พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ | |
---|---|
พระนางเธอ | |
ดำรงพระยศ | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 |
ประสูติ | 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 วังวรวรรณ จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (62 ปี) วังลักษมีวิลาศ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
พระสวามี | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2465–2468) |
ราชสกุล | วรวรรณ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ |
พระมารดา | หม่อมหลวงตาด วรวรรณ |
ศาสนา | พุทธ |
ลายพระอภิไธย |
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504) พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล) ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะพระนางเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระขนิษฐาต่างพระมารดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
พระองค์เป็นผู้ริเริ่มรื้อฟื้น คณะละครปรีดาลัย ของพระบิดาขึ้นมาอีกครั้ง ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงลำพัง ทรงใช้เวลาที่มีอยู่ในการประพันธ์นวนิยาย ร้อยกรอง และบทละครจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ, วรรณพิมล และพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 สิริพระชันษา 62 ปี ซึ่งผู้ก่อคดีฆาตกรรมคืออดีตคนสวนที่พระองค์ไล่ออก และก่อคดีดังกล่าวด้วยประสงค์ในทรัพย์สินส่วนพระองค์
พระประวัติ
[แก้]พระประวัติตอนต้น
[แก้]พระนางเธอ ลักษมีลาวัณประสูติเมื่อวันจันทร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน เอกศก จ.ศ. 1261 ตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร[1] พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล) ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 มารดาของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์[2] มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหญิงติ๋ว ทั้งนี้พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูและอบรมจากเจ้าจอมมารดาเขียน ผู้เป็นย่ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาได้เสด็จไปประทับอยู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[3]
พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสระเสรี ซึ่งพระบิดาเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ[4] ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ[5]
หม่อมเจ้าวรรณพิมลทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูงที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใสของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า "... ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา..."[5]
การหมั้นหมาย
[แก้]หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว[6] ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ซึ่งรวมไปถึงพระภคินีคือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล[6] ซึ่งต่อมาได้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก
ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 หลังจากที่ทรงพบปะกับเหล่าท่านหญิงจากตระกูลวรวรรณไม่กี่วัน[7] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้
- หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี
- หม่อมเจ้าวิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร
- หม่อมเจ้าพิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้านันทนามารศรี
- หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ
- หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์ เป็น หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล
โดยพระนามพระราชทาน "ลักษมีลาวัณ" มีความหมายว่า งามดุจพระลักษมี[8] ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[9] แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่[10] และพบว่าทรงติดต่อกันทางจดหมายเพื่อระบายความทุกข์ส่วนพระองค์[11] และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ เช่น[11]
รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิต | ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่ | |
แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไป | ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน |
และ
นึกถึงเมื่อให้กล่องน้องยังห่าง | ยังแรมร้างมิได้รักสมัครสม | |
ชอบกันฐานพี่น้องต้องอารมณ์ | ตามนิยมเยี่ยงแยบแบบวงศ์วาร |
โอ้งวยงงหลงงมชมที่ผิด | จึงมิได้ใกล้ชิดยอดสงสาร | |
จนต้องแสนซึ้งค้อนร้อนรำคาญ | ไร้สราญเหลือล้นจนวิญญา |
และหลังจากการถอดถอนหมั้นเพียงไม่กี่เดือน[10] ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464[12] ขณะพระชันษา 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส[13] กระนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ประทานกลอนเตือนพระสติ ความว่า[14]
แม้ลูกรักพ่อขอให้นึก | ||
แต่รู้สึกเสงี่ยมองค์อย่าหลงเหิม |
ถึงแม่ติ๋วลอยละลิ่วก็ติ๋วเดิม | ||
เดชเฉลิมบุญเราเพราะเจ้าเอย |
ทรงแยกกันอยู่
[แก้]หลังจากการเฉลิมพระยศได้เพียงหนึ่งเดือนสิบเก้าวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464[10] และทรงตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณซึ่งยังมิได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465[15] เสมือนรางวัลปลอบพระทัย[10]
การนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ได้ประทานบทกลอนปลอบพระทัยพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ความว่า[14]
ลาภยศเหมือนบทละครเล่น | สัตย์ธรรม์นั้นเป็นแก่นสาร | |
เมื่อเบียฬเพียรผดุงปรุงญาณ | เบิกบานกรุณาอารีย์ |
พ่อชราไม่ช้าจะลาสูญ | สุดนุกูลสมรักลักษมี | |
ฉลาดคนึงพึ่งองค์จงดี | สมศักดิ์จักรีเกษมพร |
หลังจากนั้นพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ก็ทรงพอพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงาพระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้องและการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา หลังสิ้นงานพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีเริ่มมีพระอาการประชวรบริเวณพระนาภี กลางดึกคืนนั้นพระนางเธอ ลักษมีลาวัณรีบเสด็จไปเข้าเฝ้ารอฟังพระอาการ โดยประทับบนพระเก้าอี้ใกล้ประตูห้องบรรทม และประทับในห้องนั้นอีกหลายวันต่อมาเพื่อติดตามพระอาการโดยตลอด[16] และหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับส่วนแบ่งจากพระราชมรดก ได้แก่ เพชร, ทอง, สังวาล, กระโถนทอง และพานทอง[17]
สิ้นพระชนม์
[แก้]วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอ ลักษมีลาวัณไล่ออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ
ซึ่งคนร้ายได้ลอบทำร้ายพระนางเธอด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็ก ๆ ที่ข้างพระตำหนัก แล้วใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียร 3 ครั้ง จากนั้นใช้สันขวานทุบพระศออีก 1 ครั้งจนสิ้นพระชนม์ทันที โดยเมื่อตรวจสอบพระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล[18] ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ[18]
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 ว่าเธอไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย[18] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ พบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องพระบรรทมถูกรื้อกระจาย และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถสิ้นพระชนม์มาไม่ต่ำกว่าสามวัน[18]
ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปด้วยพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า
พระจริยวัตร
[แก้]พระนางเธอ ลักษมีลาวัณทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพรรณนาไว้ว่า[19]
รูปน้องประกอบเบญจาง | คะลักษณะอย่าง | |
พิเศษพิสุทธิ์สตรี |
ประภัสสรพรรณฉวี | เกศางามมี | |
ละเลื่อมสลับแดงปน |
เนตรแม้นดาราน่ายล | ระยับอยู่บน | |
นภางคะเวหา |
ส่วนพระกิริยาอัธยาศัย ก็งดงามนัก ดังพระราชนิพนธ์ ความว่า[19]
งามพร้อมจริตกริยา | ไพเราะวาจา | |
จะตรัสก็หวานจับใจ |
เย็นฉ่ำน้ำพระหฤทัย | สุจริตผ่องใส | |
สอาดประเสริฐเลิศดี |
รู้จักโอบอ้อมอารี | เอาใจน้องพี่ | |
แลญาติมิตรทั่วกัน |
ปราศจากฤษยาอาธรรพ์ | โทโสโมหัน | |
ก็รู้จักข่มเหือดหาย |
แต่ภายหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงผู้เดียว แม้เจ้าพี่เจ้าน้องจะคอยมาสนใจความเป็นอยู่แต่พระองค์ก็มิได้นำพา โดยรับสั่งด้วยสำนวนติดพระโอษฐ์ว่า "I don't care" พระองค์มักมีปัญหากับเหล่าคนใช้และจบด้วยการไล่คนใช้ออก ท่ามกลางความเงียบเหงาพระองค์จึงทุ่มเทกับงานพระนิพนธ์มากขึ้น[20] และเมื่อยิ่งมีพระชันษาที่สูงขึ้นก็ทรงพอพระทัยในความวิเวกสันโดษ ทรงเก็บพระองค์ในพระตำหนักลักษมีวิลาศไม่มีพระประสงค์จะพบปะสังสรรค์กับผู้ใด[21]
ความสนพระทัย
[แก้]พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ทรงแยกจากเจ้าพี่เจ้าน้องอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก และทรงรับคณะละครปรีดาลัยไว้ในพระอุปถัมภ์ ทรงสร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต และจอก ดอกจันทน์
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และเสื่อมเสียงสาป[22]
ผลงาน
[แก้]ด้านงานประพันธ์
[แก้]พระนางเธอ ลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลำพัง ต่อมาโดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่องโดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ และ วรรณพิมล โดยมีผลงานพระนิพนธ์ดังนี้
|
|
ด้านศิลปะการแสดง
[แก้]ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การมหรสพต่าง ๆ หยุดชะงักลงมีแต่ความเงียบเหงา จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา เรียกว่า ละครเฉลิมกรุง[23] ทรงสร้างมิติใหม่ให้วงการละครไทยด้วยการใช้วงดนตรีสากล กับนำท่าระบำฝรั่งผสมกับท่าระบำไทยครั้งแรก ดูงามแปลกตากว่าคณะอื่น แต่ยังคงใช้ผู้แสดงนำและส่วนใหญ่เป็นหญิง ทั้งนี้ทรงซักซ้อมนักแสดงด้วยพระองค์เอง ส่วนการแสดงระบำก็ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้สอดคล้องกับเพลงสากลตั้งแต่ พ.ศ. 2477-89[24]
เรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมและยังกลับมาแสดงอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา เช่น ศรอนงค์ จากบทละครของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)[25][26] เป็นละครประทับใจผู้ชมที่มีทั้งเพลงร้องเพลงระบำเบิกโรงและระบำประกอบเรื่องที่มีทำนองแพรวพราวตระการตา บรรเลงด้วยวงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่อย่างอุปรากรตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงเรื่องแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 คือเรื่อง "พระอาลัสะนัม" ที่ศาลาเฉลิมกรุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้แสดงที่โรงมหรสพนาครเขษม ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้ร่วมกับบริษัทสหศินิมาจำกัดแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง และครั้งท้ายที่สุดที่ศาลาเฉลิมนครช่วงปี พ.ศ. 2488-89[27]
ปี พ.ศ.2488 ทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ สมาคมศิลปินแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้นยังทรงจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือไทย งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม จึงทรงยุบเลิกคณะละครเนื่องจากพระชันษาเริ่มเข้าสู่วัยชรา และทรงพักผ่อนอิริยาบถเสด็จประพาสยุโรป ละครปรีดาลัยจึงสิ้นสุดเพียงเท่านี้[24]
ผลงานเพลง
[แก้]พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ทรงพระนิพนธ์ผลงานเพลงไว้เยอะพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะแต่งให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ตัวอย่างเช่น
- แนวหลัง
- แอ่วซุ้ม
ฯลฯ
พระเกียรติยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะย่ะค่ะ/เพคะ |
นายกองเอก พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ | |
---|---|
รับใช้ | กองเสือป่า |
ประจำการ | พ.ศ. 2464–2468 |
ชั้นยศ | นายกองเอก |
หน่วย |
|
พระอิสริยยศ
[แก้]- 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 — 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 : หม่อมเจ้าวรรณพิมล
- 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 — 4 เมษายน พ.ศ. 2464 : หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ
- 4 เมษายน พ.ศ. 2464 — 8 กันยายน พ.ศ. 2464 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
- 8 กันยายน พ.ศ. 2464 — 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
- 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 — 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 : พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2464 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)[28]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[29]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.)[30]
- พ.ศ. 2464 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[31]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 2 (ป.ป.ร.2)[32]
พระยศเสือป่า
[แก้]- 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 นายหมวดเอก - สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์[33]
- 2 มิถุนายน พ.ศ. 2464 นายกองเอก - สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ และกองร้อยหลวง กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์[34]
สิ่งอันเนื่องด้วยพระนาม
[แก้]- วังลักษมีวิลาศ – เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ตั้งอยู่ถนนศรีอยุธยา หลังเจ้าของสิ้นพระชนม์ วังจึงถูกรื้อออก
- พระที่นั่งลักษมีพิลาส – เป็นพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส[35]
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คีตา พญาไท (31 พฤษภาคม 2547). พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (1) เก็บถาวร 2004-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 17 กรกฎาคม 2556
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. นิราศนราธิป เรียกดุษดีจารึก ไปแหลมมะลายู. พระนคร : อักษรนิติ. 2494 , ไม่มีเลขหน้า
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 191
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 249
- ↑ 5.0 5.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 250
- ↑ 6.0 6.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 251
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 252
- ↑ ไพกิจ คงเสรีภาพ (2553). พระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี : การวิเคราะห์โครงสร้างและความหมาย (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 130.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๒๘๖
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 9
- ↑ 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 254
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณขึ้นเป็นพระองค์เจ้า, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก, ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก, ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๐๕
- ↑ 14.0 14.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 268
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณเป็นพระนางเธอ
- ↑ วรชาติ มีชูบท. "๑๖๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๘)". ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "(พระมรดก) "เจ้าฟ้าหญิง 4 แผ่นดิน" สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ". ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. 24 สิงหาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2556.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 "คดีสะเทือนขวัญแห่งราชสำนัก ปลงพระชนม์มเหสี ร.6". คลิบแมส. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2556.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 19.0 19.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 264-265
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 270-271
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 274
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 194
- ↑ ขุนวิจิตรมาตรา. หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555, หน้า 206
- ↑ 24.0 24.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 196
- ↑ อารีย์ นักดนตรี. โลกมายาของอารีย์. กายมารุต. 2546, หน้า 215-217
- ↑ ขุนวิจิตรมาตรา. หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555, หน้า 190-191
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 195
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ง, ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๖๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ง, ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๔๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวัลลภาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ง, ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๖๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ง, ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเล่ม 44 หน้า 2567 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2470
- ↑ "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37: หน้า 3793. 13 กุมภาพันธ์ 2461.
- ↑ "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38: หน้า 579. 5 มิถุนายน 2464.
- ↑ "พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
บรรณานุกรม
[แก้]- ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555
- พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
- ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545 หน้า 124-128
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (1) เก็บถาวร 2004-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2442
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2504
- พระภรรยาในรัชกาลที่ 6
- ราชสกุลวรวรรณ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ว.ภ.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร.2
- ชาวไทยที่ถูกลอบสังหาร
- นักแปลชาวไทย
- เสียชีวิตจากอาวุธมีคม
- ราชสกุลมนตรีกุล
- สมาชิกกองเสือป่า
- บุคคลจากเขตพระนคร
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์