ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิกิพีเดีย
ภาพจับหน้าจอ
หน้ารวมโครงการทุกภาษาในวิกิพีเดีย
(บน) โลโก้ของวิกิพีเดีย เป็นรูปลูกโลกที่มีอักขระจากระบบการเขียนต่าง ๆ
(ล่าง) หน้าจอเว็บไซต์รวมทุกภาษา
ประเภทสารานุกรมอินเทอร์เน็ต
ภาษาที่ใช้ได้353 ภาษา
ประเทศต้นทางสหรัฐ
เจ้าของ
สร้างโดย
ยูอาร์แอลwikipedia.org
เชิงพาณิชย์ไม่ใช่
ลงทะเบียนไม่จำเป็น[note 1]
ผู้ใช้>290,612 ผู้เขียนที่ใช้งาน[note 2]
>117,015,130 ผู้ใช้ที่ลงทะเบียน
เปิดตัว15 มกราคม พ.ศ. 2544 (23 ปี)
สถานะปัจจุบันเปิดให้บริการ
ลิขสิทธิ์เนื้อหาCC Attribution / Share-Alike 3.0
Most text is also dual-licensed under GFDL; media licensing varies
เขียนด้วยแลมป์[2]
หมายเลข OCLC52075003

วิกิพีเดีย (/ˌwɪkɪˈpdiə/ ( ฟังเสียง) wik-ih-PEE-dee หรือ /ˌwɪki-/ ( ฟังเสียง) wik-ee--) เป็นสารานุกรมเนื้อหาเสรีหลายภาษาบนเว็บไซต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงผลกำไร เนื้อหากว่า 35 ล้านบทความ (เฉพาะวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีเนื้อหากว่า 4.9 ล้านบทความ) เกิดขึ้นจากการร่วมเขียนของอาสาสมัครทั่วโลก ทุกคนที่สามารถเข้าถึงวิกิพีเดียสามารถร่วมแก้ไขได้แทบทุกบทความได้อย่างเสรี โดยมีผู้เขียนประจำราว 100,000 คน[3] จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 วิกิพีเดียมี 286 รุ่นภาษา และได้กลายมาเป็นงานอ้างอิงทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดบนอินเทอร์เน็ต[4][5] จนถูกจัดเป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลกอันดับที่ 6 ตามการจัดอันดับของอเล็กซา ด้วยจำนวนผู้อ่านกว่า 365 ล้านคน[4][6] มีการประเมินว่าวิกิพีเดียมีการเรียกดูหน้าถึง 2,700 ล้านครั้งต่อเดือนในสหรัฐประเทศเดียว[7]

วิกิพีเดียเปิดตัวในปี พ.ศ. 2544 โดย จิมมี เวลส์และแลร์รี แซงเจอร์[8] คำว่า "วิกิพีเดีย" เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยแลร์รี แซงเจอร์ มาจากการผสมคำว่า "วิกิ" (wiki) ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเว็บไซต์ที่แบบมีส่วนร่วม เป็นคำในภาษาฮาวายที่แปลว่า "เร็ว" และคำว่า "เอนไซโคลพีเดีย" (encyclopedia) ที่แปลว่าสารานุกรม

มีการกล่าวถึงวิกิพีเดียอยู่บ่อยครั้ง ในแง่ความแตกต่างกับรูปแบบการจัดทำสารานุกรมแบบเก่าที่มีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดทำขึ้น และการรวบรวมเนื้อหาที่ไม่เป็นวิชาการไว้เป็นจำนวนมาก ครั้งเมื่อนิตยสารไทม์จัดให้ "คุณ" (You) เป็นบุคคลแห่งปี พ.ศ. 2549 อันเป็นการยอมรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ของผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลก ก็ได้อ้างถึงวิกิพีเดียว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของบริการเว็บ 2.0 เช่นเดียวกับยูทูบ มายสเปซ และเฟซบุ๊ก[9] บางคนลงความเห็นว่าวิกิพีเดียมิได้มีความสำคัญเป็นเพียงสารานุกรมอ้างอิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งข่าวที่อัปเดตอย่างรวดเร็วอีกด้วย เพราะมักพบเหตุการณ์ปัจจุบันถูกสร้างเป็นบทความในวิกิพีเดียอย่างรวดเร็ว[10][11] นักเรียนนักศึกษายังได้รับคำสั่งให้เขียนบทความวิกิพีเดียเพื่อฝึกอธิบายแนวคิดที่เข้าใจยากให้ผู้อ่านที่ไม่เคยศึกษามาก่อนเข้าใจได้ชัดเจนและรัดกุม[12]

แม้ว่าวิกิพีเดียจะมีนโยบายอย่างการพิสูจน์ยืนยันได้ของข้อมูลและมุมมองที่เป็นกลาง แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ ทั้งในด้านความลำเอียงอย่างเป็นระบบและความไม่สอดคล้องกันของบทความ อีกทั้งการให้น้ำหนักแก่วัฒนธรรมสมัยนิยมมากเกินไปจนไม่เหมาะสม[13] และระบุว่า วิกิพีเดียมักใช้กระบวนการมติเอกฉันท์ในการปรับปรุง[14] ความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง[15] นอกจากนี้ การวิจารณ์อื่นยังมุ่งประเด็นไปยังการก่อกวนและการเพิ่มข้อมูลที่หลอกลวงหรือไม่สามารถพิสูจน์ได้[16] ถึงกระนั้นก็ตาม ผลงานวิชาการเสนอว่าการก่อกวนในวิกิพีเดียเกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น[17][18] และจากการวิจัยของวารสารเนเจอร์ในปี พ.ศ. 2548 พบว่า บทความวิทยาศาสตร์จากวิกิพีเดียที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมีระดับความถูกต้องใกล้เคียงกับสารานุกรมบริตานิกา และทั้งสองมีอัตรา "ข้อผิดพลาดร้ายแรง" ใกล้เคียงกัน[19]

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อมีเดียวิกิ และจัดเก็บในเซิร์ฟเวอร์สามแห่งทั่วโลก โดยมีเซิร์ฟเวอร์ใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐ และเซิร์ฟเวอร์ย่อยตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่มูลนิธิสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย[20]

ประวัติ

เดิมวิกิพีเดียได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงการสารานุกรมอีกแห่งหนึ่ง นูพีเดีย

วิกิพีเดียเริ่มขึ้นจากเป็นโครงการเพิ่มเติมของนูพีเดีย โครงการสารานุกรมเสรีออนไลน์ภาษาอังกฤษ ซึ่งบทความในนูพีเดียนั้นเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการตรวจสอบภายใต้กระบวนการที่เป็นทางการ นูพีเดียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2543 บริหารงานโดยบริษัทเว็บท่า โบมิส บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างนูพีเดีย ได้แก่ จิมมี เวลส์ ผู้บริหารระดับสูงของโบมิส และแลร์รี แซงเจอร์ บรรณาธิการบริหารของนูพีเดียและวิกิพีเดียในเวลาต่อมา แต่เดิมข้อความในนูพีเดียอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเนื้อหาเปิดของนูพีเดียเอง แล้วค่อยเปลี่ยนมาใช้สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู ก่อนหน้าที่วิกิพีเดียจะถูกก่อตั้งขึ้น โดยการผลักดันของริชาร์ด สตอลล์แมน[21]

แลร์รี แซงเจอร์และจิมมี เวลส์ร่วมกันก่อตั้งวิกิพีเดีย[1][22] เวลส์ได้ความชอบจากการกำหนดเป้าหมายในการสร้างสารานุกรมที่สามารถแก้ไขได้อย่างเปิดเผย[23][24] ส่วนแซงเจอร์มักได้รับความชอบในด้านยุทธศาสตร์การใช้วิกิเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว[25] วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 แลร์รี แซงเจอร์เสนอบนจดหมายกลุ่มนูพีเดียในการสร้างวิกิเป็นโครงการ "ตัวป้อน" สำหรับนูพีเดีย[26] วิกิพีเดียเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 เป็นรุ่นภาษาอังกฤษเพียงรุ่นเดียวภายใต้ชื่อโดเมน www.wikipedia.com[27] และมีการประกาศทางจดหมายกลุ่มนูพีเดียโดยแซงเจอร์[23] นโยบาย "มุมมองที่เป็นกลาง" ของวิกิพีเดียมีการประมวลขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังเปิดตัว และมีใจความคล้ายกับนโยบาย "ไม่มีอคติ" ของนูพีเดียก่อนหน้านี้ แต่นอกเหนือจากนี้ เดิมวิกิพีเดียมีกฎค่อนข้างน้อยและดำเนินการเป็นเอกเทศจากนูพีเดีย[23]

กราฟแสดงจำนวนบทความในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 จนถึง 9 กันยายน พ.ศ. 2550 วันที่วิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีบทความครบสองล้านบทความ

ผู้เขียนวิกิพีเดียในช่วงแรกมาจากนูพีเดีย การโพสต์สแลชดอต และดัชนีเว็บเสิร์ชเอนจิน วิกิพีเดียมีบทความประมาณ 20,000 บทความ ใน 18 ภาษา เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2544 ต่อมาวิกิพีเดียเพิ่มรุ่นภาษาเป็น 26 ภาษา เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2545, 46 ภาษา ในปลายปี พ.ศ. 2546 และ 161 ภาษา ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2547[28] นูพีเดียและวิกิพีเดียยังคงเปิดให้บริการอยู่ทั้งคู่จนกระทั่งเซิร์ฟเวอร์ของนูพีเดียถูกปิดตัวลงอย่างถาวรใน พ.ศ. 2546 และเนื้อหาถูกรวมเข้ากับวิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีบทความเกินสองล้านบทความเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550 ทำให้วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดทำขึ้น แซงหน้าสารานุกรมหย่งเล่อ (พ.ศ. 1950) ที่ถือครองสถิติมาเป็นเวลา 600 ปีพอดี[29]

ผู้ใช้จากวิกิพีเดียภาษาสเปนบางส่วนแตกสาขาวิกิพีเดียออกไปสร้างเป็นเอนซีโกลเปเดียลีเบร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะมีการโฆษณาเชิงพาณิชย์และการขาดการควบคุมในวิกิพีเดียที่สามารถรู้ได้ว่ามีวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นศูนย์กลาง[30] ในปีเดียวกัน เวลส์ประกาศว่าวิกิพีเดียจะไม่มีการโฆษณา และเว็บไซต์ได้เปลี่ยนชื่อโดเมนเป็น wikipedia.org[31] โครงการสารานุกรมวิกิอื่นมีการริเริ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้แนวคิดที่แตกต่างกันในรูปแบบการแก้ไขอย่างเปิดเผยและมุมมองเป็นกลางของวิกิพีเดีย วิกิอินโฟไม่มีการควบคุมเรื่องมุมมองเป็นกลางและอนุญาตให้นำเนื้อหาที่เป็นงานค้นคว้าต้นฉบับมาลงได้ โครงการใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิกิพีเดีย อย่างเช่น ซิติเซนเดียม สคอลาร์พีเดีย คอนเซอร์เวพีเดีย และโนลของกูเกิล ที่ซึ่งบทความมีลักษณะเป็นเรียงความมากกว่าเล็กน้อย[32] ได้เริ่มต้นตั้งคำถามถึงข้อจำกัดที่สัมผัสได้ของวิกิพีเดีย อาทิ นโยบายด้านการกลั่นกรอง งานค้นคว้าต้นฉบับ และการโฆษณาเชิงพาณิชย์

แม้ว่าวิกิพีเดียภาษาอังกฤษจะมีจำนวนบทความแตะระดับสามล้านบทความเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 แต่อัตราการเติบโตของรุ่นภาษาอังกฤษ ในแง่ของจำนวนบทความและผู้ร่วมพัฒนา ปรากฏว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี พ.ศ. 2550[33] ในปี พ.ศ. 2549 วิกิพีเดียมีบทความใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1,800 บทความต่อวัน แต่ในปี พ.ศ. 2553 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวลดลงเหลือ 1,000 บทความต่อวันเท่านั้น ทีมศึกษาจากศูนย์วิจัยพาโลอัลโตให้เหตุผลว่าแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลมาจากการกีดกันที่เพิ่มมากขึ้นของโครงการ[34] ผู้ใช้ใหม่หรือผู้ใช้ไม่ประจำมีอัตราการแก้ไขถูกย้อนกลับหรือถูกลบออกสูงกว่ากลุ่มผู้ใช้ประจำและมีประสบการณ์มากกว่าอย่างมาก หรือที่รู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "คาบาล" ทำให้เป็นการยากยิ่งขึ้นที่จะขยายและรักษาฐานผู้ใช้ใหม่เอาไว้ในระยะยาวได้ ทั้งยังทำให้การสร้างบทความใหม่ซบเซาลง ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ได้เสนอแนะว่าอัตราการเติบโตนั้นเริ่มลดลงตามธรรมชาติ เนื่องจากบทความที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความสำคัญ เช่น ประเทศจีน มีผู้สร้างขึ้นแล้วในวิกิพีเดีย[35][36]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจัดทำโดยเฟลีเป ออร์เตกา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเรย์ ฮวน การ์โลส ในมาดริด พบว่า วิกิพีเดียรุ่นภาษาอังกฤษสูญเสียฐานผู้พัฒนาไปกว่า 49,000 คน ในช่วงไตรมาสแรกของ พ.ศ. 2552 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2551 ที่สูญเสียฐานอาสาสมัครไปเพียง 4,900 คน[37][38] เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า "จำนวนอาสาสมัครออนไลน์ผู้เขียน แก้ไข และตรวจตรา [วิกิพีเดีย] นับล้านคน กำลังถอนตัวออกไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน" ขอบเขตของกฎการแก้ไขและกรณีพิพาทเกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้เป็นเหตุผลที่อาสาสมัครมีแนวโน้มหดหายลงตามที่บทความดังกล่าวอ้าง[39] ด้านจิมมี เวลส์แย้งข้อมูลดังกล่าว โดยปฏิเสธการสูญเสียฐานอาสาสมัครและตั้งคำถามถึงขั้นตอนวิธีที่ใช้ในการศึกษา[40]

ลักษณะสารานุกรม

การแก้ไข

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 มูลนิธิวิกิมีเดียได้จัดทำการศึกษาการใช้งานวิกิพีเดีย โดยตั้งคำถามผู้ใช้เกี่ยวกับกลไกการแก้ไข[41]

วิกิพีเดียดำเนินการด้วยรูปแบบการแก้ไข "วิกิ" ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งแตกต่างไปจากรูปแบบสารานุกรมในอดีต ทุกบทความสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีผู้ใช้ก่อน ยกเว้นบางหน้าที่มีการก่อกวนอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกคนก็ยังสามารถสร้างบทความใหม่ได้ ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของบทความในวิกิพีเดีย หรือมีบทความอยู่ภายใต้การกลั่นกรองของผู้มีอำนาจใด ๆ แต่บทความจะตกลงกันโดยมติเอกฉันท์

เมื่อบทความมีการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขนั้นจะแสดงผลทันทีโดยปราศจากการตรวจทาน ไม่ว่าการแก้ไขนั้นจะมีข้อบกพร่อง เป็นข้อมูลที่ผิด หรือการแก้ไขไร้สาระ ขณะที่วิกิพีเดียบางภาษานอกเหนือไปจากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ซึ่งการควบคุมบริหารไม่ขึ้นต่อกัน สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวได้อย่างเสรี ยกตัวอย่างเช่น วิกิพีเดียรุ่นภาษาเยอรมันบำรุงรักษาระบบ "รุ่นเสถียร" ของบทความ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นรุ่นบทความที่ผ่านการตรวจทานแล้วเท่านั้น ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 มีการประกาศว่าวิกิพีเดียภาษาอังกฤษจะยกเลิกการจำกัดการแก้ไขอย่างเข้มงวดจากบทความที่ "เป็นที่ถกเถียงกัน" หรือมีแนวโน้มว่าจะถูกก่อกวน โดยใช้การตรวจสอบแทนการจำกัดการแก้ไขสำหรับผู้ใช้ใหม่หรือไม่ได้ลงทะเบียน โดยจะมี "ระบบใหม่ ที่เรียกว่า 'การแก้ไขที่กำลังพิจารณา'" ซึ่งจิมมี เวลส์ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีว่า จะเป็นการทำให้วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ "เปิดบทความให้ทุกคนแก้ไขได้หลังถูกห้ามมาหลายปี" ระบบ "การแก้ไขที่กำลังพิจารณา" เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน การแก้ไขต่อบทความบางส่วนจะ "ต้องได้รับการทบทวนจากผู้พัฒนาวิกิพีเดียที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนจึงจะแสดงผล" เวลส์ไม่เห็นด้วยกับระบบของวิกิพีเดียภาษาเยอรมันที่ต้องให้ตรวจสอบการแก้ไขในทุกบทความ โดยอธิบายว่ามัน "ทั้งไม่จำเป็นและไม่เป็นที่ต้องการ" เขาเสริมอีกว่า ผู้ดูแลระบบของวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน "กำลังจะเฝ้ามองระบบของรุ่นภาษาอังกฤษอย่างใกล้ชิด และผมมั่นใจว่าอย่างน้อยพวกเขาจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงหากผลลัพธ์ออกมาดี"[42]

ผู้ร่วมพัฒนา ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ ต่างก็สามารถใช้ประโยชน์ได้จากคุณลักษณะซึ่งเปิดโอกาสให้ใช้โดยซอฟต์แวร์ที่วิกิพีเดียทำงานอยู่ หน้า "ประวัติ" ที่ปรากฏในบทความทุกบทจะบันทึกรุ่นในอดีตทั้งหมดของแต่ละบทความ ถึงแม้ว่าประวัติส่วนที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ข่มขู่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกนำออกหลังจากนั้น[43] คุณลักษณะดังกล่าวทำให้เป็นการง่ายที่จะเปรียบเทียบทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ย้อนการแก้ไขที่ถูกพิจารณาว่าไม่พึงประสงค์ หรือเรียกคืนเนื้อหาที่หายไป หน้า "อภิปราย" ของแต่ละบทความใช้เพื่อเป็นประสานงานระหว่างผู้ร่วมแก้ไขหลายคน[44] ผู้แก้ไขเป็นประจำมักจะ "เฝ้าดู" บทความที่พวกเขาสนใจ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถติดตามการแก้ไขล่าสุดของบทความนั้น ๆ ได้โดยง่าย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตบอต ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อย้อนการก่อกวนทันทีที่เกิดขึ้น[18] หรืออาจใช้เพื่อคำสะกดผิดที่พบบ่อย และปัญหาด้านการจัดรูปแบบ หรือเพื่อสร้างบทความใหม่ อย่างเช่น สร้างเอ็นทรีภูมิศาสตร์ในรูปแบบมาตรฐานจากข้อมูลสถิติ

บทความในวิกิพีเดียจัดอยู่ในสามแนวทาง ตามสถานะการพัฒนา สาระสำคัญของหัวเรื่อง และระดับการเข้าถึงที่จำเป็นต่อการแก้ไข สถานะบทความที่มีการพัฒนาสูงสุด จะเรียกว่า "บทความคัดสรร" ซึ่งก็คือ บทความที่ได้รับการเห็นชอบจากผู้แก้ไขวิกิพีเดียว่าจะแสดงในหน้าหลักของวิกิพีเดีย[45] นักวิจัย จาโคโม โปเดอรี พบว่าบทความมีแนวโน้มว่าจะได้รับสถานะบทความคัดสรรถ้าเป็นงานเขียนอย่างละเอียดถี่ถ้วนของผู้แก้ไขจำนวนน้อย[46] ใน พ.ศ. 2550 ในการเตรียมการจัดทำวิกิพีเดียรุ่นตีพิมพ์ วิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้ริเริ่มเกณฑ์การประเมินเพื่อตัดสินคุณภาพของบทความ

โครงการวิกิเป็นแหล่งสำหรับกลุ่มผู้แก้ไขที่จะร่วมมือประสานงานกันในหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หน้าอภิปรายของโครงการวิกิมักจะใช้เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบทความต่าง ๆ วิกิพีเดียยังได้คงรูปแบบของการเขียนที่เรียกว่า คู่มือในการเขียน ซึ่งกำหนดเงื่อนไข อย่างเช่น ในประโยคแรกของแต่ละบทความ หัวเรื่องของบทความหรือชื่ออื่นที่เรียกหัวเรื่องนั้นควรจะทำเป็นตัวหนา

ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

เนื้อหาในวิกิพีเดียอยู่ภายใต้กฎหมาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลิขสิทธิ์) ของสหรัฐและของรัฐฟลอริดา อันเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์วิกิพีเดียส่วนใหญ่ นอกจากนี้ หลักการแก้ไขวิกิพีเดียถูกรวบรวมไว้ใน "ห้าเสาหลัก" และนโยบายและแนวปฏิบัติจำนวนหนึ่งที่เจตนาเพื่อปรับรูปแบบของเนื้อหาให้เหมาะสม ระเบียบเหล่านี้จะถูกเก็บในรูปแบบวิกิ และชุมชนผู้ใช้วิกิพีเดียสามารถเขียนและทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติเหล่านี้[47] การบังคับใช้กฎโดยการลบหรือแก้ไขเนื้อหาบทความที่ไม่เป็นไปตามนั้น กฎระเบียบของวิกิพีเดียภาษาอื่นเริ่มต้นจากการแปลกฎระเบียบของวิกิพีเดียภาษาอังกฤษแล้วอาจมีส่วนต่อขยายแตกต่างกันไป กฎระเบียบเหล่านี้โดยทั่วไปมีความคล้ายกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด

ตามระเบียบของวิกิพีเดียภาษาอังกฤษและภาษาไทย เนื้อหาที่ควรแก่การเก็บไว้บนวิกิพีเดียจะต้องเป็นเรื่องที่เป็นสารานุกรมและไม่ใช่บทความประเภทที่คล้ายกับพจนานุกรม หัวเรื่องควรจะเป็นไปตามมาตรฐานของวิกิพีเดียด้าน "ความโดดเด่น" ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วหมายความว่า หัวเรื่องนั้นจะต้องได้รับการกล่าวถึงอย่างสำคัญในแหล่งอ้างอิงทุติยภูมิที่น่าเชื่อถือ เช่น สื่อกระแสหลัก หรือวารสารวิชาการที่สำคัญ รวมถึงจะต้องไม่มีส่วนได้เสียกับหัวเรื่องด้วย นอกเหนือจากนั้น วิกิพีเดียจะต้องเผยแพร่เฉพาะความรู้ที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าจะไม่มีการนำเสนอข้อมูลใหม่หรืองานค้นคว้าต้นฉบับ การอ้างข้อมูลซึ่งอาจถูกคัดค้านได้จำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นแหล่งอ้างอิงยืนยัน มีการกล่าวอยู่บ่อยครั้งในหมู่ผู้แก้ไขวิกิพีเดียว่า "พิสูจน์ยืนยันได้ ไม่ใช่ความจริง" เพื่อแสดงแนวคิดที่ว่าผู้อ่านเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของบทความและตีความด้วยตนเอง ไม่ใช่ตัวสารานุกรมที่เป็นผู้รับผิดชอบ ท้ายที่สุดคือ วิกิพีเดียจะต้องไม่เลือกข้าง ความคิดเห็นและมุมมองทั้งหมดซึ่งยกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นนั้น จำต้องมีอยู่ในบทความโดยเสมอกัน[48] ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนโยบายมุมมองที่เป็นกลาง

วิกิพีเดียมีหลายวิธีในการจัดการกับข้อพิพาท วัฏจักร "กล้า ย้อน อภิปราย" เกิดขึ้นเป็นบางครั้ง โดยเป็นกรณีที่ผู้ใช้คนหนึ่งได้ทำการแก้ไข ขณะที่ผู้ใช้อีกคนหนึ่งย้อนการแก้ไขนั้น และประเด็นดังกล่าวได้รับการอภิปรายในหน้าอภิปรายอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะให้ได้รับมติประชาคมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ประเด็นปัญหาหนึ่ง ๆ สามารถถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันที่ศาลาชุมชน หรือขอความเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้ใช้คนอื่น นอกจากนี้ ยังมีหน้าสำหรับให้ผู้ใช้รายงานความไม่สุภาพ ไม่เป็นอารยะ หรืออุปสรรคในการสื่อสารกับผู้ใช้คนอื่นด้วย

ผลวิเคราะห์ทางสถิติบ่งชี้ว่าการแก้ไขข้อพิพาทของวิกิพีเดียนั้นมักจะละเลยเนื้อหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้และมุ่งไปยังความประพฤติของผู้ใช้มากกว่า จึงไม่ค่อยแก้ไขข้อพิพาทหรือสร้างสันติระหว่างผู้ใช้ที่ขัดแย้งกันได้มากนัก แต่เป็นไปเพื่อยุติปัญหาโดยเร็วโดยกีดกันผู้ใช้สร้างปัญหาออก และดึงเอาผู้ใช้ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์กลับเข้ามามีส่วนร่วม แนวทางแก้ไขเช่นนี้รวมไปถึงการแบนผู้ใช้จากวิกิพีเดีย (ประมาณ 15.7% ของกรณีทั้งหมด) ปรามหัวข้อที่ขัดแย้ง (23.4%) แบนบทความ (43.3%) และการเตือนกับคอยตรวจสอบความประพฤติ (63.2%) การแบนจากวิกิพีเดียตลอดกาลจำกัดอยู่เฉพาะกรณีที่มีการปลอมเป็นผู้อื่นและมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ขณะที่การเตือนมักใช้สำหรับเตือนเรื่องพฤติกรรมการแก้ไขและพฤติกรรมที่ค้านต่อมติส่วนใหญ่ มากกว่าจะใช้กับพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม[49]

สัญญาอนุญาตเนื้อหา

ข้อความทั้งหมดในวิกิพีเดียอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู (GDFL) สัญญาอนุญาตกอปปีเลฟต์ซึ่งอนุญาตให้มีการแจกจ่าย ดัดแปลงงานเขียน และนำเนื้อหาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานยังคงถือครองลิขสิทธิ์ผลงานของตนอยู่ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 เมื่อวิกิพีเดียเปลี่ยนไปใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน (CC-by-SA) 3.0[50] วิกิพีเดียได้ดำเนินการเปลี่ยนไปใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แทน GFDL นั้น เพราะเดิม GFDL ถูกออกแบบมาสำหรับคู่มือซอฟต์แวร์ และถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสมสำหรับงานอ้างอิงออนไลน์ และสัญญาอนุญาตทั้งสองนี้ไม่สามารถใช้แทนกันได้[51]

ตามคำร้องขอของมูลนิธิวิกิมีเดีย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (FSF) ได้ออกรุ่นใหม่ของ GFDL ซึ่งออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้วิกิพีเดียเปลี่ยนสัญญาอนุญาตเนื้อหาของตนเป็น CC-BY-SA ภายในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 โดยเฉพาะ วิกิพีเดียและโครงการพี่น้องได้จัดการลงมติทุกโครงการเพื่อตัดสินใจว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาอนุญาตหรือไม่ การลงมติมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-30 เมษายน[52] ซึ่งผลออกมาว่าร้อยละ 75.8 เห็นด้วย ร้อยละ 10.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 13.7 ไม่มีความคิดเห็น[53] และหลังจากการลงมติดังกล่าว คณะกรรมการจัดการมูลนิธิได้ลงคะแนนเสียงเปลี่ยนไปใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552[53]

การจัดการไฟล์สื่อ (เช่น ไฟล์ภาพ) แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นภาษา ทั้งนี้ เนื่องจากความแตกต่างของกฎหมายลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การอ้างนำไปใช้งานโดยชอบธรรมไม่มีอยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ญี่ปุ่น ไฟล์สื่อซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเนื้อหาเสรีจะถูกแบ่งกันใช้ทั่วรุ่นภาษาโดยคลังสื่อวิกิมีเดียคอมมอนส์ โครงการซึ่งบริหารจัดการโดยมูลนิธิวิกิมีเดียเช่นเดียวกัน

การนำเนื้อหาไปใช้ใหม่

เนื่องจากเนื้อหาวิกิพีเดียเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตเสรี ทุกคนจึงสามารถแจกจ่ายเนื้อหานี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื้อหาของวิกิพีเดียถูกนำไปตีพิมพ์ในหลายรูปแบบ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ นอกเหนือไปจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย

  • เว็บไซต์: มีมิเรอร์ไซต์หลายพันแห่งที่นำเนื้อหาจากวิกิพีเดียไปลง โดยมีเว็บสองเว็บที่สำคัญ ซึ่งรวบรวมเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ ด้วย คือ Reference.com และ Answers.com อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ วาพีเดีย ซึ่งเริ่มแสดงเนื้อหาวิกิพีเดียในรูปแบบที่สามารถใช้งานกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนที่วิกิพีเดียจะเริ่มดำเนินการเอง
  • เสิร์ชเอนจิน: เว็บเสิร์ชเอนจินบางแห่งยังแสดงผลเนื้อหาจากวิกิพีเดียบนผลการค้นหาด้วย ตัวอย่างเช่น Bing.com และดั๊กดั๊กโก
  • วิกิอื่น: วิกิบางเว็บ ซึ่งที่สำคัญได้แก่เอนซีโกรเปเดียลีเบรและซิติเซนเดียม เริ่มต้นเป็นการแตกสาขาของเนื้อหาวิกิพีเดีย ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ดีบีพีเดีย ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 เป็นโครงการซึ่งคัดลอกข้อมูลมาจากกล่องข้อมูลและการประกาศหมวดหมู่ของวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ และทำให้ข้อมูลนั้นสามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบอาร์ดีเอฟ ซีแมนติกเว็บที่สามารถสืบค้นได้ ความเป็นไปได้ดังกล่าวถูกเสนอให้วิกิพีเดียส่งออกข้อมูลโดยตรงในรูปแบบซีแมนติก ซึ่งทำได้โดยการใช้ส่วนขยายซีแมนติกมีเดียวิกิ การส่งออกข้อมูลดังกล่าวยังสามารถช่วยให้วิกิพีเดียนำข้อมูลของเว็บเองไปใช้ใหม่ได้ ทั้งระหว่างบทความในวิกิพีเดียภาษาเดียวกันและวิกิพีเดียคนละภาษา[54]
  • แผ่นบันทึกข้อมูลและดีวีดี: การรวบรวมบทความวิกิพีเดียยังพบได้ในรูปแบบแผ่นบันทึกข้อมูลด้วย รุ่นภาษาอังกฤษ ชุดข้อมูลซีดีวิกิพีเดีย 2006 ซึ่งประกอบด้วยบทความประมาณ 2,000 บทความ[55][56] รุ่นภาษาโปแลนด์บรรจุบทความถึงเกือบ 240,000 บทความ[57] นอกจากนี้ยังมีชุดภาษาเยอรมันอีกด้วย[58] ล่าสุด มีโครงการพัฒนาวิกิพีเดียเพื่อนำไปใช้ในเครื่องไอพ็อด[59] นอกจากนี้ "วิกิพีเดียสำหรับโรงเรียน" ซึ่งเป็นซีรีส์ซีดีและดีวีดีวิกิพีเดีย ผลิตโดยชาววิกิพีเดียและองค์กรการกุศลเอสโอเอสชิลเดรน ซึ่งเป็นงานไม่คิดค่าใช้จ่าย ตรวจสอบด้วยมือ และคัดสรรโดยไม่เกี่ยวกับการค้าจากวิกิพีเดีย มีเป้าหมายไปยังหลักสูตรแห่งชาติของสหราชอาณาจักรและมีเจตนาที่จะให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้พูดภาษาอังกฤษทั่วโลก โครงการดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ออนไลน์ สารานุกรมที่มีเนื้อหาเทียบเท่ากันจะมีความหนาประมาณ 20 เล่ม
  • หนังสือ: ยังมีความพยายามที่จะนำบทความวิกิพีเดียที่ถูกเลือกตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือ[60][61] นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ได้มีคำสั่งพิมพ์หนังสือหลายหมื่นเล่ม ซึ่งลอกเนื้อหามาจากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และฝรั่งเศส ซึ่งตีพิมพ์โดยบริษัทอเมริกัน บุ๊กแอลแอลซี และบริษัทสาขาสามแห่งในประเทศมอริเชียส ของสำนักพิมพ์เยอรมัน เฟาเดเอ็ม[62]

การป้องกันการแก้ไขที่ไม่พึงประสงค์

รูปแบบการแก้ไขซึ่งมีธรรมชาติเปิดกว้างตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์หลักของวิกิพีเดีย ตัวอย่างเช่น ผู้อ่านไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าบทความนั้นไม่มีการสอดแทรกเนื้อหาข้อมูลผิด ๆ หรือนำข้อมูลที่สำคัญออก อดีตบรรณาธิการบริหารของสารานุกรมบริตานิกา รอเบิร์ต แมคเฮนรี เคยอธิบายถึงปัญหาดังกล่าวว่า[63]

ผู้ใช้ซึ่งเข้าชมวิกิพีเดียเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงบางประเด็น ก็เปรียบเหมือนกับผู้ที่มาใช้ห้องน้ำสาธารณะ มันอาจจะสกปรกอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเขาจึงรู้จักวิธีการดูแลตัวเองอย่างระมัดระวัง หรือมันอาจดูค่อนข้างสะอาด ที่อาจหลอกให้เข้าใจอย่างผิด ๆ ว่ามันปลอดภัย สิ่งที่เขาผู้นี้ไม่รู้เลยคือมีใครบ้างที่มาใช้ห้องน้ำแห่งนี้ก่อนหน้าเขาบ้าง[64]

อย่างไรก็ตาม การลบส่วนที่เป็นการก่อกวนที่เห็นได้อย่างชัดเจนออกจากบทความนั้นสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากมีการเก็บบันทึกรุ่นก่อนหน้าทั้งหมดของบทความไว้ ในทางปฏิบัติแล้ว เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการตรวจจับและแก้ไขการก่อกวนนั้นกินเวลาสั้นมาก ปกติแล้วจะกินเวลาไม่กี่นาที[17][18] แต่มีกรณีที่รู้กันทั่วอยู่กรณีหนึ่งเมื่อมีการเพิ่มข้อมูลผิด ๆ ลงในบทความชีวประวัติของนักการเมืองอเมริกัน จอห์น ซีเจนทาเลอร์ โดยไม่ถูกตรวจพบเลยเป็นเวลานานถึงสี่เดือน[65] เขาเรียกวิกิพีเดียว่าเป็น "เครื่องมือวิจัยที่บกพร่องและไร้ความรับผิดชอบ"[65] จอห์น ซีเจนทาเลอร์ ผู้ก่อตั้งผู้อำนวยการกองบรรณาธิการของยูเอสเอทูเดย์ และผู้ก่อตั้งฟรีดอมฟอรัมเฟิสท์อะเมนด์เมนท์เซ็นเตอร์ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ได้โทรศัพท์ไปหาจิมมี เวลส์ และถามเขาว่าเวลส์รู้เห็นกับผู้ที่สอดแทรกข้อมูลที่ผิดหรือไม่ เวลส์ตอบว่าเขาไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ตัวผู้กระทำได้ถูกตามจนพบในภายหลัง[66][67] เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของเว็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพิสูจน์ยืนยันได้ของบทความชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมดให้รัดกุมยิ่งขึ้น

โครงสร้างที่เปิดเผยของวิกิพีเดียทำให้ตกเป็นเป้าการก่อกวนของเกรียน (troll) ได้ง่าย รวมทั้งการสแปม และผู้ต้องการเรียกร้องความสนใจ[43][68] การเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในบทความโดยองค์กร ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและกลุ่มความสนใจพิเศษอื่น ๆ [16] ก็ได้ถูกพบด้วย[69] แม้แต่องค์กรอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ ยังเสนอเงินจูงใจเพื่อให้มีการปรับปรุงบางบทความอีกด้วย[70] ประเด็นดังกล่าวถูกนำไปเขียนล้อเลียนเป็นอย่างมาก[71]

กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 เมื่อเว็บไซต์วิกิสแกนเนอร์ได้เริ่มแกะรอยแหล่งที่มาของการแก้ไขวิกิพีเดียโดยผู้ใช้ปกปิดตนเองซึ่งไม่มีบัญชีผู้ใช้วิกิพีเดีย โปรแกรมได้เปิดเผยว่าการแก้ไขเหล่านี้จำนวนมากเป็นของบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งปรับเปลี่ยนเนื้อหาในบทความที่เกี่ยวข้องกับตัวองค์กร บุคลากรหรือผลงานขององค์กรนั้น[72]

ในทางปฏิบัติแล้ว วิกิพีเดียมีการป้องกันจากการโจมตีโดยระบบและเทคนิคอันหลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงผู้ใช้ที่คอยตรวจสอบหน้าและการแก้ไข (อาทิ รายการเฝ้าดู และหน้าปรับปรุงล่าสุด) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบอต ซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างระมัดระวังเพื่อพยายามตรวจจับการโจมตีและแก้ไขการก่อกวนเหล่านี้โดยอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ มีตัวกรองที่คอยเตือนผู้ใช้ถึงการแก้ไขที่ไม่พึงประสงค์ การบล็อกการเพิ่มลิงก์ไปยังเว็บไซต์บางเว็บ การบล็อกแก้ไขจากบัญชีผู้ใช้บางบัญชี หมายเลขไอพีหรือช่วงไอพีหนึ่ง ๆ

สำหรับหน้าที่ถูกโจมตีอย่างหนัก บทความบางบทอาจถูกกึ่งล็อกเพื่อให้เฉพาะบัญชีผู้ใช้ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขได้ หรือสำหรับบางกรณีที่มีข้อพิพาทกันหนักขึ้น อาจมีการล็อกถึงขั้นที่ว่ามีเฉพาะผู้ดูแลระบบเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขบทความได้ การล็อกเป็นมาตรการที่ใช้ไม่บ่อยครั้งนัก และโดยทั่วไปแล้วจะกินเวลาไม่นาน เฉพาะเมื่อการกระทำนั้นมีแนวโน้มว่าจะยังดำเนินต่อไปเท่านั้น

ความครอบคลุมของเนื้อหา

แผนภูมิวงกลมแสดงเนื้อหาวิกิพีเดียแบ่งตามประเภท เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551[73]

วิกิพีเดียตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างบทสรุปความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ในรูปแบบสารานุกรมออนไลน์ โดยมีหัวข้อความรู้แต่ละหัวข้อครอบคลุมหนึ่งบทความอย่างเป็นสารานุกรม เนื่องจากวิกิพีเดียมีเนื้อที่ไม่จำกัดอย่างแท้จริง จึงสามารถบรรจุเนื้อหาได้มากกว่าสารานุกรมตีพิมพ์แบบเก่าทุกเล่มที่เคยมีมา นอกจากนี้ยังบรรจุสื่อหรือเนื้อหาที่บางคนอาจมองว่าน่ารังเกียจ ก้าวร้าว หรือลามกอนาจาร วิกิพีเดียแสดงจุดยืนชัดเจนว่านโยบายดังกล่าวมิได้มีไว้เป็นข้อโต้เถียงกัน และนโยบายดังกล่าวบางครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดการโต้แย้งกันขึ้นบ่อยครั้ง อย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2551 วิกิพีเดียปฏิเสธรับการร้องเรียนออนไลน์ต่อต้านการสอดแทรกเนื้อหาที่กล่าวถึงภาพวาดนบีมุฮัมมัดในรุ่นภาษาอังกฤษ โดยอ้างนโยบายดังกล่าว การมีอยู่ของสื่อที่อ่อนไหวทางการเมืองในวิกิพีเดียนำไปสู่การบล็อกการเข้าถึงวิกิพีเดียของสาธารณรัฐประชาชนจีน[74] และอาจรวมไปถึงมูลนิธิเฝ้าระวังภัยอินเทอร์เน็ต

จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 วิกิพีเดียมีบทความเนื้อหาครอบคลุมถึงสถานที่เกือบครึ่งล้านแห่งบนโลก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยซึ่งดำเนินการโดยสถาบันอินเทอร์เน็ตออกซฟอร์ดได้แสดงให้เห็นว่า บทความภูมิศาสตร์นี้กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ไม่เสมอกันอย่างมาก บทความส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตะวันออก และมีส่วนน้อยมากที่กล่าวถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา รวมไปถึงส่วนใหญ่ของแอฟริกา[75]

การศึกษาวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนและศูนย์วิจัยพาโลอัลโต ได้จำแนกจำนวนบทความแบ่งตามประเภท ตลอดจนอัตราการเพิ่มจำนวน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ถึงมกราคม พ.ศ. 2551 ไว้ดังนี้[73]

  • ศิลปวัฒนธรรม: 30% (210%)
  • ชีวประวัติและบุคคล: 15% (97%)
  • ภูมิศาสตร์และสถานที่: 14% (52%)
  • สังคมและสังคมศาสตร์: 12% (83%)
  • ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์: 11% (143%)
  • ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์กายภาพ: 9% (213%)
  • เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์: 4% (−6%)
  • ศาสนาและระบบความเชื่อ: 2% (38%)
  • สุขภาพ: 2% (42%)
  • คณิตศาสตร์และตรรกะ: 1% (146%)
  • ความคิดและปรัชญา: 1% (160%)

อย่างไรก็ดี พึงตระหนักจำนวนเหล่านี้หมายถึงจำนวนบทความ ซึ่งบางบทความอาจจะสั้นมาก ขณะที่บางบทความอาจมีความยาวมากก็ได้

การครอบคลุมที่แน่นอนของวิกิพีเดียยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างต่อเนื่องของผู้ร่วมพัฒนา และความไม่เห็นด้วยว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรจะมีในวิกิพีเดียหรือไม่ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด[76][77]

คุณภาพงานเขียน

เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ร่วมพัฒนาจะเรียบเรียงเนื้อหาเป็นส่วนน้อย ๆ มากกว่าแก้ไขปรับปรุงบทความทั้งบท จึงเป็นไปได้ที่ในบทความเดียวกันหนึ่ง ๆ จะมีเนื้อหาคุณภาพสูงและต่ำผสมปนเปกันอยู่ บางครั้งนักวิจารณ์ว่าการแก้ไขโดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนั้นทำให้คุณภาพของงานต่ำ ตัวอย่างเช่น รอย โรเซนซไวก์ เคยวิจารณ์การเรียบเรียงภาษาและการที่ไม่สามารถแยกแยะสิ่งสำคัญแท้จริงกับสิ่งที่เพียงแต่น่าดึงดูดใจเท่านั้น เขากล่าวว่าวิกิพีเดีย "แม่นยำอย่างน่าประหลาดใจในการรายงานชื่อ วันที่ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหรัฐ" (ซึ่งเป็นขอบเขตการศึกษาของโรเซนซไวก์) และข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดเล็กน้อยนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะเนื้อหา "มีน้อยและไม่ต่อเนื่องกัน" และเนื้อหาบางส่วน "แค่ย้ำความเชื่อผิด ๆ ที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางเท่านั้น" ซึ่งยังได้ปรากฏซ้ำใน เอ็นคาร์ตา และ บริตานิกา เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขามีข้อวิจารณ์หนึ่งข้อใหญ่

การเขียนประวัติศาสตร์ที่ดีนั้นไม่เพียงแต่ต้องใช้เฉพาะข้อเท็จจริงที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการควบคุมผลงานตีพิมพ์อย่างเป็นวิชาการด้วย การวิเคราะห์และการตีความแบบชักจูง ตลอดจนการเขียนที่ชัดเจนและดึงดูดใจ และด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ชีวประวัติแห่งชาติอเมริกันออนไลน์ (American National Biography Online) จึงทิ้งห่างวิกิพีเดียไปได้อย่างง่ายดาย[78]

เขายังเปรียบเทียบเนื้อหาของอับราฮัม ลินคอล์นในวิกิพีเดียกับที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองอเมริกัน เจมส์ แมคเฟียร์สัน ใน ชีวประวัติแห่งชาติอเมริกันออนไลน์ เขากล่าวว่า ทั้งสองมีความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลอย่างสำคัญ และครอบคลุมช่วงชีวิตหลักของลินคอล์นอย่างครบถ้วน แต่เขายกย่องแมคเฟียร์สันว่า "มีการใส่บริบทมากกว่า ... มีศิลปะในการหยิบยกคำคมที่สะท้อนถึงน้ำเสียงของลินคอล์น ... และ ... ความสามารถในการถ่ายทอดข้อความอันลึกซึ้งด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ" ในทางกลับกัน เขาได้ยกตัวอย่างสำนวนของวิกิพีเดียซึ่งเขาพบว่า "ทั้งเยิ่นเย้อและน่าเบื่อ" โรเซนซไวก์วิจารณ์ต่อไป โดยเปรียบเทียบ "การตัดสินใจอย่างมีทักษะและความมั่นใจของนักประวัติศาสตร์ผู้ช่ำชอง" ซึ่งแสดงโดยแมคเฟียร์สันและคณะกับ "คำโบราณ" ของวิกิพีเดีย (ซึ่งเขาเปรียบเทียบประเด็นนี้กับนิตยสารอเมริกันเฮอริเทจ) และกล่าวว่าขณะที่วิกิพีเดียมักจะอ้างแหล่งอ้างอิงจำนวนมาก แต่แหล่งอ้างอิงเหล่านั้นก็ไม่ใช่ที่ดีที่สุด[78]

โรเซนซไวก์ยังได้วิจารณ์ "การเขียนคลุมเครือ ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากนโยบาย NPOV [มุมมองที่เป็นกลาง] หมายความว่าเป็นการยากที่จะแยกแยะทัศนะการให้ความหมายโดยรวมในประวัติวิกิพีเดีย ยกตัวอย่างเช่น เขาอ้างบทสรุปของบทความวิกิพีเดียเกี่ยวกับวิลเลียม คลาร์ก ควินทริลล์ ซึ่งเนื้อหาของบทความโดยทั่วไปนั้นกล่าวยกย่องบุคคลผู้นี้ เขาได้ชี้ให้เห็นบทสรุปที่คลุมเครือ ที่ว่า "นักประวัติศาสตร์บางคน ... จดจำเขาในฐานะนักฉวยโอกาส คนนอกกฎหมายกระหายเลือด ขณะที่คนอื่นยังคงมองเขาว่าเป็นทหารผู้กล้าหาญและวีรบุรุษของคนท้องถิ่น"[78]

เสียงวิจารณ์อื่น ๆ ได้โจมตีประเด็นปัญหาที่คล้ายกันที่ว่า แม้บทความวิกิพีเดียจำนวนมากจะมีข้อเท็จจริงถูกต้องแม่นยำ แต่ก็มักเขียนในรูปแบบที่เลวจนเกือบอ่านไม่ได้ นักวิจารณ์วิกิพีเดียขาประจำ แอนดริว ออร์ลอว์สกี ให้ความเห็นว่า "ต่อให้บทความวิกิพีเดียจะมีข้อเท็จจริงถูกต้อง 100 เปอร์เซนต์ และข้อเท็จจริงเหล่านั้นถูกเลือกมาอย่างระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่อ่านแล้วราวกับว่าเนื้อหานั้นถูกแปลมาจากภาษาอื่นแล้วแปลต่อเป็นภาษาที่สาม โดยเปลี่ยนตัวผู้แปลที่ไม่รู้หนังสือในแต่ละขั้น"[79] การศึกษาบทความมะเร็งโดยยาคอฟ ลอว์เรนซ์ แห่งศูนย์มะเร็งคิมเมล มหาวิทยาลัยโทมัส เจฟเฟอร์สัน พบว่าเนื้อหานั้นส่วนใหญ่มีข้อเท็จจริงถูกต้อง แต่เนื้อหานั้นเขียนด้วยภาษาระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่กระทู้ข้อมูลแพทย์ใช้ภาษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขากล่าวว่า "การที่วิกิพีเดียขาดความเรียบง่ายในการใช้ภาษานี้อาจสะท้อนถึงผู้เขียนที่หลากหลายและการแก้ไขส่งเดช"[80] ดิอีโคโนมิสต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้อ่านอาจสังเกตคุณภาพการเขียนบทความวิกิพีเดียเพื่อเป็นแนวทางได้ เพราะ "ภาษาเขียนที่ไม่ประณีตและตึงตังมักจะสะท้อนแนวคิดที่ยุ่งเหยิงและข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์"[81] การศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยวารสารเนเจอร์ ได้เปรียบเทียบเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ของวิกิพีเดียกับเนื้อหาแบบเดียวกันของสารานุกรมบริตานิกา โดยสรุปว่า ความถูกต้องของข้อมูลในวิกิพีเดียนั้นใกล้เคียงกับของบริตานิกา แต่โครงสร้างบทความวิกิพีเดียนั้นมักจะไม่ดี[19]

ความน่าเชื่อถือ

ผลที่ตามมาจากโครงสร้างที่เปิดกว้างให้แก้ไขได้ของวิกิพีเดียนั้น ทำให้วิกิพีเดีย "ไม่มีการรับประกันถึงความถูกต้อง" ของเนื้อหา เพราะในท้ายที่สุดแล้วไม่มีผู้ใดรับผิดชอบต่อข้อความใด ๆ ที่ปรากฏอยู่บนเว็บ ได้มีความกังวลซึ่งมุ่งประเด็นไปยังการขาดความตรวจสอบได้อันเป็นผลมาจากการปิดบังชื่อของผู้ใช้[82] การสอดแทรกข้อมูลปลอม[83] การก่อกวน และปัญหาที่คล้ายกัน

วิกิพีเดียถูกกล่าวหาว่านำเสนอเนื้อหาที่ลำเอียงอย่างเป็นระบบและมีความไม่สอดคล้องกัน[15] นักวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ธรรมชาติที่เปิดของวิกิพีเดียและการไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงอย่างเหมาะสมในเนื้อหาจำนวนมาก ทำให้มันไม่น่าเชื่อถือ[84] นักวิจารณ์อีกกลุ่มแนะว่า โดยปกติแล้ววิกิพีเดียนั้นเชื่อถือได้ แต่ก็ไม่แน่หากคิดเฉพาะความน่าเชื่อถือของบทความใดบทความหนึ่งเป็นการเฉพาะ[14] บรรณาธิการของงานอ้างอิงแบบเก่า อย่างเช่น สารานุกรมบริตานิกาได้ตั้งคำถามถึงประโยชน์ใช้สอยของโครงการและสถานะความเป็นสารานุกรม[85] อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่สนับสนุนให้นักเรียนอ้างอิงสารานุกรมใด ๆ ในงานวิชาการ และให้ใช้งานจากแหล่งปฐมภูมิมากกว่า[86] บางรายระบุเป็นการเฉพาะว่าห้ามอ้างอิงวิกิพีเดีย[87] ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย จิมมี เวลส์ เน้นว่าสารานุกรมชนิดใด ๆ นั้นโดยปกติแล้วไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ และไม่ควรวางใจว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้[88]

อย่างไรก็ตาม การสำรวจซึ่งรายงานในวารสารเนเจอร์ในปี พ.ศ. 2548 เสนอว่าบทความวิทยาศาสตร์วิกิพีเดียมีระดับความถูกต้องแม่นยำใกล้เคียงกับของสารานุกรมบริตานิกา และมีระดับ "ข้อผิดพลาดร้ายแรง" ที่ใกล้เคียงกัน[19] การอ้างดังกล่าวได้ถูกคัดค้านโดยสารานุกรมบริตานิกา[89][90]

นักเศรษฐศาสตร์ ไทเลอร์ โคเวน เขียนว่า "ถ้าผมต้องเดาว่าระหว่างวิกิพีเดียหรือบทความเศรษฐศาสตร์ระดับกลางในฐานข้อมูลระดับชาติว่าอย่างไหนมีความถูกต้องมากกว่ากัน ผมคิดไม่นานก็ตัดสินใจได้ว่าผมจะเลือกวิกิพีเดีย" เขาให้ความเห็นว่างานอ้างอิงแบบเก่าที่ไม่ใช่บันเทิงคดีนั้นประสบปัญหาลำเอียงอย่างเป็นระบบด้วยกันทั้งสิ้น ข้อมูลใหม่ ๆ มักจะได้รับรายงานมากเกินงามในบทความวารสาร และข้อมูลเกี่ยวข้องกันก็ได้เผยแพร่ในรายงานข่าว อย่างไรก็ตาม เขายังได้เตือนว่าข้อผิดพลาดนั้นมักพบได้บ่อยบนอินเทอร์เน็ต และว่านักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะต้องตื่นตัวในการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้[91]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 บทความในหนังสือพิมพ์เดอะฮาร์วาร์ดคริมสัน รายงานว่าศาสตราจารย์บางคนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใส่วิกิพีเดียเข้าไปในบทคัดย่อของตนด้วย แต่มีความไม่ลงรอยกันในความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้วิกิพีเดีย[92] เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 อดีตประธานสมาคมหอสมุดอเมริกัน ไมเคิล กอร์แมน ประณามวิกิพีเดีย เช่นเดียวกับกูเกิล[93] โดยกล่าวว่า นักวิชาการผู้สนับสนุนการใช้วิกิพีเดียนั้น "มีสติปัญญาเท่ากับนักโภชนาการที่แนะนำให้คนกินบิ๊กแม็คกับอาหารทุกรายการอย่างต่อเนื่อง" เขากล่าวต่อว่า "รุ่นของคนมีปัญญาเฉื่อยชาผู้ไม่สามารถก้าวข้ามอินเทอร์เน็ตได้" กำลังถูกผลิตจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขายังตำหนิว่าแหล่งข้อมูลที่เป็นเว็บนั้นทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่ขวนขวายที่จะเรียนรู้จากข้อมูลที่สืบค้นได้ยากกว่าซึ่งมักพบเฉพาะในเอกสารตีพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่บอกรับเป็นสมาชิกเท่านั้น ในบทความเดียวกัน เจนนี ฟราย นักวิจัยแห่งสถาบันอินเทอร์เน็ตออกซฟอร์ด ให้ความเห็นเกี่ยวกับนักวิชาการซึ่งอ้างวิกิพีเดีย โดยกล่าวว่า

คุณไม่สามารถพูดได้ว่าเด็ก ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเกียจคร้านในการใช้สมอง ในเมื่อนักวิชาการก็ใช้เสิร์ชเอนจินในงานวิจัยของตัวเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างก็คือพวกเขามีประสบการณ์มากกว่าในการวิเคราะห์ว่าข้อมูลที่ได้รับมาคืออะไรและข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เราต้องสอนเด็ก ๆ ให้ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นและเหมาะสม[93]

เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ

วิกิพีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการอนุญาตให้มีเนื้อหากราฟิกเกี่ยวกับเพศบนเว็บ อย่างเช่น ภาพและวิดีโอการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและการหลั่งน้ำอสุจิ เช่นเดียวกับภาพถ่ายจากภาพยนตร์ลามกฮาร์ดคอร์ที่พบในบทความ นักรณรงค์คุ้มครองเด็กกล่าวว่าเนื้อหากราฟิกเกี่ยวกับเพศนั้นปรากฏอยู่ในหลายหน้าของวิกิพีเดีย และแสดงโดยไม่มีการเตือนใด ๆ หรือการพิสูจน์อายุ[94]

บทความวิกิพีเดีย เวอร์จินคิลเลอร์ อัลบั้มเพลงเมื่อปี พ.ศ. 2519 จากวงดนตรีเฮฟวีเมทัลสัญชาติเยอรมัน สกอร์เปียนส์ ซึ่งแสดงภาพของปกอัลบั้มดั้งเดิม ที่เป็นรูปเด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์เปลือย ปกที่ออกมาเดิมนั้นทำให้เกิดการโต้เถียงกันและทำให้ปกอัลบั้มถูกเปลี่ยนในหลายประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 การเข้าถึงบทความดังกล่าวในวิกิพีเดียถูกบล็อกเป็นเวลาสี่วันโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักร หลังได้รับรายงานจากสาธารณชนว่าเป็นภาพลามกเด็ก[95] มูลนิธิเฝ้าระวังอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรและไม่อิงการเมือง วิจารณ์การแทรกรูปในเว็บว่า "น่ารังเกียจ"[96]

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 แลร์รี แซงเจอร์ เขียนจดหมายถึงสำนักงานสอบสวนกลาง โดยสรุปความกังวลของเขาว่าหมวดหมู่ภาพสองหมวดในวิกิมีเดียคอมมอนส์มีภาพลามกเด็ก และขัดต่อกฎหมายความลามกกลางสหรัฐ[97] ภายหลังแซงเจอร์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคใคร่เด็กและมีรูปหนึ่งเกี่ยวกับโลลิคอน ไม่ใช่เด็กจริง แต่ก็กล่าวว่ารูปเหล่านี้เป็น "การแสดงความลามกของการข่มเหงทางเพศของเด็ก" ภายใต้รัฐบัญญัติคุ้มครอง (PROTECT Act) พ.ศ. 2546[98] กฎหมายดังกล่าวห้ามภาพลามกเด็กและภาพการ์ตูนและภาพวาดของเด็กที่จัดว่าลามกอนาจารภายใต้กฎหมายสหรัฐ[98] แซงเจอร์ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงภาพเหล่านี้ในวิกิพีเดียจากโรงเรียน[99] วิกิพีเดียปฏิเสธคำกล่าวหาของแซงเจอร์อย่างแข็งขัน[100] โฆษกมูลนิธิวิกิมีเดีย เจย์ วัลสช์ กล่าวว่า วิกิพีเดียไม่มี "สื่อที่เราเห็นว่าผิดกฎหมาย หากเราพบ เราจะนำมันออก"[100] หลังจากการร้องเรียนของแซงเจอร์ เวลส์ได้ลบภาพเกี่ยวกับเพศโดยไม่ได้ปรึกษากับชุมชนวิกิพีเดียก่อน หลังจากผู้ร่วมแก้ไขบางคนอาสาที่จะดูแลเว็บแย้งว่าการตัดสินใจดังกล่าวกระทำอย่างเร่งรีบเกินไป เวลส์จึงสละอำนาจบางส่วนที่มีจนถึงขณะนั้นเนื่องจากสถานะผู้ร่วมก่อตั้งของเขา เขาเขียนข้อความถึงบัญชีจ่าหน้ามูลนิธิวิกิมีเดียว่า การกระทำดังกล่าว "เป็นประโยชน์ที่จะกระตุ้นการอภิปรายนี้ให้เกี่ยวกับประเด็นเนื้อหา/ปรัชญาอย่างแท้จริง มากกว่าเกี่ยวกับผมและว่าผมตอบโต้เร็วเพียงใด"[101]

ความเป็นส่วนตัว

ความกังวลหนึ่งในกรณีของวิกิพีเดียนี้คือสิทธิของปัจเจกชนที่จะยังคงความเป็นส่วนตัว มากกว่าที่จะเป็น "บุคคลสาธารณะ" ในมุมมองของกฎหมาย[102] ซึ่งกรณีนี้ก็คล้ายกับการต่อสู้ระหว่างสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนในไซเบอร์สเปซกับสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนในชีวิตจริง วิกิพีเดียว็อตช์โต้แย้งว่า "วิกิพีเดียอาจเป็นภัยคุกคามต่อทุกคนที่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นส่วนตัว" และ "ระดับภาวะรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นในโครงสร้างวิกิพีเดีย" จะเป็น "ขั้นแรกสู่การแก้ไขปัญหาความเป็นส่วนตัว"[103]

ในปี พ.ศ. 2548 อะแจ็งเซอ ฟร็องเซ-แพร็ส ยกคำกล่าวของเดเนียล บรานต์ เจ้าของวิกิพีเดียว็อตช์ ซึ่งกล่าวว่า "ปัญหาพื้นฐานคือไม่มีผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นถึงผู้บริหารของมูลนิธิวิกิมีเดียก็ตาม และอาสาสมัครผู้เชื่อมโยงกับวิกิพีเดีย ถือว่าตนเองรับผิดชอบต่อเนื้อหา"[104]

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ปิดวิกิพีเดียภาษาเยอรมันในเยอรมนีเนื่องจากเว็บได้กล่าวถึงชื่อเต็มของบอริส ฟลอริซิก หรือ "ทรอน" แฮ็กเกอร์ที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งอดีตเคยเข้ากับคาออสคอมพิวเตอร์คลับ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลยังสั่งให้ยูอาร์แอลภายใต้โดเมน .de ของเยอรมนี (http://www.wikipedia.de/) ต้องไม่รีไดเร็กไปยังเซิร์ฟเวอร์ของสารานุกรมในรัฐฟลอริดาที่ http://de.wikipedia.org แม้ว่าผู้อ่านในเยอรมนีจะยังสามารถใช้ยูอาร์แอลที่ตั้งอยู่ในสหรัฐได้โดยตรงเช่นเดิม และไม่ได้ปิดกั้นผู้อ่านเหล่านั้นในการเข้าถึงวิกิพีเดียแต่อย่างใด คำสั่งศาลออกมาหลังจากคดีความซึ่งผู้ปกครองของทรอนฟ้องร้องโดยขอให้ศาลนำนามสกุลของบุตรชายออกจากวิกิพีเดีย วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ได้มีการพิพากษาแก้ต่อวิกิมีเดียดอยทช์ลันด์ โดยศาลปฏิเสธสิทธิการคงความเป็นส่วนตัวของทรอนหรือการละเมิดสิทธิผู้ปกครองของเขา[105] โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐเบอร์ลิน แต่ศาลปฏิเสธไม่รับฟ้องเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549

ประชาคม

วิกิเมเนีย การประชุมประจำปีสำหรับผู้ใช้วิกิพีเดียและโครงการอื่นซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย

ประชาคมวิกิพีเดียถูกอธิบายว่า "เหมือนกับลัทธิ"[106] ถึงแม้ว่าคำดังกล่าวจะไม่ได้มีความหมายโดยนัยในทางลบเพียงอย่างเดียวก็ตาม[107] และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไม่มีประสบการณ์ เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้เหล่านี้จะได้รับการต้อนรับจากสมาชิก[108] แต่ผู้ใช้มือใหม่นั้นมักถูกบอกให้อ่านนโยบายด้วยตนเองเพื่อเรียนรู้แนวทางวิกิพีเดีย[43]

โครงสร้างอำนาจ

ประชาคมวิกิพีเดียได้ทำให้เกิด "ระบอบสถาบันเชิงพฤตินัย" ขึ้น ซึ่งรวมไปถึง "โครงสร้างอำนาจอันเด่นชัดที่ทำให้ผู้ดูแลระบบอาสาสมัครมีอำนาจควบคุมการแก้ไขเนื้อหา"[109][110][111] ผู้ใช้ที่มีชื่อเสียงดีในประชาคมสามารถเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งในหน้าที่บริการหลายระดับ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ "ผู้ดูแลระบบ"[112] กลุ่มผู้ใช้ที่มีเอกสิทธิ์จากความสามารถในการลบหน้า ล็อกบทความจากการแก้ไขในกรณีการก่อกวนหรือมีข้อพิพาทในการเพิ่มเนื้อหา และบล็อกผู้ใช้จากการแก้ไข ถึงแม้จะได้ชื่อว่าผู้ดูแลระบบแต่พวกเขาไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ ในการตัดสินใจ โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีบทบาทจำกัดเพียงการแก้ไขซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างต่อทั้งโครงการ ซึ่งผู้ใช้ธรรมดาจะไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไขในสิ่งเหล่านี้ รวมไปถึงการบล็อกผู้ใช้ที่ก่อปัญหา (อย่างเช่นการก่อกวน)

ผู้ร่วมแก้ไข

ลักษณะประชากรของผู้แก้ไขวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ใช้ต้องแสดงตัว[113] อย่างไรก็ตาม ขณะที่วิกิพีเดียเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยรูปแบบการสร้างสารานุกรมแบบใหม่ คำถามที่ว่า "ใครเขียนวิกิพีเดีย" จึงกลายมาเป็นหนึ่งในคำถามเกี่ยวกับโครงการที่ถูกถามบ่อย ๆ และถูกเปรียบเทียบกับโครงการเว็บ 2.0 อื่น อย่างเช่น ดิกก์[114] จิมมี เวลส์ ตอบคำถามนี้เพียงว่า "ประชาคมแห่งหนึ่ง ... กลุ่มอาสาสมัครผู้อุทิศตัวไม่กี่ร้อยคน" เป็นผู้ร่วมพัฒนาวิกิพีเดียส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ วิกิพีเดียจึง "ไม่ต่างอะไรกับองค์กรแบบเก่าทั่วไป" เวลส์ได้ศึกษาและพบว่ากว่า 50% ของการแก้ไขทั้งหมดเกิดขึ้นจากผู้ใช้เพียง 0.7 % (เวลานั้นมีอยู่ 524 คน) ต่อมาอารอน สวาร์ตซ์ได้โต้แย้งวิธีการประเมินการร่วมพัฒนาดังกล่าวโดยชี้ให้เห็นว่าหลายบทความที่เขาสุ่มตัวอย่างขึ้นมานั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่ (คิดตามจำนวนตัวอักษร) เขียนขึ้นโดยผู้ใช้ที่มีจำนวนการแก้ไขรวมน้อย[115] การศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยนักวิจัยจากวิทยาลัยดาร์ตมัธ ค้นพบว่า "ผู้ใช้วิกิพีเดียนิรนามและขาจร ... เป็นแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือพอ ๆ กับผู้ร่วมแก้ไขซึ่งลงทะเบียนกับเว็บ"[116] แม้ว่าผู้ใช้บางคนจะเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์ที่ตนเขียนก็ตาม แต่วิกิพีเดียมีข้อกำหนดให้พวกเขาต้องมีแหล่งข้อมูลตีพิมพ์และสามารถใช้ยืนยันได้ประกอบการแก้ไขด้วย หากใช้มติเอกฉันท์เหนือแหล่งอ้างอิงจะถูกเรียกว่าเป็น "การต่อต้านอภิชนนิยม" (anti-elitism) [13]

ปี พ.ศ. 2546 นักศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ แอนเดรีย ซิฟโฟลิลลิ ทำการศึกษาวิกิพีเดียในฐานะชุมชนและให้เหตุผลว่า การมีต้นทุนในการเข้าร่วมกับซอฟต์แวร์วิกิที่ต่ำนั้นเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาแบบร่วมมือกัน และแนวทาง "การสรรสร้างอย่างสร้างสรรค์" นี้เองที่กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือ[117] ในหนังสือ อนาคตของอินเทอร์เน็ตและจะหยุดมันได้อย่างไร (The Future of the Internet and How to Stop It) เมื่อปี พ.ศ. 2551 โจนาธาน ซิตเทรน แห่งสถาบันอินเทอร์เน็ตออกซฟอร์ดและศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมเบิร์กแมนของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด ได้ยกความสำเร็จของวิกิพีเดียเป็นกรณีศึกษาว่าการร่วมแก้ไขอย่างเปิดเผยนั้นส่งผลให้เกิดนวัตกรรมบนเว็บได้อย่างไร[118] การศึกษาในปีเดียวกันยังพบว่าผู้ใช้วิกิพีเดียมีความเปิดเผยและเป็นมิตรน้อยกว่า แม้จะมีความรอบคอบมากกว่าผู้ที่ไม่ใช่ผู้ใช้วิกิพีเดีย[119][120] การศึกษาในปี พ.ศ. 2552 ยังแนะว่ามี "หลักฐานว่าชุมชนวิกิพีเดียต่อต้านเนื้อหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น"[121]

ในวาระที่วิกิพีเดียเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้ง เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้ตีพิมพ์คอลัมน์เกี่ยวกับการสำรวจวิกิพีเดียในเวลานั้น โดยรายงานว่า การศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยมาสตริกช์ พบว่าผู้ร่วมแก้ไขวิกิพีเดียเพียง 13% เท่านั้นที่เป็นหญิง อายุเฉลี่ยของผู้ร่วมแก้ไขอยู่ในช่วงกลาง 20-30 ปี และยังได้หมายเหตุด้วยว่า การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ร่วมแก้ไขน้อยกว่า 15% จากทั้งหมดหลายแสนคนนั้นเป็นหญิง ซู การ์ดเนอร์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิวิกิมีเดีย ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเห็นสัดส่วนผู้หญิงที่ร่วมแก้ไขเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายในปี พ.ศ. 2558[122]

ปฏิสัมพันธ์

ผู้ใช้วิกิพีเดียมักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้คนอื่นผ่านทางหน้า 'อภิปราย' ซึ่งเป็นหน้าแบบวิกิที่เชื่อมโยงกับบทความ เช่นเดียวกับหน้าพูดคุยของผู้ใช้แต่ละคนและหน้าพูดคุยอื่น ๆ ที่ช่วยในการจัดการเว็บ ผู้ใช้อาศัยหน้าเหล่านี้เพื่อแสวงหาข้อยุติเกี่ยวกับเนื้อหาที่ควรมีของบทความ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของเว็บ และดำเนินการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาภายในประชาคม

การตระหนักถึงคุณค่า

บางครั้งชาววิกิพีเดียให้รางวัลชาววิกิพีเดียคนอื่นด้วยการมอบ "ดาวเกียรติยศ" (barnstar) สำหรับผลงานที่ดี สัญลักษณ์แสดงความชื่นชมเป็นการส่วนตัวเหล่านี้มอบแก่งานทรงคุณค่าจำนวนมากมายนอกเหนือไปจากเพียงการแก้ไขอย่างง่าย ๆ แต่รวมถึงการให้สนับสนุนแก่ชุมชน การทำหน้าที่ดูแลระบบ และการร่วมอภิปรายและออกเสียง นักวิจัยได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์บาร์นสตาร์นี้เพื่อค้นหาว่ามันจะมีความหมายอย่างไรในการทำให้ประชาคมอื่น ๆ เข้ามามีส่วนในความร่วมมืออย่างกว้างขวาง[123]

ผู้ใช้ใหม่

60% ของผู้ใช้ลงทะเบียนทำการแก้ไขเพียงครั้งเดียวในรอบ 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่การแก้ไขครั้งแรก คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ ผู้ใช้เหล่านี้ลงทะเบียนด้วยจุดประสงค์เดียว หรือรู้สึกกลัวจากประสบการณ์ที่ได้รับ[124] โกลด์แมน เขียนไว้ว่า การที่ผู้ใช้ไม่สามารถปฏิบัติตามวัฒนธรรมบางอย่างของวิกิพีเดีย เช่น ลงชื่อในหน้าอภิปราย เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกเขาเป็นคนนอกวิกิพีเดีย ซึ่งทำให้คนในวิกิพีเดียเพ่งเล็งว่าการแก้ไขของผู้ใช้เหล่านี้เป็นภัยคุกคาม การเข้ามาเป็นคนในของวิกิพีเดียนั้นต้องเสียต้นทุนไม่น้อย ผู้ใช้จะถูกคาดหวังให้สร้างหน้าผู้ใช้ เรียนรู้โค้ดเทคโนโลยีเฉพาะของวิกิพีเดีย เสนอกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท และเรียนรู้ "วัฒนธรรมที่อยู่ระหว่างเรื่องขำขันวงในและการอ้างอิงภายใน" จนผู้ใช้ไม่ล็อกอินอาจรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสองในวิกิพีเดีย[125] เนื่องจาก "ผู้ร่วมแก้ไขได้รับความยอมรับนับถือจากสมาชิกชุมชนวิกิ ผู้สนใจต่อการรักษาคุณภาพของการสร้างผลงานโดยไม่เปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องของพวกเขา"[126] แต่จากประวัติการแก้ไขของหมายเลขไอพีทำให้ไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องยกเครดิตให้ หรือประณามกล่าวโทษผู้ใช้คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

รุ่นภาษา

ปัจจุบันวิกิพีเดียมีทั้งหมด 285 ภาษา โดยในจำนวนนี้มีสี่ภาษาที่มีบทความมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ได้แก่ วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาดัตช์, 6 ภาษามีบทความมากกว่า 700,000 เรื่อง, 40 ภาษามีบทความมากกว่า 100,000 เรื่อง และ 109 ภาษา มีบทความมากกว่า 10,000 เรื่อง วิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นวิกิพีเดียภาษาที่มีบทความมากที่สุด กว่า 4 ล้านบทความ ตามข้อมูลของอเล็กซา ซับโดเมนรุ่นภาษาอังกฤษนั้นมีสัดส่วนการเข้าชมคิดเป็นอย่างน้อย 54% ของวิกิพีเดียทุกภาษา โดยที่เหลือนั้นแบ่งเป็นวิกิพีเดียภาษาอื่น ๆ (ภาษาญี่ปุ่น 10%, ภาษาเยอรมัน 8%, ภาษาสเปน 5%, ฯลฯ) [4]

เนื่องจากผู้ใช้ทั่วโลกร่วมกันสร้างวิกิพีเดียผ่านทางเว็บไซต์ ดังนั้น แม้แต่ในวิกิพีเดียภาษาเดียวกันจึงอาจเกิดปัญหาการใช้ภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยปรากฏในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างด้านตัวสะกดในภาษาถิ่นสำเนียงอังกฤษบริติชและอังกฤษอเมริกัน (ตัวอย่างเช่น colour และ color) รวมไปถึงเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นจากมุมมองที่ต่างกัน และถึงแม้ว่าวิกิพีเดียหลายภาษาจะยึดตามหลักนโยบายสากล อย่างเช่น "มุมมองเป็นกลาง" แต่ก็อาจยึดหลักแตกต่างกันในนโยบายและการปฏิบัติในบางข้อ ที่สำคัญคือ ภาพที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเสรีจะถูกใช้โดยอ้างว่าเป็นการใช้โดยชอบธรรมได้หรือไม่[127]

อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิกิพีเดียในแต่ละภาษามีการบริหารไม่ขึ้นต่อกัน ทางมูลนิธิได้มีการตั้งเว็บไซต์เมต้าวิกิใช้เป็นศูนย์กลางการประสานงานของวิกิพีเดียแต่ละภาษา เช่นการให้บริการข้อมูลด้านสถิติ แสดงรายชื่อบทความพื้นฐานที่วิกิพีเดียแต่ละรุ่นภาษาควรมี ซึ่งรายการดังกล่าวครอบคลุมเนื้อหาพื้นฐานแบ่งตามหัวเรื่อง อันประกอบด้วย ชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาหารและเครื่องดื่ม และคณิตศาสตร์ ส่วนที่เหลือนั้น มักปรากฏบ่อยครั้งว่าบทความที่เกี่ยวข้องกับรุ่นภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะจะไม่ปรากฏในวิกิพีเดียภาษาอื่น อาทิ บทความเกี่ยวกับเมืองเล็ก ๆ ในสหรัฐจะพบได้เฉพาะในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเท่านั้น เช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนตำบลในประเทศไทยที่จะพบในวิกิพีเดียภาษาไทยเท่านั้น

บทความแปลยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยในวิกิพีเดียหลายรุ่นภาษา เนื่องจากไม่อนุญาตให้แปลบทความอัตโนมัติทั้งหมด ส่วนการเชื่อมโยงบทความในแต่ละภาษาเข้าด้วยกันผ่านทางลิงก์ที่เรียกว่า "อินเตอร์วิกิ" ซึ่งเป็นบทความที่มีในวิกิพีเดียมากกว่าหนึ่งรุ่นภาษาขึ้นไป

การดำเนินการ

มูลนิธิวิกิมีเดียและสาขาวิกิมีเดีย

วิกิพีเดียดำเนินการและได้รับสนับสนุนเงินทุนโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งยังได้ดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับวิกิพีเดียอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ วิกิพจนานุกรมและวิกิตำรา สาขาวิกิมีเดีย สมาคมผู้ใช้และผู้สนับสนุนโครงการวิกิมีเดียท้องถิ่น ยังได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการอีกด้วย

ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ของวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียทำงานด้วยแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์พิเศษที่มีชื่อว่า มีเดียวิกิ ที่เป็นลักษณะโอเพนซอร์ซและซอฟต์แวร์เสรีแบบพิเศษ ทำงานผ่านการบริหารเว็บไซต์ที่เรียกว่าวิกิ ตัวซอฟต์แวร์เขียนขึ้นด้วยภาษาพีเอชพีที่ทำงานร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล[128] ตัวซอฟต์แวร์รวมคุณลักษณะด้านการเขียนโปรแกรมหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น ภาษาแมโคร ตัวแปร และการรีไดเร็กยูอาร์แอล มีเดียวิกิอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตสาธารณะทั่วไปของกนูและใช้ในโครงการวิกิมีเดียทั้งหมด เช่นเดียวกับโครงการวิกิอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรก วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อยูสม็อดวิกิที่เขียนขึ้นในภาษาเพิร์ล โดยคลิฟฟอร์ด อดัมส์ (ระยะที่ 1) ซึ่งเดิมต้องใช้คาเมลเคสในการสร้างไฮเปอร์ลิงก์บทความ ส่วนลิงก์บทความที่เป็นวงเล็บคู่เข้ามาในภายหลัง จนกระทั่งเดือนมกราคม 2545 (ระยะที่ 2) วิกิพีเดียเปลี่ยนมาใช้เอนจินพีเอชพีวิกิร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล ซึ่งซอฟต์แวร์นี้สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับวิกิพีเดียโดยแมกนัส มันสเก ซอฟต์แวร์ระยะที่ 2 นี้ถูกดัดแปรบ่อยครั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน (ระยะที่ 3) วิกิพีเดียได้เปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ ซึ่งเดิมเขียนขึ้นโดยลี แดเนียล คร็อกเกอร์ ส่วนขยายวิกิจำนวนมากถูกติดตั้ง[129] เพื่อเพิ่มระดับขีดความสามารถของซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ส่วนขยายลูซีนถูกเพิ่มเข้าไปในการค้นหาเดิมของมีเดียวิกิ[130][131] และวิกิพีเดียเปลี่ยนจากมายเอสคิวแอลเป็นลูซีนสำหรับการค้นหา ปัจจุบันวิกิพีเดียใช้ลูซีนเสิร์ช 2.1[132] ซึ่งเขียนขึ้นด้วยภาษาจาวา และดำเนินการบนลูซีนไลบรารี 2.3[133]

วิกิพีเดียทำงานบนคลัสเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอูบุนตู) [134][135] และเครื่องโอเพนโซลาริสจำนวนหนึ่งสำหรับระบบแฟ้มเซตตะไบต์ ในช่วงระยะแรกวิกิพีเดียเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์เดี่ยวจนกระทั่งได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมมัลติไทเออร์ และจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 300 แห่งในฟลอริดา และ 44 แห่งในอัมสเตอร์ดัม[136] โครงแบบนี้รวมไปถึงเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลหลักหนึ่งเครื่องที่ทำงานโดยใช้มายเอสคิวแอล เซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลรองอีกหลายเครื่อง เว็บเซิร์ฟเวอร์ 21 เครื่องซึ่งทำงานบนอะแพชี เว็บเซิร์ฟเวอร์ และเซิร์ฟเวอร์สควิดแคชอีก 7 เครื่อง

วิกิพีเดียมีการเรียกใช้งานประมาณ 25,000 ถึง 60,000 หน้าต่อวินาที ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของแต่ละวัน[137] การเรียกใช้หน้านั้นจะถูกส่งไปยังชั้นฟรอนต์เอนด์ของเซิร์ฟเวอร์สควิดแคช[138] สถิติเพิ่มเติมนั้นจะสามารถเข้าถึงได้โดยขึ้นอยู่กับการติดตามเข้าถึงวิกิพีเดีย 3 เดือนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ[139] การเรียกใช้งานที่ไม่สามารถดึงข้อมูลมาจากสควิดแคชได้ จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์โหลดสมดุลซึ่งทำงานบนซอฟต์แวร์ลีนุกซ์เวอชวลเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะส่งการเรียกใช้ต่อไปยังหนึ่งในเว็บเซิร์ฟเวอร์อะแพชีสำหรับหน้าที่ถูกแสดงจากฐานข้อมูล เว็บเซิร์ฟเวอร์จะส่งหน้าตามที่ถูกเรียกใช้นั้น แสดงหน้าสำหรับทุกรุ่นภาษาของวิกิพีเดีย และเพื่อเพิ่มความเร็วให้สูงขึ้น หน้าต่าง ๆ จะถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำแคชแบบกระจายจนกว่าจะใช้งานไม่ได้ ซึ่งทำให้หน้าที่กำลังแสดงนั้นถูกข้ามไปทั้งหมด เป็นการเข้าถึงหน้าที่สามารถเข้าถึงได้มากที่สุด คลัสเตอร์ขนาดใหญ่กว่าสองแห่งในเนเธอร์แลนด์และเกาหลี จัดการกับการเข้าชมวิกิพีเดียส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

รุ่นโทรศัพท์เคลื่อนที่

เดิมสื่อกลางของวิกิพีเดียที่จะให้ผู้ใช้อ่านและแก้ไขเนื้อหานั้นจะต้องใช้เว็บเบราว์เซอร์มาตรฐานใด ๆ ผ่านการติดต่ออินเทอร์เน็ตตายตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิกิพีเดียสามารถเข้าถึงได้จากโมบายล์เว็บแล้ว

การเข้าถึงวิกิพีเดียจากมือถือสามารถกระทำได้นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 ผ่านไวร์เลสแอปพลิเคชันโพรโทคอล (WAP) ผ่านบริการวาพีเดีย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 วิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้เปิดตัว en.mobile.wikipedia.org เก็บถาวร 2009-01-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อย่างเป็นทางการสำหรับอุปกรณ์ไร้สาย เมื่อปี พ.ศ. 2552 บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ[140] ที่ยูอาร์แอล en.m.wikipedia.org ซึ่งอำนวยความสะดวกแก่อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทันสมัยขึ้น อย่างเช่น ไอโฟน อุปกรณ์แอนดรอยด์ หรือปาล์มพรี นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่จะเข้าถึงวิกิพีเดียได้โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์และแอปพลิเคชันหลายอย่างได้ปรับปรุงการแสดงผลเนื้อหาวิกิพีเดียสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ ขณะที่บางอย่างยังได้เพิ่มคุณลักษณะอื่นเข้าไปด้วย อย่างเช่น การใช้เมทาเดตาวิกิพีเดีย อย่างเช่น ภูมิสารสนเทศ[141][142]

ผลกระทบ

ความสำคัญทางวัฒนธรรม

นอกจากวิกิพีเดียจะมีจำนวนบทความเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว วิกิพีเดียยังได้รับสถานะเป็นเว็บไซต์อ้างอิงทั่วไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2544[143] ตามข้อมูลของอเล็กซาและคอมสกอร์ วิกิพีเดียเป็นหนึ่งในสิบเว็บไซต์ที่มีการเข้าชมมากที่สุดทั่วโลก[5][144] การเติบโตของวิกิพีเดียนั้นเป็นผลมาจากการปรากฏเป็นผลการค้นหาลำดับแรกในกูเกิล[145] ราว 50% ของการเยี่ยมชมวิกิพีเดียจากเสิร์ชเอนจินมาจากกูเกิล[146] และมีสัดส่วนค่อนข้างมากที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางวิชาการ[147] จำนวนผู้อ่านวิกิพีเดียทั่วโลกแตะระดับ 365 ล้านคนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2552[6] โครงการอินเทอร์เน็ตพิวและอเมริกันไลฟ์พบว่าราวหนึ่งในสามของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐปรึกษาวิกิพีเดีย[148] เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ประมาณการว่าวิกิพีเดียมีมูลค่าการตลาด 580 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หากปล่อยให้มีการโฆษณาบนเว็บ[149]

เนื้อหาวิกิพีเดียยังได้ถูกใช้ในการศึกษาวิชาการ หนังสือ การประชุมและคดีความในศาล[150][151] เว็บไซต์ของรัฐสภาแคนาดาอ้างถึงบทความวิกิพีเดียเกี่ยวกับการแต่งงานของคู่สมรสเพศเดียวกันในส่วน "ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง" ของรายการ "อ่านเพิ่มเติม" ในพระราชบัญญัติการสมรส[152] วิกิพีเดียถูกนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลมากขึ้นโดยองค์กร อย่างเช่น ศาลกลางสหรัฐและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก[153] ถึงแม้ว่ามักจะใช้กับข้อมูลสนับสนุนมากกว่าข้อมูลในส่วนสำคัญก็ตาม[154] เนื้อหาที่ปรากฏในวิกิพีเดียยังถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลและมีการอ้างอิงในรายงานของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐบางฉบับอีกด้วย[155] เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 วารสารทางวิทยาศาสตร์ อาร์เอ็นเอไบโอโลจี ได้เริ่มส่วนใหม่เพื่ออธิบายรายละเอียดของครอบครัวโมเลกุลอาร์เอ็นเอ และกำหนดให้ผู้เขียนในส่วนนี้ส่งบทความฉบับร่างก่อนจะตีพิมพ์บนวิกิพีเดีย[156]

วิกิพีเดียยังได้ถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลในแวดวงวารสารศาสตร์ด้วย[157][158] โดยไม่ได้แสดงแหล่งที่มาบ่อยครั้ง และมีผู้สื่อข่าวหลายคนถูกปลดออกจากงานเนื่องจากโจรกรรมผลงานจากวิกิพีเดีย[159][160][161]

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 นักการเมืองอิตาลี ฟรันโก กริลลินี ได้ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและกิจกรรมวัฒนธรรม ถึงความจำเป็นของเสรีภาพทางสถาปัตยกรรม เขาว่า การขาดเสรีภาพดังกล่าวบีบมิให้วิกิพีเดียแสดงภาพสิ่งก่อสร้างและผลงานศิลปะอิตาลีสมัยใหม่ทั้งหมด และอ้างว่านี่เป็นการทำลายรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง[162]

หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานว่า วิกิพีเดียเป็นจุดรวมความสนใจในระหว่างการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 2008[163] บทความของรอยเตอร์ชิ้นหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 รายงานปรากฏการณ์ล่าสุดที่ว่าบทความวิกิพีเดียชี้ความโดดเด่นของบุคคลได้[164]

รางวัล

วิกิพีเดียได้รับสองรางวัลใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547[165] รางวัลแรกเป็นรางวัลโกลเดนนิกาสำหรับประชาคมดิจิตอลจากการประกวดปรีซ์อาร์สอิเล็กโทรนิกา เป็นเงินรางวัลมูลค่า 10,000 ยูโร และได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลพีเออีไซเบอร์อาร์ตสในออสเตรีย ปีเดียวกัน รางวัลที่สองเป็นรางวัลเว็บบีจากการตัดสินของคณะกรรมการในหมวดหมู่ "ประชาคม"[166] เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 วิกิพีเดียยังได้รับรางวัลอันดับแบรนด์สูงสุดอันดับที่สี่โดยผู้อ่าน brandchannel.com โดยได้รับผลโหวต 15% สำหรับคำถามที่ว่า "แบรนด์ใดมีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากที่สุดในปี พ.ศ. 2549"[167] และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 วิกิพีเดียได้รับรางวัล "งานเพื่อการให้ความรู้" ของควอดริกา[168]

โครงการอื่น

มีสารานุกรมมัลติมีเดียเชิงโต้ตอบที่สาธารณะเป็นผู้เขียนเนื้อหาหลายโครงการเกิดขึ้นก่อนหน้าวิกิพีเดียจะถูกก่อตั้งขึ้น สารานุกรมประเภทนี้โครงการแรกคือ โครงการดูมส์เดย์บีบีซี พ.ศ. 2529 ซึ่งรวบรวมข้อความและภาพถ่ายจากผู้ร่วมพัฒนามากกว่า 1 ล้านคนในสหราชอาณาจักร และครอบคลุมเนื้อหาประเภทภูมิศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร นี่เป็นสารานุกรมมัลติมีเดียเชิงโต้ตอบโครงการแรก และยังเป็นเอกสารมัลติมีเดียสำคัญชิ้นแรกที่เชื่อมโยงด้วยลิงก์ภายใน โดยบทความส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ผ่านแผนที่เชิงโต้ตอบในสหราชอาณาจักร อินเตอร์เฟซผู้ใช้และเนื้อหาโครงการดูมส์เดย์บางส่วนถูกลอกขึ้นสู่เว็บไซต์จนถึงปี พ.ศ. 2551[169] หนึ่งในสารานุกรมออนไลน์ยุคเริ่มแรก ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวบรวมเนื้อหาที่สาธารณะเป็นผู้เขียนขึ้น ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ h2g2 ที่ดักลาส อดัมส์เป็นผู้สร้างขึ้น และดำเนินงานโดยบีบีซี โครงการ h2g2 ค่อนข้างไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์มากนัก โดยเน้นบทความที่ให้ความรู้และข้อมูล ทั้งสองโครงการนี้มีความคล้ายคลึงกับวิกิพีเดีย แต่ยังไม่มีโครงการใดที่ให้โอกาสด้านการแก้ไขแก่ผู้ใช้สาธารณะอย่างเต็มที่ โครงการไม่ใช่วิกิที่คล้ายกัน โครงการกนูพีเดีย ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับนูพีเดียในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถอนตัวออกไปและผู้สร้างโครงการ ริชาร์ด สตอลล์แมน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่วิกิพีเดียแทน[21]

มูลนิธิวิกิพีเดียยังได้จัดตั้งโครงการอื่นที่ใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันนอกเหนือไปจากการจัดทำสารานุกรม โดยมีโครงการแรกสุดคือ "In Memoriam: September 11 Wiki" ที่เริ่มสร้างเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 โครงการวิกิพจนานุกรมที่ยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะจัดการข้อมูลในลักษณะพจนานุกรม เริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 ตามมาด้วยโครงการวิกิคำคม ที่เป็นการรวบรวมคำคมของบุคคลต่าง ๆ ถูกตั้งขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากวิกิมีเดียก่อตั้งขึ้น และวิกิตำรา แหล่งรวบรวมหนังสือเรียนเสรีและข้อความอธิบายประกอบที่ร่วมกันเขียนขึ้น หลังจากนั้น วิกิมีเดียได้เริ่มต้นโครงการอื่นอีกหลายโครงการ รวมทั้งวิกิวิทยาลัย โครงการสำหรับสร้างสื่อการเรียนรู้เสรีและการจัดหากิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ แต่ไม่มีโครงการพี่น้องอื่นใดจะมีความสำเร็จเทียบได้กับวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียหลายภาษายังได้จัดให้มีโต๊ะบริการอ้างอิง ที่ซึ่งอาสาสมัครจะตอบคำถามของสาธารณชน ตามผลการศึกษาในวารสารเอกสารการวิจัย คุณภาพของโต๊ะบริการอ้างอิงของวิกิพีเดียสามารถเทียบได้กับโต๊ะบริการอ้างอิงของห้องสมุดมาตรฐาน โดยมีความถูกต้องของข้อมูล 55%[170]

มีเว็บไซต์อื่นอีกหลายเว็บไซต์ที่มุ่งพัฒนาฐานความรู้แบบร่วมมือทั้งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิกิพีเดียหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่วิกิพีเดีย โครงการสารานุกรมบางโครงการไม่มีกระบวนการตรวจทานเนื้อหาอย่างเป็นทางการคล้ายกับวิกิพีเดีย ขณะที่บางโครงการใช้ระบบการทบทวนที่คล้ายกับสารานุกรมดั้งเดิม สารานุกรมออนไลน์ที่ทำงานบนวิกิ ซิติเซนเดียม เริ่มต้นจากผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย แลร์รี แซงเจอร์ ในความพยายามที่จะสร้างวิกิพีเดียที่ "เป็นมิตรต่อผู้เชี่ยวชาญ"[171][172][173] ตัวอย่างโครงการสารานุกรมออนไลน์อื่น เช่น ไป่ตู้ไป่เคอ หรือคลังปัญญาไทย

หมายเหตุ

  1. งานบางอย่างจำเป็นต้องลงทะเบียน เช่น การแก้ไขหน้าที่ป้องกัน การสร้างหน้าในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ และการอัปโหลดไฟล์
  2. ผู้ใช้ต้องแก้ไขหรือดำเนินการอื่น ๆ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในเดือนที่กำหนดจึงจะถือว่าใช้งาน

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Jonathan Sidener (2004-12-06). "Everyone's Encyclopedia". The San Diego Union-Tribune. สืบค้นเมื่อ 2006-10-15.
  2. Chapman, Roger (September 6, 2011). "Top 40 Website Programming Languages". rogchap.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 22, 2013. สืบค้นเมื่อ September 6, 2011.
  3. "'Technology can topple tyrants': Jimmy Wales an eternal optimist". Sydney Morning Herald, November 7, 2011. Retrieved November 19, 2011.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Five-year Traffic Statistics for Wikipedia.org". Alexa Internet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-24. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
  5. 5.0 5.1 "Top 500". Alexa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2009-10-13.
  6. 6.0 6.1 Wikipedia's Evolving Impact เก็บถาวร 2016-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, by Stuart West, slideshow presentation at TED2010
  7. Walk, Hunter (2011-02-05). "Please Read: A Personal Appeal TO Wikipedia Founder Jimmy Wales". TechCrunch.com. สืบค้นเมื่อ 2011-09-24.
  8. Mike Miliard (2008-03-01). "Wikipediots: Who Are These Devoted, Even Obsessive Contributors to Wikipedia?". Salt Lake City Weekly. สืบค้นเมื่อ 2008-12-18.
  9. Grossman, Lev (December 13, 2006). "Time's Person of the Year: You". Time. สืบค้นเมื่อ December 26, 2008.
  10. Jonathan Dee (2007-07-01). "All the News That's Fit to Print Out". The New York Times Magazine. สืบค้นเมื่อ 2007-12-01.
  11. Andrew Lih (2004-04-16). "Wikipedia as Participatory Journalism: Reliable Sources? Metrics for Evaluating Collaborative Media as a News Resource" (PDF). 5th International Symposium on Online Journalism. University of Texas at Austin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 2007-10-13.
  12. Witzleb, Normann (2009). "Engaging with the World: Students of Comparative Law Write for Wikipedia". 19 (1 and 2). Legal Education Review: 83–98. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  13. 13.0 13.1 Larry Sanger, Why Wikipedia Must Jettison Its Anti-Elitism, Kuro5hin, December 31, 2004.
  14. 14.0 14.1 Danah Boyd (2005-01-04). "Academia and Wikipedia". Many 2 Many: A Group Weblog on Social Software. Corante. สืบค้นเมื่อ 2008-12-18.
  15. 15.0 15.1 Simon Waldman (2004-10-26). "Who knows?". Guardian.co.uk. London. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
  16. 16.0 16.1 Ahrens, Frank (2006-07-09). "Death by Wikipedia: The Kenneth Lay Chronicles". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2006-11-01.
  17. 17.0 17.1 Fernanda B. Viégas, Martin Wattenberg, and Kushal Dave (2004). "Studying Cooperation and Conflict between Authors with History Flow Visualizations" (PDF). Proceedings of the ACM Conference on Human Factors in Computing Systems (CHI). Vienna, Austria: ACM SIGCHI: 575–582. doi:10.1145/985921.985953. ISBN 1-58113-702-8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2007-01-24.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 18.2 Reid Priedhorsky, Jilin Chen, Shyong (Tony) K. Lam, Katherine Panciera, Loren Terveen, and John Riedl (GroupLens Research, Department of Computer Science and Engineering, University of Minnesota) (2007-11-04). "Creating, Destroying, and Restoring Value in Wikipedia" (PDF). Association for Computing Machinery GROUP '07 conference proceedings. Sanibel Island, Florida. สืบค้นเมื่อ 2007-10-13.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 19.2 Giles, Jim (December 2005). "Internet encyclopedias go head to head". Nature. 438 (7070): 900–901. Bibcode:2005Natur.438..900G. doi:10.1038/438900a. PMID 16355180. (ต้องรับบริการ) Note: The study was cited in several news articles; e.g.:
  20. Wikimedia Foundation Moving To San Francisco ข่าวจากไวรด์
  21. 21.0 21.1 Richard M. Stallman (2007-06-20). "The Free Encyclopedia Project". Free Software Foundation. สืบค้นเมื่อ 2008-01-04.
  22. Meyers, Peter (2001-09-20). "Fact-Driven? Collegial? This Site Wants You". New York Times. The New York Times Company. สืบค้นเมื่อ 2007-11-22.
  23. 23.0 23.1 23.2 Sanger, Larry (April 18, 2005). "The Early History of Nupedia and Wikipedia: A Memoir". Slashdot. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  24. Sanger, Larry (January 17, 2001). "Wikipedia Is Up!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 6, 2001. สืบค้นเมื่อ December 26, 2008.
  25. "Wikipedia-l: LinkBacks?". สืบค้นเมื่อ 2007-02-20.
  26. Sanger, Larry (2001-01-10). "Let's Make a Wiki". Internet Archive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-04-14. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  27. "Wikipedia: HomePage". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-03-31. สืบค้นเมื่อ 2001-03-31.
  28. "Multilingual statistics". Wikipedia. March 30, 2005. สืบค้นเมื่อ December 26, 2008.
  29. "Encyclopedias and Dictionaries". Encyclopædia Britannica, 15th ed. Vol. 18. Encyclopædia Britannica. 2007. pp. 257–286.
  30. "[long] Enciclopedia Libre: msg#00008". Osdir. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-06. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  31. Clay Shirky (February 28, 2008). Here Comes Everybody: The Power of Organizing Without Organizations. The Penguin Press via Amazon Online Reader. p. 273. ISBN 1-594201-53-6. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  32. "BBC News". BBC News. 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  33. Bobbie Johnson (2009-08-12). "Wikipedia approaches its limits". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 2010-03-31.
  34. The Singularity is Not Near: Slowing Growth of Wikipedia (PDF). the International Symposium on Wikis. Orlando, Florida. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2011-01-18.
  35. Evgeny Morozov. "Edit This Page; Is it the end of Wikipedia". Boston review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-13. สืบค้นเมื่อ 2011-01-18.
  36. New York Times
  37. Jenny Kleeman (2009-11-26). "Wikipedia falling victim to a war of words". London: Guardian. สืบค้นเมื่อ 2010-03-31.
  38. "Wikipedia: A quantitative analysis". Libresoft. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ April 3, 2012.
  39. Volunteers Log Off as Wikipedia Ages, The Wall Street Journal, November 27, 2009.
  40. Barnett, Emma (November 26, 2009). "Wikipedia's Jimmy Wales denies site is 'losing' thousands of volunteer editors". London: Telegraph. สืบค้นเมื่อ March 31, 2010.
  41. "UX and Usability Study". Usability.wikimedia.org. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  42. "Wikipedia introduces edit mechanism for divisive pages", Jonathan Frewin, BBC, June 15, 2010
  43. 43.0 43.1 43.2 Kleinz, Torsten (กุมภาพันธ์ 2005). "World of Knowledge" (PDF). Linux Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ กันยายน 25, 2007. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 13, 2007. The Wikipedia's open structure makes it a target for trolls and vandals who malevolently add incorrect information to articles, get other people tied up in endless discussions, and generally do everything to draw attention to themselves.
  44. Viégas, Fernanda B.; Wattenberg, Martin M.; Kriss, Jesse; van Ham, Frank (January 3, 2007). "Talk Before You Type: Coordination in Wikipedia" (PDF). Visual Communication Lab, IBM Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 5, 2007. สืบค้นเมื่อ June 27, 2008.
  45. "First Monday". First Monday. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  46. Poderi, Giacomo, Wikipedia and the Featured Articles: How a Technological System Can Produce Best Quality Articles, (Master thesis), University of Maastricht, October 2008,
  47. "Who's behind Wikipedia?". PC World. 2008-02-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-09. สืบค้นเมื่อ 2008-02-07.
  48. Eric Haas (2007-10-26). "Will Unethical Editing Destroy Wikipedia's Credibility?". AlterNet.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-21. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  49. Hoffman, David A.; Mehra, Salil K. (2009). "Wikitruth through Wikiorder" (PDF). 59 (1). Emory Law Journal: 151–210. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  50. "Wikimedia community approves license migration". Wikimedia Foundation. Wikimedia Foundation. สืบค้นเมื่อ 2009-05-21.
  51. Walter Vermeir (2007). "Resolution:License update". Wikizine. สืบค้นเมื่อ 2007-12-04.
  52. "Licensing_update/Timeline". Wikimedia Meta. Wikimedia Foundation. สืบค้นเมื่อ 2009-04-05.
  53. 53.0 53.1 Wikimedia.org
  54. Wikipedia to Add Meaning to Its Pages เก็บถาวร 2010-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Tom Simonite, Technology Review, July 7, 2010
  55. "Wikipedia on DVD เก็บถาวร 2013-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Linterweb. Accessed June 1, 2007. "Linterweb is authorized to make a commercial use of the Wikipedia trademark restricted to the selling of the Encyclopedia CDs and DVDs."
  56. "Wikipedia 0.5 Available on a CD-ROM เก็บถาวร 2013-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Wikipedia on DVD. Linterweb. Accessed June 1, 2007. "The DVD or CD-ROM version 0.5 was commercially available for purchase."
  57. "Polish Wikipedia on DVD". สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  58. ดีวีดีวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน
  59. วิกิพีเดียสำหรับไอพอด
  60. "Wikipedia turned into book". Telegraph.co.uk. London: Telegraph Media Group. 2009-06-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-09. สืบค้นเมื่อ 2009-09-08.
  61. Wikipedia Selection for Schools เก็บถาวร 2012-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 8 September 2009.
  62. Thiel, Thomas (2010-09-27). "Wikipedia und Amazon: Der Marketplace soll es richten". Faz.net (ภาษาเยอรมัน). Frankfurter Allgemeine Zeitung. สืบค้นเมื่อ 2010-12-06.
  63. "Caslon.com". Caslon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  64. Robert McHenry (2004-11-15). "The Faith-Based Encyclopedia". TCS Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-08. สืบค้นเมื่อ 2009-09-10.
  65. 65.0 65.1 Seigenthaler, John (2005-11-29). "A False Wikipedia 'biography'". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  66. Thomas L. Friedman The World is Flat, p. 124, Farrar, Straus & Giroux, 2007 ISBN 978-0-374-29278-2
  67. Buchanan, Brian (November 17, 2006). "Founder shares cautionary tale of libel in cyberspace". archive.firstamendmentcenter.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 21, 2012. สืบค้นเมื่อ November 17, 2012.
  68. "Toward a New Compendium of Knowledge (longer version)". Citizendium.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-11. สืบค้นเมื่อ 2006-10-10.
  69. Kane, Margaret (2006-01-30). "Politicians notice Wikipedia". CNET. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-03. สืบค้นเมื่อ 2007-01-28.
  70. Bergstein, Brian (2007-01-23). "Microsoft offers cash for Wikipedia edit". MSNBC. สืบค้นเมื่อ 2007-02-01.
  71. Stephen Colbert (2006-07-30). "Wikiality". Comedycentral.com. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  72. Hafner, Katie (2007-08-19). "Seeing Corporate Fingerprints From the Editing of Wikipedia". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  73. 73.0 73.1 Kittur, A., Chi, E. H., and Suh, B. 2009. What’s in Wikipedia? Mapping Topics and Conflict Using Socially Annotated Category Structure In Proceedings of the 27th international Conference on Human Factors in Computing Systems (Boston, MA, USA, April 04 – 09, 2009). CHI '09. ACM, New York, NY, 1509–1512.
  74. Sophie Taylor (2008-04-05). "China allows access to English Wikipedia". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
  75. "Mapping the Geographies of Wikipedia Content". Mark Graham Oxford Internet Institute. ZeroGeography. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-08. สืบค้นเมื่อ 2009-11-16.
  76. "The battle for Wikipedia's soul". The Economist. 2008-03-06. สืบค้นเมื่อ 2008-03-07.
  77. Douglas, Ian (2007-11-10). "Wikipedia: an online encyclopedia torn apart". London: Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
  78. 78.0 78.1 78.2 Roy Rosenzweig (June 2006). "Can History be Open Source? Wikipedia and the Future of the Past". The Journal of American History. 93 (1): 117–146. doi:10.2307/4486062. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-25. สืบค้นเมื่อ 2006-08-11. (Center for History and New Media)
  79. Andrew Orlowski (2005-10-18). "Wikipedia founder admits to serious quality problems". The Register. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
  80. "Wikipedia cancer information accurate". UPI. 4 June 2010. สืบค้นเมื่อ 31 December 2010.
  81. "Fact or fiction? Wikipedia's variety of contributors is not only a strength". The Economist. 10 March 2007. สืบค้นเมื่อ 31 December 2010.
  82. Public Information Research, Wikipedia Watch
  83. Raphel, JR. "The 15 Biggest Wikipedia Blunders". PC World. สืบค้นเมื่อ 2009-09-02.
  84. Stacy Schiff, Know It All, The New Yorker, 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
  85. Robert McHenry, "The Faith-Based Encyclopedia เก็บถาวร 2006-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, " Tech Central Station, November 15, 2004.
  86. "Wide World of Wikipedia". The Emory Wheel. April 21, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 7, 2007. สืบค้นเมื่อ October 17, 2007.
  87. Scott Jaschik, A Stand Against Wikipedia เก็บถาวร 2019-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Inside Higher Ed, 26 มกราคม 2550, เรียกดู 27 มกราคม 2550
  88. Burt Helm, Wikipedia: "A Work in Progress", BusinessWeek, 14 ธันวาคม พ.ศ. 2548, เรียกดู 29 มกราคม 2550
  89. Fatally Flawed: Refuting the recent study on encyclopedic accuracy by the journal Nature Encyclopædia Britannica, Inc., March 2006
  90. "Encyclopaedia Britannica and Nature: a response" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  91. Tyler Cowen (2008-03-14). "Cooked Books". The New Republic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-18. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  92. Child, Maxwell L., "Professors Split on Wiki Debate" เก็บถาวร 2008-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Harvard Crimson, Monday, February 26, 2007.
  93. 93.0 93.1 Chloe Stothart, Web threatens learning ethos, The Times Higher Education Supplement, 2007, 1799 (June 22), page 2
  94. "Wikipedia attacked over porn pages". Livenews.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ 2010-03-31.
  95. Metz, Cade (7 December 2008). "Brit ISPs censor Wikipedia over 'child porn' album cover". The Register. สืบค้นเมื่อ 10 May 2009.
  96. Raphael, JR (December 10, 2008). "Wikipedia Censorship Sparks Free Speech Debate". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ May 10, 2009.
  97. Farrell, Nick (April 29, 2010). "Wikipedia denies child abuse allegations: Co-founder grassed the outfit to the FBI". The Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-01. สืบค้นเมื่อ 9 October 2010.
  98. 98.0 98.1 Metz, Cade (April 9, 2010). "Wikifounder reports Wikiparent to FBI over 'child porn'". The Register. สืบค้นเมื่อ April 19, 2010.
  99. "Wikipedia blasts co-founder's accusations of child porn on website". The Economic Times. April 29, 2010. สืบค้นเมื่อ 29 April 2010.
  100. 100.0 100.1 "Wikipedia blasts talk of child porn at website". AFP. April 28, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-02. สืบค้นเมื่อ 29 April 2010.
  101. "Wikimedia pornography row deepens as Wales cedes rights". BBC News. May 10, 2010. สืบค้นเมื่อ May 19, 2010.
  102. See "Libel" เก็บถาวร 2005-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by David McHam for the legal distinction
  103. Wikipedia's Hive Mind Administration, November 9, 2005 (copy of original text at Google Blogoscoped)
  104. "Wikipedia Becomes Internet Force, Faces Crisis". Agence France-Presse. 2005-12-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.
  105. Heise Online: "Court overturns temporary restraining order against Wikimedia Deutschland เก็บถาวร 2007-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, by Torsten Kleinz, 9 February 2006.
  106. Arthur, Charles (2005-12-15). "Log on and join in, but beware the web cults". London: Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  107. Lu Stout, Kristie (2003-08-04). "Wikipedia: The know-it-all Web site". CNN. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  108. Schiff, Stacy (2006-07-24). "Can Wikipedia conquer expertise?". Know It All. The New Yorker. สืบค้นเมื่อ 2007-03-25.
  109. Hafner, Kate (2006-06-17). "Growing Wikipedia Refines Its 'Anyone Can Edit' Policy". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-07-12.
  110. Corner, Stuart (2006-06-18). "What's all the fuss about Wikipedia?". iT Wire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-25.
  111. Wilson, Chris (2008-02-22). "The Wisdom of the Chaperones". Slate. สืบค้นเมื่อ 2008-03-04.
  112. Mehegan, David (2006-02-13). "Many contributors, common cause". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2007-03-25.
  113. Jean Goodwin (2009). "The Authority of Wikipedia" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-22. สืบค้นเมื่อ 2011-01-31. Wikipedia's commitment to anonymity/pseudonymity thus imposes a sort of epistemic agnosticism on its readers
  114. Kittur, Aniket. "Power of the Few vs. Wisdom of the Crowd: Wikipedia and the Rise of the Bourgeoisie" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2008-02-23.
  115. Swartz, Aaron (2006-09-04). "Raw Thought: Who Writes Wikipedia?". สืบค้นเมื่อ 2008-02-23.
  116. "Wikipedia "Good Samaritans Are on the Money". Scientific American. 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  117. Andrea Ciffolilli, "Phantom authority, self-selective recruitment and retention of members in virtual communities: The case of Wikipedia เก็บถาวร 2009-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, " First Monday December 2003.
  118. Zittrain, Jonathan (2008). The Future of the Internet and How to Stop It — Chapter 6: The Lessons of Wikipedia. Yale University Press. ISBN 978-0300124873. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-16. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  119. Yair Amichai–Hamburger, Naama Lamdan, Rinat Madiel, Tsahi Hayat Personality Characteristics of Wikipedia Members เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ archive.today CyberPsychology & Behavior December 1, 2008, 11 (6) : 679–681. doi:10.1089/cpb.2007.0225
  120. "Wikipedians are 'closed' and 'disagreeable'". Newscientist.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.
  121. Jim Giles After the boom, is Wikipedia heading for bust? New Scientist 04 August 2009
  122. Define Gender Gap? Look Up Wikipedia’s Contributor List, New York Times
  123. T Kriplean, I Beschastnikh; และคณะ (2008). "Articulations of wikiwork: uncovering valued work in wikipedia through barnstars". Proceedings of the ACM: 47. doi:10.1145/1460563.1460573. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  124. Panciera, Katherine; และคณะ (2009). "Wikipedians Are Born, Not Made". Association for Computing Machinery, Proceedings of the ACM Conference on Supporting Group Work: 51, 59. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  125. Goldman, Eric. "Wikipedia's Labor Squeeze and its Consequences". 8. Journal on Telecommunications and High Technology Law. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  126. Noveck, Beth Simone. "Wikipedia and the Future of Legal Education". 57. Journal of Legal Education. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  127. Viégas, Fernanda B. (January 3, 2007). "The Visual Side of Wikipedia" (PDF). Visual Communication Lab, IBM Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ October 24, 2006. สืบค้นเมื่อ October 30, 2007.
  128. Mark Bergman. "Wikimedia Architecture" (PDF). Wikimedia Foundation Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  129. "Version: Installed extensions".
  130. Michael Snow. "Lucene search: Internal search function returns to service". Wikimedia Foundation Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-02-26.
  131. Brion Vibber. "[Wikitech-l] Lucene search". สืบค้นเมื่อ 2009-02-26.
  132. "Extension:Lucene-search". Wikimedia Foundation Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-08-31.
  133. "mediawiki — Revision 55688: /branches/lucene-search-2.1/lib". Wikimedia Foundation Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-08-31.
  134. Weiss, Todd R. (2008-10-09). "Wikipedia simplifies IT infrastructure by moving to one Linux vendor". Computerworld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-05. สืบค้นเมื่อ 2008-11-01.
  135. Paul, Ryan (2008-10-09). "Wikipedia adopts Ubuntu for its server infrastructure". Ars Technica. สืบค้นเมื่อ 2008-11-01.
  136. "Server roles at wikitech.wikimedia.org". สืบค้นเมื่อ 2009-12-08.
  137. "สถิติการเรียกใช้งานวิกิพีเดีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-28. สืบค้นเมื่อ 2008-07-30.
  138. Domas Mituzas. "Wikipedia: Site internals, configuration, code examples and management issues" (PDF). MySQL Users Conference 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-28. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  139. Guido Urdaneta, Guillaume Pierre and Maarten van Steen. "Wikipedia Workload Analysis for Decentralized Hosting". Elsevier Computer Networks 53 (11), pp. 1830–1845, June 2009.
  140. "Wikimedia Mobile is Officially Launched". Wikimedia Technical Blog. 2009-06-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-16. สืบค้นเมื่อ 2009-07-22.
  141. "Local Points Of Interest In Wikipedia". 2011-05-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-25. สืบค้นเมื่อ 2011-05-15.
  142. "iPhone Gems: Wikipedia Apps". 2008-11-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-24. สืบค้นเมื่อ 2008-07-22.
  143. "694 Million People Currently Use the Internet Worldwide According To comScore Networks". comScore. 2006-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-30. สืบค้นเมื่อ 2007-12-16.
  144. "comScore Data". December 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-24. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  145. Petrilli, Michael J. (Spring 2008). "Wikipedia or Wickedpedia?". What Next. Education Next. Hoover Institution. 8 (2). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 21, 2016. สืบค้นเมื่อ October 22, 2014.
  146. "Google Traffic To Wikipedia up 166% Year over Year". Hitwise. 2007-02-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-19. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  147. "Wikipedia and Academic Research". Hitwise. 2006-10-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-11. สืบค้นเมื่อ 2008-02-06.
  148. Rainie, Lee; Tancer, Bill (December 15, 2007). "Wikipedia users" (PDF). Pew Internet & American Life Project. Pew Research Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 6, 2008. สืบค้นเมื่อ December 15, 2007. 36% of online American adults consult Wikipedia. It is particularly popular with the well-educated and current college-age students.
  149. Karbasfrooshan, Ashkan (2006-10-26). "What is Wikipedia.org's Valuation?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-01.
  150. "Bourgeois et al. v. Peters et al" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 3, 2007. สืบค้นเมื่อ February 6, 2007.
  151. "Wikipedian Justice" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2009-06-09.
  152. C-38 Government of Canada Site | Site du gouvernement du Canada เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, LEGISINFO (March 28, 2005)
  153. Arias, Martha L. (มกราคม 29, 2007). "Wikipedia: The Free Online Encyclopedia and its Use as Court Source". Internet Business Law Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 20, 2012. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 26, 2008. (The name "World Intellectual Property Office" should however read "World Intellectual Property Organization" in this source.)
  154. Cohen, Noam (January 29, 2007). "Courts Turn to Wikipedia, but Selectively". The New York Times. สืบค้นเมื่อ December 26, 2008.
  155. Aftergood, Steven (2007-03-21). "The Wikipedia Factor in U.S. Intelligence". Federation of American Scientists Project on Government Secrecy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-05. สืบค้นเมื่อ 2007-04-14.
  156. Butler, Declan (December 16, 2008). "Publish in Wikipedia or perish". Nature News. doi:10.1038/news.2008.1312.
  157. Shaw, Donna (February–March 2008). "Wikipedia in the Newsroom". American Journalism Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 5, 2012. สืบค้นเมื่อ February 11, 2008.
  158. Lexington (September 24, 2011). "Classlessness in America: The uses and abuses of an enduring myth". The Economist. สืบค้นเมื่อ September 27, 2011. Socialist Labour Party of America [...] though it can trace its history as far back as 1876, when it was known as the Workingmen's Party, no less an authority than Wikipedia pronounces it "moribund".
  159. Shizuoka newspaper plagiarized Wikipedia article, Japan News Review, July 5, 2007
  160. "Express-News staffer resigns after plagiarism in column is discovered, " San Antonio Express-News, January 9, 2007.
  161. "Inquiry prompts reporter's dismissal, " Honolulu Star-Bulletin, January 13, 2007.
  162. "Comunicato stampa. On. Franco Grillini. Wikipedia. Interrogazione a Rutelli. Con "diritto di panorama" promuovere arte e architettura contemporanea italiana. Rivedere con urgenza legge copyright". 2007-10-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-30. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  163. Jose Antonio Vargas (2007-09-17). "On Wikipedia, Debating 2008 Hopefuls' Every Facet". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  164. Jennifer Ablan (2007-10-22). "Wikipedia page the latest status symbol". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2007-10-24.
  165. "Trophy Box, " Meta-Wiki (March 28, 2005).
  166. "Webby Awards 2004". The International Academy of Digital Arts and Sciences. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-22. สืบค้นเมื่อ 2007-06-19.
  167. Zumpano, Anthony (2007-01-29). "Similar Search Results: Google Wins". Interbrand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-20. สืบค้นเมื่อ 2007-01-28.
  168. "Die Quadriga — Award 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  169. Website discussing the emulator of the Domesday Project User Interface for the data from the Community Disc (contributions from the general public)
  170. "Wikipedia Reference Desk, " fetched 17 February 2010
  171. Frith, Holden (2007-03-26). "Wikipedia founder launches rival online encyclopedia". London: The Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-27. Wikipedia's de facto leader, Jimmy Wales, stood by the site's format. – Holden Frith.
  172. Orlowski, Andrew (2006-09-18). "Wikipedia founder forks Wikipedia, More experts, less fiddling?". The Register. สืบค้นเมื่อ 2007-06-27. Larry Sanger describes the Citizendium project as a "progressive or gradual fork, " with the major difference that experts have the final say over edits. – Andrew Orlowski.
  173. Lyman, Jay (2006-09-20). "Wikipedia Co-Founder Planning New Expert-Authored Site". LinuxInsider. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-24. สืบค้นเมื่อ 2007-06-27.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น