รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ผู้ตรา | สภานิติบัญญัติแห่งชาติ |
ผู้ลงนาม | สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามิทราธิราช บรมนาถบพิตร |
วันลงนาม | 24 สิงหาคม 2550 |
ผู้ลงนามรับรอง | มีชัย ฤชุพันธุ์ (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) |
วันลงนามรับรอง | 24 สิงหาคม 2550 |
วันประกาศ | 24 สิงหาคม 2550 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 47 ก/หน้า 1) |
วันเริ่มใช้ | 24 สิงหาคม 2550 |
ท้องที่ใช้ | ไทย |
การร่าง | |
ชื่อร่าง | ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย |
ผู้ยกร่าง | สภาร่างรัฐธรรมนูญ |
การแก้ไขเพิ่มเติม | |
การยกเลิก | |
| |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง | |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 | |
เว็บไซต์ | |
ดูเบื้องล่าง |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ. 2549–2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 1 ในวันเดียวกันนั้น และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ ประธาน สนช. จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ประเด็นที่แก้ไข คือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และหลักเกณฑ์ในการทำสนธิสัญญา (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190)
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้รัฐธรรมนูญนี้สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์[1] และสิ้นสุดลงทุกมาตราเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ร่าง[2]
การแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
[แก้]ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่จัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน (มาตรา 22)
- สมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน โดยเลือกให้เสร็จภายใน 7 วัน (มาตรา 22)
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน (มาตรา 22)
- ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน สมัชชา (มาตรา 25)
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน (มาตรา 22)
ขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถูกต่อต้าน ทั้งจากกลุ่ม นักวิชาการ นักวิชาการที่เคยต่อต้านรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และ กลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล[3][4][5][6][7]
แนวทางของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
[แก้]พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้แนวทางกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
- ห้ามไม่ให้บุคคลใดมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีเกินสองสมัย
- ห้ามไม่ให้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการในช่วงระหว่างการยุบสภาจนถึงการเลือกตั้ง
- แก้ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งด้วย แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งเพียงวิธีเดียว
- อนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น
- แก้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ง่ายขึ้น[8]
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
[แก้]สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยึดตามแนวทางและแก้ไขจุดอ่อนของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ 4 ประการ คือ
- คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน
- ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน
- การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม
- ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
[แก้]- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระตามหมวดต่างๆ ดังต่อไปนี้
- คำปรารภ
- หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 1-7)
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์ (มาตรา 8-25)
- หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (มาตรา 26-69)
- หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย (มาตรา 70-74)
- หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75-87)
- หมวด 6 รัฐสภา (มาตรา 88-162)
- หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน (มาตรา 163-165)
- หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ (มาตรา 166-170)
- หมวด 9 คณะรัฐมนตรี (มาตรา 171-196)
- หมวด 10 ศาล (มาตรา 197-228)
- หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 229-258)
- หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (มาตรา 259-278)
- หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 279-280)
- หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 281-290)
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 291)
- บทเฉพาะกาล (มาตรา 292-309)
ประเด็นข้อเรียกร้อง
[แก้]ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ออกมาเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น
- การแก้ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แทนที่จะมาจากการเลือกตั้ง เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้มาจากการแต่งตั้งโดยกลุ่มทหารและข้าราชการ นาย วิชา มหาคุณ อดีตผู้พิพากษา และกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้สนับสนุนการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยกล่าวว่า "เรารู้กันดีว่าการเลือกตั้งสว.เป็นเรื่องการเล่นตลกร้ายของตระกูลนักการเมือง ทำไมชาวบ้านถึงอยากให้เห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย? ชาวบ้าน และโดยเฉพาะนักวิชาการ ที่อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะก่อให้เกิด ประชาธิปไตยที่แท้จริง กำลังคิดแบบฝันลอย การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นปัญหา สภา เหมือนที่เห็นกันในอดีต ดังนั้น ทำไมชาวบ้านไม่อยากให้กลุ่มผู้พิพากษาช่วยเลือกให้?"[9]
- การลดความมั่นคงของฝ่ายบริหารและระบบพรรคการเมือง เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งมีความมั่นคง และระบบพรรคการเมืองเพิ่มความสำคัญขึ้น[10][11] สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้ฝ่ายบริหารและระบบพรรคการเมืองลดอำนาจเบ็ดเสร็จลง โดยทำให้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ง่ายขึ้น อนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น และไม่อนุญาตให้บุคคลใดมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีเกินสองสมัย[12][13]
- การไม่บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, คณะสงฆ์อณัมนิกาย และอีก 300 องค์กรได้รณรงค์ให้มีการบัญญัติคำว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ไม่สำเร็จ[14][15]
- การเรียกร้องให้เปลี่ยนนามประเทศไทยเป็นสยาม โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม ตรงตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อหลักการณ์ของความสมานฉันท์ ยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ[16]
- การเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยกลุ่มเกย์ 10 องค์กร[17]
ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2540
[แก้]รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ[18][19] ดังจะเห็นว่ามีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ
รัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับการกล่าวขานว่ามีความก้าวหน้าเนื่องจากนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่ลอกเลียนจากต่างประเทศมาใช้ แต่เมื่อบังคับใช้จริงก็ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย เพราะเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางทั้งกรณีการฆ่าตัดตอน 2 พันศพ อุ้มฆ่าแกนนำภาคประชาชนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ เช่น กรณีของ สมชาย นีละไพจิตร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกวิจารณ์ว่าทำให้ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งเกินไปจนเกิดระบบผู้นำกึ่งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญ 2550 จึงถูกวิจารณ์ว่ามีอคติต่อ "ระบอบทักษิณ" ที่มีคำอธิบายว่าเป็นเผด็จการทุนนิยม ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผู้นำเดี่ยวที่สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ละเลยต่อเสียงปัญญาชนในสังคม สุดท้ายจึงสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยจนก่อตัวเป็นวิกฤตการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นพฤติกรรมของระบอบทักษิณ เช่น ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร การทำเอฟทีเอต้องฟังความเห็นจากรัฐสภา เข้มงวดต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจริยธรรมของนักการเมือง สร้างมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
จุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 คือบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น รัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้สิทธิแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตน ที่สำคัญคือให้มีผลบังคับทันที ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุข้อความท้ายมาตราต่างๆ ว่า "ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ" หมวดที่ได้รับการบัญญัติขึ้นมาใหม่ เช่น "สิทธิชุมชน" ชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ หมวด "การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน" ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนมีโอกาสยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึงการ ให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ฯลฯ
หมวด "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือ หากรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาที่มีผลต่อความมั่นคงทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น เอฟทีเอต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จุดเด่นอื่น ๆ คือ มาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็งขึ้น เช่น ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนคู่สมรสและบุตร ห้ามรับหรือแทรกแซงสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. แสดงบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และได้เพิ่มหมวด "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ" สร้างกลไกควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบตรวจสอบโดยรื้อที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการสรรหาอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต
อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงในประเด็นโครงสร้างของสถาบันการเมือง เช่น ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. หรือการให้อำนาจฝ่ายตุลาการเข้ามาแก้ปัญหาฉ้อฉลทางการเมือง ด้วยการเพิ่มบทบาทในการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่องค์กรอิสระ และร่วมสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน เป็นที่มาของข้อครหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย ที่ให้อำนาจชนชั้นนำกับขุนนางผ่านทางวุฒิสภาและตุลาการเพื่อสร้างฐานอำนาจ แต่คำชี้แจงอีกด้านกล่าวว่า สภาพวัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบัน การให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยหวังว่าจะปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมืองคงยังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้ง ส.ว. สองครั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในสภาพ "สภาผัวเมีย-สภาบริวาร" ขณะที่การสรรหา ส.ว.อาจได้ตัวแทนหลายสาขาอาชีพกว่า ทำให้การทำงานด้านนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพ อีกประเด็นหนึ่งคือการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. ไปใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เป็นที่เกรงกันว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพราะผู้สมัครในพรรคเดียวกันจะแย่งคะแนนกันเอง และการทุ่มเงินซื้อเสียงจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเขตเดียวคนเดียว โครงสร้างการเมืองใหม่ที่ลดการผูกขาดอำนาจ มีมาตรการตรวจสอบมากมาย และให้สิทธิประชาชนฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญหากรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่อ่อนแอลง แต่ผู้ร่างชี้แจงว่ากติกาเช่นว่านี้บังคับให้รัฐบาลต้องตอบสนองประชาชน หากละเมิดต่อหลักรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ลำบาก
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีที่เคยระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 จึงทำให้รัฐมนตรีอาจมาจาก ส.ส. ทั้งสองระบบโดยไม่ต้องมีการเลื่อนรายชื่อหรือจัดการเลือกตั้งใหม่[20]
การออกเสียงประชามติ
[แก้]ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เปิดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ช่วงเวลา 8.00 น.ถึง 16.00 น. โดยใช้วิธีกากบาทลงบัตรเหมือนการเลือกตั้ง ในกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับแล้ว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้
ในกรณีที่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
ผลการออกเสียงตามรายงานผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550[21]
ผลการออกเสียง: | ||
จำนวนผู้มาใช้สิทธิ | 25,978,954 | 57.61% |
จำนวนผู้ไม่มาใช้สิทธิ | 19,114,001 | 42.39% |
ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด | 45,092,955 | |
การลงคะแนน: | ||
บัตรที่นับเป็นคะแนน | 25,474,747 | 98.06% |
บัตรที่ไม่นับเป็นคะแนน (บัตรเสีย/การคืนบัตร/อื่น ๆ) | 504,207 | 1.94% |
รวม | 25,978,954 | |
การเห็นชอบและไม่เห็นชอบ: | ||
เห็นชอบ | 14,727,306 | 57.81% |
ไม่เห็นชอบ | 10,747,441 | 42.19% |
รวม | 25,474,747 |
เห็นชอบ : 57.81% (14,727,306) |
ไม่เห็นชอบ : 42.19% (10,747,441) | ||
▲ |
การประกาศใช้
[แก้]วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ส.ส.ร. นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงของรัฐสภาเข้าร่วมในพิธี จากนั้นนายมีชัยพร้อมคณะเดินทางไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายร่าง รธน. เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชมเชย ส.ส.ร.ว่าอุตสาหะร่าง รธน.จนเสร็จ เพราะยากมาก จากนั้นจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศต่อไป ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้เตรียมการไว้[22]
มีรายงานว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จัดทำไว้ทั้งสิ้น 3 เล่ม[22] หลังจากทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะนำไปเก็บไว้ 3 แห่งด้วยกัน ฉบับที่ทำด้วยทองคำแท้จะเก็บไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 2 เล่ม ที่ทำด้วยเงินกะไหล่ทอง เก็บไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
ขั้นตอนสำคัญที่เกิดภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธย คือ การประทับพระราชลัญจกร 4 องค์[22] ประกอบด้วย พระราชลัญจกรมหาโองการ พระราชลัญจกรไอยราพต พระราชลัญจกรหงสพิมาน และพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีจำนวน 592 หน้า 2,368 บรรทัด มีน้ำหนัก 7 กิโลกรัม และปกมีตราพระครุฑพ่าห์ติด พร้อมลงรักปิดทองทั้ง 6 ด้านตามโบราณราชประเพณี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
[แก้]ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ อันประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว., ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธาน[22] ผลปรากฏว่ามีการเสนอชื่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิก สนช. และนายวิษณุ เครืองาม แต่นายวิษณุขอถอนตัว
ต่อมาที่ประชุมมีมติให้นายวิษณุ เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายสุจิต บุญบงการ เป็นรองประธานคนที่ 2 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. นายยุวรัตน์ กมลเวชช เป็นรองประธาน คนที่ 3 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน คนที่ 4 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นเลขานุการ กมธ. นายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นรองเลขาฯ นายประพันธ์ คูณมี นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายธงทอง จันทรางศุ เป็นโฆษก กมธ.
การแก้ไขเพิ่มเติม
[แก้]หลังจากพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เป็นการนำเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาใช้ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายส่วน ซึ่งปรากฏว่าได้มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน[23] โดยระบุว่าอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองเพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นเหตุให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ให้เรียกร้อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93-98[24]
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 เพียงมาตราเดียว[25]
การสิ้นสุด
[แก้]หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วนั้นก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงชั่วคราวเว้น หมวด 2 พระมหากษัตริย์[26] และได้มีการแก้ไขคำสั่งใหม่ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2557 โดยแก้เป็น ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงเว้น หมวด 2 พระมหากษัตริย์[27] และต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557[28] ซึ่งถือได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้สิ้นสุดลงทุกมาตรา อย่างไรก็ตาม ในทางพฤตินัยนั้นยังคงให้มีการบังคับใช้หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ตามมาตรา 2 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นด้วย และได้ถูกยกเลิกโดยสมบูรณ์แบบหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "คสช. ประกาศให้อำนาจนายกฯ เป็นของประยุทธ์ - เลิก รธน. 50 เว้นหมวด 2 วุฒิฯ-ศาล ทำหน้าที่ต่อ". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-18. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "ในหลวง"พระราชทานรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการ, 22 กรกฎาคม 2557
- ↑ The Bangkok Post, Draft charter loopholes can 'resurrect Thaksin regime', 28 September 2006
- ↑ The Nation, Poll should precede new charter: law experts, 2 October 2006
- ↑ Asian Human Rights Commission, THAILAND: MILITARY COUP - Constitutional fictions เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 October 2006; see also THAILAND: MILITARY COUP - How to make courts independent? เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 October 2006; THAILAND: MILITARY COUP - The right man for what job? เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 4 October 2006
- ↑ The Nation, Thumbs down for the next charter, 15 January 2007
- ↑ The Nation, Thumbs down for the next charter, 21 June 2007
- ↑ The Nation, Sonthi issues guidelines for new charter, 17 December 2006
- ↑ The Nation, Charter drafter pans 'evil' elections, 27 April 2007
- ↑ Borwornsak Uwanno and Wayne D. Burns, The Thai Constitution of 1997 Sources and Process, part 1
- ↑ Borwornsak Uwanno and Wayne D. Burns, The Thai Constitution of 1997 Sources and Process, part 2
- ↑ The Christian Science Monitor, [Draft Thai constitution draws criticism], 27 April 2007
- ↑ IPS, New Constitution Regressive Say Critics, 23 April 2007
- ↑ คมชัดลึก, ม็อบชาวพุทธปิดถ.อู่ทองในกดดันสสร.บัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติ, 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ สำนักข่าวเนชั่น, องค์กรพุทธร้องบรรจุพุทธศาสนาประจำชาติในรธน. เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 13 กุมภาพันธ์ 2550
- ↑ คมชัดลึก, ล่ารายชื่อเปลี่ยน"ประเทศไทย"เป็น"สยาม", 9 เมษายน 2550
- ↑ "ลุ่มเพศที่ 3 รุก เพิ่มข้อความม.30". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
- ↑ โพสต์ทูเดย์/บางกอกโพสต์, รัฐธรรมนูญ : ประชามติเพื่อชาติ, 10 สิงหาคม 2550
- ↑ "ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
- ↑ รัฐธรรมนูญ 2550 ยังยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.
- ↑ สถิติการใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 19 ส.ค. 2550 จำแนกตามรายภาค[ลิงก์เสีย]
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 มติชน, "รธน."มีผลแล้ว ในหลวงลงพระปรมาภิไธย, 25 สิงหาคม 2550
- ↑ มติชน, ส.ส.'พปช.'ปัดแก้รธน.ฟอก'แม้ว'นิรโทษฯ 111 ทรท. ยันไม่สนถูกถอดจากตำแหน่ง เก็บถาวร 2008-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 เมษายน 2551
- ↑ "ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93-98" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2011-04-07.
- ↑ "ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 เพียงมาตราเดียว" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2011-04-07.
- ↑ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
- ↑ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑/๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2014-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
ดูเพิ่ม
[แก้]- การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยราชกิจจานุเบกษา
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2011-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยราชกิจจานุเบกษา
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยราชกิจจานุเบกษา
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑/๒๕๕๗
ก่อนหน้า | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550) |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 - 22 พฤษภาคม 2557 (ทุกมาตรา) 24 สิงหาคม 2550 - 6 เมษายน 2560 (บังคับใช้เฉพาะในหมวด 2 พระมหากษัตริย์) |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 - 6 เมษายน พ.ศ. 2560) |