ข้ามไปเนื้อหา

มณฑลไทรบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มณฑลไทรบุรี
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2440 – 2453
เมืองหลวงไทรบุรี (พ.ศ. 2440–2452)
สตูล (พ.ศ. 2452–2453)
การปกครอง
 • ประเภทข้าหลวงเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
ข้าหลวงเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2440–2452
เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี (อับดุล ฮามิด)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้ง
7 เมษายน พ.ศ. 2440
10 มีนาคม พ.ศ. 2452
• ยุบรวมกับมณฑลภูเก็ต
6 สิงหาคม พ.ศ. 2453
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองไทรบุรี
เมืองปลิศ
เมืองสตูล
รัฐเกอดะฮ์
รัฐปะลิส
มณฑลภูเก็ต
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย
ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย

มณฑลไทรบุรี หรือ มณฑลเกอดะฮ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ และเมืองสตูล มีทิศเหนือจดเมืองตรัง มณฑลภูเก็ต และจดเมืองพัทลุง เมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช มณฑลนครศรีธรรมราช และเมืองปัตตานี ทิศตะวันตกจดสมารังไพรของรัฐปีนังในสเตรตส์เซตเทิลเมนต์ ทิศใต้จดรัฐเประในสหพันธรัฐมาเลเซียและจดช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันดินแดนมณฑลไทรบุรีบางส่วนอยู่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่อยู่ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยตกลงยกดินแดนส่วนใหญ่ของมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452[1] ดินแดนที่ยังคงปรากฏอยู่ในอธิปไตยของไทย คือ จังหวัดสตูล และดินแดนส่วนใหญ่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนไทรบุรีและปลิศ ปัจจุบันคือ รัฐเกอดะฮ์และรัฐปะลิส ของประเทศมาเลเซีย

ภูมิหลัง

[แก้]

ก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเมืองมลายูของไทย ได้จัดการปกครองแบบเมืองประเทศราช เพราะสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ห่างไกลศูนย์กลางการปกครอง มีการตั้งเจ้าเมืองมลายูเพื่อแสดงถึงการยอมรับว่าอนุญาตให้จัดการปกครองภายในได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ ชั้นสัญญาบัตรเป็นที่พระยาเมืองและผู้ช่วยราชการเมือง ในการควบคุมของรัฐบาล จะมอบให้เมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองชั้นเอกทางภาคใต้เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอัครมหาเสนาบดี กรมพระกลาโหม ซึ่งรับสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ จนถึง พ.ศ. 2352 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทรบุรีภายใต้การปกครองของเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) จึงมีพฤติการณ์แยกอิสระจากไทย อย่างไรก็ตามเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ทำความดีความชอบนำเมืองเประเป็นเมืองประเทศราชของไทยเพิ่ม รัฐบาลจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และยศเป็นเจ้าพระยา แต่ไม่นานก็ปรากฏหลักฐานว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้ติดต่อคิดคบกับพม่าจะเข้าตีไทย รัฐบาลจึงสั่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) เข้าปราบปรามเมื่อ พ.ศ. 2365[2] เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) จึงหลบหนีไปอาศัยอยู่ในเขตมลายูของอังกฤษ รัฐบาลจึงส่งคนไทยเข้าไปเป็นพระยาเมือง อย่างไรก็ดีเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) สำนักผิดเข้ามากราบทูลขอพระกรุณาอภัยโทษ รัฐบาลจึงได้เจ้าพระยาไทรบุรีไปปกครองดังเดิม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ. 2415 รัฐบาลกลางได้ประกาศให้เมืองไทรบุรีขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเนื่องจากหวั่นได้รับภัยคุกคามจากอังกฤษ ครั้น พ.ศ. 2439 พระยาปลิศถึงแก่อสัญกรรม ไทรบุรีจึงถือโอกาสขอรวมปลิศกับไทรบุรี จึงได้เปลี่ยนการปกครองใหม่คล้ายมณฑลเทศาภิบาล โดยยังคงให้พระยาเมืองมีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองของตน ส่วนข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นเพียงผู้รับคำสั่งจากรัฐบาลในราชการที่เกี่ยวกับหัวเมืองมลายูตะวันตก ขณะนั้นรัฐบาลไทยได้ตกลงทำอนุสัญญาลับ พ.ศ. 2440 กับรัฐบาลอังกฤษ โดยตกลงรับรองอธิปไตยของไทยในหัวเมืองมลายู ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงประกาศปฏิรูปการปกครองหัวเมืองมลายูตะวันตก จัดตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลบังคับบัญชาเมืองไทรบุรี ปลิศ และสตูล[3]

การปฏิรูป

[แก้]

แต่ละเมืองจะมีผู้ว่าราชการเมืองจัดการปกครองตามคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งผ่านข้าหลวงเทศาภิบาล ส่วนการถวายฎีกา ผู้ว่าราชการเมืองนำกราบทูลถวายโดยตรงไปยังกระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องรายงานข้าหลวงเทศาภิบาล ด้านการคลังผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจอิสระในการจัดการคลังภายใน แต่ก็เกิดปัญหาว่าเจ้าพระยาเมืองใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกิดหนี้สินมาตลอด ด้านการศาลก็เช่นเดียวกับการคลัง คือให้อิสระภายในเมือง ลักษณะศาลในมณฑลไทรบุรีมี 2 ประเภทคือ ศาลคดีทางศาสนาหรือเรียกว่า มาห์กะมาซาระยะห์ พิจารณาคดีจำพวก คดีมรดก ผัวเมีย หย่าร้าง และชู้ อีกศาลคือ ศาลคดีอาญามีสองแบบ คือ ศาลบ้างเมืองกับศาลโปลิสสภา โดยนายอำเภอเป็นผู้พิพากษา

ในการปฏิรูปการปกครองมณฑลไทรบุรี รัฐบาลไทยประสบอุปสรรคจากการแทรกแซงของอังกฤษ ที่เกิดความยุ่งยากที่สุด คือ การแทรกแซงเกี่ยวกับศาลยุติธรรม เพราะอังกฤษถือว่ามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตามสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อเกิดคดีคนในบังคับอังกฤษกับคนในบังคับไทย เป็นโอกาสให้อังกฤษเรียกร้องทางการทูตเรื่องค่าชดใช้ค่าเสียหายทุกรายไป อีกทั้งการตีความในอนุสัญญาลับระหว่างไทยกับอังกฤษ พ.ศ. 2440 ซึ่งอังกฤษจะถือว่ารัฐบาลไทยอนุญาตหรือให้สิทธิพิเศษทั้งหมดในดินแดนใต้เมืองบางสะพานลงไปจดเมืองมลายูของอังกฤษ ขณะนั้นเยอรมนีพยายามขอเช่าพื้นที่ในเมืองไทรบุรีและเกาะลังกาวีเพื่อสร้างสถานีเชื้อเพลิงและฐานทัพเรือ ไทยก็ต้องปฏิเสธไป

รัฐบาลอังกฤษจึงได้เสนอแนะว่า ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าอันใดจากไทรบุรี กลันตันและตรังกานู แต่ต้องมารับผิดชอบการปกครองต่าง ๆ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการบริหารตลอดมา ถ้าไทยยอมมอบไทรบุรี กลันตันและตรังกานูให้แก่อังกฤษ อังกฤษจะยอมยกเลิกสัญญาลับและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[4] อังกฤษยังขอเมืองปลิศ เมืองสตูล และมณฑลปัตตานี เพิ่มเติม ในที่สุดไทยก็ยอมยกไทรบุรี กลันตันและตรังกานู รวมถึงปลิศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีมาก่อนด้วย[3]

หลังจากนั้นอังกฤษยังให้ไทยยอมกู้เงิน 4.63 ล้านปอนด์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 สำหรับสร้างทางรถไฟสายใต้ของไทย[5] สนธิสัญญาฉบับนี้ลงนามที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452[3] เมืองสตูลได้กลับเป็นเมืองขึ้นของมณฑลภูเก็ต[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมโชติ อ๋องสกุล. ปัญหาการปกครองมณฑลไทรบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440–2452. มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
  2. รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2325 – 2394) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงาน สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สำนักนายกรัฐมนตรี.
  3. 3.0 3.1 3.2 วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.
  4. กองบรรณสาร กระทรวงต่างประเทศ หมวดสนธิสัญญา เรื่องสัญญาสยาม-อังกฤษ แฟ้ม 1.8 ปึก 1. บันทึก มร. สโตรเบล ลงวันที่ 4 ธันวาคม ร.ศ. 1907.
  5. "มุมมองต่อสนธิสัญญา ค.ศ.1909 ระหว่างสยาม-อังกฤษ และการแลกดินแดนมลายู". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. "พระบารมีปกถิ่นแผ่นดินสตูล" (PDF).[ลิงก์เสีย]