อุทยานแห่งชาติภูซาง
อุทยานแห่งชาติภูซาง | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา |
พื้นที่ | 178,049.62 ไร่ |
จัดตั้ง | วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 |
ผู้เยี่ยมชม | 54,589[1] (2559) |
หน่วยราชการ | สำนักอุทยานแห่งชาติ |
อุทยานแห่งชาติภูซาง อยู่ในเขตอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และอำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีอาณาเขตติดต่อประเทศลาว และเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
การจัดตั้ง
[แก้]วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ และตำบลร่มเย็น ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูซาง[2]
ลักษณะภูมิประเทศ
[แก้]ภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนติดเขตแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงตั้งแต่ 440-1,548 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาดอยผาหม่น มีความสูงประมาณ 1,548 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาว น้ำหงาว น้ำเปื๋อย น้ำบง และน้ำญวน เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนในเขต อำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อาณาเขตติดต่อด้านทิศเหนือ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อาณาเขตติดต่อด้านทิศใต้ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อาณาเขตติดต่อด้านทิศตะวันออก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาณาเขตติดต่อด้านทิศตะวันตก อำเภอภูซาง
น้ำตกภูซาง เป็นน้ำตกชั้นเดียว ซึ่งตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างสูงประมาณ 25 เมตร น้ำตกภูซางเป็นน้ำตกที่เป็นกระแสน้ำอุ่น มีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]ภูมิอากาศ แบ่งได้ 3 ฤดู
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน - กันยายน
- ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์
- ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน มีนาคม - พฤษภาคม
พืชพรรณและสัตว์ป่า
[แก้]สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูซาง มีความหลากหลายของชนิดป่า ซึ่งสามารถจำแนกเป็นชนิดป่าต่าง ๆ โดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะดินและลักษณะของพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ได้ 5 ชนิด ดังนี้
- ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) มีร้อยละ 50 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สัก, แดง, ประดู่, มะค่าโมง, ตะแบก, เก็ดแดง เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่น ไผ่ชนิดต่าง ๆ และหญ้าชนิดต่าง ๆ ชนิดพันธุ์ไม้เลื้อย เช่น หนามหัน บันไดลิง (เครือบ้า) เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) มีร้อยละ 30 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เต็ง, รัง, เหียง, พลวง เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่น หญ้าชนิดต่าง ๆ ชนิดพันธุ์ไม้เลื้อย เช่น บันไดลิง(เครือบ้า),ไม้พุ่ม เช่น มะเม่า เป็นต้น
- ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) มีร้อยละ 10 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ไม้ตระกูลก่อ ทะโล้ มณฑาป่า จำปีป่า เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่น ผักกูด กล้วยไม้เฟิร์น มอส พืชวงศ์ขิงข่า เป็นต้น
- ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) มีร้อยละ 8 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เติม ถ่อน ยางแดง ยางขาว ตะเคียนทอง แดง มะค่าโมง เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่นไผ่บง ไผ่หก มะพร้าวเต่า พืชวงศ์ขิงข่า เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้เลื้อย เช่น สะบ้าช้าง เป็นต้น
- ป่าสน (Pine Forest) มีร้อยละ 2 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สนสองใบ สนสามใบ ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่นหญ้าชนิดต่าง ๆ
สัตว์ป่า ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูซางมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เลียงผา กวาง เก้ง หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี กระจง หมาใน ไก่ป่า ไก่ฟ้า กระรอก อีเห็น กระแตเหนือ และนกชนิดต่าง ๆ ที่พบเห็นมากกว่า 150 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด เต่าปูลู ตัวนิ่ม งูชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูซางได้กำหนดให้ เต่าปูลู เป็นสัญลักษณ์ประจำอุทยานแห่งชาติภูซาง
การเดินทาง
[แก้]อุทยานแห่งชาติภูซางอยู่ห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 96 กิโลเมตร ไปตามเส้นทาง พะเยา -ดอกคำใต้-จุน-เชียงคำ (ทางหลวงหมายเลข 1021) และอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคำประมาณ 20 กิโลเมตร โดยจากเชียงคำ ก่อนถึงโรงเรียนภูซางวิทยาคม เลี้ยวขวาเข้ามา (หมายเลขทางหลวง 1093) ผ่านที่ว่าการอำเภอภูซาง หรือเดินทางจากจังหวัดเชียงราย-เทิง-เชียงคำ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1021 หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากพะเยา ถึงอำเภอเชียงคำ หรือจาก เชียงราย แล้วต่อรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กสายเชียงคำ-บ้านฮวก รถจะผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูซาง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สถิตินักท่องเที่ยวที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ปีงบประมาณ 2562 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ↑ "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ และตำบลร่มเย็น ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 117 (98 ก): 1–2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-09. วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543