ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดแม่สอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จังหวัดแม่สอด
อาคารเทศบาลนครแม่สอด ที่เสนอเมื่อ พ.ศ. 2547 เพื่อจะใช้เป็นศาลากลางจังหวัดแม่สอด
อาคารเทศบาลนครแม่สอด ที่เสนอเมื่อ พ.ศ. 2547 เพื่อจะใช้เป็นศาลากลางจังหวัดแม่สอด
ประเทศ ไทย
พื้นที่
 • ทั้งหมด10,713.88 ตร.กม. (4,136.65 ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+7 (เวลามาตรฐานไทย)

จังหวัดแม่สอด เป็นแนวคิดในการรวม 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก อันประกอบด้วย อำเภอแม่สอด อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง และอำเภอพบพระ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา ยากต่อการดูแลของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ดังนั้นจึงได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ 5 อำเภอชายแดนเป็นจังหวัดแม่สอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547[1] แต่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากจำนวนประชากรไม่ถึงจำนวนที่กำหนด และความเจริญของตำบลโดยรอบ

เขตการปกครองตามโครงการ

[แก้]

ในโครงการ จังหวัดแม่สอดจะประกอบด้วย 5 อำเภอ และ 4 กิ่งอำเภอ คือ

การขอยกฐานะ

[แก้]

นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด จังหวัดตาก ได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการอื่น ๆ ขอให้พิจารณายกฐานะ 5 อำเภอชายแดนซีกตะวันตกของจังหวัดตาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือให้จังหวัดตากดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและความเหมาะสม รวมทั้งความคิดเห็นในการจัดตั้งจังหวัดใหม่ ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524

ข้อมูลพื้นฐาน

[แก้]

การจัดตั้งจังหวัดแม่สอด มีลักษณะสำคัญ คือ

  • จุดแข็ง
    • ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางติดต่อกับหน่วยราชการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ก่อให้เกิดผลดีทางด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน
    • ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจการลงทุนตามแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ ขยายโอกาส และสร้างความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่
    • ทำให้การดูแลแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างทั่วถึง ด้วยความสะดวก และรวดเร็ว
  • จุดอ่อน
    • ทำให้จังหวัดเดิมมีขนาดเล็กลง ขาดการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจที่ดี ตามลักษณะโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมดั้งเดิม
    • ทำให้การบริหารงานภาครัฐในด้านการบริการประชาชนเกิดความไม่คุ้มค่าเชิงภารกิจ เมื่อเทียบเท่ากับสัดส่วนจำนวนประชากรที่คงเหลือ
      • จังหวัดตาก ยังคงมีข้อมูลทั่วไปซึ่งไม่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ 4 ประเด็น คือ
        • จำนวนอำเภอ ในเขตการปกครองของจังหวัดตาก แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ และหากมีการยกฐานะ อำเภอแม่สอด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง แยกไปตั้งจังหวัดใหม่ จะทำให้จังหวัดเดิมมีอำเภอ เหลือเพียง 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า
        • จำนวนประชากร จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 จำนวน 516,627 คน ซึ่งเมื่อแยก 5 อำเภอชายแดนไปตั้งจังหวัดใหม่แล้ว จะทำให้จังหวัดเดิมเหลือจำนวนประชากรเพียง 209,077 คน และจังหวัดที่ตั้งใหม่มีจำนวนประชากรเพียง 307,550 คน
        • ปัจจัยเกี่ยวกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ กรณีการจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่มีความจำเป็นต้องจัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของราชการต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ภาครัฐของรัฐบาล
        • ความคิดเห็นของประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ทางด้าน อำเภอแม่สอด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง โดยส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ทางด้านอำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า จะไม่เห็นด้วยกับการขอตั้งจังหวัดใหม่
    • นอกจากกรณีตามข้อ 2.1, 2.2 เมื่อพิจารณาปัจจัยทางด้านเนื้อที่ และสภาพภูมิศาสตร์ลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน สถานทีราชการและความพร้อมในด้านอื่นๆ รายได้ รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่นๆ แล้ว ทุกกรณีจะมีลักษณะเป็นไปโดยสอดคล้องตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้
    • จากการพิจารณาข้อมูลตามที่ปรากฏในภาพรวมแล้วเห็นว่า การขอยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนเป็นจังหวัด ยังคงมีองค์ประกอบปัจจัยไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2524 ประกอบกับปัจจุบันได้มีการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา (CEO) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแลแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกด้านบริการประชาชนในระดับพื้นที่อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ หากเป็นนโยบายของรัฐบาลในการที่จะแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในด้านสภาพพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางและมีลักษณะยาวมาก ตลอดจนเพื่อการดูแลแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน อันจะเป็นการอำนวยประโยชน์สุข และก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชาชนมากยิ่งขึ้น ก็สามารถดำเนินการได้โดยการเสนอขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

อ้างอิง

[แก้]
  1. "อปท.5 อ.ชายแดนตาก ดันตั้ง "จว.77-มหานคร" เสนอ "3 พล.อ.-สนช." หลังดันมา 5 ปีแต่ไม่คืบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22.
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/
  • อนุรักษ์ พันธุ์รัตน์, บรรณาธิการ. แม่สอดหนึ่งร้อยปี. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตาก : ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอแม่สอด, 2541.
  • ที่ปรึกษาวิจัยภาคใต้จำกัด, บริษัท; คณะผู้วิจัย ศักดิ์ชัย คีรีพัฒน์...[และคนอื่นฯ]. โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทเพื่อปรับปรุงเมืองชายแดนทางการท่องเที่ยว แม่สอด เชียงของ เบตง. พิมพ์ครั้งที่ ?. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2540.
  • ที่ปรึกษาอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแทนซี่ เน็ทเวอร์ค(อินโดไชนา เซาส์อีสท์ เอเชีย) จำกัด, บริษัท. โครงการวิเคราะห์ภาวะการกระจายอุตสาหกรรม 9 จังหวัดเป้าหมายไปสู่จังหวัดใกล้เคียง : กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตะวันตก ภาคเหนือ(แม่สอด) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(มุกดาหาร) [ร่างรายงานขั้นสุดท้าย]. กรุงเทพฯ : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, 2539.
  • เดือนแรม ประกายเรือง. สู่อ้อมแขน ล้านนาตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2544.
  • เปลื้อง ณ นคร. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระนารายณ์มหาราช. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2537.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - กาญจนี ละอองศรี, บรรณาธิการ. ปัญหาชายแดนไทย-พม่า Problems on Thai-Burmese Border. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540.
  • บันทึกข้อความ ด่วนที่สุด สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง ที่ มท 0310.1/8342 วันที่ 5 กรกฎาคม 2547 เรื่อง การขอยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนเป็นจังหวัด เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย