ข้ามไปเนื้อหา

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การปฏิวัติวัฒนธรรม)
การปฏิวัติทางวัฒนธรรม
ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ยุวชนแดงได้ใช้โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองบนกำแพงมหาวิทยาลัยฟู่ต้านที่ว่า "ปกป้องคณะกรรมการกลางของพรรคด้วยเลือดและชีวิต!" "ปกป้องท่านประธานเหมา ด้วยเลือดและชีวิต!"
ระยะเวลา16 พฤษภาคม ค.ศ. 1966 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 (1966-05-16 – 1976-10-06) (10 ปี 143 วัน)
ที่ตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
เหตุจูงใจรักษาแนวคิดคอมมิวนิสต์จีนด้วยการกวาดล้างซากเดนของทุนนิยมและค่านิยมดั้งเดิมออกจากสังคมจีนแผ่นดินใหญ่
ผลกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สื่อทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกทำลาย
เสียชีวิตพลเรือน ยุวชนแดงและทหารจำนวนหลายแสนจนถึงหลายล้านคน (จำนวนตัวเลขไม่แน่นอน)
ทรัพย์สินเสียหายสุสานขงจื๊อ, หอสักการะฟ้า, สุสานหลวงราชวงศ์หมิง
จับเจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวนและหวัง หงเหวินถูกจับกุมหลังจากนั้น
การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ
อักษรจีนตัวย่อ无产阶级文化大革命
อักษรจีนตัวเต็ม無產階級文化大革命
Commonly abbreviated as
ภาษาจีน1. 文化大革命
2. 文革

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ (อังกฤษ: Great Proletarian Cultural Revolution) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม (อังกฤษ: Cultural Revolution) เป็นขบวนการทางสังคม-การเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วง ค.ศ. 1966 ถึง 1976 ดำเนินการโดยเหมา เจ๋อตงซึ่งขณะนั้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเป็นผู้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมจีน ออกจากวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์และเพื่อกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค การปฏิวัติดังกล่าวส่งผลให้เหมาเจ๋อตงกลับมามีอำนาจหลังการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าที่ล้มเหลว ขบวนการดังกล่าวทำให้การเมืองจีนหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสำคัญ

การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1966 ด้วยการดำเนินการของกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม เหมาเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวออกมา "ถล่มกองบัญชาการ" และประกาศว่า "การกบฏเป็นเรื่องสมเหตุสมผล" เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของเขาในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในโรงเรียน โรงงานและองค์กรรัฐบาล เหมาอ้างว่ากระฎุมพีกำลังแทรกซึมรัฐบาลและสังคมอย่างไม่มีขอบเขต โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทุนนิยม เขายืนกรานให้ขจัด "ลัทธิแก้" (revisionist) เหล่านี้ผ่านการต่อสู้ของชนชั้นอย่างรุนแรง เยาวชนจีนสนองตอบการเรียกร้องของเหมาโดยตั้งกลุ่มยุวชนแดงขึ้นทั่วประเทศ ขบวนการดังกล่าวแพร่ไปสู่ทหาร กรรมกรในเมือง และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เอง พวกเขาดำเนินการต่อสู้ในสมัยประจันหน้าและพยายามยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามสาขา และในที่สุดมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติขึ้นใน ค.ศ. 1967 ในกลุ่มต่าง ๆ มักแบ่งออกเป็นคู่ขัดแย้งกันเองแต่ก็เข้าไปมีส่วนพัวพันใน "การประจันหน้าที่รุนแรง" (จีนตัวย่อ: 武斗; จีนตัวเต็ม: 武鬥; พินอิน: wǔdòu) ทำให้มีการส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าไปรักษาความสงบ

คติพจน์ของเหมาได้ถูกรวบรวมไว้ใน สมุดเล่มแดง ซึ่งกลายเป็นคำสอนศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิบูชาตัวบุคคลของเหมา เจ๋อตง หลิน เปียว ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ถูกเขียนชื่อไว้ในรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเหมา เหมาประกาศให้การปฏิวัติสิ้นสุดใน ค.ศ. 1969 แต่การปฏิวัติยังคงดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ. 1971 เมื่อหลิน เปียวถูกกล่าวหาว่าพยายามก่อการรัฐประหารต่อเหมา เขาได้หลบหนีและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ใน ค.ศ. 1972 แก๊งออฟโฟร์ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งการอสัญกรรมและรัฐพิธีฝังศพเหมา เจ๋อตง และมีการจับกุมแก๊งออฟโฟร์ใน ค.ศ. 1976

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยมีผู้เสียชีวิตตั้งแต่หลายแสนไปจนถึง 20 ล้านคน[1][2][3][4][5][6] เริ่มตั้งแต่สิงหาคมแดงในปักกิ่ง การสังหารหมู่แพร่ขยายทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งการสังหารหมู่กว่างซี ที่มีการกินเนื้อมนุษย์กันขนานใหญ่[7][8], อุบัติการณ์มองโกเลียใน, การสังหารหมู่ปฏิวัติทางวัฒนธรรมในกวางตุ้ง, การสังหารหมู่ปฏิวัติทางวัฒนธรรมในยูนนานและการสังหารหมู่ปฏิวัติทางวัฒนธรรมในหูหนาน ยุวชนแดงได้ทำลายโบราณวัตถุและสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น การฉกชิงทรัพย์ในสถานที่ทางวัฒนธรรมและศาสนา ความล้มเหลวของเขื่อนป่านเฉียว ค.ศ. 1975 เป็นหนึ่งในหายนะทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของโลก ได้เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันผู้คนหลายสิบล้านต่างถูกประหัตประหาร คนสำคัญอย่างเช่น หลิว เช่าฉี ประธานาธิบดีจีน, เติ้ง เสี่ยวผิง, เผิง เต๋อหวยและเฮ่อ หลง ต่างถูกกวาดล้างหรือเนรเทศ ประชาชนหลายล้านถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกลุ่มบัญชีดำทั้งห้าซึ่งถูกทำความอัปยศในที่สาธารณะ จำคุก ทรมาน ใช้แรงงานหนัก ถูกยึดทรัพย์สิน และบางคนถูกประหาร และกดดันให้ฆ่าตัวตาย ปัญญาชนถูกมองว่าเป็นพวก "ค่านิยมเก่าทั้งเก้าที่เน่าเฟะ" และถูกกวาดล้างอย่างกว้างขวาง ได้แก่ นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์อย่างเช่น เหลา เฉ่อ, ฟู่ เหล, เหยา ถงปินและจ้าว จิ่วจางถูกสังหารหรือฆ่าตัวตาย โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกสั่งปิด การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติถูกยกเลิก เยาวชนปัญญาชนในเขตเมืองกว่า 10 ล้านคนถูกส่งไปยังชนบทตามนโยบายการเคลื่อนไหวลงสู่ชนบท

ใน ค.ศ. 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศจีนคนใหม่ และเขาเริ่มนโยบาย "โปล่วน ฝ่านเจิ้ง" ที่ค่อย ๆ รื้อถอนนโยบายของลัทธิเหมาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และนำประเทศกลับเข้าสู่ความสงบ เติ้งเริ่มวาระใหม่ของจีนด้วยการการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ใน ค.ศ. 1981 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเป็นสิ่งที่ "รับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ที่รุนแรงที่สุดและผู้ที่ได้รับความสูญเสียอย่างหนักหน่วงที่สุดคือ ประชาชน ประเทศ และพรรค นับตั้งแต่การจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนขึ้นมา"[9][10][11]

ภูมิหลัง

[แก้]

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า

[แก้]
ประชาชนชนบทจีนทำงานในตอนกลางคืนเพื่อผลิตเหล็กกล้าในช่วงการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า

ในปีค.ศ. 1958 หลังจากแผนห้าปีของจีนได้มีการนำมาใช้ เหมาเรียกร้องให้ "สังคมนิยมรากหญ้า" เร่งแผนการของเขาในการเปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยจิตวิญญาณนี้ เหมาประกาศนโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าด้วยการจัดตั้งคอมมูนประชาชนในชนบท และเริ่มระดมมวลชนเพื่อเข้าสู่การรวมหมู่ หลายชุมชนได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตโภคภัณฑ์ประเภทเดียว คือ เหล็กกล้า เหมาสาบานที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นสองเท่าของระดับในปีค.ศ. 1957[12]

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าเป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เกษตรกรที่ไม่ได้รับการศึกษาจำนวนมากถูกดึงตัวออกจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยถูกรับคำสั่งให้ผลิตเหล็กกล้าในปริมาณมากแทน โดยอาศัยเตาเผาในสนามหลังบ้านของตนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับท้องถิ่น เหล็กกล้าที่ผลิตนั้นมีคุณภาพต่ำและส่วนใหญ่ไร้ประโยชน์ การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าทำให้ขนาดการเก็บเกี่ยวลดลงและทำให้การผลิตสินค้าส่วนใหญ่ลดลงยกเว้นเหล็กดิบและเหล็กกล้าที่มีมากแต่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้หน่วยงานท้องถิ่นมักกล่าวเกินจริงในด้านจำนวนผลผลิต มีการปิดบังซ่อนและจำนวนปัญหามีมากขึ้นเป็นเวลาหลายปี[13][14]: 25–30  ในขณะเดียวกัน ความโกลาหลในการรวมกลุ่มต่าง ๆ กอปรกับสภาพอากาศที่เลวร้าย และการส่งออกอาหารที่มีความจำเป็นในการรักษาสกุลเงินแข็งเอาไว้ ส่งผลให้เกิดภาวะทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน มีการขาดแคลนอาหารอย่างมาก และการผลิตก็ลดลงอย่างมาก ความอดอยากทำให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 30 ล้านคน โดยเฉพาะในภูมิภาคตอนในของแผ่นดินที่มีความยากจนกว่าที่อื่น[15]

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าได้บั่นทอนชื่อเสียงของเหมาภายในพรรค ในปีค.ศ. 1959 เหมาถูกบีบบังคับให้ต้องแสดงความรับผิดชอบครั้งใหญ่ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี อันเป็นประมุขแห่งรัฐโดยนิตินัยของจีน และผู้สืบทอดตำแหน่ง คือ หลิว เช่าฉี ส่วนเหมายังคงดำรงเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้บัญชาการทหารสูงสุดสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฎาคม ผู้นำระดับสูงของพรรคได้ประชุมกันที่ภูเขาลู่ซานเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบาย ในการประชุม นายพลเผิง เต๋อหวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าโดยเขียนจดหมายส่วนตัวไปถึงเหมา เขาเขียนว่า นโยบายล้มเหลวเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและเขาตักเตือนเหมาไม่ให้นำแนวคิดทางการเมืองมาอยู่เหนือหลักการทางเศรษฐศาสตร์[13]

ทั้ง ๆ ที่จดหมายของเผิงจะดูสุภาพและเป็นกลาง แต่เหมาถือว่าสิ่งนี้เป็นการโจมตีความเป็นผู้นำของเขา[14]: 55  ในระหว่างการประชุม เหมาได้ปลดเผิงออกจากตำแหน่ง และกล่าวหาเขาว่าเป็น "พวกฉวยโอกาสฝ่ายขวา" นายพลเผิงถูกแทนที่ด้วยนายพลหลิน เปียว ผู้บัญชาการกองทัพอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผูสนับสนุนเหมามากกว่าและมีความเติบโตในหน้าที่การงาน ในขณะที่การประชุมลู่ซานเป็นระฆังมรณะสำหรับนายพลเผิง ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์เหมาอย่างรุนแรง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจไปสู่พวกสายกลางอย่าง หลิว เช่าฉีและเติ้ง เสี่ยงผิง ซึ่งเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจจีนอย่างมีประสิทธิภาพหลังปีค.ศ. 1959[13]

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 นโยบายหลายอย่างของการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าถูกพลิกโฉมโดยแนวคิดของหลิว, เติ้ง และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล นักปฏิบัตินิยมสายกลางเหล่านี้ไม่กระตือรือร้นที่จะสร้างสังคมยูโทเปียตามแบบเหมา เหมาสูญเสียความนับถือจากสมาชิกพรรค จึงหันไปใช้ชีวิตเสื่อมโทรมและแปลกพิสดาร[16] ในปีค.ศ. 1962 ในช่วงที่โจว, หลิวและเติ้ง ดำเนินการบริหารกิจการภาครัฐและเศรษฐกิจในประเทศ เหมาได้ถอนตัวจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไตร่ตรองในการผสานแนวคิดของเขาเข้ากับลัทธิมากซ์และลัทธิเลนิน ซึ่งรวมถึงแนวคิด "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง"[14]: 55 

ความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียตและการต่อต้านลัทธิแก้

[แก้]
เหมา เจ๋อตง และนีกีตา ครุชชอฟในจีน ค.ศ. 1958

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต เป็นสองรัฐคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าในช่วงแรกทั้งสองประเทศจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจเซฟ สตาลินและการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนีกีตา ครุชชอฟในสหภาพโซเวียต ในปีค.ศ. 1956 ครุชชอฟประณามสตาลินและนโยบายของเขาและเริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังสมัยสตาลิน เหมาและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลายคนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้ พวกเขาเชื่อว่าจะส่งผลด้านลบต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และสตาลินยังคงถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษ[17]: 4–7 

เหมาเชื่อว่าครุชชอฟไม่ยึดมั่นในหลักการลัทธิมากซ์–เลนิน แต่เป็นพวกลัทธิแก้ ซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายของลัทธิมากซ์-เลนินขั้นพื้นฐาน อันเป็นสิ่งที่เหมากลัวว่าจะเป็นการยอมให้ทุนนิยมเข้ายึดครองประเทศ ความสัมพันธ์ของทั้งสองรัฐบาลจึงเลวร้ายลง สหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะสนับสนุนจีนในการเข้าร่วมสหประชาชาติ และทรยศต่อคำมั่นที่จะจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้จีน[17]: 4–7 

เหมายังคงประณามลัทธิแก้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1960 โดยไม่ได้ชี้ตรงไปที่สหภาพโซเวียต แต่เหมาวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรทางอุดมการณ์ของโซเวียตแทน คือ สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย ในทางกลับกันสหภาพโซเวียตวิพากษ์วิจารณ์พรรคแรงงานแอลเบเนียซึ่งเป็นพันธมิตรกับจีน[17]: 7  ในปีค.ศ. 1963 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มประณามสหภาพโซเวียตอย่างเปิดเผย โดยตีพิมพ์ข้อโต้แย้ง 9 ข้อที่ต่อต้านแนวทางของลัทธิแก้ หนึ่งในนั้นมีหัวเรื่องว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ปลอมของครุชชอฟและบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งเหมากล่าวหาว่า ครุชชอฟไม่เพียงแต่เป็นพวกลัทธิแก้ แต่ยังเป็นภัยอันตรายในการฟื้นฟูลัทธิทุนนิยมอีกด้วย[17]: 7  หายนะของครุชชอฟเกิดขึ้นจากการรัฐประหารภายในในปีค.ศ. 1964 ซึ่งมีส่วนทำให้เหมาหวาดเกรงความเปราะบางทางการเมืองของเขาเอง สาเหตุมาจากชื่อเสียงและความเคารพนับถือต่อเขาในหมู่สหายของเขาลดลงอย่างมากหลังนโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า[17]: 7 

เค้าลาง

[แก้]
การกวาดล้างนายพลลัว รุ่ยชิง เป็นการทำให้กองทัพหันมาจงรักภักดีต่อเหมา

ในปีค.ศ. 1963 เหมาประกาศขบวนการการศึกษาสังคมนิยม ซึ่งถูกมองว่าเป็นเค้าลางของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[18] เหมาสร้างภาพของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมด้วยการ "กวาดล้าง" ข้าราชการเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเขาสงสัยถึงความจงรักภักดีในเขตกรุงปักกิ่ง แนวทางของเขานั้นไม่โปร่งใส เขาใช้การกวาดล้างผ่านการเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ การประชุมภายใน และการใช้เครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองอย่างชำนาญ[18]

ในช่วงหลังค.ศ. 1959 อู๋ หาน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง ได้เขียนบทละครชื่อ ไห่ รุ่ยถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ในบทละครกล่าวถึงข้าราชการผู้ซื่อสัตย์อย่าง ไห่ รุ่ย ผู้ถูกปลดจากตำแหน่งโดยจักรพรรดิผู้ทุจริต ในช่วงแรกเหมาประทับใจในบทละครนี้มาก แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 เขาแอบไหว้วานภรรยาของเขา เจียง ชิง และนักโฆษณาชวนเชื่อจากเซี่ยงไฮ้ ชื่อ เหยา เหวินหยวน ให้เขียนบทความวิจารณ์บทละครนี้[17]: 15–18  เหยากล่าวอย่างกล้าหาญว่า ไห่ รุ่ย เป็นภาพอุปมานิทัศน์เพื่อโจมตีเหมา โดยมองว่า เหมาเป็นจักรพรรดิผู้ทุจริต และเผิง เต๋อหวยเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์[17]: 16 

บทความของเหยาทำให้เผิง เจิน[i] นายกเทศมนตรีปักกิ่งต้องตกที่นั่งลำบาก เผิง เจินเป็นข้าราชการที่ทรงอำนาจและเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของอู๋ หาน และเป็นหัวหน้าของ กลุ่มห้าคน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากเหมาให้ศึกษาศักยภาพของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เผิง เจินตระหนักดีว่าเขาจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องหากอู๋เขียนบทละคร "ต่อต้านเหมา" ขึ้น และเขาปรารถนาที่จะควบคุมอิทธิพลของเหยา บทความของเหยาได้ตีพิมพ์เพียงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางแห่งเท่านั้น เผิงสั่งห้ามการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า และหนังสือพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ โดยสั่งให้ทางหนังสือพิมพ์เขียนแต่ "การอภิปรายเชิงวิชาการ" เท่านั้น และไม่ต้องไปใส่ใจการเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเหยา[17]: 14–19  ในช่วงที่ "ศึกทางวรรณกรรม" กับเผิง สร้างความเดือดดาลแก่เหมามาก เหมาจึงไล่หยาง ซ่างคุน ผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมการสื่อสารภายใน หยางโดนไล่ออกด้วยข้อหาที่ไม่มีมูล และเหมาได้แต่งตั้งวัง ตงซิ่ง ผู้จงรักภักดีอย่างมากและเป็นหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของเหมา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน การปลดหยางออกจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายสนับสนุนเหมามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับฝ่ายศัตรูมากขึ้น[17]: 14–19 

ในเดือนธันวาคม หลิน เปียว รัฐมนตรีกลาโหมและเป็นฝ่ายเหมาได้กล่าวหานายพลลัว รุ่ยชิง เสนาธิการกองทัพปลดปล่อยประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านเหมา โดยกล่าวหาว่า ลัวให้ความสำคัญแก่การฝึกทหารมากเกินไป มากกว่าที่จะเป็น "การพิจารณาทางการเมือง" ของลัทธิเหมา แม้ว่าจะมีความสงสัยเบื้องต้นภายในโปลิตบูโรที่พิจารณาความผิดของลัว แต่เหมาก็ผลักดันให้มีการสอบสวน หลังจากที่ลัวถูกประณาม ไล่ออกและถูกบังคับให้ทำการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ความเครียดจากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ลัวฆ่าตัวตาย[17]: 20–27  การที่ลัวถูกปลดทำให้กองทัพหันมาจงรักภักดีต่อเหมา[17]: 24 

หลังจากขับไล่ลัวและหยางออกไปได้แล้ว เหมากลับมาสนใจเผิง เจิน ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1966 "กลุ่มห้าคน" ได้ออกรายงาน "โครงร่างกุมภาพันธ์" (二月提纲) โครงร่างได้รับการอนุมัติจากศูนย์พรรค กำหนดให้เรื่อง ไห่ รุ่ย เป็นการอภิปรายทางวิชาการที่สร้างสรรค์ และมุ่งเป้าที่จะแยกเผิง เจินออกจากนัยยะทางการเมืองใด ๆ แต่เจียง ชิงและเหยา เหวินหยวนยังคงประณามอู๋ หานและเผิง เจินต่อไป ในขณะที่เหมายังคงไล่ลู่ ติ้งอี ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของพรรคออกจากตำแหน่ง เพราะเขาเป็นพันธมิตรกับเผิง เจิน[17]: 20–27 

การปลดลู่ ทำให้พวกนิยมเหมาสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างไม่จำกัด เหมาส่งสัญญาณการโจมตีครั้งสุดท้ายต่อเผิง เจินในการประชุมข้าราชการระดับสูงของโปลิตบูโร โดยผ่านผู้จงรักภักดีอย่างคัง เซิงและเฉิน ป๋อต๋า พวกเขากล่าวหาว่าเผิงเป็นปฏิปักษ์ต่อเหมา โดยระบุว่า "โครงร่างกุมภาพันธ์" เป็น "หลักฐานของการเป็นลัทธิแก้ของเผิง" และจัดกลุ่มเขาเข้ากับข้าราชการที่ถูกปลดที่เรียกว่า "ฝ่ายต่อต้านพรรคของเผิง-ลัว-ลู่-หยาง"[17]: 20–27  ในวันที่ 16 พฤษภาคม โปลิตบูโรได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการโดยเผยแพร่เอกสารทางการประณามเผิง เจิน และ "พันธมิตรที่ต่อต้านพรรค" ของเขา ด้วยถ้อยคำรุนแรง มีการสั่งยุบ "กลุ่มห้าคน" และแทนที่ด้วยกลุ่มลัทธิเหมาอย่าง "กลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม"[17]: 27–35 

ระยะแรก: การเคลื่อนไหวของมวลชน (ค.ศ. 1966-1968)

[แก้]

หมายประกาศ 16 พฤษภาคม

[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1966 มีการ "ขยายสมัยประชุม" ของสภาโปลิตบูโรพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมครั้งนี้แทนที่จะเป็นการประชุมอภิปรายร่วมในเรื่องนโยบาย (ตามบรรทัดฐานปกติของการดำเนินการของพรรค) แต่เป็นการประชุมระดมให้โปลิตบูโรสนับสนุนนโยบายของเหมา การประชุมมีแต่พร่ำถึงวาทศิลป์ทางการเมืองของเหมาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นและมี "ข้อกล่าวหา" ที่ถูกเตรียมการไว้เพื่อกล่าวโทษผู้นำพรรคที่ถูกขับไล่อย่าง เผิง เจินและลัว รุ่ยชิง เอกสารเผยแพร่ในวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นการเตรียมตัวในการสนับสนุนเหมา และเต็มไปด้วยคำประณามผู้ทรยศ[17]: 39–40 

คนพวกนี้เป็นฝ่ายชนชั้นกระฎุมพีที่แทรกซึมเข้ามาในพรรค รัฐบาล กองทัพและในกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลายเต็มไปด้วยพวกลัทธิแก้ที่ต่อต้านการปฏิวัติ เมื่อพวกมันเห็นทีได้โอกาสแล้ว พวกมันจะยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เป็นระบอบเผด็จการของพวกกระฎุมพี พวกมันบางคนที่เรามองผ่าน หรือคนอื่น ๆ ที่เราไม่นึกถึง พวกมันบางคนได้รับความไว้วางใจจากเราและกำลังเตรียมที่จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจของเรา คนพวกนี้อย่างเช่น คนแบบครุชชอฟยังคงซุกซ่อนตัวอยู่ข้างเรา[17]: 47 

ข้อความนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "หมายประกาศ 16 พฤษภาคม" (จีน: 五一六通知; พินอิน: Wǔyīliù Tōngzhī) เป็นการสรุปเหตุผลเชิงอุดมคติของเหมาที่จะใช้ในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[17]: 40  มันบอกเป็นนัยอย่างมีประสิทธิผลว่า ศัตรูของพรรคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นภายในพรรคเอง นั่นคือ ศัตรูที่ "โบกธงแดงเพื่อต่อต้านธงแดง"[17]: 46  วิธีเดียวที่จะค้นหาและระบุตัวพวกคนเหล่านี้ได้โดยผ่าน "กล้องโทรทรรศน์และกล้องจุลทรรศน์ทางความคิดของเหมา เจ๋อตง"[17]: 46  ในขณะที่ผู้นำพรรคค่อนข้างมีความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันในการกำหนดทิศทางของวาระการประชุมไปในแนวทางของเหมา แต่สมาชิกโปลิตบูโรจำนวนมากก็ไม่ได้กระตือรือร้นอะไรเป็นพิเศษ หรือ บางคนแค่เพียงสับสนทิศทางในการเคลื่อนไหวของพรรค[19]: 13  ข้อกล่าวหาต่อผู้นำพรรคที่เคยได้รับการยกย่องอย่างเผิง เจิน ได้เป็นการส่งสัญญาณเตือนชุมชนทางปัญญาของจีนและในหมู่พรรคที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ทั้งแปดพรรค[17]: 41 

การชุมนุมในช่วงแรก (พฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ. 1966)

[แก้]
ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1966 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

หลังจากเผิง เจินถูกกวาดล้าง คณะกรรมาธิการพรรคปักกิ่งหยุดทำงาน ทำให้เกิดความวุ่นวายในเมืองหลวง ในวันที่ 25 พฤษภาคม ภายใต้การนำของเฉา อี้อู ภรรยาของคัง เซิง ผู้เชิดชูลัทธิเหมา และเนี่ย หยวนจื่อ อาจารย์สองวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้เขียนโปสเตอร์ขนาดใหญ่ (大字报, ต้าจื้อเป้า) พร้อมกับผู้นำฝ่ายซ้ายคนอื่น ๆ และประกาศคำแถลงการณ์ต่อสาธารณะ เนี่ยโจมตีฝ่ายพรรคบริหารของมหาวิทยาลัยที่มีผู้นำคือ หลู่ ผิง[17]: 56–58  เนี่ยกล่าวเป็นนัยว่าผู้นำของมหาวิทยาลัย เป็นแบบเดียวกับเผิง เจิน ที่พยายามฉุดรั้งความพยายามปฏิวัติ เป็นการกระทำที่ "ร้ายกาจ" ในการต่อต้านพรรคและผลักดันพวกลัทธิแก้[17]: 56–58 

เหมารับรอง "ต้าจื้อเป้า" ของเนี่ยในฐานะ "โปสเตอร์ลัทธิมากซ์ขนาดใหญ่แห่งแรกในจีน" ข้อเรียกร้องของเนี่ยที่ตอนนี้ได้รับการลงตราประทับอนุมัติส่วนตัวของเหมา สร้างผลกระทบเป็นระลอกคลื่นไปทั่วสถาบันการศึกษาในจีน นักศึกษาในสถานศึกษาทุกแห่งเริ่มประท้วงและต่อต้านการจัดตั้งพรรคในโรงเรียน การเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของโรงเรียนในปักกิ่งถูกยกเลิกในทันที ตามมาด้วยการตัดสินใจในวันที่ 13 มิถุนายน ทีให้มีการขยายการระงับชั้นเรียนทั่วประเทศ[17]: 59–61  ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ฝูงชนหนุ่มสายจำนวนมากได้เดินเรียงรายตามทางสัญจรที่สำคัญของเมืองหลวง ซึ่งมีการถือภาพวาดของเหมาขนาดใหญ่ การตีกลองและการตะโกนข่มขวัญศัตรูของเหมา[17]: 59–61 

เมื่อมีการปลดเผิง เจิน เรื่องของผู้นำพรรคในเขตปกครองตนเองกลายมาเป็นเรื่องราวใหญ่โต ทำให้เกิดความสับสนอย่างกว้างขวาง ภารกิจสาธารณะและการระหว่างประเทศถูกบดบังโดยเหตุของการไล่เผิง เจิน[17]: 62–64  แม้ว่าผู้นำระดับสูงของพรรคจะถูกจับด้วยข้อหาต่อต้านระบบแต่การเดินขบวนประท้วงและการประจันหน้าเกิดขึ้นตามมา[17]: 62–64  หลังจากขอคำแนะนำจากเหมาในหางโจว หลิว เช่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิงตัดสินใจส่ง "ทีมงาน" (工作组; กงโจ้ว จู่) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ "ปฏิบัติตามแนวคิดอย่างมีประสิทธิภาพ" ไปยังโรงเรียนของเมืองและหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า เพื่อฟื้นฟูระเบียบ คำสั่งและจัดตั้งการควบคุมพรรคขึ้นใหม่[17]: 62–64 

ทีมงานรีบดำเนินการอย่างเร่งรีบเกินไปและไม่มีความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนเลย ไม่เหมือนกับขบวนการทางการเมืองในทศวรรษที่ 1950 ที่มุ่งเป้าไปที่ปัญญาชนโดยตรง แต่ขบวนการใหม่ได้เน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่จัดตั้งขึ้น หลายคนมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ส่งผลให้คณะทำงานเกิดความสงสัยมากขึ้นว่าอีกกลุ่มหนึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางความกระตือรือร้นในการปฏิวัติ[17]: 71  ต่อมาผู้นำของพรรคก็แตกแยกกันว่าจะให้ทีมงานดำเนินงานต่อไปหรือไม่ หลิว เช่าฉียืนกรานที่จะให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการทำงานต่อไป และปราบปรามพวกหัวรุนแรงของพรรค โดยเขากลัวว่าความเคลื่อนไหวของพวกนี้จะควบคุมไม่ได้[17]: 75 

"ถล่มกองบัญชาการ" (กรกฎาคม ค.ศ. 1966)

[แก้]
ความขัดแย้งระหว่างเหมาและหลิว
Mao Zedong, Chairman of the Communist Party of China
Liu Shaoqi, President of the People's Republic of China
ในปีค.ศ. 1966 เหมา เจ๋อตงแตกหักกับหลิว เช่าฉี (ขวา) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงประเด็น "ทีมงาน" การโต้เถียงของเหมาที่เรียกว่า "ถล่มกองบัญชาการ" ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเขากำลังพุ่งเป้าไปที่หลิว ซึ่งถูกมองว่าเป็น "กองบัญชาการกระฎุมพี" ภายในพรรคคอมมิวนิสต์

ในวันที่ 16 กรกฎาคม ประธานเหมามีอายุ 72 ปี ได้เดินทางไปยังแม่น้ำแยงซีในอู่ฮั่น พร้อมพาสื่อมวลชนไปด้วย เขาได้ทำสิ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ "การว่ายน้ำข้ามแยงซี" เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการต่อสู้ของเขา ต่อมาเขากลับไปยังปักกิ่งเพื่อดำเนินการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรคในปัญหาเรื่อง "ทีมงาน" เหมากล่าวหาว่า ทีมงานได้บ่อนทำลายขบวนการนักศึกษา และเรียกร้องให้ทีมงานถอนตัวภายในวันที่ 24 กรกฎาคม หลายวันถัดมามีการจัดการชุมนุมขึ้นที่รัฐสภาประชาชนเพื่อประกาศการตัดสินใจและกำหนดแนวทางใหม่ในการเคลื่อนไหวให้กับอาจารย์และนักศึกษานักเรียนตามมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย ในการชุมนุม หัวหน้าพรรคได้ปราศรัยต่อผู้ชุมนุมว่า "จงอย่าตื่นกลัว" และเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญโดยไม่ถูกพรรคแทรกแซง[17]: 84 

ปัญหาเรื่องทีมงานถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองของประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี นอกจากนี้เขายังส่งสัญญาณว่าเข้าไม่เห็นด้วยในการจัดการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขามองว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะทำให้เหมาแยกออกจากเหล่าผู้นำพรรคโดยไม่อาจย้อนกลับได้ ในวันที่ 1 สิงหาคม การประชุมเต็มครั้งที่ 11 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่แปดได้เรียกประชุมอย่างเร่งรีบเพื่อสนับสนุนวาระทางการเมืองที่ก้าวหน้าของเหมา ในการประชุม เหมาได้แสดงการดูหมิ่นประธานาธิบดีหลิวอย่างยิ่ง เขาขัดจังหวะหลิวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในช่วงที่หลิวกล่าวสุนทรพจน์เปิดประชุมสภา[17]: 94  หลายวันต่อมา เหมาพูดส่อเสียดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ผู้นำพรรคได้ฝ่าฝืนหลักการของการปฏิวัติ แนวคิดของเหมาได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นในที่ประชุม เมื่อรู้สึกว่าผู้นำระดับสูงในพรรคไม่เต็มใจที่จะโอบรับอุดมการณ์ในการปฏิวัติของเขา เหมาก็เปิดฉากโจมตี

ยุวชนแดงในปักกิ่ง
จากซ้าย: (1) นักศึกษาในมหาวิทยาลัยครูปักกิ่งเขียนโปสเตอร์ขนาดใหญ่ประณามหลิว เช่าฉี; (2) โปสเตอร์ขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง; (3) ยุวชนแดงในโรงเรียนมัธยมที่ 23 โบกหนังสือเล่มเล็ก คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง ในการชุมนุมการปฏิวัติในห้องเรียน ภาพถ่ายทั้งหมดมาจากไชนาพิกโทเรียล
ในช่วงการประจันหน้าที่รุนแรง ยุวชนแดงได้จับตัวหวัง กวงเหม่ย ภริยาของหลิว เช่าฉี มาประณามให้เกิดความอับอาย

ในวันที่ 28 กรกฎาคม ยุวชนแดงเขียนจดหมายถึงเหมา เพื่อเรียกร้องให้ก่อกบฏและให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อปกป้องการปฏิวัติ เหมาตอบกลับจดหมายด้วยการเขียนโปสเตอร์ตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า ถล่มกองบัญชาการ โดยระดมผู้คนให้ตั้งเป้าหมายไปที่ "ศูนย์บัญชาการ (เช่น สำนักงานใหญ่) ของการปฏิวัติซ้อน" เหมาเขียนว่าแม้จะผ่านการปฏิวัติคอมมิวนิสต์มาแล้ว แต่ชนชั้น "กระฎุมพี" ยังคงเจริญรุ่งเรื่องใน "ตำแหน่งอำนาจ" ในรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์[12]

แม้ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อ แต่คำยั่วยุของเหมาถูกตีความว่าเป็นการบริหารจัดการพรรคภายใต้หลิว เช่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเป็น "กองบัญชาการกระฎุมพี" ของจีน การเปลี่ยนแปลงของบุคลากรในการประชุมได้สะท้อนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคใหม่ให้มีความเป็นหัวรุนแรงอย่างสิ้นเชิง เพื่อตอบรับวาระทางการเมืองใหม่ หลิวและเติ้งยังคงนั่งในตำแหน่งคณะกรรมาธิการประจำโปลิตบูโร แต่แท้จริงแล้วพวกเขาถูกกีดกันจากกิจการในแต่ละวันของพรรค หลิน เปียวได้รับการเลื่อนให้เป็นบุคคลอันดับสองของพรรค หลิว เช่าฉีถูกเลื่อนลงจากอันดับสองมาอยู่อันดับแปดและไม่ใช่ทายาททางการเมืองของเหมาอีกต่อไป[12]

ประกอบกับผู้นำระดับสูงที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งอำนาจเป็นการทำลายระบบราชการของพรรคคอมมิวนิสต์ไปในวงกว้าง ฝ่ายจัดการองค์การพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งดูแลการบริหารงานบุคคลภายในพรรคต้องหยุดชะงัก กลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม (CRG) ซึ่งเป็นกลุ่ม "ไปรโตริอานี" ของลัทธิอุดมคติเหมา ได้ถูกผลักดันให้มีชื่อเสียงในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของเขาและระดมพลผู้สนับสนุน เจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อถูกไล่ออก และหน้าที่หลายประการก็ตกอยู่กับกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม[17]: 96 

สิงหาแดงและสิบหกข้อ (สิงหาคม ค.ศ. 1966)

[แก้]
เหมา เจ๋อตงและหลิน เปียวแวดล้อมไปด้วยยุวชนแดงในปักกิ่ง ภาพถ่ายจาก ไชนาพิกโทเรียล

หนังสือเล่มแดงเล็ก คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง เป็นกลไกที่นำยุวชนแดงไปสู่เป้าหมายของพวกเขาเพื่อกำหนดอนาคตของจีน คติพจน์ของประธานเหมาทำให้เกิดการดำเนินการของเหล่ายุวชนแดงทื่เป็นกลุ่มนิยมลัทธิเหมาคนอื่น ๆ[17]: 107  โดยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1967 มีการตีพิมพ์หนังสือนี้ถึง 350 ล้านเล่ม[20]: 61–64  หนึ่งในคติพจน์ของหนังสือเล่มแดงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุวชนแดงได้ปฏิบัติตามในเวลาต่อมา โดยเหมากล่าวว่า

"โลกใบนี้เป็นของคุณ และเป็นของพวกเราเช่นกัน แต่จากการพิเคราะห์แล้ว โลกทั้งใบคือของคุณ คุณคนหนุ่มสาว ที่เต็มไปด้วยพละกำลังและความมีชีวิตชีวาเฉกเช่นดวงอาทิตย์ในตอนแปดโมงหรือเก้าโมงเช้า ความหวังของเราอยู่ที่พวกคุณ...โลกใบนี้เป็นของคุณ อนาคตของจีนเป็นของคุณ"

ในช่วงสิงหาแดงกรุงปักกิ่ง วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1966 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิจารณาผ่าน "ข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพครั้งใหญ่" ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "สิบหกข้อ"[21] ข้อตัดสินใจนี้นิยามการปฏิวัติทางวัฒนธรรมว่าเป็น "การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ที่สัมผัสจิตวิญญาณของผู้คนและเป็นเวทีที่ลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้นในการยกระดับการปฏิวัติสังคมนิยมของประเทศเรา"[22]

"แม้ว่าชนชั้นกระฎุมพีจะถูกโค่นล้ม แต่มันก็ยังพยายามใช้ความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และแนวคิดเก่า ๆ ของพวกชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบมาสร้างมลทินแก่มวลชน ยึดกุมจิตใจของพวกเขา และกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ชนชั้นกรรมาชีพต้องดำเนินการตรงกันข้าม: ต้องเผชิญความท้าทายจากชนชั้นกระฎุมพี...เพื่อเปลี่ยนแปลงมุมมองสังคม ในปัจจุบัน เป้าหมายของเราคือการต่อสู้และบทขยี้ผู้มีอำนาจที่กำลังเดินในเส้นทางของทุนนิยม ต้องวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธ "ผู้มีอำนาจ" ทางวิชาการที่เป็นพวกกระฎุมพีปฏิกิริยา และแนวคิดของพวกกระฎุมพีและพวกชนชั้นอื่น ๆ ที่เอารัดเอาเปรียบทั้งหมด และเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา วรรณกรรมและศิลปะ และสิ่งอื่น ๆ ของโครงสร้างส่วนบนที่ไม่สอดคล้องกับฐานเศรษฐกิจสังคมนิยม เพื่อส่งเสริมการกระชับอำนาจและพัฒนาระบบสังคมนิยม"

จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1966 ในช่วงการระดมพลยุวชนแดงของประธานเหมา[23] ภาพถ่ายจาก ไชนาพิกโทเรียล

นิยามของสิบหกข้อนั้นกว้างไกลเกินขอบเขต มันยกระดับในสิ่งที่เคยเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษามาเป็นการระดมมวลชนทั่วประเทศที่กระตุ้นทั้ง แรงงาน เกษตรกร ทหารและสมาชิกพรรคระดับล่างให้ลุกฮือขึ้น ท้าทายผู้มีอำนาจและปรับ "โครงสร้างส่วนบน" ของสังคมใหม่

ในช่วงสิงหาแดง ณ กรุงปักกิ่ง วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1966 ยุวชนแดงมากกว่าล้านคนจากทั่วประเทศมาชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อต้องการพบปะประธานเหมา[17]: 106–07  เหมาได้เดินลงไปปะปนกับยุวชนแดงเพื่อกระตุ้นกำลังใจพวกเขา และสวมปลอกแขนยุวชนแดงด้วยตัวเอง[19]: 66  หลิน เปียวได้ยืนขึ้นบนเวทีกลางของการชุมนุมวันที่ 18 สิงหาคม โดยประณามศัตรูทุกรูปแบบในสังคมจีนที่ขัดขวาง "ความก้าวหน้าของการปฏิวัติ"[19]: 66  หลังจากนั้นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในปักกิ่งและความน่าสะพรึงกลัวแดงก็แพร่ขยายไปทั่วประเทศจีน[24][25]

ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1966 ได้มีการออกคำสั่งกลางเพื่อหยุดยั้งตำรวจในการรับมือกับผู้ชุมนุมยุวชนแดง และตำรวจที่ฝ่าฝืนประกาศนี้จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกปฏิวัติซ้อน[17]: 124  เหมาชื่นชมการก่อกบฏที่ดำเนินการโดยยุวชนแดง[17]: 515  เจ้าหน้าที่ส่วนกลางยกเลิกการจำกัดพฤติกรรมที่รุนแรงเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติ[17]: 126  เซี่ย ฟู่จื้อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มักประกาศอภัยโทษ "อาชญากรรม" ที่ก่อโดยยุวชนแดง[17]: 125  เป็นเวลาสองสัปดาห์ เกิดความรุนแรงทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปกครองกว่า 100 คนและชนชั้นกลางในปักกิ่งเสียชีวิตในเขตทางตะวันตกของปักกิ่ง และมีผู้บาดเจ็บเกินกว่านั้น[17]: 126 

สิ่งที่รุนแรงที่สุดในการรณรงค์นี้ ได้แก่ การทรมาน การฆาตกรรม และการสร้างความอัปยศในสาธารณะ ผู้คนจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติต้องฆ่าตัวตาย ในช่วงสิงหาแดง ค.ศ. 1966 ในปักกิ่งมีประชาชนถูกสังหาร 1,772 คน เหยื่อหลายคนเป็นครูอาจารย์ที่ถูกโจมตีหรือบางคนถูกฆ่าโดยนักเรียนของตนเอง[26] ในเซี่ยงไฮ้ มีประชาชนฆ่าตัวตาย 704 คน และถูกสังหาร 534 คน ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเดือนกันยายน ในอู่ฮั่น มีคนฆ่าตัวตาย 62 คน และถูกสังหาร 32 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน[17]: 124  เผิง เต๋อหวยถูกนำตัวมายังปักกิ่งเพื่อถูกสร้างความอัปยศในสาธารณะ

การทำลายสิ่งเก่าทั้งสี่

[แก้]
พระบรมศพของจักรพรรดิว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง กลุ่มยุวชนแดงได้ขุดพระบรมศพของจักรพรรดิว่านลี่และจักรพรรดินีสองพระองค์มาไว้หน้าโลงพระศพ และพวกเขาทำการ "ประณาม" พระบรมศพและนำไปเผาทิ้งในเวลาต่อมา[27]
สุสานขงจื๊อถูกโจมตีโดยยุวชนแดงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1966[28][29]

ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 1966 ได้มีการชุมนุมจำนวนแปดครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 12 ล้านคนจากทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยุวชนแดง[17]: 106  รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของยุวชนแดงที่เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็น "ประสบการณ์การปฏิวัติ"[17]: 110 

ในการชุมนุมของยุวชนแดง หลิน เปียวได้เรียกร้องให้ทำลายสิ่งเก่าทั้งสี่ ซึ่งได้แก่ ขนบธรรมเนียมเก่า, วัฒนธรรมเก่า, นิสัยใจคอเก่า ๆ และความคิดเก่า ๆ[19]: 66  กระแสปฏิวัติได้พัดพาประเทศไปราวกับพายุ โดยยุวชนแดงเป็นนักรบที่โดดเด่นที่สุด การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับ "สิ่งเก่าทั้งสี่" ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย เช่น การเปลี่ยนชื่อถนน สถานที่และแม้แต่ชื่อผู้คน โดยทารกที่เกิดมาจะมีชื่อที่สอดคล้องกับ "การปฏิวัติ"[30] แต่กิจกรรมด้านอื่น ๆ ของยุวชนแดงมีลักษณะเป็นการทำลายล้างมากกว่า โดยเฉพาะในขอบเขตวัฒนธรรมและศาสนา โบราณสถานหลายแห่งทั่วประเทศถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดแก่เมืองหลวงปักกิ่ง ยุวชนแดงยังคงเข้าปล้นวัดขงจื๊อ เมืองชฺวีฟู่ มณฑลชานตง[17]: 119  รวมถึงสุสานและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย[28] ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยตำราทางประวัติศาสตร์และหนังสือต่างประเทศถูกทำลาย หนังสือถูกเผา วัด โบสถ์ มัสยิด อารามและสุสานถูกปิด และบางแห่งถูกดัดแปลงไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น บ้างก็ถูกปล้นสะดมและทำลาย[31] การโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิมากซ์ได้วาดภาพศาสนาพุทธว่าเป็นความงมงาย และศาสนาถูกมองว่าเป็นวิธีการแทรกซึมของพวกต่างชาติที่เป็นศัตรู ตลอดจนเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง[32] นักบวชถูกจับกุมและถูกส่งไปยังค่ายกักกัน ศาสนิกชนศาสนาพุทธแบบทิเบตถูกใช้ปืนข่มขู่เพื่อให้พวกเขาทำลายอารามทางศาสนาของพวกเขาเอง[32]

การประชุมงานส่วนกลาง (ตุลาคม ค.ศ. 1966)

[แก้]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1966 เหมาได้จัดประชุม "การประชุมงานส่วนกลาง" ซึ่งเป็นการโน้มน้าวเหล่าผู้นำพรรคที่ยังไม่ได้เดินรอยตามอุดมการณ์การปฏิวัติ หลิว เช่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิงถูกดำเนินคดีในฐานะส่วนหนึ่งของพวกนายทุนกระฎุมพี (zichanjieji fandong luxian) และต้องวิจารณ์ตัวเองอย่างไม่เต็มใจ[17]: 137  หลิวซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบัณฑิตชนชั้นปกครองสายกลางที่ทรงอำนาจ หลังการประชุมเขาถูกกักบริเวณในบ้านที่กรุงปักกิ่ง จากนั้นถูกส่งตัวไปค่ายกักกัน เขาป่วยและถูกปฏิเสธการรักษาและเสียชีวิตในปีค.ศ. 1969 เติ้ง เสี่ยงผิงถูกส่งตัวไปรับการศึกษาใหม่และถูกส่งไปทำงานโรงงานเครื่องยนต์ที่มณฑลเจียงซี

ฝ่ายหัวรุนแรงยึดอำนาจ (ค.ศ. 1967)

[แก้]
การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการยึดอำนาจในมณฑลชานซี (เดือนเมษายน ค.ศ. 1967)

ขบวนการมวลชนจีนได้รวมพลกันแต่มีสองกลุ่มซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน ฝ่ายหัวรุนแรงให้การสนับสนุนการกวาดล้างทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา และอีกฝ่ายคือ พวกอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนกลุ่มสายกลาง ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของเหมา วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1966 เหมาประกาศ "สงครามกลางเมืองรอบด้าน" เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนให้การสนับสนุน "ฝ่ายซ้าย" แต่ก็ไม่มีการกำหนดเป็นกฎอย่างชัดเจน เนื่องจากเหล่าผู้บัญชาการของกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีความสัมพันธ์ในการทำงานที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค หน่วยทหารจึงทำงานให้เหมาแทนที่จะไปปราบปรามฝ่ายหัวรุนแรงของเหมา[33]

เหตุการณ์ในปักกิ่งกระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งกลุ่ม"ยึดอำนาจ" (duoquan) ขึ้นมาทั่วประเทศและขยายฐานไปยังโรงงานและตามชนบททั่วประเทศจีน ในเซี่ยงไฮ้ หนุ่มกรรมกรโรงงานชื่อ หวัง หงเหวินได้จัดตั้งแนวร่วมการปฏิวัติที่กว้างขวาง และได้เข้าไปแทนที่กลุ่มยุวชนแดงที่มีอยู่ ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1967 ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรมรุ่นใหญ่อย่าง จาง ชุนเฉียวและหวัง หงเหวิน จึงกลายเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวปลุกระดมโค่นล้มฝ่ายบริหารเทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งบริหารโดยเฉิน พีเสี่ยน เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า "การโหมกระหน่ำเดือนมกราคม" และมีการก่อตั้ง คอมมูนประชาชนเซี่ยงไฮ้[34][20]: 115 

เหตุการณ์ในเซี่ยงไฮ้สร้างความประทับใจต่อเหมามาก และกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันทั่วประเทศจีน รัฐบาลระดับจังหวัดและหลายส่วนของรัฐ ระบบการบริหารพรรคได้รับผลกระทบ โดยมีรูปแบบการยึดอำนาจที่น่าจดจำแตกต่างกัน คณะกรรมการปฏิวัติ (จีน) ถูกจัดตั้งขึ้น แทนที่รัฐบาลท้องถิ่นและการบริหารพรรคสาขา[35] ยกตัวอย่างเช่นในปักกิ่ง มีกลุ่มปฏิวัติแยกกันสามกลุ่มและประกาศยึดอำนาจในวันเดียวกัน ขณะเดียวกันในมณฑลเฮย์หลงเจียง พาน ฟู่เซิง เลขาธิการพรรคท้องถิ่นได้พยายาม "ยึดอำนาจ" จากการบริหารของพรรคให้อยู่ภายใต้เขาเอง ผู้นำบางคนถึงกับเขียนให้มีการโค่นอำนาจกลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม[17]: 170–72 

ในปักกิ่ง เจียง ชิงและจาง ชุนเฉียว พยายามพุ่งเป้าไปที่รองประธานพรรคเถา จู้ ขบวนการยึดอำนาตได้เบนหัวไปทางกองทัพด้วยเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ นายพลผู้มีชื่อเสียงอย่างเย่ เจี้ยนอิงและเฉิน อี้ รวมถึงรองประธานพรรคถาน เจิ้นหลิน ยืนยันคัดค้านต่อความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นกล่าวหาผู้อาวุโสในพรรคบางคนที่พยายามทำเรื่องสกปรก โดยกล่าวหาว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรมคือการกำจัดผู้พิทักษ์การปฏิวัติรุ่นเก่า ในช่วงแรกเหมาดำเนินการในทางตรงกันข้าม เขาก้าวเข้าไปในสภาโปลิตบูโรในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพื่อประณามพวกฝ่ายต่อต้านโดยตรง เขาสนับสนุนกิจกรรมของพวกหัวรุนแรงอย่างเต็มที่ การต่อต้านในช่วงสั้น ๆ นี้ถูกตราหน้าว่า "การต้านกระแสเดือนกุมภาพันธ์"[17]: 195–96  เป็นการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่เคลื่อนไหวภายในพรรคอย่างเป็นประสิทธิภาพในปีต่อ ๆ ไป[19]: 207–09 

ในช่วงที่ฝ่ายปฏิวัติกำลังถอดรื้อรัฐบาลที่กำลังบริหาร และองค์การของพรรคทั่วประเทศ แต่เนื่องจากการยึดอำนาจขาดผู้นำแบบรวมศูนย์ จึงไม่มีความแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ยึดมั่นในวิสัยทัศน์การปฏิวัติของเหมาโดยแท้จริง และใครที่เป็นผู้ฉวยโอกาสจากความโกลาหลเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เกิดการก่อตัวของกลุ่มปฏิวัติที่เป็นคู่แข่งกัน เป็นการสำแดงถึงความบาดหมางของท้องถิ่นที่ก่อตัวมานานแล้ว ทำให้เกิดการต่อสู้ของฝ่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างองค์การมวลชนและกองทัพเช่นกัน หลิน เปียวได้ตอบสนองปัญหานี้ด้วยการให้กองทัพสนับสนุนพวกหัวรุนแรง ในขณะเดียวกันกองทัพได้เข้าควบคุมบางมณฑลและท้องที่ซึ่งถือว่าไม่มีความสามารถในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของตนเองได้[19]: 219–21 

ในเมืองตอนกลางอย่างอู่ฮั่น เป็นเหมือนกันกับอีกหลาย ๆ เมือง มีองค์กรการปฏิวัติสองกลุ่มใหญ่ ๆ องค์กรหนึ่งสนับสนุนแนวทางอนุรักษ์นิยม อีกองค์กรก็ต่อต้าน ทั้งสองกลุ่มต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในการควบคุมเมือง เฉิน ไจ้เต้า นายพลในพื้นที่แถบนี้ ใช้กำลังต่อต้านการชุมนุมประท้วงของกลุ่มที่สนับสนุนโดยเหมา อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดโกลาหล เหมาเดินทางด้วยเครื่องบินไปอู่ฮั่นพร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนกลางจำนวนมากเพื่อพยายามทำให้ทหารในพื้นที่ยังคงความจงรักภักดีอยู่ ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1967 ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ลักพาตัวหวัง ลี่ ผู้แทนของเหมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ อุบัติการณ์อู่ฮั่น ส่งผลให้นายพลเฉิน ไจ้เต้าถูกส่งไปยังปักกิ่งและถูกทดสอบโดยเจียง ชิง พร้อมกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรมคนอื่น ๆ การต่อต้านของเฉินถือเป็นการต่อต้านจากภายในครั้งสุดท้ายที่เคลื่อนไหวภายในกองทัพปลดปล่อยประชาชน[17]: 214 

จาง ชุนเฉียวซึ่งเป็นหนึ่งในแก๊งออฟโฟร์ก็ยอมรับเองว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไม่ใช่กลุ่มยุวชนแดง หรือ กลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม หรือ องค์กร "ก่อกบฏ" ใด ๆ แต่ปัจจัยสำคัญคือกองทัพปลดปล่อยประชาชน เมื่อกองกำลังปลดปล่อยประชาชนในท้องถิ่นให้การสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงของเหมา และถ้าไม่มีการร่วมมือจากกลุ่มนี้ การปฏิวัติของเหมาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ[17]: 175  การปะทะกันอย่างรุนแรงเกิดขึ้นแทบทุกเมือง หลังเหตุการณ์ที่อู่ฮั่น เหมาและเจียง ชิงเริ่มจัดตั้ง กองกำลัง "กรรมกร" ติดอาวุธป้องกันตัวเอง, "กองกำลังปฏิวัติติดอาวุธในลักษณะมวลชน" เพื่อตอบโต้สิ่งที่เหมาประเมินว่ามีพวกขวาจัด "75% ในคณะนายทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชน" เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอาวุธ เป็นสถานที่ที่มีการปะทะกันอย่างดุเดือดของทั้งสองฝ่าย โดยในเขตก่อสร้างของเมือง มีการต่อสู้กันถึง 10,000 คน โดยใช้รถถัง ปืนใหญ่เคลื่อนที่ ปืนต่อต้านอากาศยานและอาวุธ "แทบทุกรูปแบบตามประเภทอาวุธทั่วไป" มีปลอกกระสุนปืนใหญ่ถึง 10,000 นัด ในเมืองฉงชิ่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1967[17]: 214–15  ทั่วประเทศมีอาวุธปืนจำนวนทั้งสิ้น 18.77 ล้านกระบอก ปืนใหญ่ 14,828 กระบอก ระเบิด 2,719,545 ลูกอยู่ในมือพลเรือน และใช้ในช่วง ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในช่วงค.ศ. 1967 ถึง 1968 ในเมืองฉงชิ่ง เมืองเซี่ยเหมินและเมืองฉางชุน มีการใช้รถถัง รถหุ้มเกราะ หรือแม้แต่เรือรบในการต่อสู้[33]

การกวาดล้างทางการเมืองและนโยบาย "การเคลื่อนไหวลงสู่ชนบท" (ค.ศ. 1968)

[แก้]

การชำระล้างระดับตำแหน่ง (พฤษภาคม-กันยายน)

[แก้]
หลิว เช่าฉีถูกเหยียดหยามต่อหน้าสาธารณชนในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 เหมาประกาศ "การชำระล้างระดับตำแหน่ง" ขนานใหญ่ เป็นการกวาดล้างทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ เจ้าหน้าที่หลายคนถูกส่งไปยังชนบทเพื่อเข้ารับการศึกษาใหม่

ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1968 อำนาจของยุวชนแดงที่มีเหนือกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นได้ส่งทหารไปปิดล้อมพื้นที่ที่ไม่เคยถูกแตะต้องโดยยุวชนแดง หนึ่งปีต่อมาฝ่ายยุวชนแดงถูกกวาดล้างจนหมด เหมาคาดการณ์ว่าความโกลาหลที่ยุวชนแดงทำขึ้นมาอาจทำให้มีวาระทางการเมืองของตนเอง และอาจถูกล่อลวงให้ต่อต้านอุดมการณ์การปฏิวัติ เหมาและพรรคพวกหัวรุนแรงพลิกกลับฝ่ายสนับสนุนและจัดตั้งอำนาจของตนเอง หลังจากที่เห็นว่าทุกอย่างบรรลุตามทวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น

หลิวถูกขับไล่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในการประชุมรวมครั้งที่ 12 ของคณะกรรมการกลางที่แปด ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1968 และมีการติดป้ายว่า "กองบัญชาการชนชั้นกระฎุมพี" ซึ่งดูเหมือนจะมีการพาดพิงถึง "การถล่มกองบัญชาการ" ที่เหมาเขียนไว้เมื่อสองปีก่อน[36]

การเคลื่อนไหวลงสู่ชนบท (ธันวาคม ค.ศ. 1968)

[แก้]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1968 เหมาริเริ่มรณรงค์ "การเคลื่อนไหวลงสู่ชนบท" ในช่วงการเคลื่อนไหวนี้กินเวลาถึงทศวรรษต่อไป ชนชั้นกระฎุมพีหนุ่มสาวซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองถูกบังคับให้เดินทางไปยังชนบทเพื่อสัมผัสชีวิตการทำงาน มีการนิยามถึง "ปัญญาชนรุ่นเยาว์" อ้างถึงนักศึกษาที่พึ่งสำเร็จการศึกษา ในช่วงหลังทศวรรษที่ 1970 นักเรียนเหล่านี้ได้กลับบ้านเกิดในเมือง นักเรียนหลายคนเคยเป็นสมาชิกของยุวชนแดง ได้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวและวิสัยทัศน์ของเหมา การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนย้ายยุวชนแดงจากเมืองลงสู่ชนบท เพื่อให้เกิดภาวะความวุ่นวายทางสังคมให้น้อยลง นอกจากนี้เป็นการเผยแพร่นโยบายปฏิวัติของจีนในเชิงภูมิศาสตร์[37]

"กระแสความคลั่งมะม่วง" และลัทธิบูชาตัวบุคคลของเหมา (สิงหาคม ค.ศ. 1968)

[แก้]
ภาพวาดสีน้ำมันการโฆษณาชวนเชื่อของเหมาในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ค.ศ. 1967)

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1968 มีการรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อสร้างเกียรติภูมิแก่เหมา ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ "กระแสความคลั่งมะม่วง" ในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1968 เหมาได้รับมะม่วงจำนวน 40 ผลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ชารีฟุดดิน ปีร์ซาดา เป็นการมอบให้ในเชิงการทูต[38] เหมาให้ผู้ช่วยของเขาส่งมะม่วงไปให้ทีมโฆษณาชวนเชื่อของเหมา เจ๋อตง ที่มหาวิทยาลัยชิงหฺวา ในวันที่ 5 สิงหาคม ทีมงานได้ประจำการอยู่ที่นั่นซึ่งมีการปะทะกันอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางกลุ่มยุวชนแดง[39][40] ในวันที่ 7 สิงหาคม มีการตีพิมพ์บทความลงในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า


ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 มีข่าวยินดีอย่างยิ่งเมื่อท่านประธานเหมามอบมะม่วงให้แก่ทีมโฆษณาชวนเชื่อกรรมกรและชาวนาตามแนวคิดเหมา เจ๋อตง เมื่อมะม่วงมาถึงมหาวิทยาลัยชิงหฺวา ผู้คนต่างมารวมตัวกันรอบ ๆ ของขวัญที่ท่านประธานเหมาผู้ยิ่งใหญ่มอบให้ทันที พวกเขาตะโกนโห่ร้องอย่างดีใจและร้องเพลงอย่างเปรมปรีดิ์ น้ำตาไหลริน และพวกเขาส่งความปรารถนาอย่างจริงใจครั้งแล้วครั้งเล่าขอให้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรามีอายุยืนนับหมื่นปีอย่างไม่สิ้นสุด...พวกเขาได้โทรศัพท์ไปที่หน่วยงานของตนเพื่อเผยแพร่ข่าวอันน่ายินดียิ่งนี้ และพวกเขายังจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองหลากหลายตลอดทั้งคืน และเดินทางมาถึงจงหนานไห่ [ที่รวมตัวผู้นำ] ทั้ง ๆ ที่ฝนตกเพื่อรายงานข่าวดีนี้ และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อประธานเหมาผู้ยิ่งใหญ่[39]

บทความต่อมาก็เขียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐมีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการรับมะม่วง[41] มีบทกลอนอื่นใน เหรินหมินรื่อเป้าเขียนว่า "จ้องมองมะม่วงทองคำนั้น/ราวกับเห็นท่านประธานเหมาผู้ยิ่งใหญ่...สัมผัสมะม่วงสีทองซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น/มะม่วงทองคำช่างแสนอบอุ่น"[42] ในเวลานั้นในประเทศจีนมีเพียงไม่กี่คนที่เคยพบเห็นมะม่วงมาก่อน และมะม่วงถูกมองว่าเป็น "ผลไม้ที่หายากที่สุด เสมือนการหาเห็ดแห่งความอมตะ"[42]

"มะม่วง ของขวัญล้ำค่า" (โปสเตอร์การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ค.ศ. 1968)

มะม่วงผลหนึ่งถูกส่งไปยังโรงงานสิ่งทอปักกิ่ง[39] ซึ่งคณะกรรมการปฏิวัติได้จัดชุมนุมเฉลิมเกียรติให้มะม่วง[41] คนงานได้อ่านคำกล่าวของเหมาและเฉลิมฉลองของขวัญ มีการสร้างแท่นบูชาเพื่อสดงผลไม้ให้เด่นชัด หลังจากนั้นสองสามวันเมื่อเปลือกมะม่วงเริ่มเน่า ก็มีการปลอกเปลือกออกและนำมะม่วงไปต้มน้ำในหม้อน้ำ จากนั้นคนงานก็จะได้รับน้ำมะม่วงคนละหนึ่งช้อนเต็ม คณะกรรมการปฏิวัติยังทำแบบจำลองของมะม่วงและตั้งแสดงที่ศูนย์กลางของโรงงาน จากนั้นหลายเดือน "กระแสความคลั่งมะม่วง" เป็นผลไม้ที่แสดงถึงการสร้าง "ความจงรักภักดีอย่างไร้ขอบเขต" ที่มีต่อประธานเหมา มีการสร้างมะม่วงจำลองมากขึ้น และส่งแบบจำลองไปทั่วกรุงปักกิ่งและหลาย ๆ สถานที่ของจีน คณะปฏิวัติหลายคนจากต่างจังหวัดมาทัศนศึกษาเพื่อดูงานมะม่วงจำลองในปักกิ่ง ผู้คนราวครึ่งล้านคนเดินทางมาเยี่ยมชมแบบจำลองมะม่วงเมื่อพวกเขามาถึงเมืองเฉิงตู ป้ายและโปสเตอร์ติดผนังมีรูปมะม่วงและเหมาสั่งผลิตป้ายเหล่านั้นจำนวนหลายล้านป้าย[39]

ผลไม้เป็นจุดร่วมใช้กันในทุกองค์กรในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของทีมโฆษณาชวนเชื่อ มีการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุน "เจินกุ้ย ลี่ปิ่น" (ของขวัญล้ำค่า) ซึ่งก็คือมะม่วงตามที่ทราบกัน[43] ทันตแพทย์คนหนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ นายแพทย์ฮั่น ได้มองมะม่วงและกล่าวว่ามันไม่มีอะไรพิเศษเลยและรูปร่างก็เหมือนมันเทศ เขาจึงถูกดำเนินคดีในข้อหาใส่ร้ายป้ายสี และมีความผิด ต้องเดินประจานตัวเองไปรอบเมือง สุดท้ายถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่ศีรษะ[42][44]

มีการอ้างว่าเหมาใช้มะม่วงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากแรงงาน ซึ่งจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อหยุดการต่อสู้ฝักฝ่ายในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และเป็น "ตัวอย่างที่สำคัญของกลยุทธ์การสนับสนุนเชิงสัญลักษณ์ของเหมา"[41] แม้กระทั่งจนตั้งปีค.ศ. 1969 ผู้เข้าร่วมการศึกษาลัทธิเหมาในปักกิ่งจะมาพร้อมการถอดแบบผลิตเรื่องมะม่วงขนานใหญ่และยังคงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในมณฑลต่าง ๆ[43]

วาระของหลิน เปียว (ค.ศ. 1969-1971)

[แก้]

การเปลี่ยนผ่านอำนาจ (เมษายน ค.ศ. 1969)

[แก้]
จากซ้าย: เหมา เจ๋อตง, หลิน เปียว, โจว เอินไหลและเฉิน ป๋อต๋า ในปักกิ่ง ค.ศ. 1966 ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

การประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่เก้า มีขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 เป็นการ "ฟื้นฟู" พรรคด้วยความคิดใหม่ ๆ และผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นคนหัวโบราณจำนวนมากถูกกำจัดไปในการต่อสู้เมื่อครั้งหลายปีก่อนแล้ว[17]: 285  กรอบโครงสร้างเชิงสถาบันของพรรคที่ตั้งขึ้นเมื่อสองทศวรรษก่อนได้พังทลายลงเกือบทั้งหมด ผู้แทนในสภาถูกเลือกโดนคณะกรรมการปฏิวัติมากกว่าผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค[17]: 288  ตัวแทนจากกองทัพเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการประชุมสภาครั้งก่อน (28% ของผู้แทนทั้งหมดเป็นฝ่ายกองทัพปลดปล่อยประชาชน) และมีการเลือกตั้งฝ่ายกองทัพปลดปล่อยประชาชนมากขึ้นให้เข้าเป็นคณะกรรมการชุดใหม่[17]: 292  นายทหารจำนวนมากได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับอาวุโสซึ่งภักดีต่อจอมพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชน คือ หลิน เปียว ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของผู้นำฝ่ายกองทัพและผู้นำฝ่ายพลเรือน[17]: 292 

เราไม่เพียงแต่รู้สึกปีติยินดีอย่างไร้ขอบเขตเท่านั้น เพราะเรามีผู้นำที่ยิ่งใหญ่อันเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งลัทธิมากซ์-เลนินในยุคสมัยของเรา แต่เรายังมีความยินดีอย่างยิ่งด้วย เพราะเรามีท่านรองประธานหลินเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากท่านประธานเหมาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

— นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่เก้า[45]

หลิน เปียวได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างเป็นทางการให้เป็นบุคคลลำดับที่สองของพรรค โดยมีชื่อของเขาถูกเขียนรับรองในรัฐธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในฐานะ "สหายที่สนิทที่สุด"ของเหมาและ "ผู้สืบทอดอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล"[17]: 291  ในเวลานั้นไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาลใด ๆ ในโลกที่นำแนวปฏิบัติในการบรรจุผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อไปไว้ในรัฐธรรมนูญ การปฏิบัตินี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของจีน หลินกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม โดยมีเอกสารที่ร่างโดยพวกหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายอย่างเหยา เหวินหยวนและจาง ชุนเฉียว ภายใต้การกำกับดูแลของเหมา[17]: 289  เอกสารดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์หลิว เช่าฉีและ "ผู้ปฏิปักษ์การปฏิวัติ" อย่างหนักและมีการนำข้อความในหนังสือเล่มแดงของเหมามาใช้อย่างมาก การประชุมสภาได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่บทบาทของลัทธิเหมาภายในจิตใจของพรรค โดยแนะนำลัทธิเหมาอีกครั้งว่าเป็นอุดมการณ์ชี้นำอย่างเป็นทางการของพรรคในรัฐธรรมนูญของพรรค สุดท้ายสภาได้เลือกสมาชิกโปลิตบูโลใหม่โดยมีเหมา เจ๋อตง, หลิน เปียว, เฉิน ป๋อต๋า, โจว เอินไหลและคัง เซิง เป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หลิน, เฉินและคังต่างได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โจวถูกลดตำแหน่งและแสดงการสนับสนุนต่อหลินอย่างชัดแจ้งในสภา[17]: 290  เหมายังได้ฟื้นฟูการทำงานของสถาบันพรรคที่เป็นทางการบางแห่ง เช่น การดำเนินงานของโปลิตบูโรของพรรค ซึ่งหยุดดำเนินการไปตั้งแต่ปีค.ศ. 1966 และ 1968 เนื่องจากกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรมกลางได้ควบคุมอำนาจ "โดยพฤตินัย" ของประเทศ[17]: 296 

กองทัพปลดปล่อยประชาชนก้าวเข้ามามีบทบาทโดดเด่น (ค.ศ. 1970)

[แก้]
หลิน เปียวกำลังอ่านหนังสือเล่มแดงของเหมาในปีค.ศ. 1971 เขาได้รับการยืนยันในฐานะผู้สืบทอดอำนาจของเหมาอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญจากการประกาศในปีค.ศ. 1969

ความพยายามของเหมาในการจัดระเบียบพรรคและสถาบันของรัฐทำให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลาย มณฑลห่างไกลหลายแห่งยังคงวุ่นวายในขณะที่ในปักกิ่งมีเสถียรภาพทางการเมือง การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ยังคงมีความรุนแรงและยังดำเนินต่อไปในระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการประกาศในการประชุมครั้งที่เก้าว่า เป็น "ชัยชนะ" ชั่วคราวของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[17]: 316  นอกจากนี้ถึงแม้ว่าเหมาพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสภา แต่ก็มีการแบ่งฝ่ายระหว่างกองทัพปลดปล่อยประชาชนของหลิน เปียว และกลุ่มพวกหัวรุนแรงของเจียง ชิง ที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น การที่ผู้นำบางคนไม่ชอบเจียง ชิงเป็นการส่วนตัวได้ดึงดูดให้ผู้นำพลเรือนจำนวนมากพยายามออกห่าง รวมถึงนักทฤษฎีที่มีชื่อเสียงอย่าง เฉิน ป๋อต๋าที่หันมาใกล้ชิดกับหลิน เปียว[14]: 115 

ในระหว่างค.ศ. 1966 และค.ศ. 1968 จีนถูกโดดเดี่ยวในระดับสากลโดยได้ประกาศความเป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากมีการปะทะกันบริเวณชายแดนที่แม่น้ำอุสซูรีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1969 โดยผู้นำจีนเตรียมพร้อมทำสงคราม[17]: 317  ในเดือนตุลาคม ผู้นำระดับสูงได้อพยพออกจากปักกิ่ง[17]: 317  ท่ามกลางความตึงเตรียดนี้ หลิน เปียวได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารให้เตรียมทำสงครามส่งไปยังกองพันทหารปลดปล่อยประชาชนทั้ง 11 กองพันในวันที่ 18 ตุลาคม โดยไม่ผ่านเหมา สิ่งนี้สร้างความโกรธเคืองของประธานเหมา จึงเป็นหลักฐานว่าอำนาจของเขาอาจถูกแย่งชิงก่อนเวลาอันควรโดยผู้สืบทอดของเขาเอง[17]: 317 

ความขัดแย้งระหว่างหลินและเจียง
หลิน เปียว
เจียง ชิง
ในปีค.ศ. 1969 หลังจากหลิน เปียวได้เป็นตำแหน่งผู้สืบทอดของเหมาอย่างเป็นทางการ ผู้นำพรรคหลายคนและกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้การสนับสนุนเขา จึงเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายหัวรุนแรงในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเจียง ชิง ภริยาประธานเหมา ฝ่ายหลินได้ความนิยมจากพลเรือนมากกว่าเจียง จึงทำให้เหมามีความระแวงว่าเขาจะถูกผู้สืบทอดก่อรัฐประหาร

โอกาสในการทำสงครามได้ทำให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีความโดดเด่นในการเมืองภายในประเทศ โดยเพิ่มพื้นที่ความนิยมของหลินแต่แลกมาด้วยความนิยมของเหมาที่ถูกบดบัง[17]: 321  มีหลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นว่า เหมาถูกผลักดันให้แสวงหาความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการครอบงำการเมืองของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในกิจการภายใน อันเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าทางทหารกับสหภาพโซเวียต[17]: 321  เหมาได้พบปะกับริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1972 เหมากล่าวเป็นนัยกับประธานาธิบดีว่า หลินไม่เห็นด้วยกับการแสวงหาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา[17]: 322 


ฟื้นฟูตำแหน่งประธานาธิบดี (ประธานแห่งรัฐ)

[แก้]

หลังจากหลินได้รับการยืนยันในฐานะผู้สืบทอดของเหมา ผู้สนับสนุนเขาได้มุ่งมั่นในการฟื้นฟูตำแหน่งประธานาธิบดี (ประธานแห่งรัฐ)[46] ซึ่งถูกยุบเลิกไปโดยเหมา เจ๋อตงในช่วงกวาดล้างหลิว เช่าฉี พวกเขาหวังว่าการอนุญาตให้หลินผ่อนคลายบทบาทในการแทรกแซงตามรัฐธรรมนูญของประธานและรองประธาน จะทำให้การสืบทอดตำแหน่งของหลินมีความเป็นสถาบัน ฉันทามติภายในโปลิตบูโรพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ระบุให้เหมาดำรงตำแหน่งนี้โดยมีหลินเป็นรองประธาน แต่เหมาได้เปล่งเสียงคัดค้านอย่างชัดเจนโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งเป็นการคัดค้านต่อการสถาปนาตำแหน่งขึ้นมาใหม่และความหยิ่งผยองของเขา[17]: 327 

การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของแต่ละฝ่ายทวีความรุนแรงขึ้นในการประชุมครั้งที่สองของคณะกรรมการที่เก้าในหลูชาน ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1970 เฉิน ป๋อต๋าซึ่งขณะนี้อยู่แนวร่วมเดียวกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่จงรักภักดีต่อหลิน สนับสนุนการบูรณะทำเนียบประธานาธิบดีจีน แม้ว่าเหมาจะมีความเห็นตรงข้ามก็ตาม[17]: 331  นอกจากนี้เฉินยังเปิดฉากโจมตีจาง ชุนเฉียว ผู้สนับสนุนลัทธิเหมาและเป็นผู้สร้างความวุ่นวายในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ว่าทำไปนอกเหนือจากที่เหมาต้องการ[17]: 328 

การโจมตีจางทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมยินดีอย่างมากในการประชุมกรรมการ และอาจถูกตีความโดยเหมาว่าเป็นการโจมตีทางอ้อมต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เหมาเผชิญหน้ากับเฉินอย่างเปิดเผย ประณามเขาว่าเป็น "ลัทธิมากซ์จอมปลอม"[17]: 332  และปลดเขาออกจากคณะกรรมการประจำกรมการเมือง นอกเหนือจากการกำจัดเฉิน เหมายังขอให้หลินเขียนหลักการข้อวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเกี่ยวกำตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการเตือนหลิน เหมายังได้แต่งตั้งผู้สนับสนุนเขาหลายคนเข้าร่วมคณะกรรมาธิการทหารกลาง และวางตำแหน่งผู้จงรักภักดีต่อเขาเข้าไปเป็นผู้นำในเขตทหารปักกิ่ง[17]: 332 

เที่ยวบินของหลิน เปียว (กันยายน ค.ศ. 1971)

[แก้]
ภาพรอยขูดขีดเขียนคำปรารภของหลิน เปียวที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มแดงของเหมา เจ๋อตง ชื่อของหลิน (ล่างขวา) ถูกขูดขีดออกภายหลัง คาดว่าหลังเขาเสียชีวิต

ในปีค.ศ. 1971 ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารก็ปรากฏให้เห็น เหมามีปัญหากับความโดดเด่นที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนที่เพิ่งมีขึ้นมา และการกวาดล้างเฉิน ป๋อต๋า เป็นจุดเริ่มต้นของการลดขอบเขตการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกองทัพปลดปล่อยประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป[17]: 353  ตามแหล่งข้อมูลของทางการระบุว่าเมื่อหลินมีอำนาจที่ลดน้อยถอยลง สุขภาพของเขาก็ย่ำแย่ลงด้วย ผู้สนับสนุนหลินวางแผนที่จะใช้อำนาจทางทหารที่ยังมีอยู่ขับไล่ประธานเหมาด้วยการรัฐประหาร[14]

หลิน ลี่กั่ว บุตรชายของหลิน เปียวและนายทหารระดับสูงผู้สมรู้ร่วมคิดหลายคนพยายามจัดตั้งกลไกรัฐประหารในเซี่ยงไฮ้และวางโครงการขับไล่เหมาด้วยกำลังในชื่อ เค้าโครงโครงการ 571 ซึ่งเป็นคำคล้ายกับคำว่า "การลุกฮือทางทหาร" ในภาษาจีนกลาง ยังเป็นที่ถกเถียงว่าหลิน เปียวมีส่วนร่วมในขบวนการนี้หรือไม่ ในขณะที่แหล่งข่าวอย่างเป็นทางการของจีนยืนยันว่า หลินวางแผนและดำเนินการก่อรัฐประหาร นักวิชาการอย่างจิน ชิว ได้ให้ภาพหลินว่าเป็นตัวละครที่ไม่โต้ตอบซึ่งถูกสมาชิกในครอบครัวและผู้สนับสนุนของเขาควบคุม[14] ชิวโต้แย้งว่าหลิน เปียวไม่เคยมีส่วนร่วมในโครงร่างนั้นและมีหลักฐานชี้ชัดว่าหลิน ลี่กั่วร่างแผนการรัฐประหาร[14]

"เค้าโครง" ถูกกล่าวว่าส่วนใหญ่มีแผนการทิ้งระเบิดทางอากาศโดยใช้กองทัพอากาศ ตอนแรกมีการพุ่งเป้าไปที่จาง ชุนเฉียวและเหยา เหวินหยวน แต่ตอนหลังมีการดึงเหมาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และถ้าแผนการสำเร็จ หลินจะทำการจับกุมคู่แข่งทางการเมืองและเข้ายึดอำนาจ มีการอ้างว่ามีความพยายามบอบสังหารเหมาในเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 8 - 10 กันยายน ค.ศ. 1971 มีการรับรู้ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเหมาและได้มีการส่งเตือนไปยังประธาน รายงานภายในฉบับหนึ่งอ้างว่าหลินวางแผนที่จะระเบิดสะพานซึ่งเหมาต้องสัญจรผ่านเพื่อเข้าปักกิ่ง มีรายงานว่าเมื่อเหมาได้รับข่าวกรองเขาจึงเลี่ยงที่จะผ่านสะพานนี้

การตายของหลิน เปียว

[แก้]

ตามรายงานของทางการเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1971 หลิน เปียวพร้อมภริยาคือ เย่ เฉวียน บุตรชายคือ หลิน ลี่กั่วและทีมงานของเขาได้หลบหนีไปยังสหภาพโซเวียตเพื่อขอลี้ภัย ระหว่างเดินทางเครื่องบินของหลินตกในสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย ทุกคนบนเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าเครื่องบินน้ำมันหมดระหว่างเดินทางไปยังสหภาพโซเวียต ทีมงานของโซเวียตได้สืบสวนเหตุการณ์นี้ไม่สามารถระบุสาเหตุการชนได้ แต่ตั้งสมมติฐานว่านักบินกำลังบินต่ำเพื่อหลบเรดาห์และเขาประเมินยอดความสูงของเครื่องบินผิด

รายงานของทางการถูกตั้งคำถามโดยนักวิชาการต่างชาติ ซึ่งตั้งข้อสงสัยในการที่หลินเลือกโซเวียตเป็นจุดหมายปลายทาง เรื่องเส้นทางเครื่องบิน ตัวตนของผู้โดยสาร และการรัฐประหารเกิดขึ้นจริงหรือไม่[14][47]

ในวันที่ 13 กันยายน โปลิตบูโรได้ประชุมฉุกเฉินในวาระเรื่องหลิน เปียว เฉพาะวันที่ 30 กันยายนเท่านั้นที่มีการยืนยันการเสียชีวิตของหลิน เปียวไปทั่วกรุงปักกิ่ง ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกกิจกรรมเฉลิมฉลองวันชาติจีนในวันรุ่งขึ้น คณะกรรมการกลางปกปิดข้อมูล และข่าวการเสียชีวิตของหลินไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนจนเลยเวลาสองเดือนหลังจากเกิดเหตุ[14] ผู้สนับสนุนหลินหลายคนลี้ภัยในฮ่องกง ส่วนคนที่ยังอยู่แผ่นดินใหญ่ได้ถูกกวาดล้าง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้นำพรรคไม่ทันระวังตัว แนวคิดที่ว่าหลินสามารถทรยศเหมาได้ ทำให้เป็นการทำลายความชอบธรรมในวาทศิลป์ทางการเมืองของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เนื่องจากนามของหลินปรากฏชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญของพรรคในฐานะ"สหายที่สนิทที่สุด" ของเหมาและ "ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อไป" เป็นเวลาหลายเดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ ทางพรรคมีความวุ่นวายในการหา "หนทางที่ถูกต้อง" ในการป้อนข้อมูลเหตุการณ์ต่อสาธารณขน[14]

"แก๊งออฟโฟร์" (ค.ศ. 1972-1976)

[แก้]

ความเป็นปรปักษ์ต่อโจวและเติ้ง (ค.ศ. 1972-1973)

[แก้]
เจียง ชิง (ซ้าย) ภริยาเหมา เจ๋อตง และเป็นสมาชิกแก๊งออฟโฟร์ ออกตรวจพลยุวชนแดงในปักกิ่ง พร้อมนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล (กลาง) และคัง เซิง พวกเขาถือสมุดเล่มแดงของเหมาไว้ในมือ
หวัง หงเหวิน สมาชิกพรรคจากต่างมณฑลได้รับเลือกจากเหมาให้เป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ และเข้ามาร่วมเป็นกลุ่มการเมืองของเจียง ชิง

เหมารู้สึกหดหู่และปลีกตัวเองหลังจากเหตุการณ์หลิน เปียว เมื่อหลินตาย เหมาก็ไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา เหมารู้สึกสูญเสียทิศทางกะทันหัน เขาจึงพยายามติดต่อกับสหายเก่าที่เขาเคยประณามในอดีต ในขณะเดียวกัน เดือนกันยายน ค.ศ. 1972 เหมาได้ย้ายแกนนำพรรควัย 38 ปีจากเซี่ยงไฮ้ ชื่อ หวัง หงเหวินมายังปักกิ่ง และให้เขาเป็นรองประธานพรรค[17]: 357  หวังเป็นอดีตแรงงานในโรงงานที่มีพื้นเพมาจากชาวนา[17]: 357  และมีการดูแลเขาอย่างดีเพื่อปูทางให้ขึ้นสืบตำแหน่ง[17]: 364  ตำแหน่งของเจียง ชิงแข็งแกร่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุเที่ยวบินของหลิน เธอมีอิทธิพลที่น่าเกรงขามในฝ่ายหัวรุนแรง เมื่อสุขภาพของเหมาทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่สังเกตได้ว่าเจียง ชิงมีความทะเยอทะยายเพื่อตัวของเธอเอง เธอสร้างพันธมิตรกับหวัง หงเหวิน และผู้เชี่ยวชาญโฆษณาชวนเชื่ออย่าง จาง ชุนเฉียวและเหยา เหวินหยวน จัดตั้งกลุ่มทางการเมืองที่ถูกขนานนามในภายหลังว่า "แก๊งออฟโฟร์"

ในปีค.ศ. 1973 การต่อสู้ทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ได้ทิ้งให้สถาบันระดับล่างหลายแห่ง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น โรงงานและทางรถไฟ ต้องขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่พื้นฐาน[17]: 340  เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะระส่ำระส่าย ซึ่งต้องฟื้นฟูตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ถูกกวาดล้างออกไป แต่ส่วนกลางของพรรคกลับถูกครอบงำโดยผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิวัติทางวัฒนธรรรมและกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ซึ่งยังคงมุ่งเน้นสร้างความบริสุทธิ์ทางอุดมการณ์เหนือผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ด้านเศรษฐกิจยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของโจว เอินไหล เป็นคน "เอียงซ้าย" ที่เจียมเนื้อเจียมตัวเพียงไม่กี่คน โจวพยายามฟื้นฟูให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่กลับถูกแก๊งออฟโฟร์ไม่พอใจ โดยระบุว่าเขาเป็นภัยคุกคามทางการเมืองต่อการสืบทอดตำแหน่งหลังสมัยของเหมา

ในหลังปี 1973 เพื่อทำให้ตำแหน่งทางการเมืองของโจวอ่อนแอลง และพยายามทำให้พวกตัวเองถอยห่างจากการทรยศของหลิน แก๊งออฟโฟร์จึงออกนโยบาย "วิจารณ์หลิน วิจารณ์ขงจื๊อ" ภายใต้การควบคุมของเจียง ชิง[17]: 366  มีเป้าหมายเพื่อกวาดล้างลัทธิขงจื๊อสมัยใหม่และประณามหลิน เปียวว่าเป็นผู้ทรยศและเป็นพวกถ่วงรั้งความเจริญ[17]: 372  เป็นการฟื้นคืนช่วงปีแรกของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่เป็นการต่อสู้กับการเปรียบเปรยทางประวัติศาสตร์ และแม้ชื่อของโจว เอินไหลจะไม่ถูกกล่าวถึงในการรณรงค์นี้ แต่ชื่อของนายกรัฐมนตรีกลับไปพ้องกับโจวกงหวัง สมาชิกของราชวงศ์โจวในอดีตที่ถูกมาเป็นเป้าโจมตีบ่อยครั้ง

การกอบกู้ชื่อเสียงของเติ้งและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ค.ศ. 1975)

[แก้]
เติ้ง เสี่ยวผิง (ซ้าย) พร้อมหลี่ เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีจีนในอนาคต (กลาง) และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ในปีค.ศ. 1963

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและโจวล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เติ้ง เสี่ยวผิงกลับเข้ามาสู่ฉากการเมืองอีกครั้ง โดยรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1973 เป็นการแต่งตั้งครั้งแรกที่ได้รับการอนุมัติจากเหมา หลังจากโจวถอนตัวจากการเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1975 เติ้งได้รับมอบหมายให้ดูแลรัฐบาล พรรคและกองทัพ โดยเข้าได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นเสนาธิการทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชน เป็นรองประธานพรรคอีกคนหนึ่งและเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (จีน) ในระยะเวลาสั้น ๆ[17]: 381 

การกอบกู้ชื่อเสียงของเติ้งอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายหัวรุนแรงซึ่งมองว่าตัวเองเป็นทายาททางการเมืองและอุดมการณ์ที่ชอบธรรมของเหมา มองดูด้วยความประหลาดใจ เหมาต้องการใช้เติ้งเป็นตัวถ่วงดุลฝ่ายกองทัพในรัฐบาลเพื่อปราบปรามผู้ที่ยังภักดีต่อหลิน เปียวที่ยังคงเหลืออยู่ นอกจากนี้เหมายังสูญเสียความมั่นใจในความสามารถของแก๊งออฟโฟร์ในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ และเขามองว่าเติ้งเป็นผู้นำที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพ การปล่อยให้ประเทศมีความยากจนต่อไปไม่เป็นผลดีต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่เหมาลงมืออย่างหนักเพื่อปกป้องมาตลอด การกลับมาของเติ้งทำให้การต่อสู้ระหว่างฝักฝ่ายมีความยืดเยื้อระหว่างแก๊งออฟโฟร์กับฝ่ายสายกลางที่นำโดยโจวและเติ้ง

ในเวลานั้น เจียง ชิงและฝ่ายของเธอได้ควบคุมสื่อมวลชนและเครื่อข่ายการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่โจวและเติ้งควบคุมกลไกส่วนใหญ่ของรัฐบาล ในการตัดสินใจบางเรื่อง เหมาพยายามลดอิทธิพลของแก๊งออฟโฟร์ แต่สำหรับคนอื่น เหมาพยายามทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา การควบคุมอย่างหนักหน่วงของแก๊งออฟโฟร์ต่อสื่อและการเมืองไม่สามารถกีดกันเติ้งในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของเขาได้ เติ้งคัดค้านอย่างเด่นชัดในการต่อต้านการแตกแยกเป็นฝ่ายในพรรค และนโยบายของเขามุ่งสร้างความสามัคคีอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยมีเป้าหมายแรกคือฟื้นฟูผลิตภาพทางเศรษฐกิจ[17]: 381 

เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างหลังยุคการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าที่ดำเนินการโดยหลิว เช่าฉี เติ้งได้ปรับปรุงระบบรถไฟ, อุตสาหกรรมเหล็กกล้าในจีน และพื้นที่สำคัญอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ แต่ในหลังปีค.ศ. 1975 เหมาเห็นว่าการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเติ้งอาจจะลบล้างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และเขาได้เริ่มการรณรงค์ต่อต้าน "การฟื้นฟูกรณีของพวกฝ่ายขวา" ซึ่งทำให้เติ้งกลายเป็น "ฝ่ายขวา" ที่เด่นชัดที่สุดในประเทศ เหมาจึงสั่งให้เติ้งเขียนคำวิจารณ์ตนเองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสรรเสริญจากแก๊งออฟโฟร์[17]: 381 

การอสัญกรรมของโจว เอินไหล (ต้น ค.ศ. 1976)

[แก้]

ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1976 โจว เอินไหลถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ในวันที่ 15 มกราคม เติ้ง เสี่ยงผิงได้มีแถลงการณ์สรรเสริญโจวอย่างเป็นทางการในรัฐพิธีฝังศพ โดยผู้นำระดับสูงของจีนเข้าร่วมพิธีทั้งหมด จะขาดก็แต่เพียงตัวเหมาเอง ซึ่งทำการวิพากษ์วิจารณ์โจวมากขึ้นเรื่อย ๆ[48]: 217–18 [49]: 610  หลังจากโจวถึงแก่อสัญกรรม เหมาไม่ได้เลือกทั้งเติ้งหรือสมาชิกในแก๊งออฟโฟร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขากลับเลือกฮั่ว กั๋วเฟิง ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักแทน[50]

แก๊งออฟโฟร์เริ่มวิตกกังวลว่าการที่โจวได้รับความนิยมจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางจะทำให้เกิดการพลิกกระแสทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาได้ พวกเขาจึงดำเนินการผ่านสื่อเพื่อแจ้งข้อกำหนดข้อจำกัดในการแสดงความไว้อาลัยต่อโจวในที่สาธารณะ ความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม การกดขี่ข่มเหงเติ้ง เสี่ยวผิงในที่สาธารณะ (มองว่าเขาเป็นพันธมิตรกับโจว) และการห้ามไม่ให้มีการไว้ทุกข์ในที่สาธารณะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อเหมาและแก๊งออฟโฟร์[48]: 213 

ความพยายามอย่างเป็นทางการในการบังคับใช้ข้อจำกัดการไว้อาลัย รวมถึงการลบอนุสรณ์สาธารณะและทำลายโปสเตอร์ที่ระลึกความสำเร็จของโจว ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1976 หนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ เหวินฮุ่ย เป้า เรียกโจวว่าเป็น "นายทุนผู้ฝังรากอยู่ในพรรค [ผู้] ต้องการช่วยนายทุนผู้ฝังรากที่ไม่ยอมสำนึก [เติ้ง] ให้กลับคืนสู่อำนาจ" ความพยายามโฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของโจว แต่กลับกลายเป็นว่า ทำให้สาธารณชนมีความผูกพันในความทรงจำที่มีต่อโจวอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก[48]: 214 

เหตุการณ์เทียนอันเหมิน (เมษายน ค.ศ. 1976)

[แก้]

ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1976 วันก่อนเทศกาลเช็งเม้งประจำปีของจีน ซึ่งเป็นวันประเพณีสำหรับการไว้อาลัย ผู้คนหลายพันคนมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์วีรชนของประชาชนในจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อรำลึกถึงโจว เอินไหล ชาวปักกิ่งให้เกียรติโจว เอินไหลด้วยการวางพวงมาลา ป้าย บทกลอน ใบปลิวและดอกไม้ที่เชิงอนุสาวรีย์[49]: 612  จุดประสงค์ที่ชัดเจนในการรำลึกนี้เป็นการยกย่องโจว และแก๊งออฟโฟร์ได้ถูกโจมตีจากการกระทำที่พวกเขาทำต่อนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ มีคำคติพจน์จำนวนเล็กน้อยติดอยู่ที่เทียนอันเหมินซึ่งเป็นการโจมตีตัวเหมาเองและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเขา[48]: 218 

ผู้คนมากกว่าสองล้านคนมาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 เมษายน[48]: 218  ผู้คนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชาวนาที่ยากจนที่สุดไปถึงเจ้าหน้าที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนระดับสูง และลูกหลานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมมีแรงจูงใจที่ผสมผสานระหว่างความโกรธแค้นต่อสิ่งที่โจวถูกกระทำ การต่อต้านการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และความหวาดหวั่นในอนาคตของจีน เหตุการณ์นี้ไม่มีใครเป็นผู้นำ แต่เป็นการสะท้อนความรู้สึกของสาธารณชน[48]: 219–20 

คณะกรรมการกลางภายใต้การนำของเจียง ชิง ตราหน้าว่างานนี้เป็น "ปฏิปักษ์ปฏิวัติ" และพยายามเก็บกวาดสิ่งของที่รำลึกภายในเวลาอันสั้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 6 เมษายน มีความพยายามปราบปรามผู้ไว้ทุกข์นำไปสู่การจลาจลรุนแรง รถตำรวจถูกจุดไฟเผา และฝูงชนกว่า 10,000 คน ถูกบังคับให้เข้าไปในอาคารราชการหลาย ๆ แห่งรอบจัตุรัส[49]: 612  ภายหลังผู้ถูกจับกุมหลายคนถูกตัดสินให้จำคุกในค่ายกักกัน เหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นในเมืองใหญ่อื่น ๆ เจียง ชิงและพันธมิตรของเธอตราหน้า เติ้ง เสี่ยวผิง ว่าเป็น "ผู้บงการ" ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีการรายงานออกสื่ออย่างเป็นทางการ เติ้งจึงถูกปลดจากทุกตำแหน่งทั้ง "ภายในและภายนอกพรรค" อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นการกวาดล้างเติ้งเป็นครั้งที่สองในรอบสิบปี[49]: 612 

โรเบิร์ต มัลดูน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เข้าพบประธานเหมา ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1976 ณ กรุงปักกิ่ง ภาพข่าวแสดงให้เห็นอาการป่วยที่ย่ำแย่ของเหมา

การอสัญกรรมของเหมาและการจับกุมแก๊งออฟโฟร์ (กันยายน ค.ศ. 1976)

[แก้]

ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 เหมา เจ๋อตงถึงแก่อสัญกรรม ในส่วนของผู้สนับสนุนเหมา อสัญกรรมของเขาเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียรากฐานการปฏิวัติจีน เมื่อมีการประกาศการอสัญกรรมของเขาในช่วงบ่ายของวันที่ 9 กันยายน ในการแถลงข่าวเรื่อง "ประกาศคณะกรรมการกลาง สภาประชาชนแห่งชาติจีน สภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมาธิการทหารกลาง ถึงพรรคทั้งมวล กองทัพทั้งมวล และประชาชนทุกสัญชาติทั่วประเทศ"[51] ประเทศตกอยู่ในความเศร้าโศก มีผู้คนร้องไห้ตามท้องถนนและหน่วยงานราชการหยุดทำการนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ฮั่ว กั๋วเฟิง เป็นประธานคณะกรรมการรัฐพิธีศพและกล่าวสุนทรพจน์รำลึก[52][53]

ไม่นานก่อนเหมาจะเสียชีวิต เหมาได้เขียนข้อความถึงฮั่วอย่างเป็นนัยว่า "ให้คุณดูแล ฉันก็สบายใจแล้ว" ฮั่วจึงใช้ข้อความนี้ยืนยันตัวตนของเขาในฐานะทายาททางการเมือง ฮั่วได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าขาดทักษะทางการเมืองและความทะเยอทะยาน และดูเหมือนจะไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อแก๊งออฟโฟร์ซึ่งพยายามแข่งขันเพื่อสืบทอดตำแหน่ง แต่แนวคิดที่รุนแรงของแก๊งออฟโฟร์ก็เกิดความขัดแย้งกับเหล่าผู้อาวุโสที่มีอิทธิพลและกลุ่มนักปฏิรูปของพรรคหลายคน จากการสนับสนุนของกองทัพภายใต้นายพลเย่ เจี้ยนอิง ทำให้กองกำลังของหน่วยพิเศษ 8341 หรือสำนักงานความมั่นคงกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคม เข้าจับกุมสมาชิกแก๊งออฟโฟร์ทั้งหมดในการรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ[54]

หลังจากนั้น

[แก้]

สมัยเปลี่ยนผ่าน

[แก้]

แม้ว่าฮั่ว กั๋วเฟิงจะประณามแก๊งออฟโฟร์ต่อหน้าสาธารณชนในปีค.ศ. 1976 แต่เขาก็ยังคงสนับสนุนความบริสุทธิ์ของนโยบายของเหมา ฮั่วเป็นหัวหอกในการสนับสนุนแนวคิด "สองอะไรก็ตาม"[55] กล่าวคือ "นโยบายที่มาจากท่านประธานเหมา เราต้องสนับสนุนต่อไป" และ "ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ท่านประธานเหมามอบให้เรา เราต้องปฏิบัติตามต่อไป" ฮั่วก็เหมือนกับเติ้งที่ว่าต้องการย้อนกลับก่อนที่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะสร้างความเสียหาย แต่เขาก็ไม่เหมือนกับเติ้งตรงที่ เติ้งต้องการเสนอรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ของจีน แต่ฮั่วกลับต้องการย้ายระบบเศรษฐกิจและการเมืองจีนไปสู่การวางแผนแบบโซเวียตในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950[56][57]

ฮั่วมีความชัดเจนมากขึ้นที่ว่าหากไม่มีเติ้ง เสี่ยวผิง ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินกิจการของรัฐต่อไป ในวันที่ 10 ตุลาคม เติ้งได้เขียนจดหมายถึงฮั่วเป็นการส่วนตัวเพื่อขอย้ายกลับไปทำงานในกิจการของรัฐและพรรค ผู้อาวุโสของพรรคก็เรียกร้องให้เรียกเติ้งกลับมา ด้วยความกดดันจากทุกฝ่ายนายกรัฐมนตรีฮั่วจึงแต่งตั้งเติ้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 และหลังจากนั้นมีการเลื่อนให้เขาดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ส่งผลให้เติ้งเป็นบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองมากเป็นอันดับสองของจีน ในเดือนสิงหาคม การประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 11 จัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ฮั่ว กั๋วเฟิง, เย่ เจี้ยนอิง, เติ้ง เสี่ยวผิง, หลี่ เซียนเนี่ยนและวัง ตงซิ่ง เป็นสมาชิกใหม่ของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง[58]

เติ้ง เสี่ยวผิงทำให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมไร้ผล

[แก้]
เติ้ง เสี่ยวผิงกลายเป็นผู้นำสูงสุดในปีค.ศ. 1978 เขาเริ่มนโยบาย "โปล่วน ฝ่านเจิ้ง" ได้นำประเทศกลับเข้าสู่ระบบระเบียบและดำเนินการนโยบายปฏิรูปและเปิดออก

เติ้ง เสี่ยวผิงเสนอแนวคิดเรื่อง "โปล่วน ฝ่านเจิ้ง" ครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1977 เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1978 เติ้งฉวยโอกาสสนับสนุนให้ผู้ใต้อุปถัมภ์คือ หู เย่าปัง ก้าวขึ้นสู่อำนาจ หูตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ กวังหมิงเดลี โดยใช้คำพูดของเหมาอย่างชาญฉลาดในขณะเดียวกันยกย่องแนวคิดของเติ้งด้วย หลังจากบทความนี้เผยแพร่ออกไป ฮั่วเริ่มเปลี่ยนการสนับสนุนเติ้ง ในวันที่ 1 กรกฎาคม เติ้งได้เผยแพร่รายงานการวิจารณ์ตนเองของเหมาในปีค.ศ. 1962 เกี่ยวกับความล้มเหลวของนโยบายการก้าวกระโดดไปข้างหน้า ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1978 เพื่อการขยายฐานอำนาจ เติ้งจึงโจมตีนโยบายสองอะไรก็ได้ของฮั่ว กั๋วเฟิง[55]

ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1978 มีการจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่สามของคณะกรรมการกลางชุดที่ 11 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ ในสภา เติ้งเรียกร้องให้ "ปลดเปลื้องความคิด" และเรียกร้องให้พรรค "แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง" และละทิ้งความเชื่อทางอุดมการณ์ การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนอย่างเป็นทางการ โดยเติ้งกลายเป็นผู้นำสูงสุดลำดับสองของจีน ฮั่ว กั๋วเฟิงมีส่วนร่วมในการวิจารณ์ตนเองและวิจารณ์ความผิดพลาดของนโยบาย "สองอะไรก็ได้" ของตนเอง วัง ตงซิ่ง เป็นพันธมิตรที่เหมาไว้ใจ ก็ยังวิจารณ์ตนเอง ในการประชุม พรรคได้กลับคำตัดสินเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน อดีตประธานาธิบดีหลิว เช่าฉีที่ถูกประณามได้รับการอนุญาตให้จัดรัฐพิธีศพในภายหลัง[59] เผิง เต๋อหวย หนึ่งในสิบขุนพลและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกประณามจนตายในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เขาได้รับการฟื้นฟูชื่อเสียงทางการเมืองในปีค.ศ. 1978

ในการประชุมครั้งที่ 5 ในปีค.ศ. 1980 เผิง เจิน, เฮ่อ หลง และผู้นำคนอื่น ๆ ที่ถูกกวาดล้างในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้รับการฟื้นฟูชื่อเสียงทางการเมือง หู เย่าปังได้เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฐานะเลขาธิการ ในเดือนกันยายน ฮั่ว กั๋วเฟิงได้ลาออกจากตำแหน่งและจ้าว จื่อหยาง หนึ่งในพันธมิตรของเติ้งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เติ้งยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารกลาง (จีน) แต่อำนาจที่เป็นทางการถูกโอนถ่ายไปยังนักปฏิรูปภาคปฏิบัติรุ่นใหม่ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไปในวงกว้างในช่วงสมัยโปล่วน ฝ่านเจิ้ง ภายในไม่กี่ปีจากปีค.ศ. 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงและหู เย่าปังช่วยฟื้นฟูความเสียหายจากคดีที่ "ไม่ยุติธรรม ความเท็จและผิดพลาด" กว่า 3 ล้านคดีในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[60] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาคดีของแก๊งออฟโฟร์ที่เกิดขึ้นในปักกิ่งตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 ถึง 1981 และศาลระบุว่ามีคน 729,511 คน ถูกข่มเหงโดยแก๊ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 34,800 คน[61]

ในปีค.ศ. 1981 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลงมติและประกาศว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรม "ต้องรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ที่รุนแรงที่สุดและความสูญเสียที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับพรรค ประเทศและประชาชนนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชน"[9][10][11]

วิกฤตด้านมนุษยธรรม

[แก้]

ผู้เสียชีวิต

[แก้]
ช่วงสมัยประจันหน้าเกิดขึ้นกับสี จ้งซุน บิดาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (เดือนกันยายน ค.ศ. 1967) สี จ้งซุนถูกระบุว่าเป็น "องค์ประกอบต่อต้านพรรค" อย่างไรก็ตามหลังปีค.ศ. 2012 สี จิ้นผิงและพันธมิตรของเขาพยายามที่จะบรรเทาหายนะของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและพลิกกลับนโยบายปฏิรูปหลายอย่างของช่วงโปล่วน ฝ่านเจิ้ง ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหม่[62][63][64]

ประมาณการผู้เสียชีวิตจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม รวมทั้งพลเรือนและยุวชนแดงมีความแตกต่างกันมาตั้งแต่หลายแสนคนจนถึง 20 ล้านคน[1][2][3][4][5][6] อย่างไรก็ตามตัวเลขที่แน่ชัดของผู้ถูกกดขี่ข่มเหงหรือเสียชีวิตระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นไม่อาจทราบได้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตจำนวนมากไม่ได้รับการรายงานหรือถูกตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปกปิดอย่างแข็งขัน สถานะของสถิติประชากรจีนในขณะนั้นก็น่าตำหนิด้วยเช่นกัน และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ลังเลที่จะให้มีการวิจัยอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว[65] เท่านั้นไม่พอ ความล้มเหลวของเขื่อนป่านเฉียว ค.ศ. 1975 เป็นหนึ่งในหายนะทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของโลกศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นในนครระดับจังหวัดจู้หม่าเตี้ยน มณฑลเหอหนาน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1975 ทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยประมาณระหว่าง 85,600 ถึง 240,000 คน[66]

ประมาณการรวมที่มีการให้ข้อมูลมีดังนี้

การสังหารหมู่และการกินเนื้อมนุษย์

[แก้]
คติพจน์ท่านประธานเหมาบนกำแพงถนนของเขตปกครองอู่เซวียน เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการสังหารหมู่ในกว่างซีและการกินเนื้อมนุษย์ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม การสังหารหมู่เกิดขึ้นทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่

การสังหารหมู่เหล่านี้ส่วนใหญ่นำโดยคณะกรรมการปฏิวัติท้องถิ่น พรรคคอมมิวนิสต์สาขา ทหารอาสาสมัครหรือแม้กระทั่งกองทัพเอง เหยื่อส่วนใหญ่ของการสังหารหมู่เป็นพวกที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มบัญชีดำทั้งห้า ซึ่งรวมถึงลูก ๆ ของพวกเขา หรือสมาชิกของ "กลุ่มกบฏ" (造反派) ปัญญาชนชาวจีนอย่างน้อย 300,000 คนเสียชีวิตในการสังหารหมู่เหล่านี้[77][78] การสังหารหมู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลกวางตุ้งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด ในกว่างซี มีบันทึกทางการระบุว่ามีอย่างน้อย 43 เขตปกครองที่มีบันทึกการสังหารหมู่ โดยมี 15 แห่งรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ในขณะที่ในกวางตุ้ง มีบันทึกการสังหารหมู่อย่างน้อย 28 เขตปกครอง โดยมี 6 แห่งที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย[79]

ความขัดแย้งรุนแรง สมัยประจันหน้าและการกวาดล้าง

[แก้]
สุสานการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในฉงชิ่ง มีอย่างน้อย 1,700 คน เสียชีวิตในช่วงการปะทะของฝักฝ่ายต่าง ๆ ที่รุนแรง โดยมีศพ 400 ถึง 500 ศพถูกฝังในสุสานนี้[92]

ความขัดแย้งรุนแรง หรือ "อู่ โต้ว" (武斗) เป็นความขัดแย้งแบบฝักฝ่าย (ส่วนใหญ่ในหมู่ยุวชนแดงและ "กลุ่มกบฏ") ซึ่งเริ่มต้นที่เซี่ยงไฮ้และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนในปีค.ศ. 1967 ได้นำประเทศไปสู่ภาวะสงครามกลางเมือง[86][93] อาวุธที่ใช้ในการสู้รบได้แก่ ปืน 18.77 ล้านกระบอก, ระเบิดมือ 2.72 ล้านลูก, ปืนใหญ่ 14,828 กระบอก กระสุนอื่น ๆ นับล้านและมีแม้กระทั่งรถหุ้มเกราะและรถถัง[86] มีการต่อสู้ที่รุนแรงในฉงชิ่ง, มณฑลเสฉวนและซูโจว[86][92][94] นักวิจัยชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งรุนแรงทั่วประเทศตั้งแต่ 300,000 คนถึง 500,000 คน[67][69][86]

นอกจากนี้ ชาวจีนหลายล้านคนถูกข่มเหงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในสมัยประจันหน้า บางคนถูกระบุว่าเป็นสายลับ, "สุนัขรับใช้", "พวกลัทธิแก้" หรือการมาจากชนชั้นที่น่าสงสัย (รวมถึงผู้ที่มีความเชื่อมโยงมาจากอดีตเจ้าที่ดินหรือชาวนาที่ร่ำรวย) พวกเขาถูกทุบตี จำคุก ข่มขืน ทรมาน การล่วงละเมิดอย่างต่อเนื่องและเหยียดหยาม การยึดทรัพย์สิน การปฏิเสธให้การรักษาพยาบาล และการลบอัตลักษณ์ทางสังคม ปัญญาชนก็ตกเป็นเป้าหมายด้วยเช่นกัน ผู้รอดชีวิตและผู้สังเกตการณ์หลายคนเล่าว่าใครก็ตามที่มีทักษะมากกว่าคนทั่วไปจะตกเป็นเป้าหมายของ "ความขัดแย้ง" ทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ผู้คนอย่างน้อยหลายแสนคนถูกสังหาร ทำให้อดอยาก หรือใช้แรงงานจนตาย อีกนับล้านต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่น คนหนุ่มสาวจากเมืองต่าง ๆ ถูกบังคับให้ย้ายไปสู่ชนบท ซึ่งพวกเขาถูกบังคับให้ละทิ้งการศึกษามาตรฐานทุกรูปแบบแทนที่ด้วยการสอนสั่งโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[55] บางคนไม่สามารถทนต่อการทรมาน และสูญเสียความหวังในอนาคต พวกเขาจึงฆ่าตัวตาย นักวิจัยเชื่อว่ามีอย่างน้อย 100,000 ถึง 200,000 คนฆ่าตัวตายในช่วงตอนต้นของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[67] หนึ่งในกรณีพยายามฆ่าตัวตายที่มีชื่อเสียงที่สุดการจากการกดขี่เติ้ง เสี่ยวผิงในทางการเมือง ลูกชายของเขาคือ เติ้ง ผู่ฟางกระโดด (หรือถูกโยน) จากอาคารสี่ชั้น หลังจากถูก "สอบสวน" โดยยุวชนแดง เขาไม่ตายแต่กลับเป็นอัมพาตครึ่งซีก

ในขณะเดียวกันมีจำนวนคดี "ไม่ยุติธรรม ความเท็จและผิดพลาด (冤假错案)" จำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงการกวาดล้างทางการเมือง นอกจากมีผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ ก็มีผู้คนจำนวนมากต้องทุพพลภาพถาวรจากการถูกประชาฑัณฑ์หรือการข่มเหงในรูปแบบอื่น ๆ ตั้งแต่ค.ศ. 1968 ถึง 1969 "การชำระล้างระดับตำแหน่ง" เป็นการกวาดล้างทางการเมืองครั้งใหญ่ที่นำโดยเหมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500,000 คน[86][95] มีรูปแบบการกวาดล้างที่คล้ายคลึงกันได้แก่ "การรณรงค์หนึ่งปะทะสามต่อต้าน" และการรณรงค์ "องค์ประกอบ 16 พฤษภา" ซึ่งดำเนินการภายหลังในทศวรรษที่ 1970[67][69]

ในอุบัติการณ์มองโกเลียใน ตามแหล่งข้อมูลทางการในปีค.ศ. 1980 ระบุว่าผู้คน 346,000 คน ถูกจับกุมแบบผิด ๆ มีมากกว่า 16,000 คนถูกประณามจนตายหรือถูกประหาร และมากกว่า 81,000 คนทุพพลภาพถาวร[86][96][97] แต่นักวิชาการก็ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 20,000 ถึง 100,000 คน[86][96][97][98]

ในคดีสายลับจ้าว เจี้ยนหมินที่ยูนนาน มีประชาชนมากกว่า 1.387 ล้านคนที่เกี่ยวข้องและถูกข่มเหง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรยูนนานในขณะนั้น[86][99] ตั้งแต่ค.ศ. 1968-1969 มีผู้คนมากกว่า 17,000 คนถูกสังหารหมู่ และกว่า 61,000 คนพิการตลอดชีวิต ในคุนหมิง เมืองหลวงของยูนนานแห่งเดียว มีประชาชน 1,473 คนถูกสังหาร และ 9,661 คนทุพพลภาพตลอดชีวิต[86][99]

ในคดีหลี่ ชูหลีที่มณฑลเหอเป่ย์ หลี่เป็นอดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายองค์การพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกกวาดล้างในปีค.ศ. 1968 และมีผู้เกี่ยวข้องกว่า 80,000 คน มีคน 2,955 คนถูกประณามจนตาย[100][101][102]

ชนกลุ่มน้อย

[แก้]
โชกยี กยาเซ็น ปันเชนลามะที่ 10 หนึ่งในผู้นำทางศาสนาของทิเบต ถูกประณามเบื้องหน้ารูปของประธานเหมาในสมัยประจันหน้า

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อวัฒนธรรมและชาติพันธ์ของชนกลุ่มน้อยในจีน ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประชาชนราว 790,000 คนถูกข่มเหงระหว่างอุบัติการณ์มองโกเลียใน มี 22,900 คนถูกทุบตีจนตาย และ 120,000 คนต้องพิการ[17]: 258  ในช่วงการล่าแม่มดเพื่อค้นหาสมาชิกของพรรคปฏิวัติประชาชนมองโกเลียในใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามแบ่งแยกดินแดน ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ สำเนาคัมภีร์อัลกุรอานและหนังสืออื่น ๆ ของชาวอุยกูร์ถูกเผา อิหม่ามมุสลิมถูกจับแห่ไปรอบ ๆ แล้วสาดสีใส่ร่างกายของพวกเขา ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเกาหลีในตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ถูกทำลายโรงเรียนสอนภาษา ในมณฑลยูนนาน พระราชวังของกษัตริย์ชาวไทถูกเผา และมีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมหุย ภายใต้กองทัพปลดปล่อยประชาชนในยูนนาน เรียกว่า อุบัติการณ์ชาเตี้ยน มีรายงานว่ามีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 1,600 คนในปีค.ศ. 1975[103] หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุด รัฐบาลได้ชดใช้ในเหตุการณ์ชาเตี้ยน ด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานผู้พลีชีพในเหตุการณ์ชาเตี้ยน[104]

ซัมโป เซวัง ริกซิน นักการเมืองและนายทหารชาวทิเบตที่ร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ เขาพร้อมภริยาถูกประณามโดยยุวชนแดงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

สัมปทานที่มอบให้กับชนกลุ่มน้อยถูกยกเลิกในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการโจมตี "สิ่งเก่าทั้งสี่" ของยุวชนแดง คอมมูนประชาชนซึ่งเดิมจัดตั้งในพื้นที่บางส่วนของทิเบต สุดท้ายได้ถูกจัดตั้งขึ้นทั่วเขตปกครองตนเองทิเบตในปีค.ศ. 1966[105] เป็นการยกเลิกข้อยกเว้นของทิเบตในช่วงการปฏิรูปที่ดินของจีน และถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ ผลกระทบต่อทิเบตนั้นรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากปราบปรามการก่อการกำเริบในทิเบต ค.ศ. 1959[106][107] มีการทำลายอารามเกือบ 6,000 แห่ง ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และมักเกิดขึ้นโดยผู้สมรู้ร่วมคิดที่เป็นยุวชนแดงชาวทิเบต[108]: 9  มีเพียงอารามแปดแห่งเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ในตอนปลายทศวรรษที่ 1970[109]

พระสงฆ์และแม่ชีหลายรูปถูกสังหาร และประชาชนทั่วไปถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ[108]: 9  ในปีค.ศ. 1950 มีพระสงฆ์และแม่ชีในทิเบตประมาณ 600,000 รูป และในปีค.ศ. 1979 ส่วนใหญ่เสียชีวิตเกือบหมด บ้างก็ถูกจำคุกหรือทำให้สาบสูญ[108]: 22  รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตอ้างว่าชาวทิเบตจำนวนมากเสียชีวิตจากความอดอยากในช่วงปีค.ศ. 1961-1964 และ 1968-1973 เป็นผลมาจากการบังคับทำนารวม[107][110][111] อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตในทิเบตนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าอาจเป็นเพราะขาดแคลนอาหารหรือสาเหตุอื่น ๆ[112][113][114] แม้จะมีการกดขี่ข่มเหงอย่างเป็นทางการ แต่ผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนก็รอดชีวิตมาได้ในพื้นที่ห่างไกล[115]

ความล้มเหลวทางเป้าหมายของยุวชนแดงและผู้นิยมการกลืนกลายทางวัฒนธรรมที่รุนแรง เกิดจากสองปัจจัย เป็นความรู้สึกที่ว่าการกดขี่ชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรงจะทำให้ชายแดนของจีนอ่อนกำลังลง นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากชนกลุ่มน้อยเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยตามชายขอบของจีน ในช่วงหลังทศวรรษที่ 1960 จีนมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตและอินเดีย เป้าหมายการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่างในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยนั้นไม่สมเหตุสมผลเกินกว่าจะนำไปปฏิบัติได้ การหวนคืนสู่กลุ่มพหุนิยม และจุดจบของผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมต่อชนกลุ่มน้อยในจีน เกิดขึ้นพร้อมกับในช่วงที่หลิน เปียวถูกกำจัดออกจากอำนาจ[116]

ผลกระทบและอิทธิพลทางวัฒนธรรม

[แก้]

การจลาจลของยุวชนแดง

[แก้]
แผนที่กรุงปักกิ่งในปีค.ศ. 1968 แสดงถนนและเครื่องหมายสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกเปลี่ยนชื่อในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ถนนอันติ้งเหมินชั้นใน ถูกเปลี่ยนเป็น "ถนนการก้าวกระโดดไปข้างหน้า", ถนนไท่จี้ฉาง เปลี่ยนเป็น "ถนนสู่การปฏิวัติชั่วนิรันดร์", ตงเจียวหมิงเซียง เปลี่ยนเป็น "ถนนต่อต้านจักรวรรดินิยม", สวนสาธารณะเป่ยไฮ เปลี่ยนเป็น "สวนสาธารณะกรรมกร-ชาวนา-ทหาร", และสวนสาธารณะจิ้งซาน เปลี่ยนเป็น "สวนสาธารณะยุวชนแดง" แต่การเปลี่ยนชื่อในช่วงยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อกลับเหมือนเดิม

ผลกระทบของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมกระทบต่อประชาชนจีนทั้งหมด ระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากถูกระงับ ด้วย "การปฏิวัติ" กลายเป็นเป้าหมายหลักชองประเทศโดยไม่ต้องถูกตั้งคำถาม แนวคิดของเหมา เจ๋อตงกลายเป็นแนวปฏิบัติหลักของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศจีน อำนาจหน้าที่ของยุวชนแดงนั้นมีเหนือกว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นและกฎหมายทั่วไป ศิลปะและแนวคิดแบบดั้งเดิมของจีนถูกละเลยและถูกโจมตีจากสาธารณะ ด้วยแนวทางของเหมาถูกยกย่องขึ้นมาแทนที่ ประชาชนถูกกระตุ้นให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางวัฒนธรรมและตั้งคำถามต่อพ่อแม่และครูอาจารย์ของตน ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่ถูกห้ามตั้งคำถามอย่างเข้มงวดในวัฒนธรรมจีนโบราณ

จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้นำกองกำลังยุวชนแดงจำนวนมากมาที่ปักกิ่ง โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และระบบรถไฟก็ตกอยู่ในภาวะโกลาหล การปฏิวัติมุ่งหมายทำลาย "สิ่งเก่าทั้งสี่" (ได้แก่ ขนบธรรมเนียมเก่า วัฒนธรรมเก่า อุปนิสัยเก่าและความคิดเก่า) และสร้าง "สิ่งใหม่ทั้งสี่" ที่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อไปและการตัดผม ไปจนถึงการบุกค้นบ้าน การทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และทำลายวัด ศาลเจ้า[20]: 61–64  ในเวลาไม่กี่ปี อาคารโบราณ สิ่งประดิษฐ์ โบราณวัตถุ หนังสือและภาพวาดนับไม่ถ้วนถูกทำลายโดยยุวชนแดง สถานะของวัฒนธรรมและสถาบันจียดั้งเดิมในประเทศได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมหลายประการได้อ่อนแอลง

การปฏิวัติยังมุ่งกวาดล้าง "ปีศาจวัวและวิญญาณงู" ทั้งหมด กล่าวคือ ศัตรูทางชนชั้นทั้งหมดที่ส่งเสริมความคิดของชนชั้นกระฎุมพีภายในพรรค รัฐบาล กองทัพและเหล่าปัญญาชน ตลอดจนผู้ที่มาจากครอบครัวที่เอารัดเอาเปรียบ มีภูมิหลังครอบครัว หรือ เป็นผู้ที่อยู่ในหมวดหมู่กลุ่มบัญชีดำทั้งห้า ผู้คนจำนวนมากถูกมองว่าเป็น "สัตว์ประหลาดและปีศาจ" โดยไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดหรือผู้บริสุทธิ์ ได้ถูกประณามให้อับอายขายหน้าและเฆี่ยนตีในที่สาธารณะ ด้วยความคลั่งการปฏิวัติ นักเรียนโดยเฉพาะยุวชนแดงได้ประณามครูอาจารย์ของตน และเด็ก ๆ ประณามพ่อแม่ของพวกเขา[20]: 59–61  หลายคนเสียชีวิตจากการถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายหรือฆ่าตัวตาย ในปีค.ศ. 1968 เยาวชนได้ถูกระดมพลสู่ชนบทในการเคลื่อนไหวลงสู่ชนบทเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้จากครอบครัวชาวนา และการเคลื่อนย้ายผู้คนนับล้านออกจากเมืองต่าง ๆ ได้ช่วยยุติความรุนแรงที่สุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[117]: 176 

ด้านวิชาการและการศึกษา

[แก้]
เหยา ถงปิน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์จีนผู้บุกเบิกด้านขีปนาวุธ ถูกทุบตีจนตายในกรุงปักกิ่งในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ค.ศ. 1968)

นักการศึกษาและปัญญาชนถูกมองว่าเป็น "ค่านิยมเก่าทั้งเก้าที่เน่าเหม็น" และถูกกวาดล้างจำนวนมาก[118] หลายคนถูกส่งไปยังค่ายแรงงานตามชนบทเช่น โรงเรียนนายร้อยเจ็ดพฤษภาคม ตามเอกสารทางการในการดำเนินคดีกับแก๊งออฟโฟร์ ระบุว่ามีการกวาดล้างผู้ปฏิบัติงานและครูอาจารย์ 142,000 คน ในแวดวงการศึกษา และนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ได้แก่ สง ชิ่งหลาย, เจี่ยน โป๋ซ่าน, อู๋ หาน, เหรา ยู่ไท่, อู้ ติ้งเหลียง, เหยา ถงปินและจ้าว จิ่วจาง[119] ในปีค.ศ. 1968 มีสมาชิกระดับอาวุโว 171 คนที่ทำงานในสถาบันวิทยาศาสตร์จีนส่วนกลางในปักกิ่ง จำนวน 131 คนในนั้นถูกกวาดกล้าง และในบรรดาสมาชิกสถาบันการศึกษาในประเทศจีน มีกว่า 229 คนที่ถูกประณามจนตาย[120] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1971 มีผู้ปฏิบัติงานกว่า 4,000 คนในสถาบันนิวเคลียร์มณฑลชิงไห่ถูกกวาดล้าง มากกว่า 310 คนต้องพิการถาวร คนมากกว่า 40 คนฆ่าตัวตายและอีก 5 คนถูกประหารชีวิต[121][122] อย่างไรก็ตาม ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม นักวิทยาศาสตร์จีนยังคงประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธลูกแรก สามารถสร้างอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ครั้งแรกและส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปอวกาศตามโครงการสองระเบิด หนึ่งดาวเทียม[123]

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมทำให้ระบบการศึกษาจีนต้องหยุดชะงักไปเวลานาน ในช่วงเดือนแรก ๆ ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกสั่งปิด โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมตอนต้นค่อย ๆ เปิดขึ้นอีกครั้ง แต่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดถูกปิดจนถึงปีค.ศ. 1970 และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เปิดอีกเลยจนถึงค.ศ. 1972[124]: 164  เกาเข่า หรือ การสอบคัดเลือกระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ถูกยกเลิกหลังปีค.ศ. 1966 แทนที่ด้วยระบบนักศึกษาที่ได้รับแนะนำมาจากโรงงาน หมู่บ้านและหน่วยทหาร และไม่มีการสอบระดับอุดมศึกษาอีกเลยจนกระทั่งในปีค.ศ. 1977 มีการฟื้นฟูภายใต้เติ้ง เสี่ยวผิง ค่านิยมการศึกษาแบบดั้งเดิมถูกละทิ้ง[20]: 195  ในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม การศึกษาขั้นพื้นฐานถูกย้ำความสำคัญและมีการขยายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปีการศึกษาลดลงและมาตรฐานการศึกษาลดลง สัดส่วนเยาวชนจีนที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้น จากที่ก่อนการปฏิวัติมีน้อยกว่าครึ่ง แต่หลังปฏิวัติมีเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด และผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมัธยมต้นเพิ่มขึ้นจาก 15% เกินกว่าสองในสาม โอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กในชนบทขยายตัวอย่างมาก ในขณะที่เด็กชนชั้นสูงในเมืองถูกจำกัดจากนโยบายต่อต้านกลุ่มชนชั้นนำ[124]: 166–67 

ในปีค.ศ. 1968 พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศนโยบายการเคลื่อนไหวลงสู่ชนบท ที่มีนโยบาย "ให้การศึกษาเยาวชน" ในเขตเมืองถูกส่งไปอาศัยและทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้ได้รับการศึกษาใหม่จากชาวนา และเพื่อให้เข้าใจบทบาทของการใช้แรงงานของชาวนาในสังคมจีนมากขึ้น ในระยะแรกเยาวชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร แต่ในเวลาต่อมารัฐบาลใช้วิธีบังคับคนให้ย้ายออกไป ในช่วงปีค.ศ. 1968 - 1979 เยาวชนในเขตเมืองของจีน 17 ล้านคนต้องเดินทางไปยังชนบทและการอยู่ในชนบททำให้ขาดโอกาสศึกษาในระดับอุดมศึกษา[117]: 10  ประชาชนทั้งรุ่นต้องทรมานและได้รับการศึกษาที่ไม่เพียงพอ ซึ่งมักถูกเรียกว่า "รุ่นที่สูญหาย" ทั้งในจีนและตะวันตก[20][125][126] ในสมัยหลังเหมา ผู้ที่ถูกบังคับเคลื่อนย้ายหลายคนโจมตีว่านโยบายนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง[127]: 36 

แต่ผลกระทบของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่มีต่อการศึกษาที่เข้าถึงได้นั้นมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้มีการวัดค่าอัตราการรู้หนังสืออย่างเป็นทางการจนถึงทศวรรษที่ 1980[128] บางเขตอย่างจ้านเจียงมีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงถึง 41% ในช่วง 20 ปีหลังการปฏิวัติ ผู้นำของจีนในขณะนั้นปฏิเสธว่ามีปัญหาหารไม่รู้หนังสือตั้งแต่แรก ผลกระทบนี้ขยายออกไปจากการกำจัดครูที่มีคุณสมบัติ หลายเขตจำต้องพึ่งพานักเรียนที่ถูกเลือกมาเพื่อให้ความรู้แก่รุ่นน้องในรุ่นต่อไป[128] แม้ว่าผลกระทบของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะสร้างความหายนะแก่คนนับล้านในประเทศจีน แต่ก็มีผลลัพธ์เชิงบวกต่อประชากรบางกลุ่มในพื้นที่ชนบท เช่น ความวุ่นวายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและความเป็นปรปักษ์ต่อปัญญาชนชนชั้นนำได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อันเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษาในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนปลายสุดของระบอบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ แต่นโยบายที่สุดโต่งได้ช่วยเหลือชุมชนชนบทจำนวนมากให้ได้รับการศึกษาระดับมัธยมต้นครั้งแรก ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจชนบทในยุคทศวรรษที่ 70 และ 80[124]: 163  ในทำนองเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากถูกส่งไปยังชนบทในฐานะหมอเท้าเปล่าช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เกษตรกรบางคนได้รับการฝึกอบรมทางการแพทย์อย่างไม่เป็นทางการ และมีการจัดตั้งสถานีอนามัยในชุมชนชนบท[129]

คำขวัญและวาทศาสตร์

[แก้]
เศษซากธงที่มีคำขวัญจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในมณฑลอานฮุย

ตามรายงานของเส้าหรง หวง มองว่า ข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคมจีนนั้นเป็นผลมาจากการใช้คำขวัญทางการเมืองอย่างกว้างขวาง[130] ตามทัศนคติของหวง มองว่า วาทศาสตร์มีส่วนสำคัญในการปลุกระดมการชุมนุมของทั้งผู้นำพรรคและประชาชนโดยรวมในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น คำขวัญ "การกบฏนั้นเป็นธรรม" (造反有理; เจ้าฝ่านโหยวหลี่) กลายเป็นเรื่องที่ถูกรวมกันเป็นสิ่งเดียว[130]

หวงยืนยันว่าคำขวัญทางการเมืองมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในชีวิตของผู้คน โดยถูกพิมพ์ลงบนสิ่งของใช้ประจำวัน เช่น ตั๋วรถโดยสาร ซองบุหรี่ และโต๊ะกระจก[127]: 14  แรงงานควรจะ"เข้าใจการปฏิวัติและกระตุ้นการผลิต" ในขณะที่ชาวนาควรเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น "สุกรมากขึ้นก็หมายถึงปุ๋ยมากขึ้น และปุ๋ยมากขึ้นก็หมายถึงพันธุ์พืชมากขึ้น" แม้แต่คำพูดทั่ว ๆ ไปของเหมาที่ว่า "มันเทศอร่อยดี ฉันชอบ" ได้กลายเป็นคำขวัญที่แพร่หลายในชนบท[130]

คำขวัญทางการเมืองในสมัยนั้นมีที่มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ตัวเหมาเอง และสื่อทางการของพรรคอย่างหนังสือพิมพ์ เหรินหมินรื่อเป้า และยุวชนแดง[130] เหมามักจะมีคำกล่าวที่คลุมเครือแต่ก็ทรงพลังซึ่งนำไปสู่การแบ่งเป็นฝักฝ่ายของยุวชนแดง[131] คำสั่งเหล่านี้สามารถถูกตีความเพื่อเข้าข้างความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ในทางกลับกันก็ช่วยสร้างให้เป้าหมายของแต่ละกลุ่มมีความจงรักภักดีต่อเหมา เจ๋อตง คำขวัญของยุวชนแดงมักมีลักษณะที่รุนแรงที่สุด เช่น "ทุ่มศัตรูลงบนพื้นแล้วใช้เท้าเหยียบย่ำเขา", "ความน่าสะพรึงกลัวแดงจงเจริญ!" และ "พวกที่ต่อต้านท่านประธานเหมาจักต้องถูกบดขยี้ให้แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย"[130]

นักจีนวิทยาอย่าง โลแวลล์ ดิตเมอร์และเฉิน โร่วสี ชี้ให้เห็นว่าภาษาจีนในประวัติศาสตร์มีความละเอียดอ่อน ความอ่อนช้อย ความพอเหมาะและความซื่อสัตย์ ตลอดจน "การปลูกฝังรูปแบบทางวรรณกรรมที่ปราณีตและสง่างาม"[132] สิ่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไประหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เนื่องจากเหมาต้องการให้กองทัพของผู้ก้าวร้าวทำสงครามครูเสดของเขา วาทศาสตร์ในช่วงนั้นจึงถูกลดทอนให้เป็นคำศัพท์ที่มีความรุนแรงและแข็งข้อ[130] คำขวัญเหล่านี้เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในวิธี "ปฏิรูปทางความคิด" ซึ่งระดมคนนับล้านร่วมมือกันโจมตีโลกอัตนัย "ในขณะเดียวกันก็ปฏิรูปโลกแห่งวัตถุประสงค์ของพวกเขา"[130][132]: 12 

ดิตเมอร์และเฉิน โต้แย้งว่าการมุ่งเน้นที่การเมืองทำให้ภาษาเป็นรูปแบบการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ "ได้เปลี่ยนภาษาดังกล่าวให้กลายเป็นศัพท์แสงของแบบแผนที่ - โอ้อวด ซ้ำซากและน่าเบื่อ"[132]: 12  เพื่อให้ห่างไกลจากยุคสมัยนั้น รัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิงจึงลดการใช้คำขวัญทางการเมืองลงอย่างมาก การปฏิบัติตามคำขวัญปรากฏฟื้นตัวให้เห็นเพียงเล็กน้อยในช่วงหลังทศวรรษที่ 1990 ภายใต้เจียง เจ๋อหมิน

ศิลปะและวรรณกรรม

[แก้]
บัลเลต์ กองทหารแดงของเหล่าสตรี หนึ่งในละครตามรูปแบบในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ก่อนการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในช่วงปีค.ศ. 1958 - 1966 โรงละครกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากมีการใช้บทละครเพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือสมาชิกพรรคโดยเฉพาะ อุปรากรของอู๋ หาน ในเรื่อง ไห่ รุ่ยถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ถูกตีความว่าแฝงไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์เหมา ทำให้เกิดการโจมตีอุปรากรของเหยา เหวินหยวน และการโจมตีนี้เป็นการเปิดฉากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[133] นำมาซึ่งการกวาดล้างและการตายของอู๋ หาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับโรงละคร เช่น เถียน ฮั่น, ซุน เหวยซื่อ และโจว ซิ่นฟาง[134][135]

ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เจียง ชิงเข้าควบคุมละครเวทีและแนะนำรูปแบบอุปรากรเชิงปฏิวัติภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของเธอ อุปรากรแบบดั้งเดิมถูกสั่งห้ามเนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลไกของระบอบศักดินาและชนชั้นกระฎุมพี แต่อุปรากรปฏิวัตินั้นมีพื้นฐานมาจากจิงจฺวี่ หรืออุปรากรเมืองหลวงที่มีการดัดแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาแล้ว[20]: 115  รูปแบบละครทั้งแปด (อุปรากร 6 แบบและบัลเล่ต์ 2 แบบ) เริ่มในปีค.ศ. 1967 อุปรากรที่โดดเด่นที่สุดคือเรื่อง ตำนานโคมแดง อุปรากรเหล่านี้เป็นรูปแบบที่ได้รับการอนุมัติ ส่วนคณะละครอื่น ๆ ต้องน้อมรับหรือปรับเปลี่ยนละครของพวกเขา[117]: 176  นอกจากนี้อุปรากรต้นแบบยังออกอากาศทางสถานีวิทยุ สร้างเป็นภาพยนตร์ เผยแพร่ผ่านเสียงตามสายสาธารณะ สอนนักเรียนในโรงเรียนและแรงงานในโรงงาน และกลายเป็นบันเทิงยอดนิยมที่แพร่หลายและเป็นการแสดงละครเวทีเรื่องเดียวให้ผู้คนนับล้านในประเทศจีนรับชม[34]: 352–53 [20]: 115 

ในปีค.ศ. 1966 เจียง ชิงได้เสนอทฤษฎีเผด็จการเส้นสีดำในวรรณกรรมและศิลปะ โดยบรรดาที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นกระฎุมพี พวกต่อต้านสังคมนิยม หรือต่อต้านเหมา ควรละทิ้ง "เส้นสีดำ" และออกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่วรรณกรรมและศิลปะ[34]: 352–53  นักเขียน จิตรกรและปัญญาชนที่เป็นผู้รับและเผยแพร่ "วัฒนธรรมเก่า" จะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป นักเขียนและจิตรกรส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็น "บุคคลแนวเส้นสีดำ" และ "บัณฑิตเชิงปฏิกิริยา" จึงถูกข่มเหง หลายคนถูก "วิพากษ์วิจารณ์และประณาม" ซึ่งพวกเขาอาจถูกดูหมิ่นและปล้นสะมในที่สาธารณะ และอาจถูกจำคุกหรือถูกส่งไปปฏิรูปด้วยการใช้แรงงานหนัก[136]: 213–14  ตัวอย่างเช่น เหมย จื้อและสามีของเธอถูกส่งไปทำงานไร่ชาในเขตลู่ซาน, เสฉวน และเธอไม่ได้กลับมาเขียนหนังสือต่ออีกเลยจนทศวรรษที่ 1980[137]

เอกสารเผยแพร่ในปีค.ศ. 1980 เกี่ยวกับการกวาดล้างที่ดำเนินคดีโดยแก๊งออฟโฟร์แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนมากกว่า 2,600 คนในแวดวงศิลปะและวรรณกรรมถูกกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานภายใต้กระทรวงข่มเหง[119] หลายคนเสียชีวิตด้วยความเจ็บปวดปละความอับอายจากการถูกประณาม มีชื่อของนักเขียนและจิตรกรที่มีชื่อเสียงกว่า 200 คน ที่ถูกกวาดล้างจนตายในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม พวกเข้าได้รับการระลึกถึงในปีค.ศ. 1979 นักเขียนเหล่านั้น ได้แก่ เหลา เฉ่อ, ฟู่ เหลย, เติ้ง ตั้ว, ปาเหริน, หลี ก่วงเถียน, หยาว โซ่วและเจ้า ชู่หลี่[136]: 213–14 

ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมมีนักเขียนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาต หรือ มีคุณสมบัติภายใต้ระบอบใหม่ เช่น ห้าว หรานและนักเขียนบางคนที่มีภูมิหลังกรรมกรหรือชาวนา เท่านั้นที่สามารถตีพิมพ์หรือพิมพ์ซ้ำงานของพวกเขาได้ มีการกำหนดหัวข้อการเขียนที่ได้รับอนุญาตตามหลักวรรณกรรมชนชั้นกรรมาชีพและสังคมนิยมอย่างเข้มงวด และวารสารวรรณกรรมในประเทศถูกหยุดตีพิมพ์ทั้งหมดในปีค.ศ. 1968 สถานการณ์คลี่คลายลงหลังค.ศ. 1972 นักเขียนได้รับอนุญาตให้เขียนงานมากขึ้น และวารสารวรรณกรรมประจำมณฑลหลายแห่งได้กลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง แต่นักเขียนส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถทำงานได้[136]: 219–20 

ผลกระทบเกิดคล้ายคลึงกันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีการแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กชื่อ "ภาพยนตร์ 400 เรื่องที่ถูกวิจารณ์" และผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดงชายและหญิงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ถูกทรมานและจับขัง[34]: 401–02  คนกลุ่มนี้รวมถึงศัตรูของเจียง ชิงและอดีตเพื่อนในวงการภาพยนตร์ของเธอที่เสียชีวิตในช่วงนี้ ได้แก่ ไช่ ฉู่เซิง, เจิ้ง จฺวินหลี่, ซ่างกวน ยหวินจู, หวัง อิ๋ง และสฺวี หลาย[138] ไม่มีการผลิตภาพยนตร์ที่โดดเด่นในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเวลาเจ็ดปี ยกเว้น "ละครตามรูปแบบ" ที่ได้รับการอนุมัติเพียงไม่กี่เรื่องและเป็นภาพยนตร์ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองสูง[139] ตัวอย่างสำคัญของภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่มีการสร้างและได้รับอนุญาตให้แสดงในช่วงเวลานี้คือ ยุทธการยึดผาพยัคฆ์[140][141]

หลังจากคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศจีน ดนตรียอดนิยมจากเซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่ถูกประณามว่าเป็น Yellow music และถูกสั่งห้าม และในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม นักแต่งเพลงผู้ได้รับความนิยมอย่าง หลี จิ่นฮุยก็ถูกกวาดล้าง[142] ส่วนเพลงแนวปฏิวัติกลับได้รับการส่งเสริมขึ้นมาแทนที่เช่น "แผ่นดินแห่งบรรพชน", "การเดินเรือทะเลขึ้นอยู่กับนายท้าย" และ "บูรพาแดง", "ถ้าไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ไม่มีจีนใหม่" ทั้งหมดถูกเขียนและได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ "บูรพาแดง" ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ถูกนำมาใช้แทนเพลงเดินขบวนทหารกล้าและทรงธรรม โดยพฤตินัย ในฐานะเพลงชาติจีน แม้ว่าจะมีการกำหนดให้เพลงเดินขบวนทหารกล้าและทรงธรรม กลับมาใช้ดังเดิมหลังสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ศิลปะโฆษณาชวนเชื่อ

[แก้]
ภาพโปสเตอร์ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ภาพที่ยืนยงที่สุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมบางส่วนมาจากภาพโปสเตอร์ศิลปะ ศิลปะโฆษณาชวนเชื่อตามโปสเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์และเครื่องมือสื่อสารมวลชน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลชั้นนำของประชาชน มีการผลิตสิ่งนี้จำนวนมากและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และถูกนำมาใช้โดยรัฐบาล ยุวชนแดงในการให้ความรู้แก่สาธารณชนถึงคุณค่าทางอุดมการณ์ตามที่พรรคของรัฐกำหนด[143] มีภาพโปสเตอร์หลากหลายรูปแบบ สองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ (大字报; dazibao) และ ภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ "เชิงพาณิชย์" (宣传画; xuanchuanhua)[144]: 7–12 

"ต้าจื้อเป้า" จะเป็นคำขวัญ บทกวี คำวิจารณ์และภาพวาดที่ถูกสร้างและติดบนผนังที่สาธารณะ โรงงานและคอมมูน ของพวกนี้มีความสำคัญต่อการต่อสู้ของเหมาในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และเหมาเองก็เขียนต้าจื้อเป้าของเขาเองที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1966 เพื่อเรียกร้องประชาชนให้ "ถล่มกองบัญชาการ"[144]: 5 

"ซวนฉวนฮั่ว" เป็นงานศิลปะที่ผลิตโดยรัฐบาลและขายในราคาถูกตามร้านค้าเพื่อให้ติดแสดงที่บ้านหรือสถานที่ทำงาน ศิลปินของงานประเภทนี้อาจเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพแต่ไม่มีชื่อเสียง และโปสเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นภาพแนวสัจนิยมสังคมนิยมที่มีธรรมเนียมปฏิบัติบางประการ เช่น ภาพของประธานเหมาต้องแสดงเป็น "สีแดง, เรียบ และเรืองแสง"[144]: 7–12 [145]: 360 

รูปแบบงานศิลปะดั้งเดิมถูกกีดกันจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และจิตรกรอย่าง เฟิง จื่อไข่, สือ หลู่และพัง เทียนโซ่วได้ถูกกวาดล้าง[117]: 97  จิตรกรส่วนใหย่ถูกส่งไปใช้แรงงาน และถูกสั่งให้วาดภาพยกย่องการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการที่ตนถูกนำมาใช้แรงงาน[145]: 351–52  ในปีค.ศ. 1971 เพื่อบรรเทาจากความยากลำบาก จิตรกรหลายคนถูกเรียกตัวกลับจากการใช้แรงงาน หรือถูกปล่อยจากที่คุมขัง โดยเป็นแนวคิดริเริ่มของโจว เอินไหล เพื่อให้มาดำเนินการตกแต่งสถานีรถไฟและโรงแรมที่ถูกทำลายโดยยุวชนแดง โจวกล่าวว่างานศิลปะเหล่านี้มีไว้สำหรับชาวต่างชาติ ดังนั้นศิลปะ "ภายนอก" จึงไม่อยู่ภายใต้ภาระผูกผันของศิลปะ "ภายใน" ที่ไว้แสดงแก่พลเมืองชาวจีนเท่านั้น สำหรับตัวเขาเองมองว่า ภาพวาดวิวทิวทัศน์ไม่ควรถูกจำแนกว่าเป็น "สิ่งเก่าทั้งสี่" แต่โจวก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง และในปีค.ศ. 1974 เจียง ชิงได้ยึดภาพวาดเหล่านี้ และภาพเขียนอื่น ๆ รวมถึงนิทรรศการที่จัดในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองอื่น ๆ โดยประณามว่าเป็น "ภาพวาดดำ"[145]: 368–76 

ศิลปวัตถุทางประวัติศาสตร์

[แก้]
พระพุทธรูปถูกทำลายจนพังยับเยินในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งยังพบร่องรอยในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยและมณฑลกานซู่

โบราณสถาน โบราณวัตถุและหอจดหมายเหตุของจีนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากเชื่อว่าเป็นรากเหง้าของ "วิธีคิดแบบเก่า" วัตถุโบราณถูกยึด พิพิธภัณฑ์และบ้านเรือนถูกปล้นสะดม และสิ่งของใด ๆ ที่ถูกพบและถูกคิดว่าเป็นภาพแทนของชนชั้นกระฎุมพีหรือศักดินาจะถูกทำลาย มีบันทึกเพียงไม่กี่ฉบับที่บันทึกว่าสิ่งของเหล่านี้ถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด ผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่า ประวัติศาสตร์หลายพันปีของจีนโดยส่วนใหญ่ถูกทำลายลง หรืออาจถูกลักลอบนำไปขายต่างประเทศ ในช่วงสิบปีอันสั้น ๆ ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์จีนเปรียบเทียบการปราบปรามทางวัฒนธรรมเหมือนกับยุคเผาตำรา ฝังบัณฑิตของจิ๋นซีฮ่องเต้ การกดขี่ข่มเหงทางศาสนาเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานี้ อันเป็นผลมาจากการที่ศาสนาถูกมองว่าเป็นปรปักษ์กับแนวคิดลัทธิมากซ์-เลนินและเหมา[34]: 73 

แม้ว่าการดำเนินการจะกระทำโดยนักปฏิวัติทางวัฒนธรรมบางคน แต่นโยบายการทำลายศิลปวัตถุทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1967 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ ข้อเสนอแนะหลายประการในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและหนังสือในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[127]: 21  ถึงกระนั้นมรดกทางวัฒนธรรมจีนได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เช่น จากการสำรวจในปีค.ศ. 1972 ณ กรุงปักกิ่ง มีการสำรวจมรดกทางวัฒนธรรมจุดสำคัญ 18 แห่ง รวมทั้งหอสักการะฟ้าและสุสานหลวงราชวงศ์หมิง แสดงให้เห็นถึงความเสียหายอย่างกว้างขวาง มีมรดกทางวัฒนธรรม 80 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลนคร มีมรดกถูกทำลาย 30 แห่ง และจากมรดกทางวัฒนธรรม 6,843 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลปักกิ่งในปีค.ศ. 1958 ปรากฏว่ามีมรดก 4,922 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย[146] หนังสือเก่าที่มีคุณค่า ภาพวาด และโบราณวัตถุอื่น ๆ มากมายถูกเผาทำลายเป็นเถ้าถ่าน[147]: 98 

การขุดค้นและการรักษาทางโบราณคดีในยุคหลังการทำลายล้างในทศวรรษที่ 1960 ได้รับการคุ้มครอง และมีการค้นพบที่สำคัญเช่น กองทัพทหารดินเผาและหม่าหวังตุย ซึ่งค้นพบในช่วงจุดสูงสุดของการปฏิวัติ[127]: 21  อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของงานวิจัยทางโบราณคดี คือ วารสารเขากู่ ไม่ได้ถูกทำลายในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[148] หลังจากช่วงรุนแรงของทศวรรษที่ 1960 สิ้นสุดลง การโจมตีวัฒนธรรมดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไปในปีค.ศ. 1973 ด้วยนโยบาย การต่อต้านหลิน เปียว การต่อต้านขงจื๊อ เป็นส่วนสำคัญในการต่อต้านพวกสายกลางภายในพรรค

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]
ชุดเครื่องแบบของเขมรแดงที่มีการสวมใส่ในช่วงที่ขึ้นสู่อำนาจ การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวเขมรมีการลอกเลียนแบบและได้รับสนับสนุนจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีน

ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งออก "การปฏิวัติคอมมิวนิสต์" รวมทั้งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปยังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ลาว, เมียนมาร์และโดยเฉพาะในเขมรแดงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวเขมร[149][150] มีการประมาณการว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศแก่เขมรแดงอย่างน้อย 90% นั้นมาจากจีน โดยในปีค.ศ. 1975 เพียงปีเดียวมีความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนมีเงินทุนมอบให้เพิ่มเติม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[151]

ในบรรดากว่า 40 ประเทศที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือมีความสัมพันธ์กึ่งการทูตกับจีนในขณะนั้น ประมาณ 30 ประเทศได้เกิดข้อพิพาทกับจีน บางประเทศถึงกับยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, กานาและอินโดนีเซีย[150]

  • ยุวชนแดงบุกเข้าไปในสถานกงสุลอังกฤษในกรุงปักกิ่งและทำร้ายนักการทูต 3 คนและเลขานุการ 1 คน ทางการจีนปฏิเสธที่จะประณามการกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่อังกฤษในเซี่ยงไฮ้ถูกโจมตีอีกเหตุการณ์หนึ่ง เนื่องจากทางการจีนพยายามปิดสถานกงสุลที่นั่น
  • ด้วยความช่วยเหลือของสถานทูตและสถานกงสุลจีนในพื้นที่โพ้นทะเล พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเหมา เช่น การส่งหนังสือเล่มเล็กแดง และเหรียญตราประธานเหมาสู่พลเรือน
  • นักการทูตจีนหลายคนถูกเรียกตัวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่อาวุโสอย่าง เฉิน อี้ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีนก็ถูกกวาดล้าง[152][153]
  • อาคันตุกะต่างชาติหลายคน "ได้รับคำสั่ง" ให้ยืนตรงหน้ารูปปั้นประธานเหมา เจ๋อตง ถือหนังสือเล่มเล็กแดง และ "รายงาน" ตัวต่อเหมาเฉกเช่นพลเรือนจีนทั่วไป[154]

มุมมองสาธารณะ

[แก้]

ความคิดเห็นของพรรคคอมมิวนิสต์

[แก้]
ส่วนกลางของกำแพงนี้แสดงให้เห็นรอยจางของคำขวัญโฆษณาชวนเชื่อที่เขียนขึ้นในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่ถูกลบออกไปภายหลัง คำขวัญที่ว่า "ศรัทธาในท่านประธานเหมาอย่างไร้ขอบเขต"

เพื่อทำความเข้าใจความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่นำโดยเหมา ในขณะที่เขากำลังรักษาอำนาจและความชอบธรรมในพรรค ผู้สืบทอดของเหมาจำเป็นต้องใช้เหตุการณ์นี้เป็นการตัดสินทางประวัติศาสตร์ "อย่างเหมาะสม" ในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1981 คณะกรรมการกลางได้รับรอง "ทางแก้ปัญหาที่แน่นอนในประวัติศาสตร์พรรคของพวกเรานับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน" ซึ่งเป็นการประเมินถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ค.ศ. 1949[155]

มติแก้ปัญหาระบุอย่างตรงไปตรงมาถึงบทบาทของเหมาที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหว โดยระบุว่า "เป็นความรับผิดชอบหลักสำหรับความผิดพลาดของ 'ฝ่ายซ้าย' ที่ร้ายแรงของ 'การปฏิวัติทางวัฒนธรรม' เป็นความผิดพลาดที่ครอบคลุมทั้งด้านขนาดและความยืดเยื้อ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความคิดของสหายเหมา เจ๋อตง" มันมีการทำให้ความผิดของเหมาเบาบางลงโดยมีการใช้กลุ่มขบวนการ "ที่ถูกควบคุมโดยพวกฝ่ายต่อต้านปฏิวัติของหลิน เปียวและเจียง ชิง" ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งเลวร้ายที่สุด มติดังกล่าวยืนยันว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรม "นำหายนะและความวุ่นวายร้ายแรงมาสู่พรรคคอมมิวนิสต์และประชาชนจีน"[155]

ในมุมมองอย่างเป็นทางการมีจุดประสงค์เพื่อแยกการกระทำของเหมาระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมแยกออกจากกิจกรรม "วีรบุรุษ" การปฏิวัติของเขาในช่วงสงครามกลางเมืองจีนและสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง นอกจากนี้ยังแยกความผิดพลาดส่วนตัวของเหมาออกจากความถูกต้องตามทฤษฎีที่เขาสร้างขึ้น ไปจนถึงการหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของเหมา ซึ่งแนวคิดของเขายังคงเป็นอุดมการณ์ทางการของพรรค เติ้ง เสี่ยวผิงสรุปด้วยวลีที่มีชื่อเสียงว่า "เหมาดี 70% แย่ 30%"[156] หลังจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้งยืนยันว่าอุดมการณ์ลัทธิเหมาเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ แต่ในทางปฏิบัติเขากลับละทิ้งแนวคิดนี้เพื่อหันไปใช้ "สังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน" ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจตลาดที่กำกับโดยรัฐ อันมีความแตกต่างจากเหมามาก

ในจีนแผ่นดินใหญ่ มุมมองอย่างเป็นทางการของพรรคเป็นกรอบที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์นิพนธ์จีนในยุคนั้น มุมมองทางเลือกอื่น ๆ (ข้างล่าง) ไม่ได้รับการสนับสนุน หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม มีวรรณกรรมประเภทใหม่ถูกเรียกว่า "วรรณกรรมบาดแผล" (Shanghen Wenxue) เกิดขึ้นมา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยุคหลังเหมา เขียนขึ้นโดยคนวัยหนุ่มที่มีการศึกษา เช่น หลิว ซินหัว, จาง เสียนเลี่ยงและหลิว ซินหวู่ วรรณกรรมบาดแผลสร้างมุมมองเชิงลบต่อการปฏิวัติ โดยใช้มุมมองและประสบการณ์ของตนเองเป็นพื้นฐาน[127]: 32 

หลังจากปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยมภายในพรรค ได้กล่าวหากันและกันกันว่ากระทำกินกว่าเหตุ พวกเขาอ้างว่าเป็นการย้ำเตือนถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลี่ เผิงสนับสนุนการใช้กำลังทหาร เขากล่าวว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาได้รับแรงบันดาลใจมาจากประชานิยมระดับรากหญ้าของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการตรวจสอบ ก็จะนำไปสู่ความโกลาหลในระดับเดียวกัน[157] จ้าว จื่อหยางเห็นอกเห็นใจผู้ประท้วง ภายหลังเขากล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขาว่า การถอดเขาออกจากตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยใช้กลวิธี "รูปแบบการปฏิวัติทางวัฒนธรรม" รวมถึง "ย้อมขาวเป็นดำ ย้อมดำเป็นขาว การพูดโอ้อวดส่วนตัวเกินจริง การพูดนอกบริบท การว่าร้ายและโกหก... เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยบทความวิพากษ์วิจารณ์ทำให้ข้าพเจ้าต้องกลายเป็นศัตรู และไม่เคารพเสรีภาพส่วนตัวของข้าพเจ้า"[158]

ความคิดเห็นทางเลือกในจีน

[แก้]

แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประณามการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีประชาชนจีนจำนวนมาที่มีความคิดเห็นเชิงบวกต่อเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นแรงงานที่รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้ [127] นับตั้งแต่เติ้งขึ้นสู่อำนาจ รัฐบาลได้จับกุมและคุมขังผู้ที่มีจุดยืนสนับสนุนการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ในปีค.ศ. 1985 คนงานโรงงานรองเท้าวัยหนุ่มคนหนึ่งติดโปสเตอร์บนผนังโรงงานในเมืองเสียนหยาง มณฑลฉ่านซี ซึ่งประกาศว่า "การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นดี" และนำไปสู่ความสำเร็จเช่น "การก่อสร้างสะพานหนานจิงแยงซี, การคิดค้นข้าวพันธุ์ผสม และการสร้างจิตสำนึกของประชาชน" ในทีสุดแรงงานโรงงานรายนี้ถูกตัดสินจำคุกสิบปี ซึ่งเขาเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน "โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน"[127]: 46–47 

หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในการประท้วงเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 เสิ่น ถง ผู้เขียนหนังสือ เกือบปฏิวัติ มีมุมมองเชิงบวกบางแง่มุมต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เสิ่นชี้ว่าจุดเริ่มต้นของการประท้วงที่เทียนอันเหมินอันโด่งดังในปีค.ศ. 1989 นั่นคือการใช้โปสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการอภิปรายสาธารณะทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เสิ่นตั้งข้อสังเกตว่าการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศมายังปักกิ่งด้วยทางรถไฟและการต้อนรับจากผู้พักอาศัย ทำให้เขาหวนนึกถึงประสบการณ์ของยุวชนแดงในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[12]

นับตั้งแต่การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ผู้คนทั้งในและนอกประเทศจีนได้โต้เถียงกันทางออนไลน์ว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากมายต่อประเทศจีน ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์ยุคหลังเหมาและสื่อตะวันตก บางคนเชื่อว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรม "ชำระล้าง" ประเทศจีนจากความเชื่อโชคลาง ความเชื่อทางศาสนาและประเพณีที่ล้าสมัยใน "การเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย" ซึ่งทำให้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเติ้งเป็นไปได้ในเวลาต่อมา ความรู้สึกเหล่านี้เพิ่มขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาวางระเบิดสถานทูตจีนในเบลเกรดในปีค.ศ. 1999 เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งเริ่มเชื่อมโยงมุมมองต่อต้านลัทธิเหมากับสหรัฐอเมริกา[127]: 117 

ฝ่ายซ้ายใหม่จีนมีการจัดระเบียบกันมากขึ้นในสมัยอินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เหมาซึ่งมาจากนักวิชาการและปัญญาชน เว็บไซต์ลัทธิเหมารายหนึ่งสามารถรวบรวมรายชื่อนับพันที่เรียกร้องให้มีการลงโทษผู้วิพากษ์วิจารณ์เหมาในที่สาธารณะ นอกจากการเรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย การเคลื่อนไหวนี้ยังเรียกร้องให้จัดตั้งหน่วยงานที่คล้ายคลึงกับ "คณะกรรมการเพื่อนบ้าน" ในช่วงยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่ง "พลเมือง" จะรายงานการต่อต้านลัทธิเหมาต่อสำนักงานความมั่นคงสาธารณะในท้องถิ่น สำนวนโวหารและวิธีการระดมพลของเหมาได้รับการฟื้นคืนภายในเมืองฉงชิ่งในช่วงการดำรงตำแหน่งของป๋อ ซีไหล[159]

จีนร่วมสมัย

[แก้]

การอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรมยังคงมีอยู่อย่างจำกัดในจีน รัฐบาลจีนยังคงห้ามไม่ให้สื่อมวลชนพูดถึงรายละเอียดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม การสนทนาออนไลน์และหนังสือเกี่ยวกับประเด็นนี้ต้องได้รับการตรวจสอบจากทางการ ตำราเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงปฏิบัติตาม "มุมมองทางการ" ของเหตุการณ์นี้ เอกสารของรัฐบาลหลายฉบับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นไป ยังคงถูกจัดประเภทและไม่เปิดให้นักวิชาการเอกชนตรวจสอบอย่างเป็นทางการ[160] ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจีนในปักกิ่ง การปฏิวัติทางวัฒนธรรมแทบไม่มีการกล่าวถึงในนิทรรศการประวัติศาสตร์[161] แม้ว่าจะมีการก้าวล้ำจากนักจีนวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายคน แต่งานวิจัยทางวิชาการที่เป็นอิสระในเรื่องการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็จะไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจีน[160] มีความกังวลว่าเมื่อพยานผู้ประสบเหตุการณ์แก่ชราและเสียชีวิตไป โอกาสในการค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศจีนอย่างถี่ถ้วนก็อาจสูญหายไปด้วย[162] ในปีค.ศ. 2018 มีรายงานว่าการปฏิบัติอย่างหนึ่งตามแบบฉบับของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม "เฟิ่งเฉียว" หรือการวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะเกี่ยวกับกลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติในหมู่บ้าน กำลังฟื้นคืนอย่างไม่มีการคาดคิด แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่านี่เป็นเหตุการณ์เดียวหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณการหันกลับมาสนใจรูปแบบวัฒนธรรมตามแบบฉบับการปฏิวัติ[163]

การอภิปรายร่วมสมัยเกี่ยวกับมรดกของเหมา เจ๋อตง

[แก้]

ภาพลักษณ์ของเหมา เจ๋อตงเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชาติจีน แม้ว่าเขาจะมีวิธีปฏิบัติที่น่ากลัว แต่ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของเขา ผู้คนจำนวนมากในประเทศจีนกลับมองว่าเหมาเป็นสมมติเทพและเรียกเขาว่า "ผู้กอบกู้ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน" ผู้สนับสนุนเหมา เจ๋อตงยกย่องให้เขาเป็นเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้การอภิปรายร่วมสมัยในหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ เช่น Global Times ยังคงพยายามรักษาภาพลักษณ์ของเหมาในหมู่สาธารณชน มากกว่าการแสดงผลที่ตามมาอย่างน่าสยดสยองจากการเป็นผู้นำของเขา หนังสือพิมพ์หาข้อแก้ตัวโดยอธิบายว่าการปฏิวัติมักจะมีด้านที่โหดร้ายและไม่สามารถมองเห็นได้โดย "มุมมองด้านมนุษยธรรม" ผู้สนับสนุนเหมาจะเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า "ผลลัพธ์สำคัญกว่าวิธีการ"[164]

ศัตรูของเหมา เจ๋อตงมองการกระทำที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของเขาในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป วิธีการที่น่าสนใจในการมองภาพลักษณ์ทางสาธารณะของเหมา คือ "เขามีอำนาจเหนือกว่าการปกครองประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนิยม" เห็นได้ชัดว่าเหมาใช้วิธีการที่สุดโต่งในการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในการได้รับอำนาจ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการกระทำของเหมาได้ส่งผลร้ายแรง ศัตรูของเหมา เจ๋อตงตระหนักดีว่าการกระทำของเขาเป็นสิ่งชั่วร้าย ในแง่ภาพลักษณ์ทางสาธารณะ พวกเขายังคงพอใจในการบรรยายว่าเหมาเป็นคนชั่วร้ายโดยกำเนิด ประโยชน์ของระบอบการปกครองของเหมาไม่อาจแทนที่ประชาชนผู้เสียชีวิตนับไม่ถ้วนในประเทศ บิดา มารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว และอื่น ๆ นับล้านต้องสูญหายไปจากความอหังการของเหมา ภาพลักษณ์ของเหมาในแต่ละมุมมองนั้นแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับว่าจะตั้งคำถามกับใคร[165]

นอกจีนแผ่นดินใหญ่

[แก้]

ในฮ่องกง การจลาจลฮ่องกง ค.ศ. 1967 โดยฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ต่อต้านอาณานิคมได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนมากได้ทำลายความน่าเชื่อถือของนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ในสายตามชาวฮ่องกงที่ประสบมาหลายชั่วอายุคน[166] ในไต้หวัน เจียง ไคเชกริเริ่มนโยบายการฟื้นฟูวัฒนธรรมจีนเพื่อตอบโต้สิ่งที่เขามองว่าเป็นการทำลายค่านิยมแบบจีนดั้งเดิมโดยพวกคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนแอลเบเนีย ผู้นำคอมมิวนิสต์และพันธมิตรกับจีนอย่างแอนแวร์ ฮอจาเริ่มนโยบาย "การปฏิวัติทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์" ที่ดำเนินการแนวเดียวกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[167]

ในโลกโดยรวม เหมา เจ๋อตงการเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสถาบัน ต่อต้านประชานิยมในระดับรากหญ้า และต่อต้านแนวคิดการตัดสินใจด้วยตนเอง มีการพบว่าปรัชญาการปฏิวัติของเขามีผู้สานต่อเช่น เซนเดโรลูมิโนโซในเปรู การก่อความไม่สงบแน็กซาไลท์ในอินเดีย ขบวนการทางการเมืองหลายกลุ่มในเนปาล พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา[168] และขบวนการวัฒนธรรมต่อต้านในทศวรรษที่ 1960 ในปีค.ศ. 2007 ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ดอนัลด์ เซิ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นภาพแทนของ "อันตรายของระบอบประชาธิปไตย" ที่ว่า "ผู้คนสามารถมีแนวคิดสุดโต่งเหมือนที่เราเห็นในสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[...] เมื่อผู้คนสามารถนำทุกอย่างไปไว้ในมือของพวกเขา เมื่อนั้นคุณก็จะปกครองพวกเขาไม่ได้"[169] คำพูดดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งในฮ่องกงและนำมาด้วยการถอนคำพูดด้วยการขอโทษ[169]

การโต้แย้งทางวิชาการ

[แก้]

ผู้วิจัยและนักวิชาการยังคงอภิปรายกันต่อไปว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ บทบาทของเหมา การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเริ่มต้นได้อย่างไรและมันเป็นไปในลักษณะไหน การอภิปรายโต้แย้งเหล่านี้เปลี่ยนไปตลอดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิจัยได้ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ

ในทศวรรษที่ 1960 นักวิชาการหลายคนมองว่าความคิดของเหมาเริ่มแรกเป็นอุดมการณ์และการทำลายล้าง แต่บางคนก็เข้าข้างเหมา เพราะมองว่าเหมาตั้งใจทำให้เกิดความเท่าเทียม การต่อต้านระบบราชการและการทุจริต และความเห็นแก่ตัวที่มีในปัจเจกบุคคล พวกเขามองว่าลัทธิเหมาเป็นการเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์แบบรวมหมู่ และมีสิทธิในการก่อจลาจล และมีความมุ่งมั่นที่จะกำจัดชนชั้นปกครองใหม่ ในทศวรรษที่ 1980 นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือ แอนดรูว์ จี. วัลเดอร์ เขียนว่า "มติมหาชนในด้านนี้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด" นักวิชาการส่วนใหญ่ที่อยู่ในสาขานี้ "ดูเหมือนจะเชื่อว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นหายนะของมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมทางประวัติศาสตร์ บางครั้งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับคำสั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ และการกวาดล้างครั้งใหญ่ของสตาลิน" วัลเดอร์โต้แย้งว่า ความล้มเหลวของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไม่ได้มาจากการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างไม่ดี ไม่ได้มาจากการทำลายระบบราชการ ความไม่จงรักภักดี หรือความปรปักษ์ทางชนชั้นที่ยืดเยื้อมานาน ถ้าหากสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามที่เหมาคาดการณ์ไว้ วัลเดอร์จึงสรุปว่า "บางทีอาจเป็นเพราะตัวเหมาเองไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ หรือ รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไรอยู่ หรือทั้งสองอย่าง... ผลเกิดขึ้นคือสิ่งที่เขาคาดหวัง อย่างหลักคำสอนและจุดมุ่งหมายของลัทธิเหมา"[170]

อย่างไรก็ตาม การโต้แย้งยังคงดำเนินต่อไป เพราะขบวนการเคลื่อนไหวมีความขัดแย้งกันมากมาย นำโดยผู้ที่มีอำนาจในทุกหนแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มที่นำการลุกฮือของประชาชนระดับรากหญ้าที่ต่อต้านองค์กรคอมมิวนิสต์แบบจัดตั้ง หนังสือภาษาอังกฤษแทบทุกเล่มตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้วาดภาพขบวนการเคลื่อนไหวนี้ในแง่ลบ นักประวัติศาสตร์ แอนน์ เอฟ. เทิร์สตัน เขียนว่า มัน "นำไปสู่การสูญเสียวัฒนธรรม และคุณค่าทางจิตวิญญาณ สูญเสียความหวังและอุดมการณ์ สูญเสียเวลา ความจริงและชีวิต"[171] บาร์นูอินและหยู สรุปการปฏิวัติทางวัฒนธรรมว่าเป็น "ขบวนการทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การระดมมวลชน ภาวะจิตเวช กลียุค ความอำมหิตอย่างไร้เหตุผล การทรมาน การฆ่าล้างและแม้กระทั่งสงครามกลางเมือง" โดยเรียกเหมาว่าเป็น "หนึ่งในเผด็จการที่กดขี่ข่มเหงที่สุดแห่งยุคศตวรรษที่ 20"[147]: 217  นักวิชาการบางคนได้ท้าทายการบรรยายภาพของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของนักวิชาการกระแสหลักและเสนอให้ทำความเข้าใจมันในแง่บวกมากขึ้น โมโบ เกา เขียนในหนังสือ The Battle for China's Past: Mao and the Cultural Revolution โต้แย้งว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองจีนหลายล้านคน โดยเฉพาะแรงงานด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม[127]: 1  และมองว่าเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นประชานิยมอย่างแท้จริง โดยอ้างถึงความคิดคำนึงถึงลัทธิเหมาในประเทศจีนที่ทุกวันนี้กลายเป็นเศษซากมรดกทางบวกที่ยังหลงเหลืออยู่[127]: 3  บางคนแยกความแตกต่างระหว่างความตั้งใจและการกระทำ[170]: 159  ในขณะที่ความเป็นผู้นำของเหมามีความสำคัญในช่วงเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว จิ่น ชิว โต้แย้งว่า เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป มันกลับกลายเบี่ยงเบนไปจากวิสัยทัศน์ในอุดมคติของเหมาอย่างมีนัยสำคัญ[14]: 2–3  ในแง่นี้ การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจายและมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ค่อย ๆ สูญเสียความสามัคคี ทำให้เกิด "การปฏิวัติในท้องถิ่น" จำนวนมากซึ่งแตกต่างกันทั้งทางลักษณะวิสัยและเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม[14]: 2–3 

ความสนใจทางวิชาการยังมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการกับบุคลิกภาพของเหมา เหมาจินตนาการว่าตนเองเป็นผู้นำขบวนการกองโจรในช่วงสงคราม ซึ่งทำให้เขาไม่ไว้ใจธรรมชาติของระบบราชการในช่วงสงบสุข โดยในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เหมาต้องการเพียง "การกลับคืนสู่รูปแบบเดิม" อีกครั้งเหมือนตอนที่เขาเป็นผู้นำกองโจรในการต่อสู้กับระบบราชการที่เป็นสถาบันของพรรค โรเดอริก แม็คฟาร์คัวร์และไมเคิล ชอนฮัลส์ วาดภาพการเคลื่อนไหวนี้ว่า ไม่ใช่สงครามโดยสุจริตที่อยู่เหนือความบริสุทธิ์ทางอุดมการณ์หรือเป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อขจัดคู่แข่งทางการเมืองของเหมา[17]: 2–3  ในขณะที่แรงจูงใจส่วนตัวของเหมามีความสำคัญต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาให้เหตุผลว่าปัจจัยที่ซับซ้อนอื่น ๆ มีส่วนทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับขบวนการคอมมิวนิสต์มทั่วโลก ความกังวลทางภูมิรัฐศาสตร์ ความแตกแยกทางอุดมการณ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และความล้มเหลวของการก้าวกระโดดไปข้างหน้า[17]: 2–3  พวกเขาสรุปว่าอย่างน้อยก็ในส่วนหนึ่งที่ การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นโครงการมรดกที่ผูกยึดตำแหน่งของเหมาในประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีของเขาในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ "และ" ปกปักษ์รักษาความคิดอันไม่สามารถทำลายสิ้นได้ของเขาหลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว[17]: 2–3 

ความกลัวหวาดผวาล้มรอบการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่เคบเกิดขึ้นมาก่อน นักประวัติศาสตร์ ฟิลิป ช็อต ยืนยันว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมมีองค์ประกอบที่คล้ายกับการบูชาทางศาสนา[172] สถานะสมมติเทพของเหมาในช่วงนั้นทำให้เขามีอำนาจทางความคิดเหนือหลักการคอมมิวนิสต์ แต่ลักษณะงานเขียนที่ลึกลับและมักขัดแย้งกันเองของเขานำไปสู่สงครามที่ไม่รู้จบในด้านการตีความงานของเขา โดยทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมต่างใช้คำสอนของเขาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างกัน

ในหนังสือ Mao: The Unknown Story ของจัง ชางและจอน ฮาลลิเดย์ กล่าวถึงการทำลายล้างจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมาเป็นการส่วนตัว โดยมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพันธมิตรและศัตรูของเขามากขึ้นด้วย[71]

บทความที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ไม่เกี่ยวข้องกับเผิง เต๋อหวย
  1. 1.0 1.1 1.2 Pye, Lucian W. (1986). "Reassessing the Cultural Revolution". The China Quarterly. 108 (108): 597–612. doi:10.1017/S0305741000037085. ISSN 0305-7410. JSTOR 653530.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Remembering the dark days of China's Cultural Revolution". South China Morning Post. 2012-08-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 9, 2018. สืบค้นเมื่อ 2019-11-29.
  3. 3.0 3.1 Strauss, Valerie; Southerl, Daniel (1994-07-17). "HOW MANY DIED? NEW EVIDENCE SUGGESTS FAR HIGHER NUMBERS FOR THE VICTIMS OF MAO ZEDONG'S ERA". The Washington Post. ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-09. สืบค้นเมื่อ 2019-05-09.
  4. 4.0 4.1 Foundation, World Peace. "China: the Cultural Revolution | Mass Atrocity Endings". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-11-29.
  5. 5.0 5.1 "A Brief Overview of China's Cultural Revolution". Encyclopedia Britannica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2019. สืบค้นเมื่อ 12 June 2019.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Source List and Detailed Death Tolls for the Primary Megadeaths of the Twentieth Century". Necrometrics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 4, 2012. สืบค้นเมื่อ November 9, 2014.
  7. Kristof, Nicholas D. (1993-01-06). "A Tale of Red Guards and Cannibals". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2020-01-22.
  8. Yan, Lebin. "我参与处理广西文革遗留问题". Yanhuang Chunqiu (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ 2020-01-22.
  9. 9.0 9.1 "关于建国以来党的若干历史问题的决议". The Central People's Government of the People's Republic of China (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2020-04-23.
  10. 10.0 10.1 "Resolution on Certain Questions in the History of Our Party since the Founding of the People's Republic of China" (PDF). Wilson Center. 1981-06-27.
  11. 11.0 11.1 Sixth Plenary Session of the Eleventh Central Committee of the Communist Party of China. June 27, 1981. "Resolution on Certain Questions in the History of Our Party Since the Founding of the People's Republic of China." Resolution on CPC History (1949–81). Beijing: Foreign Languages Press. p. 32.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Tang, Tsou. [1986] 1986. The Cultural Revolution and Post-Mao Reforms: A Historical Perspective. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0-226-81514-5.
  13. 13.0 13.1 13.2 Worden, Robert (1987). "A Country Study:China". Library of Congress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2012.
  14. 14.00 14.01 14.02 14.03 14.04 14.05 14.06 14.07 14.08 14.09 14.10 14.11 Jin, Qiu (1999). The Culture of Power: Lin Biao and the Cultural Revolution. Stanford University Press. ISBN 978-0804735292.
  15. "Historical Atlas of the 20th century". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2011. สืบค้นเมื่อ October 23, 2004.
  16. Spence
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 17.12 17.13 17.14 17.15 17.16 17.17 17.18 17.19 17.20 17.21 17.22 17.23 17.24 17.25 17.26 17.27 17.28 17.29 17.30 17.31 17.32 17.33 17.34 17.35 17.36 17.37 17.38 17.39 17.40 17.41 17.42 17.43 17.44 17.45 17.46 17.47 17.48 17.49 17.50 17.51 17.52 17.53 17.54 17.55 17.56 17.57 17.58 17.59 17.60 17.61 17.62 17.63 17.64 17.65 17.66 17.67 17.68 17.69 17.70 17.71 17.72 17.73 17.74 17.75 17.76 17.77 17.78 17.79 17.80 17.81 17.82 17.83 17.84 MacFarquhar, Roderick; Schoenhals, Michael (2006). Mao's Last Revolution. Harvard University Press. ISBN 978-0-674-02332-1.
  18. 18.0 18.1 Baum, Richard (1969). "Revolution and Reaction in the Chinese Countryside: The Socialist Education Movement in Cultural Revolutionary Perspective". The China Quarterly. 38 (38): 92–119. doi:10.1017/S0305741000049158. ISSN 0305-7410. JSTOR 652308.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 Wang, Nianyi (1989). 大动乱的年代:1949–1989 年的中国 [Great age of turmoil, a history of China 1949–89]. Henan Renmin Chubanshe.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 20.6 20.7 Lu, Xing (2004). Rhetoric of the Chinese Cultural Revolution: The Impact on Chinese Thought, Culture, and Communication. University of South Carolina Press. ISBN 978-1570035432.
  21. Decision Concerning the Great Proletarian Cultural Revolution เก็บถาวร พฤษภาคม 20, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, adopted on August 8, 1966, by the CC of the CCP (official English version)
  22. "1966.8.9 中共中央关于无产阶级文化大革命的决定(附图)". Sina (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2020-06-10.
  23. "毛泽东八次接见红卫兵始末(上) ". 新闻午报 (ภาษาChinese (China)). 2006-04-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 6, 2019. สืบค้นเมื่อ March 2, 2019.
  24. Wang, Youqin (2001). "Student Attacks Against Teachers: The Revolution of 1966" (PDF). University of Chicago.
  25. Jian, Guo; Song, Yongyi; Zhou, Yuan (2006). Historical Dictionary of the Chinese Cultural Revolution (ภาษาอังกฤษ). Scarecrow Press. ISBN 978-0-8108-6491-7.
  26. 26.0 26.1 Wang, Youqin (2001). "Student Attacks Against Teachers: The Revolution of 1966" (PDF). University of Chicago.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. Melvin, Shelia (September 7, 2011). ""China's reluctant Emperor", [[The New York Times]], Shelia Melvin, Sept. 7, 2011". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 6, 2016. สืบค้นเมื่อ February 15, 2017.
  28. 28.0 28.1 Asiaweek, Volume 10. 1984. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 27, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  29. Jeni Hung (April 5, 2003). "Children of Confucius". The Spectator. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2006. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04.
  30. Shi, Gang (2004). "红卫兵"破四旧"的文化与政治". Chinese University of Hong Kong (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2020-06-10.
  31. "murdoch edu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 25, 2005.
  32. 32.0 32.1 Yu, Dan Smyer. "Delayed contention with the Chinese Marxist scapegoat complex: re-membering Tibetan Buddhism in the PRC." The Tibet Journal, 32.1 (2007)
  33. 33.0 33.1 Song, Yongyi (2011). "Chronology of Mass Killings during the Chinese Cultural Revolution (1966–1976)". Online Encyclopedia of Mass Violence. ISSN 1961-9898. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 25, 2019. สืบค้นเมื่อ April 25, 2019.
  34. 34.0 34.1 34.2 34.3 34.4 Jiaqi, Yan; Gao, Gao (1996). Turbulent Decade: A History of the Cultural Revolution. University of Hawai'i Press. ISBN 978-0824816957.
  35. Bridgham, Philip (1968). "Mao's Cultural Revolution in 1967: The Struggle to Seize Power". The China Quarterly. 34 (34): 6–37. doi:10.1017/S0305741000014417. ISSN 0305-7410. JSTOR 651368.
  36. "Liu Shaoqi rehabilitated". www.marxists.org. สืบค้นเมื่อ June 10, 2020.
  37. Donald N. Sull; Yong Wang (2005). Made In China: What Western Managers Can Learn from Trailblazing Chinese Entrepreneurs. Harvard Business School Press. pp. 17–18. ISBN 978-1591397151.
  38. Alfreda Murck (2013). Mao's Golden Mangoes and the Cultural Revolution. University of Chicago Press. ISBN 978-3-85881-732-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2019. สืบค้นเมื่อ September 29, 2019.
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 Andrew G. Walder (2015). China Under Mao. Harvard University Press. pp. 280–81. ISBN 978-0-674-05815-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2019. สืบค้นเมื่อ September 29, 2019.
  40. Mao's Golden Mangoes and the Cultural Revolution (Press Release). University of Chicago Press, Books. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 29, 2019. สืบค้นเมื่อ August 17, 2018.
  41. 41.0 41.1 41.2 Melissa Schrift (2001), Biography of a Chairman Mao Badge: The Creation and Mass Consumption of a Personality Cult, Rutgers University Press, pp. 96–98, ISBN 978-0-8135-2937-0, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2019, สืบค้นเมื่อ September 29, 2019
  42. 42.0 42.1 42.2 Moore, Malcolm (March 7, 2013). "How China came to worship the mango during the Cultural Revolution". The Daily Telegraph. Beijing. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 20, 2015. สืบค้นเมื่อ January 28, 2016.
  43. 43.0 43.1 Daniel Leese (2011), Mao Cult: Rhetoric and Ritual in China's Cultural Revolution, Cambridge University Press, pp. 221–22, ISBN 978-1-139-49811-1, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2019, สืบค้นเมื่อ September 29, 2019
  44. Marks, Ben. "The Mao Mango Cult of 1968 and the Rise of China's Working Class". Collectors Weekly (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 5, 2019. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  45. As quoted in MacFarquhar and Michael Schoenhals, p. 291.[โปรดขยายความ]
  46. ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐทางนิตินัยของจีน ต่อมามีการเรียกว่า "ประธานาธิบดี" ตั้งแต่ค.ศ. 198.
  47. Hannam and Lawrence 3–4
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 48.4 48.5 Frederick Teiwes; Warren Sun (2004). "The First Tiananmen Incident Revisited: Elite Politics and Crisis Management at the End of the Maoist Era". Pacific Affairs. 77 (2): 211–35. JSTOR 40022499.
  49. 49.0 49.1 49.2 49.3 Spence, Jonathan (1999). The Search for Modern China. W.W. Norton and Company. ISBN 0-393-97351-4.
  50. Slatyer, Will (2015). The Life/Death Rhythms of Capitalist Regimes – Debt Before Dishonour: Timetable of World Dominance 1400–2100 (ภาษาอังกฤษ). Partridge Publishing Singapore. ISBN 978-1482829617.
  51. 1976.9.10 毛主席逝世--中共中央等告全国人民书(附图). People's Daily. Sina. November 12, 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 14, 2004. สืบค้นเมื่อ March 21, 2007.
  52. "Memorial speech by Hua Kuo-Feng". www.marxists.org. สืบค้นเมื่อ May 7, 2020.
  53. "毛泽东葬礼上的江青:头戴黑纱 面无表情_历史频道_凤凰网". news.ifeng.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ May 7, 2020.
  54. Forster, Keith (1992). "China's Coup of October 1976". Modern China. 18 (3): 263–303. doi:10.1177/009770049201800302. JSTOR 189334. S2CID 143387271.
  55. 55.0 55.1 55.2 Harding, Harry. [1987] (1987). China's Second Revolution: Reform after Mao. Brookings Institution Press. ISBN 0-8157-3462-X
  56. Rozman, Gilbert. 2014. The Chinese Debate about Soviet Socialism, 1978–1985. Princeton: Princeton University Press. pp. 63–68. ISBN 978-1400858590.
  57. Ferdinand, Peter. 1986. "China." pp. 194–204 in Leadership and Succession in the Soviet Union, Eastern Europe, and China, edited by M. McCauley and S. Carter. Armonk, NY: M. E. Sharpe.
  58. Basic Knowledge about the Communist Party of China: The Eleventh Congress เก็บถาวร มิถุนายน 24, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  59. Andrew, Christopher. Mitrokhin, Vasili. [2005] (2005). The World was Going Our Way: The KGB and the Battle for the Third World. Basic Books Publishing. ISBN 0-465-00311-7
  60. "胡耀邦同志领导平反"六十一人案"追记". www.hybsl.cn (ภาษาจีน). People's Daily. June 1, 1989. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-03. สืบค้นเมื่อ February 17, 2020.
  61. James P. Sterba, The New York Times, January 25, 1981
  62. "Beijing Revises 'Correct' Version of Party History Ahead of Centenary". Radio Free Asia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ May 20, 2021.
  63. Cole, J. Michael (April 22, 2021). "The Chinese Communist Party is playing dangerous games with history". iPolitics (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ May 20, 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  64. "With whiffs of Cultural Revolution, Xi calls for struggle 50 times". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ May 20, 2021.
  65. The Chinese Cultural Revolution: Remembering Mao's Victims เก็บถาวร สิงหาคม 10, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Andreas Lorenz (Beijing) Der Spiegel Online. May 15, 2007
  66. "230,000 Died in a Dam Collapse That China Kept Secret for Years". OZY. February 17, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ March 26, 2020.
  67. 67.0 67.1 67.2 67.3 Song, Yongyi. "文革中"非正常死亡"了多少人?". China in Perspective (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-07. สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  68. ""四人帮"被粉碎后的怪事:"文革"之风仍在继续吹". Renmin Wang (ภาษาจีน). January 30, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 22, 2020. สืบค้นเมื่อ November 29, 2019.
  69. 69.0 69.1 69.2 Ding, Shu (April 8, 2016). "文革死亡人数统计为两百万人". Independent Chinese PEN Center (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ November 22, 2019.
  70. Rummel, R. J. (2011). China's Bloody Century: Genocide and Mass Murder Since 1900 (ภาษาอังกฤษ). Transaction Publishers. ISBN 978-1-4128-1400-3.
  71. 71.0 71.1 71.2 Chang, Jung; Halliday, Jon (2005). Mao: The Unknown Story. Knopf. ISBN 0679422714.
  72. Wang, Youqin (May 4, 2015). "文革受难者 – 关于迫害、监禁和杀戮的寻访实录" (PDF). The University of Chicago (ภาษาจีน). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2016. สืบค้นเมื่อ October 10, 2016. 谨以此书献给所有的文革受难者,愿你们的惨剧,不再被隐瞒、忽视或遗忘,而成为永远的警示:抵制 – 切暴行,尤其是以革命名义进行的群体性迫害。
  73. Dong, Fang (May 12, 2006). "建立文革博物馆之争和海外成果". Voice of America (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  74. Walder, Andrew G.; Su, Yang (2003). "The Cultural Revolution in the Countryside: Scope, Timing and Human Impact". The China Quarterly. 173 (173): 74–99. doi:10.1017/S0009443903000068. ISSN 0305-7410. JSTOR 20058959. S2CID 43671719.
  75. Chirot, Daniel (1996). Modern Tyrants: The Power and Prevalence of Evil in Our Age (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. ISBN 978-0-691-02777-7.
  76. Maurice Meisner (1999). Mao's China and After: A History of the People's Republic (3rd ed.). Free Press. p. 354. ISBN 978-0684856353. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 5, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  77. Yang, Jisheng. 天地翻覆-中国文革大革命史. 天地图书有限公司.
  78. Song, Yongyi (2002). 文革大屠杀 (Cultural Revolution Massacres). Hong Kong: 开放杂志出版社. ISBN 978-9627934097.
  79. Yang, Su (2006). ""文革"中的集体屠杀:三省研究". Modern China Studies (ภาษาจีน). 3.
  80. "Interview: 'People Were Eaten by The Revolutionary Masses'". Radio Free Asia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ November 30, 2019.
  81. Yan, Lebin. "我参与处理广西文革遗留问题". Yanhuang Chunqiu (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 24, 2020. สืบค้นเมื่อ November 29, 2019.
  82. Zheng, Yi (1996). Scarlet Memorial: Tales of Cannibalism in Modern China. Boulder, Colo.: Westview Press. ISBN 081332615X., p. 198
  83. Chen, Xiaomei (2002). Acting the Right Part: Political Theatre and Popular Drama in Contemporary China. University of Hawaii Press. pp. 30–31.
  84. Zhou, Yongming (1999). Anti-drug Crusades in Twentieth-century China: Nationalism, History, and State Building (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-8476-9598-0.
  85. "China's Puzzling Islam Policy". Stanford Politics (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). November 26, 2018. สืบค้นเมื่อ December 27, 2019.
  86. 86.00 86.01 86.02 86.03 86.04 86.05 86.06 86.07 86.08 86.09 86.10 Song, Yongyi (August 25, 2011). "Chronology of Mass Killings during the Chinese Cultural Revolution (1966-1976)". Sciences Po (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ December 27, 2019.
  87. Tan, Hecheng (2017). The Killing Wind: A Chinese County's Descent Into Madness During the Cultural Revolution (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-062252-7.
  88. Jiang, Fangzhou (November 9, 2012). "发生在湖南道县的那场大屠杀". The New York Times (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ December 5, 2019.
  89. 89.0 89.1 Jian, Guo; Song, Yongyi; Zhou, Yuan (2015). Historical Dictionary of the Chinese Cultural Revolution (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4422-5172-4.
  90. "Chinese Red Guards Apologize, Reopening A Dark Chapter". NPR.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ February 14, 2020.
  91. Yu, Luowen. "文革时期北京大兴县大屠杀调查". Chinese University of Hong Kong (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ February 15, 2020.
  92. 92.0 92.1 Buckley, Chris (April 4, 2016). "Chaos of Cultural Revolution Echoes at a Lonely Cemetery, 50 Years Later". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  93. Phillips, Tom (May 11, 2016). "The Cultural Revolution: all you need to know about China's political convulsion". The Guardian. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  94. Ramzy, Austin (May 14, 2016). "China's Cultural Revolution, Explained". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  95. Ding, Shu (2004). "文革中的"清理阶级队伍"运动 – 三千万人被斗,五十万人死亡". China News Digest (华夏文摘) (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 16, 2017. สืบค้นเมื่อ January 13, 2020.
  96. 96.0 96.1 Bai, Yintai. "内人党"冤案前后. Chinese University of Hong Kong (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ December 5, 2019.
  97. 97.0 97.1 Ba, Yantai. 挖肃灾难实录 (PDF) (ภาษาจีน). Southern Mongolian Human Rights Information Center.
  98. Brown, Kerry (July 1, 2007). "The Cultural Revolution in Inner Mongolia 1967–1969: The Purge of the "Heirs of Genghis Khan"". Asian Affairs. 38 (2): 173–87. doi:10.1080/03068370701349128. ISSN 0306-8374. S2CID 153348414.
  99. 99.0 99.1 Wang, Haiguang. – 个人的冤案和 – 个时代的冤案. Hu Yaobang Historical Information Net (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-22. สืบค้นเมื่อ December 30, 2019.
  100. Ding, Shu. "文革死亡人数统计为两百万人". Independent Chinese PEN Center (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ February 16, 2020.
  101. Schoenhals, Michael (1996). China's Cultural Revolution, 1966–1969: Not a Dinner Party (ภาษาอังกฤษ). Armonk, NY: M.E. Sharpe. ISBN 978-0-7656-3303-3.
  102. Schoenhals, Michael (March 1996). "The Central Case Examination Group, 1966–79". The China Quarterly. 145 (145): 87–111. doi:10.1017/S0305741000044143. JSTOR 655646.
  103. Yongming Zhou, Anti-drug crusades in twentieth-century China : nationalism, history, and state building, Lanham [u.a.] Rowman & Littlefield 1999, p. 162
  104. Khalid, Zainab (January 4, 2011). "Rise of the Veil: Islamic Modernity and the Hui Woman" (PDF). SIT Digital Collections. Independent Study Project (ISP) Collection. SIT Graduate Institute. pp. 8, 11. Paper 1074. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 9, 2014. สืบค้นเมื่อ July 25, 2014.
  105. John Powers; David Templeman (2007). Historical Dictionary of Tibet. Grove Press. p. 35. ISBN 978-0810868052. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 22, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  106. Adam Jones (2006). Genocide: A Comprehensive Introduction. Routledge. pp. 96–97. ISBN 978-0415353854. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 22, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  107. 107.0 107.1 Ronald D. Schwartz (1996). Circle Of Protest. pp. 12–13. ISBN 978-8120813700. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  108. 108.0 108.1 108.2 Ardley, Jane (2002). Tibetan Independence Movement: Political, Religious and Gandhian Perspectives. Routledge. ISBN 978-0700715725.
  109. Thomas Laird (2007). The Story of Tibet: Conversations with the Dalai Lama. p. 345. ISBN 978-1555846725. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  110. Kimberley Ens Manning; Felix Wemheuer (2011). Eating Bitterness: New Perspectives on China's Great Leap Forward and Famine. UBC Press. p. 23. ISBN 978-0774859554. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 18, 2016. สืบค้นเมื่อ October 1, 2015.
  111. John Powers; David Templeman (2007). Historical Dictionary of Tibet. Grove Press. p. 170. ISBN 978-0810868052. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 6, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  112. Warren W. Smith (2009). Tibet's Last Stand?: The Tibetan Uprising of 2008 and China's Response. Rowman & Littlefield Publishers, Inc. p. 6. ISBN 978-0742566859. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 6, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  113. John Powers (2004). History As Propaganda: Tibetan Exiles versus the People's Republic of China. Oxford University Press. p. 142. ISBN 978-0198038849. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 24, 2016. สืบค้นเมื่อ September 30, 2015.
  114. Barry Sautman; June Teufel Dreyer (2006). Contemporary Tibet: Politics, Development, and Society in a Disputed Region. ME Sharp. pp. 238–47. ISBN 978-0765631497. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2016. สืบค้นเมื่อ October 1, 2015.
  115. Schwartz, Ronald. "Religious Persecution in Tibet" (PDF). www.tibet.ca. Memorial University of Newfoundland. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2013. สืบค้นเมื่อ December 5, 2018.
  116. Dreyer, June Teufel (2000). China's Political System: Modernization and Tradition (3rd ed.). London: Macmillan. pp. 289–91. ISBN 0-333-91287-X.
  117. 117.0 117.1 117.2 117.3 King, Richard (2010). Art in Turmoil: The Chinese Cultural Revolution, 1966–76. University of British Columbia Press. ISBN 978-0774815437.
  118. Jihui, Yu (2019). The Stinking Old Ninth: A Tale of The Coal Capital (ภาษาอังกฤษ). Independently Published. ISBN 978-1-0721-7605-3.
  119. 119.0 119.1 James T. Myers; Jürgen Domes; Erik von Groeling, บ.ก. (1995). Chinese Politics: Fall of Hua Kuo-Feng (1980) to the Twelfth Party Congress (1982). University of South Carolina Press. ISBN 978-1570030635. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 28, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  120. Cao, Pu. "文革中的中科院:131位科学家被打倒,229人遭迫害致死". Chinese University of Hong Kong (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ February 23, 2020.
  121. Wang, Jingheng. "青海核武基地的劫难". Yanhuang Chunqiu (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 14, 2020. สืบค้นเมื่อ July 14, 2020.
  122. "文革对中国核基地的损害:4000人被审查 40人自尽". Phoenix New Media (ภาษาจีน). May 2, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2020. สืบค้นเมื่อ February 23, 2020.
  123. "中国"文革"科研仅两弹一星核潜艇". Phoenix Television (ภาษาจีน). November 21, 2013. สืบค้นเมื่อ February 23, 2020.
  124. 124.0 124.1 124.2 Joel, Andreas (2009). Rise of the Red Engineers: The Cultural Revolution and the Origins of China's New Class. Stanford University Press. ISBN 978-0804760782.
  125. Ming Fang He (2000). A River Forever Flowing: Cross-cultural Lives and Identities in the Multicultural Landscape. Information Age Publishing. p. 55. ISBN 978-1593110765. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 5, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  126. Tracy You (October 25, 2012). "China's 'lost generation' recall hardships of Cultural Revolution". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2014. สืบค้นเมื่อ November 15, 2014.
  127. 127.00 127.01 127.02 127.03 127.04 127.05 127.06 127.07 127.08 127.09 Gao, Mobo (2008). The Battle for China's Past: Mao and the Cultural Revolution (PDF). Pluto Press. ISBN 978-0-7453-2780-8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ November 3, 2012.
  128. 128.0 128.1 Peterson, Glen. [1997] (1997). The Power of Words: literacy and revolution in South China, 1949–95. UBC Press. ISBN 0-7748-0612-5
  129. Huang, Yanzhong (2011). "The Sick Man of Asia. China's Health Crisis". Foreign Affairs. 90 (6): 119–36. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 13, 2014. สืบค้นเมื่อ November 12, 2014.
  130. 130.0 130.1 130.2 130.3 130.4 130.5 130.6 Huang, Shaorong. 2001. "The power of Words: Political Slogans as Leverage in Conflict and Conflict Management during China's Cultural Revolution Movement." In Chinese Conflict Management and Resolution, edited by G. Chen and R. Ma. Greenwood Publishing Group.
  131. Chan
  132. 132.0 132.1 132.2 Dittmer, Lowel, and Chen Ruoxi. 1981 "Ethics and rhetoric of the Chinese Cultural Revolution." Studies in Chinese Terminology 19. p. 108
  133. Rudolf G. Wagner (1990). The Contemporary Chinese Historical Drama: Four Studies (1st ed.). University of California Press. p. 236. ISBN 978-0520059542. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  134. by Jonathan Unger, บ.ก. (1997). Using the Past to Serve the Present: Historiography and Politics in Contemporary China. M.E. Sharpe. p. 102. ISBN 978-0873327480. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  135. Lily Xiao Hong Lee; A. D. Stefanowska; Sue Wiles, บ.ก. (2003). Biographical Dictionary of Chinese Women, Volume 2. M.E. Sharpe. pp. 497–500. ISBN 0-7656-0798-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 5, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  136. 136.0 136.1 136.2 Zicheng Hong (2009). A History of Contemporary Chinese Literature. แปลโดย Michael M. Day. Brill. ISBN 978-9004173668. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  137. Zhang 张, Xiaofeng 晓风 (March 12, 2008). 张晓风:我的父亲母亲 [Zhang Xiaofeng: My father and mother]. Sina (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 19, 2017. สืบค้นเมื่อ May 3, 2017.
  138. Paul G. Pickowicz (2013). China on Film: A Century of Exploration, Confrontation, and Controversy. Rowman & Littlefield Publisher. pp. 128–29. ISBN 978-1442211797. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 14, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  139. Dingbo Wu; Patrick D. Murphy, บ.ก. (1994). Handbook of Chinese Popular Culture. Greenwood Press. p. 207. ISBN 978-0313278082. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 29, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  140. Yingjin Zhang (2004). Chinese National Cinema. Routledge. pp. 219–20. ISBN 978-0415172905. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 3, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  141. Tan Ye; Yun Zhu (2012). Historical Dictionary of Chinese Cinema. Scarecrow Press. p. 41. ISBN 978-0810867796. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 30, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  142. E. Taylor Atkins, บ.ก. (2004). Jazz Planet. University Press of Mississippi. p. 226. ISBN 978-1578066094. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  143. Harriet Evans; Stephanie Donald, บ.ก. (1999). Picturing Power in the People's Republic of China: Posters of the Cultural Revolution. Rowman & Littlefield. pp. 1–5. ISBN 978-0847695119. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 3, 2016. สืบค้นเมื่อ June 27, 2015.
  144. 144.0 144.1 144.2 Cushing, Lincoln; Tompkins, Ann (2007). Chinese Posters: Art from the Great Proletarian Cultural Revolution. Chronicle Books. ISBN 978-0811859462.
  145. 145.0 145.1 145.2 Andrews, Julia Frances (1995). Painters and Politics in the People's Republic of China, 1949–1979. University of California Press. ISBN 978-0520079816.
  146. Jun Wang (2011). Beijing Record: A Physical and Political History of Planning Modern Beijing. World Scientific Publishing Co Pte Ltd. pp. 446–47. ISBN 978-9814295727.
  147. 147.0 147.1 Barnouin, Barbara; Yu, Changgen (2010). Ten Years of Turbulence: The Chinese Cultural Revolution. Kegan Paul International, Routledge. ISBN 978-0-7103-0458-2.
  148. Journal of Asian history, Volume 21, 1987, p. 87
  149. "When Pol Pot lounged by Mao's pool: how China exported Maoism". South China Morning Post. March 8, 2019. สืบค้นเมื่อ April 1, 2020.
  150. 150.0 150.1 Huang, Hua (December 6, 2014). "文革时期的荒诞外交". Ai Si Xiang (爱思想) (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ April 1, 2020.
  151. Laura, Southgate (2019). ASEAN Resistance to Sovereignty Violation: Interests, Balancing and the Role of the Vanguard State. Policy Press. ISBN 978-1-5292-0221-2.
  152. Curran, Thomas D. (2000). "Chinese Foreign Policy during the Cultural Revolution (Book Review)". History Faculty Publications.
  153. Gurtov, Melvin (1969). "The Foreign Ministry and Foreign Affairs during the Cultural Revolution". The China Quarterly (40): 65–102. JSTOR 651980.
  154. "沉重的外交笑话:外国大使需挥舞《毛主席语录》". Phoenix New Media. August 26, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2020. สืบค้นเมื่อ April 1, 2020.
  155. 155.0 155.1 "Resolution on Certain Questions in the History of Our Party Since the Founding of the People's Republic of China (Chinese Communism Subject Archive)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2012. สืบค้นเมื่อ December 27, 2012.
  156. Schiavenza, Matt. "Does a New Biography Tell the Whole Story on Deng Xiaoping?". Asia Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2011. สืบค้นเมื่อ October 30, 2011.
  157. AsiaNews.it
  158. Zhao 43–44
  159. Ewing
  160. 160.0 160.1 Fong
  161. Johnson, Ian (April 3, 2011). "At China's New Museum, History Toes Party Line". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 14, 2011. สืบค้นเมื่อ October 31, 2011.
  162. "A Grim Chapter in History Kept Closed" เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 16, 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน article by Didi Kirsten Tatlow in The New York Times, July 22, 2010, accessed July 22, 2010.
  163. Jiang Tao, Fengqiao – a Maoist Revival to Attack Religion เก็บถาวร ธันวาคม 29, 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Bitter Winter, December 27, 2018, accessed December 28, 2018.
  164. "China media: Mao Zedong's legacy". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). December 23, 2013. สืบค้นเมื่อ May 18, 2021.
  165. Schram, Stuart R. (1994). "Mao Zedong a Hundred Years On: The Legacy of a Ruler". The China Quarterly. 137 (137): 125–43. doi:10.1017/S0305741000034068. ISSN 0305-7410. JSTOR 655689.
  166. Wiltshire, Trea. [First published 1987] (republished & reduced 2003). Old Hong Kong – Volume Three. Central, Hong Kong: Text Form Asia books Ltd. ISBN 962-7283-61-4
  167. Blumi, Isa (1999). "Hoxha's Class War: The Cultural Revolution and State Reformation, 1961–1971". East European Quarterly. 33 (3): 303–26 – โดยทาง ProQuest.
  168. Up Against the Wall, Curtis Austin, University of Arkansas Press, Fayetteville, 2006, p. 170
  169. 169.0 169.1 BBC (October 13, 2007). "HK's Tsang apologises for gaffe". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 28, 2011. สืบค้นเมื่อ April 1, 2011.
  170. 170.0 170.1 Walder, Andrew (1987). "Actually Existing Maoism". Australian Journal of Chinese Affairs. 18 (18): 155–66. doi:10.2307/2158588. JSTOR 2158588. S2CID 156609951.
  171. Thurston 1984–85. pp. 605–06.
  172. Short, Phillip. "Mao's Bloody Revolution: Revealed". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 18, 2015. สืบค้นเมื่อ November 1, 2011.

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หนังสือหลัก

[แก้]

หัวข้อเฉพาะ

[แก้]
  • Andreas, Joel (2009). Rise of the Red Engineers: The Cultural Revolution and the Origins of China's New Class. Stanford: Stanford University Press.
  • Chan, Anita. 1985. Children of Mao: Personality Development and Political Activism in the Red Guard Generation. Seattle: University of Washington Press.
  • Chen, Lingchei Letty (2020). "The Great Leap Backward: Forgetting and Representing the Mao Years". New York: Cambria Press. Scholarly studies on memory writings and documentaries of the Mao years, victimhood narratives, perpetrator studies, ethics of bearing witness to atrocities.
  • Leese, Daniel (2011). Mao Cult: Rhetoric and Ritual in the Cultural Revolution. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Li, Jie and Enhua Zhang, eds. Red Legacies in China: Cultural Afterlives of the Communist Revolution (Harvard University Asia Center, 2016) 409 p.; Scholarly studies on cultural legacies and continuities from the Maoist era in art, architecture, literature, performance, film, etc.
  • Fox Butterfield, China: Alive in the Bitter Sea, (1982, revised 2000), ISBN 0-553-34219-3, an oral history of some Chinese people's experience during the Cultural Revolution.
  • Chang, Jung; Halliday, Jon (2005). Mao: The Unknown Story. New York: Knopf. ISBN 0679422714.
  • Xing Lu (2004). Rhetoric of the Chinese Cultural Revolution: The Impact on Chinese Thought, Culture, and Communication. University of South Carolina Press. ISBN 978-1570035432.
  • Ross Terrill, The White-Boned Demon: A Biography of Madame Mao Zedong Stanford University Press, 1984 ISBN 0-8047-2922-0; rpr. New York: Simon & Schuster, 1992 ISBN 0-671-74484-4.
  • Wu, Yiching (2014). The Cultural Revolution at the Margins: Chinese Socialism in Crisis. Cambridge, MA: Harvard University Press.

ข้อคิดเห็น

[แก้]

นวนิยายอ้างอิง

[แก้]

บันทึกความทรงจำของชาวจีนมีส่วนเกี่ยวข้อง

[แก้]

ภาพยนตร์ที่อ้างอิงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]