ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยประชากรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
College of Population Studies,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมสถาบันประชากรศาสตร์
สถาปนา23 ธันวาคม พ.ศ. 2509; 58 ปีก่อน (2509-12-23)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักชนก คชานุบาล
ที่อยู่
254 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ ชั้น 3 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เว็บไซต์www.cps.chula.ac.th

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศ ที่เปิดสอนหลักสูตรประชากรศาสตร์ ระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ ยังเปิด "ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์" เพื่อให้บริการด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ ด้านประชากรศาสตร์ให้แก่ผู้สนใจด้วย

ประวัติ

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2501 ม.จ.อธิพรพงศ์ เกษมศรี ผู้อำนวยราชการสถิติ สำนักงานสถิติกลาง ได้ให้การสนับสนุนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อด้านประชากรศาสตร์และกลับมาสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการติดต่อกับสภาประชากรแห่งนครนิวยอร์ก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505 มูลนิธิฟอร์ด ได้ส่งคณะทำงาน ซึ่งมีศาสตราจารย์ฟิลลิป เอ็ม เฮาเซอร์ จาก มหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นหัวหน้าคณะ เสนอให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่หน่วยงานราชการไทย รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางด้านประชากร โดยทางคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่างโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งได้รับทุนดำเนินการเริ่มแรกมาจากสภาประชากรแห่งนครนิวยอร์ก และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่ของ "ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร" เพื่อเริ่มดำเนินงานเป็นทางการ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2513 "ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร" ได้รับการยกฐานะเป็น "สถาบันประชากรศาสตร์" ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแห่งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และสถาบันประชากรศาสตร์ได้รับการยกฐานะอีกครั้งเป็น "วิทยาลัยประชากรศาสตร์" เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาด้านการวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของประเทศ และระดับนานาชาติ

หลักสูตร

[แก้]
  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศาสตร์
  • หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศาสตร์

ประวัติศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์

[แก้]

พ.ศ. 2509 ห้องสมุดมีขึ้นมาพร้อมกับการตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร แต่อยู่ในลักษณะของ หน่วยบริการค้นคว้าเอกสารสิ่งพิมพ์ทางประชากร" ของอาจารย์และนักวิจัย มีที่ตั้งอยู่ในที่ทำการของศูนย์วิจัยฯ ใน "อาคารรัฐศาสตร์ 3" (อาคารเกษม อุทยานิน ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2513 ได้มีการเปลี่ยนจากหน่วยบริการค้นคว้าเอกสารสิ่งพิมพ์มาเป็นห้องสมุดสถาบัน ประชากรศาสตร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ศูนย์วิจัย และฝึกอบรมทางประชากร ได้รับการยกฐานะตามพระราชกฤษฎีกา เป็นสถาบันประชากรศาสตร์

พ.ศ. 2518 ได้ย้ายสถานที่ตั้งห้องสมุดมาที่ อาคารสถาบัน 1 (อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ทำการใหม่ของสถาบันประชากรศาสตร์ในขณะนั้น

พ.ศ. 2529 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ เข้าเป็นสมาชิกข่ายงานสมาคมห้องสมุดเฉพาะทางด้านประชากรในระดับนานาชาติ (Association for Population / Family Planning Libraries and Information Centers–International – APLIC) ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านเอกสารสิ่งพิมพ์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางประชากร

พ.ศ. 2530 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ เข้าเป็นสมาชิกข่ายงานสารสนเทศด้านประชากร และการวางแผนครอบครัวอาเซียนฝ่ายประเทศไทย (ASEAN POPIN: THAILAND) ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย

พ.ศ. 2533 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ได้เข้าร่วมมือประสานงานกับ Center for Communication Programs, Johns Hopkins University ในการให้ข้อมูลจัดทำ ฐานข้อมูล POPLINE (Population Information Online) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางประชากรที่ใหญ่ที่สุดของโลก

พ.ศ. 2534 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ได้รับเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิฮิวเล็ท (Hewlett Foundation) ในการจัดหาทรัพยากรทางห้องสมุด เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี

พ.ศ. 2536 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ และย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่ ชั้น 2 และ ของอาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี บนพื้นที่ประมาณ 180 ตร.ม.

พ.ศ. 2537 วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี และทรงทอดพระเนตรกิจกรรมในศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์

พ.ศ. 2539 ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ INT/96/PO3 Inter–Regional Project on South–South Cooperation จำนวนเงิน US $20,000.00 ซึ่งเป็นโครงการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสถาบันประชากรศาสตร์ กับ United Nations Population Fund (UNFPA) ในการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และพัฒนาระบบข่ายงานด้านข้อมูลทางประชากรให้มีการให้บริการที่หลากหลายขึ้น

ในปัจจุบันศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ทำหน้าที่หลักในการให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านประชากรศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ วารสารทางวิชาการ แผ่นพับข้อมูล บริการข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (IT Network) ข้อมูลในรูปของ Electronic, Website, แผ่น CD-Rom สำหรับบุคคลและหน่วยงาน สถานภาพของศูนย์สารสนเทศฯ ในปัจจุบันจึงอาจถือว่าเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลประชากรที่มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพสูงแห่งหนึ่งของประเทศ ที่สามารถให้บริการด้านวิชาการและข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประชากรและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางสาวดาราวรรณ เจียมเพิ่มพูน และนายอรรจน์ ศุทธากรณ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดสร้าง homepage ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]