcode:1978Natur.272..122P. doi:10.1038/272122c0.
- Lang, ARG; Begg, JE (1979). "Movements of Helianthus annuus Leaves and Heads". Journal of Applied Ecology. 16: 299–305. doi:10.2307/2402749. JSTOR 10.2307/2402749. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-23. สืบค้นเมื่อ 2016-12-10.
Dinural E-W oscillations of the heads occurred initially but ceased as the flowers opened and anthesis commenced, leaving the heads facing east
- ↑ "When the plant is in the bud stage, it tends to track the movement of the sun across the horizon. Once the flower opens into the radiance of yellow petals, it faces east". National Sunflower Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-03.
- ↑
"Evolutionary Science and Society: Educating a New Generation (TOC)" (PDF). Revised Proceedings of the BSCS, AIBS Symposium. MSU.edu. 2004-11. pp. 11–12. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "It Is Not Just a Theory... It Is a Theory!". Chandra Chronicles. Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics. 2008-07-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
- ↑ Kuhn, Thomas S. (1996). The Structure of Scientific Revolutions (Third ed.). Chicago: University of Chicago Press. p. 7. ISBN 978-0-226-45808-3.
Scientific fact and theory are not categorically separable
- ↑ "Misconceptions about the Nature of Science". UMT.edu. University of Montana, Div. Biological Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-17. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
- ↑ "Misconceptions about evolution - Berkeley.edu". Evolution.berkeley.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-27. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ "Understanding evolution - misconceptions". Evolution.berkeley.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ "Five Major Misconceptions about Evolution". TalkOrigins. 2003-10-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-03. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ Johnson, N. A.; Smith, J. J.; Pobiner, B.; Schrein, C. (2012-02). "Why Are Chimps Still Chimps?". The American Biology Teacher. 2: 74–80. doi:10.1525/abt.2012.74.2.3. สืบค้นเมื่อ 2013-01-08.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ De Waal, Frans B. M (2002-10-15). Tree of Origin: What Primate Behavior Can Tell Us About Human Social Evolution. pp. 124–126. ISBN 978-0-674-01004-8.
- ↑ Calvin, William H (2002). A Brain for All Seasons: Human Evolution and Abrupt Climate Change. Chicago: University of Chicago Press.
- ↑ Diamond, Jared M (2006). The Third Chimpanzee: The Evolution and Future of the Human Animal. HarperCollins Publishers.
- ↑ "Separating the Men From the Apes". nytimes.com. 1992-03-15.
- ↑ "Evolution: Frequently Asked Questions". PBS.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Perlman, David (2001-07-12). "Fossils From Ethiopia May Be Earliest Human Ancestor". National Geographic News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-11. สืบค้นเมื่อ 2016-12-10.
- ↑ Sergio Almécija, Jeroen B. Smaers & William L. Jungers, The evolution of human and ape hand proportions, Nature Communications 6, Article number: 7717 (2015).
- ↑ Hartwig, W. (2007). "Primate Evolution". ใน Campbell, C.; Fuentes, A.; MacKinnon, K.; Panger, M.; Bearder, S. (บ.ก.). Primates in Perspective. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-517133-4.
- ↑ Groves, C. (2005-11-16). Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 111–184. ISBN 0-801-88221-4.
- ↑ "Is the human race evolving or devolving?". Scientific American. 1998-07-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-21. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Moran, Nancy A. (2002). "Microbial MinimalismGenome Reduction in Bacterial Pathogens". Cell. 108 (5): 583–86. doi:10.1016/S0092-8674(02)00665-7. PMID 11893328.
- ↑ "Misconceptions about natural selection and adaptation: Natural selection involves organisms 'trying' to adapt.". Misconceptions about evolution. University of California Museum of Paleontology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-27.
- ↑ "Misconceptions about natural selection and adaptation: Natural selection gives organisms what they 'need.' ". Misconceptions about evolution. University of California Museum of Paleontology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-27.
- ↑ "The Giraffe's Short Neck". In Context #10 (Fall, 2003, pp. 14-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-11. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Simmons, R. E.; Scheepers, L. (1996). "Winning by a Neck: Sexual Selection in the Evolution of Giraffe" (PDF). The American Naturalist. 148 (5): 771–86. doi:10.1086/285955. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2004-08-23. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Hanke, David (2004). "Teleology: The explanation that bedevils biology". ใน Cornwell, John (บ.ก.). Explanations: Styles of explanation in science. Oxford & New York: Oxford University Press. pp. 143–155. ISBN 978-0-19-860778-6. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
- ↑ Zelenitsky, DK; Therrien, F; Erickson, GM; DeBuhr, CL; Kobayashi, Y; Eberth, DA; Hadfield, F (2012-10-25). "Scientist: "Dinosaurs may have evolved feathers for courtship"". Science. Newscientist.com. 338: 510–14. Bibcode:2012Sci...338..510Z. doi:10.1126/science.1225376. PMID 23112330. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2013-08-18.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "American Adults Flunk Basic Science". Science Daily. 2009-03-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-02.
- ↑ "Why Did the Woolly Mammoth Die Out?". National Geographic. 2011-03-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-29. สืบค้นเมื่อ 2016-08-02.
- ↑ MacLeod, N.; Rawson, P. F. (1997). "The Cretaceous-Tertiary biotic transition". Journal of the Geological Society. 154 (2): 265–92. doi:10.1144/gsjgs.154.2.0265. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-25.
- ↑ Schulte, P; Alegret, L; Arenillas, I; Arz, JA; Barton, PJ; Bown, PR; Bralower, TJ; Christeson, GL; และคณะ (2010-03-05). "The Chicxulub Asteroid Impact and Mass Extinction at the Cretaceous-Paleogene Boundary". Science. 327 (5970): 1214–18. Bibcode:2010Sci...327.1214S. doi:10.1126/science.1177265. PMID 20203042.
- ↑ Padian, K; Chiappe, LM (1997). "Bird Origins". ใน Currie, PJ; Padian, K (บ.ก.). Encyclopedia of Dinosaurs. San Diego: Academic Press. pp. 41–96.
- ↑ Coven, R (2000). History of Life. Oxford, UK: Blackwell Science. p. 154.
- ↑ Romer, A.S.; Parsons, T.S. (1977). The Vertebrate Body (5th ed.). Philadelphia: Saunders.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ * Broersma, Matthew (2004-06-24). "Mac OS X Security Myth Exposed". TechWorld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-26. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- Foresman, Chris (2011-05-02). "Fake "MAC Defender" antivirus app scams users for money, CC numbers". Ars Technica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-26. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- "Myth Busting: Is Linux Immune to Viruses?". Linux Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-30.
- ↑
Mersch, John, MD, FAAP. "Sleepwalking: Causes, Symptoms, and Treatments". MedicineNet, Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-05-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Sleepwalking". National Sleep Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-29. สืบค้นเมื่อ 2009-05-10.
- ↑ "Why Do Koreans Think Electric Fans Will Kill Them?". Esquire. 2009-01-22. สืบค้นเมื่อ 2016-08-02.
- ↑
- "Beware of Summer Hazards!" (Press release). Korea Consumer Protection Board (KCPB). 2006-07-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2009-09-05.
- Surridge, Grant (2004-09-22). "Newspapers fan belief in urban myth". JoongAng Daily. Chicago Reader, Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-10. สืบค้นเมื่อ 2007-08-02.
- Adams, Cecil (1997-09-12). "Will sleeping in a closed room with an electric fan cause death?". The Straight Dope. Chicago Reader, Inc. สืบค้นเมื่อ 2007-08-02.
- Adams, Cecil. "Why Fan Death Is an Urban Myth". สืบค้นเมื่อ 2009-09-06.
- ↑
- O'Connor, Anahad (2005-06-28). "The Claim: Never Swim After Eating". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.;
- "Hour Missed Brooks". Snopes. 2005-01-03. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
- ↑ 235.0 235.1 Vittone, Mario. "It Doesn't Look Like They're Drowning" (PDF). On Scene: The Journal of U.S. Coast Guard Search and Rescue. p. 14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-01-03. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15
{{cite web}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์) - ↑ Fletemeyer, John R.; Pia (Chapter author) (1999). "Chapter 14 ("Reflections on Lifeguard surveillance programs")". Drowning: new perspectives on intervention and prevention. Vol. 1998. p. 234. ISBN 978-1-57444-223-6.
{{cite book}}
:|author2=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ * Kienle, Alwin; Lilge, Lothar; Vitkin, I Alex; Patterson, Michael S; Wilson, Brian C; Hibst, Raimund; Steiner, Rudolf (1996-03-01). "Why do veins appear blue? A new look at an old question" (PDF). Applied Optics. 35 (7): 1151–60. Bibcode:1996ApOpt..35.1151K. doi:10.1364/AO.35.001151. PMID 21085227. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-10. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- "Students' Misconceptions in Science: The Color of Blood". Michigan State University. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
- "Home Articles Quick FacDe-oxygenated Blood Turns Dark Red, Not Blue". Today I Found Out. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
- ↑ "NASAexplores Glossary (9-12)". NASAexplores. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27.
Armstrong's Line = an attitude of approximately 62,000 feet [18.9 km] at this altitude air comes out of solution and for a person the blood will begin to boil
- ↑ NAHF - Harry Armstrong
- ↑ * "If you don't try to hold your breath, exposure to space for half a minute or so is unlikely to produce permanent injury. Holding your breath is likely to damage your lungs, ... but theory predicts - and animal experiments confirm - that otherwise, exposure to vacuum causes no immediate injury. You do not explode. Your blood does not boil. You do not freeze. You do not instantly lose consciousness". NASA Ask an Astrophysicist. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ""...will we humans explode in the full vacuum of space, as urban legends claim? The answer is that we won't explode, and if the exposure is short enough, we can even survive." Exploding Body in Vacuum ABC Science". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Barrett, Stephen (2011-06-08). "'Detoxification' Schemes and Scams". Quackwatch. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
- ↑ "Detox Diets: Cleansing the Body". WebMD. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ Wanjek, Christopher (2006-08-08). "Colon Cleansing: Money Down the Toilet". LiveScience. สืบค้นเมื่อ 2008-11-10.
- ↑ Kovacs, Jenny Stamos (2007-02-08). "Colon Cleansers: Are They Safe? Experts discuss the safety and effectiveness of colon cleansers". WebMD. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ Zeratsky, Katherine (2012-04-21). "Do detox diets offer any health benefits?". Mayo Clinic. สืบค้นเมื่อ 2015-05-09.
[...T]here's little evidence that detox diets actually remove toxins from the body. Indeed, the kidneys and liver are generally quite effective at filtering and eliminating most ingested toxins.
- ↑ PMID 16929298 (PMID 16929298)
Citation will be completed automatically in a few minutes. Jump the queue or expand by hand - ↑ "Beyond the Tongue Map". Asha.org. 2002-10-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ Hänig, David P (1901). "Zur Psychophysik des Geschmackssinnes". Philosophische Studien (17): 576–623. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14.
- ↑
- Campbell-Platt, Geoffrey (2009). Food Science and Technology. Wiley. p. 31. ISBN 978-0-632-06421-2. สืบค้นเมื่อ 2011-01-05.
- "Senses Notes" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-20. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- Krulwich, Robert (2007-11-05). "Sweet, Sour, Salty, Bitter ... and Umami". Krulwich Wonders, an NPR Science Blog. NPR. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ Cerretani, Jessica (Spring 2010). "Extra Sensory Perceptions". Harvard Medicine. Harvard College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-11. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "How many senses does a human being have?". Discovery Health. Discovery Communications Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-06. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "Biology: Human Senses". CliffNotes. Wiley Publishing, Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ Botcharova, Maria (2013-01-10). "A gripping tale: scientists claim to have discovered why skin wrinkles in water". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.
- ↑ Changizi, Mark; Weber, Romann; Kotecha, Ritesh; Palazzo, Joseph (2011). "Are Wet-Induced Wrinkled Fingers Primate Rain Treads?". Brain Behav. Evol. 77 (4): 286–290. doi:10.1159/000328223. PMID 21701145. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.
- ↑ Kareklas, Kyriacos; Nettle, Daniel; Smulders, Tom V. (2013-04-23). "Water-induced finger wrinkles improve handling of wet objects". Biol. Lett. 9 (2): 20120999. doi:10.1098/rsbl.2012.0999. PMC 3639753. PMID 23302867. สืบค้นเมื่อ 2013-01-28.
- ↑ Haseleu, Julia; Omerbašić, Damir; Frenzel, Henning; Gross, Manfred; Lewin, Gary R. (2014). Goldreich, Daniel (บ.ก.). "Water-Induced Finger Wrinkles Do Not Affect Touch Acuity or Dexterity in Handling Wet Objects". PLoS ONE. 9: e84949. Bibcode:2014PLoSO...984949H. doi:10.1371/journal.pone.0084949. PMC 3885627. PMID 24416318.
- ↑
- "Shaved Hair Grows Darker". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-01. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- "Does shaving make hair grow back thicker?". Mayoclinic.com. 2011-10-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-01. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- "Shaving Tips for Teen Girls". Webmd.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-01. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑ Graham-Brown, Robin; Tony Burns (2007). Lecture Notes on Dermatology. Blackwell. p. 6. ISBN 978-1-4051-3977-9.
- ↑
- About.com Beauty.about.com
- "disabled-world.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
- "Question: What is up with colour-enhancing shampoos? Do they work?". Canada: CBC News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-01-13.
- ↑ Silverman, Jacob. "Are redheads going extinct?". HowStuffWorks. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-03. สืบค้นเมื่อ 2011-07-15.
- ↑ Kruszelnicki, Karl S. (2008-11-25). "Redheads' 'extinction' explanation splitting hairs". ABC Science. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-26. สืบค้นเมื่อ 2011-07-15.
- ↑ 262.0 262.1 * Valtin, Heinz (2002). ""Drink at least eight glasses of water a day." Really? Is there scientific evidence for "8 × 8"?". American Journal of Physiology. Regulatory, Integrative and Comparative Physiology. 283 (5): R993–R1004. doi:10.1152/ajpregu.00365.2002. PMID 12376390. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14.
- Über den Durst (ภาษาเยอรมัน), Die Zeit, สืบค้นเมื่อ 2012-04-07
- Muss ich wirklich 3 Liter Wasser am Tag trinken? (ภาษาเยอรมัน), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-03, สืบค้นเมื่อ 2012-04-07
- ↑ Vreeman, RC; Carroll, AE (2008). "Festive medical myths". BMJ. 337: a2769. doi:10.1136/bmj.a2769. PMID 19091758.
- ↑ "Medical Myths". University of Arkansas for Medical Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-09. สืบค้นเมื่อ 2011-02-10.
- ↑ Fullerton-Smith, Jill (2007). The Truth About Food. Bloomsbury. pp. 115-117. ISBN 978-0-7475-8685-2.
Most parents assume that children plus sugary foods equals raucous and uncontrollable behaviour. ... according to nutrition experts, the belief that children experience a 'sugar high' is a myth.
- ↑
- Brandstadt, William G. (1967-12-19). "Popular Misconceptions Regarding Intoxication". Middlesboro Daily News. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- Pierson, Rebecca (2004-12-09). "Hypothermia main outdoors threat". Elizabethton Star. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- Seixas, Judy (1977-04-15). "Writer Tells Of Alcohol Dangers, Misconceptions". The Virgin Islands Daily News. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "Alcohol for Warmth". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-13.
- ↑ "Study finds alcohol doesn't kill off brain cells | News.com.au". News Limited. 2007-07-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-13. สืบค้นเมื่อ 2011-01-08.
- ↑ Lovinger, D. M. (1993). "Excitotoxicity and Alcohol-Related Brain Damage". Alcoholism: Clinical and Experimental Research. 17: 19–27. doi:10.1111/j.1530-0277.1993.tb00720.x.
- ↑ Kopelman, MD; Thomson, AD; Guerrini, I; Marshall, EJ (2009). "The Korsakoff syndrome: clinical aspects, psychology and treatment". Alcohol and Alcoholism. 44 (2): 148–54. doi:10.1093/alcalc/agn118. PMID 19151162.
- ↑ 271.0 271.1
Webb, Densie (2010-09). "Defending Vegan Diets - RDs Aim to Clear Up Common Misconceptions About Vegan Diets". Today's Dietician: 20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Matthews, Jessica (2009-11-04). "Are vegetarian diets safe?". Ask the Expert. American Council on Exercise. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-06. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
- ↑ Messina, Virginia; Mangles, Reed; Messina, Mark (2004). The dietitian's guide to vegetarian diets. Sudbury, MA: Jones and Bartlett Publishers. ISBN 978-0-7637-3241-7.
- ↑ Matson, John (2007-10-11). "Fact or Fiction?: Chewing Gum Takes Seven Years to Digest". Scientific American. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-09. สืบค้นเมื่อ 2011-02-04.
- ↑ "Claim: Chewing gum takes seven years to pass through the digestive system; FALSE". Urban Legends Reference Pages.
- ↑ Rubin, Raphael; Strayer, David S; Rubin, Emanuel; Aponte, Gonzalo, บ.ก. (2012). Rubin's pathology : clinicopathologic foundations of medicine (Sixth ed.). Philadelphia, PA: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins. p. 623. ISBN 9781605479682.
- ↑ "Fact sheet for health professionals: Vitamin A". Office of Dietary Supplements, National Institutes of Health. 2013-06-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-17. สืบค้นเมื่อ 2016-12-029.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Maron, DF (2014-06-23). "Fact or Fiction?: Carrots Improve Your Vision". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 2016-12-029.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ doi:10.3945/ajcn.112.036350
This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand - ↑ "Sex before the big game?". Nature. 2006-06-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-04. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
- ↑ "Sex and Sports: Should Athletes Abstain Before Big Events?". National Geographic. 2006-02-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-01. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
- ↑ 282.0 282.1 Kershaw, Sarah (2009-11-26). "Shaking Off the Shame". The New York Times.
- ↑ 283.0 283.1 Bennett, Robin L.; Motulsky, Arno G.; Bittles, Alan; Hudgins, Louanne; Uhrich, Stefanie; Doyle, Debra Lochner; Silvey, Kerry; Scott, C. Ronald; Cheng, Edith; McGillivray, Barbara; Steiner, Robert D.; Olson, Debra (2002). "Genetic Counseling and Screening of Consanguineous Couples and Their Offspring". Journal of Genetic Counseling. 11 (2): 97–119. doi:10.1023/A:1014593404915.
- ↑ Westen (2006). Psychology (Australian and New Zealand ed.). John Wiley. p. 107.
- ↑ Goswami, U (2006). "Neuroscience and education: from research to practice?". Nature Reviews. Neuroscience. 7 (5): 406–11. doi:10.1038/nrn1907. PMID 16607400.
- ↑ Eriksson, Gage (1998). "Neurogenesis in the adult human hippocampus". Nature Medicine. 4 (11): 1313–17. doi:10.1038/3305. PMID 9809557.
- ↑ Gross, C. G. (2000). "Neurogenesis in the adult brain: death of a dogma". Nat Rev Neurosci. 1 (1): 67–73. doi:10.1038/35036235.
- ↑ "Are you born with all your brain cells, or do you grow new ones?". Brain Briefings. BrainFacts.org. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- ↑ Goldman, SA; Nottebohm, F (1983-04). "Neuronal production, migration, and differentiation in a vocal control nucleus of the adult female canary brain". Proc Natl Acad Sci U S A. 80 (8): 2390–94. Bibcode:1983PNAS...80.2390G. doi:10.1073/pnas.80.8.2390. PMC 393826. PMID 6572982.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Gould, E; Reeves, AJ; Fallah, M; Tanapat, P; Gross, CG; Fuchs, E (1999). "Hippocampal neurogenesis in adult Old World primates". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 96 (9): 5263–67. Bibcode:1999PNAS...96.5263G. doi:10.1073/pnas.96.9.5263. PMC 21852. PMID 10220454.
- ↑ Eriksson, Peter S.; Perfilieva, Ekaterina; Björk-Eriksson, Thomas; Alborn, Ann-Marie; Nordborg, Claes; Peterson, Daniel A.; Gage, Fred H. (1998). "Neurogenesis in the adult human hippocampus". Nature Medicine. 4 (11): 1313–17. doi:10.1038/3305. PMID 9809557.
- ↑ Reh, Thomas A.; Ponti, Giovanna; Peretto, Paolo; Bonfanti, Luca (2008). Reh, Thomas A. (บ.ก.). "Genesis of Neuronal and Glial Progenitors in the Cerebellar Cortex of Peripuberal and Adult Rabbits". PLoS ONE. 3 (6): e2366. Bibcode:2008PLoSO...3.2366P. doi:10.1371/journal.pone.0002366. PMC 2396292. PMID 18523645.
- ↑ Zhao, Chunmei; Deng, Wei; Gage, Fred H. (2008). "Mechanisms and Functional Implications of Adult Neurogenesis". Cell. 132 (4): 645–60. doi:10.1016/j.cell.2008.01.033. PMID 18295581.
- ↑ Gould, E; Reeves, AJ; Graziano, MS; Gross, CG (1999). "Neurogenesis in the neocortex of adult primates". Science. 286 (5439): 548–52. doi:10.1126/science.286.5439.548. PMID 10521353.
- ↑ Zhao, M; Momma, S; Delfani, K; Carlen, M; Cassidy, RM; Johansson, CB; Brismar, H; Shupliakov, O; และคณะ (2003). "Evidence for neurogenesis in the adult mammalian substantia nigra". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 100 (13): 7925–30. Bibcode:2003PNAS..100.7925Z. doi:10.1073/pnas.1131955100. PMC 164689. PMID 12792021.
- ↑ Shankle, WR; Rafii, MS; Landing, BH; Fallon, JH (1999). "Approximate doubling of numbers of neurons in postnatal human cerebral cortex and in 35 specific cytoarchitectural areas from birth to 72 months". Pediatric and developmental pathology. 2 (3): 244–59. doi:10.1007/s100249900120. PMID 10191348.
- ↑ Rakic, P (2002). "Adult neurogenesis in mammals: an identity crisis". Journal of Neuroscience. 22 (3): 614–18. PMID 11826088.
- ↑ "British Medical Journal: Wakefield's article linking MMR vaccine and autism was fraudulent". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-11. สืบค้นเมื่อ 2011-01-05.
- ↑ "Snopes on brains". Urban Legend Reference Pages (snopes.com). สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑
Radford, Benjamin (March–April 1999). "The Ten-Percent Myth". Skeptical Inquirer. Committee for the Scientific Investigation of Claims of the Paranormal. ISSN 0194-6730. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-30. สืบค้นเมื่อ 2009-04-15.
It's the old myth heard time and again about how people use only ten percent of their brains
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ Beyerstein, Barry L. (1999). "Whence Cometh the Myth that We Only Use 10% of our Brains?". ใน Della Sala, Sergio (บ.ก.). Mind Myths: Exploring Popular Assumptions About the Mind and Brain. Wiley. pp. 3-24. ISBN 978-0-471-98303-3.
- ↑ 302.0 302.1 Howard-Jones, Paul A. (2014-12-01). "Neuroscience and education: myths and messages". Nature Reviews Neuroscience. 15 (12): 817–24. doi:10.1038/nrn3817. ISSN 1471-003X. PMID 25315391. สืบค้นเมื่อ 2016-01-08.
- ↑ Coffield, Frank (2004). Learning styles and pedagogy in post-16 learning: a systematic and critical review. London: Learning and Skills Research Centre. pp. 119–33. ISBN 1853389188. สืบค้นเมื่อ 2016-01-08.
- ↑
Johnson, S; Henderson, SO (2004-01). "Myth: the Trendelenburg position improves circulation in cases of shock". CJEM : Canadian journal of emergency medical care = JCMU : journal canadien de soins medicaux d'urgence. 6 (1): 48–9. PMID 17433146.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Kettaneh, Nicolas (2008-10-30). "Use of the Trendelenburg Position to Improve Hemodynamics During Hypovolemic Shock". Best Evidence Topic Reports (BestBETS).
- ↑ Pinnock, CB; Graham, NM; Mylvaganam, A; Douglas, RM (1990). "Relationship between milk intake and mucus production in adult volunteers challenged with rhinovirus-2". The American review of respiratory disease. 141 (2): 352–56. doi:10.1164/ajrccm/141.2.352. PMID 2154152.
- ↑ Samour, Patricia Queen; Helm, Kathy King (2005). Handbook of pediatric nutrition. Jones & Bartlett Learning. ISBN 978-0-7637-8356-3.
- ↑ Derrer, David T (MD) (2015-01-31). "Warts: 10 Answers to Frequently Asked Questions". WebMD. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-25.
- ↑ "Putting an End to Warts". Londondrugs.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-09. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑
Bosomworth, NJ (2009-09). "Exercise and knee osteoarthritis: benefit or hazard?". Can Fam Physician. 55 (9): 871–78. PMC 2743580. PMID 19752252.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑
Deweber, K; Olszewski, M; Ortolano, R (Mar–Apr 2011). "Knuckle cracking and hand osteoarthritis". Journal of the American Board of Family Medicine : JABFM. 24 (2): 169–74. doi:10.3122/jabfm.2011.02.100156. PMID 21383216.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ Atkins, William. "Diverticulitis isn't anti-nut any more". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ 2011-07-01.
- ↑ Weisberger, L; Jamieson, B (2009-07). "Clinical inquiries: How can you help prevent a recurrence of diverticulitis?". The Journal of family practice. 58 (7): 381–82. PMID 19607778.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 314.0 314.1 314.2 314.3 Marshall, IJ; Wolfe, CD; McKevitt, C (2012-07-09). "Lay perspectives on hypertension and drug adherence: systematic review of qualitative research". BMJ (Clinical research ed.). 345: e3953. doi:10.1136/bmj.e3953. PMC 3392078. PMID 22777025.
- ↑ Dickinson, HO; Mason, JM; Nicolson, DJ; Campbell, F; Beyer, FR; Cook, JV; Williams, B; Ford, GA (2006-02). "Lifestyle interventions to reduce raised blood pressure: a systematic review of randomized controlled trials". Journal of Hypertension. 24 (2): 215–33. doi:10.1097/01.hjh.0000199800.72563.26. PMID 16508562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Eccles, Ronald; Weber, Olaf, บ.ก. (2009). Common cold. Basel: Birkhäuser. p. 7. ISBN 978-3-7643-9894-1.
- ↑ Rutter, Paul (2009). Community pharmacy : symptoms, diagnosis and treatment (2nd ed.). Edinburgh: Elsevier/Churchill Livingstone. p. 7. ISBN 978-0-7020-2995-0.
- ↑ "Vitamin C for the Common Cold". WebMD. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
- ↑
Hemilä, Harri; Chalker, Elizabeth (2013-01). "Vitamin C for preventing and treating the common cold". The Cochrane Library. 1: CD000980. doi:10.1002/14651858.CD000980.pub4. PMID 23440782. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Daily Skin Care Essential to Control Atopic Dermatitis". American Academy of Dermatology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
- ↑ McAleer, MA; Flohr, C; Irvine, AD (2012-07-23). "Management of difficult and severe eczema in childhood". British Medical Journal. 345: e4770. doi:10.1136/bmj.e4770. PMID 22826585.
- ↑ Mikkelson, Barbara (2012-03-24). "Keeping Tabs". Snopes. สืบค้นเมื่อ 2014-03-30.
- ↑ "NKF Dispels Pull Tabs for Dialysis Time Rumor". National Kidney Foundation. 1998-06-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2014-03-30.
- ↑ "POP TAB COLLECTION PROGRAM". www.rmhckc.org. Ronald McDonald House Charities Kansas City Inc. สืบค้นเมื่อ 2016-12-017.
Advantage Metals, our local recycler, buys the tabs at market rate and makes an additional charitable contribution. They generously donate their pick-up and handling services, so the income from pop tabs is pure profit.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Bensky, Dan; Clavey, Steven; Stoger, Erich; Gamble, Andrew (2004). Chinese Herbal Medicine: Materia Medica (3rd ed.). Eastland Press. ISBN 0-939616-42-4.
- ↑ "Tetanus - Can a Rusty Nail Cause Tetanus?". Environmental Safety and Health Online. สืบค้นเมื่อ 2015-11-09.
- ↑ Robert, Friedel; Paul Israel (1987). Edison's Electric Light: Biography of an Invention. New Brunswick, New Jersey: Rutgers University Press. pp. 115-17. ISBN 978-0-8135-1118-4.
- ↑ Hounshell, David A. (1984), From the American System to Mass Production, 1800-1932: The Development of Manufacturing Technology in the United States, Baltimore, Maryland: Johns Hopkins University Press, pp. 15–47, ISBN 978-0-8018-2975-8, LCCN 83016269
- ↑ Sorensen, Charles E.; with Williamson, Samuel T. (1956). My Forty Years with Ford. New York: Norton. p. 128. ISBN 978-0-8143-3279-5. LCCN 56010854.
- ↑ Stein, Ralph (1967). The Automobile Book. Paul Hamlyn Ltd.
- ↑
Giove, S; Rosato, P; Breil, N (2008-10). A multicriteria approach for the evaluation of the sustainability of re-use of historic buildings in Venice (PDF). Sustainability indicators and environmental valuation paper. Fondazione Eni Enrico Nattei. สืบค้นเมื่อ 2010-01-30.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Norris, R.M. (2007-08). Carpaccio's Hunting on the lagoon and two Venetian ladies: A vignette of fifteenth-century Venetian life (PDF). College of Fine and Professional Arts of Kent State University (Master of Arts). สืบค้นเมื่อ 2010-01-30.
{{cite thesis}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ Tassava, C.J. (2003-06). Launching a Thousand Ships: Entrepreneurs, War Workers, and the State in American Shipbuilding, 1940-1945 (PDF) (Ph.D.). Northwestern University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2003-06-08. สืบค้นเมื่อ 2010-01-30.
{{cite thesis}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Zerubavel, Eviatar (1982). "The standardization of time: a sociohistorical perspective". The American Journal of Sociology. 88 (1): 1–23. doi:10.1086/227631.
- ↑ Rhoads, B. Eric. "Just Who Invented Radio And Which Was The First Station?". QSL.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-19. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
- ↑ "During my service in the United States Congress, I took the initiative in creating the Internet"
- "Al Gore on the invention of the internet". Snopes. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- O'Carroll, Eoin (2009-03-09). "Al Gore joins call for new .ECO Internet domain". CSmonitor.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
- ↑
- Rolt, L. T. C. (1962). James Watt. Batsford. p. 10. ISBN 978-1-163-47052-7.
- Carroll, John Millar (1991). Designing interaction: psychology at the human-computer interface. Cambridge University Press. p. 76. ISBN 978-0-521-40056-5.
- Green, Joey (2005). Contrary to Popular Belief: More Than 250 False Facts Revealed. Broadway Books. p. 20. ISBN 978-0-7679-1992-0.
- "INVENTION - MYTH AND REALITY". Physics World. 1990.
- ↑ Miller, David Philip (2004). "True Myths: James Watt's Kettle, His Condenser, and His Chemistry". History of Science. Science History Publication Ltd. 42: 333–60. Bibcode:2004HisSc..42..333M. doi:10.1177/007327530404200304.
- ↑ "An Evolutionary Framework for Experimental Innovation" (PDF). Australian Government Department of Defence Defence Science and Technology Organisation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-15. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ Curtin, Ciara (2007-02), "Fact or Fiction?: Glass Is a (Supercooled) Liquid", Scientific American, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14,
Glass, however, is actually neither a liquid—supercooled or otherwise—nor a solid. It is an amorphous solid—a state somewhere between those two states of matter. And yet glass's liquidlike properties are not enough to explain the thicker-bottomed windows, because glass atoms move too slowly for changes to be visible.
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 341.0 341.1 341.2 Halem, Henry (1998-05-30). "Does Glass Flow". Glassnotes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-22. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ 342.0 342.1 342.2 Chang, Kenneth (2008-07-29). "The Nature of Glass Remains Anything but Clear". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-04-04.
- ↑
Zanotto, E.D. (1998-05). "Do cathedral glasses flow?". American Journal of Physics. 66: 392. Bibcode:1998AmJPh..66..392Z. doi:10.1119/1.19026.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Defant, M. J. (1998). Voyage of Discovery: From the Big Bang to the Ice Age Ipublisher=Mancorp. p. 325. ISBN 0-931541-61-1.
- ↑ King, Hobart (2012). "How do diamonds form? They don't form from coal!". geology.com. geology.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-30. สืบค้นเมื่อ 2012-06-29.
- ↑ Pak-Harvey, Amelia (2013-10-31). "10 common scientific misconceptions". The Christian Science Monitor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-06.
- ↑ Galef, Jesse (2011-08-29). "Lies and Debunked Legends about the Golden Ratio". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10.
- ↑ Devlin, Keith (2008). The Unfinished Game: Pascal, Fermat, and the Seventeenth-Century Letter that Made the World Modern. Basic Books. p. 35.
Two other beliefs about [the golden ratio] are often mentioned in magazines and books: that the ancient Greeks believed it was the proportion of the rectangle the eye finds most pleasing and that they accordingly incorporated the rectangle in many of their buildings, including the famous Parthenon. These two equally persistent beliefs are likewise assuredly false and, in any case, are completely without any evidence.
- ↑ Simanek, Donald E. "Fibonacci Flim-Flam". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-09.
- ↑ Devlin, Keith (2007-05). "The Myth That Will Not Go Away". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10.
Part of the process of becoming a mathematics writer is, it appears, learning that you cannot refer to the golden ratio without following the first mention by a phrase that goes something like 'which the ancient Greeks and others believed to have divine and mystical properties.' Almost as compulsive is the urge to add a second factoid along the lines of 'Leonardo Da Vinci believed that the human form displays the golden ratio.' There is not a shred of evidence to back up either claim, and every reason to assume they are both false. Yet both claims, along with various others in a similar vein, live on.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 351.0 351.1 "Incorrect Lift Theory". grc.nasa.gov. NASA Glenn Research Center. 2008-07-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13. (Java applet).
- ↑
- "This occurs because of Bernoulli's principle - fast-moving air has lower pressure than non-moving air". Make Magazine.
- "Faster-moving fluid, lower pressure". University of Minnesota School of Physics and Astronomy.
... When the demonstrator holds the paper in front of his mouth and blows across the top, he is creating an area of faster-moving air."
- "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-12-03. สืบค้นเมื่อ 2012-06-25.
Bernoulli's Principle states that faster moving air has lower pressure... You can demonstrate Bernoulli's Principle by blowing over a piece of paper held horizontally across your lips.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
- ↑ * Craig, Gale M. "PHYSICAL PRINCIPLES OF WINGED FLIGHT" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-07. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
If the lift in figure A were caused by "Bernoulli principle," then the paper in figure B should droop further when air is blown beneath it. However, as shown, it raises when the upward pressure gradient in downward-curving flow adds to atmospheric pressure at the paper lower surface.
- Babinsky, Holger. "How Do Wings Work" (PDF). Physics Education. 38 (6).
In fact, the pressure in the air blown out of the lungs is equal to that of the surrounding air...
- Eastwell, Peter (2007). "Bernoulli? Perhaps, but What About Viscosity?" (PDF). The Science Education Review. 6 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-28. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
...air does not have a reduced lateral pressure (or static pressure...) simply because it is caused to move, the static pressure of free air does not decrease as the speed of the air increases, it misunderstanding Bernoulli's principle to suggest that this is what it tells us, and the behavior of the curved paper is explained by other reasoning than Bernoulli's principle.
- "Jef Raskin Coanda Effect: Understanding Why Wings Work".
Make a strip of writing paper about 5 cm X 25 cm. Hold it in front of your lips so that it hangs out and down making a convex upward surface. When you blow across the top of the paper, it rises. Many books attribute this to the lowering of the air pressure on top solely to the Bernoulli effect. Now use your fingers to form the paper into a curve that it is slightly concave upward along its whole length and again blow along the top of this strip. The paper now bends downward...an often-cited experiment which is usually taken as demonstrating the common explanation of lift does not do so...
- Babinsky, Holger. "How Do Wings Work". "Blowing over a piece of paper does not demonstrate Bernoulli's equation. While it is true that a curved paper lifts when flow is applied on one side, this is not because air is moving at different speeds on the two sides... It is false to make a connection between the flow on the two sides of the paper using Bernoulli's equation."
- Eastwell 2007: An explanation based on Bernoulli's principle is not applicable to this situation, because this principle has nothing to say about the interaction of air masses having different speeds... Also, while Bernoulli's principle allows us to compare fluid speeds and pressures along a single streamline and... along two different streamlines that originate under identical fluid conditions, using Bernoulli's principle to compare the air above and below the curved paper in Figure 1 is nonsensical; in this case, there aren't any streamlines at all below the paper!
- Auerbach, David. "Why Aircreft Fly" (PDF). European Journal of Physics. 21: 289.
The well-known demonstration of the phenomenon of lift by means of lifting a page cantilevered in one's hand by blowing horizontally along it is probably more a demonstration of the forces inherent in the Coanda effect than a demonstration of Bernoulli's law; for, here, an air jet issues from the mouth and attaches to a curved (and, in this case pliable) surface. The upper edge is a complicated vortex-laden mixing layer and the distant flow is quiescent, so that Bernoulli's law is hardly applicable.
- Smith, Norman F (Nov 1972). "Bernoulli and Newton in Fluid Mechanics". The Physics Teacher.
Millions of children in science classes are being asked to blow over curved pieces of paper and observe that the paper "lifts"... They are then asked to believe that Bernoulli's theorem is responsible... Unfortunately, the "dynamic lift" involved...is not properly explained by Bernoulli's theorem.
[ลิงก์เสีย]
- Babinsky, Holger. "How Do Wings Work" (PDF). Physics Education. 38 (6).
- ↑
- Babinsky, Holger. "How Do Wings Work". "...if a streamline is curved, there must be a pressure gradient across the streamline, with the pressure increasing in the direction away from the centre of curvature."
- Smith, Norman F (2010-03-17). "Bernoulli, Newton, and Dynamic Lift Part II" (PDF). School Science and Mathematics. 73 (4): 333. doi:10.1111/j.1949-8594.1973.tb09040.x.
The curved paper turns the stream of air downward, and this action produces the lift reaction that lifts the paper.
- "AERONAUTICS An Educator's Guide with Activities in Science, Mathematics, and Technology Education" (PDF). NASA. p. 26.
The curved surface of the tongue creates unequal air pressure and a lifting action. ... Lift is caused by air moving over a curved surface.
- ↑
- Anderson, David F; Eberhardt, Scott. Understanding Flight. p. 229.
'"Demonstrations" of Bernoulli's principle are often given as demonstrations of the physics of lift. They are truly demonstrations of lift, but certainly not of Bernoulli's principle.'
- "As an example, take the misleading experiment most often used to "demonstrate" Bernoulli's principle. Hold a piece of paper so that it curves over your finger, then blow across the top. The paper will rise. However most people do not realize that the paper would NOT rise if it was flat, even though you are blowing air across the top of it at a furious rate. Bernoulli's principle does not apply directly in this case. This is because the air on the two sides of the paper did not start out from the same source. The air on the bottom is ambient air from the room, but the air on the top came from your mouth where you actually increased its speed without decreasing its pressure by forcing it out of your mouth. As a result the air on both sides of the flat paper actually has the same pressure, even though the air on the top is moving faster. The reason that a curved piece of paper does rise is that the air from your mouth speeds up even more as it follows the curve of the paper, which in turn lowers the pressure according to Bernoulli." From The Aeronautics File By Max Feil
- Anderson, David F; Eberhardt, Scott. Understanding Flight. p. 229.
- ↑ Frasier, Alistair (1996-10-16). "Bad Coriolis". ems.psu.edu. Penn State College of Earth an Materials Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-11. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
- ↑ "Which Direction Does Toilet Water Swirl at the Equator?". msnbc.com.
- ↑ "Verifying a Vortex". MIT Technology Review.
- ↑ Adam, David. "The great plughole debate". the Guardian.
- ↑ "Scopeweb". mit.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-16. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
- ↑ "spinoff 2005 - Lightning Often Strikes Twice". Spinoff. Office of the Chief Technologist, NASA. 2010-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-25. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ Staff (2010-05-17). "Full weather report story from WeatherBug.com". Weather.weatherbug.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-09. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ "Dropping A Penny From The Top Of The Empire State Building Isn't Dangerous". misconceptionjunction.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-28.
- ↑ Lilienfeld, Scott O.; Lynn, Steven Jay; Ruscio, John; Beyerstein, Barry L. (2011-09-15). 50 Great Myths of Popular Psychology: Shattering Widespread Misconceptions about Human Behavior. John Wiley & Sons. pp. 88–89. ISBN 978-1-4443-6074-5. สืบค้นเมื่อ 2016-05-19.
- ↑ "Photographic Memory". indianapublicmedia.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27.
- ↑ Simola, Anthony (2015). The Roving Mind: A Modern Approach to Cognitive Enhancement. ST Press. p. 117. ISBN 069240905X. สืบค้นเมื่อ 2016-05-10.
- ↑ Foer, Joshua (2006-04-27). "Kaavya Syndrome: The accused Harvard plagiarist doesn't have a photographic memory. No one does". Slate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-02. สืบค้นเมื่อ 2013-01-20.
- ↑
- "Schizophrenia". National Alliance on Mental Illness. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-04.
- "10 Myths About Mental Illness". Mental Health Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-19.
- "Schizophrenia: Dispelling the Myths". schizophreniasymptoms.com.
- "Schizophrenia and Cognitive Therapy". Academy of Cognitive Therapy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30.
- "5 Myths About Dissociative Identity Disorder". discovery.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-28.
- "Schizophrenia vs. Dissociative Identity Disorder". thebrainhealth.com.
- Picchioni, MM; Murray, RM (2007-07). "Schizophrenia". BMJ. 335 (7610): 91–5. doi:10.1136/bmj.39227.616447.BE. PMC 1914490. PMID 17626963.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
- ↑ Philips, Matt (2008-11-19). "On World Toilet Day, Let Us Praise the Airline Lav". The Middle Seat Terminal (Wall Street Journal). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-04-02.
- ↑ "Battery Parked", Urban Legend Reference Pages (snopes.com), 2011-02-08, สืบค้นเมื่อ 2013-06-02
- ↑ Examples of car battery on concrete misconception in the US from 1983-2011:
- Shulz, Mort (1983-12), "Car Clinic", Popular Mechanics, p. 37
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - Brownell, Tom (1993), How to Restore Your Ford Pick-Up, MotorBooks International, p. 215, ISBN 978-1-61059-029-7
- Popular Mechanics Complete Car Care Manual; Popular Mechanics Series, Hearst Books, 2005, p. 289, ISBN 978-1-58816-439-1, สืบค้นเมื่อ 2013-06-02
- Sessler, Nilda (2006), Ford Mustang Buyer's and Restoration Guide, 1964 1/2-2007, Indy Tech Publishing, ISBN 978-0-7906-1326-0
- Balfour, John; Shaw, Michael; Bremer Nash, Nicole (2011), Advanced photovoltaic installations, Jones & Bartlett Publishers, p. 30, ISBN 978-1-4496-2471-2, สืบค้นเมื่อ 2013-06-02
- Shulz, Mort (1983-12), "Car Clinic", Popular Mechanics, p. 37
- ↑ Magliozzi, Tom; Magliozzi, Ray (1999-11-04), "No End to Battery Storage Debate", The Vindicator, p. 37
- ↑ Magliozzi, Tom; Magliozzi, Ray (2008), Ask Click and Clack: Answers from Car Talk, Chronicle Books, pp. 68–69, ISBN 978-0-8118-6477-0, สืบค้นเมื่อ 2013-06-02
- ↑ "Car Care Auto Clinic", Popular Mechanics, vol. 177 no. 11, p. 136, 2000-11, ISSN 0032-4558, สืบค้นเมื่อ 2013-06-02
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "ปชช.90%ไม่รู้เขื่อนศรีนครินทร์ใหญ่สุดในปท.-44.6%ภูมิใจความเป็นไทย". Voice TV. 2017-03-26. สืบค้นเมื่อ 2017-12-17.
ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.1 คิดว่าสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
- ↑ "Chronicle of Construction". Suvarnabhumi Airport. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-09. สืบค้นเมื่อ 2017-12-16.
- ↑ "BBC Three - Bangkok Airport". 2015. สืบค้นเมื่อ 2017-12-21.
Series in which young Brits pass through Bangkok Airport to embark on adventures of a lifetime.
- ↑ "Suvarnabhumi Airport (BKK) – Official Airports of Thailand (Bangkok Airport)". สืบค้นเมื่อ 2017-12-21.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Scudellari, Megan (2015-12-017). "The science myths that will not die". Nature. Nature (journal). 528 (7582): 322–325. Bibcode:2015Natur.528..322S. doi:10.1038/528322a. PMID 26672537.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - Diefendorf, David (2007). Amazing... But False!: Hundreds of "Facts" You Thought Were True, But Aren't. Sterling. ISBN 978-1-4027-3791-6.
- Green, Joey (2005). Contrary to Popular Belief: More than 250 False Facts Revealed. Broadway. ISBN 978-0-7679-1992-0.
- Johnsen, Ferris (1994). The Encyclopedia of Popular Misconceptions: The Ultimate Debunker's Guide to Widely Accepted Fallacies. Carol Publishing Group. ISBN 978-0-8065-1556-4.
- Kruszelnicki, Karl; Adam Yazxhi (2006). Great Mythconceptions: The Science Behind the Myths. Andrews McMeel Publishing. ISBN 978-0-7407-5364-0.
- Lloyd, John; John Mitchinson (2006). The Book of General Ignorance. Harmony Books. ISBN 978-0-307-39491-0.
- Lloyd, John; John Mitchinson (2010). The Second Book Of General Ignorance. Faber and Faber. ISBN 978-0-571-26965-5.
- O'Conner, Patricia T.; Kellerman, Stewart (2009). Origins of the Specious: Myths and Misconceptions of the English Language. New York: Random House. ISBN 978-1-4000-6660-5.
- Tuleja, Tad (1999). Fabulous Fallacies: More Than 300 Popular Beliefs That Are Not True. Galahad Books. ISBN 978-1-57866-065-0.
- Varasdi, J. Allen (1996). Myth Information: More Than 590 Popular Misconceptions, Fallacies, and Misbeliefs Explained!. Ballantine Books. ISBN 978-0-345-41049-8.
- List of children's misconceptions about science
- Misconceptions taught by science textbooks
- Bad Science
- Bad Chemistry เก็บถาวร 2019-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Snopes - Urban Legend Reference