ข้ามไปเนื้อหา

วัดเขาพระอานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเขาพระอานนท์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเขาพระอานนท์, วัดหัวเขาล่าง
ที่ตั้งตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเขาพระอานนท์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บนภูเขาขนาดย่อมริมฝั่งแม่น้ำตาปี ในตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดเขาพระอานนท์ จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1890 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1901[1]

ชาวบ้านเรียกว่า วัดหัวเขาล่าง เพื่อจะได้พ้องกับวัดหัวเขาบน หรือ วัดเขาศรีวิชัย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างกันประมาณ 750 เมตร ตามประวัติเล่าว่าวัดเขาพระอานนท์สร้างพร้อมกับวัดน้ำรอบและวัดถ้ำสิงขร มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าครั้งสมัยอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ได้สาวชาวบ้านแถบนี้ไปเป็นชายา ต่อมาน้องชายของสาวผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุเดินทางไปเมืองหลวง แล้วได้เข้าไปเทศน์ในวังที่พี่สาวอยู่และจำกันได้เป็นที่ปลื้มปิติกันทั้งสองฝ่าย พระเจ้าแผ่นดินได้จัดขบวนมาส่งพระภิกษุที่เป็นน้องชายพระชายาซึ่งต่อมาเรียกว่า ท่านเจ้าฟ้า และโปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นสามวัดคือ วัดถ้ำสิงขร วัดน้ำรอบและวัดเขาพระอานนท์ ท่านเจ้าฟ้าจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกอยุ่ที่วัดเขาพระอานนท์ ชื่อวัดเขาพระอานนท์คงมาจากชื่อพระอานนท์ พระสาวกผู้อุปัฎฐากพระพุทธเจ้า การสร้างวัดดัดแปลงภูเขาให้เป็นศาสนสถาน ก่อกำแพงศิลาลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น โดยรอบภูเขาเทียบได้กับพระรัตนตรัยชั้นสูงสุดคือ ยอดเขาได้ปรับพื้นที่เรียบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างเจดีย์และอุโบสถไว้คุ่กัน

มีการกำหนดอายุราวสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ วัดเขาพระอานนท์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2544[2] อุโบสถก่ออิฐถือปูนใช้ฝาผนังรับน้ำหนักแทนเสา ขนาดกว้าง 6.6 เมตร ความยาว 12.70 เมตร เครื่องบนเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ของเดิมคงเป็นกระเบื้องกาบกล้วย มีกระเบื้องเชิงชายรูปเทพนม[3] ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง 11 องค์ ใบเสมารอบอุโบสถทำด้วยหินทรายสีแดง เจดีย์ทรงปราสาทน่าจะสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมานั่งแท่นไม่มีซุ้ม ทำด้วยหินทรายแดงไม่มีลายสลัก และบัวบรรจุอัฐิสภาพชำรุด สันนิษฐานว่าอาจเป็นบัวของท่านเจ้าฟ้าเจ้าอาวาสรูปแรก[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "รายงานทะเบียนวัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดเขาพระอานนท์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดเขาพระอานนท์". องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี.
  4. "วัดเขาพระอานนท์". สํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี.