ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติภูลังกา

พิกัด: 17°59′05″N 104°08′24″E / 17.98472°N 104.14000°E / 17.98472; 104.14000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติภูลังกา
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดนครพนม และจังหวัดบึงกาฬ
พิกัด17°59′05″N 104°08′24″E / 17.98472°N 104.14000°E / 17.98472; 104.14000
พื้นที่50 ตารางกิโลเมตร (31,000 ไร่)
จัดตั้งพ.ศ. 2527
ผู้เยี่ยมชม20,231[1] (2553)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติภูลังกา ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ น้ำตกตาดขาม (อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม), น้ำตกตาดโพธิ์ (อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม), น้ำตกตาดวิมานทิพย์ (อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ), น้ำตกกินนรี (อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ) ตามลำดับ

ประวัติ

[แก้]

ปี พ.ศ. 2527 กองอุทยานแห่งชาติได้สำรวจพื้นที่บริเวณป่าภูลังกา ท้องที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม พบมีสภาพที่เหมาะสม สามารถจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ เนื่องจากสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบเขา ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าแดงที่สมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลากสาย และมีจุดเด่นทางธรรมชาติ เช่น หน้าผา ถ้ำ น้ำตก อยู่หลายแห่ง

กรมป่าไม้พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติของระบบนิเวศน์ของพื้นที่ดังกล่าว ให้คงไว้ในรูปของอุทยานแห่งชาติ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติตามนัยมาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

อุทยานแห่งชาติภูลังกา ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

มีลักษณะเป็นภูเขาเรียงซ้อนกันตามแนวแม่น้ำโขง คือ ภูลังกาเหนือ ภูลังกากลาง และภูลังกาใต้ ทอดยาวตามแนวทิศเหนือกับทิศใต้และสลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กหลายลูกสลับซับซ้อนกันพร้อมทั้งทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ที่จุดสูงสุดบนภูลังกาเหนือ สูง 563 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่เป็นภูเขาหินทราย โดยแบ่งชั้นหินที่สำคัญออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดหินโคราช หมวดหินภูพาน และหมวดหินภูกระดึง ลักษณะดินจะเป็นดินทรายมีการพังทลายปานกลาง ภูลังกาเป็นต้นกำเนิดของห้วยต่าง ๆ หลายสาย เช่น ห้วยทรายเหนือ ห้วยซ่าน ห้วยยางนกเหาะ หวยลังกา ห้วยขาม และห้วยทรายใต้ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับราษฎรในที่ราบที่อยู่ใกล้เคียงในการทำการเกษตรกรรม และไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ในพื้นที่มีสภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับบริเวณอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสภาพอากาศบนยอดเขาจะมีลักษณะเป็นหิน ฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัด ประมาณ 0-5 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25-36 องศาเซลเซียส ฤดูฝนมีปริมาณน้ำมาก ประมาณ 1,860 มิลลิเมตรต่อปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า

[แก้]

พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ดอกไม้ป่าที่มีอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า รองเท้านารี เท่าที่พบในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นกล้วยไม้ตระกูลหวายและแดงอุบล นอกจากนั้นภูลังกายังเป็นแหล่งสมุนไพรต่าง ๆ และว่านนานาชนิด

ภูลังกาในปัจจุบันเท่าที่พบและได้ข้อมูลจากชาวบ้าน ปรากฏว่ายังมีสัตว์ป่าประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมูป่า ลิง อีเห็น เก้ง อยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้ง กระรอก กระแต บ่าง และนอกจากนี้ยังมีสัตว์ปีกจำพวกนกต่าง ๆ หลายชนิด ที่เด่น ๆ อีกจำพวกหนึ่งคือ สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ กระท่าง และงู อีกหลาย ๆ ชนิด

อ้างอิง

[แก้]
  1. สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553