วัดหลง
วัดหลง | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ประเภท | วัดร้าง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดหลง เป็นโบราณสถานตั้งอยู่ในตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสําหรับชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2479[1]
ชื่อของวัดหลง สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก "วัดหลวง" ตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยาอยู่ระหว่างวัดเวียงกับวัดแก้ว ด้านทิศใต้ห่างจากวัดประมาณ 30 เมตร มีคลองไชยาไหลผ่าน วัดหลงเป็นวัดร้างมีซากอาคารขนาดใหญ่อยู่หลังหนึ่งเหลือเพียงส่วนฐาน เนื่องจากอิฐส่วนบนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในคราวบูรณะพระบรมธาตุไชยา สภาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินปนเศษอิฐมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ภายหลังการขุดแต่งเผยให้เห็นฐานอาคารที่มีรูปแบบแผนผังทรงกากบาทคล้ายคลึงกับโบราณสถานที่วัดแก้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14–15 สมัยเดียวกับเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยา[2]
บริเวณใกล้เคียงกับวัดหลง เป็นบ้านนายสอนเพชรศักดิ์ ราษฎรบ้านหัวคู อยู่ห่างจากคลองไชยาไปทางทิศใต้ประมาณ 30 เมตร มีการขุดบ่อน้ำบริเวณสวนกล้วย พบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น ได้แก่ ประติมากรรมสำริดรูปนางตารา 8 กร ลักษณะทางประติมานวิทยาคล้ายกับที่พบในภาคตะวันออกของแคว้นเบงกอล ในประเทศอินเดีย ศิลปะปาละ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดสมัยราชวงศ์ซ่ง ชิ้นส่วนเครื่องประดับหินลูกปัดสีเหลือง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและเครื่องถ้วยจีนสมัยอันนัมของเวียดนาม โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของชุมชนบนสันทรายที่เป็นเมืองโบราณไชยา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดหลง (Wat Long)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
- ↑ "วัดหลง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).