ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ19 ธันวาคม พ.ศ. 2410
พระบรมมหาราชวัง ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์11 มีนาคม พ.ศ. 2485 (74 ปี)
พระบรมมหาราชวัง ประเทศไทย
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง (เดิม หม่อมเจ้าผ่องประไพ; 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2485) เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระองค์เจ้าผ่อง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1229 ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 เมื่อประสูติได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หม่อมเจ้าผ่องประไพ”[1] เพราะขณะนั้นพระบิดาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วนพระมารดาเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบิดา ขณะพระบิดามีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา ส่วนพระมารดามีอายุมากกว่าพระบิดาประมาณ 3 ปี[2] เมื่อหม่อมเจ้าผ่องประไพประสูติใหม่ ๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระอัยกากริ้วหม่อมราชวงศ์แขที่ทำให้พระราชโอรสของพระองค์ทรงประพฤติผิดเกินวัย แต่พระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษหม่อมราชวงศ์แข เพราะมีพระเมตตาอยู่แล้ว

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อหม่อมเจ้าผ่องประไพทรงประสูติใหม่ ๆ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ได้อุ้มหม่อมเจ้าผ่องประไพให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถามว่าเด็กหญิงคนนี้เป็นธิดาของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงไม่ได้ทูลตอบแต่ทูลถามว่าเด็กหญิงคนนี้รูปร่างหน้าตาเหมือนใคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "เหมือนแม่เพย" (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ และอัยยิกาของหม่อมเจ้าผ่องประไพ)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ หม่อมราชวงศ์แขได้เป็นเจ้าจอมมารดา หม่อมเจ้าผ่องประไพก็ทรงมีพระยศเป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ซึ่งเป็นหม่อมคนที่สองของพระองค์ และโปรดพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ พระธิดาพระองค์ที่สองที่เกิดจากเจ้าจอมมารดาแพเป็นพิเศษ ทำให้เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แขและพระองค์ผ่องประไพถูกลดความสำคัญลง ประกอบกับพระอุปนิสัยของพระองค์เจ้าผ่องประไพที่ค่อนข้างดื้อจึงมิได้เป็นที่โปรดปรานของพระบิดา[2] เมื่อยังทรงพระเยาว์พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ด้วยความที่พระองค์เจ้าผ่องประไพมีพระอุปนิสัยที่ดื้อ ขณะที่ทรงพระบังคนในโถ มักไม่ใคร่ลุกออกจากโถ แม้พระพี่เลี้ยงจะตักเตือนแต่ก็ไม่ทรงยินยอม บางครั้งจึงปล่อยให้ทรงนั่งโถเช่นนั้นนานหลายชั่วโมง[3]

ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้านายทุกพระองค์ทรงยกเลิกการหมอบคลาน แต่ให้ยืนคำนับแบบตะวันตก ซึ่งเจ้านายทุกพระองค์ทรงยืนหมดยกเว้นพระองค์เจ้าผ่องประไพที่ยังทรงหมอบอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมาก เลยทรงพระดำเนินไปดึงพระเมาลี (จุก) ของพระองค์เจ้าผ่องประไพ แต่พระองค์เจ้าผ่องประไพก็ยังทรงหมอบอยู่ตลอด

ถึงแม้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพจะดูไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 และคนอื่น ๆ นักแต่ความเป็นพ่อ-ลูกกันนั้นก็ตัดกันไม่ขาด ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระบรมมหาราชวัง ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จ พระองค์เจ้าผ่องประไพก็ทรงทำพัดขนนกขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทูลเกล้าฯถวายพระบิดา เมื่อถึงวัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินไปตามลาดพระบาท และทรงทักทายเจ้านายฝ่ายในโดยทั่วกัน เมื่อทรงพระดำเนินถึงตรงหน้าพระองค์เจ้าผ่องประไพ ทรงหยุดทักและทรงรับพัดขนนกไว้ พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงกราบแทบพระบาทของพระบิดา ทรงรับสั่งถามว่า อยากได้อะไร เมื่อพระองค์ผ่องประไพกราบบังคมทูลว่า "อยากได้พระธำมรงค์เพคะ" พระบิดาก็ทรงรับสั่งว่า "แล้วจะให้" (ซึ่งในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานทานพระธำมรงค์เพชรแก่พระราชธิดาตามพระประสงค์) พระองค์เจ้าผ่องประไพทรงกราบอีกครั้ง น้ำพระเนตรคลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเหมือนน้อง ๆ พระองค์อื่นเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือพัดขนนกและทรงพระดำเนินต่อไป สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พระองค์เจ้าผ่องประไพ และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างมาก

ในบันทึกจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้บันทึกเหตุการที่พระองค์เจ้าหญิงผ่อง เสด็จร่วมงานเลี้ยงแฟนซี อันแสดงให้เห็นถึงความอนุรักษ์นิยมของพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ดังนี้ว่า

วันอาทิตย์ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๖

"สี่โมงเช้าเราแต่งตัวไปบน เลี้ยงพระที่พระที่นั่งจักรีสามสิบรูป เราขึ้นไปถึงยังไม่เสด็จออก ห้าโมงนานเสด็จออกเลี้ยงพระ พระฉันแล้วพระศรีสุนทรมายืนอ่านประกาศหน้าเครื่องสังเวย แล้วเสด็จขึ้น เกือบบ่ายโมงเรากลับตำหนัก กินข้าวกลางวัน บ่ายสี่โมงนานเราไปบน เห็นคนนั่งเวียนเทียนรอบพระที่นั่งข้างล่าง เราขอหลีกไป ทูลหม่อมบนกำลังเสวยอยู่ในห้องเขียว ห้าโมงเจ้านายพี่น้องแต่งตัวแฟนซีไปตามก๊าดเราเชิญ เราแต่งทหารบก น้องชายโตแต่งทหารเรือ แต่งไทยแต่พี่ผ่ององค์เดียว ย่ำค่ำแล้วทูลหม่อมบนทรงพาไปนั่งโต๊ะพร้อมกันที่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาศน์ เรานั่งตรงกับน้องชายโต รวมพี่น้องซึ่งนั่งโต๊ะทั้งตัวเราด้วยยี่สิบคน ที่นั่งโต๊ะไม่ได้ก็ไปพร้อมกัน เลี้ยงเสร็จแล้วหมายจะมีเซอคัสเหมือนคราวก่อน ไม่มี เพราะทูลหม่อมบนท่านไม่ได้รับสั่งไว้ เรากลับตำหนัก ถอดเสื้อแล้วไปเที่ยวดูซุ้ม"[4]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิตขึ้น พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชธิดา ต่างเสด็จออกไปมีตำหนักหรือสำนักเพื่อเฝ้าแหนใกล้ชิด แต่พระองค์เจ้าผ่องประไพยังคงประทับแต่ในพระบรมมหาราชวัง และห่างเหินกับพระบิดาจนกระทั่งพระบิดาสวรรคต

เมื่อครั้งที่พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปีบริบูรณ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสือพระราชทานช่วยสำหรับจะได้ถวายและจ่ายแจกเปนมิตรพลี จึงได้มีรับสั่งมายังราชบัณฑิตยาสภาให้เลือกเรื่องหนังสือและจัดการพิมพ์ถวาย โดยราชบัณฑิตยสภาได้เลือกหนังสือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์กลอนเรื่องไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค เพื่อจัดพิมพ์ถวายเป็นพระกุศล[2]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

ภายหลังจากเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์เจ้าผ่องประไพได้ประทับในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2485[5] สิริพระชันษา 75 ปี ซึ่งมีปรากฏหลักฐานจากพระหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ในสาสน์สมเด็จ ความว่า "องค์หญิงผ่อง สิ้นพระชนม์วันที่ 11 มีนาคม ประชวรพระโรคชรา รุ่งขึ้นวันที่ 12 เชิญพระศพออกไปที่หออุเทศทักษิณา สรงพระศพพระองค์เจ้าผ่องที่ตำหนัก แล้วเชิญพระโกศออกไปตั้งที่หออุเทศทักษิณา วันที่ 12 มีนาคม ให้ในพระราชสำนักไว้ทุกข์ถวายพระองค์เจ้าผ่อง 7 วัน พระราชกุศล 7 วัน ที่พระศพพระองค์เจ้าผ่อง ณ หออุเทศทักษิณา วันที่ 18 มีนาคม"[6] ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระหัตถเลขากราบทูลกลับ ความว่า "เป็นความรู้ใหม่ที่พระองค์หญิงผ่องสิ้นพระชนม์ แต่พระชนมมายุได้ 75 ปี โดยเฉพาะที่เป็นพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ควรนับว่าพระชันษายืนมาก"[7] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485[8] ส่วนหม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ ได้ระบุว่าพระองค์เจ้าผ่องประไพสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2473 เมื่อพระชันษา 63 ปี[2]

โดยรายละเอียดปรากฏในหมายกำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง ดังนี้

"วันที่ ๑๙ ธันวาคม เวลา ๑๖ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาที่หอนิเพธพิทยา มีพระธรรมเทศนากันฑ์ ๑ แล้วพระสงค์ ๔๐ รูปสดับปกรณ์

การแต่งกาย วันนี้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ ไว้ทุกข์ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรน์

วันที่ ๒๐ ธันวาคม เวลา ๙ นาฬิกา เชิญพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน และพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง จากพระบรมมหาราชวัง ไปสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เวียนพระเมรุแล้วเชิญขึ้นตั้งบนพระเมรุ

เวลา ๑๐ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปยังพลับพลาอิสริยาภรน์ พระสงค์สดับปกรณ์พระศพละ ๒๐ รูป แล้วประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จขึ้นพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ

การแต่งกาย วันนี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์สวมสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือสายสะพายเครื่องราชอิสรยาภรณ์ช้างเผือก

วันที่ ๒๑ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระราชวงศ์เสด็จไปเก็บพระอัฐิ แล้วเชิญไปประดิษฐานที่หอพระนาก ไนพระบรมมหาราชวัง

วันนี้แต่งเครื่องแบบปรกติ ไว้ทุกข์"

พระนาม

[แก้]

พระนามของพระองค์ มีปรากฏอยู่สองพระนาม คือ

  • พระองค์เจ้าผ่องประไพ
  • พระองค์เจ้าผ่อง

ในคราวเป็นหม่อมเจ้าปรากฏพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงผ่องประไพ แต่พระบิดาสถาปนาเป็น พระองค์ผ่อง ทั้งสองพระนามนี้ปรากฏใช้อยู่ทั้งสอง ดังนี้

  • พระองค์เจ้าหญิงผ่องประไพ ปรากฏบนแผ่นจารึกหน้าที่บรรจุพระอังคารภายในอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาแข สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ปรากฏที่ฐานพระพุทธรูปที่ทรงสถาปนาถวายเป็นพุทธบูชา

พระนามทั้งสองนี้ ปรากฏใช้ในบันทึกต่าง ๆ จึงเป็นที่สับสนเล็กน้อย

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • หม่อมเจ้าผ่องประไพ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าผ่อง (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง (2 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2485)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก, ศิลปวัฒนธรรม, 2550, ISBN 978-974-323-989-2
  1. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 พฤศจิกายน ร.ศ.123 พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 4 ฝ่ายใน. เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ เป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 4 และได้รับพระราชทานพระนาม
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 169
  3. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน, 2553. หน้า 113-114
  4. หนังสือจดหมายเหตุรายวันซึ่งสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ​พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พุทธศักราช ๒๔๙๙.
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่มสาม. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้พิมพ์พระราชทานในงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส.
  6. สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๕
  7. สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๕/พฤษภาคม/วันที่-๗-พฤษภาคม-พศ-๒๔๘๕-น-๒.
  8. กรมศิลปากร สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 80. ISBN 978-974-417-594-6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-05-07. {{cite book}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |dead-url= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  9. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 (0 ง): 1708. 3 พฤศจิกายน ร.ศ.131. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  10. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 (0 ง): 2444. 22 มกราคม ร.ศ. 131. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  11. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 43 (0 ง): 3115. 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)