ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว

พิกัด: 9°51′23″N 98°37′40″E / 9.856334°N 98.627660°E / 9.856334; 98.627660
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ประเทศไทย
พิกัด9°51′23″N 98°37′40″E / 9.856334°N 98.627660°E / 9.856334; 98.627660
จัดตั้งพ.ศ. 2542[1]
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย มีพื้นที่ 706.03 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สี่อำเภอในจังหวัดชุมพร ได้แก่ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี และอำเภอหลังสวน และครอบคลุมพื้นที่อีกสองอำเภอในจังหวัดระนอง ได้แก่ อำเภอเมืองระนองและอำเภอละอุ่น ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีสันเขานมสาวเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างทั้งสองจังหวัด อุทยานแห่งนี้ได้รับการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2542[1] มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (นง.) ทั้งหมด 7 หน่วย

ประวัติ

[แก้]

เดิมมีแผนจัดตั้งอุทยานแห่งชาติคลองเพราในปีงบประมาณ 2524 แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์แทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ทำให้ต้องระงับแผนงานไว้ชั่วคราว ต่อมาเมื่อสถานการณ์ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จากกองอุทยานแห่งชาติจึงได้ไปบุกเบิกเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติคลองเพราใน พ.ศ. 2526 ส่วนวนอุทยานน้ำตกหงาว เดิมอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดระนองตั้งแต่ พ.ศ. 2498–2524 จึงได้โอนไปขึ้นกับกองอุทยานแห่งชาติ ต่อมาใน พ.ศ. 2532 ได้ผนวกรวมวนอุทยานน้ำตกหงาวกับอุทยานแห่งชาติคลองเพรา และใน พ.ศ. 2537 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาใน พ.ศ. 2542 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 93 ของประเทศ[2]

ภูมิประเทศและความหลากหลายทางชีวภาพ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวมีเทือกเขาสลับซับซ้อนและมีที่ราบน้อยมาก ยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดเขานมสาว สูง 1,089 เมตร นอกจากนี้ อุทยานยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำธารที่สำคัญ เช่น แม่น้ำสวี แม่น้ำตะโก และแม่น้ำหลังสวนในจังหวัดชุมพร และแม่น้ำบางริ้นในจังหวัดระนอง ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนและดินเหนียวแดง บริเวณที่เป็นภูเขาสูงหรือมีความลาดชันมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินเลื่อนไหลสูง

สภาพป่าในอุทยานเป็นป่าดิบชื้นร้อยละ 99.8 และเป็นป่าหญ้าบริเวณยอดเขาน้ำตกหงาว คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ อุทยานยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เฉพาะถิ่นอย่างปูเจ้าฟ้า ซึ่งถูกพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งนี้[2]

จุดท่องเที่ยว

[แก้]
  • น้ำตกคลองเพรา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่จำนวน 5 ชั้น มีผาสูงร่วม 40 เมตร
  • น้ำตกหงาว สายน้ำมาจากบึงมรกตซึ่งในอดีตมีการทำเหมืองแร่
  • โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบ่อน้ำแร่ร้อนพรรั้ง เกิดในหุบเขาริมคลองพรรั้ง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 60 เมตร มีบ่อน้ำแร่ร้อน 8 บ่อ และมีตาน้ำ 13 ตาน้ำอยู่ใกล้ลำธาร

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]