สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 1 เจ้าฟ้าชั้นโท | |
พระราชชายานารี | |
ประสูติ | พ.ศ. 2341 พระราชวังหลวง กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี |
สิ้นพระชนม์ | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 (40 ปี) กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
พระราชทานเพลิง | 5 เมษายน พ.ศ. 2382 พระเมรุมาศ ทุ่งพระเมรุ |
บรรจุพระอัฐิ | หอพระนาก |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
พระบุตร |
|
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาทองสุก ในรัชกาลที่ 1 |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี[1] (พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี; พ.ศ. 2341 — 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทองสุก ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี และได้มีพระราชพิธีโสกันต์เต็มตามพระยศสมเด็จเจ้าฟ้าเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม้จะทรงมีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด แต่พระราชสวามีก็มิได้ทรงยกย่องหรือสถาปนาพระยศพระองค์ให้สูงขึ้นแต่อย่างใดตลอดรัชสมัย พระองค์มีพระราชโอรส 3 พระองค์ พระราชธิดา 1 พระองค์ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 สิริพระชันษา 40 ปี
พระประวัติ
[แก้]สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 1
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดาทองสุก พระราชธิดาพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ แห่งราชอาณาจักรลาว ประสูติเมื่อ ปีมะเมีย พ.ศ. 2341[1] เมื่อพระชันษาได้ 5 ปี เจ้าจอมมารดาทองสุกก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อประมาณ ปีกุนเบญจศก พ.ศ. 2346
เมื่อพระชันษาได้ 6 ปี มีอุปัทวเหตุเกิดขึ้น ทรงพลาดตกลงน้ำ แต่ทรงรอดพระชนม์มาได้ราวปาฏิหาริย์ โดยพระองค์ทรงลอยเกาะทุ่นหยวกไว้ไม่ทรงจมูก พระราชบิดาทรงสงสารและทรงพระกรุณามากขึ้น อีกทั้งประการหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุกนั้นก็ได้ถึงแก่พิราลัยไปเมื่อเจ้าฟ้าหญิงฯ มีพระชันษาได้เพียง 5 ปีเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าจันทบุรีขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อ พ.ศ. 2347 เพราะทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้านครเวียงจันทน์ ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า
ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงพระองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี พระชนม์ได้ 6 พรรษา ตามเสด็จลงไปที่พระตำหนักแพ เมื่อเวลาจุดดอกไม้ รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระองค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน พลาดตกลงน้ำหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก (2) แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ 5 พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 12 ขึ้น 2 ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก 3 วัน
ในปีนั้น พระเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ ครองเมืองได้ 10 ปี โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศและสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าอนุผู้น้อง ให้ครองนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างต่อไป
ในจดหมายเหตุความทรงจำซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เป็นจดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า
"ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีชวดฉศก พระองค์เจ้าพระชันษา 7 ขวบ ตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ตกหว่างเรือไม่จมลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามใหม่ สมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล 3 วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงศ์ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "พระองค์เจ้าองค์นี้มีนามว่า จันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ การสมโภชแต่ก่อนมีเฉพาะเจ้าฟ้าทั้งประสูติและโสกันต์"
พระราชพิธีโสกันต์
[แก้]ต่อมาในรัชกาลที่ 1 นั่นเอง ถึงปีมะโรง พ.ศ. 2351 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ได้ 11 พรรษา ถึงกำหนดจะโสกันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราครั้งกรุงเก่าเป็นต้นมา เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินต่อไป จึงนับว่าเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่ได้รับพระราชทานพิธีโสกัณฑ์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตำรา ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีว่าดังนี้
ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระชนม์ได้ 11 พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่ตั้งแผ่นดินมา ยังหาได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงแนะสอนไว้ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า 3 พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียงพระมณฑลบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และตั้งราชวัตรฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่าง ๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา ณ เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ เวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เสด็จทรงยานุมาศตั้งแต่เกยในพระราชวัง ออกประตูราชสำราญมาตามถนนริมกำแพงพระราชวัง มาเข้าประตูพิมานไชยศรี แล้วประทับเกยกำแพงแก้วด้านบุรพาทิศพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็งลงจากพระยานุมาศ แล้วเสด็จทางผ้าขาวลากขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 3 วัน แล้ว ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ เวลาเช้าแห่มาโสกันต์ที่พระบรมมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน แล้วจึงทรงพระเสลี่ยงน้อยขับไม้พราหมณ์นำเสด็จ พระยาศรีธรรมาธิราช พระยาธรรมา พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาอนุรักษ์มณเฑียร คู่เคียง 2 คู่เคียงพระเสลี่ยงมาทรงสรงน้ำที่สระอโนดาตที่เชิงเขาไกรลาศ สรงแล้วเสด็จประทับพลับพลาทรงเครื่องเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาศ จึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ ทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงพระกรขึ้นไปบนเขาไกรลาศประทานพร แล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านตะวันออก เสด็จพระยานุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ 3 รอบ แล้วแห่กลับมาตามทางออกประตูพิมานไชยศรี ไปเข้าในพระราชวังทางประตูราชสำราญ ครั้นเวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่มาสมโภชต่อไปอีก 2 วัน ณ เดือน 4 แรม 6 ค่ำ เป็นวันที่ 7 จึงแห่พระเกศาไปลอยเป็นเสร็จการโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
จบข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับการโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีแต่เพียงเท่านี้ นอกจากนั้นยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนริทรเทวี พร้อมด้วยพระราชวิจารณ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีก มีข้อความดังต่อไปนี้
ณ เดือนหก ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาสแห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงศ์อย่างเทพอัปสร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาส กรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นพระอิศวร ทรงพระมหากฐินทรงประดับ (หรือทรงประพาส) เครื่องต้นเป็นพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรขึ้นไปส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัฏแล้วประสาทพระพร เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศขึ้นเกยพระมหาปราสาท
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุดังกล่าวไว้ว่า
โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาดปีกันอยู่กับในพงศาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ๆกล่าวประจบให้เป็นเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่น ทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างในไปที่สระอโนดาต ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ในพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่า ใครจูงทีเดียว ในพงศาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ว่า ทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมพระบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริงตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมืองเครื่องต้นทพแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรง เมื่อแห่ผนวชเป็นคราวแรกเพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตรกรมขุนเสนานุรักษ์ และกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ว่างามนักทั้งสองพระองค์ เห็นจะโปรดให้ทอดพระเนตรยังมีตัวอย่างต่อมาอีก ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ผนวชรัชกาลที่ 3 นี้ ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น ในชั้นต้นที่จะสอบสวนเรื่องโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้
ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ซึ่งกรมหลวงชำระไว้อื่นๆก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาสตั้งแห่งใดไม่ปรากฏ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้คือ "ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน" อีกข้อซึ่งกล่าวว่า "เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน" ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฏว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ 2 ข้อที่กล่าวมานี้ ผู้อ่านหมายไม่เข้าใจหรือเอาปากไวเอาการใหม่ปนการเก่าก็จะเป็นได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอะไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรงวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเป็นหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจ ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต
หมายฉบับนี้ "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับสั่งให้เกล้าฯกำหนดงานสวดมนต์ ณ วันเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย 2 โมง 6 บาท พระสงฆ์ 50 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ พระกฤษ์จรดพระกรรบิดกรรไกร ณ วันเดือน 4 แรม 3 ค่ำ 4 ค่ำ 5 ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 3 วัน"
เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทและเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือ ใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือ คู่แห่เด็ก 80 - 84 ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน 9 เครื่อง 21 พระแสง 5 บัณเฑาะว์ 2 อินทร์พรหม 16 หามพระราชยาน 10 เครื่องหลัง 8 พระแสง 2 รวมกระบวนใน 175 กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ 80 แตร 42 กลองชนะ 40 ในหมายมีแต่กระบวนข้างหน้า กำหนดแตรตามระยะทาง เช่นโสกันต์ชั้นหลังๆการที่วางกระบวนเมื่อถึงเกยก็อย่างชั้นหลังๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลัง ให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันทร์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม
มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษชัยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้งสามเดินตามกระบวนมา
วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชจัดการที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรรมา ตะวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตะวันจกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้ว กลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักข้าวลงในบาตรสำหรับเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อยไปสรงที่สระอโนดาต
มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่นักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตะวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก และตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เป็นตัวเล็กๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกประหลาดอะไรจากโสกันต์ครั้งหลังๆ
เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบัญชีเป็นผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป 1 ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้วเป็นพระสมุห์วัดบางลำพู ฉันไก่ต้ม 3 ตัว ไก่จาน 1 นมโค 1 โถ ทีจะเป็นลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันทน์เมื่อแผ่นดินกรุงธนรับพระกรในที่นี้ คือ เวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ
จบพระราชวิจารณ์ในจดหมายเหตุความทรงจำฯ แต่เพียงนี้
สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้ปีเดียว สมเด็จพระชนกนารถก็เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2352 เวลาสิ้นรัชกาลที่ 1 นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ได้ 11 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 2 เมื่อพระชนมพรรษาได้ 42 พรรษา
ไม่มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยาวดีที่จะดูได้ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการฉายภาพในประเทศไทยและก็ไม่มีภาพเขียนอันเป็นฉายาลักษณ์ของพระองค์จะดูพระรูปโฉมโนมพรรณของพระองค์ว่า ทรงพระสิริรูปโฉมงามโสภาคย์เพียงใด แต่เมื่อเปรียบสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า เป็นนางบุษบา ความงามของนางบุษบานั้น มีปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เองว่า
อีกตอนหนึ่งว่า
อีกตอนหนึ่ง ตอนนางบุษบาเล่นธาร มีว่า
ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการเรื่อง ประกาศพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับสมเด็จพระราชชายานารีฯ ความว่า
ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง มารดาเป็นบุตรีเจ้าเมืองเวียงจันทน์โปรดให้เป็นแต่เพียงพระองค์เจ้า เหมือนกันกับพระราชบุตรแลพระราชบุตรพระองค์อื่นที่ประสูติแต่พระสนม เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้านั้นสิ้นชีพในปีกุนเบญจศก เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตแล้วนั้น พระองค์เจ้านั้นมีพระชนมายุได้ 5 ขวบ เป็นกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา ทรงพระกรุณามาก ภายหลังล่วงมาปีหนึ่งพระองค์เจ้านั้นตามเสด็จลงไปลอยกระทง วิ่งเล่นตกน้ำหายไป คนทั้งปวงตกใจเที่ยวหาอยู่ครู่หนึ่ง จึงพบพระองค์เจ้าไปเกาะทุ่นหยวกอยู่หาจมน้ำไม่ ผู้พบเชิญเสด็จกลับมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดมากขึ้น มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า พระองค์เจ้านี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นฝ่ายลาว อัยยิกาธิบดีคือท้าวเจ้าเวียงจันทน์ก็ยังอยู่ ควรจะให้เลื่อนที่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า การพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังแต่ตั้งแผ่นดินมาก็ยังหาได้ทำไม่ ถ้าถึงคราวโสกันต์จะได้ทำให้เป็นแบบอย่างในแผ่นดิน จึงโปรดพระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เจ้าฟ้านั้นเมื่อถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช 1170 ตรงกับปีมีคริสต์ศักราช 1808 พระชนมายุครบ 11 ปีถึงกำหนดโสกันต์ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพินทวดีที่เป็นผู้ชี้การมาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 7 ปี
พระมเหสีในรัชกาลที่ 2
[แก้]ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมเหสี ที่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อก่อน พ.ศ. 2359 พระชนมายุได้ประมาณ 17 หรือ 18 พรรษา ที่กล่าวว่าก่อน พ.ศ. 2359 นั้น เพราะเหตุว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสพระองค์แรกประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 5 แรม 7ค่ำ ตรงกับวันที่ 19 เมษายน ปีชวด พ.ศ. 2359 จึงพอสันนิษฐานได้ว่า พระองค์ได้เป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อพระชนมายุได้ 17 หรือ 18 พรรษา ดังได้กล่าวมาแล้ว
กล่าวกันว่า เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นเปรียบเหมือนนางบุษบาวตี ในพระราชนิพนธ์อิเหนา ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครชายาเดิม คือ เจ้าฟ้าบุญรอด นั้นเปรียบเหมือนนางจินตหรา ดังปรากฏข้อความอยู่ในหนังสือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ พ.ศ. 2509 ตอนหนึ่งว่า
เจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งทรงเล่าว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์นั้นทรงอยู่ในฐานะแม้นละม้ายคล้ายจินตหราในเรื่องอิเหนา เพราะเหตุที่เป็นพระประยูรญาติเรียงพี่เรียงน้อง หากแต่เป็นพระมเหสีดั้งเดิมจึงได้อยู่ฝ่ายขวา ส่วนเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระน้องนางเธอร่วมพระชนกเดียวกัน ได้เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 จึงต้องอยู่ฝ่ายซ้าย คล้ายบุษบาขององค์อิเหนาหรือระเด่นมนตรี ซึ่งที่แท้ก็คือ พระองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั่นเอง เมื่อองค์ระเด่นมนตรีทรงมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาดังนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายขวาจะต้องขึ้งโกรธและทรงระทมตรมตรอม นัยเดียวกันกับพระราชนิพนธ์ที่ว่า " เมื่อนั้น จินตหราวาตีมีศักดิ์ ฟังตรัสขัดแค้นฤทัยนัก สบัดพักตร์ผินหลังไม่บังคม " เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยๆมา ในที่สุดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ก็เสด็จหนีไปประทับ ณ พระราชวังเดิม กรงธนบุรี มีเจ้าฟ้าพระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวติดต้อยตามเสด็จไปเป็น "ลูกแม่" คอยปลอบประโลมพระทัยให้คลายเศร้า แต่เจ้าฟ้าพระองค์น้อยหรือฟ้าน้อยก็ยังคงวิ่งไปวิ่งมาระหว่างพระชนกกับชนนีระหว่างกรุงเทพฯกับธนบุรี จนกระทั่งพระชนม์ได้ 12 ปี 6 เดือน ได้รับพระราชพิธีเต็มตามพิธีใหม่ชั้นเจ้าฟ้า
แต่อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มิได้ทรงยกย่องสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเท่ากับหรือเหนือกว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะพระองค์ทรงถือสัตย์ที่ได้เคยทรงปฏิญาณทานบนไว้เมื่อครั้งทรงแรกรักเริ่มต้นกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก่อนโน้น ดังปรากฏในจดหมายเก่า "เรื่องขัติยราชปริพัทธ์" ว่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเคยทรงปฏิญาณทานบนไว้ว่า "จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าฤๅเสมอกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เพราะฉะนั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกขึ้นแล้ว ได้เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระชายาก็ทรงชุบเลี้ยงเซา ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่เปิดเผยผิดจากปรกติขึ้นเท่าไร"
พระองค์ประสูติพระราชโอรส 3 พระองค์ พระราชธิดา 1 พระองค์ แต่พระราชธิดานั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยังเหลือแต่พระราชโอรสทั้งสามพระองค์ คนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยินใครเรียกว่าเจ้าฟ้าหรือทูลกระหม่อมฟ้า เรียกกันอยู่ว่าองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์ปิ๋ว ในหลวงท่านก็ทรงได้ยินแต่ไม่ทรงกริ้วกราดทักท้วงประการใด เรียกกันอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ฉะนั้นเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอสุนีบาศ ฉะนั้น
ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกุณาโปรดตั้งองค์ใหญ่พระราชโอรสเจ้าฟ้ากุณฑลเป็นเจ้าฟ้า พระราชทานนามว่า "อาภรณ์" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า "เจ้าฟ้าอาภรณ์" แต่องค์กลาง องค์ปิ๋วนั้นก็ได้ยินเรียกกันอยู่ว่า องค์กลาง องค์ปิ๋ว ดังเช่นเรียกกันมาแต่เดิม ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระนามพระองค์กลางว่า "มหามาลา" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า เจ้าฟ้ามหามาลา องค์ปิ๋วนั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระชนมชีพในรัชกาลที่ 3
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อมา เป็นรัชกาลที่ 3 มีพระปรมาภิไธยย่อว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลา 27 ปีจึงเสด็จสวรรคต
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ 26 พรรษา ได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเจ้าฟ้าพระราชโอรส 3 พระองค์ต่อมาด้วยความลำบากอย่างยิ่ง ในเรื่องการศึกษาของเจ้าฟ้าพระโอรสนั้นปรากฏว่า ได้ทรงมอบให้สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรมาแต่ปลายรัชกาลที่ 2 กล่าวคือ ในปลายรัชกาลที่ 2 โปรดให้ท่านสุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ เป็นผลให้ชาติไทยได้มีกลอนอมตะอยู่ ณ ทุกวันนี้ คือ "สวัสดิรักษา" ซึ่งสุนทรภู่แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์และเพลงยาวถวายโอวาทซึ่งแต่งถวายเจ้าฟ้ากลาง เรื่องสวัสดิรักษานั้นขึ้นต้นว่า
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน"
และกล่าวในกลอนเมื่อก่อนจบว่า
ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา
สำหรับพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา
ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์
แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ่อนเป็นกลอนไว้
หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์
ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ
เรื่อง "สวัสดิรักษา" นี้สันนิษฐานกันว่า คงจะแต่งขึ้นถวายระหว่าง พ.ศ. 2364 - 2367 ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากนั้นสันนิษฐานกันว่า ท่านสุนทรภู่จะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไตรภพตอนต้น ๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย เพราะมีคำกล่าวไว้ในเรื่องรำพันพิลาปของสุนทรภู่เอง เมื่อพูดถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่เรียกพระนามแฝงว่า "พระสิงหไตรภพ"
แต่ต่อมาในรัชกาลที่ 3 นี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดท่านสุนทรภู่ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง ท่านสุนทรภู่จึงได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลางด้วยความน้อยใจ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าปิ๋วตอนหนึ่งว่า
เพลงยาวถวายโอวาทนี้ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นว่า
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน
ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก
เหมือนผัดพักตร์ผิวหนาเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี
ดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุณสุนทราคารวะ
ถวายพระวรองค์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง
พระหน่อสองสุริน์วงศ์ทรงศักดา
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาท
จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา
ต่อถึงพระวสาอื่นจึงคืนมา
อนึ่ง ในจดหมายเหตุเก่าเรื่อง "ว่าด้วยคำพูดของคนชั้นเก่า" มีว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเรียกเจ้าฟ้าอาภรณ์ว่า "หนูอาภรณ์" รับสั่งเรียกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า "เจ้าหนูกลาง" และรับสั่งเรียกองค์ปิ๋วว่า "เจ้าหนูปิ๋ว" ดังนี้
เมื่อท่านสุนทรภู่ออกบวชแล้ว ต่อมาในปีฉลู พ.ศ. 2372 สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ กับเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเวลานั้นพระชันษาได้ 11 ปีพระองค์หนึ่ง 8 ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์ท่านสุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลที่ 2 แล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงส่งเสียอุปการะท่านสุนทรภู่ต่อมาในชั้นนั้น นอกจากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑทิพยวดียังได้ทรงฝากเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ให้เป็นศิษย์สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารอีกด้วย
ในรัชกาลที่ 3 นี้ พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เริ่มรับราชการ คือ ได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาล เจ้าฟ้ากลาง (เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้รับราชการในกรมวัง ส่วนเจ้าฟ้าชายปิ๋วนั้นไม่ปรากฏว่าได้ทรงรับราชการแต่อย่างใด เพราะยังทรงพระเยาว์
อนึ่ง ในรัชกาลที่ 3 นั้น เจ้านายชั้นเจ้าฟ้าชายซึ่งเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 2 พระองค์สำคัญมีเพียง 5 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เวลานั้นผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ 3 พระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ว่ากรมทหารปืนใหญ่พระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้ เป็นเจ้าฟ้าพระโอรสในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้า 3 พระองค์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
สิ้นพระชนม์
[แก้]สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 สิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ 40 พรรษา ทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2382[1]
ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แต่งมีข้อความว่า
"ในเดือน 4 ปีจอนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรพระโรคโบราณมานานแล้ว ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ สิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ 40 พรรษา 8 เดือน 18 วัน โปรดให้ทำการพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานได้จัดการทำพระเมรุอยู่"
ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวอีกตอนหนึ่งมีว่า
"ฝ่ายที่กรุงการพระเมรุเสร็จแล้ว ครั้น ณ วัน เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ได้ชักพระบรมศพสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีกับพระศพพระองค์เจ้า (ผู้เป็น) พระธิดาออกสู่พระเมรุ เชิญพระบรมศพประดิษฐานบนพระเบญจา มีการมหรสพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระราชาคณะ ฐานานุกรมเป็นอันมาก ครั้น ณ วัน เดือน 5 แรม 6 ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้พระราชทานเพลิงแล้วสมโภชพระบรมอัฐิอีก วัน 1 คืน 1 เป็นคำรบ 4 วัน 4 คืน"
ชีวิตส่วนพระองค์
[แก้]สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีเจ้าฟ้าด้วยกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมด้วยกัน 4 พระองค์ สิ้นพระชนม์เสียในรัชกาลสมเด็จพระชนกนารถพระองค์หนึ่ง คงพระชนม์ชีพต่อมา 3 พระองค์ เป็นเจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าทั้ง 3 พระองค์นี้ ในรัชกาลที่ 2 เรียกกันว่าพระองค์ใหญ่ พระองค์กลาง และพระองค์ปิ๋วทั้งสิ้น เพิ่งมาเรียกพระองค์ใหญ่ว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์ กันในรัชกาลที่ 3
สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ ด้วยกันมาด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชสวามี เสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม ปีวอก พ.ศ. 2367 การเสด็จสวรรคตของพระราชสวามีย่อมนำความวิปโยคโศกเศร้าสลดรันทดพระทัยมาสู่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เวลาสิ้นรัชกาลที่ 2 นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระมเหสีฝ่ายซ้ายพระชนมายุได้ 26 พรรษา วัยเบญจเพสพอดี เจ้าฟ้าพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าฟ้าอาภรณ์มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระองค์ที่สองคือ เจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีพระชนมายุได้ 5 พรรษา พระองค์ที่สามคือ เจ้าฟ้าปิ๋ว พระชนมายุได้ 2 พรรษา พระองค์ย่อมทรงได้รับความลำบากอย่างแสนสาหัส เพราะพระโอรสยังทรงพระเยาว์มากทั้งสิ้น
พระราชบุตร
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระราชโอรสและพระราชธิดากับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมทั้งสิ้น 4 พระองค์ ได้แก่
พระรูป | พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | พระชันษา | พระโอรสธิดา |
---|---|---|---|---|---|
เจ้าฟ้าชายอาภรณ์ | 19 เมษายน พ.ศ. 2359 | พ.ศ. 2391 | 33 ปี | 9 องค์ (ราชสกุลอาภรณ์กุล) | |
เจ้าฟ้าชายกลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) |
24 เมษายน พ.ศ. 2362 | 1 กันยายน พ.ศ. 2429 | 67 ปี | 11 องค์ (ราชสกุลมาลากุล) | |
เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) |
21 มีนาคม พ.ศ. 2363 | ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ | - | |
เจ้าฟ้าชายปิ๋ว | 26 เมษายน พ.ศ. 2365 | พ.ศ. 2383 | 19 ปี | - |
พระกรณียกิจ
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2352 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ข้าราชการฝ่ายในเฝ้าทูลลอองพระบาทพร้อมกัน ท้าววรจันทร์กราบบังคมทูลฯ ถวายสิบสองพระกำนัล และมีพระราชปฏิสันถารแล้ว พอได้เวลาพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียร ในครั้งนั้นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ได้เป็นผู้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร เป็นปฐมฤกษ์[2]
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงเข้าเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว เนื่องจากพระองค์ทรงยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตลอดมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงรับหน้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์เป็นงานหลวงมาจนตลอดรัชสมัย ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใน พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 สืบต่อมา ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงต้องทำหน้าที่พระมารดา ดูแลอบรมพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ด้วยความเข้มแข็ง ทั้งยังทรงถือเป็นธุระในการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์อยู่เป็นนิจ ตามที่พระราชสวามีทรงมอบหมายหน้าที่ไว้แต่เดิม
พระเกียรติยศ
[แก้]ในรัชกาลที่ 5 พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงศักดิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพนับถือมากด้วยเหตุว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงรับราชการเป็นหลักแผ่นดินในตอนต้นรัชกาลที่ 5 ครั้นเมื่อมีงานรัชฎาภิเษกในรัชกาลที่ 5 ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2436 โปรดให้มีการแต่งกลอนจารึก แต่งประทีป เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน, เจ้านาย, และบุคคลสำคัญ ในงานนั้นมีคำกลอนจารึกแต่งประทับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีของท่าน เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เมื่อยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ มีว่าดังนี้
พระเกียรติท่านเพิ่มเติม ให้มากกว่าแต่ก่อนมา
จะได้คนอย่างท่าน ก็กันดารเหลือจะหา
ความดีเหลือพรรณนา จะว่าย่อพอให้คน
ได้ทราบทั่วกันว่า นามเจ้าฟ้า ธ กุณฑล
ท่านได้ร่วมสุขปน ในรัชกาลที่สองมา
อยู่นานกาลล่วงไป ท่านก็ได้โอรสา
พระอิสริยยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี (พ.ศ. 2341 - พ.ศ. 2347)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พ.ศ. 2347 - ก่อน พ.ศ. 2359)
- สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (ก่อน พ.ศ. 2359 - พ.ศ. 2367)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2381)
ราชตระกูล
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี |
พระชนก: พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
พระอัยกาฝ่ายพระชนก: สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: พระยาราชนิกูล (ทองคำ) |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล | |||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก: พระอัครชายา (หยก) (หรือ ดาวเรือง) |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล | ||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: ไม่มีข้อมูล | |||
พระชนนี: เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงทองสุก |
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี: พระเจ้าอินทวงศ์ เจ้านครเวียงจันทน์ |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: พระเจ้าสิริบุญสาร เจ้านครเวียงจันทน์ | |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล | |||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล | ||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ไม่มีข้อมูล |
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 ราชสกุลวงศ์, หน้า 18-19
- ↑ พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒ : ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- บรรณานุกรม
- สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554. 368 หน้า
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6