ข้ามไปเนื้อหา

มณฑลบูรพา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มณฑลบูรพา
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2434 – 2449
เมืองหลวงศรีโสภณ
การปกครอง
 • ประเภทข้าหลวงเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
ข้าหลวงเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2434–2436
พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) (คนแรก)
• พ.ศ. 2436–2446
พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น อัมรานนท์)
• พ.ศ. 2446–2449
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้งมณฑลเขมร
พ.ศ. 2434
• เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออก
พ.ศ. 2442
• เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา
21 มกราคม พ.ศ. 2444
• ยกดินแดนให้ฝรั่งเศส
23 มีนาคม พ.ศ. 2449
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองเสียมราฐ
เมืองพระตะบอง
เมืองพนมศก
เมืองศรีโสภณ
จังหวัดเสียมราฐ
จังหวัดพระตะบอง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา

มณฑลบูรพา หรือเดิมชื่อ มณฑลเขมร ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2434 ประกอบด้วยเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา โดยได้เสียดินแดนไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 เพื่อแลกกับเมืองตราดและเมืองด่านซ้าย

ภูมิหลัง

[แก้]
ศาลากลางเก่าเมืองพระตะบอง

เมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ เป็นดินแดนทางภาคตะวันตกของเขมร มีฐานะเป็นศูนย์รักษาการใช้ควบคุมอำนาจในเขมร[1] ป้องกันการขยายตัวของญวน และเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ จนเมื่อ พ.ศ. 2338 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงแต่งตั้งนักองค์เองออกไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ปกครองในฐานะประเทศราช ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ปกครองโดยขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ นับแต่นั้นมา จนถึงสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแทรงกิจการในเขมร จน พ.ศ. 2410 ไทยจำเป็นต้นยกเขมรให้ฝรั่งเศส แต่ยังคงขอสงวนเมืองพระตะบองและเสียมราฐไว้เป็นของไทย แลกกับการยกเลิกการเป็นเจ้าอธิราชเหนือเขมร

เมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ ถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นมณฑลที่ชื่อว่า "มณฑลเขมร" เมื่อ พ.ศ. 2434 ตามนโยบายจัดตั้งมณฑลชั้นนอก 6 มณฑล เพื่อป้องกันการคุกคามภายนอก และเพื่อเป็นการทดลองระเบียบการปกครองแบบใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่ โดยตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองศรีโสภณ มีเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง (ซึ่งกำลังป่วยหนัก) แต่เบื้องต้นยังไม่ได้จัดระเบียบแบบแผนเหมือนมณฑลเทศาภิบาลซึ่งได้มีการจัดให้มีภายหลัง ท้ายสุดได้รับการจัดระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. 2439[2]

ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "มณฑลตะวันออก" เมื่อ พ.ศ. 2442 และเป็น "มณฑลบูรพา" เมื่อ พ.ศ. 2443[3] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยต้องยอมทำสัญญายกมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองตราดและเมืองด่านซ้าย รวมถึงเกาะใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด เป็นของสยาม[4] และสิทธิของคนเอเชียในบังคับฝรั่งเศสซึ่งต้องอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย

การปฏิรูป

[แก้]

ด้านการปกครอง ได้มีการจัดอำเภอเสียใหม่ โดยมณฑลบูรพามีอำเภอทั้งหมด 13 อำเภอ ส่วนอำเภอที่เคยมีอยู่แล้วก็ยกเลิกไป มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2448 นายอำเภอก็คือเจ้าเมือง เมืองขึ้น มีอำนาจต่างกัน แล้วแต่ที่เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์จะจัดให้ เช่น มีอำนาจในการตัดสินคดีได้ ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านยังเป็นเหมือนอย่างเก่าแบบหัวเมืองชั้นใน

ด้านการศาลหลังการปฏิรูป พ.ศ. 2439 มี 3 ศาล คือ ศาลอำเภอ ศาลเมือง มีกรมการในเมืองเป็นตุลาการตัดสินทั้งความแพ่งและความอาญา อย่างศาลแบบเก่าในหัวเมืองชั้นใน โดยไม่ได้กำหนดว่าศาลใดชำระความได้เพียงใด เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วต้องขอคำตัดสินจากเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ อีกศาลหนึ่งคือ ศาลมณฑล มีหน้าที่ชำระความเกี่ยวกับคนในบังคับต่างประเทศ และรับอุทธรณ์ความที่ส่งมาจากหัวเมืองอื่นในมณฑลบูรพา วิธีการพิจารณาคดีเช่นเดียวกับสองศาลข้างต้น ต้องร่างคำพิพากษาปรึกษาเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ก่อน[5]

ด้านการคมนาคม ได้มีการเสนอเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-พระตะบอง-จันทบุรี แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้สร้างเนื่องจากจะทำให้ควบคุมพระตะบองได้ยากลำบาก[6] มีการเปิดที่ทำการไปรษณีย์ระหว่างเมืองพระตะบองกับพนมเปญเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2432 ต่อมาได้เปิดแห่งอื่น ๆ และได้เปิดโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2436[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เล่ม 1. p. 90.
  2. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 206.
  3. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 204.
  4. "ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ 8 ครั้ง". หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช. p. 343.
  5. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 217.
  6. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 228.
  7. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 229.

บรรณานุกรม

[แก้]