ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2567

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


บทความคัดสรรแบ่งตามปี
2548 - 2549 - 2550 - 2551 - 2552 - 2553 - 2554 - 2555 - 2556 - 2557 - 2558 - 2559 - 2560 - 2561 - 2562 - 2563 - 2564 - 2565 - 2566 - 2567


มกราคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

วลาดีมีร์ เลนิน
วลาดีมีร์ เลนิน

วลาดีมีร์ อิลลิช อุลยานอฟ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเล่นของเขาว่า เลนิน (22 เมษายน [ตามปฎิทินเก่า: 10 เมษายน] ค.ศ. 1870 – 21 มกราคม ค.ศ. 1924) เป็นนักปฏิวัติ นักการเมือง และนักทฤษฎีชาวรัสเซีย เลนินดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งและประมุขคนแรกของรัสเซียโซเวียต ตั้งแต่ ค.ศ. 1917 ถึง ค.ศ. 1924 และสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ ค.ศ. 1922 ถึง ค.ศ. 1924 ภายใต้การบริหารของเลนิน ประเทศรัสเซียซึ่งในเวลาต่อมาคือสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นรัฐสังคมนิยมแบบพรรคเดียวที่ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต เขาได้พัฒนาแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่รู้จักกันดีในชื่อของลัทธิเลนิน

เลนินเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองซิมบีร์สค์ เลนินยอมรับการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติหลังจากที่พี่ชายของเลนินถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. 1887 หลังถูกไล่ออกจากราชวิทยาลัยคาซัน เนื่องจากมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซาร์ของจักรวรรดิรัสเซีย เลนินย้ายไปกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กใน ค.ศ. 1893 และกลายเป็นนักเคลื่อนไหวลัทธิมากซ์ ใน ค.ศ. 1893 เขาถูกจับในข้อหายุยงปลุกปั่นและถูกเนรเทศไปยังชูเชียนสโคเยในไซบีเรียเป็นเวลาสามปี ซึ่งเขาได้แต่งงานกับนาเดจดา ครุปสกายา หลังจากการเนรเทศ เลนินย้ายไปยุโรปตะวันตก ซึ่งเขาได้กลายเป็นนักทฤษฎีลัทธิมากซ์ที่โดดเด่นในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย ใน ค.ศ. 1903 เขามีบทบาทสำคัญในการแตกแยกทางอุดมการณ์ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเลนินกลายเป็นผู้นำฝ่ายบอลเชวิคเพื่อต่อต้านฝ่ายเมนเชวิคที่นำโดยยูลี มาร์ตอฟ หลังการปฏิวัติที่ล้มเหลวของรัสเซียใน ค.ศ. 1905 เลนินได้รณรงค์เพื่อให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปลี่ยนเป็นการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั่วทั้งยุโรป ซึ่งในฐานะนักลัทธิมากซ์ เขาเชื่อว่าจะทำให้เกิดการล้มล้างทุนนิยมและแทนที่ด้วยลัทธิสังคมนิยม หลังจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ใน ค.ศ. 1917 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ซาร์สละราชสมบัติและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เขากลับไปรัสเซียเพื่อมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติเดือนตุลาคมที่ฝ่ายบอลเชวิคโค่นล้มระบอบการปกครองใหม่ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: กล้ามเนื้อลายสลายตัวแก๊สมีสกุลเจตนา นาควัชระ


กุมภาพันธ์ 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

อะเลคซันดร์ คอลชัค
อะเลคซันดร์ คอลชัค

อะเลคซันดร์ คอลชัค (16 พฤศจิกายน [ตามปฏิทินเก่า 4 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1874 – 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920) เป็นพลเรือเอกแห่งจักรวรรดิรัสเซียและนักสำรวจขั้วโลก เป็นนายทหารประจำกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียและได้ร่วมต่อสู้ในสงครามที่สำคัญสองครั้งคือ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1904–1905 และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมาเขาเป็นผู้นำของขบวนการต่อต้านบอลเชวิคหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ขบวนการขาว" ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ซึ่งได้ก่อตั้งรัฐบาลในไซบีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเลนินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920

คอลชัคเริ่มต้นอาชีพแรกจากการเป็นนักสมุทรศาสตร์และนักอุทกวิทยาในกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ต่อมาเขากลายเป็นผู้นำในการสำรวจขั้วโลกอยู่หลายครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซีย "เกาะคอลชัค" ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลคารา ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1904-1905) คอลชัคได้มีโอกาสร่วมต่อสู้ในสงครามและประสบความสำเร็จในยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ เมื่อทุ่นระเบิดของเรือพิฆาตที่อยู่ภายใต้การบัญชาของเขาได้จมเรือลาดตระเวนทากาซาโกะของญี่ปุ่น ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง คอลชัคกลายเป็นหนึ่งในผู้ปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียใหม่หลังจากความเสียหายในระหว่างสงคราม และได้รับเลื่อนยศเป็นนายทหารเสนาธิการทั่วไปแห่งกองทัพเรือ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วลาดีมีร์ เลนินกล้ามเนื้อลายสลายตัวแก๊สมีสกุล


มีนาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

ร่องลึกบาดาลญี่ปุ่นเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้
ร่องลึกบาดาลญี่ปุ่นเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้

แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ ค.ศ. 2022 เป็นอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุที่เกิดขึ้นห่างกันกว่า 11 ปี แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2022 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) แผ่นดินไหวมีขนาด 7.4 ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีความแตกต่างจากแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 2011 อยู่มากเพราะมีกลไกการเกิดแผ่นดินไหวที่ต่างกัน แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนที่ปริออกในแผ่นแปซิฟิกเอง ในขณะที่เหตุการณ์เมื่อปี 2011 เกิดขึ้นที่บริเวณร่องลึกก้นสมุทรที่ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นแปซิฟิกและแผ่นโอค็อตสค์ ในด้านความเสียหายภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 225 คน และก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจแก่ผู้คนในพื้นที่

แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกันกับแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ ค.ศ. 2021 มาก ทั้งสองเหตุการณ์มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวแทบจะในบริเวณเดียวกัน นักวิทยาแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นมองว่าแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งมีลักษณะคล้ายกับจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นแฝดของกันและกัน (อ่านต่อ...)

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: อะเลคซันดร์ คอลชัควลาดีมีร์ เลนินกล้ามเนื้อลายสลายตัว


เมษายน 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังโบราณสมัยอาณาจักรอยุธยา นอกจากนี้ มีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส

ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด อาคารประธานของกลุ่มอาคารนี้ คือ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: อะเลคซันดร์ คอลชัควลาดีมีร์ เลนินกล้ามเนื้อลายสลายตัว


พฤษภาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

การเลียนแบบชานชาลาที่ 9¾ ในบันเทิงคดีที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส โดยรถลากสัมภาระที่ดูทะลุกำแพงมนตราได้ครึ่งทาง
การเลียนแบบชานชาลาที่ 9¾ ในบันเทิงคดีที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส โดยรถลากสัมภาระที่ดูทะลุกำแพงมนตราได้ครึ่งทาง

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher's Stone) เป็นนวนิยายเล่มแรกในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ และนวนิยายประเดิมของเจ. เค. โรว์ลิง โครงเรื่องติดตามแฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดหนุ่มผู้ค้นพบมรดกเวทมนตร์ของเขา พร้อมกับสร้างเพื่อนสนิทและศัตรูจำนวนหนึ่งในปีแรกที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ด้วยความช่วยเหลือของมิตร แฮร์รี่เผชิญกับความพยายามหวนคืนของพ่อมดมืด ลอร์ดโวลเดอมอร์ ซึ่งฆ่าบิดามารดาของแฮร์รี่ แต่ไม่สามารถฆ่าเขาได้เมื่ออายุหนึ่งขวบ

บลูมส์บิวรีในกรุงลอนดอนจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 ในปี 2541 บริษัทสกอลาสติกจัดพิมพ์ฉบับสำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาภายใต้ชื่อเรื่อง Harry Potter and the Sorcerer's Stone นวนิยายดังกล่าวชนะรางวัลหนังสืออังกฤษส่วนใหญ่ซึ่งตัดสินโดยเด็ก และรางวัลอื่นในสหรัฐอเมริกา หนังสือนี้แตะอันดับ 1 รายการบันเทิงคดีขายดีของนิวยอร์กไทมส์ ในเดือนสิงหาคม 2542 และอยู่ใกล้อันดับ 1 เป็นส่วนใหญ่ของปี 2542 และ 2543 มีการแปลเป็นภาษาอื่นอีกหลายภาษา และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน (อ่านต่อ...)

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วัดพระศรีรัตนศาสดารามอะเลคซันดร์ คอลชัควลาดีมีร์ เลนิน


มิถุนายน 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา
สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา เป็นภาพวาดสีน้ำมันที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยทิเชียน ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับว่าจ้างจากตระกูลฟาร์เนเซและวาดขึ้นในระหว่างการเยือนกรุงโรมของทิเชียนตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1545 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1546 ภาพได้พรรณนาถึงความสัมพันธ์อันหยาบกระด้างระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 กับออตตาวีโอและอาเลสซันโดร ฟาร์เนเซ ผู้เป็นพระราชนัดดา ภาพวาดแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากความชราวัยและการวางกลยุทธ์ภายหลังการสืบต่ออำนาจของสมเด็จพระสันตะปาปาปอล ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในรัชสมัยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

พระสันตะปาปาปอลมิใช่คนเคร่งศาสนา พระองค์ทรงมองว่าตำแหน่งพระสันตะปาปาเป็นเพียงช่องทางเสริมสร้างความมั่นคงแก่ตระกูลเท่านั้น พระองค์ทรงแต่งตั้งอาเลสซันโดรเป็นพระคาร์ดินัลแม้จะมีผู้ครหาว่าเป็นการเห็นแก่ญาติ และใช้เงินภายในคริสตจักรเป็นจำนวนมากสำหรับการสะสมงานศิลปะ ทิเชียนละทิ้งงานที่ได้รับว่าจ้างก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ และในอีก 100 ปีให้หลัง ภาพวาดจึงถูกจัดเก็บไว้ที่ห้องใต้ดินของตระกูลฟาร์เนเซในสภาพที่ชำรุดและไม่ใส่กรอบ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วัดพระศรีรัตนศาสดารามอะเลคซันดร์ คอลชัควลาดีมีร์ เลนิน


กรกฎาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ แจ็ก หลุยส์ โฌแซ็ฟ มารี เลอ กอฟฟ์ (เกิดวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1931 ณ อาล็องซง จังหวัดออร์น ประเทศฝรั่งเศส – เสียชีวิตวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 ณ โซมูร์ จังหวัดแมเนลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส) เป็นนักกีฬาขี่ม้าชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ฝึกสอนทีมอีเวนติงสามวันของสหรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ถึง 1984 เขาได้ฝึกทีมดังกล่าวในการแข่งชิงแชมป์ระดับนานาชาติหลายรายการโดยได้รับรางวัลระดับนานาชาติ 18 เหรียญ รวมถึงอีกหลายรายการในการแข่งกีฬาโอลิมปิก เลอ กอฟฟ์ เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกแห่งการแข่งอีเวนติงของสหรัฐ และยุคที่เขาเป็นผู้ฝึกสอนได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคทองแห่งกีฬาขี่ม้าของสหรัฐ

ก่อนที่จะมาเป็นผู้ฝึกสอนทีมสหรัฐ เลอ กอฟฟ์ ได้รับราชการในกองทัพฝรั่งเศส และเข้าร่วมในการแข่งอีเวนติงสามวันให้แก่ทีมชาติฝรั่งเศส เขาร่วมแข่งกีฬาขี่ม้าในโอลิมปิกฤดูร้อน 1960 โดยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในประเภททีม และโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ซึ่งเขาไม่ได้รับเหรียญรางวัล ต่อมาเขารับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่ทีมอีเวนติง 3 วันของฝรั่งเศส โดยได้รับเหรียญรางวัลระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติหลายรายการ หลังจากเกษียณในฐานะผู้ฝึกสอนทีมสหรัฐ เขาได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของทีมกีฬาขี่ม้าสหรัฐ (USET) สำหรับการพัฒนานักขี่ม้าใหม่, ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกทีมกีฬาขี่ม้าสหรัฐ และเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่ทีมชาติแคนาดา เขายังเป็นผู้ตัดสินของสหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ, กรรมการ และผู้ตัดสินคำอุทธรณ์ในโอลิมปิก

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดารามอะเลคซันดร์ คอลชัค


สิงหาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น
รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม และลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 นำไปสู่การสิ้นสุดของความเป็นศัตรูระหว่างกันในสงคราม จวบจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น หมดสมรรถภาพในการออกปฏิบัติการขนาดใหญ่ได้ และการรุกรานญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้น สหรัฐพร้อมด้วยสหราชอาณาจักรและจีนได้เรียกร้องให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขในปฏิญญาพ็อทซ์ดัมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 หากญี่ปุ่นไม่ปฏิบัติตามอาจต้องเผชิญกับ "การทำลายล้างอย่างฉับพลันและเด็ดขาด" อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นยืนยันเจตจำนงต่อสาธารณะว่าจะสู้รบต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและร้องขอสหภาพโซเวียตซึ่งวางตัวเป็นกลางให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพบนเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์มากกว่า ขณะที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าจะได้รับการช่วยเหลือไกล่เกลี่ย สหภาพโซเวียตได้เตรียมโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียและเกาหลี ตามคำมั่นลับที่ให้ไว้ต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรในการประชุมเตหะรานและยัลตา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดารามอะเลคซันดร์ คอลชัค


กันยายน 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

จุดที่ตามตำนานเชื่อว่าเป็นจุดที่โฮเอลุงให้กำเนิดชิงกิสข่าน ในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน
จุดที่ตามตำนานเชื่อว่าเป็นจุดที่โฮเอลุงให้กำเนิดชิงกิสข่าน ในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน

โฮเอลุง (ราว 1162–1210) เป็นสตรีชนชั้นสูงชาวมองโกเลีย มารดาของเทมุจิง (หรือที่รู้จักในนามชิงกิสข่าน (ที่ให้กำเนิดในภาพ)) เธอมีบทบาทอย่างมากต่อการก้าวเข้าสู่อำนาจของเขา ดังที่ปรากฏบรรยายใน ประวัติศาสตร์ลับของชาวมองโกล

โฮเอลุงเกิดมาในตระกูลอ็อลฮอนด์ของชนเผ่าฮองีรัด แรกเริ่มเธอสมรสกับชิเลโด ชนชั้นสูงชาวเมร์คิต แต่ไม่นานหลังแต่งงานก็ถูกจับกุมตัวไปโดยเยซุเกย์ สมาชิกคนสำคัญของเผ่ามองโกลซึ่งลักพาตัวเธอไปเพื่อเป็นภรรยาเอก ทั้งคู่มีบุตรสี่คนและธิดาหนึ่งคน ได้แก่ เทมุจิง (หรือที่รู้จักในนาม ชิงกิสข่าน), กาซาร์, ฮาชิอน, เทมุเก และเทมุเล็ง หลังเยซุเกย์เสียชีวิตจากการวางยาพิษ และเผ่ามองโกลทิ้งครอบครัวของเธอจากเผ่า โฮเอลุงต้องเลี้ยงดูลูกทั้งหมดของเธอจนเติบใหญ่ด้วยตนเองภายใต้สถานะยากจน นักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการไม่ย่อท้อและทักษะการบริหารจัดการของเธอเป็นพิเศษ เธอยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเทมุจิงหลังแต่งงานกับโบร์เท โฮเอลุงและโบร์เทเป็นสตรีสองคนที่คอยบริหารค่ายของเทมุจิงและให้คำปรึกษาแก่เขา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: การยอมจำนนของญี่ปุ่นสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


ตุลาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

พลูโทเนียมบริสุทธิ์เป็นโลหะสีขาวเงิน เมื่อสัมผัสอากาศได้รวมตัวกับออกซิเจนจะมีสีหมองลง
พลูโทเนียมบริสุทธิ์เป็นโลหะสีขาวเงิน เมื่อสัมผัสอากาศได้รวมตัวกับออกซิเจนจะมีสีหมองลง

พลูโทเนียมเป็นธาตุที่มีเลขอะตอม 94 และสัญลักษณ์ คือ Pu เป็นธาตุโลหะกัมมันตรังสี ค้นพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1940 โดยการระดมยิงยูเรเนียม-238 ด้วยดิวเทอรอน และได้ชื่อตามดาวพลูโต ต่อมาพบพลูโทเนียมได้ในธรรมชาติอีกด้วย แต่ในช่วงแรกการค้นพบถูกปิดเป็นความลับอันสืบเนื่องจากโครงการแมนฮัตตัน

พลูโทเนียมเป็นโลหะแอกทิไนด์ สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับคาร์บอน ฮาโลเจน ไนโตรเจน และซิลิกอน เมื่อสัมผัสอากาศชื้นจะเกิดสารประกอบออกไซด์และไฮไดรด์ ซึ่งจะแตกออกเป็นผงแป้งที่สามารถติดไฟได้เอง

ไอโซโทปของพลูโทเนียมที่เป็นวัสดุฟิสไซล์ (ได้แก่ พลูโทเนียม-239 และ พลูโทเนียม-241) สามารถเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ได้ นำไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่ใช้พลูโทเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นรู้จักกัน ได้แก่ ทรินิตี (ทดสอบที่รัฐนิวเม็กซิโกเมื่อ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945) และแฟตแมน (ทิ้งที่นางาซากิเมื่อ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 นำไปสู่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง)

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดารามโฮเอลุง


พฤศจิกายน 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

พระบรมสาทิสลักษณ์โดยราว ค.ศ. 1822
พระบรมสาทิสลักษณ์โดยราว ค.ศ. 1822

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงผู้ครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1814 จนถึง ค.ศ. 1824 เว้นว่างช่วงปี ค.ศ. 1815 ที่เรียก สมัยร้อยวัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงใช้เวลา 23 ปีเสด็จลี้ภัยตั้งแต่ ค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1814 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1815 ในช่วงสมัยร้อยวัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์เกือบทศวรรษ ระบอบการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในระบอบเก่า)

ทรงถืออิสริยยศเคานต์แห่งพรอว็องส์ในฐานะพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1792 สภากงว็องซียงแห่งชาติเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตีน เมื่อยุวกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส พระโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคตในที่คุมขังในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1795 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระนัดดาในฐานะพระมหากษัตริย์ในพระนาม

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดารามโฮเอลุง


ธันวาคม 2567

ดู - สนทนา - ประวัติ

ภาพแสดงพื้นผิวในระดับโมเลกุลของไรโนไวรัสชนิดหนึ่ง
ภาพแสดงพื้นผิวในระดับโมเลกุลของไรโนไวรัสชนิดหนึ่ง

โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (อังกฤษ: common cold) เรียกเป็นทางการว่า คอหอยส่วนจมูกอักเสบเฉียบพลัน หรือเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute nasopharyngitis) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนที่กระทบต่อจมูกเป็นหลัก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อมาเป็นเวลาไม่เกิน 2 วัน อาการของโรคมีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ ซึ่งมักหายไปเองในเจ็ดถึงสิบวัน แต่บางอาการอาจอยู่ได้นานถึงสามสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ตามมาได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

มีไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดมากกว่า 200 โดยไรโนไวรัส ไวรัสโคโรนา, อะดีโนไวรัส และเอนเทอโรไวรัสเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสูดอากาศที่มีเชื้อไวรัสเข้าไปเมื่อยู่ใกล้กับผู้ป่วย หรือติดทางอ้อมผ่านการเอามือสัมผัสวัตถุที่มีเชื้อติดอยู่ แล้วเอามือนั้นเข้าปากหรือจมูก ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคได้ง่ายได้แก่ การเป็นเด็กที่อยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก การพักผ่อนน้อย และความเครียดทางจิตใจ เป็นต้น ไข้หวัดใหญ่เป็นอีกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหวัด แต่มีอาการรุนแรงกว่าและไม่ค่อยมีน้ำมูก

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดาวัดพระศรีรัตนศาสดารามโฮเอลุง